มันม่วง ประโยชน์ดีๆ สรรพรคุณเด่นๆและข้อมูลงานวิจัย

มันม่วง งานวิจัยและสรรพคุณ 23 ข้อ

ชื่อสมุนไพร มันม่วง
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น มันเทศสีม่วง (ทั่วไป), มันแกวม่วง, มันแกวแดง (ภาคเหนือ), มันกลาม่วง (ภาคใต้), ฮวงกั้ว (จีน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ I pomoea batatas (L.) Lam.
ชื่อสามัญ Sweet potato, Purple sweet potato
วงศ์ CONVOLVULACEAE

ถิ่นกำเนิดมันม่วง

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่ามันม่วง ก็ คือ มันเทศชนิดหนึ่งที่มีหัวสีม่วง ดังนั้นมันม่วงจึงมีชื่อวิทยาศาสตร์เดียวกันกับมันเทศ โดยมันม่วง หรือ มันเทศสีม่วงนี้ มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมอยู่ในเขตร้อนของทวีปอเมริกา บริเวณอเมริกากลาง และอเมริกาใต้ แพร่กระจายในหลายพื้นที่ทั่วโลกจากนั้นจึงมีมีการแพร่กระจายพันธ์ไปยังเขตร้อนต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งจะพบได้มากในแถบเส้นศูนย์สูตร และภายใต้แถบศูนย์สูตร สำหรับในประเทศไทยสามารถพบได้ทั่วไปทั่วทุกภาคของประเทศ แต่ส่วนใหญ่จะพบในจังหวัดในภาคกลาง

ประโยชน์และสรรพคุณมันม่วง

  • ช่วยบำรุงม้ามโย
  • แก้ข้ออักเสบ
  • ช่วยบำรุงน้ำนม
  • แก้กระหายน้ำ
  • แก้เมาคลื่นไส้อาเจียน
  • ใช่เป็นยาระบาย
  • แก้บิด
  • แก้แผลไฟไหม้
  • แก้ฝี
  • แก้เริม
  • แก้งูสวัด
  • ช่วยสมานแผล
  • แก้พิษแมลงสัตว์กัดต่อย
  • ช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกัน
  • ช่วยลดระดับน้ำตาล
  • ช่วยขับพิษ
  • ช่วยป้องกันท้องผูก
  • รักษาโรคตาที่มองไม่เห็นในที่มืด
  • ช่วยห้ามเลือดจากบาดแผล
  • แก้ผื่นคัน
  • แก้ตุ่มพุพอง
  • ช่วยบำรุงผิว
  • ช่วยชะลอวัย

          มันเทศ และมันม่วง ถือเป็นแหล่งอาหารของมนุษย์มาแล้วหลายร้อยปี ดังนั้นประโยชน์หลักของมันม่วง คือ นำหัวมาเป็นแหล่งอาหาร ทั้งคาว และหวานทั่วโลก สำหรับในประเทศไทยมีอาหารที่ปรุงจากมันม่วง หรือ มันเทศหลายเมนู ทั้งอาหารหวาน อาหารคาว ส่วนยอดอ่อนก็สามารถนำมาใช้รับประทานเป็นผัก ในด้านอุตสาหกรรม ยังมีการนำมันเทศมาใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง ใช้ทำแป้ง  สำหรับทำอาหา และยังมีการใช้เป็นส่วนผสมในอาหารเด็ก

มันม่วง

รูปแบบะละขนาดวิธีใช้มันม่วง

ใช้แก้กระหายน้ำ แก้เมา คลื่นไส้อาเจียน แก้บิด บำรุงม้าม แก้ข้ออักเสบ บำรุงน้ำนม โดยใช้หัวมันม่วง มาต้ม หรือ ชงกับน้ำดื่มใช้เป็นยาระบายโดยใช้รากมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้แก้ไข ข้ออักเสบ โดยใช้เถามาต้มกับน้ำดื่ม ใช้รักษาฝี สมานแผล รักษาเริม งูสวัด แก้พิษแมลงสัตว์กัดต่อย แก้แผลไฟไหม้ โดยใช้น้ำคั้นจากหัวมาทาบริเวณที่เป็น ใช้รักษาฝีโดยใช้ใบมาตำผสมกับเกลือพอกฝี

