ขอบชะนาง ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย
ขอบชะนาง งานวิจัยและสรรพคุณ 33 ข้อ
ชื่อสมุนไพร ขอบชะนาง
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ขอบชะนางขาว, ขอบชะนางแดง, หนอนตายหยากขาว, หนอนแดง, หนอนขาว, หนอนตายหยากขน (ทั่วไป), หญ้าก้านเพียง, หญ้ามูกมาย (สระบุรี), หญ้าหนอนตาย (ภาคเหนือ)
ชื่อวิทยาศาสตร์ ขอบชะนางมีอยู่ 2 ชนิด ได้แก่
Pouzolzia pentandra Benn. (ขอบชะนางขาว)
Gonostegia pentander (Roxb.)Miq. (ขอบชะนางแดง)
วงศ์ URTICACEAE
ถิ่นกำเนิดขอบชะนาง
ขอบชะนาง จัดเป็นพืชในวงศ์กะลังตังช้าง (URTICACEAE) มีถิ่นกำเนิดบริเวณเขตร้อนของทวีปเอเชียบริเวณ อินเดีย มาเลเซีย ไทย พม่า บังคลาเทศ ลาว จากนั้น จึงมีการแพร่กระจายพันธุ์ไปยังเขตร้อนอื่นๆ ของโลก สำหรับในประเทศไทย สามารถขอบชะนาง พบได้ทั่วทุกภาคของประเทศ บริเวณที่ร่มชื้นเย็น ริมร่องสวน หรือ ตามพื้นที่ที่มีความชื้นสูงบริเวณริมกำแพงปูน เป็นต้น
ประโยชน์และสรรพคุณขอบชะนาง
ขอบชะนางทั้ง 2 ชนิด สามารถใช้แทนกันได้ โดยมีสรรพคุณดังนี้
- แก้กามโรค
- ช่วยขับโลหิตระดู ในสตรี (ประจำเดือน)
- ช่วยขับระดูขาว ในสตรี
- ช่วยขับน้ำนม ในสตรี
- ช่วยขับน้ำคาวปลา ในสตรี
- ช่วยขับปัสสาวะ
- ขับพยาธิในเด็ก
- แก้โรคหนองใน
- ช่วยขับเลือดลม
- ช่วยกระจายโลหิต
- แก้ริดสีดวงผอมแห้ง
- แก้โรคผิวหนัง
- แก้น้ำเหลืองเสีย
- แก้มะเร็งเพลิง
- แก้มะเร็งลาม
- ใช้รักษากลากเกลื้อน
- แก้เม็ดผื่นคัน
- ใช้ต้มน้ำอาบหลังคลอด
- แก้ปวดเมื่อย
- แก้ฝี
- แก้ปวดอักเสบ
- ใช้ขับพยาธิ
- ใช้ดับพิษในกระดูก
- ใช้ดับพิษในเส้นเอ็น
- ใช้ฆ่าพยาธิผิวหนัง
- แก้รำมะนาด
- แก้ปวดฟัน
- ใช้แก้อาการเบื่ออาหาร
- แก้อาเจียนเป็นฟอง
- แก้ปวดท้อง
- ใช้ขับลม
- แก้ปวดมวนท้อง
- ใช้รักษาโรคริดสีดวงทวารหนัก
ขอบชะนาง ทั้ง 2 ชนิด ถูกนำมาใช้ประโยชน์โดยส่วนของต้นสด ดอก และใบ มีการนำไปใช้เป็นยาฆ่าแมลง ฆ่าเพลี้ยแป้ง ฆ่าหนอน ช่วยรักษาสัตว์ที่เป็นแผลสด และแผลติดเชื้อเน่า ด้วยการตำใบสดพร้อมเติมปูนขาวลงไป แล้วนำไปยัดใส่แผล และแผลที่มีหนอน จะทำให้หนอนตาย ส่วนของรากนำมาตำให้ละเอียดแช่กับน้ำนำไปฟอกล้างผมใช้เป็นยาฆ่าเหา
รูปแบบและขนาดวิธีใช้
- ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ ขับเลือดลมกระจายโลหิต แก้กามโรค รักษาโรคหนองใน ขับโลหิตประจำเดือน และระดูขาวของสตรี ขับน้ำนมของสตรี ขับพยาธิในเด็ก แก้น้ำเหลืองเสีย แก้ริดสีดวงผอมแห้ง โดยนำทั้งต้นนำต้มกับน้ำดื่ม
- ใช้ขับพยาธิในเด็ก โดยนำทั้งต้นขอบชะนาง นำมาปิ้งแล้วชงกับน้ำเดือด
- ช่วยรักษาอาการปวดท้อง แก้อาเจียนเป็นฟอง แก้อาการเบื่ออาหารโดย นำผลของขอบชะนางแห้งที่เอาเปลือกออก เปลือกอบเชย พริกหาง แปะซุก ตังกุย นำมาคั่ว และบดให้เป็นหยาบ ใช้ 15 กรัม จากนั้นนำโสม ตัดส่วนหัวออก 15 กรัม ส่วนตี่ฮูจี้ ให้คั่วให้แตกบดแบบพอหยาบๆ และเปลือกส้ม 1 กรัม ให้นำมาแช่กับน้ำเอาใยสีขาวออก ชวงเจีย 1 กรัม คั่วพอให้หอม และนำทั้งหมดมาบด รวมกันผสมน้ำผึ้ง แล้วปั่นเป็นยาขนาดเท่าเมล็ดถั่ว ใช้รับประทานร่วมกับน้ำขิงครั้งละ 30 เม็ด เมื่อเริ่มมีอาการ
- ใช้แก้อาการปวดฟัน โดยนำผลแห้งนำมาบดเป็นผง แล้วใช้ทาบางๆ หรือ นำมาใช้อุดฟันที่ปวด
- ใช้ช่วยขับน้ำคาวปลาหลังการคลอดบุตรของสตรี โดยนำเหง้าขอบชะนาง สดนำมาตำคั้นเอาแต่น้ำ 1 แก้ว แล้วผสมกับมะขามเปียก และเกลือใช้รับประทาน และยังใช้ใบมาใช้ต้มกับน้ำอาบหลังคลอดของสตรีอีกด้วย
- ใช้รักษากลากเกลื้อน ด้วยการนำเหง้าสดมาหั่นเป็นแผนแล้วจุ่มลงในเหล้าขาว ใช้ทาบริเวณที่เป็น เช้า เย็น หรือ ใช้เหง้าแห้งนำมาบดเป็นผงแล้วผสมกับน้ำมันมะพร้าว ใช้ทาก็ได้
- ใช้รักษาโรคริดสีดวงทวารหนัก โดยนำเหง้ามาปรุงในตำรับยาริดสีดวงมหากาฬ
ลักษณะทั่วไปของขอบชะนาง
ขอบชะนาง จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุกเนื้ออ่อนตระกูลหญ้า ลำต้นมักจะเลื้อยแผ่ไปตามดินชูยอดตั้งขึ้น ลำต้นเรียบมีขนเล็กน้อย มีสีเขียวอมเหลือง หากเป็นขอบนางแดงลำต้นจะมีสีแดงอมม่วง โดยลำต้นของขอบชะนาง จะมีขนาดใหญ่กว่าก้านไม้ขีดเพียงเล็กน้อง เท่านั้น
ใบขอบชะนาง เป็นใบเดี่ยว ออกแบบเรียงสลับ โดยใบของขอบชะนางขาวจะมีลักษณะของใบเป็นรูปไข่ค่อนข้างมนและกลม มีขนาดกว้าง 1-1.5 เซนติเมตร ยาว 2-3 เซนติเมตร สีของใบจะเป็นสีเขียวอ่อนๆ และจะมีขนเล็กน้อยอยู่ทั้งบนแผ่นใบ ส่วนใบของขอบชะนางแดงมีลักษณะเป็นรูปใบหอก มีขนาดกว้าง 1.5-2.5 เซนติเมตร ยาว 5-8 เซนติเมตร สีของใบและต้นของขอบชะนางแดงจะเป็นสีม่วงอมสีแดง หลังใบจะเป็นสีเขียวเข้มอมสีแดง ส่วนท้องใบจะเป็นสีแดงคล้ำ เส้นใบของขอบชะนางทั้งสองชนิดสามารถมองเห็นได้เด่นชัน เป็นเส้น 3 เส้น
ดอกขอบชะนาง ออกเป็นช่อกระจุก ระหว่างซอกใบและตามกิ่ง ดอกเป็นแบบแยกเพศมีขนาดเล็ก แต่ดอกจะอยู่บนต้นเดียวกัน เป็นดอกเพศผู้กับเพศเมีย ดอกขอบชะนางขาว มีสีเขียวดมเหลือง หรือ สีนวล ส่วนดอกของขอบชะนางแดงมีสีแดง
ผลขอบชะนาง เป็นผลแห้ง (achene) ผลเป็นสีน้ำตาลลักษณะกลมออกรีปลายเป็นจะงอย มักจะออกเป็นกระจุกบริเวณซอกใบ ผลมีขนาดเล็กมาก ประมาณ 2-3 มิลลิเมตร เมื่อผลแห้งแล้งมักจะแตกเป็น 2 ซีก แล้วจะร่วงหล่นลงบนนดิน หรือ ปลิวไปตามลม ภายในผลมีเมล็ดลักษณะกลมรีสีน้ำตาลขนาดเล็ก ประมาณ 1-2 เมล็ด
การขยายพันธุ์ขอบชะนาง
ขอบชะนางสามารถขยายพันธุ์ได้โดยการใช้เมล็ดและการปักชำ ขอบชะนางเป็นพืชที่ชอบที่ร่มเย็น ที่มีความชุ่มชื้นปานกลาง ชอบดินร่วนที่มีการระบายน้ำดี สำหรับวิธีการปลูกขอบชะนางนั้นสามารถทำได้ดังนี้
