กลูโคแมนแนน

กลูโคแมนแนน

ชื่อสามัญ Glucomannan

ประเภทและข้อแตกต่างสารกูลโคแมนแนน

กูลโคแมนแนนเป็นเส้นใยธรรมชาติได้จากบุก ซึ่งเป็นเส้นใยที่มีน้ำหนักมวลโมเลกุลสูงมาก (ultra-hight molecular-weight  polysaccharide) ซึ่งจัดเป็นใยอาหารชนิดละลายน้ำ watersoluble dietary fiber) ที่เอนไซม์ในร่างกายมนุษย์ไม่สามารถย่อยได้ ดังนั้นจึงไม่ให้พลังงานแต่อย่างใด สำหรับโครงสร้างของกลูโคแมนแนนนั้น เป็นคาร์โบไฮเดรต ประเภทพอลิแซ็กคาไรด์ (polysaccharide) ตามธรรมชาติที่มีประจุเป็นกลาง ที่ประกอบด้วยน้ำตา 2 ชนิด คือ แมนโนสและกลูโคสในอัตราส่วน 1.6 : 1 เชื่อมต่อกันด้วยพันธะบีต้า-1.4-กลูโคสิดิก และมีหมู่แอซีทิลกระจายอยู่ทั่วไปบนสายโมเลกุลของกลูโคแมนแนนประมาณร้อยละ 5-10 ซึ่งหมู่แอซีทิลจะอยู่ทุกระยะ 9-19 หน่วยของแมนโนสหรือกลูโคส โดยหมู่แอซีทิลจะอยู่ที่คาร์บอนตำแหน่งที่ 6 ของแมนโนสหรือกลูโคส

            นอกจากนี้กลูโคแมนแนน ยังมีคุณสมบัติ คือ เป็นแห้งที่สะอาดบริสุทธิ์มีสีขาว ไม่มีกลิ่น มีขนาดโมเลกุลใหญ่กว่า 300,000 ดาลตัน มีน้ำหนักโมเลกุลสูง มีความสามารถในการดูดซับน้ำได้ดีมาก มีความหนืด และจะมีความแตกต่างจากโพลินแซ็คคาไรด์ชนิดอื่น คือ เมื่อละลายน้ำที่อุณหภูมิห้องจะพองตัว และขยายตัวได้ 20 ถึง 30 เท่า ทำให้สารละลายที่ได้จะมีลักษณะเป็นเจลที่มีความหนืดสูง ส่วนประเภทของกลูโคแมนแนนนั้น พบว่ามีเพียงประเภทเดียวเท่านั้น

แหล่งที่พบและแหล่งที่มากูลโคแมนแนน

กลูโคแมนแนนมีแหล่งที่มาจากบุก โดย ได้จากหัวใต้ดิน ที่ผ่านขั้นตอนการล้าง และสกัดสารพิษต่างๆ ออก โดยเฉพาะสารที่ทำให้เกิดอาการระคายเคืองต่อระบบทางเดินอาหาร แล้วนำมาทำให้เป็นผงที่เรียกว่าผงบุก ซึ่งโดยทั่วไปผงบุกจะมีองค์ประกอบทางเคมีที่เป็นกลูโคแมนแนนประมาณร้อยละ 49-60

            สำหรับบุกที่จะนำมาสกัดกลูโคแมนแนน นั้นมีอยู่หลายพันธุ์ เช่น บุกไข่ (บุกเนื้อทราย) บุกเตียงหัวกลม บุกดีรอกเขา เป็นต้น ซึ่งแต่ละสายพันธุ์ก็จะให้ปริมาณกลูโคแมนแนนที่แตกต่างกันด้วย ส่วนในปัจจุบันได้มีการสกัดกลูโคแมนแนนมาใช้ประโยชน์หลายๆ ด้าน ซึ่งมีวิธีการสกัดที่ทันสมัย และปลอดภัยมากขึ้นอีกด้วย

