อะซีซัลเฟม โพแทสเซียม

อะซีซัลเฟม  โพแทสเซียม

ชื่อสามัญ Acesul fame Potassium

ประเภทและข้อแตกต่างสารอะซีซัลเฟม-โพแทส

สารอะซีซัลเฟม-โพแทสเซียม จัดเป็นสารให้ความหวานแทนน้ำตาลประเภทที่ไม่ให้พลังงาน โดยเป็นสารประกอบอินทรีย์ที่ให้รสหวาน (sweetness) มากกว่าน้ำตาลซูโครส 200 เท่า แต่จะไม่มีคุณค่าทางโภชนาการ และไม่ให้พลังงาน ซึ่งเมื่อร่างกายได้รับจะถูกดูดซึม และขับออกทางปัสสาวะโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ในร่างกาย และมีโครงสร้างทางเคมี คือ potassium salt of 6-methyl-1, 2, 3-oxathiazine-4(3H)-one 2, 2-dioxide ซึ่งจะอยู่ในรูปของผลึกสีขาว มีสูตรโมเลกุล C4H4KNO4S และมีมวลโมเลกุล เท่ากับ 201.24 g/mol

           สำหรับคุณสมบัติของอะซีซัลเฟม โพแทสเซียม นั้นจะมีความคงตัวสูง โดยมีความเป็นกรดด่าง (pH) ระหว่าง 3.5-8.0 และสามารถทนความร้อนที่ baking temperature ได้อย่างดีรวมถึงละลายน้ำได้ดีมาก และเมื่อสัมผัสกับต่อมรับรสจะรู้สึกได้ถึงรสหวานในทันที แต่จะมีรสชาติตกค้าง (aflertaste) ในลักษณะที่เรียกว่า bitter-metallic aftertaste อยู่ในระยะเวลาหนึ่ง ส่วนประวัติการค้นพบอะซีซัลเฟม โพเทสเซียมนั้น ถูกค้นพบอย่างบังเอิญในปี ค.ศ.1967 โดย Karl Clauss นักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมัน จากสถาบันเคมี Hoechst AG และสำหรับประเภทของอะซีซัลเฟม โพแทสเซียมที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนั้นพบว่า มีเพียงประเภทเดียวเท่านั้น

แหล่งที่พบและแหล่งที่มาสารอะซีซัลเฟม-โพแทส

อะซีซัลเฟม โพแทสเซียม เป็นสารให้ความหวานแทนน้ำตาลที่ได้จากการสังเคราะห์ทางเคมี เช่นเดียวกันกับสารให้ความหวานอื่นๆ เช่น แอสปาร์แตม,ซูคราโลส และนีโอแทม เป็นต้น แต่อะซีซัมเฟม โพแทสเซียมจะสังเคราะห์จากกระบวนการแปลงกรดแอซิโตน แอซีติก (acetoacetic acid) และนำไปผสมกับแร่ธาตุโพแทสเซียม ในธรรมชาติ เพื่อให้มีความเสถียรมากขึ้น และทำให้อยู่ในรูปผลึก ซึ่งจะให้ความหวานกว่าน้ำตาลซูโครส 200 เท่า เลยทีเดียว

อะซีซัลเฟม โพแทสเซียม

ปริมาณที่ควรได้รับสารอะซีซัลเฟม-โพแทส

สำหรับปริมาณของอะซีซัลเฟม โพแทสเซียม ที่ควรได้รับต่อวันนั้น สามารถอ้างอิงได้จาก องค์การอาหารและยาของสหรัฐ (FDA) ที่อนุญาตให้ใช้สารอะซีซัลเฟม โพแทสเซียม ในอาหารได้ และกำหนดค่า ADI (ปริมาณที่ใช้ได้อย่างปลอดภัยในคน) ไว้ที่ 15 มิลลิกรัมของน้ำหนักตัว ส่วนองค์การอาหาร และยาของไทยนั้น ได้กำหนดเกณฑ์การใช้อะซีซัมเฟม โพแทสเซียมเป็นวัตถุเจือปนอาหาร ตามบัญขีแนบท้ายประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 389 พ.ศ.2564 ไว้ดังนี้

