คราม ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

คราม งานวิจัยและสรรพคุณ 21 ข้อ

ชื่อสมุนไพร คราม
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ครามย้อม (ภาคกลาง), ครามย้อย (ภาคเหนือ), คาม (ภาคอีสาน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Indigofera tinctoria Linn.
ชื่อสามัญ Indigo
วงศ์ LEGUMINOSAE


ถิ่นกำเนิดคราม

ครามจัดเป็นพืชในสกุล Indigofera ที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในทวีปแอฟริกาบริเวณภูมิภาค แอฟริกาตะวันออก แล้วจึงมีการแพร่กระจายพันธุ์ไปยังบริเวณเขตร้อนต่างๆ ทั่วโลกในเวลาต่อมา สำหรับในประเทศไทยสามารถพบได้มากตามภาคเหนือ และภาคอีสานส่วนภาคกลางพบได้ประปราย โดยมักจะพบตามป่าโปร่ง รวมถึงบริเวณตามไร่ตามสวนทั่วไป


ประโยชน์และสรรพคุณคราม

  • ช่วยดับพิษ
  • แก้ไข้ตัวร้อน
  • แก้ไข้หวัด
  • แก้ปวดศีรษะ
  • ช่วยสมานแผล
  • แก้ไข้
  • แก้ปวดศีรษะ
  • แก้กษัย
  • ช่วยขับปัสสาวะ
  • ช่วยฟอกปัสสาวะ
  • แก้ปัสสาวะขุ่นข้น
  • แก้นิ่ว
  • ช่วยลดอาการบวม
  • แก้พิษฝี
  • แก้โลหิต
  • แก้หอบหืด
  • แก้อักเสบ
  • ช่วยลดอาการบวมน้ำ
  • แก้พิษงู
  • ช่วยฆ่าพยาธิ
  • แก้หิด

           ครามถูกนำมาใช้ประโยชน์หลักๆ คือ การนำมาย้อมสีผ้ามาตั้งแต่ในอดีตแล้ว เนื่องจากในลำต้น และใบมีสารอินดิแคน (indican) เมื่อผ่านกระบวนการหมักด้วยการแช่น้ำ จะเปลี่ยนเป็นสารอินดอกซิล (indoxyl) และเมื่อได้สัมผัสกับอากาศก็จะเปลี่ยนเป็นสารอินดิโกบลู (indigo blue) ซึ่งให้สีโทนน้ำเงิน ซึ่งภูมิปัญญาดั้งเดิมของไทย จะนำครามมาทำสีย้อมผ้า โดยใช้ใบ และต้นสดมาหมักในน้ำ 1-2 น้ำ แล้วสีน้ำเงินจะตกอยู่ก้นภาชนะ จากนั้นจึงเทใส่ถุงผ้าหนาๆ ทับให้สะเด็ดน้ำ แล้วนำผงสีที่ได้ไปทำให้แห้ง จะได้ผงสีน้ำเงินสามารถนำใช้เป็นสีย้อมผ้า สีวาดรูป และสีน้ำหมึกเป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการนำน้ำที่คั้นได้จากใบของต้นครามมาใช้บำรุงเส้นผม และช่วยป้องกันผมหงอก ช่วยปิดผมขาวได้อีกด้วย


รูปแบบและขนาดวิธีใช้

  • ใช้ขับปัสสาวะ ฟอกปัสสาวะ แก้นิ่ว แก้กษัย แก้หอบหืด แก้ปัสสาวะขุ่นข้น ลดอาการบวมน้ำ โดยการนำครามทั้งต้นต้มกับน้ำดื่ม
  • ใช้ลดไข้ แก้ปวดศีรษะ โดยนำต้นครามสดๆ นำมาทุบแล้วใช้พอกกระหม่อม
  • ใช้แก้แผลอักเสบ สมานแผล แก้พิษ ทั้งพิษงู และพิษจากสัตว์มีพิษ โดยนำทั้งต้นครามมาบด แล้วพอกบริเวณที่เป็น จะทำให้แผลหายเร็ว ไม่มีหนอง
  •  ใช้แก้ไข้ตัวร้อน แก้ปวดศีรษะ แก้หวัด โดยนำใบครามาตำพอกบริเวณศีรษะ และใช้ต้มกับน้ำดื่มอีกทางด้วย
  • ใช้แก้หอบหืด แก้อักเสบบวม ฆ่าพยาธิ โดยนำเปลือกต้นครามมาต้มกับน้ำดื่ม
  • ใช้แก้หิด โดยนำน้ำมันจากเมล็ดครมมาทาบริเวณที่เป็น


