สโคโปเลติน
สโคโปเลติน
ชื่อสามัญ Scopoletin
ประเภทและข้อแตกต่างสารสโคโปเลติน
สารสโคโปเลตินเป็นสารในกลุ่มคูมารินซึ่งมีสูตรทางเคมี คือ C10H8O4 มีมวลโมเลกุล 192.16 g/mol ถูกแจกได้เป็นครั้งแรกที่มหาวิทยาลัยฮาวายในปี ค.ศ.1993 โดยพบว่ามีคุณสมบัติเป็น anti-carcinogen และพบว่ามีคุณสมบัติในการบรรเทาอาการปวดได้ดีพอๆ กับที่มีความสามารถที่จะควบคุมปริมาณ serotonin ในร่างกาย ต่อมาจึงมีการศึกษาต่อเนื่องจึงพบว่ามีคุณสมบัติอื่นๆ อีกมากมาย สำหรับประเภทของสโคโปเลติน นั้น พบว่ามีเพียงประเภทเดียว
แหล่งที่พบและแหล่งที่มาสารสโคโปเลติน
สโคโปเลตินเป็นสารที่พบได้ในธรรมชาติ โดยพบได้ในพืชต่างๆ เช่นใน ลูกยอ ผักชิกโครี่ เฟนูกรีก ดอกเสาวรส ราก และใบของตำแย นอกจากนี้ยังสามารถพบได้ในน้ำส้มสายชู และวิสกี้ได้อีกด้วย ซึ่งในปัจจุบันได้มีการสกัดเอาสารสโคโปเลติน ออกมาจากพืชธรรมชาติเหล่านี้ เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ต่างๆ ในหลายๆ ด้าน
ปริมาณที่ควรได้รับสารสโคโปเลติน
สำหรับขนาด และปริมาณของสารสโคโปเลติน ที่ควรได้รับต่วันนั้น ในปัจจุบันยังไม่มีการกำหนดเกณฑ์การใช้อย่างแน่ชัด ซึ่งในขนาดและปริมาณการใช้ในปัจจุบันในส่วนของสารสกัดนั้นจะเป็นการใช้ตามข้อแนะนำของสถาบันการวิจัยต่างๆ ที่มีการวิจัยเกี่ยวกับฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาในด้านต่างๆ ของสโคโปเลติน แต่ยังไม่มีการกำหนดเกณฑ์การใช้ที่เป็นมาตรฐานแต่อย่างใด
ประโยชน์และโทษสารสโคโปเลติน
สำหรับประโยชน์ของสารสโคโปเลตินนั้น จากการศึกษาวิจัยพบว่ามีคุณสมบัติช่วยให้เส้นเลือดขยายตัวจึงสามารถลดความดันโลหิตสูงกลับเป็นปกติได้ มีฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติ และยังช่วยให้มีพลังงานและขจัดความรู้สึกอ่อนเพลียลง ช่วยต้านการอักเสบ เชื้อแบคทีเรีย และเชื้อรา ช่วยทำให้การนอนหลับดีขึ้น ช่วยบรรเทาอาการปวดได้ดี ดังนั้นในปัจจุบันจึงนิยมสกัดเอาสารสโคโปเลติน จากแหล่งต่างๆ ในธรรมชาติ (โดยเฉพาะในผลของลูกยอ) มาใช้ประโยชน์หลายด้าน เช่น ในอุตสาหกรรมยา ผลิตภัณฑ์เสริมสุขภาพ รวมถึงอาหารเสริมต่างๆ เป็นต้น
การศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องสารสโคโปเลติน
มีผลการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับสารสโคโปเลติน ในด้านฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาหลายฉบับดังนี้
ฤทธิ์ลดการอักเสบของหลอดอาหาร และแผลในกระเพาะอาหาร การศึกษาในหนูแรทที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดการอักเสบที่หลอดอาหารด้วยการผูกที่ตำแหน่ง pylorus ของกระเพาะอาหาร และผูกช่วงระหว่าง forestomach และ corpus ของกระเพาะอาหาร และทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารอย่างเฉียบพลันด้วยเอทานอล และ seratonin และเกิดแผลในกระเพาะอาหารชนิดเรื้อรังด้วยกรดน้ำส้ม แบ่งหนูแต่ละประเภทแรทออกป็น 9 กลุ่ม
⦁ กลุ่มที่ 1 เป็นกลุ่มควบคุมได้รับน้ำขนาด 5 มล./กก.ทางสายยางสู่กระเพาะอาหารส่วนต้นอย่างเดียว
⦁ กลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มที่ได้รับ 1% carboxymethylcellulose ขนาด 5 มล./กก.
