ตะบูนขาว ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

ตะบูนขาว งานวิจัยและสรรพคุณ 17 ข้อ

ชื่อสมุนไพร ตะบูนขาว
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ตะบูน, กระบูน, กระบูนขาว (ภาคกลาง), ยี่เหร่ (ภาคใต้)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Xylocarpus granatum J.Koening
วงศ์ MELIACEAE


ถิ่นกำเนิดตะบูนขาว

ตะบูนขาว จัดเป็นไม้ป่าชายเลยที่มีถิ่นกำเนิดบริเวณชายฝั่งทะเล ในเขตร้อน พบกระจายในอเมริกา แอฟริกา เอเชีย ออสเตรเลีย รวมถึงในหมู่เกาะของมหาสมุทรแปซิฟิก สำหรับในประเทศไทยพบตะบูนขาว ได้บริเวณป่าชายเลนในภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ โดยมักพบขึ้นปนกับต้นไม้บริเวณป่าชายเลนอื่นๆ เช่น จาก โกงกาง แสม พังกา หัวสุมดอกขาว ลำพู และลำแพน เป็นต้น


ประโยชน์และสรรพคุณตะบูนขาว

  1. แก้อหิวาตกโรค
  2. แก้เส้นตึง
  3. แก้กร่อน
  4. แก้เถาดาน
  5. แก้อาเจียนเป็นเลือด
  6. ใช้ห้ามเลือดภายใน
  7. แก้บิด
  8. แก้ท้องเสีย
  9. ใช้เป็นยาฝาดสมาน
  10. ใช้เป็นยาบำรุงร่างกาย
  11. แก้อาการไอ
  12. แก้อาการท้องร่วง
  13. ใช้ชะล้างแผล
  14. ใช้พอกแก้บวม
  15. แก้โรคหืด
  16. แก้พิษจากสัตว์ทะเล
  17. ใช้เพิ่มความแข็งแรงให้กับกะโหลกศีรษะของเด็กทารก 

           ตะบูนขาว ถูกนำมาใช้ประโยชน์มากมายหลายด้านอาทิเช่น เนื้อในมีสีขาว สามารถนำมาแปรรูปเป็นไม้ก่อสร้าง เช่น ใช้ทำไม้วงกบ ไม้แป้น รวมถึงแปรรูปเป็นเฟอร์นิเจอร์ หรือ เครื่องใช้ต่างๆ และยังสามารถนำมาใช้ทำฟืน หรือ เผาถ่านใช้เป็นครัวเรือนได้ เปลือกให้น้ำฝาด สามารถนำมาใช้สำหรับย้อมผ้าย้อมแหอวนได้

ตะบูนขาว

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

  • ใช้แก้กร่อน แก้เส้นตึงเป็นเถาดา แก้อหิวาตกโรค ใช้เป็นยาฝาดสมานโดยนำราก นำไปต้มรับประทาน เช้า-เย็น
  • ใช้แก้ท้องร่วง โรคบิด แก้ไอ บำรุงร่างกาย โดยนำเมล็ดมาเผาไฟ หรือ คั่วรับประทาน หรือ นำมาต้มกับน้ำดื่มก็ได้
  • ใช้ห้ามเลือดภายใน โดยนำเปลือกต้น และผล ตะบูนขาว มาคั้นกับน้ำมดแดงกิน
  • ใช้แก้โรคอหิวาต์ อาเจียนเป็นเลือด แก้บิด แก้ท้องเสีย ใช้เป็นยาฝากสมาน โดยนำเปลือกต้น หรือ ผลมาต้มกับน้ำดื่ม
  • ใช้เพิ่มความแข็งแรงให้กับกะโหลกศีรษะของเด็กทารก โดยนำเมล็ดมาบดด้วยน้ำปูนใส แล้วนำมาทาบนศีรษะของเด็ก
  • ใช้แก้หืด แก้ไอ โดยนำใบมาต้มกับน้ำดื่ม
  • ใช้ชะล้างแผล โดยนำเปลือกและเมล็ดมาตะบูนขาว ต้มน้ำนำมาชงชะล้างบริเวณที่เป็นแผล
  • ใช้แก้โรคหิด โดยนำเถ้าจากเมล็ดมาผสมน้ำทาบริเวณที่เป็น
  • แก้พิษจากสัตว์ทะเล ใช้ยางไม้ของตะบูนขาว สามารถนำมาใช้ทาบริเวณที่โดนพิษ


