มะนาวผี ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

มะนาวผี งานวิจัยและสรรพคุณ 9 ข้อ
 

ชื่อสมุนไพร มะนาวผี
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น มะลิ่ว, จะลิ่ว, ขี้ติ้ว (ภาคเหนือ), นางกาน (ภาคอีสาน), มานาวพลี, กะนาวพลี, กรูดผี (ภาคใต้), กรูดเปรย (ภาคตะวันออก, เขมร)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Atalantia monophylla DC.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Atalantia carissoides Wall, A floribunda Wight, A puberula Miq., A malabarica Yu. Tanaka, A platystigma Wight, An umbellate
ชื่อสามัญ Indian atalantia, Wild lime
วงศ์ RUTACEAE

ถิ่นกำเนิดของมะนาวผี

มะนาวผี เป็นพืชในวงศ์ส้ม (Rutaceae) ชนิดหนึ่งที่มีถิ่นกำเนิดกระจายอยู่ในภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริเวณประเทศอินเดีย บังคลาเทศ ศรีลังกา พม่า ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย และอินโดนีเซีย เป็นต้น สำหรับในประเทศไทย สามารถพบได้ทุกภูมิภาคของประเทศ โดยพบได้บริเวณชายฝั่ง ป่าชายหาด ป่าเต็งรัว ป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณหรือป่าบนเขาหินปูน ที่ระดับความสูงตั้งแต่ระดับน้ำทะเลจนถึงประมาณ 1500 เมตร

ประโยชน์และสรรพคุณมะนาวผี

  • ใช้แก้โรคทางเดินหายใจ
  • แก้ท้องเสีย
  • แก้จุกเสียด
  • รักษาโรคผิวหนัง
  • รักษาโรคหัวใจ
  • แก้โรคไขข้ออักเสบ
  • แก้ลมวิงเวียง
  • ช่วยผ่อนคลายหรือลดความเครียด
  • แก้โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์

           มะนาวผี ถูกนำมาใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ ส่วนของเนื้อไม้มะนาวผีมีความเหนียวสามารถใช้ทำเป็นเครื่องมือเครื่องใช้หรือเครื่องเรือนภายในบ้าน และสามารถใช้ทำเฟอนิเจอร์ได้ ส่วนประโยชน์อีกอย่างหนึ่งของต้นมะนาวผีคือสามารถนำมาใช้ปลูกเป็นไม้ประดับตามอาคารสถานที่ต่างๆ สวนสาธารณะหรือปลูกตามบ้านเรือนได้ นอกจากนี้ในปัจจุบันน้ำมันหอมระเหยจากมะนาวผี ยังสามารถนำมาใช้เป็นส่วนประกอบในการทำน้ำหอม แชมพู น้ำยาล้างจาน และยาถูนวดและยังมีข้อมูลในต่างประเทศอีกว่าในบางประเทศได้มีการนำผลสุกของมะนาวผีมาดองกินอีกด้วย

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

ใช้แก้โรคทางเดินหายใจ แก้จุกเสียด แก้ท้องเสีย รักษาโรคผิวหนัง โดยนำใบสด 100-150 กรัม ต้มน้ำดื่ม วันละ 2 ครั้ง หลังอาหารเช้า-เย็น ใช้รักษาโรคทางเดินหายใจโดยใช้ผลสุกฝานตากแห้งแล้วนำมาต้มกับน้ำดื่ม เช้า-เย็น ใช้แก้ไขข้ออักเสบรูมาตอยด์ โดยใช้น้ำมันจากเปลือกผลมาทาบริเวณที่เป็น ใช้ผ่อนคลายความเครียด ลดความวิตกกังวล แก้ลมวิงเวียน โดยใช้น้ำมันจากเปลือกผลหรือน้ำมันหอมระเหยจากส่วนต่างๆ ของมะนาวผี มาเจือจางและสูดดม ส่วนตำรับยาทางอายุรเวทและสิทธา ซึ่งเป็นการแพทย์ดั้งเดิมของอินเดีย ระบุว่าน้ำมันจากเปลือกผลแล้วนำน้ำมันมาอุ่นให้ร้อนใช้ทาแก้โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์


ลักษณะทั่วไปของมะนาวผี

มะนาวผี จัดเป็นไม้พุ่ม หรือ ไม้ยืนต้นขนาดเล็กเรือนยอดเป็นพุ่มกลมแน่นทึบ ลำต้นคดงอ สูง 2-6 เมตร ลำต้น และกิ่งสีน้ำตาลรูปร่างเป็นเหลี่ยมมีหนามยาว ตามซอกใบหนามยาว 1-1.5 ซม. และมีรอยแตกตื้นๆ ตามยาวของลำต้น

           ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงเวียนสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ หรือ รูปรี กว้างประมาณ 1.8-4.5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 4.8-8 เซนติเมตร โคนใบเป็นรูปลิ่มกว้าง ปลายใบป้านเป็นติ่ง ขอบใบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย แผ่นใบเป็นมันแผ่เรียบ หนาคล้ายแผ่นหนัง ด้านบนใบเป็นสีเขียวเข้ม มีต่อมน้ำมันเป็นจุดโปร่งแสง ส่วนท้องใบมีสีเขียวอ่อน ผิวใบเกลี้ยงทั้งสองด้าน มีเส้นข้างใบประมาณ 5-7 คู่ ส่วนก้านใบยาวประมาณ 4-8 มิลลิเมตร และเมื่อนำใบมาขยี้ดมจะมีกลิ่นคล้ายใบส้ม

           ดอก ออกเป็นช่อกระจุก แบบช่อซี่ร่ม บริเวณซอกใบ ก้านช่อดอก มีใบประดับย่อย มีขนรูปใบหอก ยาวประมาณ 1.5 มิลลิเมตร ส่วนกลีบดอกเป็นสีขาว มี 4-5 กลีบ แยกจากกัน รูปอบขนานแกมรูปรี ยาว 6-8 มิลลิเมตร เกสรเพศผู้ 8-10 อัน ยาวไม่เท่ากันสลับกันระหว่างสั้นกับยาว ดอกมีกลิ่นหอม และมีก้านดอกเกลี้ยง ยาว 0.8-1.5 เซนติเมตร 

           ผล เป็นผลสดขนาดเล็ก มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2-4 เซนติเมตร มีลักษณะกลมหรือรี ผิวผลเรียบหนาคล้ายหนังและมีต่อมน้ำมันเป็นจุดหนาแน่น สีเขียว หรือเ ทา แต่เมื่อผลสุกจะมีสีเหลือง ที่ปลายผลมีก้านเกสรตัวเมีย ติดทน ภายในผลเป็นกลีบคล้ายกลีบส้ม และมีเมล็ดรูปขอบขนานหรือรูปรีสีขาวอยู่เล็กน้อย

มะนาวผี

มะนาวผี 

การขยายพันธุ์มะนาวผี

มะนาวผี สามารถขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ดและการปักชำกิ่ง สำหรับการเพาะเมล็ดและการปักชำกิ่งสามารถทำได้เช่นเดียวกับการเพาะเมล็ดและการปักชำกิ่งของมะนาวและมะกรูด ซึ่งได้กล่าวมาแล้วในบทความ มะนาว และ มะกรูด ก่อนหน้านี้

องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยหลายฉบับระบุถึงองค์ประกอบทางเคมีของสารสกัดส่วน ใบ ราก และน้ำมันหอมระเหยจากส่วนใบระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิดอาทิเช่น Acidin-9-one, N-methyl, 1,5-dihydroxy-2, 3-dimethoxy, anglelicin, arachidic acid, atalantin, atalantin-α-diketone, atalantolide, atalaphyllidine, atalaphyllin, atalaphylline-3, 5-dimethyl ether, atalaphylline, N-methyl, atalaphyllinine, N-methyl, palmitic acid butyl ester, auraptene, bicycloatala-phylline, N-methyl: α-bisabolol cycloepiatalantin, eugenol isomrthyl ether, marmesin, pyropheophorbide A, nonacosan-10-one, palmitic acid, psoralen, sabinene, severine, severine palmitate, Beta-sitostenone, Beta-sitosterol, stearic aicd, Xanthyletin.α-pinene, α-terpinene, para-cymene, ortho-cymene, limonene, linalool, Terpinene-4-ol, Decanal, Thymol methyleter, Methyl decanoate, Methyl eugenol, cis-caryophyllene, α-gurjinene, trans-isoeugenol, Germacrene D, Elemicin, Caryophyllene oxide,α-cadinol เป็นต้น

 

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของมะนาวผี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของสารสกัดมะนาวผี ระบุว่ามีฤทธิ์ต่างๆ ดังนี้ มีการศึกษาวิจัยสารสกัดของมะนาวผีเพื่อศึกษาการต้านอนุมูลอิสระช่วงความเข้มข้น 250 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร แสดงฤทธิ์ 69.04% ของ DPPH ในการกำจัดอนุมูลอิสระด้วยค่า IC50 ที่ 198.97+- 0.002 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร ฤทธิ์ขับไอออนของเหล็กและฤทธิ์การขจัดอนุมูลไฮดรอกซิลของน้ำมันที่ความเข้มข้นสูง โดยมีค่า IC50 204.78+- 0.002 , 199.35+- 0.003 ไมโครกรัม/มล. ตามลำดับ นอกจากนี้สารสกัดจากใบมะนาวผี ยังมีฤทธิ์ต้านเอนไซม์อะซิทิลโคลินเอสเทอร์เรส โดยพบว่าสาร Lupaligenin แสดงเปอร์เซ็นต์การยับยั้งที่ 79% โดยออกฤทธิ์ที่ดีกว่า tacrine ถึง 1.4 เท่า อีกด้วย

           ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย มีการศึกษาวิจัยฤทธิ์ต้านแบคทีเรียของน้ำมันหอมระเหยจากมะนาวผี พบว่ามีฤทธิ์ต้านแบคทีเรียต่อเชื้อต่อ Aeromonas hydrophila ตามด้วย Proteus miraillis, Pseudomonas auuroginosa, Proteus vulgaris, Escherichia Coli และแสดงฤทธิ์ยับยั้งน้อยที่สุดต่อเชื้อ Klebsiella pneumonia, Staphylococcus aureus นอกจากนี้ในผลการศึกษาวิจัยอื่นๆ ยังระบุถึงฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาอื่นๆ อีกว่า มีฤทธิ์ต้านเชื้อรา ต้านเชื้อมาลาเรีย ต้านไวรัสเริมชนิดที่ 2 และยังมีฤทธิ์ฆ่าไข่ยุงรำคาญและลูกน้ำยุงก้นปล่องอีกด้วย

การศึกษาทางพิษวิทยาของมะนาวผี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาจากสารสกัดของมะนาวผี ระบุว่า  มีการทดสอบความเป็นพิษพบว่า สารสกัดเอทานอล 50% จากส่วนเหนือดินเมื่อฉีดเข้าช่อท้องของหนูถีบจักรพบว่า ขนาดที่ทำให้สัตว์ทดลองตายร้อยละ 50 มีค่า 600 มก./กก.

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

ผู้ที่แพ้พืชในวงศ์ส้ม (Rutaceae) ควรระมัดระวังในการใช้มะนาวผีเพราะมะนาวผีเป็นพืชในวงศ์ส้ม ส่วนในการใช้เป็นสมุนไพร ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาดและปริมาณที่เหมาะสมที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในขนาดและปริมาณที่มากจนเกินไปหรือใช้ต่อเนื่องกันนานจนเกินไปเพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้ สำหรับเด็ก สตรีมีครรภ์รวมถึงผู้ป่วยโรคเรื้อรังและผู้ที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่องเป็นประจำก่อนใช้มะนาวผี เป็นยาสมุนไพรควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนใช้ทุกครั้ง

เอกสารอ้างอิง มะนาวผี 
  1. พญ. เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ. มะนาวผี. หนังสือสมุนไพรแห่งชาติภาคเหนือ. หน้า 156.
  2. มัณฑนา นวลเจริญ. พรรณไม้ป่าชายหาด. ปทุมธานี. สำนักพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ 2552. หน้า 117.
  3. สุรพงษ์ เก็งทอง.สมุนไพรพื้นบ้านในหมู่เกาะแสมสาร. รายงานวิจัยโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมากจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. ภาควิชาเภสัชเวท และเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. หน้า 40-41.
  4. ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์. มะนาวผี. หนังสือสมุนไพรพื้นบ้าน เล่ม 1. หน้า 225.
  5. มะนาวผี. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage&pis=264.
  6. Kathirvelu B., et al. Antifeedant larvicidal and pupicidal activities of atalatia mpnpphylla L Correa against Helicaverpa armigera Hubner Chemodphere 75,3 2009. 335-359.
  7. Chasakaow S, Ruangrunsri N, Ishikawa T. Isolation of pyropheophorbide a from the leaves of atalantia monophylla CORR. As a possible antiviral active principle against herpes simplex virus type2. Chem Phram Bull 1996;44:1415-7.
  8. Laboratory evaluation of methanolic extract of atalantoa monophylla agaist immature stages of mosquitoes and non-target organisms. Mem. Inst. Oswaldo Cruz 2004;99.
  9. Arnon C et al. Potential anti-allergic acridone alkaloids from the roots of atalantia monophylla. Phytochemistry 69,14,2008:2616-2620.
  10. Prasad YR. Chemical investigation and antimicrobial efficacy of the volatile leaf oil of atalantia monophylla Corr.Prafuemerie Kosmetik 1988;69 418-9.
  11. Hooker JD. Order XXXIII. Rutaceae. The flora of british india vol 1. Ashford: L. Reeve&co., LTD., 1875: 484-512.