แกแล ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

แกแล งานวิจัยและสรรพคุณ 26 ข้อ


ชื่อสมุนไพร แกแล
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ช้างงาต๊อก, แกก้อง (ภาคเหนือ), สักขีเหลือง, หนามแข (ภาคกลาง), แกร, แหร, เข, หนามเคี่ยวโซ่ (ภาคใต้), กะเลอะเซอะ (กะเหรี่ยง)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Maclura cochinchinensis (Lour.) Corner.
ชื่อสามัญ Cockspur thorn, Thoruy cockspur
วงศ์ MORACEAE


ถิ่นกำเนิดแกแล

แกแล จัดเป็นพันธุ์ไม้ที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในประเทศไทยอีกชนิดหนึ่ง และมีเขตการกระจายพันธุ์ในอินเดีย พม่า ศรีลังกา จีน ญี่ปุ่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย ไปจนถึงออสเตรเลีย สำหรับในประเทศไทย พบได้ทั่วไปในป่าดงดิบ ป่าเบญจพรรณ และป่าละเมาะทั่วไปทั่วทุกภาคของประเทศ โดยจะพบแกแล มากในภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคใต้ ที่มีระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลไปจนถึง 1200 เมตร


ประโยชน์และสรรพคุณแกแล

  1. ช่วยบำรุงธาตุ
  2. ช่วยบำรุงกำลัง
  3. ช่วยบำรุงโลหิต
  4. ช่วยบำรุงน้ำเหลืองให้เป็นปกติ
  5. แก้กาฬสิงคลี
  6. ช่วยขับปัสสาวะ
  7. ช่วยขับเสมหะ กล่อมเสมหะ
  8. แก้มุตกิด ขับระดูขาว
  9. ใช้เป็นยาหลังคลอด ขับของเสียในสตรีหลังคลอดบุตร
  10. แก้ไข้พิษ
  11. แก้อักเสบของแผลในปาก
  12. แก้กลิ่นปาก
  13. แก้เลือดออกตามไรฟัน
  14. แก้ไข้รากสาด
  15. แก้ท้องร่วง
  16. แก้คุดทะราด
  17. แก้โลหิต
  18. แก้วาโยกำเริบ (ระบบแห่งลมที่โคจรหมุนเวียนภายในร่างกาย มีลักษณะไหลไปไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่ ทำหน้าที่พัดพาน้ำ)
  19. ใช้ทารักษาแผล (ใบ, ผลดิบ)
  20. ใช้ทารักษาพิษจากแมลงกัดต่อย
  21. ช่วยลดอาการปวดบวม
  22. ช่วยลดอาการคันรังแค
  23. แก้ท้องเสีย
  24. ลดอาการไอ
  25. แก้ประจำเดือนมาไม่ปกติ
  26. ช่วยขับสารพิษ

           มีการใช้แก่น หรือ เนื้อไม้ของแกแล มาใช้ทำเป็นสีสำหรับย้อมผ้า เช่น จีวรพระ ผ้าฝ้าย ผ้าไหม ย้อมแห โดยเมื่อทำการย้อมแล้วจะได้สีเหลือง ซึ่งมีวิธีการสกัดสีดังนี้

  • เริ่มจากเตรียมแก่นของแกแลในอัตราส่วน 1 กิโลกรัมต่อเส้นไหม 300 กรัม แล้วสับแก่นแกแลให้ละเอียด เติมน้ำปริมาณ 5 ลิตร จากนั้นต้มให้เดือดเป็นเวลา 1-2 ชั่วโมง กรองเอาเฉพาะน้ำเพื่อนำไปย้อมเส้นไหม
  • ส่วนหญิงสาวในสมัยก่อนมีการนำแก่นแกแลนำมาฝนผสมกับน้ำใช้พอกหน้า รักษาสิว ทำให้หน้าเต่งตึง ได้อีกด้วย

