มะม่วงหัวแมงวัน ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย
มะม่วงหัวแมงวัน งานวิจัยและสรรพคุณ 18 ข้อ
ชื่อสมุนไพร มะม่วงหัวแมงวัน
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ฮักหมู, ฮักปู๊, มะม่วงแมงวัน (ภาคเหนือ), รักหมู (ภาคใต้), มะม่วงนก (ภาคกลาง)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Buchanania lanzan Spreng
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Buchanania latifolia Roxb., Buchanania cochinensis
วงศ์ ANACARDIACEAE
ถิ่นกำเนิดมะม่วงหัวแมงวัน
มะม่วงหัวแมงวัน มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในเขตร้อนของทวีปเอเชียบริเวณทางตอนเหนือ ตอนกลาง และตะวันตกของประเทศอินเดีย จากนั้นจึงได้กระจายพันธุ์ไปยังบริเวณใกล้เคียงในศรีลังกา เนปาล บังคลาเท พม่า ไทย ลาว กัมพูชา และมาเลเซีย เป็นต้น สำหรับในประเทศไทยสามารถพบมะม่วงหัวแมงวัน ได้ทั่วทุกภาคของประเทศบริเวณป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง และป่าชายหาด ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 50-300 เมตร
ประโยชน์และสรรพคุณมะม่วงหัวแมงวัน
- ใช้เป็นยาฝาดสมาน
- แก้ไข้
- แก้ร้อนใน
- แก้กามโรค
- แก้ท้องผูก
- เป็นยาถ่ายอย่างแรง เป็นยาระบาย
- แก้ท้องร่วง
- แก้อาการท้องเดิน
- รักษาโรคผิวหนัง
- แก้ท้องเน่น
- ขับเสมหะ
- แก้น้ำดี
- ทำให้อาเจียน
- แก้อักเสบจากพืชพิษ
- แก้ไอ
- แก้หอบหืด
- รักษางู และแมลงสัตว์กัดต่อย
- ป้องกันแบคทีเรีย
มะม่วงหัวแมงวันถูกนำมาใช้ประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ มากมาย เช่น ผลสุกของมะม่วงหัวแมงวัน มีรสหวาน ในชนบทจึงมีการนำมาใช้รับประทานเล่นได้ (หากรับประทานมากเกินไปอาจระคายเคืองในลำคอ) และยังมีการนำยอดอ่อน และดอกอ่อนมารับประทานเป็นผักจิ้มน้ำพริกได้อีกด้วย เนื้อไม้มีความแข็งแรงมีสีน้ำตาลปนเทา สามารถนำมาใช้ทำเครื่องใช้ไม้สอยต่างๆ เช่น ทำลังใส่สิ่งของใช้ทำเฟอร์นิเจอร์ตกแต่งบ้าน ต่างๆ หรือ นำใช้ในงานก่อสร้าง เช่น ประตู หน้าต่าง เสา และรั้วได้
ส่วนใบ และเปลือกต้นสามารถนำมาใช้เป็นสีย้อมผ้าได้โดย ใบใช้ผสมกับน้ำปูนใส จะให้สีน้ำตาล เช่นเดียวกันกับเปลือกต้น และใบผสมกับโคลนจะให้สีม่วงเทา
รูปแบบและขนาดวิธีใช้
- ใช้ทำให้อาเจียน แก้อาการท้องเดิน ใช้ขับเสมหะ ช่วยรักษาโรคเกี่ยวกับน้ำดี แก้อักเสบจากพืชพิษ ใช้เป็นยาระบาย โดยนำเปลือกต้น มาต้มกับน้ำดื่ม
- ใช้แก้ไข้ ใช้เป็นยาฝาดสมาน แก้ร้อนใน แก้ท้องร่วง แก้ท้องผูก แก้กามโรค โรคผิวหนัง แมลงสัตว์กัดต่อย นำรากมาต้มน้ำ ดื่มและใช้ทาบริเวณที่เป็นภายนอก
- ใช้แก้ท้องร่วง โดยนำยาง หรือ รากแห้งมะม่วงหัวแมงวัน มาบดกินกับน้ำร้อน
- ใช้แก้ไอ ขับเสมหะ แก้หอบหืด โดยนำผลสุกมารับประทานพอประมาณ ใช้รักษาโรคผิวหนัง แมลงสัตว์กัดต่อย โดยนำใบมาขยี้ หรือ ตำพอกบริเวณที่เป็น
ลักษณะทั่วไปของมะม่วงหัวแมงวัน
มะม่วงหัวแมงวัน จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ เรือนยอดเป็นพุ่มทึบ มีความสูงของต้นได้ถึง 8-20 เมตร ลำต้นมีลักษระเปลาตรง ต้นโตเต็มวัยสามารถขนาดโตวัดรอบได้ประมาณ 60-100 เซนติเมตร เปลือกต้นมีสีเทา หรือ เทาดำ แตกเป็นร่องหรือเป็นสะเก็ดยาวๆ ตามลำต้น เปลือกด้านในเป็นสีแดงเลือดหมู เมื่อถากเปลือกในจะมีน้ำยางสีน้ำตาลไหลซึมออกมา เมื่อโดนลมจะมียางสีดำตามก้าน และกิ่งอ่อนมีขนยาวสีน้ำตาลแดงทั่วไป