ลักษณะทั่วไปของตะบูนขาว

ตะบูนขาว จัดเป็นไม้พุ่ม หรือ ยืนต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง ผลัดใบแต่ผลิใบใหม่ได้เร็ว มีความสูงประมาณ 6-15 เมตร มีลักษณะทรงพุ่มเป็นทรงเรือนยอดแผ่กว้าง มีรูปร่างไม่เป็นระเบียบ ลำต้นมักคดงอ เปลือกต้นบางเรียบมีสีเทา หรือ อมขาว หรือ เป็นสีน้ำตาลเหลือง ซึ่งเปลือกต้นมักแตกล่อนเป็นแผ่นบางๆ ที่โคนต้นมีลักษระเป็นพูพอน รูปริบบิ้นแผ่จากโคนต้น

           ใบตะบูนขาว ใบประกอบแบบขนนกปลายคู่ ยาว 9-12 เซนติเมตร โดยจะออกแบบเรียงสลับ และใน 1 ช่อใบจะมีใบย่อย 1-3 คู่เรียงตรงข้าม หรือ เยื้องกันเล็กน้อย ใบย่อยเป็นรูปไข่กลับ หรือ รูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับขนาดกว้าง 3-6 เซนติเมตร ยาว 5-14 เซนติเมตร แผ่นใบสมมาตรกับ ฐานใบรูปลิ่มใบ ปลายใบกลม เนื้อใบหนามาก แต่เปราะแตกง่ายมีเส้นแขนงใบข้างละ 6-9 เส้น

           ดอกตะบูนขาว ออกเป็นช่อกระจุกแบบแยกแขนง โดยมักเกิดบนกิ่งอ่อน หรือ กิ่งแก่ แตกเป็นง่ามมีแกนกลางชัดเจน ซึ่งความยาวของช่อดอกประมาณ 1-6 เซนติเมตร มีใบประดับ และใบประดับย่อยที่หลุดร่วงง่าย ยาวประมาณ 0.5 มิลลิเมตร และมีกลีบเลี้ยงปลายจักเป็นพู 4 พู ลึกเกือบถึงกึ่งกลาง ขอบพูจรดกัน ส่วนกลีบดอกมี 4 กลีบ มีสีขาวครีม หรือ สีชมพูเข้ม รูปขอบขนาน กว้าง 2-3 มิลลิเมตร และยาว 3.5-5.5 เซนติเมตร มีก้านเกสรเพศผู้เชื่อมกันเป็นท่อ มีเส้นผ่าศูนย์กลางยาว 2-3.5 มิลลิเมตร ปลายจักเป็นพู แต่ละพูเป็นติ่งแหลม หรือ แตกเป็นสอง รังไข่มี 4 ช่อง แต่ละช่องมีไข่อ่อน 3-4 หน่วย และมีก้านดอกย่อยยาว 3-9 มิลลิเมตร บวมพองที่ปลายติดกับกลีบเลี้ยงเห็นชัด

           ผลตะบูนขาว เป็นผงแห้งแตก ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลมขนาดใหญ่ มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 15-25 เซนติเมตร หนักประมาณ 1-2 กิโลกรัม ผลเปลือกแข็งมีสีน้ำตาลคล้ายผลทับทิม มีก้านผลยาวประมาณ 3-5 เซนติเมตร มีร่องตามยาวของผล 4 แนว หรือ แบ่งเป็น 4 พู ด้านในผลมีเมล็ดขนาดใหญ่ ประมาณ 4-20 เมล็ด เมล็ดมีลักษณะเป็นรูปเหลี่ยมโค้งนูนปลาย ประสานเข้าเป็นรูปทรงกลม หนึ่งด้านกว้างประมาณ 4-6 เซนติเมตร

