ราชดัด ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย
ราชดัด งานวิจัยและสรรพคุณ 27 ข้อ
ชื่อสมุนไพร ราชดัด
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น บะดีควาย, บาฮากขม, มะขี้เหา (ภาคเหนือ), กะดัด, ฉะดัด (ภาคใต้), ดีคน (อุบลราชธานี), เพียะฟาน (โคราช), พญาดาบหัก (ตราด), มะลาคา (ปัตตานี), ยาต่ายจื่อ (จีนกลาง), อะด๋าจี้ (จีนแต้จิ๋ว), พญาดาบหัก (ตราด), มะลาคา (ปัตตานี), ยาต่ายจื่อ (จีนกลาง), อะต๋าจี้ (จีนแต้จิ๋ว)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Brucea javanica (L.) Merr.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Brucea amarissima Desv.
ชื่อสามัญ Java brucea fruit, Brucea
วงศ์ Simaroubaceae
ถิ่นกำเนิดราชดัด
ราชดัด เป็นพันธุ์พืชที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปเอเชียจัดอยู่ในวงค์เดียวกับปลาไหลเผือก โดยเชื่อกันว่าเป็นพืชเฉพาะถิ่นของประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน อินโดนีเซีย และเวียดนาม ต่อมาได้มีการแพร่กระจายพันธุ์ไปยังบริเวณใกล้เคียงของประเทศดังกล่าว สำหรับในประเทศไทยพบได้ทั่วไปทุกภาค ตามที่โล่งในป่าละเมาะ ป่าเบญจพรรณ และป่าดิบแล้วทั่วไปที่มีระดับความสูงในระดับน้ำทะเลถึง 450 เมตร
ประโยชน์และสรรพคุณราชดัด
- แก้กษัย
- ช่วยบำรุงธาตุ
- แก้ไข้
- แก้ไอ
- แก้เสียดท้อง
- ช่วยบำรุงน้ำดี
- ช่วยบำรุงน้ำเหลือง
- แก้ท้องอืดเฟ้อ
- แก้โรคบิด
- ใช้แก้พิษไข้
- แก้ผิดสำแดง
- ใช้พอกฝี
- แก้อักเสบ
- แก้ตัวเหลือง
- แก้ตาเหลือง
- แก้ท้องร่วง
- แก้ลมวิงเวียน
- แก้หาวเรอวิงเวียน
- แก้อาเจียน
- แก้อาเจียนเป็นเลือด
- แก้เจ็บอก
- ช่วยทำให้เจริญอาหาร
- ช่วยขับพยาธิ
- แก้ไข้มาลาเรีย
- ใช้รักษาโรคเกลื้อน
- แก้ปวดกล้ามเนื้อ
- ใช้ถอนพิษแมลงสัตว์กัดต่อย
รูปแบบและขนาดวิธีใช้
ใบแก้ไข้ แก้เสียดท้อง แก้บิด โดยนำรากมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้แก้ท้องร่วง แก้บิด โดยใช้เมล็ดราชดัด ประมาณ 10-15 เมล็ด นำมาบดให้เป็นผงรับประทาน วันละ 3 ครั้ง ติดต่อกันประมาณ 7-10 วัน ใช้แก้ไอโดยใช้รากาเคี้ยวอม หรือ เคี้ยวร่วมกับหมาก ใช้แก้พิษไข้ ผิดสำแดง โดยใช้รากเช้ายากับนางแซงแดง ฝนกันน้ำกินเป็นยา แก้ตัวเหลือง ตาเหลือง โดยใช้ทั้งต้นของราชดัดมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้รักษาโรคเกลื้อนโดยใช้เมล็ดแห้งตำให้แหลกแล้วนำน้ำที่ได้ไปทาบริเวณที่เป็น ใช้พอกฝีแก้อักเสบ โดยนำใบตำกับปูนแดงแล้วนำไปพอกบริเวณที่เป็นฝี ส่วนการแพทย์แผนจีน ใช้ 0.5-2 กรัม ต้มเอาน้ำดื่ม แก้โรคบิด ขับพิษร้อน แก้มาลาเรีย
ลักษณะทั่วไปของราชดัด
ราชดัด จัดเป็นไม้พุ่ม หรือ ไม้ยืนต้นขนาดเล็ก สูง 1-4 เมตร เปลือกลำต้นเรียบ สีขาวปนเทา เมื่อยังอ่อนจะมีขนสีเหลืองปกคลุมหนาแน่น ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกปลายคี่แบบเรียงสลับ ก้านใบยาว 5-10 เซนติเมตร ใบย่อยมี 5-11 ใบ รูปในหอกแกมรูปไข่ กว้าง 2-4 เซนติเมตร ยาว 5-10 เซนติเมตร ปลายแหลม โคนสอบแคบ ขอบจักฟันเลื่อย ผิวมีขนนุ่มทั้งสองด้าน โดยเฉพาะด้านล่าง มีก้านใบย่อยด้านข้าง และที่ปลาย ดอกออกเป็นแบบช่อแยกแขนง ออกตามซอกใบ และปลายกิ่งมีทั้งต้นที่พบเฉพาะช่อดอกเพศผู้ ต้นที่พบทั้งดอกเพศผู้ และเพศเมียในช่อเดียวกัน ก้านช่อดอกสั้น ใบประดับเป็นรูปสามเหลี่ยมมีขนาดเล็กมาก ดอกเป็นแบบแยกเพศขนาดเล็กมีสีขาวแกมเขียว ถึงสีแดงแกมเขียว หรือ สีม่วง ส่วนกลีบดอกขนาดเล็กมากมี 4 กลีบ รูปซ้อน โตกว่ากลีบเลี้ยงเล็กน้อย สีอมม่วง หรือ สีน้ำตาลแดง มีขนอุย มีต่อมที่ปลาย ดอกเพศผู้มีก้านดอกเรียวยาว กลีบเลี้ยงมีขนาดเล็กมากโคนเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็น 4 แฉก เกสรเพศผู้มี 4 อัน เกสรเพศเมียลดรูปเป็นยอดเกสรเพศเมีย ดอกเพศเมียคล้ายดอกเพศผู้ แต่เกสรเพศผู้ฝ่อ รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี 4 คาร์เพล ผลเป็นผลสด กลมเป็นพวง ออกรวมกลุ่มกัน 1-4 ผล มีเนื้อรูปกลมเปลือกผลแข็ง ผิวเรียบเป็นมัน ขนาดเล็ก ยาวราว 4-7 มิลลิเมตร เมื่อผลอ่อนสีเขียว เมื่อสุกมีสีดำ คล้ายเมล็ดมะละกอ แห้ง เมล็ดมีเมล็ดเดียว สีน้ำตาล ผิวเรียบ รสขมจัด
การขยายพันธุ์ราชดัด
ราชดัดสามารถขยายพันธุ์โดยการใช้เมล็ด โดยการนำเมล็ดแห้งไปเพาะในกระบะเพาะชำ ประมาณ 2-3 สัปดาห์ ก็จะงอกมาเป็นต้นอ่อนสูงประมาณ 5-10 เซนติเมตร จึงย้ายลงในถุงเพาะชำ รดน้ำให้ชุ่ม เพื่อรอการปลูก สำหรับวิธีการปลูกเริ่มจาก การเตรียมดินให้เหมือนกับการปลูกไม้ยืนต้นอื่นๆ โดยการขุดหลุม กว้างxยาวxลึก ประมาณ 50 เซนติเมตร แล้วรองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอก หรือ ปุ๋ยหมักคลุกเคล้ากับดินก้นหลุม จากนั้นนำกล้าราชดัดที่เพาะได้ลงปลูกในหลุมที่เตรียมไว้ กลบดินปักไม้เพื่อพยุงต้นผูกเชือกให้เรียบร้อย รดน้ำให้ชุ่มชื้นอยู่เสมอ
ทั้งนี้ในการปลูกราชดัด ควรเว้นระยะห่างกันประมาณ 3-4 เมตร และสามารถปลูกได้ทุกฤดูกาล แต่ส่วนมากจะนิยมปลูกในฤดูฝนมากกว่า
องค์ประกอบทางเคมีราชดัด
มีการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมีของเมล็ดราชดัด พบว่ามีสารกลุ่ม quassinoidtriterpenes, bruceantinol, brucein Q, bruceins A-G, bruceantinoside A, brucein E-2-O-β-D-glucoside, brusatol bruceolide A-C,bruceolide สารกลุ่ม Alkaloids เช่น Brucamarine, glycoside kosamine, Brucenol, Brucealin, Yatanine ส่วนในเมล็ดพบน้ำมันที่มีสารต่างๆ เช่น Bruceilic acid, Bruceine A-E, Brusato, Yatanoside, Bruceantin และ Yadanziolide A, F, I เป็นต้น
ที่มา : Wikipedia
การศึกษาทางเภสัชวิทยาของราชดัด
ฤทธิ์ต้านการอักเสบ มีการศึกษาวืจัยฤทธิ์ต้านการอักเสบของส่วนสกัด ethyl acetate จากเมล็ดของต้นราชดัด โดยทดสอบฤทธิ์ในเซลล์เม็ดเลือดขาว (macrophage RAW 264.7) ที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดการอักเสบด้วย lipopolysaccharide พบว่าส่วนสกัดจากเมล็ดราชดัดมีผลยับยั้งไซโตคายน์ที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบ ได้แก่ nitric oxide, prostaglandin E2, tumor necrosing factor –alpha, interleukin-1-bete, interleukin-6 และเพิ่มการสร้างไซโตคานย์ต้านการอักเสบ interleukin-10 นอกจากนี้เมื่อนำส่วนสกัดเมล็ดราชดัด ไปทดสอบฤทธิ์ต้านการอักเสบในหนูเม้าส์ที่ถูกกระตุ้นให้เกิดการอักเสบบริเวณอุ้งเท้า โดยการฉีดส่วนสกัดของเมล็ดราชดัดขนาด 25 มก./กก.น้ำหนักตัว เข้าทางช่องท้อง พบว่าช่วยลดอาการบวมของอุ้งเท้าได้อย่างมีนัยสำคัญ เทียบเท่ากับการให้ยา Indomethacin ขนาด 5 มก./กก. น้ำหนักตัว
