ขมิ้นเครือ ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

ขมิ้นเครือ งานวิจัยและสรรพคุณ 24 ข้อ

ชื่อสมุนไพร ขมิ้นเครือ
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ขมิ้นฤาษี, ฮับ (ภาคใต้), ชั้วตั่วเล้ง (ม้ง)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Arcangelisia flara (L.) Merr.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Arcangelisia inclyta Becc., Arcangelisia lemniscate Becc., Anamirta cocculus Wight & Arn., Anamirta flavescens Miq., Anamirta lemniscata Miers, Anamirta paniculate Colebr., Menispermum flavum L., Menispermum flavescens Lam Cocculus flavesens DC.
ชื่อสามัญ Tree turmeric
วงศ์ MENISPER MACEAE


ถิ่นกำเนิดขมิ้นเครือ

ขมิ้นเครือจัดเป็นพันธุ์พืชไม้เถาเลื้อย ที่มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนของทวีปเอเชีย บริเวณประเทศไทย มาเลเซีย กัมพูชา เวียดนาม ลาว และพม่า สำหรับในประเทศไทย สามารถพบขมิ้นเครือ ได้ในภาคใต้ ภาคตันออก และภาคอีสาน โดยมักพบบริเวณ ป่าดิบแล้ง และป่าดิบชื้นที่ระดับความสูงไม่เกิน 300 เมตร


ประโยชน์และสรรพคุณขมิ้นเครือ

  • บำรุงธาตุ
  • บำรุงโลหิต
  • ช่วยเจริญอาหาร
  • แก้เบาหวาน
  • แก้ดีซ่าน
  • แก้ไอ
  • แก้อาหารไม่ย่อย
  • รักษาโรคกระเพาะ
  • แก้ท้องเสีย
  • ช่วยสมานลำไส
  • แก้ปวดท้อง
  • ช่วยขับประจำเดือนในสตรี
  • ช่วยบรรเทาอาการคัน
  • แก้โรคผิวหนัง
  • แก้ผิวพุพองเรื้อรัง
  • บำรุงกำลัง
  • บำรุงน้ำเหลือง
  • แก้ไข้ป่า
  • แก้ไข้จับสั่น
  • แก้ไอ
  • ช่วยขับลม
  • ใช้เป็นยาระบาย
  • ช่วยลดไข้
  • ช่วยประสานเอ็นที่ขาด

           ในสมัยก่อนมีการนำเมล็ดขมิ้นเครือ มาใช้ทำยาเบื่อปลา ส่วนในต่างประเทศมีการนำส่วนของเถามาใช้ย้อมผ้า และใช้ย้อมอุปกรณ์ และเครื่องมือ เครื่องใช้ต่างๆ โดยลำต้น หรือ เถาจะให้สีเหลือง

ขมิ้นเครือ

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

  • ใช้บำรุงโลหิต บำรุงธาตุ ช่วยให้เจริญอาหาร แก้เบาหวาน แก้ไอ แก้อาหารไม่ย่อย ช่วยสมานลำไส้ รักษาโรคกระเพาะ ขับประจำเดือนในสตรี แก้ปวดท้อง ท้องเสีย แก้ดีซ่าน โดยนำเถา หรือ ลำต้นมาต้มกับน้ำดื่ม
  • แก้โรคผิวหนังพุพองเรื้อรัง บรรเทาอาการคัน โดยนำเถา หรือ ลำต้นมาต้มน้ำ ใช้ชะล้างบาดแผลที่เป็น และที่มีอาการคัน
  • ใช้บำรุงกำลัง บำรุงน้ำเหลือง แก้เบาหวาน ช่วยเจริญอาหาร แก้ไอ ขับลม แก้ไข้ป่า ไข้จับสั่น แก้ปวดท้อง ใช้เป็นยาระบาย ขับประจำเดือนในสตรี โดยนำรากมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้ลดไข้โดยนำยางจากต้นขมิ้นเครือ มาดื่ม
  • ส่วนชาวม้งนำใบขมิ้นเครือมาตำให้แหลกใช้ประคบ หรือ พอกบริเวณที่เส้นเอ็นขาดแล้วใช้ผ้าพันทับไว้
  • ส่วนในอินโดนีเซีย มีการใช้น้ำต้มจากรากขมิ้นเครือ และลำต้น แก้ท้องเสีย และเบาหวาน และในมาเลเซียใช้รักษาโรคกระเพาะ


