บัวหลวง ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย
บัวหลวง งานวิจัยและสรรพคุณ 34 ข้อ
ชื่อสมุนไพร บัวหลวง
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น บัว (ทั่วไป), โช๊ค (บุรีรัมย์, เขมร) นอกจากนี้บัวหลวงยังมีอยู่ด้วยกันหลากหลายสายพันธุ์ ซึ่งต่างก็มีชื่อเรียกที่แตกต่างกันไปตามขนาดและลักษณะของดอก ดอกบัวหลวงชนิดดอกไม่ซ้อน (ดอกฉลวย) สีชมพู เรียกว่า ปทุม, ปัทมา, โกกระณต ดอกบัวหลวงชนิดดอกไม่ซ้อน (ดอกฉลวย) สีขาว เรียกว่า ปุณฑริก, บุณฑริก ดอกบัวหลวงป้อมกลีบซ้อน สีชมพู เรียกว่า สัตตบงกช ดอกบัวหลวงป้อมกลีบซ้อน สีขาว เรียกว่า สัตตบุษย์ บัวหลวงดอกเล็กสีชมพู จะเรียกว่า บัวเข็มชมพู บัวปักกิ่งชมพู บัวหลวงจีนชมพู บัวหลวงดอกเล็กสีขาว จะเรียกว่า บัวเข็มขาว บัวปักกิ่งขาว บัวหลวงจีนขาว
ชื่อวิทยาศาสตร์ Nelumbo nucifera Gaertn.
ชื่อสามัญ Sacred lotus, Lotusstamen, East indian lotus
วงศ์ NELUMBONACEAE
ถิ่นกำเนิดบัวหลวง
ถิ่นกำเนิดดั้งเดิมของบัวหลวงนั้นเชื่อว่าอยู่ในแถบเอเชียใต้ (อินเดีย) และเอเชียตะวันออกเฉียง ใต้ (รวมทั้งบริเวณประเทศไทย) แต่ บางตำราระบุว่าบัวหลวงมีถิ่นกำเนิดในทวีปแอฟริกา แล้วจึงแพร่ขยายมา ถึงทวีปเอเชียตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์
สำหรับในประเทศไทยนั้นบัวหลวง นับเป็นพืชพื้นถิ่นของไทย และเป็นพืชชนิดแรกๆ ที่บรรพบุรุษของไทยนำมาใช้ประโยชน์ ทั้งในการใช้บริโภค, ใช้ในประเพณี และความเชื่อต่างๆ ปัจจุบันสามารถพบเห็นบัวหลวงได้ทั่วทุกภาคของประเทศ แต่ส่วนใหญ่มักจะมีการปลูกเชิงพาณิชย์ในภาคกลาง เช่น อยุธยา, สระบุรี, นนทบุรี, ปทุมธานี เป็นต้น นอกจากนี้บัวหลวงยังเป็นดอกไม้ประจำจังหวัดต่างๆ ถึง 5 จังหวัด คือ ปทุมธานี, อุบลธานี, หนองยังลำภู, พิจิตร, และสุโขทัย อีกด้วย
ประโยชน์และสรรพคุณบัวหลวง
- ช่วยบำรุงกำลัง ชูกำลัง
- บำรุงหัวใจ
- บรรเทาอาการหน้ามืด วิงเวียน
- ช่วยทำให้ชื่นใจ
- ใช่เป็นยาสงบประสาท
- ช่วยขับเสมหะ
- บำรุงปอด
- บำรุงตับ
- ช่วยคุมธาตุ
- แก้ไข้
- แก้ปัสสาวะบ่อย
- แก้น้ำกามเคลื่อน
- แก้ตกขาว
- แก้ประจำเดือนมามากกว่าปกติ
- แก้เลือดกำเดาไหล
- แก้อาการท้องเสีย
- แก้อาการซ้ำใน
- ช่วยให้นอนหลับ
- แก้ริดสีดวงจมูก
- แก้ลมพิษ
- แก้ท้องเดิน
- ช่วยห้ามเลือด
- แก้อาการปวดศีรษะเป็นไข้
- แก้อาการท้องร่วง
- ช่วยขยายเส้นเลือดหัวใจ
- แก้ร้อนในกระหายน้ำ
- แก้พุพอง
- แก้เป็นตะคริวที่ท้อง
- ช่วยห้ามเลือด
- แก้พิษหัด
- แก้พิษสุกใส
- แก้อ่อนเพลีย (ใช้เกสรบัวหลวง ร่วมกับเปลือกฝิ่นต้น และลูกมะตูม อ่อน)
- ช่วยให้เจริญอาหาร
- ช่วยแก้น้ำกามเคลื่อน (ฝันเปียก)
