ช้างน้าว ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย
ช้างน้าว งานวิจัยและสรรพคุณ 18 ข้อ
ชื่อสมุนไพร ช้างน้าว
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น กำลังช้างสาร (ภาคกลาง), ตานเหลือ(ภาคเหนือ), ตานนกกรด, ช้างโหม, แง่ง (ภาคอีสาน), ช้างโน้ม, ช้างโหม, กระแจะ, ขมิ้นพระต้น (ภาคตะวันออก), ตาชีบ้าง, ควุ, โวโร้ (กะเหรี่ยง)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Ochna integerrima (Lour.) Merr.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Ochna harmandii Lecomte
ชื่อสามัญ Vietnamese mickey mouse plant
วงศ์ OCHNACEAE
ถิ่นกำเนิดช้างน้าว
ช้างน้าวเป็นพันธุ์พืชในวงศ์ช้างน้าว (Ochneceae) ชนิดหนึ่งที่มีถิ่นกำเนิดในคาบสมุทรอินโดนีจีน หรือ ภูมิภาคเอเชียตะวันอกเฉียงใต้ อาทิเช่น พม่า ไทย ลาว กัมพูชา และมาเลเซียจากนั้นจึงได้มีการแพร่กระจายไปยังเขตร้อนและถึงเขตร้อนในทวีปแอฟริกา และอเมริกาใต้ สำหรับในประเทศไทย สามารถพบได้ทั่วทุกภาคบริเวณป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าสน ละป่าชายหาด ที่มีระดับความสูงในระดับน้ำทะเลประมาณ 1,200 เมตร
ประโยชน์และสรรพคุณช้างน้าว
- ใช้บำรุงร่างกาย บำรุงกำลัง
- แก้ปวดเมื่อย
- แก้กษัยเส้น
- ช่วยบำรุงน้ำนม
- ช่วยบำรุงระบบย่อยอาหาร
- ใช้ขับพยาธิ
- แก้โรคน้ำเหลืองเสีย
- แก้ปวดหลัง
- แก้ผิดสำแดง
- แก้โรคเบาหวาน
- แก้ดีซ่าน
- ใช้บำรุงหัวใจ
- ช่วยเจริญอาหาร
- แก้ไข้
- ช่วยขับผายลม
- แก้สิวฝ้า
- แก้โลหิตพิการ
- แก้ปวดหลัง ปวดเอว
รูปแบบและขนาดวิธีใช้ช้างน้าว
ใช้บำรุงร่างกาย บำรุงกำลัง แก้กษัย แก้ปวดเมื่อย โดยนำรากหรือต้นช้างน้าวมาดองแล้วดื่มวันละ 1-2 เป๊ก ใช้แก้ผิดสำแดง แก้ดีซ่าน บำรุงกำลัง บำรุงระบบย่อยอาหาร แก้น้ำเหลืองเสีย แก้โรคเบาหวาน แก้ปวดหลังปวดเอว แก้พยาธิ โดยใช้รากช้างน้าวมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้แก้โลหิตพิการ แก้กษัย ดับพิษร้อนถอนพิษไข้โดยใช้เนื้อไม้มาตากให้แห้งฝนกับน้ำดื่ม ช่วยขับผายลม ช่วยบำรุงหัวใจ แก้ไข้โดยใช้เปลือกต้นช้างน้าวมาตากให้แห้งต้มกับน้ำดื่ม ใช้บำรุงน้ำนมสตรีโดยใช้ลำต้นช้างน้าวผสมกับต้นนมสาว รากน้ำเต้าแล้ง รากรกครก เถาตาไก้(กำแพงเจ็ดชั้น) อย่างละเท่ากัน นำมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้แก้สิวฝ้าโดยใช้เปลือกนอกของต้นช้างน้าวมาตากให้แห้งแล้วบดเป็นผงใช้ผสมน้ำทาบริเวณที่เป็นสิวฝ้า
ลักษณะทั่วไปช้างน้าว
ช้างน้าวจัดเป็นไม้ยืนต้นหรือไม้ยืนต้นขนาดเล็ก ผลัดใบ กิ่งก้านมักแผ่ขยายออก สูง 3-8 เมตร แต่ในบางพื้นที่สามารถสูงได้ถึง 12 เมตร ลำต้นมักแตกเป็นสะเก็ดร่องลึก และคดงอมีเปลือกสีน้ำตาลเข้ม ตามปลายกิ่งมีกาบหุ้มตาแข็งและแหลม
ใบ เป็นใบเดี่ยวออกแบบเรียงสลับ และจะเรียงชิดกันเป็นกลุ่มบริเวณปลายกิ่ง ใบมีลักษณะเป็นรูปขอบขนานหรือรูปใบหอกแกมรูปไข่กลับ มีขนาดกว้างประมาณ 2.5-7 ซม. ยาว 8-17 ซม. โคนใบเรียวแหลมหรือมน ปลายใบแหลม ส่วนขอบใบเป็นจักแบบฟันเลื่อย ผิวใบเรียบมีเส้นใบข้างหักโค้งงอประมาณ 7-15 คู่ และมีเส้นระหว่างกลางไม่จรดกัน ใบแก่เหนียวคล้ายแผ่นหนัง มีสีเขียวหม่นๆ และมีก้านใบนั้นยาวประมาณ 2-3 มิลลิเมตร
