สลัดไดป่า ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย
สลัดไดป่า งานวิจัยและสรรพคุณ 19 ข้อ
ชื่อสมุนไพร สลัดไดป่า
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น สลัดได (ภาคกลาง), เดี๊ยะผา, เดี๊ยะยา, หงอนงู (ภาคเหนือ), กระลำพัก (โคราช), ทูดุแกละ (กะเหรี่ยง), ป้าหวางเปียน, หั่วยานเล่อ (จีน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Euphorbia antiguorum Linn.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Euphorbia mayuranathanii Croizat, titymalus antoquorus
ชื่อสามัญ Triangular spurge, Malayan spurgetree, Milkbush
วงศ์ EUPHORBIACEAE
ถิ่นกำเนิดสลัดไดป่า
สลัดไดป่า เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในเขตร้อนของทวีปเอเชีย บริเวณเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียใต้ในแถบประเทศอินเดีย ศรีลังกา เนปาล บังคลาเทศ พม่า ไทย ลาว กัมพูชา มาเลเซีย อินโดนีเซีย เป็นต้น โดยจัดเป็นพืชพวกเดียวกันกับกระบองเพชร สำหรับในประเทศไทยพบได้ทั่วไป ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศแต่จะพบน้อยในภาคกลาง โดยส่วนมากจะพบสลัดไดป่าในบริเวณป่าดิบแล้ง หาดทรายริมทะเลและบนภูเขาหินปูนหรือที่แห้งแล้วบนภูเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเล จนถึง 800 เมตร
ประโยชน์และสรรพคุณสลัดไดป่า
- บำรุงหัวใจ
- บำรุงตับ
- บำรุงปอด
- แก้ไข้
- แก้พิษเสมหะ
- แก้ธาตุพิการ
- แก้โลหิต
- ใช้เป็นยาถ่ายพยาธิในท้อง
- ฆ่าพยาธิผิวหนังต่างๆ (น้ำยาง)
- ทากัดหูด (น้ำยาง)
- ขับโลหิตเน่าร้าย
- ใช้ถ่ายอุจจาระ
- ใช่ถ่ายพิษ
- ใช่ถ่ายหัวริดสีดวงลำไส้
- รักษาริดสีดวงทวารหนัก
- ใช้เป็นยาถ่ายอย่างแรง
- แก้กระเพาะลำไส้อักเสบ
- แก้ปวดบวม
- ขับความชื้น
ส่วนอีกด้านหนึ่งคือนำมาทำยาสมุนไพรโดยในตำรายาไทยและตำรายาสมุนไพรพื้นบ้านได้ระบุถึงสรรพคุณสลัดไดป่า ได้ระบุว่ากระลำพัก (แก่นของสลัดไดป่าที่ยืนต้นตาย) มีรสขมกลิ่นหอม เป็นตัวยาสำคัญในการตั้งตำรับยาหอม
รูปแบบและขนาดวิธีใช้สลัดไดป่า
ใช้บำรุงหัวใจ ตับและปอด ใช้แก้ไข้แก้ธาตุพิการ แก้พิษโลหิตและเสมหะ โดยใช้กระลำพักมาต้มกินกับน้ำหรือใช้ฝน รับประทานกับน้ำอุ่นก็ได้ ใช้แก้กระเพาะลำไส้อักเสบ แก้ปวดบวม ขับพิษ ขับความชื้นโดยใช้ใบ ในด้านการเป็นไม้ประดับมีการนำต้นสลัดไดป่า มาปลูกเป็นรั้วบ้าน เพื่อช่วยป้องกันคนและสัตว์ หรือใช้ปลูกตามส่วนหย่อมหรือปลูกประดับตามอาคารสถานที่ทั่วไปเนื่องจากมีรูปร่างแปลกตาดูสวยงาม ส่วนน้ำยางมีความเป็นพิษสูงก่อนนำมาใช้ควรทำการฆ่าฤทธิ์ก่อนซึ่งมาเรียกกันว่า “การประสะยางสลัดได” ซึ่งทำโดยผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น (ไม่แนะนำใช้ส่วนของยางเอง)
ลักษณะทั่วไปของสลัดไดป่า