แกแล

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

  • ใช้บำรุงร่างกาย บำรุงกำลัง บำรุงโลหิต บำรุงธาตุ บำรุงน้ำเหลือง ขับปัสสาวะ แก้ท้องเสีย แก้ท้องร่วง ลดอาการไอ และขับเสมหะ ขับของเสียในสตรีหลังคลอดบุตร แก้ประจำเดือนมาไม่ปกติ แก้อาการตกขาวในสตรี ขับสารพิษ แก้ไข้พิษ แก้กาฬสิงคลี แก้ไข้รากสาด แก้คุดทะราด โดยนำเอาเผา และแก่นแกแล นำมาต้มน้ำ หรือ ดองเหล้าดื่ม
  • ใช้แก้เลือดออกตามไรฟัน แก้การอักเสบในช่องปาก แก้กลิ่นปาก โดยนำแก่นหรือเถามาต้มกับน้ำใช้อมกลั้วปาก
  • ใช้รักษาแผลโดยนำใบแกแลมาบดให้ละเอียดผสมน้ำเล็กน้อย ใช้ใส่บริเวณที่เป็นแผล
  • ใช้รักษาแผล แก้พิษแมลงสัตว์กัดต่อย ลดอาการปวดบวม โดยนำผลดิบแกแล มาบดใช้ใส่พอกแผล


ลักษณะทั่วไปของแกแล

แกแล จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก หรือ ไม้พุ่มรอเลื้อยถึงไม้เถาเนื้อแข็ง มีความสูงของต้น 5-10 เมตร สำต้นมีผิวเปลือกขรุขระเป็นสีเทา และมีหนามแข็งขนาดใหญ่แหลม ปลายแปลมตรง หรือ โค้งเล็กน้อย ซึ่งจะยาว 1-5 เซนติเมตร อยู่ตามต้น กิ่ง และตามง่ามใบ ส่วนเนื้อเป็นสีขาวไม้มีลักษณะแข็งเหนียว มียางสีขาวถึงเหลืองอ่อน ตรงแกนกลางเป็นสีเหลืองปนน้ำตาล

           ใบแกแล เป็นใบเดี่ยวออกสลับข้างกันบนกิ่ง บริเวณจุดเดียวกันกับหนาม ไม่มีลักษณะเป็นรูปรี มีขนาดกว้าง 2-4 เซนติเมตร ยาว 4-8 เซนติเมตร โคนใบสอบแหลม ปลายใบแหลม หรือ มน แผ่นใบเรียบ ค่อนข้างเป็นมันมีสีเขียวเข้ม มองเห็นเส้นกลางใบ และเส้นใบข้างเส้นกลางใบอย่างชัดเจน ขอบใบเรียบ เนื้อใบค่อนข้างเหนียว และหนามีก้านใบสีเขียว ยาว 1-3 เซนติเมตร

           ดอกแกแล เป็นแบบแยกเพศต่างต้น โดยดอกเพศผู้จะออกเป็นช่อกระจะบริเวณซอกใบ ดอกมีขนาดเล็ก มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.7-1 เซนติเมตร สีขาวนวลมีกลีบดอก 4 กลีบ รูปไข่กลับมีใบประดับ รูปช้อน ขนาดเล็กที่โคนดอก ด้านนอกกลีบดอกมีขนสั้น มีเกสรเพศผู้ขนาดเล็ก 4 ก้าน ส่วนดอกเพศเมีย มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 6-8 มิลลิเมตร ออกเป็นช่อกระจุกแน่น บริเวณง่ามใบ โดยจะออกเป็นคู่ๆ หรือ อาจอยู่เดี่ยว ดอกมีกลีบดอก 4 กลีบ ตรงโคนกลีบติดกัน ปลายแยก มีรังไข่จะอยู่ในฐานรองดอก และมีก้านช่อดอกยาว 0.3-1 เซนติเมตร

           ผลแกแล เป็นผลรวม ผลมีลักษณะกลม ผิวผลขรุขระ คล้ายน้อยหน่า ผลมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1-2.5 เซนติเมตร ผลดิบมีสีเขียวเมื่อผลสุกจะเป็นสีเหลือง หรือ สีส้มแดง มียางสีขาวภายในผลมีเนื้อด้านในมีสีเหลืองส้ม และมีเมล็ดรูปทรงกลมขนาดเล็กสีน้ำตาล 5-10 เมล็ด

