พะยอม ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆและข้อมูลงานวิจัย
พะยอม งานวิจัยและสรรพคุณ 17 ข้อ
ชื่อสมุนไพร พะยอม
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ภะยอม, กะยองดง(ภาคเหนือ), สุกรม(ภาคกลาง), ขะยอม, คะยอม(ภาคอีสาน), ยอม(ภาคใต้), ยางหยวก(น่าน), พะยอมทอง(สุราษฎร์ธานี), แคน(ร้อยเอ็ด, เลย)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Shorea roxburghii G. Don
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Shorea talura Roxb.
ชื่อสามัญ White Meranti
วงศ์ DIPTEROCARPACEAE
ถิ่นกำเนิดพะยอม
ถิ่นกำเนิดดั้งเดิมของพะยอมอยู่ในทวีปเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งในอินเดีย บังคลาเทศ พม่า ไทย ลาว กัมพูชา มาเลเซีย และอินโดนีเซีย เป็นต้น สำหรับในประเทศไทย พบขึ้นอยู่ในป่าธรรมชาติทุกภาคของประเทศ โดยสามารถพบได้ตามป่าเบญจพรรณทั้งแบบแล้งและชื้น หรือป่าดิบแล้งทั่วไปที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 60-1,200 เมตร ส่วนการกระจายพันธุ์ตามธรรมชาติของพะยอมที่มีการกระจายพันธุ์อยู่ในเขตอินเดียตะวันออก พม่า ไทย คาบสมุทรอินโดจีนและมาเลเซียรวมไปถึงศรีลังกาและฟิลิปปินส์ อีกด้วย ซึ่งพะยอมจะออกดอกระหว่างเดือนธันวาคม-กุมภาพันธ์ โดยจะผลัดใบหมดหรือเกือบหมดก่อนออกดอก นอกจากนี้ในปัจจุบันยังพบว่าพะยอมเป็นพันธุ์ไม้ที่กำลังลดน้อยลงไปเรื่อยๆ อีกด้วย
ประโยชน์และสรรพคุณพะยอม
- แก้ลม
- ช่วยบำรุงหัวใจ
- ช่วยลดไข้
- แก้ท้องร่วง
- ช่วยขับปัสสาวะ
- แก้ท้องเดิน
- แก้ท้องเสีย
- แก้อาการเป็นพิษ
- แก้ลำไส้อักเสบ
- ใช้ฝนทาสมานบาดแผล
- ใช้สมานแผลในลำไส้
- ใช้สมานแผลในกระเพาะอาหาร
- ใช่ฝนชำระแผล
- รักษาผดผื่นคัน
- ใช้เป็นยาสมานแผล
- ทำยาเย็นแก้ไข้
- แก้ร้อนใน
พะยอมเป็นพันธุ์ไม้ที่ให้ประโยชน์แก่มนุษย์หลายประการอาทิเช่น ประโยชน์ด้านการใช้งานเนื้อไม้โดยเนื้อพะยอมเหนียวแข็งแรงคล้ายไม้ตะเคียน เนื้อไม้มีสีเหลืองอ่อน ทิ้งไว้นานจะเป็นสีน้ำตาล ใช้ก่อสร้างบ้าน ไม้หมอนรองรถไฟ ซี่ล้อเกวียน เรือ ครกกระเดื่อง กระเบื้องไม้ เป็นต้น หรือใช้ทำอุปกรณ์การเกษตร และเครื่องใช้ในครัวเรือน และในปัจจุบันยังนิยมนำเนื้อไม้พะยอมมาแปรรูปเป็นเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ อีกด้วย ประโยชน์ด้านอาหาร ดอกอ่อนของพะยอมสามารถนำมารับประทานสดได้ หรือนำมาลวกจิ้มกินกับน้ำพริก หรือจะใช้ผัดกับไข่ ชุบไข่ทอดหรือจะนำมาแกงส้มก็ได้ อีกทั้งเปลือกต้นพะยอมยังสามารถใช้รับประทานกับใบชะพลูแทนหมากได้ อีกด้วย นอกจากนี้เปลือกหรือชิ้นไม้ เล็กๆ ของพะยอมยังใช้ใส่เครื่องหมักดองหรือกระบองรองรับน้ำตาลโตนดและมะพร้าวเพื่อกันเสีย ได้เช่นกัน นอกจากนี้พะยอมยังเป็นต้นไม้แข็งแรงทนทาน เหมาะสำหรับปลูกเป็นไม้ประดับและให้ร่มเงาตามบ้านเรือน หรืออาคารต่างๆ เพราะ ทรงพุ่มงดงามอายุยืนยาว ออกดอกจะออกพร้อมกันทั้งต้นสวยงามและมีกลิ่นหอมอีกด้วย
