กัลปพฤกษ์ ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

กัลปพฤกษ์ งานวิจัยและสรรพคุณ 17 ข้อ

ชื่อสมุนไพร กัลปพฤกษ์
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ชัยพฤกษ์ (ภาคเหนือ), กาลพฤกษ์ (ภาคกลาง), เปลือกขม, แก่นร้าง (ภาคตะวันออก)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Caddia bakeriana Craib
ชื่อสามัญ Pink shower.Pink cassia, Wishing tree
วงศ์ CAESALPINICEAE


ถิ่นกำเนิดกัลปพฤกษ์

กัลปพฤกษ์ จัดเป็นไม้ยืนต้นที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีถิ่นกำเนิดเป็นบริเวณกว้างใน พม่า ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม เป็นต้น สำหรับในประเทศไทย สามารถพบได้ทั่วไปเกือบทั่วทุกภาคของประเทศยกเว้นภาคใต้ โดยจะพบมากในภาคเหนือ และภาคอีสาน บริเวณ ป่าโคก ป่าแดง และป่าเบญจพรรณ ทั่วไป


ประโยชน์และสรรพคุณกัลปพฤกษ์

  • ใช้ระบายอ่อนๆ
  • แก้คูถ
  • ช่วยขับเสมหะ
  • ช่วยระบายอุจจาระธาตุ
  • แก้พรรณดึก
  • ใช้ทำให้อาเจียน
  • ช่วยถ่ายพิษไข้
  • ใช้เป็นยาลดไข้
  • แก้อักเสบ
  • แก้พรรณดึก
  • แก้โรคเบาหวาน
  • ช่วยฆ่าเชื้อคุดทะราด
  • รักษากลาก เกลื้อน
  • รักษาโรคผิดหนังต่างๆ
  • ช่วยลดน้ำตาลในเลือด
  • แก้เบาหวาน
  • แก้ท้องเสีย

           ในสมัยโบราณจะใช้เนื้อในฝักกัลปพฤกษ์กินกับหมาก และใช้น้ำฝาดของเนื้อไม้กัลปพฤกษ์ ส่วนของใบ และดอกของกัลปพฤกษ์มีการนำมาเป็นอาหารเลี้ยงสัตว์ เช่น วัว ควาย และหมู เป็นต้น และเนื้อไม้กัลปพฤกษ์สามารถนำมาแปรรูป เพื่อตกแต่งบ้านเรือน เช่น ฝ้า ราวบันได และไม้แต่งเสา เป็นต้น นอกจากนี้ในปัจจุบันยังมีการนิยมนำกัลปพฤกษ์ มาปลูก เป็นไม้ดอกประดับ ตามสถานที่ราชการต่างๆ สวนสาธารณะ หรือ ตามสองข้างทาง เนื่องจากมีดอกออกเป็นช่อสีชมพูขาวสวยงามอีกด้วย

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

  • ใช้ลดไข้ ถ่ายพิษไข้ โดยนำเปลือกฝักแห้ง และเมล็ดมาต้มกับน้ำดื่ม
  • ใช้ระบายอ่อนๆ ระบายอุจจาระธาตุ แก้พรรณดึก แก้เสมหะ แก้คูถโดยนำ เนื้อในฝักกัลปพฤกษ์ มารับประทาน (ประมาณ 8 กรัม)
  • ใช้ลดไข้ ฆ่าเชื้อคุดทะราด แก้ท้องเสีย เป็นยาระบาย โดยนำราก หรือ แก่นมาต้มกับน้ำดื่ม
  • ใช้ฆ่าเชื้อและรักษา กลากเกลื้อน โรคผิวหนัง ต่างๆ โดยนำ รากเปลือกต้น และแก่นมาฝนทาที่บริเวณที่เป็น หรือ นำมาต้มอาบก็ได้
  • ใช้แก้อักเสบ ลดน้ำตาลในเลือด แก้เบาหวาน โดยนำดอกแห้งมาต้มกับน้ำดื่ม
  • ใช้เป็นยาระบายโดยนำใบแห้งมาต้มกับน้ำ หรือ ชงกับน้ำร้อนกินก็ได้

ลักษณะทั่วไปของกัลปพฤกษ์

กัลปพฤกษ์ จัดเป็นไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดเล็กถึงกลาง มีความสูง 5-12 เมตร มีทรงพุ่มโปร่งกว้าง ไม่หนาทึบ และมักจะแตกกิ่งในระดับต่ำ ทอดกิ่งในแนวตั้งขึ้นด้านบน