ใบมะม่วงหัวแมงวัน เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงเวียนสลับบริเวณปลายกิ่ง ลักษณะของใบเป็นรูปไข่กลับแกมรูปไข่กลับ หรือ รูปขอบขนานมีขนาดกว้าง 5-7.5 เซนติเมตร และยาว 10-15 เซนติเมตร โคนใบสอบมนเรียวปลายใบมนขอบใบเรียบ เนื้อใบสีเขียวหนาเหนียวคล้ายหนังสัตว์ หลังใบเรียบ ส่วนท้องใบมีขนสีน้ำตาลตามเส้นกลางใบและเส้นแขนงใบ ใบอ่อนมีสีน้ำตาลแดง และมีก้านใบยาว
ดอกมะม่วงหัวแมงวัน ออกเป็นช่อแบบแยกแขนงบริเวณซอกใบและปลายกิ่ง ส่วนดอกมีขนาดเล็กสีขาว มี 5 กลีบ ขนาดกว้าง 2-3 มิลลิเมตร ยาว 3-5 มิลลิเมตร ส่วนกลีบเลี้ยงมี 5 กลีบ สีน้ำตาล มีขนปกคลุมใต้กลีบ ด้านนอกของกลีบเลี้ยงและรังไข่มีขนขึ้นหนาแน่น มีเกสรเพศผู้ 5 อัน เกสรเพศเมีย 1 อัน ก้านช่ออวลมีขนสีน้ำตาลแดงขึ้นปกคลุมอย่างหนาแน่น
ผลมะม่วงหัวแมงวัน เป็นผลแบบ drupe มีลักษณะรูปกลม หรือ รี ผิวผลเรียบมีขนาดเล็ก มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร สีเขียวเมื่อผลแก่จะเปลี่ยนเป็นสีม่วง หรือ สีดำโดยในหนึ่งผลมีเมล็ด 1 เมล็ด
การขยายพันธุ์มะม่วงหัวแมงวัน
มะม่วงหัวแมงวันสามารถขยายพันธุ์ได้โดยวิธีการใช้เมล็ด ซึ่งการขยายพันธุ์ของมะม่วงหัวแมงวัน นั้น ส่วนมากจะเป็นการขยายพันธุ์ในธรรมชาติมากกว่าการนำมาปลูกโดยมนุษย์ สำหรับวิธีการเพาะเมล็ดและการปลูกมะม่วงหัวแมงวัน นั้นสามารถทำได้เช่นเดียวกันกับการเพาะเมล็ดและการปลูกไม้ยืนต้นทั่วไป ซึ่งได้กล่าวมาแล้วในหลายๆ บทความก่อนหน้านี้
องค์ประกอบทางเคมี
มีรายงานผลการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีของสารสกัดจากส่วนใบ น้ำมันหอมระเหยจากเมล็ด และน้ำมันจากเมล็ดของมะม่วงหัวแมงวัน ระบุว่า พบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญดังนี้ สารสกัดจากใบพบสาร Celidoniol, Vomicine, Epinitol, kaempferol-7-o’glucosides, quercetin-3-rahmnoglucoside, quercetin, gallic acid, kaemferol และ myricetin-3’-rhmnoside-3-galactoside น้ำมันหอมระเหยจากเมล็ดพบสาร Cycloisosativene, Tetradecane, Tetradecanoic acid, Campesterol, Stigmasterol, Hexadecanoic acid, Oleic acid, Octadecanoic acid, Androstan-3-ol และ Azulene ส่วนน้ำมันจากเมล็ด พบสาร β-amyrin, Myristic acid, palmitic acid, stearic acid, oleic acid และ linoleic acid เป็นต้น
การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของมะม่วงหัวแมงวัน
มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของสารสกัดมะม่วงหัวแมงวัน จากส่วนต่างๆ ระบุว่า มีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาหลายประการดังนี้
ฤทธิ์ต้านการอักเสบและแก้ปวด มีการศึกษาวิจัยในหนูทดลองโดยการกระตุ้นด้วยคาราจีแนนให้อุ้งเท้าบวม แบบเฉียบพลันและทำให้เกิดอาการข้ออักเสบเรื่อรังจากฟอร์มาลดีไฮด์ จากนั้นจึงป้อนสารสกัดเมทานอลจากเมล็ดมะม่วงหัวแมงวัน พบว่าสารสกัดดังกล่าวในขนาด 200 มก./กก.(น้ำหนักตัว) สามารถลดปริมาตรสารบวมและการอักเสบของอุ้งเท้าหนูทดลองลงอย่างมีนัยสำคัญ
