เอเชียติโคไซด์
เอเชียติโคไซด์
ชื่อสามัญ Asiaticoside
ประเภทและข้อแตกต่างของสารเอเชียติโคไซด์
สารเอเชียติโคไซด์ (asiaticoside) จัดเป็นสารประกอบในกลุ่ม ไตรเทอร์ปินอยด์ซาโปนิน (triyerpenoid saponins) ที่ได้จากธรรมชาติที่มีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายมนุษย์มากมาย โดยมีสูตรทางเคมี คือ C45H78O19 และมีโมเลกุล 959.1215 g/mol ส่วนประเภทของสารเอเชียติโคไซด์ นั้น พบว่ามีเพียงประเภทเดียวเท่านั้น
แหล่งที่พบและแหล่งที่มาของสารเอเชียติโคไซด์
สารเอเชียติโคไซด์ จัดเป็นสารสำคัญที่พบ และสกัดได้มากที่สุดในบัวบก และยังมีการนำมาใช้ประโยชน์ทางด้านเภสัชวิทยาอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน แต่ทั้งนี้ปริมาณสารเอเชียติโคไซด์ที่พบในบัวบกจะขึ้นอยู่กับแหล่งของวัตถุดิบ ซึ่งจะพบสาร asiaticoside อยู่ระหว่าง 1-8% อีกทั้งยังพบว่าปริมาณสารจะพบในส่วนในมากกว่าลำต้นอีกด้วย
ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ปัจจุบันได้มีการทำการสกัดเอาสารเอเชียติโคไซด์ จากบัวบกมาใช้เป็นสารสกัด และผลิตภัณฑ์เสริมสุขภาพต่างๆ ที่มีปริมาณความเข้มข้นของสารดังกล่าวอย่างเป็นมาตรฐาน และยังมีการนิยมใช้กันเป็นอย่างมาก
ปริมาณที่ควรได้รับจากสารเอเชียติโคไซด์
ในปัจจุบันขนาดการใช้สารเอเชียติโคไซด์ ในรูปแบบของยาแคปซูลในบัวบกเพื่อให้ได้สรรพคุณตามที่ระบุไว้นั้น มีระบุว่าครั้งละ 400 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง และในรูปแบบยาชงใบบัวบก ใช้ชงน้ำครั้งละ 2-4 กรัม วันละ 3 ครั้ง ส่วนในรูปแบบของสารสกัดนั้นในปัจจุบันยังไม่มีการกำหนดขนาด และปริมาณที่ควรได้รับต่อวัน แต่ทั้งนี้ตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรื่องรายชื่อพืชที่ใช้ได้ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ลงวันที่ 7 สิงหาคม 2560 ได้ระบุว่าอนุญาตให้ใช้ส่วนใบของบัวบกมาทำการสกัดด้วยวิธีบดผง, สกัดด้วยน้ำและเอทานอล เพื่อใช้เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารได้ โดยมีเงื่อนไข คือ ให้มีการใช้สารเอเชียติโคไซด์ ไม่เกิน 20 มิลลิกรัม/วัน
ประโยชน์และโทษสารเอเชียติโคไซด์
ในปัจจุบันมีการนำสารเอเชียติโคไซด์ มาใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะด้านการแพทย์และด้านการใช้เป็นผลิตภัณฑ์เสริมความงาม โดยมีหลายงานวิจัยที่พิสูจน์ได้ว่าสารเอเชียติโคไซด์เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่มีบทบาทสำคัญในการลดความเสี่ยงจากการเกิดโรคต่างๆ เช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจ และยังมีฤทธิ์รักษาแผล, ลดการอักเสบ, ลดอาการชัก, รักษาแผลในกระเพาะอาหาร, เสริมสร้างระบบประสาท, ป้องกันมะเร็ง, ลดริ้วรอย, เพิ่มการสร้างคอลลาเจน เป็นต้น
ด้วยเหตุนี้จึงทำให้มีการใช้สารดังกล่าวเป็นส่วนประกอบในเภสัชภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์เสริมสุขภาพ และเครื่องสำอางหลายประเภทในปัจจุบัน ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ
การศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องสารเอเชียติโคไซด์
มีผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาต่างๆ ของสารเอเชียติโคไซด์อยู่หลายชนิดดังนี้