กลูโคแมนแนน

ปริมาณที่ควรได้รับกูลโคแมนแนน

ในปัจจุบันยังไม่มีขนาดการใช้ และขนาดรับประทานกลูโคแมนแนนที่ชัดเจน แต่ทั้งนี้มีการอนุญาตจากคณะกรรมการอาหาร และยาของไทยใ ห้ใช้กลูโคแมนแนน จากบุกเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารได้ ตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหาร และยา เรื่อง รายชื่อพืชที่ใช้ได้ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ลงวันที่ 7 สิงหาคม 2560 โดยระบุว่า ให้ใช้กลูโคแมนแนนจากหัวบุกที่ผ่านกรรมวิธีการผลิตโดยบดผง และสกัดด้วยน้ำโดยให้มีปริมาณ กลูโคแมนแนนไม่เกิน 4 กรัม/วัน และมีปริมาณใยอาหารไม่เกิน 25 กรัม/วัน

ประโยชน์และโทษกลูโคแมนแนน

กลูโคแมนแนนถูกนำมาใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ เช่น ด้านอุตสาหกรรมอาหารมีการนำกลูโคแมนแนน มาใช้เป็นวัตถุเจือปนอาหารในอาหารและผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้แก่ ขนมอบกรอบต่างๆ เครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์นม น้ำสกัด อาหารแช่แข็ง ลูกอม ลูกกวาด แยม เจลลี่ ไส้กรอก กุนเชียง ฯลฯ ด้านการแพทย์ และเภสัชกรรมมีการนำกลูโคแมนแนนมาใช้เป็นส่วนประกอบในการผลิตยาต่างๆ รวมถึงนำมาใช้เป็นอาหารทางการแพทย์สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคอ้วน โรคมะเร็งลำไส้ โรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นต้น นอกจากนี้ในปัจจุบันยังมีการสกัดกลูโคแมนแนน มาใช้เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อป้องกันโรคต่างๆ ได้แก่ ป้องกันภาวะท้องผูก ป้องกันโรคอ้วน ลดน้ำตาลในเลือด ลดคลอเรสเตอรอล เป็นต้น

การศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องกูลโคแมนแนน

มีผลการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของกลูโรแมนแนนฉบับดังนี้

            ฤทธิ์ลดระดับไขมันในเลือด มีการศึกษาแบบ double-blind trial ในผู้ที่เป็นโรคอ้วน 20 คน แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม โดยกลุ่มที่ 1 ให้รับประทานกลูโคแมนแนนจากหัวบุก ครั้งละ 1 ก. (บรรจุแคปซูลละ 500 มก.) และดื่มน้ำตาม 8 ออนซ์ โดยให้รับประทานก่อนอาหาร 1 ชม. วันละ 3 ครั้ง นาน 8 สัปดาห์ กลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มที่ให้รับประทานยาหลอก หลังสิ้นสุดการศึกษาพบว่ากลุ่มที่รับประทานกลูโคแมนแนน ระดับคอเลสเตอรอลรวม และคอเลสเตอรอลชนิด LD: (Low density lopoprtein) ในเลือดลดลง 21.7 และ 15.0 มก./ดล. ตามลำดับ และไม่มีผลข้างเคียงจากการใช้กลูโคแมนแนน