รูปแบบและขนาดวิธีใช้พะยอม
ใช้แก้ลำไส้อักเสบ ใช้สมานลำไส้ สมานแผลในกระเพาะอาหาร แก้อาการท้องเดิน แก้อาการท้องเสีย โรคท้องร่วง อาหารเป็นพิษโดยใช้เปลือกต้นพะยอมต้มกับย้ำดื่ม ใช้บำรุงหัวใจ ช่วยขับปัสสาวะ ช่วยลดไข้ โดยใช้ดอกพะยอมมาตากให้แห้ง แล้วนำมาต้มกับน้ำดื่มหรือใช้ดอกพะยอมตากแห้งมาบดให้ละเอียดชงกับน้ำร้อนดื่ม ใช้รักษาบาดแผลทั้งแผลสดและแผลอักเสบเป็นหนองโดยใช้เปลือกต้นพะยอมมาฝนแล้วนำมาทาบริเวณแผลที่เป็น
ลักษณะทั่วไปของพะยอม
พะยอมจัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง-ใหญ่ สูง 15-30 เมตร ลำต้นตรงเปลือกหุ้มลำต้นแตกเป็นสะเก็ดหนาสีน้ำตาลหรือเทาแตกตามยาว ลำต้นสามารถมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางได้มากถึง 3 เมตร มีกิ่งเป็นชั้นๆ ทรงพุ่มโปร่ง เรือนยอดเป็นพุ่มกลม กิ่งอ่อนเกลี้ยง ส่วนเนื้อไม้จะเป็นเนื้อไม้แข็ง เนื้อไม้มีสีเหลืองอ่อนหรืออมน้ำตาล และหากทิ้งไว้นานจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล มักมีเส้นสีดำหรือสีน้ำตาลเข้มเป็นเส้นพาดผ่าน ใบ เป็นแบบใบเดี่ยวเรียงสลับ รูปขอบขนาน โคนมน ปลายมนหรือหยักเป็นติ่งสั้นๆ กว้าง 3-7.5 เซนติเมตร ยาว 8-15 เซนติเมตร เนื้อใบค่อนข้างหนา เป็นมัน แผ่นใบเกลี้ยงหรือมีเกล็ดด้านล่าง ขอบใบเป็นคลื่น ใบอ่อนสีเขียวอ่อนสดใส ใบแก่สีเหลืองก่อนหลุดร่วง ก้านใบยาว 1-2.5 เซนติเมตร มีขนสั้นๆ สีน้ำตาล เส้นใบข้างโค้ง 14-18 คู่ ดอกเป็นดอกสมบูรณืเพศโดยออกเป็นช่อขนาดใหญ่ ที่ปลายกิ่งแขนงซึ่งใน 1 ช่อจะประกอบด้วยช่อย่อยหลายช่อ ยาวประมาณ 30 เซนติเมตร และในช่อย่อยจะประกอบด้วยกลุ่มดอกที่ออกตามแขนงช่อ ดอกมีขนาดเล็กสีขาวหรือเหลืองอ่อน ประกอบด้วยก้านดอกขนาดเล็ก สีเหลือง ยาวประมาณ 1-2 เซนติเมตร ถัดมาเป็นกรวยดอกสีเหลืองเช่นกัน และถัดมาเป็นกลีบดอก 3 กลีบ แต่ละดอกมีลักษณะเรียวยาว และบิดตัว ยาวประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร ภายในดอกมีเกสรตัวผู้ 15 อัน ช่อดอกเมื่อบานจะส่งกลิ่นหอมและสามารถส่งกลิ่นหอมได้ไกล ผลเป็นผลแห้งมีปีกลักษณะเป็นรูปกระสวยกว้างประมาณ 1 เซนติเมตร ยาวประมาณ 2 เซนติเมตร ซ่อนตัวอยู่ในกระพุ้ง ปีกมี 5 ปีก โดยเป็นปีกยาวรูปขอบขนาน 3 ปีก ยาวประมาณ 8 เซนติเมตร และปีกสั้นอีก 2 ปีก มีความยาวไม่เกิน 3 เซนติเมตร ในผลมีเมล็ด 1 เมล็ด เป็นเมล็ดเกลี้ยวปลายมีติ่งแหลม
การขยายพันธุ์พะยอม
พะยอมสามารถขยายพันธุ์ได้โดยวิธีการเพาะเมล็ดและการตอนกิ่งแต่วิธีที่นิยมในการขยายพันธุ์คือการเพาะเมล็ดเนื่องจากพะยอมเป็นพันธุ์ไม้ที่มีความสูงของต้นมาก อีกทั้งในปัจจุบันนี้ยังเป็นพันธุ์ไม้ที่ไม่เป็นที่นิยมในการปลูกเพราะต้องใช้พื้นที่กว้างและเป็นพันธุ์ไม้ที่โตช้าและออกดอกเพียง 1 ครั้ง/ปี จึงทำให้ไม่ค่อยเป็นที่สนใจ ของเกษตกรหรือที่นิยมไม้หอม ส่วนการขยายพันธุ์และแพร่กระจายพันธุ์ ในปัจจุบันจะเป็นการขยายพันธุ์ในธรรมชาติตามป่าต่างๆ มากกว่าการปลูกโดยมนุษย์