ฤทธิ์ปกป้องสมอง มีการทดสอบฤทธิ์ปกป้องสมองของสารสกัดเอทานอลมาตรฐานจากบัวบก (ซึ่งประกอบด้วยสาร madecassoside 43.74% และสาร asiaticoside 33.26%) ในหนูเม้าส์ที่มีภาวะอดนอนเป็นเวลา 72 ชม. ซึ่งจะมีพฤติกรรมวิตกกังวลและมีภาวะสมองอักเสบ โดยให้หนูกินสารสกัดในขนาด 150 และ 300 มก./กก. เป็นเวลา 8 วัน พบว่าสารสกัดทั้ง 2 ขนาดทำให้การเคลื่อนไหวของสัตว์ทดลองดีขึ้น อาการวิตกกังวลลดลง ภาวะการถูกทำลายด้วยออกซิเดชั่น ระดับ tumour necrosis factor (TNF-α) และภาวะสมองอักเสบลดลง เมื่อเทียบกับหนูที่ไม่ได้รับสารสกัด และเมื่อศึกษากลไกการอกฤทธิ์พบว่ามีความเกี่ยวข้องกับการปรับสมดุลของ nitric oxide (NO)
ฤทธิ์ลดความเป็นพิษของโรคพาร์กินสัน มีการศึกษาในหนูแรทที่ถูกเหนี่ยวนำให้เป็นโรคพาร์กินสันด้วยการฉีดสาร MPTP (1-methyl-4-phenyl 1,2,3,6-tetrahydropyridine) เข้าไปในเนื้อสมองส่วนซับสแตนเชียไนกรา (substantia niagra) หลังจากนั้น 1 วัน ป้อนสารเอเซียติโคไซด์ขนาด 1 มล./กก. นาน 14 วัน และนำสมองหนูในส่วนของซับสแตนเชียไนกรา (substantia niagra) และเนื้อสมองส่วนสไตรตัม (striatum) มาศึกษา พบว่าสารเอเซียติโคไซด์ สามารถลดระดับสารอนุมูลอิสระ (malonyldialdehyde) เพิ่มระดับกลูต้าไธโอน (glutathione) ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ และป้องกันการลดลงของระดับโดปามีนในเนื้อสมองส่วนสไตรตัมได้ นอกจากนี้ยังช่วยให้การทำงานของสมองในส่วนของการเคลื่อนไหวที่เสียไป (locomotor dysfunction) มีการพัฒนาทำงานได้ดีขึ้น และเพิ่มอัตราส่วนของโปรตีน Bcl-2/Bax (Bcl-2 ต้านการทำให้เซลล์ตาย ในขณะที่ Bax กระตุ้นทำให้เซลล์ตายแบบ apoptosis) มีผลให้การถูกทำลายหรือการตายของเซลล์ลดน้อยลง จากการศึกษาในครั้งนี้สรุปได้ว่า สารเอเซียติโคไซด์ในบัวบกสามารถป้องกันการถูกทำลายของสมองในหนูที่เหนี่ยวนำให้เป็นพาร์กินสัน รวมทั้งมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ควบคุมปริมาณโดปามีนให้สมดุลและเพิ่มเพิ่มอัตราส่วนของโปรตีน Bcl-2/Bax เป็นผลให้ป้องกันการถูกทำลายของสมองได้
ฤทธิ์ในการรักษาแผล มีการศึกษาในไฟโบรบลาสต์ (fibroblast) ซึ่งเป็นเซลล์ที่สร้างเมทริกซ์นอกเซลล์ (extracellular matrix) และคอลลาเจน มีบทบาทสำคัญต่อการหายของแผล (wound healing) พบว่าสารเอเชียติโคไซด์เร่งการหายของแผลหลังผ่าตัด โดยเร่งกระบวนการสร้างเนื้อเยื่อใหม่ และเมื่อทาเอเชียติโคไซด์ ลงบนผิวหนังของหนูที่เป็นแผล สารดังกล่าวจะเร่งการหายของแผลและเพิ่มความทนแรงดึง (tensile strength) ของผิวหนังที่สร้างใหม่ และเมื่อทาเอเชียติโคไซด์ 0.2% บนผิวหนูขาวที่เป็นแผล พบว่ามีผลทำให้ระดับของสารต้านออกซิเดชัน (antioxidaents) ได้แก่ superoxide sidmutase catalase qlutathione peroxidase วิตามินอี และวิตามินซี เพิ่มขึ้นในเนื้อเยื่อที่สร้างใหม่
นอกจากนี้สารเอเชียติโคไซด์ยังมีประโยชน์ในการรักษาแผลเป็นและแผลเป็นนูน (keloid) โดยพบว่าเอเชียติโคไซด์สามารถลดภาวะเกิดพังผืด (fibrosis) ของแผล จึงช่วยป้องกันการเกิดแผลเป็นได้ โดยมีกลไกการออกฤทธิ์คือ เพิ่มการสร้างคอลลาเจนและ acidic mucopolysaccharides ยับยั้งกระบวนการอักเสบของแผลเป็นที่ขยายตัวเกิน (hypertrophic scars) และแผลเป็นนูน