ลักษณะทั่วไปของคราม

คราม จัดเป็นไม้พุ่มขนาดเล็กที่มีการแตกกิ่งก้านมาก มีความสูงของต้นประมาณ 1-1.5 เมตร ลำต้นตั้งตรงมีลักษณะกลมสีเขียว หรือ บางที่อาจ มักพาดเกาะกับสิ่งที่อยู่ใกล้ลำต้น ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกออกเรียงสลับบนก้านช่อใบ ซึ่งลักษณะของใบย่อยคล้ายกับใบก้างปลาแต่ขนาดเล็กกว่า คือ เป็นรูปวงรีแกมรูปขอบขนาน หรือ เป็นรูปไข่กลับ มีขนาดกว้างประมาณ 0.8-1 เซนติเมตร และยาวประมาณ 1.5-3.5 เซนติเมตร โคนสอบปลายใบมนขอบใบเรียบ แผ่นใบสีเขียวและบาง ดอกออกเป็นช่อบริเวณซอกใบ โดยช่อดอกจะยาว 10-15 เซนติเมตร และใน 1 ช่อดอกจะมีดอกย่อยจำนวนมาก ซึ่งจะมีลักษณะเป็นรูปดอกถั่ว ยาวประมาณ 5 มิลลิเมตร กลีบดอกเป็นสีม่วง หรือ สีชมพู ผลออกเป็นฝัก โดยจะออกเป็นกระจุก ซึ่งฝักจะมีลักษณะตรงคล้ายกับฝักถั่ว แต่จะมีขนาดเล็กกว่า โดยมีความยาวประมาณ 5-8 เซนติเมตร ฝักมีสีเขียวอมน้ำตาล เมื่อแก่ฝักจะแตกออกภายในฝักมีเมล็ดทรงกระบอกสีครีมอมสีเหลือง หรือ สีน้ำตาลอ่อนขนาดเล็ก 7-12 เมล็ด

คราม

คราม

การขยายพันธุ์คราม

ครามเป็นไม้พุ่มที่สามารถขยายพันธุ์ได้โดยการใช้เมล็ด และยังเป็นพันธุ์ไม้ที่ปลูกง่าย สามารถเจริญเติบโตได้ดีทุกทุกสภาพดิน ทนทานต่อภูมิอากาศร้อนจัด และสภาวะแล้ง จนบางครั้งอาจถูกจัดเป็นวัชพืชในบางท้องถิ่น สำหรับวิธีการเพาะเมล็ดและปลูกครามนั้น สามารถทำได้เช่นเดียวกันกับการเพาะเมล็ด และปลูกไม้พุ่ม หรือ ไม้ยืนต้นชนิดอื่นๆ ตามที่ได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมีของส่วนต่างๆ ของครามระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญๆ หลายชนิดดังนี้ ในส่วนใบพบสาร indican, rutin, quercetin, kaempferol และ apigenin. ในเมล็ดพบสาร epicatachin, gallic acid และ rutin ส่วนทั้งต้นพบสาร indigotin (เป็นสารที่ให้สีน้ำเงิน), indirubin, Cytidine, Inosine, stigmasterol และ β-sitosterol เป็นต้น

โครงสร้างคราม 

การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของคราม

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยถึงฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของสารสกัดคราม จากส่วนต่างๆ ระบุว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่สำคัญดังนี้

