อัคคีทวาร ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆและข้อมูลงานวิจัย

อัคคีทวาร งานวิจัยและสรรพคุณ 20 ข้อ

ชื่อสมุนไพร อัคคีทวาร
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น แคว้งคำ (ภาคเหนือ), แข่งม้า (เชียงราย), ชะรักป่า, หมอกนางต๊ะ, หลัวสามเกียน (เชียงใหม่), ตรีชวา (ภาคกลาง), ผ้าห้ายห่อคำ, หมักก้านต่อ, หูแวง, ฮังตอ (เลย), สะเม่าใหญ่ (โคราช), หมากดูกแฮ้ง (สกลนคร), มักแค้งข่า (ปราจีนบุรี), ซานไถ, หงฮวา (จีน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Clerodrendrum serratum (L.) Moon var. wallichii C.B. Clarke
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Clerodrendrum serratum (L.) Moon
วงศ์ LAMIACEAE

ถิ่นกำเนิดอัคคีทวาร

อัคคีทวาร มีชื่อเป็นภาษาสันสกฤตว่า “ภรางคิ (Bharangi)” เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปเอเชียมีเขตการกระจายพันธุ์ และนิเวศวิทยากว้าง โดยพบขึ้นกระจายพันธุ์ ตั้งแต่ปากีสถาน อินเดีย พม่า ไทย จีน มาเลเซีย จนถึงอินโดนีเซีย สำหรับในประเทศไทยสามารถพบได้ตามป่าเต็งรัง และป่าเบญจพรรณที่เปิดและค่อนข้างชื้น ที่ความสูง 500-1,000 เมตร จากระดับน้ำทะเล

ประโยชน์และสรรพคุณอัคคีทวาร

  1. ช่วยย่อยอาหาร
  2. ช่วยขับลม
  3. รักษาอาการเบื่ออาหาร
  4. แก้ปวดเกร็งในท้อง
  5. แก้คลื่นไส้อาเจียน
  6. รักษาริดสีดวงทวาร
  7. ช่วยทำให้เสมหะแห้ง
  8. ช่วยระบบทางเดินหายใจได้ดี
  9. แก้อาการอักเสบเรื้อรังของโพรงจมูก
  10. แก้แพ้อากาศ
  11. แก้ไข้
  12. รักษาโรคผิวหนัง พวกกลากเกลื้อน
  13. แก้ปวดขัดตามข้อ
  14. แก้ปวดศีรษะเรื้อรัง
  15. แก้จุกเสียดในท้อง
  16. ช่วยให้มดลูกเข้าอู่
  17. แก้หลอดลมอักเสบ
  18. ช่วยขับปัสสาวะ
  19. แก้ไข้ป่า
  20. ช่วยลดความดัน

รูปแบบและขนาดวิธีการใช้

ตำรายาไทยใช้ใบแห้งบดเป็นผง กินแก้ริดสีดวงทวาร ราก และต้น ฝนกับน้ำปูนใสให้ข้น เกลื่อนหัวริดสีดวงทวาร หรือ นำใบ 10-20 ใบ มาตากแห้ง บดให้เป็นผง แล้วคลุกกับน้ำผึ้งรวง ปั้นเป็นเม็ดขนาดเม็ดพุทรา รับประทานครั้งละ 2-4 เม็ด ทุกๆ วันติดต่อกัน 7-10 วัน

           -ใช้รักษากลากเกลื้อน โรคเรื้อน ใช้ใบ และต้นตำพอกบริเวณที่เป็นโรค

           -ใช้แก้เสียดท้อง ใช้ใบต้มรับประทาน หรือ ใช้รากผสมขิง และลูกผักชี ต้ม แก้คลื่นเหียน อาเจียน

           -ใช้เป็นยาแก้ไข้ป่า โดยฝานลำต้นเป็นชิ้นบางๆ ตากให้แห้ง ใช้ต้มกับน้ำดื่ม หรือ ใช้แก้ไข้จับสั่น โดยใช้ต้นอัคคีทวารสด 35 กรัม, เมล็ดพริกไทย 5 กรัม, เมล็ดเฉาก๊วย 5 กรัม นำมารวมกันต้มกับน้ำกินก่อนเกิดอาการไข้ประมาณ 1 ชั่วโมง

           -ใช้แก้ไอ แก้เจ็บคอโดยใช้ทั้งผลสุก และดิบ นำมาเคี้ยวแล้วค่อยๆ กลืน น้ำ

           -ใช้เป็นยาขับปัสสาวะและแก้ปวดท้อง โดยใช้ลำต้นฝานบางๆ มาตากแห้งแล้วต้มกับน้ำดื่ม ช่วยให้มดลูกเข้าอู่เร็วขึ้น และแก้อักเสบในสตรีหลังคลอด โดยนำใบสดนำมาโขลกเอาน้ำกิน