สลัดไดป่า จัดเป็นไม้พุ่มหรือไม้ยืนต้นขนาดเล็ก สูง 3-8 เมตร ลำต้นทรงกระบอกมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 22 เซนติเมตร ลำต้นแก่มักตั้งตรง แตกกิ่งก้านมาก เป็นรูปสามเหลี่ยม อวบน้ำ มี 3 มุม บริเวณสันขอบเป็นหยักมีหนามสีดำออกเป็นคู่ตามร่องหยัก และมีเปลือกสีน้ำตาล ส่วนต้นที่ยังไม่แก่มักมีผิวเรียบ สีเขียวทุกส่วนมีน้ำยางสีขาว
ใบ เป็นใบเดี่ยวออกแบบเรียงสลับตามแนวสัน มีขนาดเล็กเป็นรูปไข่กลับ หรือรูปขอบขนานอวบน้ำ กว้าง 1-2 เซนติเมตร ยาว 2-5 เซนติเมตร โคนใบมนเป็นรูปลิ่มปลายโค้งกว้างขอบใบเรียบ ออกดอกเป็นช่อสั้นๆ เป็นรูปถ้วยโดยจะอกเป็นกลุ่มตามแนวสันเหนือหนามหรือตามซอกใบซึ่งจะมีดอกเพศผู้และดอกเพศเมียอยู่ในช่อเดียวกันและดอกทั้ง 2 เพศจะไม่มีกลีบดอก แต่จะมีความยาวไม่เกิน 2 เซนติเมตร สีเหลือง 5 ใบ โดยในช่อหนึ่งจะมีดอกเพศเมียดอกเดียว และมีดอกเพศผู้หลายดอก
ผล เป็นผลแห้งรูปเกือบทรงกลม มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 4-7 มิลลิเมตร โดยผลจะมี 3 พู สีส้มอมสีเหลืองหรือสีน้ำตาลเข้มเมื่อผลแห้งจะแตกออกในผลมีเมล็ด รูปรีผิวเกลี้ยงสีน้ำตาลแกมเทา
การขยายพันธุ์สลัดไดป่า
สลัดไดป่าเป็นพืชในกลุ่มกระบองเพชรที่สามารถขยายพันธุ์ได้โดยวิธีการเพาะเมล็ดและการปักชำ แต่วิธีที่เป็นที่นิยมคือการปักชำโดยมีวิธีการดังนี้ ขึ้นแรกทำการขดหลุมลึก 15-20 เซนติเมตร ใส่ปุ๋ยคอกรองก้นหลุม 1 กำมือ โดยแต่ละหลุมควรห่างกัน 1 เมตร ขึ้นไป เมื่อเตรียมหลุมเรียบร้อยแล้วให้ตัดกิ่งสลัดไดป่า โดยควรตัดยาวประมาณ 30 เซนติเมตร จากนั้นฝังลงไปในก้นหลุมประมาณ 15 เซนติเมตร แล้วกลบดินให้แน่น แล้วจึงรดน้ำเพื่อให้สลัดไดป่างอกรากได้ดี ทั้งนี้สลัดไดป่าสามารถปลูกได้ทุกฤดูกาล แต่หากปลูกฤดูแล้ง ควรรดน้ำในช่วงแรก
องค์ประกอบทางเคมี
มีรายงานผลการศึกษาองค์ประกอบทางเคมีจากส่วนต่างๆ ของสลัดไดป่า ระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิด ดังนี้ ในน้ำยางพบสารกลุ่มเทอร์ปีนอยด์ ได้แก่ antiquol B,C,euphorbol, isohellianol, caoutchouc, camelliol, lemmaphtlla-7,21-dien-3beta-ol รวมทั้งสารพวก deoxyphorbol เช่น euphorbin และมี tetracyclic diterpene และ ester เช่น ingenol, 12-deoxyphorbal และสารกลุ่ม tricyclic diterpene ได้แก่ tinyatoxim และ huratoxin นอกจากนี้ยังพบสาร Beta-amyrin, cyclortenol,Beta-euphorbol อีกด้วย เป็นต้น ส่วนองค์ประกอบทางเคมีของกระลำพัก กระลำพักเป็นชื่อเรียกของยาที่ได้จากแก่นของสลัดไดป่าแก้ที่ยืนต้นตาย ทำให้แก่นเปลี่ยนเป็นเนื้อไม้แข็ง
การศึกษาทางเภสัชวิทยาของสลัดไดป่า
มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยา สารสกัดจากส่วนต่างๆ ของสลัดไดป่า ระบุว่ามีฤทธิ์ต่างๆ ดังนี้