ตะบูนขาว

ตะบูนขาว

การขยายพันธุ์ตะบูนขาว

ตะบูนขาว เป็นพืชที่สามารถเจริญเติบโตได้ดีในน้ำกร่อย ชอบพื้นที่ชุ่มชื้นที่มีน้ำท่วมขัง และสามารถขยายพันธุ์ในธรรมชาติมากกว่าถูกนำมาปลูกโดยมนุษย์ โดยการขยายพันธุ์ในธรรมชาติของตะบูนขาว นั้นจะเป็นการอาศัยเมล็ดที่แตกออกจากผลร่วงสู่ดินแล้วงอกเจริญเติบโตเป็นต้นใหม่ สำหรับวิธีการเพาะเมล็ดและการปลูกตะบูนขาวนั้นสามารถทำได้เช่นเดียวกันกับไม้ยืนต้น และไม้พุ่มชนิดอื่นๆ ซึ่งได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมีของสารสกัดจากส่วนต่างๆ ของตะบูนขาว ระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิดอาทิเช่น มีรายงานการศึกษาการโดยนำส่วนสกัดหยาบชั้นเมทานอลจากกิ่งและใบของตะบูนขาว มาทำการแยกให้บริสุทธิ์ และสามารพแยกสารลิโมนอยด์-ไพริดีนชนิดใหม่ได้ 2 สาร ได้แก่ Xylogranatopyridines A และ B ซึ่งสารทั้งสองนั้นเกิดมาจากสารลิโมนอยด์ตั้งต้น คือ prexylogra-natopyridine ส่วนสารสกัดหยาบเอทานอลจากเมล็ดตะบูนขาว พบสารกลุ่ม tetranortrierpenoids ชนิดใหม่ 4 สาร ได้แก่ Xylomexicanins E-H และสารลิโมนอยด์ชนิดใหม่อีก 4 ชนิด คือ Xylocartin C และ granattumin V-Y อีกทั้งยังมีรายงานการศึกษาองค์ประกอบทางเคมีจากส่วนสกัดหยาบชั้นเอทานอลของเมล็ดตะบูนขาว อีกฉบับหนึ่งระบุว่า สามารถแยกสารได้ 2 ชนิด คือ Xylocarponoid A และ Xylocarponoid B สารสกัดหยาบเมทานอลจากส่วนใบและกิ่งของตะบูนขาว พบว่าสามารถแยกสาร กลุ่ม protolimonoids ชนิดใหม่ 7 ชนิด ได้แก่ Xylogranatumines A ถึง G นอกจากนี้ส่วนสกัดจากเมล็ดของตะบูนขาว ด้วยเมทานอล ยังพบสารลิโมนอยด์ ได้แก่ Sundarbanxylogranins A ถึง E อีกด้วย

โครงสร้างตะบูนขาว

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของตะบูนขาว

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของสารสกัดตะบูนขาว จากส่วนต่างๆ ระบุว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาหลายประการดังนี้

           ฤทธิ์ลดอาการท้องเสีย มีรายงานผลการศึกษาวิจัยโดยป้อนสารสกัดด้วยเมทานอลจากเปลือกต้นตะบูนขาว ขนาด 250 และ 500 มก./กก. ให้หนูถีบจักรที่ถูกเหนี่ยวนำให้ท้องเสียด้วยน้ำมันละหุ่ง และแมกนีเซียมซัลเฟต พบว่าสารสกัดสามารถลดอาการท้องเสียได้ โดยไปลดปริมาณอุจจาระที่ถ่ายทั้งหมด และปริมาณอุจจาระเหลว รวมถึงยังช่วยลดการเคลื่อนไหวของลำไส้ได้อีกด้วย

           มีรายงานการวิจัยหลายฉบับระบุว่าส่วนสกัดหยาบเอทานอล จากเปลือกรากตะบูนขาวมีฤทธิ์การยับยั้งเชื้อแบคทีเรียหลายชนิดอาทิเช่น Bacillus subtilis, Diplococus pneumoniae, Proteus valgaris, Staphylococcus, aureus แต่ไม่มีฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อ Escherichia coli ส่วนสารสกัดผลของตะบูนขาวด้วยเอทานอลนั้นมีรายงานการวิจัยว่า ไม่มีฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อ B. Subtilis, E. coli สำหรับส่วนสกัดหยาบไดคลอโรมีเทน และส่วนสกัดหยาบเมทานอลจากเมล็ดตะบูนขาวไม่มีฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อ S.aureus, Methicillin - resistant S. aureus, E. coli และ Pseudomonas aeruginosa แต่ส่วนสกัดเฮกเซนจากเมล็ดตะบูนขาวมีฤทธิ์การยับยั้งเชื้อ S. aureus, Methicillin - resistant S. aureus อย่างอ่อน และไม่มีฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อE. coli และ P. aeruginosa