           และในการศึกษาในเด็กที่มีภาวะไขมันในเลือดผิดปกติชนิดปฐมภูมิ (primary dyslipidemia) ซึ่งเป็นความผิดปกติที่มีสาเหตุจากพันธุกรรม จำนวน 36 คน ที่มีอายุระหว่าง 6-15 ปี โดยแบ่งออกเป็นกลุ่มที่รับประทานแคปซูลที่มีกลูโคแมนแนน จากบุก 500 มก. ครั้งละ 2-3 แคปซูล วันละ 2 ครั้ง (กลางวันและเย็น) เป็นเวลา 8 สัปดาห์ และกลุ่มที่ได้รับยาหลอก พบว่ากลูโคแมนแนนจะช่วยลดระดับของคอเลสเตอรอลรวม low-density lipoprotein cholesterol (LDL-C) และ non-high-density lipoprotein cholesterol ได้ 5.1%, 7.3% และ 7.2% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับยาหลอก แต่ไม่มีผลต่อระดับของ high-density lipoprotein cholesterol (HDL-C) ไตรกลีเซอร์ไรด์ Apolipoprotein B และ Apolipoprotein A-I เมื่อพิจารณาตามเพศพบว่า กลูโคแมนแนนมีผลลดระดับคอเลสเตอรอลรวม และ LDL-C เฉพาะในเด็กเพศหญิง แต่สามารถลดระดับ non-high-density lipoprotein cholesterol ได้ทั้งในเพศหญิง และเพศชาย นอกจากนี้ยังไม่พบอาการไม่พึงประสงค์ที่รุนแรงจากกลูโคแมนแนน มีเพียงผู้ป่วยบางรายที่มีความรู้สึกไม่สบายในท้อง สรุปว่ากลูโคแมนแนนมีผลคอเลสเตอรอลรวม LDL-C และ non-high-density lipoprotein cholesterol ในเด็กที่มีภาวะไขมันในเลือดผิดปกติชนิดปฐมภูมิได้ โดยผู้ป่วยสามารถทนต่อยาได้ดี และไม่พบอาการไม่พึงประสงค์ที่รุนแรง

           และยังมีอีกการศึกษาหนึ่งพบว่าเมื่อรับประทานเส้นใยจากหัวบุกที่มีกลูโคแมนแนน พบว่าจะเข้าไปทำปฏิกริยาเชิงชีวเคมีกับไขมัน และโคเลสเตอรอล จึงมีผลในการป้องกันการดูดซึมไขมันกลับเข้าไปในเสนเลือดทำให้ปริมาณโคเลสเตอรอลของในร่างกายอยู่ในระดับที่ไม่สูงจนเกินมาตรฐาน

           ฤทธิ์ลดความอ้วน การศึกษาแบบ double-blind trial ในผู้ที่เป็นโรคอ้วน 20 คน แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 ให้รับประทานสารกลูโคแมนแนนจากหัวบุก ครั้งละ 1 ก.(บรรจุแคปซูลละ 500 มก.) และดื่มน้ำตาม 8 ออนซ์ โดยให้รับประทานก่อนอาหาร 1 ชม. วันละ 3 ครั้ง นาน 8 สัปดาห์ กลุ่มที่ 2เป็นกลุ่มที่ให้รับประทานยาหลอก หลังสิ้นสุดการศึกษาพบว่า กลุ่มที่รับประทานกลูโคแมนแนน น้ำหนักร่างกายลดลง 5.5 ปอนด์ และอีกการศึกษาหนึ่งในผู้ที่เป็นโรคอ้วนโดยแบ่งเป็น 2 กลุ่มๆ ละ 25 คน กลุ่มที่ 1 ให้รับประทานอาหารที่มีแคลอรี่ต่ำ กลุ่มที่ 2 ให้รับประทานอาหารที่มีแคลอรี่ต่ำร่วมกับอาหารที่มีส่วนผสมของกลูโคแมนแนน ขนาด 4 ก./อาหาร 3 มื้อ นาน 3 เดือน พบว่ากลุ่มที่ได้รับอาหารแคลอรี่ต่ำร่วมกับอาหารที่มีส่วนผสมของกลูโคแมนแนนเป็นส่วนผสมสามารถลดน้ำหนักร่างกายได้ และระดับไขมันในเลือดดีขึ้น ซึ่งจากการศึกษาฤทธิ์ลดความอ้วนของสารกลูโคแมนแนนในรูปแคปซูลพบว่าการรับประทานในขนาด 3 ก./วัน และ 4 ก./วัน สามารถลดความอ้วนได้

           ส่วนอีกการศึกษาหนึ่งระบุว่ากลูโคแมนแนน (glucomannan) เป็นเส้นใยอาหารที่ช่วยดูดจับไขมัน และน้ำตาลออกจากร่างกายได้ดีกว่าเส้นใยชนิดอื่นๆ หลายเท่า (เมื่อเทียบกับโมเลกุลต่อโมเลกุล) โดยใน 1 โมเลกุล ของเส้นใยจะมีกลุ่มไฮดรอกซี่ (hydroxyl) ทำหน้าที่เป็นตัวจับไขมันมากถึง 6 ตัว และมีความยาวถึง 1,900,000 โมเลกุล ในขณะที่เส้นใยชนิดอื่นๆ มีความยาวเพียง 100,000-200,000 โมเลกุลเท่านั้น จึงทำให้ดูดจับไขมันได้ดีกว่า

           ฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือด มีการศึกษาวิจัยโดยทำการศึกษาแบบ double-blind placebo controlled crossover design ในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 จำนวน 22 คน อายุระหว่าง 64.2 – 68.4 ปี ดัชนีมวลกาย (BMI) 25.5-33.2 กก./ม2 โดยแบ่งผู้ป่วยออกเป็น 2 กลุ่มที่ 1 จำนวน 12 คน เป็นกลุ่มควบคุมได้รับยาหลอก (แป้งข้าวโพดบรรจุในแคปซูล) กลุ่มที่ 2 จำนวน 10 คน ได้รับสาร konjac glucomannan 3.6 ก./วัน (1 แคปซูล บรรจุสาร konjac glucomannan 0.5 ก.) จากนั้นค่อยๆ เพิ่มขนาดของสาร konjac glucomannan ใน 3 วัน แรกให้ 1.2 ก./วัน และ 3 วันต่อมา ให้ขนาด 2.6 ก./วัน ส่วน 22 วัน สุดท้ายให้ 3.6 ก./วัน โดยให้รับประทานก่อนอาหารครึ่งชม. วันละ 3 ครั้ง และให้ดื่มน้ำตามครั้งละ 1 แก้วทุกครั้ง นาน 28 วัน เมื่อครบกำหนด ทำการเปลี่ยนกลุ่มโดยไม่ต้องมีช่วงพัน และทำการศึกษาต่ออีก 28 วัน พบว่าระดับน้ำตาล Fasting blood glucose (FBG) ลดลง 23.2% เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม

           จากการศึกษาฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือดของสารกลูโคแมนแนนในรูปแคปซูลพบว่าการรับประทานในขนาด 3.6 ก./วัน สามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดได้

           ส่วนอีกการศึกษาหนึ่งระบุว่า กลูโคแมนแนน ทำหน้าที่ช่วยดูดซับ จับเป็นโมเลกุลรวมกับน้ำตาลกลูโคส และน้ำตาลที่สลายตัวของไกลโคเจนจากตับเข้าไว้เป็นโมเลกุลกับกลูโคแมนแนน โดยจับเกาะกันเป็นห่วงโซ่ขนาดใหญ่ ที่เอนไซม์ในลำไส้ไม่สามารถย่อยได้ และเคลื่อนตัวขับออกมาปะปนกับกากาอาหารที่ออกมาจากร่างกาย จึงลดโอกาสเสี่ยงในการเป็นโรคเบาหวาน นอกจากนั้นอาหารที่มีเส้นใยมาก ต้องใช้เวลาย่อยนาน ทำให้อาหารผ่านจากกระเพาะไปสู่ลำไส้ได้ครั้งละไม่มากลำไส้จึงดูดซึมอาหารได้ทีละน้อยตามไปด้วย ส่งผลให้อัตราการเพิ่มของน้ำตาลในเลือด ภายหลังการรับประทานอาหารไม่สูงมากจนเกินไป

           ฤทธิ์ป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่ มีการศึกษาวิจัยพบว่ากลูโคแมนแนนจะทำหน้าที่ยับยั้ง และป้องกันแบคทีเรียไม่ให้ทำปฏิกิริยากับน้ำดี ซึ่งจะก่อให้เกิดสารพิษจำพวกสเตอรอลด์ในโตรซามีน และแอมโมเนีย ที่เป็นสาเหตุก่อให้เกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ และช่วยลดความเข้มข้นของความเป็นกรดของกากาอาหารในลำไส้ใหญ่ให้เจือจางลงได้ ซึ่งมีผลต่อการลดโอกาสเสี่ยงในการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้