อะซีซัลเฟม โพแทสเซียม

อะซีซัลเฟม โพแทสเซียม 

อะซีซัลเฟม โพแทสเซียม

ประโยชน์และโทษสารอะซีซัลเฟม-โพแทส

เนื่องจากอะซีซัลเฟม โพแทสเซียมเป็นสารให้ความหวานแทนน้ำตาล ที่ไม่ให้ให้พลังงานดังนั้นในปัจจุบันจึงมีการนำไปใช้ในอาหารกว่า 4,000 ชนิด โดยมักใช้ร่วมกับสารให้ความหวานชนิดอื่นๆ ที่ให้แคลอรี่ต่ำ เพื่อเพิ่มรสหวานให้กับอาหาร และเครื่องดื่ม เช่น แอสปาร์แตม, ซูคราโลส และมอสโตเด็กซ์ตริน เป็นต้น ซึ่งในสหรัฐอเมริกาองค์การอาหาร และยาของสหรัฐอเมริกาอนุญาตให้ใช้ในอาหารต่างๆ ในหลายประเภท ได้แก่ของหวาน (dessert), ลูกอมลูกกวาดต่างๆ (candies), หมากฝรั่ง (chewing gums), เครื่องดื่มทั่วไป (beverages) เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ (alcoholic beverages), อาหารประเภทของอบ (baked goods), ซอสรสหวานต่างๆ (sweet sauces), น้ำเชื่อม (syrups), ของหวานที่แช่แข็ง หรือ แช่ตู้เย็น (refrigerated and frozen desserts)  และน้ำตาลสำหรับโรยหน้าขนม (toppings) เป็นต้น

            ส่วนในประเทศไทยมีการใช้สารให้รสหวานชนิดนี้ในน้ำอัดลมเครื่องดื่ม เครื่องดื่มผง (dry mixes for beverages) ลูกอม ลูกกวาด โยเกิร์ต การแฟ และชาสำเร็จรูป (instant coffee and tea) ขนมหวานผลิตจากเจลาติน (gelatin dessert) พุดดิ้ง (pudding) ครีมเทียม (nondairy creamer) และของหวานต่างๆ ผู้เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการใช้อะซีซัลเฟม โพแทสเซียม แทนที่น้ำตาลเพื่อลดปริมาณแคลอรี่ (calorie) และใช้เป็นสารให้ความหวานในอาหารสำหรับผู้ป่วยโรงเบาหวานอีกด้วย

การศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องสารอะซีซัลเฟม-โพแทส

มีผลการศึกษาวิจัยของอะซีซัลเฟม โพแทสเซียม เกี่ยวกับเชื้อจุลินทรีย์ในระบบทางเดินอาหาร และการเกิดฟันผุ มีการศึกษาในหนูทดลอง พบว่าการบริโภคอะซีซัลแฟม โพแทสเซียมเป็นเวลา 4 สัปดาห์ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเชื้อจุลินทรีย์ในทางเดินอาหาร และน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นในหนูเพศผู้แต่ไม่เพิ่มขึ้นในเพศเมีย และมีการศึกษาวิจัยในห้องปฏิบัติการโดยทำการทดสอบผลของสารให้ความหวานแทนน้ำตาลกลุ่มที่ให้ความหวานจัด ซึ่งได้แก่ แอสปาร์แตม แซ็กคาริน อะซีซัลเฟม โพแทสเซียม ซัยคลาเมตต่อการเจริญ เมตาบอลิซึมของเชื้อในคราบจุลินทรีย์ และเชื้อสเตรปโตคอคคัสมิวแทนส์พบว่าอะซีซัลเฟมโพแทสเซียมไม่มีผลยับยั้งการเจริญของเชื้อ ส่วนการศึกษาเกี่ยวกับอะซีซัลเฟม โพแทสเซียมต่อเชื้อสเตรปโตคอคคัส มิวแทนส์หรือเชื้อก่อโรคฟันผุอื่นๆ รวมถึงต่อการเกิดฟันผุนั้นค่อนข้างมีจำนวนจำกัด และส่วนใหญ่เป็นการศึกษาเมื่อกว่า 30 ปีที่แล้ว ซึ่งได้ข้อสรุปว่า อะซีซัลเฟม โพแทสเซียม จัดเป็นสารให้ความหวานแทนน้ำตาลที่ไม่ก่อให้เกิดฟันผุ

