หมี่ ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

หมี่ งานวิจัยและสรรพคุณ 30 ข้อ

ชื่อสมุนไพร หมี่
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ต้นหมี่, อีเหม็น (ภาคกลาง), หมีเหม็น (ภาคอีสาน), หมูเหม็น, ยุบเหยา, มะเน้อ, มะเย้ย, ไม้หที่, ดอกจุ๋ม, ตังสีไพร (ภาคเหนือ), มัน, ทังบวน, มือเบาะ (ภาคใต้), หมูทะลวง (ภาคตะวันออก), เส่ปียะขู้ (กะเหรี่ยง), ไม้ต๊องช้าง (ไทยใหญ่)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Litsea glutinosa (Lour.) C.B.Robinson.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Litsea apetala (Roxb.) Pers., Litsea chinensis Lam., Litsea laurifolia (Jacq.) Cordem., Camellia integrifolia Choisy, Sebifera glutinosa Lour., Tetranthera apetala Roxb., Decapenta involucrata Raf., Dodecadenia robusta Zoll. & Moritzi
ชื่อสามัญ Indian laurel
วงศ์ LAURACEAE

ถิ่นกำเนิดหมี่

หมี่ จัดเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในทวีปเอเชีย บริเวณเอเชียใต้ เช่น ศรีลังกา อินเดีย เนปาล รวมถึงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ไทย พม่า ลาว กัมพูชา มาเลเซีย และอินโดนีเซีย นอกจากนี้ยังมีรายงานว่ายังพบในจีนตอนใต้ และทางเหนือของออสเตรเลียอีกด้วย แต่ทั้งนี้จะพบได้มากในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนในไทยพบได้ในทุกภาคในป่าดิบชื้น ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ในที่โล่งแจ้ง หรือ ขึ้นปะปนกับไม้อื่นในป่าดิบเขาในระดับความสูง 1,500 ม. เหนือระดับน้ำทะเล

ประโยชน์สรรพคุณหมี่

  • ใช้ฆ่าเหา(ใบ)
  • ช่วยขับปัสสาวะ
  • แก้อาการระคายเคืองของผิวหนัง
  • แก้ฝี (ใช้พอกฝี)
  • แก้แผลหนอง
  • แก้ปวด
  • ช่วยบำรุงกำลัง
  • แก้ฝาดสมาน (เป็นยาฝาดสมาน)
  • แก้บิด
  • แก้ท้องเสีย
  • แก้ลมเป็นก้อนในท้อง
  • แก้ท้องอืด
  • แก้ตานซาง
  • แก้ปวดมดลูก
  • แก้เจ็บปวดตามกล้ามเนื้อ
  • แก้แผลอักเสบ
  • แก้พิษแมลงกัดต่อย
  • แก้ผื่นคันแสบร้อน
  • แก้ฟกช้ำ และช้ำบวม
  • รักษาอาการปวดกล้ามเนื้อ
  • ช่วยบำรุงเส้นผม ทำให้ผมนุ่มสวย ดกดำ ไม่หลุดร่วง
  • แก้โรคเลือด
  • แก้การระคายเคืองหนังศีรษะ
  • แก้ระดูมาไม่เป็นปกติ
  • ใช้แก้ผื่นคัน แสบร้อน
  • แก้พิษแมลงกัดต่อย
  • รักษากลากเกลื้อน
  • แก้เป็นลมพิษ
  • แก้ปวดฟัน
  • แก้ปากเหม็น