ฤทธิ์ลดการอักเสบ มีการศึกษาในหนูถีบจักรพบว่า เมื่อให้สารเอเชียติโคไซด์ (10, 20 & 40 มก./กก./วัน) และมาเดแคสโซไซด์ (3, 10 & 30 มก./กก./วัน) ทางปากแก่หนูถีบจักรติดต่อกัน 22 วัน มีฤทธิ์ลดอาการบวมและอักเสบของข้อและการทำลายเนื้อเยื่อของข้อที่เกิดจากการกระตุ้นด้วยการฉีดคอลลาเจน (colladen II-induced arthritis modol) โดยมีความสัมพันธ์กับขนาดของสารที่ให้ กลไกการออกฤทธิ์ต้านอักเสบเกี่ยวข้องกับการอักเสบ (proinflammatory mediators) ต่างๆ โดยยับยั้งการสร้าง COX 2 และ PGE2 เนื้อเยื่อไขข้อ และลดระดับ TNF-α และ IL-6 ในพลาสมา แต่เพิ่มระดับ IL-10 ซึ่งเป็นไซโทไคน์ที่ต้านการอักเสบ
ฤทธิ์รักษาแผลในกระเพาะอาหาร มีการศึกษาพบว่าสารสกัดบัวบก และสารเอเชียติโคไซต์สามารถลดพื้นที่แผลในกระเพาะหนูเนื่องจากได้รับกรดน้ำส้ม โดยลดฤทธิ์ของเอนไซม์ myeloperoxidase ของเนื้อเยื่อแผล รวมทั้งเพิ่มการแสดงออกของ basic fibroblast growth factor ในเนื้อเยื่อแผล ซึ่งจำเป็นสำหรับการสร้างเส้นเลือดใหม่
ฤทธิ์ลดริ้วรอย มีการศึกษาวิจัยเซลล์ไฟโบรบลาสต์ของมนุษย์ที่ได้รับสารเอเชียติโคไซด์ในหลอดทดลอง พบว่ายีนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการเมตาโบลิซึมของคอลลาเจนในเซลล์ไฟโบรบลาสต์ของมนุษย์ เช่น LOX LOXL3 COLIA2 COL3AI CHI3L2 และ ADAMT5 ทำงานเพิ่มขึ้นเมื่อวัดด้วยเครื่อง cDNA assay และเซลล์ไฟโบรบลาสต์หลั่งสาร procollagen I N-peptide (PINP) และ Asiaticoside ในหลอดทดลอง
อีกการวิจัยหนึ่งพบว่าสารสกัดจากใบบัวบก ซึ่งประกอบไปด้วยสารเอเชียติโคไซด์ ร้อยละ 40 โดยน้ำหนัก กรดเอเชียติค ร้อยละ 30 โดยน้ำหนักต่อน้ำหนัก และกรดมาเดแคสซิคร้อยละ 30 โดยน้ำหนักต่อน้ำหนัก สามารถเพิ่มปริมาณ mRNA ของยีนบางตัวในเซลล์ไฟโบรบลาสต์ของมนุษย์ได้ โดยเฉพาะยีนที่สร้างสาร TNFαIP6 (tumor necrosis factor alpha, induccd protein 6) ซึ่งมีหน้าที่หนึ่งในการระงับยับยั้งการทำงานของเอนไซม์แมทริกเมทัลโลโปรดีเนส (Matrix Matalloproteinase) ที่ทำหน้าที่ย่อยสลายสารในเมทริกซ์นอกเซลล์ต่างๆ เช่น คอลลาเจน เป็นต้น
นอกจานี้สารเอเชียติโคไซด์ยังมีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาอื่นๆ อีกเช่น ป้องกันการเกิดมะเร็ง ช่วยเพิ่มความจำและป้องกันการเกิดอัลไซเมอร์ ปกป้องเซลล์ประสาท กระตุ้นหรือเสริมภูมิคุ้มกัน ต้านการซึมเศร้า
ข้อแนะนำและข้อควรปฏิบัติ
ห้ามใช้สารเอเชียติโคไซด์ในผู้ป่วยมะเร็งผิวหนัง เนื่องจากมีรายงานว่าสารเอเชียติโคไซด์ ที่ทาบนผิวหนู ทำให้เกิดเนื้องอกบนผิวหนังได้ และควรระมัดระวังการใช้ร่วมกับยาที่มีผลต่อตับ ยาขับปัสสาวะและยาที่มีผลช้างเคียงทำให้ง่วงนอนเพราะอาจเสริมฤทธิ์กันได้ อีกทั้งจากการทดสอบการเป็นสารกระตุ้นให้เกิดการแพ้ (sensitizer) ของสารในกลุ่มไทรเทอร์ฟินอยด์ ได้แก่ เอเชียติโคไซด์ กรดเอเชียติก และกรดมาเดแคสสิกในหนูตะเภา พบว่ามีฤทธิ์ในการเป็นสารกระตุ้นให้เกิดการแพ้ที่อ่อนมาก ดังนั้นผู้ใช้ยาภายนอกหรือเครื่องสำอางที่มีสารเอเชียติโคไซด์เป็นส่วนประกอบหลักจึงควรหยุดใช้หากมีผื่นแพ้เกิดขึ้น
เอกสารอ้างอิง เอเชียติโคไซด์
- อัญชลี จูฑะพุทธิ.บัวบก.สมุนไพร แห่งปี.วารสารการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกปีที่ 9.ฉบับที่ 2 กันยายน-ธันวาคม 2554 หน้า 84-92
- สถาบันวิจัยสมุนไพร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (2550) สมุนไพรน่ารู้ (3) บัวบก.151 หน้า.
