เบญจรงค์ห้าสี ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

เบญจรงค์ห้าสี งานวิจัยและสรรพคุณ 14 ข้อ

ชื่อสมุนไพร เบญจรงค์ห้าสี
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น บุษบาริมทาง, บุษบาฮาวาย, อังกาบ, บาหยา, ยาหยา, ตำลึงหวาน (ภาคกลางทั่วไป), ผักกูดเน่า (เชียงใหม่), อ่อมแซบ, ผักอ่อม (ภาคอีสาน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Asystasia gangatica (L.) T. Anderson
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Asystasia acuminate Klotcsch, A.bojeriana Nees, A.calycina Nees, A.Comorensis var. humilis Nees, A. plumbaginea Nees, A. coromandeliana Nees, A. intrusa Blum, A. quarterna Nees, Dyschoriste biloba Hochst., Justicia gangetica A. violacea Dalzell.
ชื่อสามัญ Ganges Primrose, Ganges River asystasia, indai asystasia Chinese violet coromandel, Creeping foxglove, Baya, Yaya.
วงศ์  ACANTHACEAE

ถิ่นกำเนิดเบญจรงค์ห้าสี

สำหรับถิ่นกำเนิดดั้งเดิมของเบญจรงค์ห้าสี นั้นจากข้อมูลค้นคว้ายังไม่พบถิ่นกำเนิดดั้งเดิมที่ชัดเจน พบเพียงว่ามีการกระจายพันธุ์เป็นวงกว้างตามชายฝั่งของเขตร้อนต่างๆ ทั่วโลก ทั้งใน เอเชีย แอฟริกา อเมริกากลาง และอเมริกาใต้ เป็นต้น สำหรับในประเทศไทยสามารถพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศตามที่รกร้าง ว่างเปล่า ริมคลอง หรือ ตามสองข้างทางทั่วไป

ประโยชน์และสรรพคุณเบญจรงค์ห้าสี

  1. แก้ปวดบวม
  2. แก้ปวดตามข้อ
  3. ขับพยาธิ
  4. ช่วยบำรุงเลือด
  5. ช่วยบำรุงกำลัง
  6. ช่วยบำรุงสายตา
  7. ช่วยลดไข้
  8. ช่วยบรรเทาอาการเจ็บท้องคลอดลูก
  9. ช่วยสมานลำไส้
  10. แก้พิษงู
  11. แก้ม้ามโตในเด็กที่เกิดใหม่
  12. รักษาโรคเบาหวาน
  13. รักษาโรคหู
  14. เป็นยารักษาหอบหืด

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

ใช้แก้ไข้เหนือ แก้ไข้โลหิต แก้ฝีภายใน ขับลม โดยใช้รากเบญจรงค์ห้าสี มาต้มกับน้ำดื่ม ใช้แก้ปวดตามข้อ ปวดบวม ใช้ถ่ายพยาธิ โดยใช้ใบมารับประทาน หรือ ต้มกับน้ำดื่มก็ได้ ใช้ บำรุงเลือด บำรุงกำลัง บำรุงสายตา ลดไข้ สมานลำไส้ โดยการนำใบ และดอกมาต้มกับน้ำดื่ม


ลักษณะทั่วไปของเบญจรงค์ห้าสี

เบญจรงค์ห้าสี จัดเป็นไม้ล้มลุกหรือรอเลื้อยลำต้นเป็นสี่เหลี่ยม ตั้งตรง มีขนปกคลุมสูงได้ถึง 1 เมตร

            ใบ ออกบเดี่ยวออกเรียงตรงข้ามกันลักษณะเป็นรูปหัวใจ โคนมนหรือเว้าเล็กน้อยปลายใบแหลม กว้าง 2.5-4 ซม. ยาว 3-5 ซม. ผิวใบด้านบนเป็นมันด้านล่างมีขนนุ่ม ขอบใบเรียบ หรือ หยักมน แผ่นใบมีขนสั้นนุ่มหรือเกลี้ยง ก้านใบยาวประมาณ 2 เซนติเมตร

           ดอก ออกเป็นช่อกระจะด้านเดียวยาว 16 เซนติเมตร บริเวณซอกใบ และปลายกิ่ง ส่วนดอกย่อยเป็นรูปกรวยมีลักษณะโคนเชื่อมกันเป็นหลอด ส่วนปลายแยกออกเป็น 5 กลีบ มีสีม่วง สีขาว สีชมพู หรือสีเหลือง (บางชนิดมี 2 สี) มีใบประดับรูปใบหอกยาวประมาณ 3 มิลลิเมตร มีขนเกลี้ยงกลีบ 5 กลีบ แฉกลึก กลีบรูปใบหอกยาว 5-9 มิลลิเมตร มีขนขึ้นกระจาย กลีบดอกรูปแตร ปลายบานออก มี 5 กลีบ เรียงซ้อนเหลื่อม และมีหลอดกลีบยาว 2 เซนติเมตร เรียวแคบจรดโคน ปากหลอดกลีบเส้นผ่านศูนย์กลางยาวประมาณ 1 เซนติเมตร มีขนด้านนอก มีเกสรเพศผู้ 4 อัน ยาว 2 อัน ไม่ยื่นพ้นปากหลอดกลีบดอก อับเรณูขอบขนาน ยาวไม่เท่ากัน ยาว 2.5-3 มิลลิเมตร มีขนที่โคน ยอดเกสรขนาดเล็ก