         ในอดีตมีการนำส่วนต่างๆ ของหมี่ มาใช้ประโยชน์มากมายหลายด้านดังนี้

         ใบสามารถนำมาขยี้ผสมกับน้ำซาวข้าว ใช้เป็นยาสระผม ช่วยป้องกันรังแคป้องกันผมร่วง และทำให้ผมนุ่มดกดำ หรือ นำใบและยอดอ่อนมาผสมกับเปลือกเถารางแดง ส้มป่อย หรือ มะนาว หรือ มะกรูด และน้ำขี้เถ้า นำมาต้มรวมกัน แล้วนำน้ำที่ได้ไปสระผม ใบสดใช้เป็นยาพอกศีรษะเพื่อฆ่าเหา และยังใช้ใบหมี่นำมาใช้เป็นส่วนผสมกับเครื่องสำอาง เนื่องจากมีสารเมือก (mucilage) ที่สามารถเป็นสารเคลือบผิว และผมการปกป้อง ให้ความชุ่มชื้นแก่ผิว และผม อีกในปัจจุบันยังมีการใช้สารสกัดจากใบหมี่เป็นสารสำคัญที่มีคุณสมบัติเป็นสารเพิ่มความหนืดให้กับผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง หรือ ยาที่ใช้ภายนอกได้อีกด้วย ยังมีการใช้ใบหมี่มาย้อมผ้าได้ โดยจะให้สีเขียว และใช้บ่มกล้วยให้สุกเร็ว หรือ ใช้รองปิดปากไหปลาร้ากันหนอนขึ้น ส่วนเปลือกลำต้นใช้ต้มฟอกย้อมไหม แห อวน และผ้าต่างๆ โดยจะให้สีแดงเรื่อ ยางจากเปลือกสามารถนำมาทาเครื่องจักรสาน เพื่อช่วยป้องกันแมลงเข้ากัดทำลาย ช่วยให้เครื่องจักรสานมีความคงทน และเนื้อไม้ใช้ประดิษฐ์เป็นอุปกรณ์ใช้สอยในครัวเรือน เช่น อาทิ ด้ามจอบ ด้ามเสียม ด้ามมีด เขียง หรือ ใช้แปรรูปเป็นเฟอร์นิเจอร์ ต่างๆ ใช้แปรรูปเป็นไม้ก่อสร้าง เช่น ไม้วงกบ ไม้แปร ไม้ฝ้า ไม้แผ่นปูพื้น  โต๊ะ เก้าอี้ เตียงนอน เป็นต้น

รูปแบบขนาดวิธีใช้

ใช้บำรุงกำลัง เป็นยาฝาดสมาน แก้ลมเป็นก้อนในท้อง แก้ท้องอืด ท้องเสีย แก้ปวดกล้ามเนื้อ แก้ตานซาง โดยนำรากมาต้มกับน้ำดื่ม แก้โรคเลือด ระดูมาไม่เป็นปกติ แก้เป็นลมพิษ นำรากมาตากให้แห้ง ดองกับเหล้าขาว ใช้รักษาฝี หนอง โดยนำรากมาฝนทาบริเวณที่เป็น ใช้แก้บิด แก้ท้องเสีย แก้ปวดมดลูก ถ่ายเส้นเอ็น ทำให้เส้น เอ็นอ่อนโดยนำเปลือกต้นมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้แก้ปวดฟัน แก้ปากเหม็น โดยนำเปลือกต้นสดมาเคี้ยวอม ใช้สระผมช่วยให้ผมนุ่มสวย ดกดำ ไม่หลุดร่วง ช่วยฆ่าเหา แก้การระคายเคืองหนังศีรษะ โดยนำใบหมี่ สดมาขยี้กับน้ำ แล้วใช้สระผม ใช้แก้ผื่นคัน แสบร้อน แก้อาการระคายเคืองผิวหนัง แก้พิษแมลงกัดต่อย รักษากลากเกลื้อน โดยนำใบสดมาขยี้แล้วทาบริเวณที่เป็น ใช้แก้ช้ำบวม โดยนำยางจากเปลือกต้นมาทาบริเวณที่เป็น

ลักษณะทั่วไปของหมี่

หมี่ จัดเป็น ไม้ยืนต้น ผลัดใบ สูง 5-15 เมตร แตกกิ่งก้านเป็นพุ่ม ลำต้นกลม เปลือกลำต้นสีน้ำตาล หรือ สีเทาอ่อน ลำต้นแก่แตกเป็นสะเก็ดขนาดเล็กถึงขนาดกลางและเป็นร่องตื้นตามยาว กิ่งอ่อนมีขนละเอียด ใบเป็นใบเดี่ยว ออกแบบเรียงสลับตามความยาวของกิ่ง แต่มักออกเป็นกลุ่มหนาแน่นบริเวณปลายกิ่ง ใบเป็นรูปรีแกมขอบขนาน หรือ รูปไข่กลับ มีขนาดกว้าง 5-9 เซนติเมตร และยาว 8-15 เซนติเมตร โคนใบสอบมน ปลายใบมน หรือ เรียวแหลมเล็กน้อย ขอบใบเรียบ หรือ อาจจะเป็นคลื่นเล็กน้อย เนื้อใบมีสีเขียวเข้มค่อนข้างหนา หลังใบเกลี้ยง เป็นมัน ท้องใบมีขน มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว และมีก้านใบยาวประมาณ 1-2.5 เซนติเมตร ดอกออกเป็นช่อโดยจะออกแบบซี่ริมบริเวณซอกใบใกล้ปลายยอด ซึ่งดอกเป็นแบบแยกเพศต่างต้น ช่อดอกเพศผู้จะมีดอกย่อยประมาณ 8-10 ดอกต่อ 1 ช่อ ตัวดอกมีสีเหลือง ไม่มีกลีบดอก ภายในดอกตรงกลางมีเกสรตัวผู้ 9-20 อัน มีกลีบเลี้ยงรูปกลม 4 กลีบ ส่วนช่อดอกเพศเมียมีดอกจำนวนน้อยกว่า ตัวดอกมีสีเหลือง เหมือนกันไม่มีกลีบดอก ภายในดอกมีเกสรตัวเมียตรงกลาง ผลเป็นรูปผลสดทรงกลม มีขนาดประมาณ 5-7 มิลลิเมตร ผิวผลเรียบเป็นมัน ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนสีม่วงเข้มเกือบดำ ผลมีกลิ่นเหม็น ส่วนก้านผลมีขนสั้นๆขึ้นปกคลุม ภายในผลมีเมล็ดแข็ง 1 เมล็ด โดยใน 1 ช่อจะมีผลประมาณ 3-5 ผล