           ฤทธิ์สมานแผล มีการศึกษาวิจัยการทดสอบสารสกัดด้วยเอทานอลจากส่วนเหนือดินของคราม ในรูปของยาเตรียมน้ำมัน 5% (สารสกัด 5 ก. ในน้ำมัน 100 ก.) ในแผลผ่าตัด (incision wound model) ซึ่งเป็นแผลเปิดที่เกิดจากการตัดผิวหนังส่วน full thickness ออกไป (excision wound model) และแผลที่เกิดจากการตัด granuloma tissue ที่เกิดขึ้นบนหลอดโพลีโพรไพลีนที่ฝังอยู่บริเวณผิวหนังส่วนหลัง (dead space wound model) ของหนูขาว โดยทำการทาสารสกัดดังกล่าววันละ 2 ครั้ง พบว่าในวันที่ 4 ของการทดลองแผลของหนูในกลุ่มยามาตรฐาน (0.005% Fluticasone propionate) และกลุ่มน้ำมันคราม เริ่มมีการหดตัวของแผลและ ในวันที่ 16 แผลในกลุ่มยามาตรฐานจะสมานเรียบร้อย กลุ่มน้ำมันครามแผลสมานเกือบสมบูรณ์ และจะสมาน 100% ในวันที่ 18 ของการทดลอง ส่วนกลุ่มควบคุม (ใช้ simple oinment base) พบว่าแผลจะสมาน 95.71% จากนั้นได้วัดค่า tensile strength วันที่ 20 ของการทดลอง ในกลุ่มยามาตรฐาน และน้ำมันครามมีค่าแตกต่างจากกลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และเมื่อพิจารณาพยาธิวิทยาของเนื้อเยื่อ พบว่าแผล incision และ dead space wound ในหนูกลุ่มน้ำมันคราม และยามาตรฐาน จะพบการสร้าง epithelial cell คอลลาเจน เซลล์ ไฟโบบราส และหลอดเลือดอย่างเห็นได้ชัด อีกทั้งระดับโปรตีนและไฮดรอกซีโปรลีน รวมถึงน้ำหนักของ granuloma cell  เพิ่มขึ้น ในขณะที่กลุ่มควบคุมกระบวนการสมานแผลไม่สมบูรณ์ และยังมีการสร้างคอลลาเจน เซลล์ไฟโบบราส และเส้นเลือดต่ำ

           ฤทธิ์สมานแผลในกระเพาะอาหาร มีรายงานการทดสอบฤทธิ์สมานแผลในกระเพาะอาหารของส่วนสกัดเอธิล อะซิเตท (Ethyl acetate fraction; AcF) ซึ่งแยกได้จากสารสกัดเมธานอลของใบครามใหญ่ (Indigoferasuffruticosa) ในหนูแรทเพศผู้ โดยให้หนูกิน สารสกัด AcF ขนาด 20, 25 และ 100 มก./กก เปรียบเทียบกับการได้รับยา lansoprazole ซึ่งเป็นยาที่ใช้รักษาแผลในกระเพาะอาหารขนาด 30 มก./กกหลังจากนั้น 1 ชม. จึงเหนี่ยวนำให้หนูเกิดแผลในกระเพาะอาหารด้วยการกิน 99.5% เอธานอล 1 มล. และหลังจากนั้นอีก 1 ชม. จึงฆ่าหนูเพื่อวิเคราะห์ผล พบว่าAcF ที่ขนาด 100 มก./กก สามารถยับยั้งการถูกทำลายที่บริเวณชั้นเยื่อบุผนังของกระเพาะอาหารซึ่งเกิดจาก 99.5% เอธานอล ได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และเมื่อเปรียบเทียบผลกับการที่หนูได้รับเพียงน้ำกระสายยา AcF ไม่มีผลกับการหลั่งกรด แต่เพิ่มการสร้างprostaglandin E2 (PGE2) และสารเมือกในกระเพาอาหาร โดยที่กลไกการออกฤทธิ์ของ AcF จะเกี่ยวข้องกับการเพิ่มการสร้างเซลล์ (proliferating cell nuclear antigen; PCNA) และ heat shock protein (HSP 70) ซึ่งเป็นโปรตีนที่มีผลในการปกป้องกระเพาะอาหาร ส่วนการศึกษาวิจัยอีกฉบับหนึ่งระบุว่า จากการศึกษาสารพฤกษเคมีในส่วนเหนือดินของครา พบว่ามีคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระ (antioxidant) มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ (anti- inflammatory) ต้านแบคทีเรีย (antibacterial) ต้านไวรัส (antiviral) และมีสมบัติเป็นสารปรับเปลี่ยนภูมิคุ้มกัน (immunomodulatory) ได้อีกด้วย