- ฤทธิ์ปกป้องสมองของบัวบกจากการอดนอน.ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
- ผศ.ดร.ทวีศักดิ์ จึงวัฒนตระกูล.การผลิตสารต้านทานแบบโมโนโคลนอลแอนติบอดี้ต่อเอเชียติโคไซด์เพื่อการควบคุมคุณภาพบัวบก.รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ปีงบประมาณ 2555.มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. 46 หน้า
- บัญชียาจากสมุนไพร แนบท้ายประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ เรื่อง บัญชียาหลักแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554.หน้า 48, 52
- สารเอเชียติโคไซด์ใบบัวบกสามารถลดความเป็นพิษต่อสมองในหนูที่ถูกเหนี่ยวนำให้เป็นโรคพาร์กินสัน.ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
- ประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาเรื่อง รายชื่อพืชที่ใช้ได้ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ลงวันที่ 7 สิงหาคม 2560.
- Chen SW.Wang WJ,Li WJ.Wang R,Li YL., Huang YN, Liang X.(2006).Anxiolytic-like effect of asiaticoside in mice Pharmacol. Biochem Behav 85:339-344.
- Suguna L, Sivakumar P, Chandrakasan G. Effects of Centella asiatica on dermal wound healing in rats. Ind J Exp Biol 1996;34:1208-11.
- Rosen H, Blumenthal A, McCallum J. Effect of asiaticoside on wound healing in the rat. Proceedings of the Society of Experimental Biology and Medicine; 1972. p. 279
- Lu,L.,Ying,K.,Wei.S.,Fang.Y.,Liu.Y.,Lin,H.,Ma,L.,&Mao,Y.(2004).Asiaticoside induction for cell cycle progression proliferation and collagen synthesis in human dermal fibroblast International Journal of Dermatology, 43(11).801-807.
- Veerendra Kumar MH,Gupta YK.(2002).Effect of different extracts of Centella asiatica on cognition and markers of oxidative stress in rats.J.Ethnopharmacol.79(2):253-60.
- Cheng CL, Guo JS, Luk J, Koo MW. The healing effects of Centella extract and asiaticoside on acetic acid induced gastric ulcer in rats. Life Sci 2004;74:2237-49.
- umm.edu [homepage on the Internet]. Baltimore: University of Maryland Medical Center. c2011 [updated 2009 Oct 15; cited 2011 Feb 17]. Available from: http://www.umm.edu/altmed/articles/gotu-kola000253.htm
- Shukla A, Rasid AM, Dhawan BN. Asiaticoside-induced elevation of antioxidant levels in healing wound. Phytother Res 1999;13:50-4
- Park BC, Bosire KO, Lee ES, Lee YS Kim JA (2005.) Asiatic acid induces apoptosis in SKMEL-2 human melanoma cells. Cancer Lett.218(1):81-90
- Li HZ, Wan JY, Zhang L, Zhou QX, Luo FL, et al. Inhibitory action of asiaticoside on collagen-induced arthritis in mice. You Xue Xue Bao 2007;42:698-703.
- Chew, Y.L., Lim, Y.Y., Omar, M. and Khoo, K.S., 2008, Antioxidant activity of three edible seaweeds from two areas in South East Asia, J. Food Sci. Technol. 41: 1067- 1072
- Laerum OD, Iversen OH. Reticuloses and epidermal tumors in hairless mice after topical skin applications of cantharidin and asiaticoside. Cancer Res 1972;32:1463-9
- Bonte F., Ducas,M.,Chaudange, C.&Mayback A. (1994).Influence of Asiatic Acid.Madecassic Acid and Asiaticoside on Human Collagen type I synthesis Plania Medica,60(2).133-135.