หมี่

หมี่

การขยายพันธุ์หมี่

หมี่สามารถขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด ซึ่งในการปลูกในปัจจุบันจะใช้วิธีนำต้นกล้าจากเมล็ดมาปลูกเนื่องจากหมี่ เป็นไม้เนื้อแข็ง ทำให้การขยายพันธุ์ด้วยวิธีการปักชำ หรือ การตอนกิ่งทำได้ยากและที่สำคัญการขยายพันธุ์วิธีอื่นจะได้ต้นหมี่ที่แตกกิ่งน้อย ไม่ได้ทรงพุ่มใหญ่เหมือนการปลูกจากต้นเมล็ด ดังนั้นในปัจจุบันจึงนิยมขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด สำหรับการขยายพันธุ์หมี่ โดยใช้เมล็ดนั้นสามารถทำได้ด้วยการนำเมล็ดที่แก่จัด หล่นจากต้นมาเพาะเช่นเดียวกันกับการเพาะเมล็ดต้นไม้ทั่วไป จนได้ต้นกล้า สูง 20-30 เซนติเมตร จากนั้นจึงย้ายปลูกตามจุดที่ต้องการ


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีจากส่วนต่างๆ ของหมี่ รวมถึงการสกัดจากใบและเปลือกต้นของหมี่ระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญอาทิเช่น

         ใบและสารสกัดจากใบพบสารกลุ่มอัลคาลอยด์ (alkaloids)ได้แก่ oxoaporphine, (liriodenine), actinodaphnine, cassythicine, litseglutine A (litseferine), boldine, isoboldine, laurelliptine, laurolitsine, laurotetanine, litseglutine B, N-methyllaurotetanine และเปลือกต้นหมี่มีสาร laurolitsine, coclaurine สารกลุ่มไกลโคไซด์ (glycosides)ได้แก่ megastigmane diglycoside (6S, 7E, 9R)-6,9-dihydroxy-4,7-megastigmadien-3-one-9-O-[α-L-arabinofuranosyl-(1′′→6′)]-β-D-glucopyranoside), (6S, 7E, 9R)-roseoside, (7′R, 8′S)-dihydrodehydrodiconifenyl alcohol 9′-O-β-D-xylopyranoside, (7′R,8′R)-3,5′-dimethoxy-9,9′-dihydroxy-4,7′-epoxylignan 4′-β-D-glucopyranoside, pinoresinol 3-O-β-D-glucopyranoside, roseoside, alangionoside E, euodionoside A, apocynoside I, apocynoside II, euodionoside G, euodionoside F, spinoside A,blumenol C glucoside, (6R,7E,9R)-9-hydroxy-megastigma-4,7-dien-3-one 9-O-β-D-glucopyranoside สารกลุ่มฟลาโวนอยด์ (flavonoids)ได้แก่ kaempferol 7-glucoside, naringerin, naringin, astragalin (kaempferol 3-glucoside), pelargonidin 3-glucoside, quercitrin (quercetin 3-O-α-L-rhamnopyranoside), quercetin, glutin (2′,5,7-trihydroxy-6-methoxyflavone 2′-O-β-D-glucopyranoside) (9, 12) และเปลือกต้นหมีเหม็นมีสาร quercetin สารกลุ่มซาโปนิน (saponins) เช่น สาร diosgenin เปลือกต้น และสารสกัดจากเปลือกต้นหมีเหม็นมีสารกลุ่มลิกแนน (lignans)ได้แก่ litseaglutinan A, (7′S,8R,8′S)-3,3′,5-trimethoxy-4,4′,9-trihydroxy-9′-O-β-D-xylopyranosyl-2,7′-cyclolignan, (-)-lyoniresinol, (-)-isolariciresinol-9′-O-β-D-xylopyranoside, (-)-isolariciresinol-5′-methoxy-9′-O-β-D-xylopyranoside, (7′R,8S,8′R)-nudiposide, (7′S,8R,8′S)-lyoniresinol, (7′S,8R,8′R)-4,4′,9-trihydroxy-3′,5-dimethyl-9′-O-β-D-xylopyranosyl-2,7′-cyclolignan, ssioriside, glochidioboside, [(2R,3S)-2,3-dihydro-2-(4-hydroxy-3-methoxyphenyl)-5-(3-hydroxypropyl)-7-methoxy-1-benzofuran-3-yl]methyl β-D-glucopyranoside สารประกอบฟีนอลิก (phenolic compounds) ได้แก่ gallic acidและใบและเปลือกต้นพบสารกลุ่มโพลีแซคคาไรด์ (polysaccharides)ได้แก่ arabinoxylan นอกจากนี้ส่วนยังมีน้ำมันหอมระเหย (essential oil) ที่ประกอบไปด้วยได้แก่ phytol, caryophyllene, caryophyllene oxide, thujopsene, β-myrcene β-caryophyllene, α-caryophyllene, β-ocimene, β-pinene, α-pinene, และ bicyclogermacrene อีกด้วย

