แครอท ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

แครอท งานวิจัยและสรรพคุณ 26 ข้อ

ชื่อสมุนไพร แครอท, แคร์รอต
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น หัวผักกาดแดง, หัวผักกาดเหลือง, ผักชีหัว (ทั่วไป)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Daucus carota Linn. Subsp. Sativus Thell.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Daucus sativus Hoffm.
ชื่อสามัญ Carrot
วงศ์ UMBELLIFERAE


ถิ่นกำเนิดแครอท

แครอทมีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในแถบเอเชียกลาง จนถึงเอเชียตะวันออก ต่อมาได้มีการนำเข้าไปในปลูกในยุโรป เอเชีย และประเทศจีน สำหรับในประเทศไทยปัจจุบันสามารถพบแครอท ได้มากทางภาคเหนือ และภาคกลางของประเทศโดยเฉพาะที่ที่มีอากาศหนาวเย็น

ประโยชน์และสรรพคุณแครอท

  • ป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง
  • ป้องกันการเกิดโรคหัวใจ
  • บำรุงและรักษาสายตา
  • รักษาโรคตาฟาง
  • รักษาต้อกระจก
  • ช่วยลดคอเลสเตอรอล
  • ช่วยลดความดันโลหิต
  • รักษาระดับน้ำตาลในเลือด
  • เพิ่มการไหลเวียนของเลือด
  • ช่วยย่อยอาหาร
  • บรรเทาอาการท้องผูก
  • ช่วยขับปัสสาวะ
  • แก้ไอ
  • ใช้เป็นยาถ่าย
  • ช่วยบำรุงสุขภาพผิว
  • ช่วยป้องกันเซลล์ผิว
  • บำรุงเส้นผม
  • ช่วยเสริมสร้างการเจริญเติบโตของร่างกาย
  • บำรุงกระดูก
  • บำรุงฟัน
  • บำรุงเหงือก
  • บำรุงเล็บ
  • ต้านอนุมูลอิสระ
  • ช่วยชะลอวัย
  • ช่วยสร้างภูมิต้านทานโรค
  • ยับยั้งการเกิดโรคมะเร็ง

           นอกจากนี้ยังมีการนำแครอทมาใช้ประโยชน์ในด้านความงาม เช่นมีการนำน้ำแครอทผสมมะนาว ทาผิวหน้าบำรุงผิวพรรณ ลดรอยเหี่ยวย่นบนใบหน้า และใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอางบางชนิด โลชั่นทาผิว โลชั่นทาหน้า และสบู่แครอท เป็นต้น

            แครอท ถูกนำมาใช้บริโภคทั้งในรูปแบบอาหารคาว และหวาน รวมถึงในการนำมาบริโภคก็สามารถบริโภคได้ทั้งแบบสด และแปรรูป หรือ นำมาประกอบอาหาร เช่น ผัดแครอท ต้มจืด ต้มซุปต่างๆ น้ำแครอทพร้อมดื่ม น้ำแครอทเข้มข้น เครื่องดื่มแคทชนิดผล และชนิดเม็ด แครอทผง กากแครอทผง แครอทแผ่นกรอบ เค้กแครอท แครอทแผ่นกรอบ เครื่องดื่มจากแครอท และข้าวเกรียบแครอท เป็นต้น

แครอท

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

สำหรับการใช้แครอทตามสรรพคุณที่กล่าวข้างต้นนั้น จะเป็นการนำแครอทมารับประทานทั้งในรูปแบบรับประทานสด หรือ นำไปประกอบอาหาร แต่ทั้งนี้มีรายงานการศึกษาระบุว่าการรับประทานแครอท แบบที่ทำให้สุก จะให้คุณค่าทางโภชนาการสูงมากกว่าการรับประทานแบบดิบ เนื่องจากแครอทมีผนังเซลล์แข็ง เมื่อรับประทานเข้าไป ร่างกายจะไม่สามารถนำเบต้าแคโรทีนไปใช้ได้อย่างเต็มที่ โดยจะสามารถเปลี่ยนเบต้าแคโรทีนให้เป็นวิตามินเอ ได้เพียงร้อยละ 25 เท่านั้น ซึ่งการทำให้สุกจะช่วยทำให้ผนังเซลล์ของแครอทสลายตัว ร่างกายจึงสามารถนำสารอาหารไปใช้ได้มากขึ้น และการรับประทานแครอทร่วมกับอาหารอื่นที่มีไขมันเป็นส่วนประกอบ จะช่วยให้ร่างกายดูดซึมสารเบต้าแคโรทีนได้มากขึ้น