            นอกจากนี้ยังมีรายงานด้านความปลอดภัยของการใช้อะซีซัลเฟม โพแทสเซียม ในต่างประเทศระบุว่า การใช้ acesulfame potassium ในคนยังไม่พบอันตรายใดๆ จากข้อสรุปขององค์การอาหาร และยาของสหรัฐอเมริกาโดยสรุปจากข้อมูลที่มีการทดลองทั้งในคน และสัตว์ทดลองมากกว่า 90 การศึกษา และปริมาณที่ใช้ในการทดลองส่วนใหญ่จะใช้ในขนาดสูงกว่าขนาดปกติที่รับประทานในคนรวมทั้งสามารถใช้ได้ในสตรีมีครรภ์สตรีให้นมบุตร ผู้ป่วยเบาหวาน และผู้ป่วย phenylketonuria ได้โดยอะซีซัลเฟม โพแทสเซียมจะไม่ถูกเมแทบอลิซึม หรือ เกิดการสะสมในร่างกาย เนื่องจากหลังจากบริโภค อะซีซัลเฟม โพแทสเซียมจะถูกดูดซึมอย่างรวดเร็ว และถูกกำจัดออกในรูปเดิม

โครงสร้างอะซีซัลเฟม โพแทสเซียม

ข้อแนะนำและข้อควรปฏิบัติ

ในการใช้อะซีซัมเฟม โพแทสเซียม เป็นสารให้ความหวานแทนน้ำตาล หรือ การบริโภคผลิตภัณฑ์ที่มีอะซีซัมเฟม โพแทสเซียม เป็นส่วนผสมให้ได้ประโยชน์ และ มีความปลอดภัยนั้น สามารถทำได้ เช่น เดียวกันกับการใช้สารสกัด และสารสังเคราะห์อื่นๆ โดยควรใช้ในขนาด และปริมาณตามที่กำหนดไว้ ไม่ควรใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานาน เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ สำหรับสตรีมีครรภ์หรือผู้ป่วยโรคต่างๆ ก่อนจะใช้อะซีซัลเฟม โพแทสเซียม ก็ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนใช้เสมอ

เอกสารอ้างอิง อะซีซัลเฟม โพแทสเซียม
  1. อรนาฎ มงตังคสมบัติ, พนิดา ธัญญศรีสังข์. สารให้ความหวานแทนน้ำตาลกับผลต่อสุขภาพร่างกาย และสุขภาพช่องปาก. วิทยาสารทันตแพทย์ศาสตร์ปีที่ 69. ฉบับที่ 4 ตุลาคม-ธันวาคม 2562. หน้า 379-397
  2. รศ.วิมล ศรีสุข.เป็นเบาหวาน....เลือกอะไรใส่กาแฟแทนน้ำตาล. บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน. คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล
  3. วรรณดล เชื้อมงคล.สารให้ความหวาน : การใช้และความปลอดภัย. วารสารไทยเภสัชศาสตร์ และวิทยาการสุขภาพปีที่ 3. ฉบับที่ 1 มกราคม-มิถุนายน 2551.หน้า 161-168
  4. ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 389) พ.ศ.2561 เรื่องวัตถุเจือปนอาหาร (ฉบับที่ 5)
  5. Klug, C., and Lipinski, R.G. (2012). Alternative sweeteners. 4th edition. Acesulfame potassium. Nabors, O. L.: 13-31.
  6. Grenby TH, Saldanha MG. Studies of the inhibitory action of intense sweeteners on oral microorganisms relating to dental health. Caries Res 1986;20(1):7-16
  7. ADA Evidence Analysis Library, (2011). The truth about artificial sweeteners or sugar substitutes.
  8. Bian X, Chi L, GaoB,TuP,Ru H, LuK.Theartificial sweetener acesulfame potassium affects the gut microbiome and body weight gain in cd-1 mice. PLoS One 2017;12(6):e0178426.
  9. International Food Information Council Foundation. Everything you need to know about acesulfame potassium. (Accessed on December 31, 2007, at http://ific.org/ publications/brochures/upload/EverythingYou-Need-to-Know-About-Acesulfame-Potassium.pdf