ดอก ออกเป็นช่อกระจุกแยกแขนง บริเวณซอกใบหรือปลายกิ่งที่ไม่มีใบ ช่อดอกมีความยาว 3-6 ซม. ออกดอกพร้อมแตกใบใหม่ โดยใน 1 ช่อจะมีดอกย่อย 4-8 ดอกมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 3-4.5 ซม. กลีบดอกมีสีเหลืองสด กลีบบอบบาง หลุดร่วงง่าย ฐานกลีบแคบ กลีบรูปไข่กลับกว้าง 1-1.5 ซม. ยาว 1.5-3 ซม. ปลายกลีบมนหรือกลม โคนสอบเรียว คล้ายก้านกลีบ ขอบหยัก ก้านช่อดอกยาว 2.5 มม. มีก้านดอกยาว 2-4 ซม. บริเวณใกล้โคนก้าน มีลักษณะเป็นข้อต่อ กลีบเลี้ยง 5 กลีบ รูปไข่ถึงรูปไข่แกมรูปขอบขนาน สีแดงกว้าง 5-8 มิลลิเมตร ยาว 10-15 มิลลิเมตร ผิวทั้งสองด้านเรียบ
ผล เป็นผลสดแบบผนังชั้นในแข็ง ลักษณะค่อนข้างกลมผิวผลมัน มีขนาดกว้างประมาณ 8-9 มิลลิเมตร ยาวประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร ผลอ่อนมีสีเขียวเมื่อแก่แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีดำ ผลจะมีก้านเกสรเพศเมียอยู่ และมีกลีบเลี้ยงสีแดงสดที่เจริญตามมารองรับ ภายในผลมีเมล็ด 1 เมล็ด ชั้นหุ้มเมล็ดมีขนาดใหญ่และแข็งมีเนื้อบางหุ้มอยู่ โดยจะออกผลในช่วงเดือนมกราคมถึงมิถุนายน
การขยายพันธุ์ช้างน้าว
ช้างน้าวสามารถขยายพันธุ์ได้โดยการเพาะเมล็ด การปักชำและการตอนกิ่ง โดยมีวิธีการเพาะเมล็ด การปักชำ และการตอนกิ่งไม้ยืนต้นทั่วๆไปที่ได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้ ทั้งนี้ช้างน้าวเป็นพันธุ์ไม้ที่เจริญเติบโตได้ช้าแต้สามารถเจริญเติบโตได้ในทุกสภาพดิน (จะชอบดินร่วนมากกว่า) มีความทนทานต่อสภาพแห้งแล้งแต่ไม่ชอบน้ำท่วมขังชอบแสงแดดจัดและเป็นพันธุ์ไม้ที่ไม่ค่อยมีโรคและแมลงรบกวน
องค์ประกอบทางเคมี
มีรายงานการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมีของช้างน้าวระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิด อาทิเช่น มีรายงานการแยกสารกลุ่มต่างๆ ได้แก่กลุ่ม bioflavonoid คือสาร 2,3-dihydroochnaflavone และ 2,3-dihydroochnaflavone 7-o-methyl ether สารกลุ่ม flavonoid glycoside คือสาร 6-y-y-dimethylallytaxifolin 7-o-Beta-D-glucoside จากสารสกัดชั้นเอทิลอะซิเตตของใบช้างน้าว ต่อมามีรายงานการค้นพบสารกลุ่ม biflavonoid ใหม่ 2 ตัว จากสารสกัดชั้นเมทานอลของเปลือกลำต้นของช้างน้าวคือสาร 6-hydroxylophirone B และ 6-hydroxylophirone B4 –o-Beta-D-glucoside
ส่วนสารสกัดเอทานอลจากเปลือกลำต้นของช้างน้าวพบว่าสามารถแยกกลุ่มสาร biflavonone ใหม่ 1 ตัวคือสาร A1 (ผู้วิจัยไม่ได้ตั้งชื่อสารและแยกได้มีเพียงกำกับด้วยหมายเลขในการรายงานเท่านั้น) และสารที่เคยมีการรายงานแล้วในกลุ่มเดียวกันนี้ คือ สาร A2