           ส่วนอีกการศึกษาหนึ่งเป็นการศึกษาในหนูแรท 4 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 ป้อนอาหารไขมันปกติที่ปราศจากไฟเบอร์ กลุ่มที่ 2 ป้อนอาหารไขมันสูงที่ปราศจากไฟเบอร์ กลุ่มที่ 3 ป้อนอาหารไขมันสูงที่ปราศจากไฟเบอร์ร่วมกับกลูโคแมนแนนจากบุก (KGM) ขนาด 5% โดยน้ำหนัก และกลุ่มที่ 4 ป้อนอาหารไขมันสูงที่ปราศจากไฟเบอร์ร่วมกับสาร inulin ขนาด 5% โดยน้ำหนัก ติดต่อกัน 4 สัปดาห์ แล้วทำการวัดค่าดัชนีความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ ได้แก่ การทำงานของเอนไซม์ β-glucuronidase และ mucinase รวมถึงปริมาณกรดน้ำดีในอุจจาระ และปัจจัยป้องกันการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ ได้แก่ ปริมาณจุลชีพในอุจจาระ และปริมาณกรดไขมันสายสั้น (short-chain fatty acids: SCFAs) ในลำไส้ ผลการศึกษาพบว่าการป้อนอาหารไขมันสูงเพียงอย่างเดียว มีผลเพิ่มการทำงานของเอนไซม์ β-glucuronidase และ mucinase เพิ่มปริมาณกรดน้ำดีในอุจจาระของหนูมากขึ้น รวมทั้งลดจำนวน SCFAs ในลำไส้ใหญ่ลง เมื่อเทียบกับหนูที่ป้อนอาหารไขมันปกติ การป้อน 5% KGM ร่วมกับอาหารไขมันสูง ช่วยลดการทำงานของเอนไซม์ β-glucuronidase และ mucinase อีกทั้งลดปริมาณของ lithocholic acid (สารทุติยภูมิของกรดน้ำดี) ที่พบในอุจจาระ ซึ่งแสดงว่า KGM จะมีผลต่อการขับออกของกรดน้ำดีเช่นกัน แต่การแสดงออกอยู่ในรูปของสารทุติยภูมิของกรดน้ำดีแทน นอกจากนี้ KGM ยังช่วยเพิ่มจำนวนจุลิน ทรีย์ที่มีประโยชน์ในลำไส้ เช่น bifidobacteria และ lactobacilli รวมทั้งเพิ่มจำนวน SCFAs ในลำไส้เมื่อเทียบกับการป้อนอาหารไขมันสูงเพียงอย่างเดียว จากผลการทดลองจะเห็นได้ว่าการรับประทานกลูโคแมนแนนจากบุกช่วยลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่จากการรับประทานอาหารไขมันสูงได้

            ฤทธิ์ลดความอยากอาหาร มีการศึกษาแบบ randomized crossover trial ในผู้ที่มีสุภาพดี 12 คน แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกให้รับประทานสารกลูโคแมนแนนบรรจุในรูปแคปซูล ขนาด 3.6 ก./วัน แบ่งเป็น 3 มื้อ ให้รับประทานก่อนอาหาร 1 ชม. อีกกลุ่มเป็นกลุ่มควบคุมให้รับประทานยาหลอก พบว่ากลุ่มที่ได้รับกลูโคแมนแนนมีความอยากอาหารน้อยกว่ากลุ่มควบคุม แสดงว่าสารกลูโคแมนแนนสามารถลดความอยากอาหารได้

           นอกจากนี้ยังมีการศึกษาทางพิษวิทยาของกลูโคแมนแนนระบุว่าเมื่อป้อนสารกลูโคแมนแนนให้กับหนูเม้าส์ และหนูแรทขนาด 2,800 มก./กก. น้ำหนักตัวทางสายยางให้อาหาร ไม่พบความเป็นพิษ และความผิดปกติของร่างกาย