ฤทธิ์ต่อเซลล์มะเร็ง มีรายงานการทดสอบพบว่า น้ำยาจากต้นสลัดไดป่าเมื่อใช้ร่วมกับยาเคมีบำบัดสำหรับรักษาโรคมะเร็งทำให้การรักษามีประสิทธิภาพดีขึ้น เนื่องจากน้ำยางไม่มีความเป็นพิษต่อเซลล์ และเมื่อให้ในขนาดมาตรฐานร่วมกับยาเคมีบำบัด ในเซลล์ไบโบรบลาสของตัวอ่อนของลูกไก่ พบว่าสามารถลดความเป็นพิษ ของยาเคมีบำบัดลงได้จึงอาจนำมาพัฒนาร่วมกับยาเคมีบำบัดเพื่อรักษาโรคมะเร็ง นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าสามารถเหนี่ยวนำทำให้เกิดกระบวนการ apoptosis (ขบวนการในการกำจัดเซลล์ผิดปกติ และเซลล์มะเร็งภายในร่างกาย) โดยสามารถกำจัดเซลล์มะเร็งปากมดลูก ในหลอดทดลองได้ โดยการกำจัดผ่านกระบวนการ apoptosis และยังมีการศึกษาวิจัยพรีคลินิกพบว่า กระลำพักมีสารกลุ่มไดเทอร์พีนอยด์บางชนิด เช่น Deoxyantiquorin มีพิษต่อเซลล์มะเร็งบางชนิดในหลอดทดลองและยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์ เช่น เซลล์มะเร็งเต้านม เซลล์มะเร็งปอดและปากมดลูก อีกด้วย
ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและป้องกันเซลล์ตับถูกทำลาย มีการศึกษาวิจัยพบว่าสารสกัดสลัดไดป่า จากส่วนเหนือดิน ช่วยป้องกันเซลล์ตับถูกทำลาย และมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ โดยการทดสอบฤทธิ์ต้านอนูมูลอิสระ hydroxyl และต้านอนุมูลอิสระ superoxide anion พบว่ามีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระในทั้ง 3 วิธีการทดสอบ ได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ที่ความเข้มข้น 20 40 60 80 100 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร ตามลำดับ ซึ่งในการศึกษาในหลอดทดลองพบว่าขนาดที่มีสารสกัดผลต่อประสิทธิภาพในการป้องกันเซลล์ตับถูกทำลายได้อย่างมีนัยสำคัญ เท่ากับ 125,250 mg/kg โดยสามารถลดระดับเอนไซม์ในซีรั่ม billrubin, cholerterol triglyceride และปฏิกิริยาการออกซิเดชั่นของไขมัน ในขณะที่มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของระดับเอนไซม์ต้านอนุมูลอิสระกลูต้าไธโอนในเนื้อเยื่อ โดยขึ้นกับขนาดสารสกัดที่ใช้ทดสอบ อีกทั้งฤทธิ์ป้องกันเซลล์ตับและต้านอนุมูลอิสระจากสารสกัดมีความสามารถเทียบเท่ากับสารมาตรฐาน silymarin,sodium metabisulphite ตามลำดับ จากการศึกษานี้ยืนยันผลขอการใช้ตามสรรพคุณแผนโบราณที่นำยาต้มของสลัดไดป่ามาใช้รักษาโรคดีซ่าน
ฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือด มีรายงานการศึกษาวิจัยโดยเมื่อให้สารสกัดเอทานอลจากต้นสลัดไดป่าแก่สัตว์ทดลอง หลังจากนั้น 1 ชั่วโมงพบว่า ระดับน้ำตาลในเลือดลดลง 30.11% นอกจากนี้สารสกัดเอทานอลและยามาตรฐาน glibencamide ยังแสดงฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือดได้อย่างมีนัยสำคัญ ที่เวลา 8 ชั่วโมง หลังจากได้รับการทดสอบโดยระดับน้ำตาลในเลือดลดลงเท่ากับ 69.22, 83.32% ตามลำดับ ส่วนสารสกัด petroleum ether และสารสกัดน้ำ มีฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือดได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ที่ชั่วโมงที่ 4 หลังได้รับสารสกัด โดยระดับน้ำตาลในเลือดลดลงเท่ากับ 33.29%, 28.29% ตามลำดับ และหลังจากชั่วโมที่ 4 ระดับน้ำตาลในเลือดลดลง แต่ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ
ฤทธิ์ต้านอักเสบและต้านการอักเสบของข้อ มีการศึกษาวิจัยของสลัดไดป่าด้วยน้ำ ด้วยแอลกอฮอลล์พบว่ามีฤทธิ์ต้านการอักเสบและต้านการอักเสบขอข้อ โดยพบว่าสลัดไดป่ามีสารกลุ่ม triterpenoids ในลำต้นและมี diterpenoids ในน้ำยาง ซึ่ง triterpenoids หลายชนิดมีฤทธิ์ต้านการอักเสบโดยฤทธิ์ต้านการอักเสบของ triterpenoids มีหลายกลไก รวมทั้งการยับยั้งการทำงานของ lipoxygenase, cyclooxygenase ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการเกิดการอักเสบอีกด้วย
การศึกษาทางพิษวิทยาของสลัดไดป่า
มีรายงานผลการศึกษาวิจัยของสลัดไดป่า ระบุว่าส่นของน้ำยางมีพิษมากโดยสารที่พบเป็นสารในกลุ่ม tetracyclic diterpene ได้แก่ phorbol derivative ซึ่งหากถูกผิวหนังจะมีฤทธิ์ทำให้ปวด ผิวหนังอักเสบเป็นผื่นแดง บวมพองเป็นตุ่มน้ำ หากเข้าหรือสัมผัสตาจะทำให้เยื่อบุตาอักเสบ และตาบอดชั่วคราว หากรับประทานเข้าไปจะทำให้อาเจียนและถ่ายท้องอย่างรุนแรงเยื่อบุผนังกระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบ ม่านตาหด แต่หากรับมากอาจเกิดอาการสั่น และเสียชีวิตได้
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
สตรีมีครรภ์และเด็กห้ามรับประทานสลัดไดป่าเป็นยาสมุนไพร สำหรับการใช้สลัดไดป่าเป็นยาสมุนไพรควรเตรียมโดยผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น ห้ามเตรียมยาด้วยตัวเอง เนื่องจากสลัดไดป่าเป็นพืชที่มีความเป็นพิษสูงหากเตรียมยาไม่ถูกวิธีอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตได้ สำหรับการแก้พิษของสลัดไดป่า เบื้องต้นนั้นสามารถทำได้ดังนี้ หากรับประทานเข้าไปให้รีบอาเจียนแล้วรีบนำส่งโรงพยาบาล เพื่อล้างท้อง
เอกสารอ้างอิง สลัดไดป่า
- ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์. สลัดได (Salad dai). หนังสือสมุนไพรไทย เล่มที่1. หน้า 290.
- วิทยา บุญวรพัฒน์. สลัดได (กระลำพัก). หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. หน้า 538.
- กระลำพัก. คู่มือการกำหนดพื้นที่ส่งเสริมการปลูกสมุนไพรเพื่อใช้ในทางเภสัชกรรมไทย เล่มที่ 1. กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข. กันยายน 2558. หน้า 22-23.
- สลัดไดป่า. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. หน้า 108.
- สลัดไดป่า. ศูนย์ข้อมูลพืชพิษ. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
- สลัดไดป่า . ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี(ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก http://www.phargarden’com/main.php?action=viewpage&pid=308
- Prasant Y, Kritika S, Anurag M. A Review on phytochemical, medicinal and pharmacological profile pf Euphorbia antiquorum IJPPR. 2015;4:56-67.