โครงสร้างหมี่

การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของหมี่

ฤทธิ์บำรุงเส้นผม มีการทดสอบฤทธิ์บำรุงเส้นผมของใบหมี่ โดยนำใบหมี่มาทำให้แห้งและสกัดด้วยน้ำด้วยวิธีสั่นด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (sonication) จากนั้นนำสารสกัดหมี่ ที่ได้ไปทดสอบกับปอยผม โดยประเมินผลจากลักษณะภายนอก และลักษณะทางกายภาพโดยการส่องด้วยกล้องจุลทรรศน์กำลังขยาย 1,000 เท่า พบว่าปอยผมที่ได้รับสารสกัดมีลักษณะภายนอก ความนุ่ม และการหวีลื่น ดีกว่าปอยผมที่ไม่ได้รับสารสกัด 

           ฤทธิ์กระตุ้นการงอกของเส้นผม มีการทดสอบฤทธิ์กระตุ้นการงอกของเส้นผมของสารเมือก (mucilage) ที่สกัดได้จากใบหมี่จากจังหวัดนครนายก โดยนำใบหมี่ที่โตเต็มที่ 200 ก. มาอบแห้งที่อุณหภูมิ 40 oC บดให้ละเอียด นำมาต้มกับน้ำที่ปราศจากไอออน (deionized water) 2,000 มล. นาน 1 ชม. จากนั้นนำไปทำให้แห้งด้วยเครื่อง spray dryer (ได้สารสกัด M-P) นำมาทดสอบกับเซลล์ต่อมผมของมนุษย์ (human hair follicle dermal papilla; HFDP) ด้วยวิธี 3- (4,5-dimethylthiazol-2-yl)-2,5-diphenyl-tetrazolium-bromide (MTT) assay โดยบ่มเซลล์ HFDP ร่วมกับ M-P (ละลายในDMSO) ที่ความเข้มข้น 4–1,000 มคก./มล. อุณหภูมิ 37 oC เป็นเวลานาน 24, 48, และ 72 ชม. จากผลการทดลองพบว่า ณ เวลา 24 ชม. M-P ที่ความเข้มข้น 125, 250, และ 500 มคก./มล. กระตุ้นการเจริญเติบโตของ HFDP ได้ 23%, 40% และ 25% ตามลำดับ แต่เมื่อระยะเวลาเพิ่มขึ้นเป็น 48 ชม. การเจริญเติบโตของ HFDP กลับลดลง ในขณะที่ยาปลูกผมminoxidil จะออกฤทธิ์กระตุ้นการเจริญเติบโตของ HFDP ได้ดีที่ความเข้มข้นต่ำ โดยความเข้มข้น 16, 32, 62.5 มคก./มล. สามารถกระตุ้นการเจริญเติบโตของ HFDP ได้ 16%, 13% และ 28% ตามลำดับ แสดงให้เห็นว่าสารเมือกจากใบหมี่มีฤทธิ์กระตุ้นการเจริญเติบโตของเซลล์ต่อมผมของมนุษย์ที่ดี แต่อาจต้องใช้ความเข้มข้นที่เหมาะสม และสูงกว่า minoxidil

           ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียที่อาจเป็นสาเหตุของการเกิดสิว มีการทดสอบฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียของสารสกัดปิโตรเลียมอีเธอร์, คลอโรฟอร์ม, และเอทานอลของใบและเปลือกต้นของหมี่จากประเทศอินเดีย ซึ่งทำการสกัดโดยนำใบ และเปลือกของต้นหมี่มาล้างทำความสะอาด ผึ่งให้แห้ง 1 สัปดาห์ บดเป็นผง นำผงที่ได้มาสกัดด้วยตัวทำละลายต่างๆ โดยใช้อุปกรณ์ soxhlet นาน 48 ชม. จากนั้นระเหยตัวทำละลายออกด้วยเครื่อง rotary evaporator และทำให้แห้งโดยการตั้งบน water bath นำสารสกัดแต่ละชนิดมาละลายใน10% dimethyl sulphoxide (DMSO) เพื่อให้ได้ความเข้มข้น 40, 20, 10, 5 และ 2.5 มก./มล. ทดสอบฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย Staphylococcus aureus ด้วยวิธี agar dilution susceptibility test เพื่อหาค่าความเข้มข้นต่ำสุดที่สามารถยับยั้งเชื้อได้ (MIC) พบว่าสารสกัดปิโตรเลียมอีเธอร์, คลอโรฟอร์ม, และเอทานอลจากส่วนใบมีค่า MIC เท่ากับ >40, >40, และ 2.5 มก./มล. ตามลำดับ และสารสกัดปิโตรเลียมอีเธอร์, คลอโรฟอร์ม, และเอทานอลจากส่วนเปลือกมีค่า MIC เท่ากับ 10, 2.5, และ 2.5 มก./มล. ตามลำดับ จากนั้นนำสารสกัดที่ได้มาทดสอบฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย S. aureusด้วย sensitive radial diffusion technique โดยใช้สารสกัดขนาด 5 มก./disc เปรียบเทียบกับยามาตรฐาน ciprofloxacin ขนาด 100 มคก./disc พบว่าสารสกัดเอทานอลจากส่วนใบมีค่าเส้นผ่านศูนย์กลางบริเวณยับยั้งเชื้อ (diameter of zone of inhibition) เท่ากับ 7.6 มม. (สารสกัดปิโตรเลียมอีเธอร์และสารสกัดคลอโรฟอร์มไม่แสดงฤทธิ์ยับยั้งเชื้อดังกล่าว) และสารสกัดปิโตรเลียมอีเธอร์, คลอโรฟอร์ม, และเอทานอลจากส่วนเปลือกมีค่าเส้นผ่านศูนย์กลางบริเวณยับยั้งเชื้อเท่ากับ 5.8, 13.6, และ 15.2 มม. ตามลำดับ ในขณะที่ยามาตรฐาน ciprofloxacin มีค่าเส้นผ่านศูนย์กลางบริเวณยับยั้งเชื้อเท่ากับ 25.0 มม. จากผลการทดลองแสดงให้เห็นว่า สารสกัดจากเปลือกต้นออกฤทธิ์ต้านเชื้อ S. aureus ได้ดีกว่าสารสกัดจากใบ และสารสกัดเอทานอล ออกฤทธิ์ได้ดีที่สุด แต่ประสิทธิภาพยังน้อยกว่ายามาตรฐาน ciprofloxacin ในขนาดที่ทำการทดสอบ

           การทดสอบฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย S. aureus ของสารสกัดน้ำและสารสกัดเอทานอลจากใบและเปลือกต้นหมี่ จากประเทศบังกลาเทศ (ไม่ระบุ voucher specimenและวิธีการสกัด) ด้วยวิธี Kirby Bauer disc diffusion method โดยใช้สารสกัดเอทานอลขนาด 1,000 มคก./disc และใช้สารสกัดน้ำขนาด 10 มคก./disc เปรียบเทียบกับยามาตรฐาน kanamycin (ไม่ระบุความเข้มข้น) ขนาด 30 มคล./disc วัดค่าเส้นผ่านศูนย์กลางบริเวณยับยั้งเชื้อที่เวลา 24 ชม. พบว่า สารสกัดเอทานอลของใบและเปลือกต้นมีค่าเส้นผ่านศูนย์กลางบริเวณยับยั้งเชื้อเท่ากับ 14.7 และ 14.6 มม. ตามลำดับ สารสกัดน้ำของใบและเปลือกต้นมีค่าเส้นผ่านศูนย์กลางบริเวณยับยั้งเชื้อเท่ากับ 34 และ 27 มม. ตามลำดับ ในขณะที่ยามาตรฐาน kanamycin ค่าเส้นผ่านศูนย์กลางบริเวณยับยั้งเชื้อเท่ากับ 32 มม. จะเห็นว่า สารสกัดน้ำของใบหมี่ มีฤทธิ์ต้านเชื้อ S.aureusดีที่สุด และออกฤทธิ์ได้ดีกว่ายามาตรฐาน kanamycin ในขนาดที่ทำการทดสอบ

           ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ มีการทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของสารสกัดเมทานอลของใบ และเปลือกต้นของหมี่จากประเทศอินเดีย ซึ่งทำการสกัดโดยนำใบและเปลือกต้นของหมี่มาหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ บดหยาบๆ นำมาสกัดด้วยเมทานอลโดยใช้อุปกรณ์ soxhlet นาน 8 ชม. กรอง จากนั้นระเหยตัวทำละลายออกด้วยเครื่อง rotary evaporator นำมาทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระด้วยวิธี 2, 2-diphenyl-1-picryl hydrazyl (DPPH) scavenging, nitric oxide scavenging, superoxide scavenging, metal chelating activity และ reducing power potency พบว่าสารสกัดจากเปลือกมีค่าความเข้มข้นที่สามารถยับยั้งอนุมูลอิสระได้ครึ่งหนึ่ง (IC50) น้อยกว่าสารสกัดจากใบในทุกๆ การทดสอบ (แสดงผลเป็นกราฟ) แสดงให้เห็นว่าสารสกัดเมทานอลจากเปลือกต้นมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระดีกว่าสารสกัดเมทานอลจากใบหมี่ และยังมีการทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของน้ำมันหอมระเหยจากเปลือกต้นหมี่จากประเทศอินเดีย ซึ่งสกัดโดยการนำเปลือกต้นมาผึ่งลมให้แห้ง สับและบดเป็นผง นำมา 250 ก. สกัดด้วยวิธีกลั่นด้วยน้ำ (hydrodistillation)โดยใช้อุปกรณ์ Clevenger-typeapparatus แยกส่วนที่เป็นน้ำมันออกมา และเติม anhydrous sodium sulfate เพื่อกำจัดน้ำ นำน้ำมันหอมระเหยที่ได้มาทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระด้วยวิธี DPPH, 2, 2-azinobis-3-ethylbenzothiazoline-6-sulfonate radical cation (ABTS) และβ-carotene bleaching assay พบว่าการทดสอบด้วยวิธี DPPH และ ABTSassay น้ำมันหอมระเหยจากเปลือกต้นหมี่มีค่า IC50 เท่ากับ 4.54 และ 256.02 มคก./มล. ตามลำดับ ในขณะที่สารมาตรฐาน BHA (DPPH assay) และ BHT(ABTS asay) มีค่า IC50 เท่ากับ 19.13 และ 4.45 มคก./มล. ตามลำดับ และการทดสอบด้วยวิธี β-carotene bleaching assay น้ำมันหอมระเหยจากเปลือกต้นหมี่ (ไม่ระบุความเข้มข้น) มีฤทธิ์ยับยั้งได้ 78.51% ในขณะที่สารมาตรฐาน ascorbic acid และ BHA (ไม่ระบุความเข้มข้น) ยับยั้งได้ 63.33% และ 93.42% ตามลำดับ