องค์ประกอบทางเคมี
มีผลการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีของเปลือกต้นของพะยอมที่นิยมนำมาใช้เป็นยาสมุนไพรไทย พบสารในกลุ่มแทนนิน (Tannin) ได้แก่ pyrogallol และ Catechol นอกจากนี้ ยังพบสารอื่นๆ อีกเช่น resveratrol, vaticanol A, B, C และ D เป็นต้น ส่วนอีกการศึกษาหนึ่งระบุว่าพบสาร ชนิดใหม่ที่มีการค้นพบซึ่งอยู่ในระหว่างการศึกษาฤทธิ์ทางเภสัช ได้แก่ Phayomphenol AI, Phayomphenol A2, 1’S-dyhydrophayomphenol A2, Phayomphenol B1 และ Phayomphenol B2 อีกด้วย
การศึกษาทางเภสัชวิทยาของพะยอม
มีผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของเปลือกต้นพะยอมระบุว่า มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย โดยมีการศึกษาวิจัยพบว่าสารสกัดเอทานอล 70% และสารสกัดน้ำจากเปลือกต้นพะยอมมีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย Staphylococcus aureus และ Escherichia coli ซึ่งก่อให้เกิดอาการท้องเสียได้ ส่วนการศึกษาวิจัยอีกฉบับหนึ่งระบุว่าจากการศึกษาฤทธิ์ของสารสกัดหยาบจากเปลือกพะยอมพบว่าสารสกัดจากเปลือกพะยอมมีฤทธิ์ต้านเชื้อ Colletotrichum sp. ที่แยกได้จากพริกและมะละกอด้วยวิธี tissue transplanting technique โดยทำการเลี้ยงเชื้อราที่คัดแยกได้บนอาหารเลี้ยงเชื้อราสูตร potato dextrose agar ที่ผสมสารสกัดในแต่ละความเข้มข้น (5, 10, 15 และ 20 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร) บ่มที่อุณหภูมิห้องนาน 7 วัน จากการศึกษาพบว่าทุกระดับความเข้มข้นของสารสกัดหยาบจากเปลือกต้นพะยอมทั้งสดและแห้งนำมาสกัดด้วย 95% เอทานอลมีประสิทธิภาพในการยับยั้งการเจริญของเส้นใยเชื้อรา Colletotrichum capsici และ C. gloeosporioides ได้ที่ระดับความเข้มข้น 400 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร สามารถยับยั้งการเจริญได้ดีที่สุด (100%) นอกจากนี้ยังมีการศึกษาวิจัยฤทธิ์ต้านเบาหวานจากเปลือกต้นพะยอม พบว่าสารสกัดที่ได้จากเปลือกพะยอมฤทธิ์ต้านเบาหวาน โดยสารสกัดหยาบจากเมทานอลมีฤทธิ์ในการยับยั้ง plasma glucose elevation ในหนูทดลอง และจากสารสกัดบริสุทธิ์ที่แยกได้พบว่า (-)-hopeaphenol, hemsleyanol D, (+)-α-viniferin, (-)-balanocarpol ออกฤทธิ์ในการยับยั้ง plasma glucose elevation ในหนูทดลองและสารในกลุ่ม oligostilbenoids บางชนิดมีฤทธิ์ปานกลางในการยับยั้งกิจกรรมของ α-glucosidase ซึ่งเป็นข้อสนับสนุนในกรณีที่สารสกัดบริสุทธิ์ในกลุ่ม oligostilbenoids บางชนิดมีฤทธิ์ไปยับยั้ง plasma glucose elevation ในหนูทดลอง และสารกลุ่มนี้ยังมีฤทธิ์ปานกลางในการยับยั้งกิจกรรมของ rat lens aldose reductase นอกจากนี้สารสกัดจากเปลือกพะยอมมีฤทธิ์ anti-hyperlipidemic โดยที่ (-)-hopeaphenolและ (+)-isohopeaphenol มีฤทธิ์ในการยับยั้ง plasma triglyceride elevation ที่ระดับ 200 mg/kg, p.o. และมีฤทธิ์ในการยับยั้งกิจกรรมของ pancreatic lipase มีค่า IC50 32.9 และ 26.5 μM ตามลำดับ