นอกจากนี้ส่วนของใบและกิ่งของช้างน้าว รายงานการแยกหาสารออกฤทธิ์สารสกัดชั้นเอทิลอะซิเตตที่สกัดแยกมาจากสารสกัดชั้นเมทานอล พบว่าสามารถแยกสารกลุ่ม flavonoid glycoside ใหม่ 5 ตัว คือสาร 6-y-y-dimetyl allydihydrpkaemferol 7-o-Beta-D-glucoside 6-y-y-dimethylallyldihydrokaemferol 7-o-Beta-D-glucisude, 6-y-y-dimetylallylquercetin 7-o-beta-D-glucoside, 6-3-hydroxy-3-methylbutyl taxifolin 7-o-beta-D-glucoside, 6-3-hydroxy-3-methylbutyl Quercetin 7-o-beta-D-glucoside รวมทั้งพบสารกลุ่ม flavonoid glycoside ที่เคยมีรายงานแล้วคือสาร ochnaflavone, ochnaflavone 7-o-methyl ether, 2,3-dihydro ochnaflavone 7-o-methyl ether, iriskumaonin methyl ether, irisolone methyl ether, 6-y-y-dimethylallyltaxifolin 7-o-beta-D-glucoside,vitexin
การศึกษาทางเภสัชวิทยาของช้างน้าว
มีรายงานการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาสารสกัดจากส่วนต่างๆ ของช้างน้าวระบุไว้ดังนี้ มีการศึกษาวิจัยฤทธิ์ระงับปวดฤทธิ์ต้านการอักเสบ และลดไข้ของสารสกัดเมทานอลจากส่วนใบ กิ่ง ลำต้น และเปลือก ของช้างน้าวพบว่าในการทดสอบฤทธิ์ระงับปวด ระงับโดยการทำให้เกิดความเจ็บปวดโดยการฉีด acetic acid เข้าทางช่องท้องของหนูถีบจักร พบว่าสารสกัดช้างน้าวสามารถระงับปวดได้พอๆ กับแอสไพรินโดยมีความสัมพันธ์ระหว่างขนาดของสารสกัดที่ให้กับการตอบสนองที่เกิดขึ้น การทดลองใช้ความร้อนกระตุ้นการเจ็บปวดที่หางหนูเมื่อเปรียบเทียบกับยามาตรฐานมอร์ฟีน พบว่าสารสกัดจากส่วนเปลือกลำต้น และเปลือกมีฤทธิ์เพียงเล็กน้อยในขณะที่สารสกัดจากส่วนใบและแอสไพรินไม่มีฤทธิ์ และในการทดลองฉีดฟอมาลินเข้าอุ้งเท้าของหนูถีบจักรเพื่อให้เกิดความเจ็บปวดในระยะแรก (early phrase ) พบว่าสารสกัดช้างน้าวมีทธิ์ในการยับยั้งความเจ็บปวดได้ดีกว่าแอสไพรินโดยสารสกัดจากส่วนเปลือกสามารถยับยั้งการเลียอุ้งเท้าจองหนูได้ดีที่สุดเมื่อเทียบกับสารสกัดชนิดอื่นๆ และจากการทดลองที่ทำให้หนูถีบจักรเกิดความเจ็บปวดโดยการฉีดฟอร์มาลินเข้าอุ้งเท้าหนูถีบจักรในระยะหลัง (late phase) ซึ่งจะเป็นผลต่อการตอบสนองด้านการอักเสบพบว่า สารสกัดจากส่วนเปลือก ลำต้น และกิ่ง สามารถยับยั้งการเลียอุ้งเท้าของหนูได้ดีกว่าสารสกัดจากใบและแอสไพริน
ส่วนการศึกษาวิจัยฤทธิ์ลดไข้ของสารสกัดต่างๆ จากช้างน้าวพบว่า สารสกัดช้างน้าวทั้ง 3 ชนิด สามารถลดไข้ของหนูขาวที่เกิดจากยีสต์ได้เช่นเดียวกับแอสไพริน นอกจากนี้ยังมีการศึกษาวิจัยฤทธิ์ต้านมาลาเรียโดยการนำสาร A1,A2 (ซึ่งเป็นสารกลุ่ม bioflavonone ที่พบและแยกได้ใหม่ที่ผู้วิจัยไม่ได้ตั้งชื่อ) ไปทดสอบฤทธิ์ต้านมาลาเรีย 2 สายพันธุ์ คือ สายพันธุ์ดื้อยา multidrug-resistant plasmodium falciparum, K1) และสายพันธุ์ที่ไวต่อยา (drug sensitive strain plasmodium falciparum, FCR3) พบว่าสาร A1 มีฤทธิ์ต้านเชื้อมาลาเรียสายพันธุ์ดื้อยาดีกว่าสายพันธุ์ว่องไวต่อยาถึง 3 เท่า และฤทธิ์ต้านเชื้อมาลาเรียขอ A1 ดีมากกว่า A2 อีกทั้งยังมีการนำสาร ochnaflavone 7-0-methyl ether และสาร 2,3-dihydro ochnanoflavone 7-o-methyl ether. มาทดสอบฤทธิ์ต้านเชื้อ HIV พบว่าสารทั้งสองมีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อเอชไอวี โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 2.0 และ 2.4 uM ตามลำดับ
การศึกษาทางพิษวิทยาของช้างน้าว
ไม่มีข้อมูล
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