  • เปลือกลำต้นมีลักษณะเรียบ ผิวเปลือกมีสีเทา ยอดอ่อน และกิ่งอ่อนมีขนปกคลุมหนาแน่น เนื้อไม้มีสีเหลืองถึงสีน้ำตาล
  • ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกปลายคู่ออกแบบเรียงสลับ โดยใบจะออกเป็นช่อยาวประมาณ 15-40 เซนติเมตร ในแต่ละช่อใบจะมีใบย่อยประมาณ 5-10 คู่ เรียงจากเล็กไปหาใหญ่ ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปไข่ขอบขนานถึงรูปใบหอก โคนใบมนปลายใบกลม บางครั้งมีติ่งสั้นๆ ตรงปลายขอบใบเรียบ ใบย่อยมีขนาดกว้าง 1.5-3 เซนติเมตร และยาว 4-10 เซนติเมตร แผ่นใบบาง มีขนละเอียดนุ่มขึ้นปกคลุมทั้งสองด้าน แต่ด้านท้องใบจะมีขนขึ้นหนาแน่นมากกว่าด้านหลังใบ และมีเส้นแขนงใบมีข้างละ 7-9 เส้น
  • ดอกออกเป็นช่อ กระจะบริเวณกิ่งและปลายกิ่งโดยช่อดอกจะยาวประมาณ 4-8 เซนติเมตร ส่วนดอกย่อยประกอบด้วยกลีบเลี้ยงจำนวน 5 กลีบ รูปหอกแกมรูปไข่ขนาด 2-3 มิลลิเมตร อยู่ด้านนอกสุด มีสีแดงเข้ม ถัดมาเป็นกลีบดอก จำนวน 5 กลีบ รูปใบหอกแกมรูปไข่ โดยแต่ละกลีบกว้าง 2 เซนติเมตร ยาว 4-5 เซนติเมตร เมื่อดอกตูม มีสีชมพูอ่อน และเมื่อบานจะเปลี่ยนเป็นสีขาว และจะมีเกสรตัวผู้ มีขนาดใหญ่ไม่เท่ากัน
  • ผลเป็นฝักเช่นเดียวกับราชพฤกษ์ (แต่มีขนาดเล็กกว่า) ลักษณะทรงกระบอกยาวแคบ และมักจะคอดเป็นช่วงๆ ฝัก เมื่อฝักอ่อนจะเป็นสีเขียว แต่เมื่อฝักแก่จะมีสีน้ำตาลถึงดำห้อยลงมาจากกิ่ง ฝักมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 30-40 เซนติเมตร ผิวฝักมีขนนุ่มสีเทาปกคลุม ภายในฝักแบ่งออกเป็นช่องๆ ตามขวางมีเนื้อในฝักสีขาวปนเขียว และจะมีเมล็ดประมาณ 30-40 เมล็ด
  • ส่วนเมล็ดกัลปพฤกษ์ มีลักษณะค่อนข้างกลมแบน รูปไข่ ถึงรูปขอบขนาน มีสีน้ำตาลเป็นมัน มีขนาดกว้าง 0.6-0.8 มิลลิเมตร และยาว 0.8-1.1 เซนติเมตร

กัลปพฤกษ์

กัลปพฤกษ์

การขยายพันธุ์กัลปพฤกษ์

กัลปพฤกษ์สามารถขยายพันธุ์ได้โดยวิธีการเพาะเมล็ด และการตอนกิ่ง แต่วิธีที่เป็นที่นิยมคือการเพาะเมล็ด โดย ควรเลือกฝักจากต้นที่สมบูรณ์ ไม่มีรอยโรค ลำต้นมีกิ่งมาก ดอกออกดก และฝักอวบใหญ่ กลมสม่ำเสมอตลอดทั้งฝัก แล้วนำมาแช่น้ำร้อน นาน 1-2 นาที ก่อนจากนั้นจึงนำไปเพาะในถุงเพาะชำ (ถุงดำเพาะกล้า) ด้วยการผสมดินกับปุ๋ยคอก หรือ วัสดุเกษตรอื่น เช่น แกลบดำ และขุยมะพร้าวในอัตราส่วนดินต่อวัสดุผสมที่ 1:2 เมื่อเมล็ดงอกขึ้นมาเป็นต้นกล้า ที่มีความสูง 30 เซนติเมตร จึงนำไปปลูกในแปลงต่อไป ทั้งนี้กัลปพฤกษ์ เป็นไม้ที่ชอบดินร่วนปนทราย มีการระบายน้ำดี ไม่ชอบพื้นที่น้ำท่วมขังและชอบแสงแดดจัดเต็มวัน