           ตำรายาพื้นบ้าน ใช้ใบแห้งป่นเป็นผงโรยในถ่านไฟ เอาควันเผารมหัวริดสีดวงทวารให้ยุบ ใบ และต้นต้มน้ำดื่ม แก้เสียดท้อง ตำพอกรักษากลากเกลื้อน โรคเรื้อน พอกแก้ปวดศีรษะเรื้อรัง ขัดตามข้อ และดูดหนอง ต้นต้มน้ำดื่ม แก้ไข้ป่า แก้ปวดท้อง แก่นเป็นยาขับปัสสาวะ ราก ผสมกับเหง้าขิง และลูกผักชี แก้คลื่นไส้ ผลสุก และดิบ เคี้ยวกินแก้ไอ

ลักษณะทั่วไปอัคคีทวาร

อัคคีทวาร จัดเป็นพุ่มไม้ยืนต้น ขนาดเล็กสูง 1-4 เมตร เปลือกลำต้นบาง ผิวเรียบ สีน้ำตาลอ่อน หรือเขียวแกมน้ำตาล ลำต้นตั้งตรง และจะแยกเป็นช่อๆ ตามกิ่งอ่อน และยอดอ่อนเป็นเหลี่ยม ใบ ออกเป็นใบเดี่ยวตามข้อ เรียงแบบเป็นวงรอบ 3 ใบ หรือ พบบ้างแบบตรงข้ามสลับตั้งฉาก มีลักษณะเป็นรูปขอบขนานแกมใบหอกแกมรูปไข่กลับ กว้าง 4-6 ซม. ยาว 15-20 เซนติเมตร ขอบใบหยักคล้ายฟันเลื่อย ดอกออกเป็นช่อตามซอกใบ และปลายยอด มีสีม่วงอ่อนเข้ม สีม่วงอ่อนอมสีฟ้า หรือ สีชมพูอ่อน โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดสั้นๆ กลีบดอกมี 5 กลีบ รูปทรงกระบอก โดยแต่ละกลีบจะมีขนาดไม่เท่ากัน ในแต่ละดอกจะมีสีน้ำตาลเข้มปกคลุม และมีกลีบเลี้ยง ขนาดเล็ก สีชมพูอ่อน ลักษณะเป็นรูปไข่กลับ 2 ใบ หุ้มอยู่ใจกลางของดอกมีเกสรเพศผู้ 4 อัน ลักษณะเป็นรูปทรงกระบอก ผล มีรูปร่างค่อนข้างกลมแกมรูปวงรี หรือ รูปไข่กลับมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 6-10 มม. ปลายแยกเป็น 2-4 พู ผลมันวาว ไม่มีขนผลสุกสีม่วงเข้มหรือดำ ส่วนเมล็ดมี 2-4 เมล็ด สีน้ำตาลรูปขอบขนาน รูปไข่หรือรูปรี ยาว 5-7 มม. ลักษณะโค้ง แข็ง ผิวขรุขระ

ต้นอัคคีทวาร

ต้นอัคคีทวาร

การขยายพันธุ์อัคคีทวาร

อัคคีทวาร สามารถ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด การปักชำ และการตอนกิ่ง โดยเฉพาะเจริญเติบโตได้ดีในดินร่วน ที่มีความชื้น และแสงแดดปานกลาง ส่วนการปลูกก็สามารถทำได้เช่นเดียวกันกับวีธีการปลูกไม้พุ่ม หรือ ไม้ยืนต้นประเภทอื่นๆ ที่ได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้

องค์ประกอบทางเคมี

มีการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีของอัคคีทวาร พบว่าสามารถแยกสารประเภท triterpenoids ได้เป็นสารหลัก 3 สาร โดยจัดเป็นสารใหม่จำนวน 1 สาร และสารประกอบประเภท iridoid glycosides ได้จากส่วนใบของอัคคีทวาร (Clerodendrum serratum) ส่วนอีกการศึกษาหนึ่งพบว่าส่วนใบของอัคคีทวารพบสาร Queretaroic acid, Glucorin, Derratagenic acid, Oleanolic acid ส่วนเปลือกรากพบสาร campesterol และ sitosterol อีกด้วย