วิธีการปักชำขอบชะนาง ในถุงเพาะที่มีดินปรุง โดยเริ่มจากเตรียมส่วนประกอบของดินปรุง คือ ดิน ทราย และขุยมะพร้าวละเอียด ในอัตราส่วน 2:1:1 จานั้นเตรียมอุปกรณ์สำหรับการเพาะปลูก ได้แก่ กระบะปลูก ผ้าใบสีดำเจาะรู ปุ๋ยอินทรีย์ที่เตรียมจากใบไม้แห้ง มูลวัว และ Effective Microorganisms (EM) จากนั้นนำต้นกล้าขอบชะนางที่ได้จากการปักชำ ที่มีอายุ 1 เดือน ปลูกในดินปรุงปลูกในกระบะที่มีพื้นขนาด 1x1.5 เมตร โดยปลูกเป็นแถว แถวละ 10 ต้น จากนั้นรดน้ำอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง ในช่วงเช้าหรือเย็น (เข้าช่วงเวลา 06.00 น.-08.00 น. หรือ ช่วยเย็นช่วงเวลา 16.00-18.00 น.) จากนั้นเมื่อมีอายุครบ 4-6 เดือน จึงสามารถเก็บเกี่ยวนำไปใช้ได้
องค์ประกอบทางเคมี
มีรายงานการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมีของเมล็ด และลำต้นของขอบชะนาง ทั้งขอบชะนางขาวและขอบชะนางแดง ระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญอาทิเช่น ในส่วนเมล็ดของขอบชะนางทั้ง 2 ชนิด พบว่ามีสาร 1’-acetoxychavicol acetate และสาร 1’-acetoxyeugenol acetate ซึ่งเป็นสารที่มีฤทธิ์ในการรักษาแผลเรื้อรังที่กระเพาะอาหารและลำไส้ นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าสารสกัดเฮกเชน ครอโรฟอร์ม และเมทานอลของลำต้นขอบชะนางแดง พบสารไตรเทอร์พีน 2 ชนิด คือ Friedelin และ Friedelinol และสเตียรอด์ 1 ชนิด คือ ᵦ-Sitosterol
การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของขอบชะนาง
มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของสารสกัดจากเมล็ด และเหง้า ของขอบชะนางทั้ง 2 ชนิด ระบุว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาต่างๆ ดังนี้
สาร l’-acetoxychavicol acetate และสาร l’-acetoxyeugenol acetate ที่พบในเมล็ดของขอบชะนางขาวและขอบชะนางแดง มีฤทธิ์ในการรักษาแผลเรื้อรังที่กระเพาะอาหารและลำไส้ ส่วนสารที่สกัดด้วยปิโตรเลียมอีเทอร์จากแห้งของขอบชะนางจะมีฤทธิ์ ขับเสมหะในกระต่าย และทำให้มีเมือกในหลอดลมเพิ่มมากขึ้น โดยส่วนของสารสกัดที่ระเหยจะไปช่วยในการกระตุ้นต่อมขับน้ำเมือกที่หลอดลม และส่วนที่ไม่ระเหยนั้นจะซึมผ่านเยื่อที่กระเพาะอาหาร มีผลทำให้ขับเสมหะ ส่วนน้ำมันหอมระเหยของขอบชะนาง มีฤทธิ์ระคายเคืองต่อผิวหนังและเยื่อเมือก เมื่อป้อนน้ำมันหอมระเหยให้แก่หนูทดลองพบว่ามีฤทธิ์ในการขับลม และลดการบีบตัวของลำไส้ที่บีบตัวแรงผิดปกติอีกด้วย
นอกจากนี้ยังมีรายงานการศึกษาวิจัยระบุว่าสารสกัดขอบชะนาง จากทั้งต้น ของมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรียชนิดต่างๆ ได้หลายชนิดอีกทั้งยังมีรายงานว่ายังมีฤทธิ์ไล่และฆ่าแมลง เช่น ยุง เห็บ เหา แมลงวัน ได้เป็นอย่างดี
การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของขอบชะนาง
ไม่มีข้อมูล
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
สตรีมีครรภ์ไม่ควรใช้ขอบชะนางเป็นยาสมุนไพร โดยเฉพาะในรูปแบบการรับประทาน เนื่องจากขอบชะนาง ทั้ง 2 ชนิด มีฤทธิ์ขับประจำเดือน ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะแท้งบุตรได้ สำหรับการใช้ของบุคคลกลุ่มอื่นๆ ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาด และปริมาณที่เหมาะสมที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานเกินไปเพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้
เอกสารอ้างอิง ขอบชะนาง
- นันทวัน บุฌยะประภัศร และอรนุช โชคชัยเจริญพร. บรรณาธิการ สมุนไพร ไม้พื้นบ้าน เล่น 1. คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล. กรุงเทพมหานคร 2539, หน้า 394-395.
- สุรี วรคีรีนิมิต. (2540). ขอบชะนาง. (พิมพ์ครั้งที่ 2). นนทบุรี: พิมพ์ทอง.
- วุฒิ วุฒิธรรมเวช, ร่วมอนุรักษ์มรดกไทย สารานุกรมสมุนไพร รวมหลักเภสัชกรรมไทย, พ.ศ.2540
- เต็ม สมิตินันทน์ .ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย พิมพ์ครั้งที่ 2. ฟันนี่พับบลิชชิ่ง, กรุงเทพมหานคร, 2523, หน้า 274.
- ขอบชะนาง. หนังสือสมุนไพรสวนสิระรุกขชาติ. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. หน้า 171.
- กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกกระทรวงสาธารณสุข (2558.) คู่มือการกำหนดพื้นที่ส่งเสริมการปลูกสมุนไพรเพื่อใช้ในทางเภสัชกรรมไทย. กรุงเทพฯสำนักงานกิจการโรงพิมพ์ องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกในพระบรมราชูปถัมภ์
- นคร ขันต๊ะวงษ์, พรพรรณ มณีวรรณ์, ทวีศักดิ์ หลีแก้วสาย, การศึกษาวิธีการปลุกขอบชะนางแดงเพื่อลดการปนเปื้อนและการประหยัดพื้นที่. วารสารหมอยาไทยวิจัยปีที่ 9 ฉบับที่ 2. กรกฎาคม-ธันวาคม 2566. หน้า 1-17.
- Rahman M.S., Hossain G.M., Khan, S.A., & Uddin S.N. (2018). Rediscovery of Gonostegia pentandra (Roxb.) Miq. (Urticaceae) from Bangladesh Sundarban. Jahangirnagar University Journal of Biological Sciences, 7(2), 115-119.
- de Boer, H., Vongsombath, C., Pålsson, K., Björk, L., & Jaenson, T.G. (2010). Botanical repellents and pesticides traditionally used against hematophagous invertebrates in Lao People's Democratic Republic: a comparative study of plants used in 66 villages. Journal of medical entomology, 47(3), 400-414.
- Trakulsomboon, S., Kummalue, T., & Jiratchariyakul, W. (2006). Antibacterial activities of four Thai medicinal plants. Journal of the Medical Association of Thailand, 89(9), 1466-1471.