โครงสร้างกลูโคแมนแนน

ข้อแนะนำและข้อควรปฏิบัติ

กลูโคแมนแนนถือเป็นสารที่มีความปลอดภัยมากชนิดหนึ่ง ซึ่งจากการศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาหลายๆ ฉบับก็มีผลการศึกษาไปในทางเดียวกัน คือ มีความปลอดภัยสูง และในการนำกลูโคแมนแนน มาใช้ประโยชน์นั้น โดยส่วนมากแล้วจะเป็นการนำมาใช้ในรูปแบบผง (บุกผง) ซึ่งมีข้อควรระวังในการใช้คือ เนื่องจากผงบุกมีอานุภาพสามารถขยายตัวได้มากไม่ต่ำกว่า 20 เท่า ของเนื้อวุ้นแห้ง ดังนั้นจึงไม่ควรบริโภคภายหลังรับประทานอาหาร แต่ควรบริโภคก่อนอาหารไม่น้อยกว่า 30 นาที และควรดื่มน้ำมากๆ

เอกสารอ้างอิง กลูโคแมนแนน
  1. สุวิมล ทรัพย์วโรบล. 2552. ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อการลดน้ำหนัก โภชนาการ 44(3):83-84.
  2. ผลของกลูโคแมนแนนในการรักษาเด็กที่มีภาวะไขมันในเลือดผิดปกติ. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  3. อุษาพร ภูดัสมาส.บุก พืชสมุนไพร เพื่อสุขภาพ.วารสารอาหารปีที่ 43. ฉบับที่ 4 ตุลาคม-ธันวาคม 2556. หน้า 55-57
  4. ประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหาร และยา เรื่องรายชื่อที่ใช้ได้ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ลงวันที่ 7 สิงหาคม 2560
  5. กลูโคแมนแนนจากบุกช่วยลดความเสี่ยงการเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  6. พนิดา ใหญ่ธรรมสาร.บุก...ลดไขมันลดน้ำตาลในเลือด และลดน้ำหนัก. จุลสารข้อมูลสมุนไพรปีที่ 27. ฉบับที่ 2 มกราคม 2553. หน้า 11-20
  7. บริษัทสหชลผลพืชจำกัด, 2540. อาหารประเภทเส้นใยตราคอนยักกี้ และสารกลูโคแมนแนน. ผลิตภัณฑ์คอนยักกี้. หน้า 1-17.
  8. บุบผา เดชะภัทรพร. 2535. การสกัดผงบุกจากหัวบุก และการเตรียมผลิตภัณฑ์เจล. วิทยานิพนธ์ปริญญาโท. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. กรุงเทพฯ
  9. Chen H-L, Sheu WH Tai T-S Liaw Y-P Chen Y-C Konjac supplement alleviated hypercholesteroleroemia and  hyperglycemia in type 2 diabetic subjects-A randomized doubleblind trial Joumal of the American College of Nutrition 2003:22(1):36-42.
  10. Jia C Chen S Mo W Meng Y A quantitative analysis of Glucomannan from Amorphophallus konjac, Tianran Chanwu Yanjiu Yu Kaifa 1989;1(1):42-6.
  11. Oketani Y, lchikawa K Ono C, Gofuku M Kiwaki S Toxcity studies on Glucomannan 1. Acute toxicity study in mica and rats and rats Oyo Yakuri 1984:27(1):127-31.
  12. Kato,K.,and Matsuda,K.,1969,Strdies on the chemical structure of konjac mannan, Agric. Biol. Chem 33:1446-1453.
  13. Watsh DE. Yaghoubian V Behforooz A Effect of Glucomannan on obese patients : a clinical study. Int J Obes 1984:8(4):289-93.
  14. Vita PM Resleliil A Caspani P Klinger R. Chronic  use of Glucomannan in the dietary treatment of severe obesity Minerva Med 1992:83(3):135-9.
  15. Yi C, U J, Yu A Shao Y Wang X Wu Y, et al. Determination of Glucomannan in Amorphophalius Konjac Shpin Gongye Keji 2006:27(4):177-8.181.
  16. Sawetprawichkul W. The study of efficacy and safety of Glucomannan in weight reduction in overweight subjects MS Thesis Mahidol University 1997:147p.