ลักษณะทั่วไปของขมิ้นเครือ

ขมิ้นเครือ จัดเป็นไม้เลื้อย หรือ ไม้เถาเนื้อแข็ง มีลักษณะเถาใหญ่กว่าพืชในสกุลเดียวกัน โดยลักษณะของเถาทุกส่วนจะเกลี้ยง เนื้อไม้เป็นสีเหลือง เมื่อเกิดแผลเถาจะมียางขาวไหลออกมา และจะมีรอยแผลเป็นรูปถ้วยตามก้านใบที่หลุดร่วงไป ใบ เป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับเวียนตามกิ่งของเถาใบมีลักษณะเป็นรูปไข่ถึงรูปรีแกมรูปไข่ กว้าง 8-19 เซนติเมตร ยาว 10-25 เซนติเมตร โคนใบเว้า รูปหัวใจ ปลายใบเรียวแหลม ขอบใบเรียบ หรือ เป็นคลื่น เนื้อใบหนา คล้ายแผ่นหนัง ด้านบนใบสีเขียวเข้มเป็นมัน ส่วนด้านล่างใบสีจางกว่า มีปุ่มเล็กที่ซอกของเส้นใบ และเส้นแขนงใบ มีก้านใบยาว 5-15 เซนติเมตร ตรงปลายก้าน และโคนก้านจะโป่งพอก ดอกออกเป็นช่อ เชิงลดแบบแยกแขนง และแยกเพศ ส่วนดอกย่อยจะออกบริเวณง่ามใบ หรือ ตามเถา โดยช่อดอกจะมีความยาว 10-15 เซนติเมตร มีสีขาวแกมเหลือง หรือ แกมเขียว แยกเป็นดอกเพศผู้จะไม่มีก้านดอก หรือ อาจมีก้านสั้น มีใบประดับย่อยลักษณะเป็นรูปไข่ ยาว 1 มิลลิเมตร โดยจะเรียงซ้อนนกัน กลีบเลี้ยงวงนอกมีประมาณ 3-4 กลีบ มีขนาดสั้นกว่า 1 มิลลิเมตร ส่วนวงในจะใหญ่กว่า มีลักษณะเป็นรูปรี หรือ รูปไข่ยาวประมาณ 1.5-2.5 มิลลิเมตร และมีเกสรเพศผู้ 9-12 อัน จะเชื่อมกัน ซึ่งมีความยาวประมาณ 0.5-1 มิลลิเมตร ส่วนดอกเพศเมียมีกลีบเลี้ยง 6 กลีบ เป็นรูปขอบขนานแคบ ยาวประมาณ 2.5-4 มิลลิเมตร ปลายโค้ง และจะมีเกสรเพศผู้ปลอมขนาดเล็ก ลักษณะคล้ายเกล็ด มีเกสรเพศเมียจะมี 3 อัน ยาวประมาณ 1.5 มิลลิเมตร ส่วนยอดเกสรเพศเมียกว้าง ไม่มีก้าน ผลเป็นผลสด เปลือกผนังชั้นในแข็ง ลักษณะเป็นรูปทรงกลม ออกเป็นช่อมีก้านช่อยาวประมาณ 5-30 เซนติเมตร ผลขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2-3 เซนติเมตร ใน 1 ช่อ จะมีผลประมาณ 1-3 ผล ผลดิบเป็นสีเขียวและเหลืองผลสุกเป็นสีดำ เมื่อแห้งจะย่น เมล็ด มีขนาดเล็กมี 1 เมล็ด รูปรี