การศึกษาทางพิษวิทยาของพะยอม
ไม่มีข้อมูล
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
สำหรับการใช้พะยอมในการบำบัดรักษาโรคตามสรรพคุณที่ระบุไว้ในตำรับตำราต่างๆ นั้น ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลการศึกษาทางพิษวิทยา รวมถึงขนาดและปริมาณในการใช้ที่ชัดเจน และในการใช้ตามตำราต่างๆ นั้น ควรใช้ในขนาดและปริมาณที่พอดีที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำราต่างๆ ไม่ควรใช้ในขนาดที่มากเกินไป หรือใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไปเพราะอาจส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาวได้
เอกสารอ้างอิง พะยอม
- ปิยะ เฉลิมกลิ่น และคณะ. 2546. หอมกลิ่นดอกไม้เมืองไทย. จัดพิมพ์โดยโครงการ BRT บริษัทจิราวัฒน์ เอ็กเพรส จำกัด กรุงเทพฯ. 336 หน้า (147).
- เดชา ศิริภัทร. พะยอม ความหอมแห่งพงไพร จากใต้จรดเหนือ. คอลัมบ์ต้นไม้ใบหญ้า. นิตยาสารหมอชาวบ้าน เล่นที่ 276. เมษายน 2545.
- นิธิยา รัตนปานนท์. 2546. สารประกอบฟีนอลิก. สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์, กรุงเทพฯ, 256 หน้า.
- นิสิทธิ์ ศรีวิรัตน์. 2536. ประสิทธิภาพการการยับยั้งจุลินทรีย์ในน้ำตาลตะโหนดสดโดยการใช้สารสกัดจากไม้เคี่ยมและไม้พะยอม. ปัญหาพิเศษวิทยาศาสตรบัณฑิต.มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
- เพชรนิยม ลัทธิรมย์และคณะ. 2555. ฤทธิ์ต้านเชื้อราของสารสกัดหยาบจากเปลือกพะยอมในการต้านเชื้อรา Colletotrichum sp. วิทยานิพนธ์วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต. สาขาวิชา ชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี.
- พะยอม. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก http:// rrr. Phargarden. Com/main.php? action=viewpage&pid= 248.
- พะยอม (white meranti) ประโยชน์และสรรพคุณพะยอม. พืชเกษตรดอทคอม เว็บเพื่อเกษตรไทย (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก http:// www.puechkaset.com
- Morikawa T, Chaipech S, Matsuda H, Hamao M, Umeda Y, Sato H, Tamura H, Kon’I H, Ninomiya K, Yoahikawa M, Pongpiriyadacha Y, Hayakawa T, Muraoka O. 2012b. Anti-hyperlipidemic constituents from the bark of Shorea roxburghii. J. Nat Med. 10: 1007/s11418-011-0619-6.
- Morikawa T, Chaipech S, Matsuda H, Hamao M, Umeda Y, Sato H, Tamura H, Kon’I H, Ninomiya K, Yoahikawa M, Pongpiriyadacha Y, Hayakawa T, Muraoka O. 2012a. Antidiabetogenic oligostilbenoids and 3-ethyl-4-phenyl-3,4-dihydroisocoumarins from the bark of Shorea roxburghii. Bioorganic & Medicinal Chemistry. 20 : 832–840.