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมีของส่วนใบ และน้ำมันหอมระเหยจากใบเนื้อไม้และเปลือกลำต้นของกัลปพฤกษ์ ระบุว่า พบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญดังนี้  องค์ประกอบทางเคมีในใบพบสาร aloe emodin, β-sitosterol, kaempferol, kaempferol-3-o-rhamnoside และ quercetin เป็นต้น ส่วนน้ำมันหอมระเหยจากใบพบสาร Linalool, Dodecanoic acid, 4-Vinylguaiacol, Tricosane, Hexadecanoic acid, Octacosane, Heptacosane และน้ำมันหอมระเหยจากเนื้อไม้พบสาร Hexanal, palmitic acid, Furfural, Octadecanoic acid (stearic acid) และ Phenylacetaldehyde และน้ำมันหอมระเหยจากใบพบสาร Phytol, lauric acid, linalool, Tetracosane และ Pentacosane เป็นต้น

โครงสร้างกัลปพฤกษ์

การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของกัลปพฤกษ์

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของสารสกัดกัลปพฤกษ์ จากส่วนต่างๆ ของระบุว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาดังนี้

           มีการศึกษาพบว่าสารสกัดจากลำต้น ดอก และใบกัลปพฤกษ์ด้วย ethanol สามารถยับยั้งเชื้อรา C.gloeosporioides ได้ฤทธิ์ต้านจุลชีพ ฤทธิ์ต้านจุลชีพของส่วนต่างๆ ของพืชต่อจุลินทรีย์ในช่องปากแบบแอโรบิกและแบบไม่ใช้ออกซิเจนถูกกำหนด เช่นเดียวกับความเป็นพิษต่อเซลล์ ฤทธิ์ต้านจุลชีพและความเป็นพิษต่อเซลล์แสดงไว้ใน ตาราง ที่ 3 มีการศึกษาวิจัยพบว่าน้ำมันจากใบและเปลือกต้นของกัลปพฤกษ์ มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียที่รุนแรง โดยแสดงการยับยั้งจุลินทรีย์ A. naeslundii, P. gingivalisB. FragilisS. mitis, S. mutans, S. sanguinis และ A. actinomycetemcomitans โดยมีค่า MIC อยู่ระหว่าง 62.5 ถึง 125 µg·mL

           นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าสารสกัดจากส่วนใบของกัลปพฤกษ์ ยังมีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือก และมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระได้อีกด้วย


การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของกัลปพฤกษ์

ไม่มีข้อมูล


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

สำหรับการใช้กัลปพฤกษ์ เป็นสมุนไพรควรระมันระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพร ชนิดอื่น โดยควรใช้ในขนาดและปริมาณที่เหมาะสมที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในขนาด และปริมาณที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาวได้ 


เอกสารอ้างอิง กัลปพฤกษ์
  1. อรุณพร อิฐรัตน์, 2532. สมุนไพรไทยเทศ เล่ม 1 สงขลา : คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์.
  2. พระยาวินิจวนันดร (2553). ไม้ประดับที่เป็นของไทย และ ตำนานไม้ต่างประเทศบางชะนิดในเมืองไทย. ใน อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพคุณวิไล อมาตยกุล ท.จ.ว., ภ.ป.ร. ๔ (หน้า 99) กรุงเทพฯ : พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน.
  3. เดชา ศิริภัทร.ดอกไม้แห่งกาลเวลาของชาวไทย. คอลัมน์ต้นไม้ใบหญ้า. นิตยสารหมอชาวบ้านเล่มที่ 320. ธันวาคม 2548
  4. ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔ เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๗ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๔. กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, 2556.
  5. วันดี กฤษณพันธ์ 2522. การศึกษาทางพฤกษเคมีของใบขี้เหล็กเลือด และใบกัลปพฤกษ์ วิทยานิพนธ์ปริญญาโท จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย
  6. เสาวลักษณ์ พงษ์ไพจิตร, วัชรินทร์ ภุกขไชยศิริกุล, ฤทธิ์ต้านจุลินทรีย์ของสารสกัดพืชตระกูล Cassiasp. รายงานการวิจัย. คณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์. 2542. 49 หน้า
  7. ขวัญใจ กนกเมธากุล, สมเดช กนกเมธากุล และเกษม สร้อยทอง 2537. การทดสอบสารสกัดจากพืชบางชนิดในสกุล Cassia L., ต่อเชื้อรา Colletotrichum gloeosporiodes. วารสารวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น ปี 20-22(3-3) (ฉบับพิเศษ) : 112-119.
  8. กัลปพฤกษ์ สรรพคุณ และการปลูกกัลปพฤกษ์, พืชเกษตรดอทคอมเว็บเพื่อพืชเกษตรไทย (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก http://www.puechkaset.com
  9. S. Kumar et al.Antidiabetic and anti-lipemic effects of Cassia siamea leaves extract in streptozotocin induced diabetic ratsAsian Pac. J. Trop. Med. (2010)