           ส่วนตำราแพทย์จีนได้ระบุการใช้แครอท เป็นยาสมุนไพรว่า ใช้รักษา ความดันโลหิตสูง คั้นน้ำจากหัวผักกาดแดง 100 กรัม กินวันละ 2-3 ครั้ง ใช้แก้ โรคตาฟางกลางคืน หรือ ตาบอดไก่ โดยนำหัวหัวผักกาดแดง 3 หัว ล้างให้สะอาด ต้มน้ำกิน หรือ กินสดๆ ติดต่อกัน 10 วัน หรือ นำมาหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ เติมขิง เกลือ เล็กน้อย ใส่ตับหมู และทำให้สุกนำมากิน ใช้แก้ไอ โดยใช้หัวผักกาดแดง 120 กรัม พุทรา 10 ลูก น้ำ 3 ชาม ต้มให้เหลือ 1 ชาม กินไปเรื่อยๆ ติดต่อกัน 10 วัน ใช้รักษาอาหารไม่ย่อย โดยใช้หัวผักกาดแดงสด 250 กรัม เกลือ 3 กรัม ต้มเอากากทิ้ง แบ่งเป็น 3 ครั้ง กินติดต่อกัน 2 วัน หรือ จะต้มกับน้ำตาลแดงกินก็ได้ ใช้รักษา ท้องผูก โดยนำหัวผักกาดแดง 500 กรัม คั้นน้ำเติมน้ำผึ้งพอควร กินวันละ 2 ครั้ง เช้า และค่ำ

ลักษณะทั่วไปของแครอท

แครอท จัดเป็นพืชล้มลุกสองฤดู โดยฤดูแรกเจริญทางต้น ใบ และราก ฤดูที่สองจะเจริญทางดอก และเมล็ด ลักษณะต้นของแครอทจะคล้ายต้นผักชี โดยลำต้นของแครอทจะอยู่เหนือพื้นดินเพียงเล็กน้อย เป็นลำต้นที่สั้นมาก มีใบแตกออกจากรอบๆ ลำต้น ส่วนของรากมีขนาดใหญ่ รูปร่างแตกต่างกันตามสายพันธุ์ ลักษณะการเจริญของรากแครอทเป็นระบบรากแก้วพองโต ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกหลายชั้นแบบเรียงเวียนใบย่อยเป็นรูปแถบแคบๆ มีก้านใบยาว โคนใบมักแผ่เป็นกาบ ช่อดอกเป็นช่อแบบแยกแขนง ช่อดอกย่อยเป็นช่อซี่ร่ม ผลแบบผลผักชี รูปไข่แกมรูปขอบขนาน

แครอท

แครอท

การขยายพันธุ์แครอท

แครอท สามารถขยายพันธุ์โดยการใช้เมล็ด โดยเริ่มจากการเตรียมดินจะต้องขุดดินตากแดด และโรยปูนขาวอัตรา 10-100 กรัม/ตร.ม. ไว้อย่างน้อย 14 วัน พร้อมกำจัดวัชพืช และขึ้นแปลงกว้าง 1 ม. จากนั้นใส่ปุ๋ยสูตร 12-24-12 อัตรา 20-30 กรัม/ตร.ม. ลงในดิน ปรับหน้าแปลงให้เรียบแล้ว ขีดร่องลึก 1 ซม.ขวางแปลงห่างกันร่องละ 15 ซม.