แกแล

แกแล

การขยายพันธุ์แกแล

แกแล สามารถขยายพันธุ์ โดยการเพาะเมล็ด การตอนกิ่ง และการปักชำ แต่การปลูกจะใช้การเพาะเมล็ดเป็นหลัก เนื่องจากการตอน หรือ ปักชำจะทำให้ได้ต้นที่ไม่แข็งแรง ลำต้นแตกกิ่งน้อย ส่วนการเพาะเมล็ดเพื่อนำไปปลูกเริ่มจากนำเอาเมล็ดไปล้างน้ำให้สะอาด นำไปตากแดดให้แห้ง จากนั้นเพาะในกระบะเพาะประมาณ 30-45 วัน เมล็ดจะงอกขึ้นมาเป็นต้นอ่อน ให้ทำการแยกลงถุงเพาะชำ ถุงละ 1 ต้น เมื่อต้นกล้าแกแล สูงประมาณ 30 เซนติเมตร จึงสามารถนำต้นกล้าแกแลไปทำการลงแปลงปลูกได้ สำหรับการปลูกให้ทำการขุดหลุมกว้าง 50 เซนติเมตร ยาว 50 เซนติเมตร ลึก 50 เซนติเมตร รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอก หรือ ปุ๋ยหมักแล้วจึงนำต้นแกแลปลูกลงหลุมกลบดิน แล้วปักไม้ผูกเชือก ให้แข็งแรง ช่วงแรกควรรดน้ำให้ชุ่ม


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมี ส่วนเหนือดินของแกแล ระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิดอาทิเช่น morin, resveratrol, hydroxyresveratrol, stigmasterol, β-sitosterol, campesterol, stilbene, 2-3’-4-5’-tetrahydroxy:stilbene, prenylated xanthones และ prenylated benzophenones เป็นต้น

โครงสร้างแกแล

การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของแกแล

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของสารสกัด ระบุว่า มีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาหลายประการ อาทิเช่น มีรายงานการศึกษาฤทธิ์ทางชีวภาพของสารสกัดจากแก่นแกแล (Maclura cochinchinensis) ที่นำมาจากแหล่งต่างๆ ของประเทศไทย ด้วยตัวทำละลายต่างๆ ได้แก่ เฮกเซน, เอทิลอะซีเตท และ เอทานอล และสาระสำคัญที่แยกได้จากสารสกัด ดังกล่าว ได้แก่ morin, resveratrol และ quercetin โดยทดสอบความเป็นพิษต่อเซลล์มะเร็ง ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ลดการอักเสบ และต้านมะเร็งเม็ดเลือดขาว ผลการศึกษาพบว่าสารสกัดเอทิลอะซีเตทของแกแล มีความเป็นพิษต่อเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิด EoL-1 ดีที่สุด ขณะที่สารสกัดเฮกเซนของแกแลจากภูเก็ต เป็นพิษต่อเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาวทั้ง 3 ชนิด ที่ทดสอบ (KG-1a, EoL-1, K562) และมีความเป็นพิษต่ำต่อเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดนิวเคลียสเดียว (peripheral blood mononuclear cells; PBMCs) สาร resveratrol มีความเป็นพิษต่อเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาวทั้ง 3 ชนิด ที่ทดสอบ รวมทั้งเซลล์เม็ดเลือดขาว PBMCs สารสกัดเอทิล-อะซีเตทของแกแลจากกรุงเทพฯ, สารสกัดเฮกเซนของแกแลจากภูเก็ต และสารสำคัญทั้ง 3 ชนิด มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ เมื่อทดสอบด้วยวิธี ABTS, DPPH และ FRAP โดยสารสำคัญทั้ง 3 ชนิด มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระได้เทียบเท่ากับวิตามินซี การทดสอบในเซลล์ macrophage RAW 264.7 ที่ถูกเหนี่ยวนำด้วยสารไลโปโพลีแซคคาไรด์ พบว่าสารสกัดเอทิลอะซีเตทของแกแลจากกรุงเทพฯ, สารสกัดเฮกเซนของแกแลจากภูเก็ต และสารสำคัญทั้ง 3 ชนิด มีผลลดการอักเสบ โดยยับยั้งการสร้างและการหลั่งสารซึ่งเป็นตัวบ่งชี้การอักเสบ ได้แก่ IL-2, nitricoxide และ TNF-α นอกจากนี้ยังมีผลยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิด KG-1a, EoL-1, K562 โดยลดการแสดงออกของยีน Wilms’ tumour 1 protein และยับยั้งการเคลื่อนที่ของเซลล์มะเร็งเต้านมชนิด MCF-7 โดยสารสกัดและสารสำคัญทั้ง 3 ชนิดจากแกแล ไม่มีผลทำให้เกิดการแตกของเซลล์เม็ดเลือดแดง สรุปว่า สารสกัดเอทิลอะซีเตท และสารสกัดเฮกเซนจากแกแลในประเทศไทย อีกทั้งสารสำคัญที่แยกได้จากสารสกัด มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ลดการอักเสบ และต้านมะเร็งโดยเฉพาะมะเร็งเม็ดเลือดขาวได้

