กำแพงเก้าชั้น ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย
กำแพงเก้าชั้น งานวิจัยและสรรพคุณ 12ข้อ
ชื่อสมุนไพร กำแพงเก้าชั้น
ชื่ออื่น ๆ /ชื่อท้องถิ่น ตากวง (โคราช,นครพนม,ภาคอีสาน) , ตากวาง (ลำปาง,แพร่) ,ตะก้อง , ขอบด้วงเถา (ชุมพร) , กระดงเย็น (เกาะช้าง)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Salacia verrucosa Wight.
วงศ์ Celastraceae
ถิ่นกำเนิดกำแพงเก้าชั้น
กำแพงเก้าชั้นเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดบริเวณเขตร้อนของทวีปเอเชีย ในภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมักจะพบกำแพงเก้าชั้นในธรรมชาติบริเวณป่า ดงดิบ ป่าดิบเขา ป่าเต็งรัง รวมถึงป่าโปร่งทั่ว ๆ ไป ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 500 เมตรขึ้นไป สำหรับในประเทศไทยสามารถพบตามป่าดังกล่าวได้ทั่วทุกภาคของประเทศ
ประโยชน์และสรรพคุณ
- ช่วยบำรุงโลหิต
- ช่วยบำรุงตับไต
- แก้โลหิตจาง
- ใช้ขับของเสียออกจากร่างกาย
- ช่วยขับปัสสาวะ
- แก้กระษัยไตพิการ
- ช่วยบำรุงร่างกาย
- แก้ระดูขาว
- แก้ปวดเมื่อยปวดหลังปวดเอว
- ใช้ขับลม
- แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ
- เป็นยาระบาย
ลักษณะทั่วไปกำแพงเก้าชั้น
กำแพงเก้าชั้นจัดเป็นไม้พุ่มรอเลื้อยหรือไม้เถาเนื้อแข็งขนาดใหญ่ ยาวประมาณ 5 เมตร เปลือกเถาเป็นสีน้ำตาลหรือสีเทา ผิวขรุขระและมีรูอากาศตามผิวเปลือก กิ่งอ่อนมีขนสีน้ำตาลแดงปกคลุม ส่วนเปลือกด้านในมีสีแดงและมีรูอากาศมาก สำหรับเนื้อไม้มีสีแดงอ่อน น้ำยางเป็นสีแดง มีเส้นวงปีสีแดงเข้ม ซ้อนกันถี่ ๆ สามารถเห็นได้ชัดเจน ใบเป็นใบเดี่ยว เรียงสลับหรือเรียงตรงข้ามใบเป็นรูปรีหรือรูปใบหอกปลายและโคนใบแหลม ขอบใบเรียบ แผ่นใบสีเขียว เรียบ เป็นมันมีเส้นแขนงใบถี่ลึก ก้านใบเล็กโดยใบจุมีขนาดกว้างประมาณ 2-5 เซนติเมตรยาวประมาณ 10-20 เซนติเมตร ดอกเป็นเดี่ยวแต่จะออกรวมกันเป็นกลุ่มโดยจะออกมาจากปุ่มนูนบริเวณซอกใบ หรือบนกิ่งที่เคยมีรอยใบติดอยู่ และในกลุ่มดอก 1 กลุ่มจะมีดอกย่อย ประมาณ 30-40 ดอก มีก้านดอกสีเขียวอ่อน ยาว 0.5 เซนติเมตร ส่วนกลีบดอกสีเขียวอมเหลืองรูปร่างกลม ปลายมน ฐานกลีบกว้าง สีเขียวอมเหลือง มีประมาณ 5 กลีบ จากฐานดอกนูนขึ้นเป็นรูปทรงกลมแบบมีเกสรเพศผู้ 3 อัน ผลเป็นผลสดกว้าง 3-4 เซนติเมตร รูปทรงกลม-ผิวหยาบผลอ่อนสีเขียว เมื่อสุกมีสีส้มแดง มีเนื้อหุ้มเมล็ดสีขาวหรือสีน้ำตาลขุ่น รสหวานสามารถรับประทานได้โดยใน 1 ผลจะมีเมล็ดแข็ง 3-4 เมล็ด
การขยายพันธุ์
กำแพงเก้าชั้นสามารถขยายพันธุ์ได้โดยวิธีการใช้เมล็ด แต่ในปัจจุบันการขยายพันธุ์กำแพงเก้าชั้นจะเป็นการขยายพันธุ์ในธรรมชาติเป็นส่วนใหญ่ เพราะยังไม่นิยมนำปลูกในเชิงพาณิชย์หรืออาจมีการนำมาปลูกไว้ตามหัวไร่ปลายนาบ้างเล็กน้อย สำหรับวิธีการเพาะเมล็ดและการปลูกกำแพงเก้าชั้นนั้นสามารถทำได้เช่นเดียวกันกับการเพาะเมล็และการปลูก กำแพงเจ็ดชั้น (ในบทความ”กำแพงเจ็ดขั้น”) ตามที่ได้กล่าวมาแล้ว
องค์ประกอบทางเคมี