มีการนำบัวหลวง มาใช้ประโยชน์ มาตั้งแต่อดีต เพราะบัวเป็นสัญลักษณ์ของพุทธบูชา จึงนิยมใช้ดอกบัวในการไหว้พระ ทำบุญ บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และสิ่งที่เป็นมงคล อีกทั้งยังสามารถนำมาใช้ปรุงเป็นอาหารได้ทั้งคาวหวาน ใช้ในงานประดิษฐ์ต่างๆ ใบบัวแก่เมื่อนำมาตากแห้ง ใช้เป็นส่วนผสมของยากันยุงได้ เปลือกบัวนำมาใช้เป็นวัสดุในการปลูกเห็ดชนิดหนึ่ง หรือ ที่เรียกว่า "เห็ดบัว" ส่วนเปลือกเมล็ดและฝักแก่ใช้ทำเป็นปุ๋ย นอกจากนี้สารสกัดจากเกสรยังนำมาใช้ทำเป็นเครื่องสำอางที่เป็นตัวช่วยชะลอการสร้างเม็ดสีผิว ทำให้ผิวหนังเต่งตึงและอ่อนนุ่ม เช่น ครีมกันแดด ครีมบำรุงผิวทั้งกลางวันกลางคืนได้อีกด้วย
รูปแบบและขนาดวิธีใช้
ใช้เกสรบัวหลวงแห้งบดเป็นผงปรุงเป็นยาหอมจะช่วยบำรุงหัวใจ บรรเทาอาการหน้ามืด วิงเวียนทำให้ชื่นใจ เป็นยาสงบประสาท ขับเสมหะ หรือ ใช้เกสรบัวหลวงสด หรือ แห้งประมาณ 1 หยิบมือ ชงกับน้ำร้อน 1 แก้ว (ประมาณ 240 มิลลิลิตร) ทิ้งไว้นาน 10-15 นาที ดื่มขณะที่ยังอุ่นอยู่ ครั้งละ 1 แก้ว วันละ 3-4 ครั้ง หรือ ใช้เกสรบัวหลวง แห้ง บดเป็นผงครั้งละ 0.5 -1 ข้อนชา ชงน้ำร้อนดื่ม หรือ ใช้ในขนาด 3-5 กรัม ใช้แก้อาการช้ำในช่วยในการนอนหลับใช้ดอกบัวตูมแห้ง 3-5 ดอก ต้มน้ำ 4-7 แก้ว ให้เดือดนาน 5-10 นาที ดื่มขณะที่ยังอุ่นอยู่รับประทาน วันละ 4 ครั้ง ครั้งละ 1 แก้ว หรือดื่มต่างน้ำ ใบบัวสดนำมาต้มน้ำใช้ดื่มเพื่อลดความดันเลือดและลดไขมันในเลือด ดีบัว (ต้นอ่อนในเมล็ด) นำมาตากแห้ง คั่วให้หอม ชง น้ำร้อนดื่มเหมือนน้ำชา มีคุณสมบัติ ขยายหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ บำรุง หัวใจ สงบประสาท ขับเสมหะ เหง้า หรือ รากบัวใช้ต้มกับน้ำดื่ม เป็นยาแก้ธาตุไม่ปกติในเด็ก ใบบัวนำมาหั่นเป็นฝอยแล้วผึ่งแดดให้แห้ง ใช้ทำเป็นมวนสูบเพื่อช่วยบรรเทาอาการหวัดคัดจมูก บัวทั้งต้นใช้แก้พิษจากการรับประทานเห็ดพิษและอาการเป็นพิษจากพิษสุราเรื้อรัง ด้วยการใช้ทั้งต้นประมาณ 10-15 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน
ลักษณะทั่วไปของบัวหลวง
ลักษณะบัวหลวง เป็นบัวขนาดใหญ่ จัดเป็นพืชน้ำ มีอายุหลายปี และออกดอกตลอดปี มีลำต้นแท้อยู่ใต้ดิน (เรียกว่าเหง้าหรือไหล) มีก้านใบและ ก้านดอกโผล่พ้นดินขึ้นมา ชูใบและดอกขึ้นเหนือน้ำ ก้านดอกและก้าน ใบของบัวหลวงมีลักษณะเหมือนกัน คือ เป็นก้านแข็งผิวเป็นหนามสั้นๆ ขรุขระ ภายในก้านใบ มีรูพรุน เมื่อหักออกจากกันจะมีเส้นใยสีขาวเชื่อมกันมากมายเรียกว่าใยบัว ใบบัวหลวง เป็นใบเดี่ยว แผ่นใบชูเหนือน้ำ รูปเกือบกลม ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 20-50 ซม. โคนเว้าตื้น ของเรียบ และเป็นคลื่น ผิวเรียบมีนวลขาวเคลือบตลอดหลังใบ ทำให้น้ำไม่เกาะ (เข่นเดียวกับใบบอน) ดอก เป็นดอกเดี่ยวขนาดใหญ่อยู่ปลายก้าน ดอก เมื่อตูมเป็นรูปไข่ปลายแหลม เมื่อบานมีกลีบดอกแผ่ออกโดยรอบ เป็นวงกลมคล้ายกับทานตะวัน มีกลีบดอกขนาดใหญ่ประมาณ 20 กลีบ กลางดอกเป็นรังไข่ ปลายแบนราบ มีเกสรตัวผู้สีเหลืองเป็นเส้นล้อมรอบรังไข่เป็นจำนวนมาก กลีบดอกบัวหลวงมีทั้งสีชมพูและสีขาว และยังมีชนิดดอกซ้อนอีก ด้วย ทรงดอกบัวหลวงมี 2 แบบ คือ ทรงปกติ ค่อนข้างเรียวยาว เรียกว่า ดอกฉลวย (ซึ่งก็ คือ ดอกบัว ที่ดอกไม่ซ้อน) ส่วนชนิดหนึ่งทรงดอกป้อม เป็นชนิดดอกซ้อน รากบัวหลวงมีลักษณะเป็นเหง้า หรือ ไหลหยั่งลงไปในดินลึก เป็นรากเก็บอาหาร ขนาดใหญ่ทรงกลมยาว คืบไปตามแนวนอนใต้ดิน และเป็นปล้อง เนื้อในมีรู สำหรับส่วนของบัวหลวง ที่นำไปทำยา คือ เกสรตัวผู้ของดอกบัวหลวง โดยเก็บเมื่อดอกบานเต็มที่ แยกเอาเฉพาะเกสรตัวผู้ นำไปผึ่งให้แห้งในที่ร่ม เมื่อแห้ง จะเป็นเส้นมีสีเหลือง และมีกลิ่นหอม รสฝาด
การขยายพันธุ์บัวหลวง
บัวหลวงนั้นสามารถขยายพันธุ์ได้โดยการแยกเหง้าปลูก โดยพื้นที่ปลูกบัวหลวงควรเป็นพื้นที่ราบลุ่ม พื้นที่มีความสูงต่ำสม่ำเสมอ และใกล้แหล่งน้ำ ลักษณะของดินควรเป็นดินร่วน หรือ ดินเหนียว หน้าดินเป็นโคลนตมไม่หนามาก สำหรับดินร่วนปนทรายจะให้ผลผลิตของดอกน้อย และจะดอกใบมาก
วิธีการเตรียมแปลงปลูกบัวหลวง จะมีลักษณะคล้ายกับการทำนา แต่จะขุดแปลงลึกกว่า ประมาณ 1-1.5 เมตร เพื่อให้กักเก็บน้ำสูง 0.5-1 เมตร หากเป็นแปลงเก่า หรือ บ่อเก่าให้สูบน้ำออกให้หมด พร้อมไถ และปรับพื้นที่ให้เรียบ และกำจัดวัชพืช หว่านปูนขาว เพื่อฆ่าเชื้อ และปรับสภาพดิน พร้อมตากแดดบ่อประมาณ 1-2 อาทิตย์ แล้วทำการหว่านปุ๋ยสูตร 12-12-24 อัตรา 30 กก./ไร่ ร่วมกับปุ๋ยคอก 200 กก./ไร่ พร้อมทำการไถ และปรับหน้าดินอีกครั้ง
การปลูกจะใช้วิธีการแยกเหง้าบัว หรือ รากบัวออกปลูก โดยเหง้าที่ใช้จะยาวประมาณ 2-3 ข้อ และมีตาเหง้า 2-3 ตา เพราะหลังปลูกต้นบัวใหม่จะงอกขึ้นตามตาบริเวณข้อบัว ซึ่งการปลูกสามารถแบ่งได้เป็น 2 วิธี คือ
- การปลูกในแปลงดินแห้ง โดยส่วนมากมักใช้สำหรับแปลงใหม่ หรือ ต้องการปลูกในลักษณะของดินแห้งหลังจากการเตรียมบ่อ สำหรับการปลูกในแปลงลักษณะนี้จะใช้วิธีการขุดหลุมด้วยเสียม หรือ จอบลึกประมาณ 15-20 ซม. พร้อมฝังเหง้าบัว โดยให้เหลือส่วนที่เป็นตาบัวเหนือผิวดินประมาณ 1-2 ข้อ หลังจากนั้นจึงทำการปล่อยน้ำเข้าแปลง
- การปลูกในแปลงดินโคลน เป็นวิธีการที่นิยมปลูกเนื่องจากง่าย และสะดวกกว่าวิธีแรก ด้วยการปล่อยน้ำเข้าแปลงเพียงเล็กน้อยหรือสูงกว่าผิวดิน 3-5 ซม. เพื่อให้ดินเป็นโคลนตม หลังจากนั้นจะให้เหง้าบัวเสียบลงแปลง โดยให้เหลือส่วนเหนือผิวดินประมาณ 1-2 ข้อ เมื่อปลูกเสร็จจึงทำการปล่อยน้ำให้ท่วมแปลง
สำหรับการปล่อยน้ำ จะปล่อยน้ำหลังปลูกเสร็จให้ท่วมแปลงในระดับสูงกว่าปลายเหง้าบัวเพียงเล็กน้อย เมื่อต้นอ่อนบัวเริมงอก และตั้งตัวได้แล้วจึงทำการปล่อยน้ำเข้าแปลงอีกครั้ง
ส่วนการใส่ปุ๋ย จะทำการใส่ปุ๋ยครั้งแรกเมื่อเห็นต้นอ่อนของบัวงอกแล้วประมาณ 1-2 อาทิตย์ โดยใช้สูตร 16-16-8 และอีกครั้งในระยะก่อนบัวออกดอกในสูตร 12-12-24 ทั้งสองครั้งใส่ประมาณ 30 กก./ไร่ นอกจากนี้ในระยะแรกอาจใส่ปุ๋ยมูลสัตว์ร่วมด้วยในอัตรา 100 กก./ไร่ แต่ไม่ควรใส่ปุ๋ยชนิดนี้มากเพราะอาจทำให้น้ำเน่าเสีย