            จากนั้นหยอดเมล็ดหลุมละ 3-4 เมล็ด ให้มีระยะห่าง 20x20 เซนติเมตร กลบเมล็ดแล้วรดน้ำให้ชุ่ม เมื่อปลูกได้ประมาณ 30-35 วัน (มีใบจริง 8-9 ใบ) ให้ถอนแยกเหลือหลุมละ 1 ต้น และดูแบรดน้ำให้ชุ่ม ทุกวันสม่ำเสมอ แต่อย่างให้น้ำขัง เพราะหัวจะเน่า เมื่อมีอายุได้ 100-120 วัน จึงสามารถเก็บเกี่ยวโดยการขุด


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีของส่วนหัว (ราก) ของแครอทระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิด อาทิเช่น falcarinol, β-carotene, α-carotene, δ-carotene, ƴ-carotene, Cis-carotene, Neurosporene, lutein, zeaxanthin, Lycopene และ Lutein เป็นต้น

            นอกจากนี้หัวแครอท ยังมีคุณค่าทางโภชนาการดังนี้

คุณค่าทางโภชนาการของแครอท  (100 กรัม)

  • พลังงาน                          41                    กิโลแคลอรี
  • คาร์โบไฮเดรต                 9.6                   กรัม
  • น้ำตาล                             4.7                   กรัม
  • เส้นใย                              2.8                   กรัม
  • ไขมัน                               0.24                 กรัม
  • โปรตีน                             0.93                 กรัม
  • เบต้าแคโรทีน                8,285               ไมโครกรัม
  • ลูทีนและซีแซนทีน          256                  ไมโครกรัม
  • วิตามินA                          835                  ไมโครกรัม
  • วิตามิน B1                      0.066               มิลลิกรัม
  • วิตามิน B2                       0.058               มิลลิกรัม
  • วิตามิน B3                       0.983               มิลลิกรัม
  • วิตามิน B5                      0.273               มิลลิกรัม
  • วิตามิน B6                       0.138               มิลลิกรัม
  • วิตามิน B9                       19                    ไมโครกรัม
  • วิตามิน C                        5.9                   มิลลิกรัม
  • วิตามิน E                         0.66                 มิลลิกรัม
  • ธาตุเหล็ก                        0.3                   มิลลิกรัม
  • แคลเซียม                      33                    มิลลิกรัม
  • โซเดียม                          69                    มิลลิกรัม
  • แมกนีเซียม                     12                    มิลลิกรัม
  • ธาตุแมงกานีส               0.143               มิลลิกรัม
  • ฟอสฟอรัส                       35                   มิลลิกรัม
  • โพแทสเซียม                  320                  มิลลิกรัม
  • สังกะสี                            0.24                 มิลลิกรัม
  • ฟลูออไรด์                        3.2                  ไมโครกรัม

โครงสร้างแครอท

การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของแครอท

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของหัวแครอท ระบุว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่สำคัญหลายประการ ดังนี้

           มีข้อมูลการศึกษาวิจัยระบุว่า แครอทสามารถขับปรอทในร่างกายได้ โดยปรอทเมื่ออยู่ในร่างกายหากมีการสะสมไประดับหนึ่งก็จะเกิดเป็นพิษได้ จากการศึกษาพบว่าสารที่มีลักษณะคล้ายกาวในแครอทจะเข้าไปรวมตัวกับปรอท ทำให้สามารถลดความเข้มข้นของปรอทในกระแสเลือด และสามารถขับออกมาจากร่างกายได้

           ฤทธิ์ลดระดับคลอเรสเตอรอลในเลือดแครอท มีระดับของเบต้าคาโรทีน (beta-carotene) สูง ซึ่งแสดงฤทธิ์เหมือน HMG-CoA reductase inhibitor จึงได้มีการศึกษาวิจัย โดยเป็นการทดลองระดับ cholesterol ในชายสุภาพดี พบว่าเมื่อดื่มน้ำแครอท 1 หรือ 2 กระป๋องทุกวัน (น้ำหนัก 160 กรัมต่อกระป๋องซึ่งมี beta-carotene 6.6 มิลลิกรัมต่อกระป๋อง) เป็นเวลา 4 สัปดาห์ จะไม่มีผลต่อระดับ cholesterol แต่หากดื่ม 3 กระป๋องทุกวันจะมีระดับ total cholesterol ลดลง (จาก 202.26 เป็น 189.25 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ดังนั้นขนาดต่ำสูงของ beta-carotene ที่สามารถลดระดับ cholesterol ได้คือ 20 มิลลิกรัมต่อวัน สำหรับการทดลองนี้ การลดลงของ cholesterol จะเห็นผลมากในผู้ที่มีระดับ cholesterol มากกว่า 200 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร และจากการทดลองเป็นเวลา 4 สัปดาห์ พบว่าระดับของ b-carotene ในเลือดเพิ่มขึ้นแต่ระดับของเรตินอล (retinol) ไม่เปลี่ยนแปลง ดังนั้นการดื่มน้ำแครอททุกวัน นอกจากจะมีความปลอดภัยแล้ว ยังช่วยส่งเสริมสุขภาพอีกด้วย