ลักษณะทั่วไปของมันม่วง

มันม่วง จัดเป็นไม้ล้มลุกเลื้อยพันมีอายุหลายปี ลำต้นทอดเลื้อย มีความยาวได้ถึง 5 เมตร มีน้ำยางสีขาว มีรากเป็นแบบรากฝอย เกิดจากข้อของลำต้นที่ปลูก หรือ เกิดจากลำต้นที่ทอดเลื้อยไปตามพื้นดิน และมีรากสะสมอาหารมีลักษณะเป็นรูปทรงกระบอกซึ่งจะพัฒนากลายเป็นหัวต่อไป 

           ใบเป็นใบเดี่ยวออกแบบเรียงสลับบริเวณข้อของลำต้น เป็นรูปไข่กว้างแกมรูปโล่ มีขนาด และรูปร่างต่างกัน บางใบอาจเป็นรูปหัวใจ หรือ บางใบจะมีหลายแฉก แต่โดยปกติแล้ว ใบจะมีขนาดกว้างประมาณ 3-10 เซนติเมตร และยาวประมาณ 3-15 เซนติเมตร ขอบใบเว้าลึกเป็นแฉก 3-7 แฉก ผิวใบเรียบ หรือ มีขนเล็กน้อย และจะมีสีม่วงตามเส้นใบ ส่วนก้านใบยาว หรือ สั้นขึ้น จะอยู่กับสายพันธุ์ ดอกออกเป็นช่อ ตามซอกใบ และมีดอกย่อยหลายดอก ลักษณะกลีบดอกเป็นสีชมพูปนสีม่วง โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นรูปกรวย ยาวประมาณ 3-5 เซนติเมตร มีกลีบดอก 5 กลีบ  กลีบดอกนอกยาว 7-12 มิลลิเมตร คล้ายดอกผักบุ้ง มีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ รูปขอบขนาน มีเกสรเพศผู้ 5 ก้าน ส่วนรังไข่มี 2 ส่วน บางดอกอาจมี 4 ส่วน ในแต่ละส่วนจะมีไข่ 1-2 อัน มีก้านช่อดอกแข็งแรง ซึ่งมักจะยาวกว่าก้านใบ โดยมีความยาวประมาณ 3-18 เซนติเมตร เป็นสัน เกลี้ยง หรือ มีขน ส่วนก้านดอกยาวประมาณ 3-12 มิลลิเมตร ผลเป็นแบบผลแห้ง มีเปลือกแข็งหุ้ม และแตกได้ ลักษณะของผลเป็นแบบแคปซูล มีช่อง 4 ภายในเปลือกแข็งจะมีเมล็ดขนาดเล็กสีดำ ลักษณะค่อนข้างแบน ด้านหนึ่งเรียบ อีกด้านจะเป็นเหลี่ยม โดยทางด้านเรียบจะเห็นรอยที่เมล็ดติดกับผนังรังไข่ ส่วนเปลือกของเมล็ดค่อนข้างหนา หัวของมันม่วงจะเกิดจากการขยายตัวของราก โดยมันม่วงหนึ่งต้นอาจจะมีหัวได้หลายหัว ลักษณะของหัวเป็นรูปทรงกระบอก หัวเรียว ท้ายเรียว ตรงกลางป่องออก และสีผิวของหัวและสีของเนื้อในหัวจะมีสีม่วงผิวของหัวอาจจะเรียบหรือขรุขระ และมีรากแขนงเกิดในร่องของหัว

มันม่วง

ใบมัน มันม่วง

การขยายพันธุ์มันม่วง

มันม่วง สามารถขยายพันธุ์ได้ โดยการปลูกด้วยลำต้น หรือ เถา แต่ส่วนใหญ่จะนิยมปลูกด้วยลำต้นกันมากกว่า โดยมีวิธีการ คือ ตัดลำต้นที่แก่ให้ยาวประมาณ 25-30 ซม. แล้วนำต้นพันธุ์ที่ได้ปลูกบนสันร่องโดยทำมุมกับพื้นดินประมาณ 45 องศา ให้มีส่วนที่โผล่เหนือพื้นดินประมาณ 3-4 ใบ หากปลูกในฤดูฝนไม่จำเป็นต้องให้น้ำ และต้องคอยระวังอย่าให้มีน้ำท่วมขัง หากปลูกในฤดูแล้ง ควรปล่อยให้น้ำเข้าท้องร่องสูงประมาณ 2/3 ของร่อง แล้วพักค้างไว้ 1 คืน หลังจากนั้นให้รีบระบายออกทันที ทำทุกๆ 10-15 วัน/ครั้ง และในระยะต่อมาให้ประมาณ 20-30 วัน/ครั้ง

องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีของมันม่วง พบว่ามีสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิด เช่น Anthocyanidin, cyanidin, peonidin, yarapin, lutein, Chlorogenic acid, Aesculetin,  Amyrine, Caffeic, Caffeic acid, Arginine, Campesterol, Querecetin, β-carotene, Sitosterol, Alanine และ Stigmasterol เป็นต้น 

โครงสร้างมันม่วง 

การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของมันม่วง

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของมันม่วงระบุว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา ดังนี้

           ฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด มีการทดสอบฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดของสารแอนโทไซยานินจากมันม่วง ที่จับกับโปรตีน (protein-bound anthocyanin compounds of purple sweet potato (p-BAC-PSP, มีสารแอนโทไซยานิน 16.46 ± 3.36 มก.C3G/ก. และมีโปรตีน 62.50 ± 0.09%) และสารแอนโทไซยานินอิสระ (free anthocyanin compounds of purple sweet potato; FAC-PSP, มีสารแอนโทไซยานิน 40.74 ± 2.88 มก.C3G/ก.) ในหนูเม้าส์ที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดเบาหวานด้วยอาหารไขมันสูง โดยหนูจะได้รับ p-BAC-PSP ขนาด 500 มก./กก. หรือ FAC-PSP ขนาด 200 มก./กก. (เพื่อให้มีปริมาณของสารแอนโทไซยานินใกล้เคียงกัน) พบว่า p-BAC-PSP และ FAC-PSP สามารถบรรเทาความผิดปกติที่เกิดจากเบาหวานได้ โดยทำให้ความสามารถในการทนต่อกลูโคส (glucose tolerance) และการเผาผลาญไขมัน (lipid metabolism) ดีขึ้น นอกจากนี้ยังทำให้การเกิดภาวะเครียดออกซิเดชัน (oxidative stress) และการถูกทำลายของตับ ลดลงด้วย การศึกษากลไกการออกฤทธิ์พบว่า p-BAC-PSP และ FAC-PSP เหนี่ยวนำให้การแสดงออกของ AMP-activated protein kinase ในตับเพิ่มขึ้น การทำงานของ glucose transporter type 2, ระดับโปรตีนของ glucokinase, และการทำงานของ insulin receptor α ดีขึ้นอย่างชัดเจน (p < 0.05) ยีนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการสลายน้ำตาลกลูโคส (glycolysis) ได้แก่ phosphofructokinase และ pyruvate kinase เพิ่มจำนวนขึ้น ส่วนยีนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการสังเคราะห์น้ำตาลกลูโคส (gluconeogenic) ได้แก่ glucose-6-phosphatase และ phosphoenolpyruvate carboxykinase ลดจำนวนลง โดย p-BAC-PSP และ FAC-PSP มีประสิทธิภาพในการลดน้ำตาลในเลือดใกล้เคียงกัน ซึ่งคาดว่าเกิดจากการออกฤทธิ์ของสารแอนโทไซยานิน แต่ p-BAC-PSP มีโปรตีนเป็นส่วนประกอบจึงทำให้มีคุณค่าทางโภชนาการ

           นอกจากนี้ยังมีรายงานการศึกษาทางคลินิก (randomized cross-over trial) ในอาสาสมัครเพศชายสุขภาพดีจำนวน 17 คน โดยให้รับประทานมันเหลือง (Solanum tuberosum L. ‘Afra’) ร่วมกับสารสกัดด้วยน้ำ เอทานอล กรดอะซีติกจากมันม่วง (S. tuberosum L. ‘Synkeä Sakari’) ที่มีสารอะซีเลท-แอนโทไซยานิน (acylated anthocyanins) 152 มก. และสารประกอบฟีนอลิก (phenolics) อื่น ๆ 140 มก. เปรียบเทียบกับการรับประทานมันเหลืองเพียงอย่างเดียว แล้วสลับการรักษา ผลการทดสอบพบว่สารสกัดมันม่วง มีผลลดการเพิ่มขึ้นของค่า AUC ของกลูโคส (p = 0.019) และอินซูลิน (p = 0.015) ในช่วง 120 นาที หลังรับประทานอาหาร ระดับกลูโคสที่เวลา 20 นาที (p = 0.015) และ 40 นาที (p = 0.004) และระดับอินซูลินที่เวลา 20 นาที (p = 0.003), 40 นาที (p = 0.004) และ 60 นาที (p=0.005) หลังรับประทานอาหารลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และมีผลเพิ่มระดับตัวชี้วัดการอักเสบ insulin-like hormone FGF-19 หลังรับประทานอาหารที่ 240 นาที จากผลการทดสอบสรุปได้ว่าสารสกัดมันม่วงมีผลต่อระดับน้ำตาลในเลือด ระดับอินซูลินในเลือด และตัวชี้วัดการอักเสบหลังรับประทานอาหาร