ฤทธิ์ฆ่าเชื้อบิด มีรายงานการศึกษาวิจัยพบว่าสารสกัดราชดัดด้วยบิวทานอล (butanol) มีฤทธิ์แรงในการฆ่าเชื้อบิดมีตัว (Entamoeba histolytica) โดยสารออกฤทธิ์ คือ บรูซีแอนทิน และบรูซีอินซี การวิจัยทางคลินิกพบว่าอัตราการหายจากโรคบิดเมื่อใช้ราชดัด เป็นร้อยละ 72-94 โดยมีอัตราการกลับเป็นซ้ำร้อยละ 6 ยังมีการศึกษาทางเภสัชวิทยา และทางคลินิกอีกฉบับหนึ่งพบว่าสารสกัดจากผลราชดัดมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อบิด แต่ฤทธิ์อ่อนกว่ายา emetine
การศึกษาทางพิษวิทยาของราชดัด
มีการศึกษาทางพิษวิทยาของราชดัด พบว่าส่วนสกัดด้วยน้ำไม่มีพิษ เมื่อให้ทางปาก แต่เมื่อฉีดเข้าใต้ผิวหนังขนาดที่ทำให้หนูทดลองตายร้อยละ 50 (LD50) เท่ากับ 5.17 กรัม/กิโลกรัม และเมื่อฉีดเข้าทางช่องท้อง เท่ากับ 6.37 กรัม/กิโลกรัม
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
- ราชดัด เป็นสมุนไพรที่มีพิษเล็กน้อย ดังนั้นในการใช้ควรใช้ในปริมาณที่พอเหมาะที่ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ติดต่อกันนานจนเกินไป
- เด็ก และสตรีมีครรภ์ รวมถึงผู้ที่มีภาวะผิดปกติของกระเพาะและลำไส้ ห้ามใช้ราชดัดเป็นสมุนไพรอย่างเด็ดขาด
เอกสารอ้างอิง ราชดัด
- หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). “ราชดัด (Ratchadat)”. หน้า 262.
- กองวิจัย และพัฒนาสมุนไพร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์. กระทรวงสาธารณสุข. สมุนไพรพื้นบ้านฉบับรวม. พิมพ์ครั้งที่ 1.กรุงเทพมหานคร. Text and Journal Corperation Co.,Lid., 2533.
- ฤทธิ์ต้านการอักเสบจากเมล็ดราชดัด. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
- ลีนา ผู้พัฒนาพงศ์.ก่องกานดา ชยามฤต.ธีรวัฒน์ บุญทวีคุณ (คณะบรรณาธิการ) ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2544). สำนักวิชาการป่าไม้.กรมป่าไม้.พิมพ์ครั้งที่ 2 กรุงเทพมหานคร. บริษัท ประชาชน จำกัด, 2544.
- หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. (วิทยา บุญวรพัฒน์). “ราชดัด”. หน้า 480.
- ราชดัด.คู่มือการใช้สมุนไพรไทย-จีน. กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก. กระทรวงสาธารณสุข. 2551. หน้า 164-166
- หนังสือพจนานุกรมสมุนไพร ไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “ราชดัด”. หน้า 679-680.
- ราชดัด.กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก.กระทรวงสาธารณสุข. หน้า 170-172
- ฤทธิ์ต้านการอักเสบของน้ำมันจากเมล็ดราชดัด. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
- ราชดัด. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.thaicrudedrug.com/main.php?action=viewpage&pid=116
- ราชดัด. ฐานข้อมูลเครื่องยา คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage&pid=103
- พเยาว์ เหมือนวงษ์ญาติ.สมุนไพรก้าวใหม่.พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพมหานคร. บริษัท ที.พี.พริ้น จำกัด 2537.
- สถาบันวิจัยสมุนไพร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์.กระทรวงสาธารณสุข. คู่มือฐานข้อมูลพืชพิษ. กรุงเทพมหานคร. โรงพิมพ์กรมการศาสนา 2545.