            ส่วนอีกงานวิจัยหนึ่งระบุว่าสารสกัดแกแล ด้วยคลอโรฟอร์ม เมทานอล และนำแสดงฤทธิ์ยับยั้งแบคทีเรียชนิดแกรมบวก ได้แก่ Staphyolcoccus aureus, s. epidermidis, Bacillus subtills และสารสกัดด้วยคลอโรฟอร์มของแกแลยังสามารถยับยั้งเชื้อราที่ก่อให้เกิดโรคกลาก (dermatophytes) ได้แก่ Trichophyton rubrum T. mentagrophytes และ Microsporum gypseum ได้ดีกว่าสารสกัดด้วยเมทานอล ขณะที่สารสกัดด้วยน้ำไม่มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อรา

            อีกทั้งยังมีรายงานฤทธิ์ทางชีวภาพของแกแลอีกหลายประการ เช่น มีฤทธิ์รักษาแผลในกระเพาะอาหาร ฤทธิ์ลดไข้ ลดการอักเสบของตับ และฤทธิ์ต้านการอักเสบ โดยเฉพาะฤทธิ์ลดอักเสบพบว่ามีฤทธิ์ต้านการอักเสบได้ดีเทียบเท่า dexamethasone อีกด้วย


การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของแกแล

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยพิษเฉียบพลันของส่วนราก และลำต้นหรือเถาของสมุนไพรแกแลในหนูทดลองสายพันธุ์ ICR ทั้งเพศผู้และเพศเมีย จำนวน 80 ตัว โดยแบ่งเป็น (เพศผู้ 40 ตัว เพศเมีย 40 ตัว) จากนั้นทำการแบ่งเป็น 4 กลุ่ม คือ กลุ่มควบคุมที่ได้รับ 0.3% carboxymethylcellulose (CMC) และกลุ่มที่ได้รับสารสกัดสมุนไพรโดยวิธีการป้อนทางปาก ขนาด 0.5, 1.0 และ 5.0 กรัม/กิโลกรัมน้ำหนักตัว/วัน ผลการศึกษาพบว่า สารสกัดด้วยน้ำจากส่วนราก และลำต้นของสมุนไพรแกแล ไม่แสดงความเป็นพิษชนิดเฉียบพลันต่อหนูทดลองทั้งสองเพศเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม เมื่อทำการศึกษาพิษกึ่งเรื้อรังของสารสกัดน้ำจากส่วนของรากและลําต้นของสมุนไพรแกแลของหนูขาวสายพันธุ์วิสตาร์ทั้งเพศผู้และเพศเมีย จำนวน 80 ตัว (โดยแบ่งเป็นเพศผู้ 40 ตัว และเพศเมีย 40 ตัว จากนั้นจึงทำการแบ่งเป็น 4 กลุ่ม คือ กลุ่มควบคุมที่ได้รับ 0.3% CMC และกลุ่มที่ได้รับสารสกัดสมุนไพรโดยวิธีการป้อนทางปากเป็นระยะเวลา 90 วัน ขนาด 100, 250 และ 500 มิลลิกรัม/กิโลกรัม นำหนักตัว/วัน ผลการศึกษาวิจัยพบว่า หนูขาวทั้งสองเพศมีการเจริญเติบโตเป็นปกติ ไม่พบพฤติกรรมที่ผิดปกติของหนูทดลองทุกกลุ่ม นอกจากนี้ผลการตรวจค่าทางชีวเคมีและค่าทางโลหิตวิทยา ไม่พบการเปลี่ยนแปลงที่แสดงความผิดปกติของค่าทางชีวเคมี และโลหิตวิทยาจากเลือดของหนูขาวทั้งสองเพศที่ได้รับสารสกัดด้วยน้ำจากสมุนไพรแกแล เมื่อทำการตรวจพยาธิสภาพของอวัยวะภายในด้วยตาเปล่าไม่พบความผิดปกติของอวัยวะภายในที่สำคัญ เมื่อเทียบกับหนูกลุ่มควบคุมที่ ได้รับ 0.3% CMC