           ฤทธิ์ต้านการอักเสบ มีการทดสอบฤทธิ์ต้านการอักเสบของสารสกัดเมทานอลของใบหมี่จากประเทศบังกลาเทศ ซึ่งสกัดโดยนำผงแห้งของใบหมี่ 630 ก. มาแช่ใน 99% เมทานอล 2,200 มล. ทิ้งไว้ 15 วัน โดยมีการเขย่าเป็นประจำ กรอง ระเหยตัวทำละลายออกด้วยเครื่อง rotary evaporator โดยใช้ความเร็วของการหมุน 4 รอบ/นาที อุณหภูมิ 65 oC จากนั้นนำมาทำให้แห้งด้วยความเย็น จะได้สารสกัดเมทานอล นำมาทดสอบฤทธิ์ต้านการอักเสบในหนูเม้าส์ โดยแบ่งหนูเป็น 4 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 เป็นกลุ่มควบคุม กลุ่มที่ 2 ได้รับการป้อนยามาตรฐาน ketorolac 10 มก./กก. กลุ่มที่ 3 และ 4 ได้รับการป้อนสารสกัดขนาด 250 และ 500 มก./กก. ตามลำดับ หลังจากนั้น 30 นาที หนูที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดการอักเสบด้วยการฉีดสารคาราจีแนนเข้าบริเวณอุ้งเท้าหลัง 0.05 มล. ทำการวัดขนาดอุ้งเท้าที่เวลา 0, 1, 2, และ 3 ชม. หลังจากฉีดสารคาราจีแนน พบว่า ที่เวลา 3 ชม. หนูกลุ่มที่ 1 - 4 มีขนาดของอุ้งเท้า 1.78, 1.64, 1.51และ 1.47มม. ตามลำดับแสดงให้เห็นว่า สารสกัดเมทานอลของใบหมี่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบและให้ผลดีกว่ายามาตรฐาน ketorolac ในขนาดที่ทำการทดสอบ โดยประสิทธิภาพจะขึ้นกับขนาดที่ให้


การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของหมี่

มีการทดสอบความเป็นพิษโดยฉีดสารสกัด 50% เอทานอลจากส่วนเหนือดินของต้นหมี่ เข้าทางช่องท้องของหนูถีบจักร พบว่าความเข้มข้นที่ทำให้สัตว์ทดลองตายครึ่งหนึ่ง (LC50) มีค่ามากกว่า 1  ก./กก. และยังมีการทดสอบความเป็นพิษแบบเฉียบพลันของสารสกัดเอทานอลของเปลือกต้นของหมี่เหม็นโดยการป้อนให้หนูแรทกินเพียงครั้งเดียวในขนาด 1,000, 2,000,และ 3,000 มก./กก. จากนั้นเฝ้าสังเกตอาการ 24 ชม. โดยสังเกตอย่างใกล้ชิดที่เวลา 4 ชม. แรกหลังจากนั้นจะสังเกตอาการวันละ 1 ครั้งต่อไปอีก 14 วัน พบว่าสารสกัดทุกขนาดไม่ทำให้สัตว์ทดลองตาย และไม่ก่อให้เกิดความเป็นพิษกับอวัยวะภายใน แต่ที่ขนาด 3,000 มก./กก. มีผลทำให้น้ำหนักของตับและหัวใจของเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย จึงคาดว่าค่า LC50 คือ มากกว่า 3,000 มก./กก.

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

ในการใช้ส่วนต่างๆ ของหมี่ มาใช้เป็นสมุนไพรนั้นควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาดและปริมาณที่เหมาะสม ที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่าง ๆ ไม่ควรใช้ในขนาดที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้ สำหรับเด็กและสตรีมีครรภ์ รวมถึงผู้ที่มีโรคประจำตัว หรือ ผู้ที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่องเป็นประจำก่อนจะใช้หมี่เป็นสมุนไพร ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนเสมอ


เอกสารอ้างอิง หมี่
  1. นันทวัน บุณยะประภัศร, อรนุช โชคชัยเจริญพร, บรรณาธิการ. สมุนไพร..ไม้พื้นบ้าน (5). กรุงเทพฯ: บริษัท ประชาชน จำกัด; 2543.
  2. หพญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ.  “หมีเหม็น”. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. หน้า 189.
  3. วงศ์สถิตย์ ฉั่วกุล, พร้อมจิต ศรลัมพ์, รุ่งระวี เต็มศิริฤกษ์กุล และคณะ. สยามไภษัชยพฤกษ์ ภูมิปัญญาของชาติ. กรุงเทพฯ: บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน); 2538.
  4. ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์. “หมีเหม็น (Mi Men)”. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. หน้า 329.
  5. สุธรรม อารีกุล, จำรัส อินทร, สุวรรณ ทาเขียว, อ่องเต็ง นันทแก้ว. องค์ความรู้เรี่องพืชป่าที่ใช้ประโยชน์ทางภาคเหนือของไทย เล่ม 2. เชียงใหม่: บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน); 2551.
  6. หมี่. ฐานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.Phargarden.com/main.php?action=viewpage&pid=127
  7. ต้นหมี่/หมี่เหม็น ประโยชน์ สรรพคุณ และวิธีปลูกต้นหมี่. พืชเกษตรดอทคอม เว็บเพื่อพืชเกษตรไทย (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.puechaset.com
  8. Haque T, Uddin MZ, Saha ML, Mazid MA,Hassan MA. Propagation, antibacterial activity and phytochemical profiles of Litsea glutinosa (Lour.) C.B. Robinson. Dhaka Univ J Biol Sci. 2014;23(2):165-71. doi: 10.3329/dujbs.v23i2.20096.
  9.  Sumithregowda AH, Venkatarangaiah K, Honnenahally KM, Manjunath VN. Cytotoxicity and oral acute toxicity studies of Litsea glutinosa C. B. (Rob) stem bark ethanol extract. Pharmacogn J. 2017;9(6):880-6. doi: 10.5530/pj.2017.6.138.
  10. Jain B, Rawat A, Mariyam A, Parkhe G. Phytochemical screening and thin-layer chromatographic studies of Litsea glutinosa (Lour.) bark extract. AJPER. 2017;6(2):18-23. 
  11. Arunodaya HS, Krishna V, Shashikumar R, Kumar KG. Antibacterial and antioxidant activities of stem bark essential oil constituents of Litsea glutinosa C. B. Rob. Int J Pharm Pharm Sci. 2016;8(12):258-64. doi: 10.22159/ijpps.2016v8i12.13577.
  12. PradeepaK, Krishna V, Venkatesh, Kumar KG, Thirumalesh BV, Kumar KJN. Antibacterial screening of the stem barkand leaf extracts of Litsea glutinosa (Lour.)C.B. Rob – an ethnomedicinally important treeof the Western Ghats. Pharmacogn J. 2011;3(21):72-6. doi: 10.5530/pj.2011.21.13.
  13. Wisetkomolmat J, Suksathan R, Puangpradab R, Kunasakdakul K, Jantanasakulwong K, Rachtanapun P, et al. Natural surfactant saponin from tissue of Litsea glutinosa and Its alternative sustainable production. Plants. 2020;9(11):1521. doi: 10.3390/plants9111521.
  14. Wang YS, Liao Z, Li Y, Huang R, Zhang HB, Yang JH. A new megastigmane diglycoside from Litsea glutinosa (Lour.) C.B. Rob. J Braz Chem Soc. 2011;22(11):2234-8. doi: 10.1590/S0103-50532011001100030.
  15. Bhowmick R, Sarwar MS, Rahman Dewan SM, Das A, Das B, Nasir Uddin MM, et al. In vivo analgesic, antipyretic, and anti-inflammatory potential in Swiss albino mice and in vitro thrombolytic activity of hydroalcoholic extract from Litsea glutinosa leaves.  Biol Res. 2014;47:56/1-8. doi: 10.1186/0717-6287-47-56.
  16. Son LC, Dai DN, Thang TD, Huyen DD, Ogunwande IA. Analysis of the essential oils from five Vietnamese Litsea species (Lauraceae). J Essent Oil-Bear Plants. 2014;17(5):960-71. doi: 10.1080/0972060X.2014.935068.
  17.  Das D, Maiti S, Maiti TK, Islam SS. A new arabinoxylan from green leaves of Litsea glutinosa (Lauraeae): structural and biological studies. Carbohydr Polym. 2013;15;92(2):1243-8. doi: 10.1016/j.carbpol.2012.10.052.
  18. Hart NK, Johns SR, Lamberton JA, Loder JW, Moorhouse A, Sioumis AA, et al. Alkaloids of several Litsea species from New Guinea. Aust J Chem. 1969;22(10):2259-62. doi: 10.1071/CH9692259.
  19.  Manosoi A, Komno C, Jainonthee P, Manosoi J. Development of shampoo containing extract from bai mee (Litsea glutinosa (Lour) C.B. Rob) entrapped in niosomes. วารสารการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก. 2007;6(2):132.
  20.  Sitthithaworn W, KhongkawM, WiranidchapongC, Koobkokkruad T. Mucilage powder from Litsea glutinosa leaves stimulates the growth of cultured human hair follicles. Songklanakarin J. Sci. Technol. 2018;40(5):1076-80. doi: 10.14456/sjst-psu.2018.133.
  21. Pan JY, Zhang S, Wu J, Li QX, Xiao ZH. Litseaglutinan A and lignans from Litsea glutinosa. HCA. 2010;93:951-7. doi: 10.1002/hlca.200900328.