ทั้งนี้บัวหลวงสามารถเจริญเติบโตได้ดีในทุกสภาพดิน ในระดับน้ำไม่ลึกมากเกิน 1 เมตร และบัวหลวงยังมีความอ่อนไหวต่อคุณภาพน้ำสูง โดยจะชอบแหล่งน้ำธรรมชาติ สะอาด น้ำไม่เน่าเสีย ดังนั้น ระดับน้ำ และคุณภาพของน้ำจึงเป็นสิ่งสำคัญลำดับแรกๆ ที่ต้องพิจารณาสำหรับการปลูกบัวหลวง
องค์ประกอบทางเคมี
ในส่วนต่างๆ ของบัวหลวง พบองค์ประกอบทางเคมี ดังนี้
เกสรบัว พบฟลาโวนอยด์หลายชนิด เช่น quercetin, luteolin, isoquercitrin, luteolin glucoside และมีรายงานพบสารกลุ่มแอลคอลอยด์อีกด้วย
ดอกบัว พบสารกลุ่มฟลาโวนอยด์หลายชนิด เช่น quercetin, luteolin, isoquercitrin, luteolin glucoside, kaempferol, kaempferol 3- galactoglucoside, kaempferol 3- diglucoside
ดีบัว พบ methylcorypalline และแอลคาลอยด์ชนิดอื่นๆ เช่น liensinine, isoliensinine, neferine, lotusine, nuciferine, pronuciferine, demethylcoclaurine และสารจำพวกฟลาโวนอยด์ เช่น galuteolin, hyperin, rutin
ใบ พบสารกลุ่มแอลคอลอยด์ เช่น dehydroroemerine, dehydronuciferine, dehydroanonaine, Nmethylisococlaurine, roemerine, nuciferine, anonaine, pronuciferine, Nnornuciferine, nornuciferine, amepavine, N-methylcoclaurine และพบสารประกอบพวกฟลาโวนอยด์ เช่น quercetin, isoquercetin, nelumboside
ก้านบัว พบ สารกลุ่มแอลคาลอยด์ หลายชนิด เช่น roemerine, nornuciferine, nornuciverine, nuciferine, armepavine resin, tannin8 asparagine
เหง้าบัว พบ quercetin และสารกลุ่มแอลคาลอยด์หลายชนิด เช่น nelumbine, nuciferine, Nnornuciferine, oxoushinsunine, N-noramepavine นอกจากนี้ในเม็ดบัวหลวง ที่นิยมนำมาบริโภค ยังมีคุณค่าทางโภชนาการดังนี้
คุณค่าทางโภชนาการของเม็ดบัวหลวง ดิบ และ แห้ง (ต่อ 100 กรัม)
|
ดิบ |
แห้ง |
พลังงาน คาร์โบไฮเดรต น้ำ ไขมัน โปรตีน วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินบี 6 ธาตุแคลเซียม ธาตุเหล็ก ธาตุแมกนีเซียม ธาตุโพแทสเซียม ธาตุโซเดียม |
89 กิโลแคลอรี 17.28 กรัม 77.00 กรัม 0.53 กรัม 4.13 กรัม 13 กรัม 0.171 มิลลิกรัม 0.040 มิลลิกรัม 0.429 มิลลิกรัม 0.168 มิลลิกรัม 28 ไมโครกรัม 44 มิลลิกรัม 0.95 มิลลิกรัม 56 มิลลิกรัม 168 มิลลิกรัม 367 มิลลิกรัม 1 มิลลิกรัม 0.28 มิลลิกรัม |
332 กิโลแคลอรี 64.47 กรัม 14.16 กรัม 1.97 กรัม 15.41 กรัม 50 กรัม 0.640 มิลลิกรัม 0.150 มิลลิกรัม 1.600 มิลลิกรัม 0.629 มิลลิกรัม 104 ไมโครกรัม 163 มิลลิกรัม 3.53 มิลลิกรัม 210 มิลลิกรัม 626 มิลลิกรัม 1.368 มิลลิกรัม 5 มิลลิกรัม 1.05 มิลลิกรัม |
รูปภาพองค์ประกอบทางเคมีของบัวหลวง
ที่มา : wikipedia
การศึกษาทางเภสัชวิทยาของบัวหลวง