           นอกจากนี้ยังมีการศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของสารสกัดจากทุกส่วนของครามโดยทำการทดสอบกับเซลล์มะเร็งปอด พบว่าเซลล์มะเร็งปอดมีอัตราการเจริญเติบโตช้าลง ส่วนสารสกัดเอทานอลจากคราม สามารถต้านการแบ่งตัวของเซลล์ผิวหนังชั้นของโรคสะเกิดเงิน keratin ที่ทดสอบในหลอดทดลองได้


การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของคราม

มีรายงานการศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาเกี่ยวกับสาร indigotin ซึ่งเป็นสารที่ให้สีน้ำเงินในคราม โดยการศึกษาดังกล่าวระบุว่าสารดังกล่าวไม่มีความเป็นพิษต่อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และไม่พบอาการแพ้ในผิวหนังมนุษย์


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

สำหรับการใช้ครามเป็นสมุนไพร ในการบำบัดรักษาโรคนั้นควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาดและปริมาณที่เหมาะสมที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในขนาดและปริมาณที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้

เอกสารอ้างอิง คราม
  1. ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม. “คราม”.  หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5 หน้า 168.
  2. เต็ม สมิตินันทน์, 2523 ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (ชื่อพฤกษศาสตร์-ชื่อพื้นเมือง) ห้างหุ้นส่วนจำกัด ฟันนี่พับบลิชชิง, กรุงเทพฯ.
  3. พีรศักดิ์ วรสุนทโรสถ และคณะ. ทรัพยากรพืชในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 3: พืชให้สีย้อมและแทนนิน. กทม. สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย. 2544.หน้า 99–100
  4. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “คราม Indigo”. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. หน้า 126.
  5. นฤมล ธนานันต์.การประเมินความสัมพันทางพันธุ์กรรมของพืชคราม สกุล Indigofera โดยใช้เทคนิคสก๊อต. วารสารวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีปีที่ 9.ฉบับที่ 2 มีนาคม-เมษายน 2563. หน้า 333-341
  6. ฤทธิ์สมานแผลของครามป่า. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  7. Renukadevi, K.P. and Suhani, S.S.,2011. Determination of antibacterial , antioxidant and cytotoxicity effect of Indigofera tinctoria on lung cancer cell line NCI-h69. Int. J. Pharm. 7: 356-362.
  8. ญาดา พูลเกษม,สมจิต ดำริห์อนันต์, นิรมล ศากยวงศ์. ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และการคัดกรองความเป็นพิษต่อเซลล์ของสารสกัดคราม. วารสารวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีปีที่ 10. ฉบับที่ 5 กันยายน-ตุลาคม 2564. หน้า 571-586
  9. Senthilkumar, A. and Venkatesalu, V. , 2009, Photochemical analysis and antibacterial activity of the essential oil of Clausena anisata (Wild.) Hook. f. Exbenth, Int. J. Integr. Biol. 5: 116–120
  10. ฤทธิ์สมานแผลในกระเพาะอาหารของครามใหญ่. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  11. Saraswathi, M.N., Karthikeyan, N., Rajsekar, S. and Gopal, V. , 2012. , Indigofera tinctoriaLinn. - A phytopharmacological review, Int. J. Pharm. 3(1): 164-169.