โครงสร้างอัคคีทวาร

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของอัคคีทวาร

มีผลการศึกษาทางเภสัชวิทยาของอัคคีทวาร พบว่ามีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย จากส่วนสกัดเอทานอลของอัคคีทวาร ส่วนสกัดหยาบเอทานอลของรากอัคคีทวาร (Clerodendrum serratum) แสดงฤทธิ์ antinociceptive, ต้านการอักเสบ และลดไข้ในสัตว์ทดลองได้ ส่วนอีกงานวิจัยหนึ่งได้ระบุผลการศึกษาทางเภสัชวิทยาไว้ว่า อัคคีทวาร มีฤทธิ์ต้านการแพ้ ต้านฮีสตามีน ต้านการบีบตัวของลำไส้ และสามารถลดความดันโลหิตได้ ฆ่าเชื้อ ส่วนสารสกัดเปลือกรากอัคคีทวารมีฤทธิ์ฆ่าอสุจิอีกด้วย

การศึกษาทางพิษวิทยาของอัคคีทวาร

สำหรับการค้นคว้าผลการศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของอัคคีทวาร นั้นไม่พบข้อมูลมากนัก พบเพียงแต่งานศึกษาวิจัยหนึ่งที่นำสารที่สกัดได้จากทั้งต้นอัคคีทวารมาฉีดให้หนูทดลอง ในปริมาณ 20 มิลลิกรัมต่อ 1 กิโลกรัม โดยฉีดติดต่อกันเป็นระยะเวลา 20 วัน พบว่าสามารถช่วยป้องกันอาการภูมิแพ้ที่เกิดจากโปรตีนไข่ขาวได้โดยไม่พบความเป็นพิษในสัตว์ทดลองแต่อย่างใด

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

สตรีมีครรภ์ไม่ควรรับประทานสมุนไพรชนิดนี้ ส่วนผู้ที่มีโรคประจำตัวหรือผู้ที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่อง เป็นประจำ ก่อนใช้สมุนไพรอัคคีทวาร ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญก่อนทุกครั้ง ส่วนผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรงเป็นปกติ หากจะใช้สมุนไพรอัคคีทวาร ควรใช้ตามขนาด และปริมาณ ที่ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในปริมาณมากเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันมากจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้

เอกสารอ้างอิงอัคคีทวาร
  1. ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์. “อัคคีทวาร (Akkhi Thawan)”. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. หน้า 342.
  2. มหาวิทยาลัยมหิดล, คณะเภสัชศาสตร์,2539. สยามไภษัชยพฤกษ์ ภูมิปัญญาของชาติ, 77.
  3. กานดา ปานทอง. องค์ประกอบทางเคมีจากกิ่งและต้นอัคคีทวาร. รายงานการวิจัย ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ประจำปี 2545. 67 หน้า
  4. วิทยา บุญวรพัฒน์. “อัคคีทวาร”. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. หน้า 646.
  5. สำนักนายกรัฐมนตรี, องค์การสวนพฤกศาสตร์, 2538. สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์, 64.
  6. สมุนไพรยอดนิยมรางจืด กระชายดำ อัคคีทวารและว่านหอมแดงมีแจกฟรีในงานมติชนเฮลท์แคร์ 2011 ณ เพลนนารีฮอลล์ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์. นิยสารเทคโลโลยีชาวบ้าน ปีที่ 23. ฉบับที่ 504 มิถุนายน 2554. หน้า 76-78.
  7. จรัล ลีรติวงศ์, 2544. พืชสกุลพนมสวรรค์ (Clerodendrum) วงศ์กะเพรา (Lamiaceae), วิทยานิพนธ์วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยขอนแก่น.(สำเนา)
  8. อัคคีทวาร. กลุ่มยารักษาริดสีดวงทวาร. สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด. โดยการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีฯ (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก http://www.rspg.or.th/plants-data/herbs/herbs_17_4.htm.
  9. Rangaswami,S.; Sarangan,S. 1969. “Sapogenins of Clerodendron serratum constitution of a new pentacyclic triterpene acid, serratagenic acid”, Tatrahedron.25, 3701-3705.
  10. Valsaraj,R.; Pushpangadan,P.; Smitt, U.W.; Adersen, A.; Nyman,U. 1997. “antimicrobial screening of selented medicinal plants from India” J.Ethnophamacology.58, 75-83.
  11. Jacke, G.; Rimpler, H.1983. “distribution of iridoid glycosides in Clerodendrum species”, Phytochemistry. 22(8), 1729-1734.
  12. Narayanan,N. ;Thirugnanasambanthum,P.; Viswanathan,S.; Vijayasekaran,V.; Sukumar,E.1999. “Antinociceptive, anti-inflammatory  and antipyretic effects of ethanol extract of Clerodendrum serratum roots in experimental animals”,J. Eyhnophamacology.5, 237-241.