           นอกจากนี้ยังมีการศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาอื่นๆ ในระดับเซลล์และสัตว์ทดลองของแครอทพบว่า มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ต้านการเกิดมะเร็ง และต้านการอักเสบอีกด้วย


การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของแครอท

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาระบุว่าในแครอท มีสารเบต้าแคโรทีน ค่อนข้างมาก ซึ่งหากรับประทานมากไปอาจทำให้เกิดพิษ โดยอาจส่งผลถึงรายการมองเห็น ระบบภูมิคุ้มกัน ระบบเผาผลาญรวมถึงกระดูก และผิวหนังได้


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

การรับประทานแครอทควรรับประทานแต่พอดี ไม่ควรรับประทานมากจนเกินไป เพราะอาจทำให้เกิดภาวะที่ได้รับเบ้ตาแคโรทีนมากเกินไป ซึ่งจะทำให้เกิดภาวะผิวเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ถ่ายเหลว มีจ้ำเลือดตามตัว หรือ ปวดข้อ ซึ่งอาการเหล่านี้อาจเกิดขึ้นเมื่อได้รับวิตามินเอ หรือ สารกลุ่มนี้มากเกินไป แต่อาการเหล่านี้จะหายไปได้เองเมื่อเราหยุดรับประทานไประยะหนึ่ง นอกจากนี้ในบุคคลบางกลุ่ม เมื่อรับประทานแครอทสดๆ อาจเกิดอาการภูมิแพ้ในช่องปาก มีอาการคันปาก เนื่องจาก ร่างกายทำปฏิกิริยากับโปรตีนในแครอท ดังนั้นจึงควรรับประทานแครอทที่ปรุงสุก


เอกสารอ้างอิง แครอท
  1. กฤติยา ไชยนอก. น้ำผักผลไม้เพื่อสุขภาพ. จุลสารข้อมูลสมุนไพรปีที่ 28. ฉบับที่ 4.กรกฎาคม 2554. หน้า 9-20
  2. วิทิต วัฒนาวิมูล.แครอท :หัวผักกาดแดง. คอลัมน์อาหารสมุนไพร.นิตยสารหมอชาวบ้านเล่มที่ 67. พฤศจิกายน 2527.
  3. สุณี ธนาเลิศกุล,บรรณาธิการ. รู้คุณรู้โทษโภชนาการ, กรุงเทพฯ:บริษัทรีดเดอร์ส ไดเจสท์ (ประเทศไทย) จำกัด, 2542: 432 หน้า
  4. ผลิตภัณฑ์แครอท. วารสารกรมวิทยาศาสตร์บริการปีที่ 48. ฉบับที่ 152. มกราคม 2543. หน้า 32-34
  5. ผลของน้ำแครอทต่อระดับคอเลสเตอรอล (Chloresterol) ในเลือด. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  6. ฝ่ายวิเคราะห์อาหารและโภชนาการ กองโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข.ตารางแสดงคุณค่าทางโภชนาการของอาหารไทย.กรุงเทพฯ:โรงพิมพ์องค์การทหารผ่านศึก. 2535: 97 หน้า
  7. แครอท. กระดานถาม-ตอบ (ออนไลน์) สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล. เข้าถึงได้จาก http://www.medplant.mahidol.ac.th/user/reply.asp?id=6331