           ฤทธิ์ยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่ มีการศึกษาวิจัยทดสอบฤทธิ์ยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่ชนิด HCT-116 และ HT-29 ของสารสกัด*จากพืชที่มีสารแอนโทไซยานินในปริมาณสูงจำนวน 11 ชนิด ได้แก่ (1) องุ่นแดง, (2) องุ่นม่วง, (3) มันม่วง , (4) แครอทม่วง, (5) ถั่วดำ, (6) ถั่วแขกม่วง, (7) ถั่วเลนทิลดำ, (8) ถั่วลิสงดำ, (9) ข้าวฟ่าง, (10) ข้าวดำ และ (10) ข้าวสาลีสีฟ้า พบว่าสารสกัดจากถั่วเลนทิลดำ, ข้าวฟ่าง, และองุ่นแดงมีฤทธิ์ยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่ HCT-116 และ HT-29 ได้ดี โดยความสามารถในการออกฤทธิ์มีความสัมพันธ์กับผลรวมของสารฟีนอลิกในพืช โดยสาร delphinidin-3-O-glucoside (เป็นสารในกลุ่มแอนโทไซยานิน) สามารถยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์ HT-29 ได้ดีมาก โดยค่าความเข้มข้นที่สามารถยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็งทั้ง 2 ชนิด ได้ ร้อยละ 50 (IC50) ของสารสกัดจากถั่วเลนทิลดำ, ข้าวฟ่าง, และองุ่นแดง อยู่ในช่วง 0.9–2.0 มก./มล. (ยา oxaliplatin ซึ่งใช้ในการรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่มีค่า IC50 ต่อเซลล์ HCT-116 และ HT-29 เท่ากับ 13.5±0.7 และ 18.4±2.3 มคก./มล. ตามลำดับ) กลไกการออกฤทธิ์ของสารสกัดดังกล่าว คือ ลดการแสดงออกของโปรตีนที่มีฤทธิ์ยับยั้งการตายของเซลล์แบบอะพอพโตซิส (anti-apoptotic proteins) ได้แก่ survivin, cIAP-2, XIAP และเหนี่ยวนำให้เกิดการตายของเซลล์แบบอะพอพโตซิส รวมทั้งขัดขวางกระบวนการแบ่งเซลล์ในระยะ G1 นอกจากนี้การทดสอบแบบ in silico ยังพบว่าสารแอนโทไซยานินมีฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของ tyrosine kinase (เป็นเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับการอยู่รอดของเซลล์) โดยสาร cyanidin-3-O-glucoside สามารถจับกับ tyrosine kinase ทุกชนิดได้ดี โดยเฉพาะกับชนิด Abelson tyrosine-protein kinase 1; ABL1 นอกจากนี้ สาร cyanidin-3-O-glucoside และ delphinidin-3-O-glucoside ยังสามารถยับยั้งการทำงานของ epidermal growth factor receptor; EGFR (ซึ่งเกี่ยวข้องกับการสร้างหลอดเลือดที่มาหล่อเลี้ยงเซลล์) โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 0.10 และ 2.37 ไมโครโมลาร์ ตามลำดับ แสดงให้เห็นว่า สารแอนโทไซยานินโดยเฉพาะ cyanidin-3-O-glucoside และ delphinidin-3-O-glucoside ซึ่งพบได้มากในพืชที่มีสีม่วงแดง มีฤทธิ์ยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่