⦁ กลุ่มที่ 3-5 เป็นกลุ่มที่ได้รับสารสกัดน้ำของลูกยอดิบที่ทำให้เป็นผงด้วยความเย็น ขนาด 0.63, 1.25 และ 2.50 ก./กก./5มล. (ซึ่งเทียบเท่ากับสาร scopoletin 0.5, 1.0 และ1.5 มก.) ตามลำดับ
⦁ กลุ่มที่ 6-7 เป็นกลุ่มที่ได้รับสาร scopoletin 0.5 และ1.0 มก./กก. ตามลำดับ
⦁ กลุ่มที่ 8 ได้รับยาแผนปัจจุบัน ranitidine 5 มก./กก./5มล.
⦁ กลุ่มที่ 9 ได้รับยาแผนปัจจุบัน lanzoprazole 1 มก./กก./5มล. ทางสายยางสู่กระเพาะอาหารส่วนต้น พบว่าสารสกัดน้ำของลูกยอดิบขนาด 0.63, 1.25 และ 2.50 ก./กก./5มล. สามารถยับยั้งการการอักเสบที่หลอดอาหารได้ 72.21, 74.45 และ 76.91% ตามลำดับ ยับยั้งการเกิดแผลที่กระเพาะอาหารชนิดเฉียบพลันที่ถูกเหนี่ยวนำด้วยเอทานอลได้ 79.13, 84.43 และ 86.29% ตามลำดับ รักษาแผลในกระเพาะอาหารชนิดเรื้อรังเนื่องจากกรดน้ำส้มได้ 86.52, 93.95 และ 96.35 % ตามลำดับ และสารสกัดยอดิบขนาด 1.25 ก./กก./5มล. สามารถยับยั้งการเกิดแผลที่กระเพาะอาหารชนิดเฉียบพลันที่ถูกเหนี่ยวนำด้วย serotonin ได้ 82.44% ซึ่งค่าที่ได้ใกล้เคียงกับสาร scopoletin ในลูกยอ และยาแผนปัจจุบัน ranitidine และ lansoprazole ที่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบและรักษาแผลในกระเพาะอาหาร
จากการศึกษาในครั้งนี้สรุปได้ว่าสารสกัดน้ำของลูกยอดิบ และสาร scopoletin มีศักยภาพในการใช้เป็นยาในการรักษาโรคที่เกี่ยวกับการอักเสบของหลอดอาหาร และกระเพาะอาหารได้ใกล้เคียงกับยาแผนปัจจุบัน ranitidine และ lansoprazole
ฤทธิ์ในการต้านจุลชีพ (Anti-microbial effects) มีการศึกษาฤทธิ์ในการยับยั้งการเจริญของเชื้อแบคทีเรีย เช่น Staphylococcus aureus (เป็นสาเหตุในการก่อโรคเต้านมอักเสบ), Pseudomonas aeruginosa, Proteus morgaii, Bacillus subtilis, Escherichia coli, Helicobacter pylori, Salmonellaและ Shigella ในน้ำลูกยอ พบว่าสารที่ออกฤทธิ์ยับยั้งคือสารในกลุ่ม phenolic compounds เช่น acubin, L-asperuloside, alizarin, scopoletinและ anthraquinones ชนิดอื่นๆ นอกจากนี้การใช้ลูกยอแห้งในการสกัดสาร Scopoletin ที่มีในลูกยอนั้น พบว่ายัง สามารถมีฤทธิ์ ยับยั้งแบคทีเรียในกลุ่ม Pseudomonas aeruginosa, Bacillus subtilis, Escherichia coli และ Streptococcus pyrogene ได้อีกด้วย
ฤทธิ์ลดอาการเหงือกอักเสบ มีรายงานการศึกษาผลของการใช้น้ำยาบ้วนปากจากสารสกัด 96% เอทานอลจากลูกยอ (Scopoletin) ในผู้ป่วยโรคเหงือกอักเสบจำนวน 15 คน โดยแบ่งผู้ป่วยออกเป็น 3 กลุ่ม (กลุ่มละ 5 คน) กลุ่มที่ 1 ให้ผู้ป่วยบ้วนปากด้วยน้ำยาบ้วนปากที่มีส่วนผสมของสารสกัดลูกยอเข้มข้น 5% กลุ่มที่ 2 ให้ผู้ป่วยบ้วนปากด้วยน้ำยาบ้วนปาก chlorhexidine 0.1% และกลุ่มที่ 3 ให้ผู้ป่วยบ้วนปากด้วยน้ำยาบ้วนปากที่มีส่วนผสมของสารสกัดลูกยอ และ chlorhexidine เข้มข้น 2.5 และ 0.05% ตามลำดับ โดยให้ผู้ป่วยทุกกลุ่มบ้วนปากวันละ 2 ครั้ง