ฤทธิ์ต้านเบาหวาน เกสรตัวผู้ยังมีฤทธิ์ยับยั้ง rat lens aldose reductase (RLAR) และ advance glycation end products (AGE) โดยมีค่า IC50 48.30 และ 125.48 ug/ml ตามลำดับ ซึ่งการยับยั้ง RLAR และ AGE มีผลต่อการลดการเกิดภาวะเบาหวาน สารสกัดเอทานอลจากเหง้า มีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดหนู ที่ถูกเหนี่ยวนำด้วยStreptozotocin โดยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ 73% และ 67% ในหนูปกติ และหนูที่เป็นเบาหวาน ตามลำดับ ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ สารกลุ่มฟลาโวนอยด์ ที่พบในเกสรมีฤทธิ์ต้านปฏิกิริยาออกซิเดชัน โดยเกสรตัวผู้เมื่อทดสอบด้วยวิธีทางเคมี มีฤทธิ์จับอนุมูลอิสระ DPPH โดยมีค่า EC50 เท่ากับ 42.05 ug/ml
การทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของสารสกัดเมทานอล และสารสกัดด้วยตัวทำละลายผสมของเฮกเซน:อะซิโตน:เมทานอล:โทลูอีน (10:7:6:7) ที่ได้จากเกสรบัวหลวง 4 ชนิด ได้แก่ บัวหลวงปทุม (ดอกตูมสีชมพูทรงแหลม รูปไข่ ปลายเรียว), บัวหลวงสัตตบงกช (ดอกตูมทรงป้อมสีชมพู), บัวหลวงบุณฑริก (ดอกตูมสีขาวทรงแหลม รูปไข่ ปลายเรียว) และบัวหลวง สัตตบุตย์ (ดอกตูมทรงป้อมสีขาว) ศึกษาฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระในหลอดทดลองด้วยวิธีทางเคมี โดยใช้อนุมูลอิสระ DPPH (2,2-diphenyl-1-picrylhdrazyl) ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดเมทานอลของเกสรบัวหลวง 4 ชนิด คือ สัตตบงกช, สัตตบุษย์, บุณฑริก และปทุม สามารถยับยั้งอนุมูลอิสระ DPPH ได้ โดยมีค่าความเข้มข้นในการยับยั้งได้ครึ่งหนึ่ง (IC50) เท่ากับ 31.60±3.40, 40.90±1.50, 62.22±4.00 และ 68.30±6.30 g/mL ตามลำดับ สารสกัดด้วยตัวทำละลายผสมของเกสรบัวหลวง 4 ชนิด มีค่า IC50 เท่ากับ 1.29±0.02, 1.83±0.07, 2.23±0.05 และ 2.21±0.06 mg/mL ตามลำดับ สรุปได้ว่าบัวหลวงสัตตบงกชมีความสามารถในการกำจัดอนุมูลอิสระสูงที่สุด โดยสารสกัดเมทานอลออกฤทธิ์แรงกว่าสารสกัดผสม 40 เท่า (p<0.05, ที่ระดับความเชื่อมั่น 95%)
ฤทธิ์ต่อหัวใจ และความดันโลหิต สารสกัดด้วยน้ำจากดีบัว มีฤทธิ์ลดความดันโลหิต สาร demethylcoclaurine จากดีบัวมีฤทธิ์คลายกล้ามเนื้อเรียบ สาร methylcorypalline มีฤทธิ์ขยายหลอดเลือด ที่ไปเลี้ยงหัวใจ (coronary dilator action) สาร neferine มีฤทธิ์ลดความดันโลหิต และต้านการเต้นของหัวใจที่ผิดปกติ โดยมีผลต่อการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด
ฤทธิ์ลดปวด และต้านการอักเสบ สารแอลคาลอยด์ ที่พบในบัว มีฤทธิ์ลดอาการปวด และแก้อักเสบสารสกัดเมทานอลจากเหง้า ในขนาด 200 มก./กก. และ 400 มก./กก. ลดการอักเสบในหนู โดยมีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับ phenylbutazone และ examethasone ทั้งการทดสอบในหลอดทดลอง และสัตว์ทดลอง สารสกัดเอทานอลของก้านใบ ในขนาด 200 มก./กก. มีฤทธิ์ลดไข้ในสัตว์ทดลอง โดยลดอุณหภูมิในร่างกายสัตว์ทดลองใน model yeast induced fever โดยมีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับยาพาราเซตามอล
ฤทธิ์ต้านจุลชีพ ฤทธิ์ต้านเชื้อที่ก่อเกิดฝีหนอง เขื้อก่อเกิดโรคท้องร่วง และสารสกัดแอลกอฮอล์จากดีบัวมีฤทธิ์ต้านเชื้อ β-Streptococcus group A
ฤทธิ์ทำให้นอนหลับ สารแอลคาลอยด์ ที่พบในบัว มีผลทำให้หนูนอนหลับ สารสกัดเมทานอลจากเหง้าบัว ทำให้ลดพฤติกรรม และกิจกรรมต่างๆในสัตว์ โดยเพิ่มการเกิด pentobarbitone-induced sleeping time ในหนู
ฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์แอลโดสรีดักเตสที่เลนส์ตา สารสกัดเมทานอลของเกสรตัวผู้บัวหลวงพบว่ามีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ชนิดนี้ที่เลนส์ตาของหนูแรทได้ จึงอาจช่วยลดอาการแทรกซ้อนที่ตาในผู้ป่วยเบาหวานได้ (เนื่องจากผู้ป่วยเบาหวานที่มีปริมาณกลูโคสในกระแสเลือดสูง มักพบอาการแทรกซ้อนโดยเฉพาะที่ตา เป็นบริเวณที่มีปริมาณกลูโคสสะสมมาก ทําให้เอนไซมอัลโดสรีดักเทส เปลี่ยนกลูโคสเป็นสารซอร์บิทอลที่บริเวณเลนส์ตา และเรตินา ซึ่งซอร์บิทอลเป็นสารที่ไม่สามารถแพร่ผ่านเซลเมมเบรนได้จึงสะสมอยู่ภายในเลนส์ตาทำให้เกิดต้อกระจกได้) การทดสอบใช้สารสกัดด้วยตัวทำละลาย 3 ชนิด ได้แก่ ไดคลอโรมีเทน, เอทิลอะซีเตต และบิวทานอล ซึ่งสามารถแยกฟลาโวนอยด์จากสารสกัดเอทิลอะซิเตตได้ 13 ชนิด ได้แก่ kaempferol (1), glycosides (2-9), myricetin 3',5'-dimethylether 3-O-beta-d-glucopyranoside (10), quercetin 3-O-beta-d-glucopyranoside (11) และ isorhamnetin glycosides (12, 13) สารที่ไม่ใช่ฟลาโวนอยด์ 4 ชนิด ได้แก่ adenine (14), myo-inositol (15), arbutin (16) และ beta-sitosterol glucopyranoside (17) นำมาทดสอบฤทธิ์การยับยั้งเอนไซม์แอลโดสรีดักเตส พบว่าโครงสร้าง 3-O-alpha-l-rhamnopyranosyl-(1-->6)-beta-d-glucopyranoside ในring C ของฟลาโวนอยด์, kaempferol 3-O-alpha-l-rhamnopyranosyl-(1-->6)-beta-d-glucopyranoside (5) และ isorhamnetin 3-O-alpha-l-rhamnopyranosyl-(1-->6)-beta-d-glucopyranoside (13) มีค่า IC50 เท่ากับ 5.6 และ 9.0 ไมโครโมล่าร์ ตามลำดับ
ฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ acethylcholinesteraseมีการศึกษาโดยการป้อนสารสกัด 50% hydroalcoholic จากดอกบัวหลวงสีชมพู (Nelumbo nucifera Gaertn.) ขนาด 10, 100 และ 200 มก./กก.น้ำหนักตัว ให้แก่หนูแรท 45 นาที ก่อนกระตุ้นให้เกิดความเครียดแบบต่อเนื่อง 12 ชั่วโมง ติดต่อกัน 14 วัน แล้วประเมินความเสียหายของสมอง พบว่าสารสกัดจากดอกบัวป้องกันภาวะความจำบกพร่อง และลดระดับความเสียหายในสมองของหนูแรท ผ่านการยั้บยั้งการเกิด oxidative stress ในสมอง ลดระดับ corticosterone และลดการทำงานของเอนไซม์ acethylcholinesterase (AChE), monoamine oxidase type A (MAO-A), monoamine oxidase type B (MAO-B) ซึ่งเพิ่มขึ้นจากการได้รับความเครียด นอกจากนี้กลุ่มที่ได้รับสารสกัดจากดอกบัวยังพบความหนาแน่นของเซลล์สมอง และการแสดงออกของโปรตีน Ki67 ในสมองส่วนฮิปโปแคมปัสเพิ่มขึ้นด้วย แสดงให้เห็นว่าดอกบัวป้องกันความเสียหายของสมองที่เกิดจากความเครียดโดยอาศัยการต้านอนุมูลอิสระ การสร้างเซลล์ประสาทใหม่ ร่วมกับปรับปรุงการทำงานของสาร cholinergic และ monoaminergic ในสมอง