           ผล แบบแคปซูลรูปทรงกระบอก ขนาด 1.3x2 เซนติเมตร มีขนปกคลุม ผลแก่แตกเป็น 2 ซีก ภายในมีเมล็ด 3-4 เมลด ส่วนเมล็ดรูปไต ลักษณะแบนสีน้ำตาล ขนาด 3-5x0.5-3 มิลลิเมตร

เบญจรงค์ห้าสี

เบญจรงค์ห้าสี

การขยายพันธุ์เบญจรงค์ห้าสี

เบญจรงค์ห้าสี สามารถขยายพันธุ์ได้โดยวิธีการเพาะเมล็ดและการปักชำด้วยกิ่ง สำหรับวิธีการปักชำและเพาะเมล็ดสามารถทำได้เช่นเดียวกันกับพันธุ์ไม้อื่นๆ ทั้งนี้เบญจรงค์ห้าสีเป็นพืชที่ชอบความชุ่มชื้น ต้องการแสงแดดแบบรำไรประมาณครึ่งวัน ปลูกเลี้ยงได้ง่าย โตเร็ว ชอบดินร่วนปนทรายที่มีค่า ph 3.5-4.5 และมีอุณหภูมิ 25-38 องศาเซลเซียส

องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมีของเบญจรงค์ห้าสี ระบุว่า ดอกพบไบฟฃาโวนไกลโคไซด์ ได้แก่ Apigenin 7-o-glucosyl, luteolin 7–o-glucoside ส่วนเหนือดินพบ asysgangoside, Apigenin 7-o-neohesperidosidem5,11-epoxymwgastigmane glucoside, salidroside, benzyl beta-D-glucopyranoside, 6S-9R-roseoside, ajugol เป็นต้น นอกจากนี้เบญจรงค์ห้าสียังมีคุณค่าทางโภชนาการดังนี้

คุณค่าทางโภชนาการของเบญจรงค์ห้าสี (ใบ 100 กรัม)

พลังงาน

56 กิโลแคลอรี่

น้ำ

82.5 กรัม

โปรตีน

3.7 กรัม

ไขมัน

1.2 กรัม

คาร์โบไฮเดรต

10.4 กรัม

แคลเซียม

226 มิลลิกรัม

เบต้าแคโรทีน

6250 กรัม

วิตามิน บี1

0.19 มิลลิกรัม

วิตามิน บี2

0.21 มิลลิกรัม

วิตามิน บี3

1.0 มิลลิกรัม

วิตามิน ซี

42 มิลลิกรัม

  โครงสร้างเบญจรงค์ห้าสี

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของเบญจรงค์ห้าสี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของสารสกัดต่างๆ จากเบญจรงค์ห้าสี ดังนี้ สารสกัดน้ำและเมทานอลจากลำต้นและใบ มีฤทธิ์ลดปวดและต้านการอักเสบในหนูทดลอง สารสกัดเฮกเซน เอทิลอะซิเตต และเมทานอลจากทั้งต้นมีฤทธิ์ต้านแบคทีเรียทั้งชนิดแกรมลบ และแกรมบวก และเชื้อราหลายชนิด สารสกีดเฮกเซน เอทิลอะซิเตต และเมทานอลจากใบ มีฤทธิ์ลดสารฮีสตามีนจากโรคหอบหืดจากการทดสอบด้วยชุดทดสอบแบบ in vitro สารสกัดเอทานอลจากใบ มีฤทธิ์ลดน้ำตาล และไขมันในเลือด ในหนูทดลอง สารสกัดเอทานอลจากใบ มีฤทธิ์ตานอนุมูลอิสระในหลอดทดลอง

การศึกษาทางพิษวิทยาของเบญจรงค์ห้าสี

ไม่มีข้อมูล


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

ในการใช้เบญจรงค์ห้าสำหรับเป็นสมุนไพร ในการบำบัดรักษาโรคต่างๆ นั้น ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาด และปริมาณที่เหมาะสมที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในขนาดและปริมาณที่มากจนเกินไป หรือใช้ต่อเนื่องกันนานจนเกินไปเพราะอาจส่งผลกรทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้ สำหรับเด็กสตรีมีครรภ์รวมถึงผู้ป่วยเรื้อรังหากจะใช้เบญจรงค์ห้าสีเป็นสมุนไพรควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนทุกครั้ง

เอกสารอ้างอิง เบญจรงค์ห้าสี
  1. ดาเย็น นาวาบุญนิยม. ผลของปุ๋ยอินทรีย์และน้ำหมักชีวภาพที่มีต่อการเจริญเติบโตและผลผลิตอ่อมแซบ (Asytasia gangetica). วิทยานิพนธ์ หลักสูตรปริญญาเกษตรศาสตร์มหาบัณฑิต แขนงวิชาการจัดการเกษตร สาขาวิชาเกษตรศาสตร์และสหกรณ์ มหสวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช พ.ศ.2561. 111 หน้า.
  2. บาหยา. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก http://www.phargarden.com/mainphp?action=viewpage&pid=233
  3. Teoh, C.., P.Y. Toh and H. Khairudin. 1982. Cemical control of Asystasia intrusa, Clidemiahirta and Elettaiopsis curtisii. In rubber and oil palm plantations Malaysia. International Conference on Plant Protectio in the Tropic, Kuala Lumpur Malaysia. 497-510.
  4.  Pierre Mugabo and Ismaila A Raji. (2013). Effects of aqueous leaf extract of Asystasia gangetica on the blood pressure and heart rate in male spontaneously hypertensive Wistar rats. US National Library of Medicine National Institutes of Health วารสาร BMC Complement Altern Med, 13, 283.