ในช่วงเช้าและก่อนนอน ติดต่อกันนาน 7 วัน ในการบ้วนปากแต่ละครั้งใช้น้ำยาบ้วนปากปริมาณ 15 มล. และใช้เวลาในการกลั้วปากนาน 30 วินาที ประเมินและเปรียบเทียบอาการเหงือกอักเสบทั้งช่วงก่อนและหลังการใช้น้ำยาบ้วนปากของผู้ป่วยทั้ง 3 กลุ่ม และเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มด้วยวิธีการทางสถิติ T-test ผลการศึกษาพบว่า ค่าดัชนีเหงือกอักเสบ (the gingival index) ของผู้ป่วยทั้ง 3 กลุ่ม ในช่วงหลังการใช้น้ำยาบ้วนปากมีค่าลดลงเมื่อเทียบกับช่วงก่อนใช้อย่างมีนัยสำคัญ แต่ไม่มีความแตกต่างกันในระหว่างแต่ละกลุ่ม
ฤทธิ์ในการบรรเทาอาการปวด (Analgesic activity) มีผลการศึกษาพบว่าการใช้น้ำลูกยอที่ 10 และ 20 % เปรียบเทียบ กับการใช้ยาที่ไม่ออกฤทธิ์ (placebo) พบว่าน้ำลูกยอสามารถบรรเทาอาการปวดได้162 และ 212% ตามลำดับ การที่ใช้ลูกยอแล้วสามารถบรรเทาอาการปวดได้ เนื่องจากสาร Asperuloside, Scopoletin และ Eugenol เป็นสารที่มีฤทธิ์คล้ายกับมอร์ฟีน (morphine)
ฤทธิ์ในการต้านการอักเสบ (Anti-inflammatory activity) มีผลการศึกษาพบว่าฤทธิ์ในการต้านอักเสบของสารสกัดจากลูกยอ นั้น เกิดจากสาร aqueous และ Scopoletin ที่มีผลยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ cyclo-oxygenase (COX-1 และ COX-2) เนื่องจากเอนไซม์ชนิดนี้จะไปมีผลกระตุ้นให้เกิดการอักเสบของการเกิดบาดแผล หรือจากการติดเชื้อแบคทีเรีย โดยมีการทดลองสารสกัดจากลูกยอ 50, 100 และ 200 ug/ml เพื่อศึกษาเปอร์เซ็นต์การยับยั้งการ Nitric oxide (NO) พบว่าสามารถบรรเทาอาการปวดได้สอดคล้องกับ การใช้สารสกัดจากลูกยอ 1.5 mg/ml พบว่าสามารถยับยั้ง COX-1 และ COX-2 ที่เป็นสาเหตุให้เกิดประบวนการอักเสบในเนื้อเยื่อได้เช่นกัน
ส่วนการศึกษาทางด้านพิษวิทยาของสาร Scopcletin นั้นมีมีรายงานการศึกษาพบว่า จากการทดสอบความเป็นพิษในสัตว์ทดลอง โดยเมื่อป้อนสารสกัดด้วยเอทานอล 50% จากผล (Scopoletin) หรือฉีดเข้าใต้ผิวหนังหนูถีบจักรขนาด 10 ก/กก. ไม่พบความเป็นพิษแต่อย่างใด
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
สำหรับการใช้สารสกัดสโคโปเลติน นั้นก็ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกับการใช้สารสกัดอื่นๆ เพราะยังไม่มีขนาดและปริมาณการใช้ที่แน่นอน ชัดเจน ที่เป็นมาตรฐาน ดังนั้นจึงควรใช้ในขนาดที่พอดีไม่ควรใช้มากเกินไปหรือใช้ต่อเนื่องกันนานจนเกินไปเพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้ ในส่วนการรับประทานลูกยอหรือน้ำลูกยอ เพื่อจะให้ได้รับสารสโคโปเลติน นั้นก็มีข้อควรระวัง คือ การดื่มน้ำลูกยอมากเกินไปอาจทำให้เกิดภาวะคั่งของโพแทสเซียม และหากโพแทสเซียมในเลือดสูงเกินไปก็จะมีผลทำให้เกิดอาการกล้ามเนื้อไม่มีแรง และเกิดภาวะอัมพาต รวมถึงจังหวะการเต้นของหัวใจผิดปกติ หรือ เกิดอาการเจ็บหัวใจได้ นอกจากนี้ยังพบรายงานอาการไม่พึงประสงค์ในผู้ป่วยไตวายที่ใช้น้ำลูกยอ โดยพบว่ามีค่าโพแทสเซียมในเลือดสูง ดังนั้นจึงควรระมัดระวังหรือหลีกเลี่ยงการใช้น้ำคั้นจากลูกยอในผู้ป่วยโรคไตและโรคหัวใจ