การศึกษาทางพิษวิทยาของบัวหลวง
สารสกัดแอลกอฮอล์ของเกสรบัวหลวง ขนาด 10 กรัม/กิโลกรัม โดยการป้อน หรือ ฉีดใต้ผิวหนังหนูถีบจักร ไม่ก่อเกิดความเป็นพิษ และยังมีการศึกษาความเป็นพิษในหนูทดลองโดยให้สารสกัดเอทานอลจากเกสรบัวหลวงโดยป้อนให้แก่หนูทดลอง การทดสอบพิษเฉียบพลัน ป้อนสารสกัด ในขนาด 5000 mg/kg ครั้งเดียว สังเกตผลภายใน 24 ชั่วโมง และติดตามอีก 14 วัน ผลการทดสอบ ไม่พบอาการพิษ ไม่พบการตายของหนู และ การทดสอบพิษกึ่งเรื้อรัง ป้อนสารสกัด ขนาด 50, 100 และ 200 mg/kg/day เป็นเวลา 90 วัน ไม่พบพิษที่เกิดขึ้นกับหนูทดลอง น้ำหนักตัวไม่เปลี่ยนแปลง ยกเว้นเมื่อให้ยาในขนาด 200 mg/kg/day แก่หนูเพศเมีย ในวันที่ 90 พบว่าน้ำหนักหนูน้อยกว่ากลุ่มควบคุม แต่ไม่มีความผิดปกติของอวัยวะภายใน
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
- การรับประทานเม็ดบัวเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดนั้น ควรเลือกรับประทานเฉพาะเมล็ดบัวสดเท่านั้น และจากผลการวิจัยพบว่าสารต่อต้านอนุมูลอิสระในเม็ดบัวไทยจะมีมากกว่าเม็ดบัวจีนถึง 5-6 เท่า
- สำหรับผู้ที่มีอาการท้องผูก ท้องเฟ้อ อาหารไม่ค่อย ไม่ควรรับประทานเม็ดบัว
- เกสรบัวหลวงอาจทำให้เกิดอาการแพ้ได้ในบางราย โดยเฉพาะในผู้ที่มีอาการแพ้เกสรดอกไม้
- ในการใช้ส่วนต่างๆ ของบัวหลวง เพื่อบริโภคเป็นอาหารนั้น ควรเลือกใช้บัวหลวงที่สดใหม่เสมอ ส่วนในการใช้เพื่อการบำบัดรักษาโรคตามตำรายาต่างๆ ควรใช้ในปริมาณที่พอดีตามที่ระบุไว้ในตำรับยานั้นๆ ไม่ควรใช้มากจนเกินไป หรือใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัว หรือ ผู้ที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่องก่อนที่จะใช้ส่วนต่างๆของบัวหลวงช่วยบำบัดรักษาโรคควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ
เอกสารอ้างอิง บัวหลวง
- วิเชียร จีรวงส์. เอกสารประกอบการประชุมใหญ่ของสมาคมสมุนไพรไทยแห่งประเทศไทย. 30 เมษายน 2537.ณ.คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
- เดชา ศิริภัทร. บัวหลวง.คุณค่า ควรคู่ คนบูชา. คอลัมน์ ต้นไม้ใบหญ้า.นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 283.พฤศจิกายน 2545
- ผศ.ดร.สุดารัตน์ หอมหวน.บัว สมุนไพรในตำรับยาหอม.ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.
- วุฒิ วุฒิธรรมเวช.สารานุกรมสมุนไพร.โอเดียนสโตร์.กรุงเทพมหานคร.2540
- ธิดารัตน์ จันทร์ดอน.บัวหลวง....สัญลักษณ์แห่งพระพุทธศาสนา.สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
- คณิดา เลขะกุล,จิรายุพิน จันทรประสงค์.ชุมศรี ชัยอนันต์ และคณะไม้ดอกและไม้ประดับเฉลิมพระเกียรติ ด่านสุทธาการพิมพ์.กรุงเทพมหานคร 2536.