มีผลการศึกษาวิจัยในส่วนของลำต้นหรือเถาของกำแพงเก้าชั้นที่มีการนำมาใช้เป็นสมุนไพรพบว่า มีสาระสำคัญในกลุ่มต่าง ๆ ดังนี้ กลุ่ม Terpenoids เช่น26- friedelane-1,3-dione, hydroxyfriedelane-1,3-dione, 21 alpha-hydroxyfriedelane-1,3-dione, 30-hydroxyfriedelane-1,3-dione, kokoonol friedelin, 3β, 22 alpha-dihydroxyolean-12-en-29-oic acid
นอกจากนี้ยังพบสารต่าง ๆอีกเช่น α-amyrin , β-sitosterol , 20,29-eoxysalacianone เป็นต้น
ที่มา : Wikipedia
รูปแบบและขนาดวิธีใช้
ใช้บำรุงร่างกาย บำรุงโลหิต บำรุงตับไต แก้โลหิต และน้ำเหลืองพิการ แก้กษัยปวดเมื่อย แก้ระดูขาวในสตรี โดยใช้เถาแห้งมาต้มกับน้ำดื่ม ยาระบาย (เข้ายากับยาปะดง ดูกใส คอแลน พาสาน) ขับปัสสาวะ ใช้แก่นตำกวง (เข้ายากับ แก่นตาไก่ แก่นดูกใส แก่นตานนกรด) ตัวอย่างตำรับยาของตากวง ใช้เป็นยาแก้ปวดเมื่อย แก้กษัย บำรุงกำลัง โดย ใช้กำแพงเก้าชั้น , กำแพงเจ็ดชั้น เถาวัลย์เปรียง เครือเขาแกลบ เถาวัลย์เหลือก ต้มกับน้ำดื่มเป็นประจำ ใช้เป็นยาระบายโดยใช้กำแพงเก้าชั้น เข้ายากับคอแลน ยกปะดง พาสาน ดูกใส หรือใช้เถากำแพงเก้าชั้น กำแพงเจ็ดชั้น แก่นนมสาว กาฝากต้นติ้ว แก่นดูกใส และรากเกียงปืนมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้เป็นยาแก้ปวดเมื่อย คลายเส้นเอ็นโดยใช้ลำต้นกำแพงเก้าชั้น ขมด้นเกลือ ตับเต่า ดูกหินและอ้อยดำ มาต้มกับน้ำดื่ม
การศึกษาทางเภสัชวิทยา
มีผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาในต่างประเทศของเถากำแพงเก้าชั้น พบว่ามีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด และมีฤทธิ์ต้านมะเร็ง
การศึกษาทางพิษวิทยา
ไม่มีข้อมูล
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
ในการนำกำแพงเก้าชั้นมาใช้เป็นสมุนไพรในการบำบัดรักษาโรคต่าง ๆ ตามสรรพคุณที่ระบุไว้ในตำรายาต่าง ๆ นั้น ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่น ๆ โดยควรใช้ในขนาดและปริมาณที่พอเหมาะและไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ สำหรับเด็ก สตรีมีครรภ์ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง รวมถึงผู้ที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่องเป็นประจำ หากต้องการใช้กำแพงเก้าชั้นเป็นสุมไพรสำหรับบำบัดรักษาโรค ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้เสมอ
เอกสารอ้างอิง
- วุฒิ วุฒิธรรมเวช (2540).สารานุกรมสมุนไพร รวมหลักเภสัชกรรมไทย.กรุงเทพฯ.โรงพิมพ์โอ.เอส.พรินติ้งเฮ้าส์.หน้า209
- ตากวาง.พืชกินได้ในป่าสะแกราช.สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีแห่งประเทศไทย(ว.ว.).หน้า123-124
- กำแพงเก้าชั้น.คู่มือสมุนไพรป่าชุมชนโนนใหญ่.สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดศรีสะเกษ กระทรวงสาธารณสุข.หน้า48
- กำแพงเก้าชั้น.ฐานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://www.phargardon.com/main.php?action=viewpage&pid=20
- กำแพงเก้าชั้น.ฐานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://www.phargardon.com/main.php?action=viewpage&pid=227
- DingHoumL.(1964)Celastraceae-II.In;Van Steenis,C.G.G.J;ed.Flora Malesiana Jakarta:6:p.414-415