เอกสารอ้างอิง สโคโปเลติน
⦁ วริศรา แสงไพโรจน์.ลูกยอ:สมุนไพร ธรรมชาติ.วารสารกรมวิทยาศาสตร์บริการปีที่ 50.ฉบับที่ 160 กันยายน 2545.หน้า 13-16
⦁ ผลของสารสกัดยอด้วยน้ำต่อการอักเสบของหลอดอาหารและแผลในกระเพาะอาหารในหนูแรทเมื่อเทียบกับสาร Scopoletin ในลูกยอ.ข่าวความเคลื่อนไหว.สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
⦁ กำพล ศรีวัฒนกุล.น้ำสมุนไพรธรรมชาติในนี้ (Noni Juice) กรุงเทพมหานคร : ซีเอ็ดยูเคชั่น, 2542.79 หน้า.
⦁ ชิดชม ฮิรางะ.ยอ:ผลงานวิจัย 4 ปี สนับสนุนโดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ.วารสารวิชาการ ปขมท.ปีที่ 1. ฉบับที่ 3 กันยายน-ธันวาคม 2555.หน้า 1-5
⦁ Dussossoy, E., Brat, P., Bony, E., Boudard, F., Poucheret, P., Mertz, J., Giaimis, J. and Michel, A. (2011). Characterization, anti-oxidative and anti-inflammatory effects of Costa Rican noni juice (Morinda citrifolia L.). Journal of Ethnopharmacology.133: 108-115.
⦁ Duncan, S.H., Flint, H.J., and Stewart, C.S. (1998). Inhibitory activity of gut bacteria against Escherichia coli 0157 mediated by dietary plant metabolites. FEMS Microbiology Letters. 164: 238-58.
⦁ Su, C., Wang, M., Nowicki, D., Jensen,J., and Anderson, G. (2001).Selective COX-2 inhibition of Morindacitrifolia (Noni) in vitro. In: The Proceedings of the Eicosanoids and other Bioactive Lipids in Cancer, Inflammation and Related Disease. The 7th Annual Conference, 2001 October 14-17. Loews Vanderbilt Plaza, Nashville, Tennessee, United States of America.
⦁ ผลของการใช้น้ำยาบ้วนปากสารสกัดลูกยอต่ออาการเหงือกอักเสบ.ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร.สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
⦁ Locher, C.P., Burch, M.T., Mower, H.F., Berestecky, H., Davis, H., Polel, B.V., Lasure, A., Berghe,D.A.V.,and Vlieti-Nick, A.J.(1995). Anti-microbial activity and anti-complement activity of extracts obtained from selected Hawaiian medicinal plants. Journal of Ethnopharmacology. 49:23-32.
⦁ Solomon N. (1999). The Noni Phenomenon. Direct Source Publishing, Utah.
⦁ Levand O. and Larson H.O. (1979). Some chemical constituents of Morinda citrifolia, Planta Medica. 36. pp. 186-187
⦁ Atkinson, N. (1956). Antibacterial substances from flowering plants.3.Antibacterial activity of dried Australian plants by rapid direct plate test. Australian Journal of Experimental Biology. 34:17-26.