- คณะกรรมการแห่งชาติด้านยา.บัญชียาจากสมุนไพร.2549.พิมพ์ครั้งที่ 2. โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทยกรุงเทพมหานคร. 2551
- ชยันต์ พิเชียรสุนทร.คู่มือเภสัชกรรมแผนไทย เล่ม 5 คณาเภสัช.กรุงเทพฯ บริษัทอมรินทร์ พริ้นดิ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) 2547 .351 หน้า.
- พฤฒาจารย์วิพุธโยคะ รัตนรังสี,สุวัตร์ ตั้งจิตรเจริญ,ปริญญา อุทิศลานนท์.เพชรน้ำเอก กรุยอดตำรับยาสมุนไพร พิมพ์ครั้งที่ 2. สุวีริยา สาส์น กรุงเทพมหานคร.2541
- ชยันต์ พิเชียรสุนทร.แม้นมาส ชวลิต, วีเชียร จีรวงส์. คำอธิบาย ตำราพระโอสถพระนารายณ์, อมรินทร์ กรุงเทพมหานคร 2544.
- นิจศิริ เรื่องรังสี.ธวัชชัย มังคละคุปต์.สมุนไพรไทยเล่ม 1 ฐานการพิมพ์ จำกัดกรุงเทพมหานคร 2547
- นันทวัน บุณยะประภัศสร.สมุนไพรไม้พื้นบ้าน (2) กรุงเทพฯ บริษัทประชาชนจำกัด 254. 640 หน้า
- สถาบันวิจัยสมุนไพร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข.สมุนไพร ไทย-จีน โรงพิมพ์การศาสนา กรุงเทพมหานคร 2547.
- ดอกบัวหลวงช่วงป้องกันภาวะความจำบกพร่องจากภาวะเครียด.ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร.สำนักงานข้อสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
- นพมาศ สุนทรเจริญนนท์, นงลักษณ์ เรืองวิเศษ. วิเคราะห์ วิจัย คุณภาพเครื่องยาไทย. คอนเซ็พท์ เมดิคัส จำกัด:กรุงเทพมหานคร, 2551.
- เกสรบัวหลวง.ฐานข้อมูลเครื่องยา คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.thaicrudedrug.com/main
- การปลูกบัวหลวง. พืชเกษตรดอทคอม เว็บเพื่อพืชเกษตรไทย (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.puechkset.com
- ถนอมศรี วงศ์รัตนาสถิต. เอกลักษณ์สมุนไพร โรงพิมพ์คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.กรุงเทพมหานคร 2538
- คณะกรรมการแห่งชาติด้านยา. บัญชียาจากสมุนไพร 2549. พิมพ์ครั้งที่ 2. โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย:กรุงเทพมหานคร, 2551.
- Lim SS, Jung YJ, Hyun SK, Lee YS, Choi JS. Rat lens aldose reductase inhibitory constituents of Nelumbo nucifera stamens. Phytother Res. 2006;20(10):825-830.
- Jung HA, Jung YJ, Yoon NY, Jeong DM, Bae HJ, Kim D-W, Na DH, Choi JS. Inhibitory effects of Nelumbo nucifera leaves on rat lens aldose reductase, advanced glycation endproducts formation, and oxidative stress. Food and Chemical Toxicology 2008:46: 3818–3826.
- Kunanusorna P, Panthonga A, Pittayanurakb P, Wanauppathamkulc S, Nathasaend N, Reutrakul V. Acute and subchronic oral toxicity studies of Nelumbo nucifera stamens extract in rats. J Ethnopharmacology. 2011;134:789–795.
- Kunitomo J, Yoshikawa Y, Tanaka S, Imori Y, Isoi K, Masada Y, Hashimoto K, Inoue T. Alkaloids of Nelumbo nucifera. Phytochemistry 1973; 12(3): 699-701.
- Sinha, S., Mukherjee, P. K., Mukherjee, K., Pal, M., Mandal, S. C.,Saha, B. P. Evaluation of antipyretic potential of Nelumbo nucifera stalk extract. Phytother. Res 2000: 14:272.
- Mukherjee, P. K., Saha, K., Pal, M., Saha, B. P. Effect of Nelumbo nucifera rhizome extract on blood sugar level in rats. J. Ethnopharmacol 1997: 58:207.
- Mukherjee, P. K., Saha, K., Das, J., Pall, M., Saha, B. P. Studies on the anti-inflammatory activity of rhizomes of Nelumbo nucifera. Planta Med 1997: 63: 367.
- Phonkot N, Wangsomnuk P, Aromdee C. Antioxidant activity and DNA fingerprint of four varieties of lotus stamens (Nelumbo nucifera Gaertn.). Songklanakarin J Sci Technol. 2008;30(1):55-58.