          ฤทธิ์ยับยั้งความเป็นพิษของหัวใจ มีการศึกษาวิจัยทดสอบฤทธิ์ของสารแอนโทไซยานิน (anthocyanins) จากมันม่วง [Ipomoea batatas (L.) Lam.; (purple sweet potato)] ต่อการยับยั้งความเป็นพิษของหัวใจจากการเหนี่ยวนำด้วย doxorubicin จากการวิเคราะห์ด้วย High Performance Liquid Chromatography-Mass Spectrometry (HPLC-MS) พบสาร anthocyaninsที่เป็นองค์ประกอบหลัก ได้แก่ สาร cyanidin (62.9%) และ peonidin (21.46%) และทำการทดสอบในเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจของหนูแรทชนิด H9C2 ในหลอดทดลองพบว่าสาร anthocyaninsจากมันม่วงมีฤทธิ์ลดการหลั่งสารที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการอักเสบ Nitric Oxide (NO) และ tumor necrosinffactoe-alpha (TNF-α) ที่เพิ่มขึ้นจากการเหนี่ยวนำด้วย doxorubicin และลดการหลั่งของ trimethylamine oxide (TMAO), lactic dehydrogenase (LDH) และ creatine kinase (CK) จากกล้ามเนื้อหัวใจที่ถูกทำลาย และการทดสอบในหนูเม้าส์โดยแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มแรกเป็นควบคุมปกติจะได้รับน้ำเกลือทุกวัน กลุ่มที่ 2 จะได้รับน้ำเกลือติดต่อกัน 25 วัน และถูกเหนี่ยวนำให้ความเป็นพิษของหัวใจด้วยการฉีด doxorubicin 1.3 มก./กก. เข้าทางช่องท้อง ในวันที่ 26, 27 และ 28 ของการทดสอบ กลุ่มที่ 3 และ 4 จะได้รับสาร anthocyanins จากมันม่วง 100 และ 200 มก./กก./วัน ตามลำดับ และถูกเหนี่ยวนำให้ความเป็นพิษของหัวใจด้วยการฉีด doxorubicin 1.3 มก./กก. เข้าทางช่องท้อง ในวันที่ 26, 27 และ 28 ของการทดสอบ ผลการทดสอบพบว่าสาร anthocyaninsจากมันม่วง มีฤทธิ์ยับยั้ง NO และ malondialdehyde (MDA)ในเนื้อเยื่อหัวใจ ในขณะเดียวกันยังมีผลในการลดระดับ LDH, CK, TNF-α และ TMAO ในซีรัมและเนื้อเยื่อหัวใจเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้รับสาร anthocyanins จากมันม่วง จากการตรวจทางพยาธิวิทยาพบว่าสาร anthocyanins จากมันม่วงมีฤทธิ์ป้องกันการเกิดความเปลี่ยนแปลงทางพยาธิวิทยาของหัวใจ จากผลการทดสอบสรุปได้ว่าสาร anthocyanins จากมันม่วงมีฤทธิ์ยับยั้งความเป็นพิษของหัวใจจากการเหนี่ยวนำด้วย doxorubicin ในหลอดทดลองและสัตว์ทดลอง

           ฤทธิ์ป้องกันการเกิดตับอักเสบจากแอลกอฮอล์ มีการศึกษาฤทธิ์วิจัยป้องกันตับอักเสบจากแอลกอฮอล์ โดยมีการทดลองในหนูเม้าส์เพศผู้สายพันธุ์ C57BL/6 จำนวน 50 ตัว แบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม กลุ่มละ 10 ตัว โดยกลุ่มทดลองได้รับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผสมสาร PSPA ในขนาด 50 มก./นน.ตัว 1 กก. (ขนาดต่ำ), 100 มก./นน.ตัว 1 กก. (ขนาดกลาง), หรือ 300 มก./นน.ตัว 1 กก. (ขนาดสูง) ในขณะที่กลุ่มควบคุมได้รับแอลกอฮอล์ (52%) เพียงอย่างเดียวโดยเพิ่มปริมาณของแอลกอฮอล์ทุก 2 สัปดาห์ และอีกกลุ่มไม่ได้รับสารอะไรเลยเพื่อเปรียบเทียบผล เมื่อติดตามผลเป็นระยะเวลา 6 สัปดาห์ พบว่า หนูที่ได้รับ PSPA ในขนาด 100 มก./นน.ตัว 1 กก. (ขนาดกลาง) มีระดับ ALT = 53.71 U/L ซึ่งใกล้เคียงกับกลุ่มหนูปกติที่ไม่ได้รับสารอะไรเลย (ALT = 49.88 U/L) ในขณะที่กลุ่มที่ได้รับแอลกอฮอล์เพียงอย่างเดียวมีค่า ALT = 94.00 U/L พยาธิวิทยาของตับหนูกลุ่มที่ได้รับแอลกอฮอล์เพียงอย่างเดียวพบว่ามีการตายของเนื้อเยื่อตับ และมีความผิดปกติของไขมันในตับ (hepatocellular necrosis, fat degeneration in liver cells, but no hepatic fibrosis) ส่วนกลุ่มที่ได้รับ PSPA ขนาดกลาง (100 มก./นน.ตัว 1 กก.) พยาธิวิทยาของเนื้อเยื่อตับดีขึ้น และภาวะความเครียดจากการออกซิเดชั่น (oxidative stress status) ลดลงอย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับหนูกลุ่มที่ได้รับแอลกอฮอล์เพียงอย่างเดียว อย่างไรก็ตามการได้รับสาร PSPA ในขนาดสูง (300 มก./นน.ตัว 1 กก.) กลับทำให้เกิดพิษต่อตับ โดยทำให้ระดับ malondialdehyde (MDA) ซึ่งเป็นสารอนุมูลอิสระเพิ่มขึ้น และทำให้สารต้านออกซิเดชั่น glutathione (GSH) ลดลง จากการวิเคราะห์ทางเคมีคาดว่าอนุพันธ์ของ cyanidin ซึ่งมีโครงสร้างที่ประกอบด้วย ortho-hydroxyl ที่ตำแหน่ง B-ring อาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะเครียดจากการออกซิเดชั่น (oxidative stress) ในตับหนูที่ได้รับ PSPA ในขนาดสูง การศึกษานี้สรุปว่า PSPA ในขนาดกลางช่วยป้องกันตับอักเสบจากแอลกอฮอล์ได้ โดยออกฤทธิ์ยับยั้งการหลั่งเอนไซม์ alanine aminotransferase จากเซลล์ตับ และปรับสมดุลของการเกิดออกซิเดชั่น

           นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาทางคลินิกในอาสารสมัครสุขภาพดีชาวญี่ปุ่นเพศชายอายุ 30-60 ปี จำนวน 48 คน ที่มีค่าก้ำกึ่งของไวรัสตับอักเสบ (borderline hepatitis) ซึ่งมีค่าการทำงานของตับ 1 ค่า หรือ มากกว่า ได้แก่ gamma-glutamyl transferase (GGT), aspertate aminotransferase (AST) และ alanine aminotransferase (ALT) มีระดับสูงกว่าค่าช่วงปกติ และได้รับการวินิจฉัย hepatitis virus เป็นลบ แบ่งกลุ่มอาสาสมัครออกเป็นกลุ่มที่ได้รับเครื่องดื่มมันม่วง 2 ขวด/วัน (เครื่องดื่มมันม่วง 1 ขวด 125 มล. ประกอบด้วยสาร anthocyanins 200.3 มก.) เปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้รับเครื่องดื่มหลอก 2 ขวด/วัน (เครื่องดื่มหลอก 1 ขวด 125 มล. ประกอบด้วยสาร anthocyanins 1.7 มก.) แต่ละกลุ่มได้รับเครื่องดื่มเป็นระยะเวลา 8 สัปดาห์ ผลการทดสอบมีอาสาสมัครเข้าร่วมจนสิ้นสุดการทดสอบจำนวน 38 คน พบว่ากลุ่มที่ได้รับเครื่องดื่มมันม่วงมีค่าการทำงานของตับตํ่ากว่ากลุ่มที่ได้รับเครื่องดื่มหลอก โดยเฉพาะอย่างยิ่งค่า GGT (-14.1 IU/l ณ สัปดาห์ที่ 2; -16.8 IU/l ณ สัปดาห์ที่ 4; -26.7 IU/l ณ สัปดาห์ที่ 6 และ-27.9 IU/l ณ สัปดาห์ที่ 8 ของการทดสอบ) และไม่มีความสัมพันธ์ระหว่างค่าการทำงานของตับกับการดื่มแอลกอฮอล์ จากผลการทดสอบสรุปได้ว่าเครื่องดื่มมันม่วงมีผลต่อการลดระดับค่าการทำงานของตับในอาสาสมัครสุขภาพดีเพศชายที่มีค่าก้ำกึ่งของไวรัสตับอักเสบ และยังมีการศึกษาทางคลินิกในอาสาสมัครสุขภาพดีกลุ่มคอเคเซียน (Caucasians) ทั้งเพศหญิงและชายอายุ 41-69 ปี จำนวน 40 คน ที่มีค่าก้ำกึ่งของไวรัสตับอักเสบ แบ่งกลุ่มอาสาสมัครออกเป็นกลุ่มที่ได้รับเครื่องดื่มมันม่วง 3 ขวด/วัน (เครื่องดื่มมันม่วง 1 ขวด 125 มล. ประกอบด้วยสาร anthocyanins 177 มก.) เปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้รับเครื่องดื่มหลอก (เครื่องดื่มหลอกเตรียมจากสารสกัดมันม่วง 1/100 ปริมาตร/ปริมาตร ของเครื่องดื่มมันม่วง ประกอบด้วยสาร anthocyanins 1.3 มก.) แต่ละกลุ่มได้รับเครื่องดื่มเป็นระยะเวลา 