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

ถึงแม้ว่าจะมีรายงานการศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาระบุว่า สารสกัดจากรา กและลำต้นของแกแล มีความปลอดภัย แต่ในการใช้แกแลเป็นสมุนไพร ก็ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาด และปริมาณที่เหมาะสม ที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในขนาดที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้


เอกสารอ้างอิง แกแล
  1. ราชบัณฑิตยสถาน. 2538. อนุกรมวิธานพืช อักษร ก. กรุงเทพมหานคร.เพื่อนพิมพ์
  2. พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ. “แกแล”. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. หน้า 94.
  3. พีรศักดิ์ วรสุนทโรสถ และคณะ. ทรัพยากรพืชในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 3 : พืชให้สีย้อมและแทนนิน. กทม. สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย. 2544. หน้า 110-111
  4. แกแล. คู่มือการกำหนดพื้นที่การปลุกสมุนไพรเพื่อใช้ในทางเภสัชกรรมไทย เล่ม 1. กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกกระทรวงสาธารณสุข. กันยายน 2558. หน้า 65-67
  5. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยามหิดล. “แกแล”. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. หน้า 135.
  6. สีธรรมชาติ กระบวนการและมาตรฐานการย้อมเล่ม 3. กรมหม่อนไหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์.กันยายน 2561. หน้า 14-15
  7. ฤทธิ์ทางชีวภาพของสารสกัดและสารสำคัญจากแกแล. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  8. สุรัสวดี ปิยะวิริยะกุล และคณะ. การศึกษาพิษเฉียบพลันและพิษกึ่งเรื้อรังของสมุนไพรแกแลในหนูทดลอง. งานวิจัยสมุนไพร. กลุ่มงานวิจัยสมุนไพรสถาบันมะเร็งแห่งชาติ.
  9. แกแล และสรรพคุณแกแล. พืชเกษตรดอทคอม (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.puechkaset.com
  10. Lin, C.C, Yee, H.Y., Chang, C.H. and Yang, J.J. 1999. The anti-inflammatory and hepatoprotective effects of fractions from Cudrania cochinchinensis Var. Gerontogea. American Journal of Chinese Medicine., 27 : 227-239.
  11. Shirata, A. and Takahashi., K. 1982. Production of antifungal substances in the root of Mulberry. Bulletin of the Sericultural Experiment Station, 28 : 691-705.
  12. Sato, V. H., Chewchinda, S., Parichatikanond, W., & Vongsak, B. 2019. In vitro and in vivo evidence of hypouricemic and anti-inflammatory activities of Maclura cochinchinensis (Lour.) Corner heartwood extract. Journal of Traditional and Complementary Medicine.
  13. Lin, C.C. and Kan, W.S. 1990. Medicinal plants used for the treatment of hepatitis in Taiwan. American Journal of Chinese Medicine., 18: 35-43.
  14. Manandhar, N.P. 1995. In Inventory of some herbal drugs of Myagdi District, Napal. Economic Botany., 49: 371-379.
  15. Yoosook, C., Bunyapraphatsara, N., Boonyakiat, Y. and Kantasuk, C. 2000. Anti-herpes simplex virus activities of crude water extracts of Thai medicinal plants. Phytomedicine., 6 : 411-419.