สำหรับการใช้ช้างน้าวเป็นยาสมุนไพรควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยการใช้ในขนาดและปริมาณที่เหมาะสมที่ได้ระบุไว้ในตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในขนาดที่มากจนเกินไปหรือใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไปเพราะอาจส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาวได้ สำหรับเด็กสตรีมีครรภ์ รวมถึงผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่องเป็นประจำก่อนใช้ช้างน้าวเป็นสมุนไพรควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนทุกครั้ง
เอกสารอ้างอิง ช้างน้าว
- พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ,ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, กัญจนา ดีวิเศษ. ช้างน้าว. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง. หน้า 93.
- สุรพงษ์ เก็งทอง. สมุนไพรพื้นบ้านในหมู่เกาะแสมสาร. รายงานวิจัยโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี. ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. 56 หน้า.
- พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ. ตาลเหลือง. หนังสือสมุนไพรอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. หน้า 114.
- ประไพรัตน์ สีพลไกร,รัตนาภรณ์ ไตรสถิต. สรรพคุณทางยา สารเมแทบอไลต์ทุติยภูมิและฤทธิ์ทางชีวภาพของพืชสมุนไพรไทยบำรุงน้ำนมชนิด. วารสารวิทยาศาสตร์บูรพา ปีที่ 25. ฉบับที่ 3 กันยายน-ธันวาคม 2563. หน้า 1288-1291.
- ช้างน้าว. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage&pid=182.
- Kaewamatawong, R.,Likhitwitayawuid, K., Ruangrungsi, N., Takayama, H., Kitajima, M., & Aimi, N. (2002). Novel bioflavonoids from the stem bark of Ochna integerrima. Journal of Natural Products, 65(7), 1027-1029.
- Likhittayawuid,K., Kaewwamatawong R and Ruangrungsi, N. Mono and bioflavonoids of Ochna integerrima. Biochematics and Ecology 33,5 2005: 527-536.
- Reutrakul, V., Ningnuek, N., Pohmakotr, M., Yoosook, C., Napaswad, C., Kasisit, J., Santisuk, T., & Tuchinda, P. (2007). Anti HIV-1 flavonoid glycosides from Ochna integerrima. Planta Medica, 73(7), 683-688.
- Tem Samitinand. Thai Plant Names. Revised Edition 2001. 810 p.
- Likhitwitayawuid, K. , Rungserichai, R., Ruangrungsi, N., & Phadungcharoen, T. (2001). Flavonoids from Ochna integerrima. Phytochemistry, 56(4), 353-357.
- Uamporn Veesommai and Thaya Janjittikul. Plant Materials in Thailand in 2001. 640 p.
- Ichino, C., Kiyohara, H., Soonthornchareonnon, N., Chuakul , W., Ishiyama, A., Sekiguchi, H., Namatame, M., Otoguro, K., Omura, S., & Yamada, H. (2006). Antimalarial activity of bioflavonoids from Ochna integerrima. Planta Medica, 72(7), 611-614.
- Singh, G. (2010). Plant systematics an integrated approach. (3rd ed.). India: Science Publishers