ขมิ้นเครือ

ขมิ้นเครือ

การขยายพันธุ์ขมิ้นเครือ

ขมิ้นเครือสามารถขยายพันธุ์ได้โดยวิธีการใช้เมล็ด โดยมีวิธีการ คือ นำผลสุกของขมิ้นเครือที่มีสีดำ มาล้างน้ำให้สะอาดแล้วนำไปตากแดดให้แห้ง จากนั้นจึงนำไปเพาะในกระบะเพาะ ใช้เวลาหมั่นรดน้ำดูแล โดยประมาณ 30-45 วัน ขมิ้นเครือ จะงอกเป็นต้นกล้าสูงประมาณ 10-15 เซนติเมตร แล้วจึงแยกลงถุงเพาะชำเพื่อรอการปลูกต่อไป สำหรับวิธีการปลูกนั้นสามารถทำได้เช่นเดียวกับการปลูกพืชชนิดอื่นๆ แต่ทั้งนี้ เมื่อปลูกเสร็จต้องปักเสาให้ขมิ้นเครือพาดพันโดยอาจจะเป็นเสาไม้ หรือ เสาปูนก็ได้ หรือ อาจจะปลูกใกล้ต้นไม้ใหญ่ เพื่อให้ขมิ้นเครือเลื้อยพันไม้ใหญ่ ก็ได้เช่นกัน


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมีของสารสกัดจากส่วนลำต้นของขมิ้นเครือ ระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิดอาทิเช่นสารกลุ่ม alkaloids คือ berberine และสารกลุ่ม isoquinoline alkaloids ได้แด่ columbamine, shobakumine, palmatine, jatrorrhizine เป็นต้น

โครงสร้างขมิ้นเครือ

การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของขมิ้นเครือ

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของสารสกัดขมิ้นเครือ จากส่วนลำต้น หรือ เถาระบุว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาดังนี้

           ข้อมูลการศึกษาวิจัยแบบพรีคลินิก ระบุว่าสารสกัดจากลำต้นขมิ้นเครือมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียบางชนิด มีฤทธิ์ต้านเชื้อไข้มาลาเรียชนิด Plasmodium falciparum มีฤทธิ์แก้ท้องเสีย และมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระเป็นต้น


การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของขมิ้นเครือ

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาระบุว่า เมล็ดของขมิ้นเครือมีความเป็นพิษสูงมาก ห้ามรับประทานโดยเด็ดขาด นอกจากนี้สาร berberine ในขมิ้นเครือ ยังอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อหัวใจ และตับได้อีกด้วย


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

สตรีมีครรภ์ไม่ควรใช้ขมิ้นเครือเป็นยาสมุนไพร โดยเฉพาะรูปแบบการรับประทานเพราะมีสรรพคุณขับประจำเดือนในสตรี ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะแท้งบุตรได้ นอกจากนี้ยังมีรายงานระบุว่า สาร berberine ที่พบในขมิ้นเครือ อาจมีผลข้างเคียงต่อหัวใจ ทำให้เกิดอาการหายใจขัด ดังนั้นจึงควรระมัดระวังในการใช้โดยเฉพาะในรูปแบบการรับประทานต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน เพราะอาจมีพิษต่อระบบเลือด ตับ และตัวใจได้


เอกสารอ้างอิง ขมิ้นเครือ
  1. “ขมิ้นเครือ” หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล. หน้า 54.
  2. เศรษฐมนตร์ กาญจนกุล. ไม้มีพิษ. กทม. เศรษฐศิลป์.2552
  3. วงศ์สถิต ฉั่วสกุล. แห้ม (แฮ่ม )และขมิ้นเครือ. จุลสารข้อมูลสุมนไพรปีที่ 24. ฉบับที่ 2 มกราคม 2550.
  4. ขมิ้นเครือ. คู่มือการกำหนดพื้นที่การปลูกสมุนไพร เพื่อใช้ในทางเภสัชกรรมไทยเล่ม 1. กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกกระทรวงสาธารณสุข.
  5. พีรศักดิ์ วรสุนทโรสถ และคณะ. ทรัพยากรพืชในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 3: พืชให้สีย้อมและแทนนิน.กทม.สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคฅโนโลยีแห่งประเทศไทย. 2544, หน้า 89-90
  6. ถนอมหวัง อมาตยกุล, ดรุณ เพ็ชรพลาย “การศึกษาทางพฤกษศาสตร์และเภสัชเวทของขมิ้นเครือกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ (Arcangelisia flava). กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์. หน้า 19-30.
  7. Forman LL. Menixpermaceae,In:Smitinand T, Larsen K, eds. Flora of Thailand, Vol.5 Part 3. Bangkok: The Chutima Press,1991:300-65.
  8. Nguyen MT. Awale S, Tezuka Y, Tran QL, Watanabe H, Kadota S. Xanthine oxidase inhibitory of Vietnamese medicinal paints, Biol Pharm Bull 2004;27(9):1414-21.