ฤทธิ์รักษาแผลในกระเพาะอาหาร มีรายงานการศึกษาวิจัยสารสกัดเอธานอล จากส่วนรากของมะม่วงหัวแมงวัน เพื่อดูฤทธิ์รักษาแผลในกระเพาะอาหาร และฤทธิ์ต้านการอักเสบ สารสกัดที่มีความเข้มข้นต่างกัน (200 และ 400 มก./กก.) โดยการประเมินแผลที่เกิดจากเอธานอลในหนูเมาส์ พบว่าสารสกัดเอธานอลจากส่วนรากของมะม่วงหัวแมงวันแสดง ฤทธิ์ป้องกันความเสียหายร้ายแรงของแผลที่เกิดจากเอทานอล ในหนูทดลองได้
นอกจากนี้ยังมีรายงานการศึกษาวิจัยฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียในน้ำมันหอมระเหยจากส่วนเมล็ดของมะม่วงหัวแมงวัน พบว่าน้ำมันหอมระเหยดังกล่าวมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียอย่างมีนัยสำคัญต่อเชื้อ Vibrio cholerae และ Salmonella typhi โดยมีโซนยับยั้งสูงสุดเท่ากับ 15.67-1.20 และ 13.83-0.33 ตามลำดับ
การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของมะม่วงหัวแมงวัน
ไม่มีข้อมูล
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
ผลสุกของมะม่วงหัวแมงวันมีรสหวานสามารถรับประทานได้ แต่หากรับประทานมากเกินไปก็อาจทำให้เกิดอาการระคายเคืองในลำคอได้ เพราะมียางคล้ายมะม่วงทั่วไป นอกจากนี้ยางของมะม่วงหัวแมงวัน ยังมีพิษต่อผิวหนังอีกด้วย โดยหากน้ำยางไปโดยผิวหนังก็อาจทำให้เกิดอาการปวดแสบปวดร้อน ผิวหนังพุพองได้อีกด้วย ดังนั้นจึงควรระมัดระวังในการเก็บส่วนต่างๆ ของมะม่วงหัวแมงวันมาใช้ประโยชน์
เอกสารอ้างอิง มะม่วงหัวแมงวัน
- ขวัญฤทัย คำฝาเชื้อ 2551 พฤกษศาสตร์พื้นบ้านของชาวกะเหรี่ยง ที่ตำบลบ้านจันทร์และแจ่มหลวง อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ วิทยานิพนธ์ (วิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 271 หน้า
- ทักษัณ อาชวาคม.มะม่วงหัวแมงวัน.พืชกินได้ในป่าสะแกราช. สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย(วว.).หน้า 67-68
- พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, กัญจนา ดีวิเศษ. “มะม่วงหัวแมงวัน”. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง. หน้า 123.
- มะม่วงหัวแมงวัน แก้ไอ แก้หอบหืด. คอลัมน์สมุนไพรม หิดล. นิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ ประจำวันอาทิตย์ที่ 19 พฤษภาคม 2562.
- Mehta SK, Mukherjee S, Jaiprakash B. Preliminary phytochemical investigation on leaves of Buchanania lanzan (Chironji). Int J Pharm Sci Rev Res 2010;3(2):55-9.
- Rajput BS, Gupta D, Kumar S, Singh K, Tiwari C. Buchanania lanzan Spreng (Chironji): A vulnerable multipurpose tree species in Vindhyan region. J Pharmacogn Phytochem 2018;7:833-6
- Kodati D, Pareta S, Patra KC. Antiulcer activity of ethanolic extract of Buchanania lanzan Spreg. roots. Ann Biol Res 2010;1(4):234-9
- Zeven AC, de Wet JM. Dictionary of cultivated plants and their regions of diversity: Excluding most ornamentals, forest trees and lower plants. Pudoc 1982;2:227.
- Nasim KT, Arya R, Babu V, Ilyas M. Myricetin 3′-rhamnoside-3-galactoside from Buchanania lanzan (anacardiaceae). Phytochemistry 1992;31(7):2569-70
- Warokar AS, Ghante MH, Duragkar NJ, Bhusari KP. Anti-inflammatory and antioxidant activities of methanolic extract of Buchanania lanzan Kernel. Indian J Pharm Educ Res 2010;44(4):363-8