8 สัปดาห์ วัดค่าการทำงานของตับ GGT, AST และ ALT ผลการทดสอบมีอาสาสมัครเข้าร่วมจนสิ้นสุดการทดสอบจำนวน 37 คน พบว่ากลุ่มที่ได้รับเครื่องดื่มมันม่วงมีค่า GGT ตํ่ากว่ากลุ่มที่ได้รับเครื่องดื่มหลอกในวันที่ 15 และ 43 กลุ่มที่ได้รับเครื่องดื่มมันม่วงมีค่า AST ตํ่ากว่ากลุ่มที่ได้รับเครื่องดื่มหลอกในวันที่ 29 และ 43 กลุ่มที่ได้รับเครื่องดื่มมันม่วงมีค่า ALT ตํ่ากว่ากลุ่มที่ได้รับเครื่องดื่มหลอกในวันที่ 43 ของการทดสอบและการได้รับเครื่องดื่มมันม่วงไม่มีผลต่อค่าทางโลหิตวิทยาและเคมีคลินิกอื่นๆ และยังมีการทดสอบฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาพบว่าสารสกัด anthocyanins จากมันม่วงมีฤทธิ์ป้องกันการเกิดความเสียหายของตับของหนูเม้าส์ที่ถูกเหนี่ยวนําด้วยแอลกอฮอล์ ฤทธิ์ยับยั้งการเกิดการตายของเซลล์ตับของหนูเม้าส์ที่ถูกเหนี่ยวนําด้วยอาหารไขมันสูง และฤทธิ์ยับยั้งการเกิดการทำลายของไตของหนูเม้าส์ที่ถูกเหนี่ยวนําด้วยอาหารไขมันสูง สารสกัด anthocyanins จากมันม่วงที่จับกับโปรตีน (protein-bound anthocyanin compounds of purple sweet potato; p-BAC-PSP) มีฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือดของหนูเม้าส์ที่เหนี่ยวนําให้เกิดภาวะเบาหวานด้วย streptozotocin และได้รับอาหารไขมันสูง สารสกัด anthocyanins จากมันม่วง มีฤทธิ์ลดการเพิ่มของน้ำหนักตัวของหนูเม้าส์ที่ถูกเหนี่ยวนําด้วยอาหารไขมันสูง ฤทธิ์ปรับปรุงภาวะดื้อต่ออินซูลิน (insulin resistance) ใน hippocampus ของหนูเม้าส์ที่ถูกเหนี่ยวนําด้วยอาหารไขมันสูง ฤทธิ์ปรับปรุงภาวะการถดถอยประสิทธิภาพการทำงานของสมอง (cognitive deficits) ของหนูเม้าส์ที่ถูกเหนี่ยวนําด้วยอาหารไขมันสูง ฤทธิ์ยับยั้งการอักเสบของเซลล์ประสาทในสมองของหนูเม้าส์ที่ถูกเหนี่ยวนําด้วยอาหารไขมันสูงฤทธิ์ยับยั้งภาวะการเกิดพิษต่อหัวใจจากการเหนี่ยวนําด้วย doxorubicin ทำการทดสอบในหลอดทดลองและในหนูเม้าส์  ฤทธิ์ชะลอการเกิดภาวะเซลล์บุผนังหลอดเลือดที่เสื่อมสภาพ (endothelial senescence) ทำการทดสอบในหลอดทดลองและในหนูเม้าส์

การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของมันม่วง

ไม่มีข้อมูล


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

มีข้อแนะนำในการเก็บหัวมันม่วง เพื่อการบริโภค โดยมันม่วงสามารถเก็บหัวไว้บริโภคได้ 1-2 เดือน แต่ว่าอย่าให้ถูกแสงแดด หรือ อับอากาศ นอกจากนี้มันม่วงมีเส้นใยอาหารสูง จึงช่วยป้องกันอาการท้องผูกได้เป็นอย่างดี จึงเหมาะกับผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับการขับถ่ายเป็นอย่างยิ่ง รวมถึงสตรีที่ให้นมบุตร ก็ควรรับประทานหัวมันม่วง เนื่องจากมีสรรพคุณบำรุงน้ำนมอีกด้วย

เอกสารอ้างอิง มันม่วง
  1. มันเทศ”. (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). หนังสือสมุนไพร พื้นบ้านล้านนา. หน้า 132.
  2. ฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดของสารแอนโทไซยานินจากมันม่วง.ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร.สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  3. การศึกษาทางคลินิกผลในการลดระดับน้ำตาลในเลือด และผลต่อตัวชี้วัดการอักเสบของสารแอนโทไซยานินจากมันม่วง..ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร.สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  4. ธิดารัตน์ จันทร์ดอน.มันม่วง...แหล่งของสารแอนโทไซยานินมีประโยชน์.บอกกล่าวเล่าเรื่องสมุนไพร..ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร.สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  5. กลไกการออกฤทธิ์ของสารแอนโทไซยานินในพืชที่มีสีม่วงแดงในการยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่.ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร.สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  6. ฤทธิ์ยับยั้งความเป็นพิษของหัวใจของสารแอนโนไซยานิน (anthocyanins) จากมันม่วง .ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร.สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  7. สารแอนโทไซยานินสกัดจากมันม่วงกับฤทธิ์ป้องกันการเกินตับอักเสบจากแอลกอฮอล์.ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร.สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  8. Jiang T, Shuai X, Li J, Yang N, Deng L, Li S, et al. Protein-bound anthocyanin compounds of purple sweet potato ameliorate hyperglycemia by regulating hepatic glucose metabolism in high-fat diet/streptozotocin-induced diabetic mice. J Agric Food Chem. 2 0 2 0 ;6 8 ( 6 ) : 1 5 9 6 - 6 0 8 . doi: 10.1021/acs.jafc.9b06916.
  9. Zhuang J, Lu J, Wang X, Wang X, Hu W, Hong F, et al. Purple sweet potato color protects against highfat diet-induced cognitive deficits through AMPK-mediated autophagy in mouse hippocampus. J Nutr Biochem. 2019;65:35-45. doi: 10.1016/j.jnutbio.2018.10.015.
  10. Sun C, Diao Q, Lu J, Zhang Z, Wu D, Wang X, et al. Purple sweet potato color attenuated NLRP3 inflammasome by inducing autophagy to delay endothelial senescence. J Cell Physiol. 2019;234(5):5926-39. doi: 10.1002/jcp.28003.
  11. Suda I, Ishikawa F, Hatakeyama M, Miyawaki M, Kudo T, Hirano K, et al. Intake of purple sweet potato beverage affects on serum hepatic biomarker levels of healthy adult men with borderline hepatitis. Eur J Clin Nutr. 2008;62(1):60-7. doi: 10.1038/sj.ejcn.1602674
  12. Ju R, Zheng S, Luo H, Wang C. Purple sweet potato attenuate weight gain in high fat diet induced obese mice. J Food Sci. 2017;82:787-93. doi: 10.1111/1750-3841.13617.
  13. Sun C, Diao Q, Lu J, Zhang Z, Wu D, Wang X, et al. Purple sweet potato color attenuated NLRP3 inflammasome by inducing autophagy to delay endothelial senescence. J Cell Physiol. 2019;234(5):5926-39. doi: 10.1002/jcp.28003.
  14. Oki T, Kano M, Ishikawa F, Goto K, Watanabe O, Suda I. Double-blind, placebo-controlled pilot trial of anthocyanin-rich purple sweet potato beverage on serum hepatic biomarker levels in healthy Caucasians with borderline hepatitis. Eur J Clin Nutr. 2017;71(2):290-2. doi: 10.1038/ejcn.2016.153.
  15. Li J, Shi Z, Mi Y. Purple sweet potato color attenuates high fat-induced neuroinflammation in mouse brain by inhibiting MAPK and NF-B activation. Mol Med Rep. 2 0 1 8 ;1 7 ( 3 ) : 4 8 2 3 - 3 1 . doi: 10.3892/mmr.2018.8440.
  16. Su W, Zhang C, Chen F, Sui J, Lu J, Wang Q, et al. Purple sweet potato color protects against hepatocyte apoptosis through Sirt1 activation in high-fat-diet-treated mice. Food Nutr Res. 2020;64. doi: 10.29219/fnr.v64.1509.