เต็งหนาม ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย
เต็งหนาม งานวิจัยและสรรพคุณ 11 ข้อ
ชื่อสมุนไพร เต็งหนาม
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น เปาหนาม (ภาคเหนือ), รังโทน, ฮังหนาม (ภาคอีสาน), ว้อโบ (กะเหรี่ยง)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Bridelia retusa (L.) A. Juss.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Bridelia amoena Wall. ex Baill.B.crenulata Roxb.B. pierrei Gagnep.B. fruticosa Pers., B. chineensis Thin, B. cinerascens Gehrm., B. fordii Hemsl.B. pierrei Gagnep., B. roxburghiana (Müll.Arg.) Gehrm., B. spinosa (Roxb.) Willd., B. squamosa (Lam.) Gehrm.,C. spinosa Roxb.lutia retusa L.,C. squamosa
วงศ์ EUPHORBIACEAE
ถิ่นกำเนิดเต็งหนาม
เต็งหนาน เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนของทวีปเอเชียโดยมีเขตการกระจายพันธุ์เป็นบริเวณกว้างได้แก่ เนปาล มังคลาเทศ อินเดีย ศรีลังกา พม่า ไทย ลาว เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย รวมถึงทางตอนใต้ของจีน สำกรับในประเทศไทยสามารถพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศ บริเวณป่าดิบแล้ง ป่าผลัดใบ หรือ ตามที่รกร้างว่างเปล่าทั่วไป ที่ระดับความสูง 600-1100 เมตร จากระดับน้ำทะเล โดยจะพบได้มากบริเวณภาคเหนือและภาคอีสาน
ประโยชน์และสรรพคุณเต็งหนาม
- ช่วยสลายนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ
- แก้ปวดข้อ
- ใช้เป็นยาสมานท้อง
- แก้ท้องร่วง
- แก้บิด
- ใช้เป็นยาห้ามเลือด
- แก้ปวดหัวเข่า
- รักษาโรคติดเชื้อที่ทางเดินปัสสาวะ
- รักษาแผล
- ใช้เป็นยาคุมกำเนิดในสตรี
- รักษาโรคข้อรูมาดีซึม
เต็งหนามถูกนำมาใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ ดังนี้ ผลสุกของเต็งหนาน สามารถนำมารับประมานได้แต่จะมีรสฝาด เป็นอาหารของนก ส่วนใบอ่อนใช้เป็นอาหารสำหรับสัตว์ เช่น โค กระบือ แพะ เป็นต้น ส่วนเนื้อไม้มีสีแดงและมีความละเอียด เหมาะนำไปใช้สำหรับก่อสร้าง ทำเครื่องมือทางการเกษตร และยังใช้ทำเป็นฟืน หรือ ถ่านได้ดีอีกด้วย
รูปแบบและขนาดวิธีใช้
ใช้เป็นยาฝาดสมานอย่างแรง สลายนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ คุมกำเนิดในสตรี รักษาข้อรูมาติซึม โดยใช้เปลือกต้นต้มกับน้ำดื่ม ใช้แก้ท้องร่วงโดยนำเปลือกต้นเต็งหนาน มาปิ้งไฟ แล้วแช่น้ำเกลือดื่ม ใช้สมานท้องแก้บิด แก้ท้องร่วง โดยนำรากมาต้มกับน้ำดื่ม หรือ นำมาเข้ากับยาอื่น ใช้แก้ปวดหัวเข่า โดยนำเปลือกต้นใช้ตำผสมกับผักเสี้ยนผีทั้งต้น และหัวแห้วหมู ทำเป็นลูกประคบ ใช้ประคบตรงที่ปวด ใช้ถูนวดแก้อาการปวดข้อโดยนำยางจากเปลือกไม้นำมาผสมกับน้ำมันงาทาบริเวณที่เป็น
ลักษณะทั่วไปของเต็งหนาม
เต็งหนาน จัดเป็นไม้ยืนต้น หรือ ไม้พุ่ม ผลัดใบสูงได้ถึง 20 เมตร เปลือกต้นสีเทาอ่อน หรือ สีน้ำตาลเทา ผิวต้นเรียบเมื่อต้นอ่อน เมื่อต้นแก่เปลือกต้นจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลแก่ และแตกเป็นร่องยาว มีหนามแข็งขนาดใหญ่ ขึ้นเต็มบริเวณลำต้น
ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกแบบเรียงสลับบริเวณปลายกิ่งและปลายยอดใบเรียงตัวในแนวระนาบ ลักษณะของใบเป็นรูปรีแกมขอบขนาน กว้าง 4-9 เซนติเมตร ยาว 8-20 เซนติเมตร โคนใบมน ปลายใบแหลม หรือ อาจมน ขอบในเรียบ หรือ เป็นคลื่นเล็กน้อย เนื้อใบหนา ยอดอ่อนมีขนสีเทา ใบแก่ด้านบนเกลี้ยง ส่วนด้านล่างมีขน หรือ เรียบเกลี้ยง มีเส้นใบข้างตรงและขนานกัน 16/24 คู่ เส้นใบข้างจรดกันเส้นใบย่อยที่ขอบใบ ใบอ่อนมีสีเขียวเมื่อแก่จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลออกชมพูก่อนทิ้งใบ และมีก้านใบยาวประมาณ 0.6-1.2 เซนติเมตร หูใบแหลมขนาดประมาณ 2 มิลลิเมตร หลุดร่วงได้ง่าย
ดอก ออกเป็นช่อ เชิงลดแยกแขนง ออกตามซอกใบและปลายยอดกิ่ง ช่อดอกยาวเรียวแน่น ใน 1 ช่อดอก จะมีดอกย่อยจำนวน 8-15 ดอก ดอกมีขนาดเล็ก โดยมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.5 ซม. เป็นแบบแยกเพศ กลีบดอกสีเขียว หรือ สีเขียวออกเหลือง บางครั้งอาจพบประสีส้ม หรือ สีแดง กลีบดอกมี 5 กลีบ ปลายแตกออกเป็นซี่ๆ ดอกตัวผู้มีเกสรตัวผู้ แต่เกสรเพศเมียเป็นหมันเชื่อนเป็นแท่งตรงกลางดอก ขนาด 1-1.5 มม. ปลายแท่งแผ่ออก ส่วนดอกตัวเมียมีก้านชูเกสร 2 อัน และมีก้านดอกอ้วน สั้นกว่า 2 มม.
ผล เป็นผลสด ฉ่ำน้ำ ลักษณะเป็นรูปทรงกลม หรือ รูปไข่ แข็งมีขนาดประมาณ 0.5-0.9 เซนติเมตร ผลอ่อนมีสีเขียว เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีดำ หรือ สีฟ้าอมม่วง เนื้อในบาง ด้านในผลมีเมล็ดเดียว เมล็ดลักษณะค่อนข้างกลม สีน้ำตาลแดงขนาดประมาณ 0.4-0.5 เซนติเมตร
การขยายพันธุ์เต็งหนาม
เต็งหนามสามารถขยายพันธุ์ได้โดยการใช้เมล็ด ซึ่งส่วนมากจะเป็นการขยายพันธุ์ในธรรมชาติมากกว่าการถูกนำมาเลี้ยงโดยมนุษย์ เนื่องจากเต็งหนาน เป็นไม้มีหนามจึงไม่เหมาะที่จะนำมาปลูกไว้ในบ้านเรือน ดังนั้น การขยายพันธุ์ของเต็งหนามจะเป็นการอาศัยผลที่ร่วงลงดินแล้วเมล็ดจะงอกมาเป็นต้นใหม่ ในธรรมชาติ
องค์ประกอบทางเคมี
มีรายงานผลการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมีของเปลือกต้นของเต็งหนาน พบว่าประกอบไปด้วยสารหลายชนิด อาทิเช่น สารกลุ่ม bisabolane sesquiterpenes ได้แก่ (E)-4-(1,5-dimethyl-3-oxo-1-hexenyl) benzoic acid, (E)-4-(1,5-dimethyl-3-oxo-1,4-hexadienyl) benzoic acid, (R)-4-(1,5-dimethyl-3-oxo-4-hexenyl) benzoic acid, (-)-isochaminic acid, (R)-4-(1,5-dimethyl-3-oxohexyl) benzoic acid (ar-todomatuic acid) และยังพบ สารอื่นๆ ได้แก่ 5-allyl-1,2,3-trimethoxybenzene (elemicin), (+)-sesamin and 4-isopropylbenzoic acid (cumic acid)
นอกจากนี้ในน้ำมันหอมระเหยจากส่วนใบของเต็งหนามยังพบสาร Tettradecanoic acid, Isophytol, Dibutyl phthalate, Phytol, 2-Propenoic acid, Pentacosane, Phthalic acid, Hepyacosane, Pentamethoxy flavone, Nonacosane เป็นต้น ส่วนน้ำมันหอมระเหยจากผลยังพบสารต่างๆ เช่น Diacetin, y-Eudesmol, a-Eudesmol, hexahydrofarnesyl acetone, Isobultyl phthalate, Isophytol, Hexadecanoic acid, Phytok isomer, Dibutyl sebacate, Citric acid, 2-propenoic acid, Phtalic acid, Erucylamide, Eicosane, Tricosane, Bis-(octylphenyl)-amine total, Dibutyl ester of sebacic acid, diterpene isomer, Carboxylic acid เป็นต้น
การศึกษาวิจัยทาฃเภสัชวิทยาของเต็งหนาม
มีผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาระบุว่ามีฤทธิ์ทาฃเภสัชวิทยาดังนี้ สารสกัดแอลกอฮอล์จากใบและต้น เป็นพิษต่อเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาว และต้านเชื้อไวรัสเอดส์ได้โดยยับยั้งเอนไซม์ reverse transcriptase ในหลอดทดลอง สารสกัดแอลกอฮอล์จากเปลือกต้นมีฤทธิ์ต้านเนื้องอก และลดความดันโลหิต ไม่มีพิษเฉียบพลันในสัตว์ทดลองและสารสกัดเมทานอลจากกิ่งเต็งหนาน มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระดดนวิธี DPPH มากที่สุดโดยมีค่า IC50 เท่ากับ 0.12 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร สารสกัดเมทานอลจากใบ มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรียก่อโรคทางเดินปัสสาวะ ดังนี้ Enterococcus faecalis, Staphylococcus aureus, Acinetobacter baumannii, Enterobacter aerogenes และ Pseudomonas aeruginosa โดยมีค่าความเข้มข้นต่ำสุดที่ฆ่าเชื้อได้ (MBC) เท่ากับ 3.41, 1.51, 4.27, 3.41 และ 9.63 mg/ml ตามลำดับ ส่วนฤทธิ์ต้านมะเร็งของสารสกัดพบว่า สารสกัดเมทานอลจากใบและกิ่งของเต็งหนามมีฤทธิ์ต้านมะเร็งทั้ง 3 ชนิด คือ มะเร็งช่องปาก (KB-Oral cavity cancer) มะเร็งทรวงอก (MCF7-Breast cancer) และมะเร็งปอด (NCI-H187-small cell lung cancer)
นอกจากนี้ สารสกัดเต็งหนาม จากเปลือกต้นมีฤทธิ์ต้านเชื้อรา Cladosporium cladosporioides (เชื้อราก่อโรคพืช) สารไอโซฟลาโวน จากใบ มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียทั้งแกรมลบ และแกรมบวกหลายชนิดอีกด้วย
การศึกษาทางพิษวิทยาของเต็งหนาม
ไม่มีข้อมูล
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
ในการใช้เต็งหนามเป็นสมุนไพรนั้นควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกับการใช้สมุนไพร ชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาด และปริมาณที่เหมาะสมที่ได้ระบุไว้ในตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในขนาด และปริมาณที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไปเพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้ สำหรับเด็กสตรีมีครรภ์ผู้ป่วยโรคเรื้อรังรวมถึงผู้ที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่องเป็นประจำทุกวัน ก่อนจะใช้เต็งหนาน เป็นสมุนไพรควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนทุกครั้ง
เอกสารอ้างอิง เต็งหนาม
- เต็งหนาม. กกยาอีสาน. สารานุกรมสมุนไพร เล่มที่ 4. หน้า 45.
- เต็งหนาน สรรพคุณเพียบ! ใบรักษาโรคทางเดินปัสสาวะ ต้มกินรักษาบิด ผสมแก้แผลติดเชื้อก็ได้. คอลัมน์โครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งพาตนเอง. มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 2-8 เมษายน 2564.
- เต็งหนาม. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก http://rrr.phargarden.com/main.php?action=viewpage&pid=229.
- Thongchai W, Liawruangrath B & Liawruangrath S, Flow injection analysis of curcumanoids content from termaric and total antioxidant capacity usig 2,2-diphenyl-l-pucrylhydrazyl assay, Food Chem, 112 (2009) 494-499.
- Dressler S, Malesian Euphorbiaceae Descriptions: Bridelia, Euphorb Gen, (1996) pp. 289.
- Adhav M, Solanki CM, Patel B& Gharia A, Evaluation of Isoflavone as an antimicrobial agent from leaves of Bridelia retusa spreng Veg. Oriental J. Chem. 18(3) (2002) 479-486.
- Ayyanar M&Igacimuthu S, Traditional Knowledge of Kani tribals im kouthalai of Triunelveli hills, tamil nadu, india. J. Ethnopharmacol. 102 (2005) 246-255.