           มีการนำสารฤทธิ์ต้านเบาหวาน นำสารลิโมนอยด์-ไพริดีนที่แยกได้จากสารสกัดเมทานอลจากกิ่งและใบตะบูนขาว ไปทดสอบฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของโปรตีนไทโรซิน ฟอสฟาเทต 1B (protein tyrosine phosphatase 1B) ที่เกี่ยวข้องกับโรคเบาหวาน พบว่าสาร Xylogranatopyridine A สามารถยับยั้งการทำงานของเนไซม์ที่ชื่อว่า โปรตีนไทโรซิน ฟอสฟาเทต 1B โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 22.9 μM

           มีการนำสารที่แยกได้จากสารสกัดเอทานอลจากเมล็ดตะบูนขาว ไปทดสอบฤทธิ์ความเป็นพิษต่อเซลล์มะเร็ง 6 ชนิด คือ A549, RERF, PC-3, PC-6, QG-56 และ QG-90 พบว่า สาร Xylomexicanins F แสดงฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็ง A549 และ RERF ในระดับปานกลาง โดยมีค่า IC50 18.83 และ 15.83 mM ตามลำดับ

           นอกจากนี้นำลิโมนอยด์ที่แยกได้จากสารสกัดเมทานอลจากส่วนใบของตะบูนขาว ไปทดสอบความเป็นพิษต่อเซลล์มะเร็งปอด (A549) พบว่าสาร Xylogranatumincs F มีฤทธิ์ในการยับยั้งเซลล์มะเร็งปอดที่ดีที่สุด

           มีการนำสารที่แยกได้จากสารสกัดเมทานอลจากเมล็ดของตะบูนขาว ไปทดสอบฤทธิ์ต้านเชื้อ HIV พบว่า สาร Sundarbanxylogranin B แสดงฤทธิ์ยับยั้งเชื้อ HIV ในระดับปานกลาง ด้วยค่า IC50=23.14±1.29 μM


การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของตะบูนขาว

ไม่มีข้อมูล


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

ถึงแม้ว่าจะมีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของสารสกัดจากส่วนต่างๆ ของตะบูนขาว ระบุว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่สำคัญหลายประการแต่สำหรับการใช้ตะบูนขาวเป็นสมุนไพรนั้นก็ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ เนื่องจากยังไม่มีรายงานการศึกษาวิจัยทางพิษวิทยารับรอง รวมถึงยังไม่มีขนาดการใช้ที่ปลอดภัยแน่นอน ดังนั้นจึงควรใช้ในขนาดที่เหมาะสมที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาพื้นบ้านต่างๆ อย่างเคร่งครัด ไม่ควรใช้ในขนาด และปริมาณที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้


เอกสารอ้างอิง ตะบูนขาว
  1. สำนักงานหอพรรณไม้ (2557).ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย เต็ม สมิตินันทน์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2557.กรุงเทพฯ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ.
  2. มัณฑนา นวลเจริญ.2552. สารานุกรมความหลากหลายทางชีวภาพตำบลคลองประสงค์ อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่, กทม. สำนักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม
  3. ก่องกานดา ชยามฤต และลีนา ผู้พัฒนพงศ์.(2545),สมุนไพรไทย ตอนที่ 7.กรุงเทพฯ.ประชาชน.
  4. ชุติมา จิตนิยม.(2554). ลิโมนอยด์จากเมล็ดตะบูนขาวและตะบูนดำ จังหวัดสุราษฎร์ธานี. วิทยานิพนธ์ปริญญาวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต, สาขาวิชาเคมี. คณะวิทยาศาสตร์, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
  5. เปลือกต้นตะบูนขาวช่วยลดอาการท้องเสีย.ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  6. ศิริพร จิ๋วสุวรรณ.การศึกษาทางเคมีและฤทธิ์ทางชีวภาพจากพืชสกุล Xylocarpus, วิทยานิพนธ์หลักสูตรวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาเคมีศึกษา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา. ธันวาคม 2560. 80 หน้า
  7. ตะบูน/ตะบูนขาว ประโยชน์และสรรพคุณตะบูน. พืชเกษตรดอทคอมเว็บเพื่อพืชเกษตรไทย (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.pucehkaset.com.
  8. Zhen-Fang Zhou, Hai-Li Liu, Wen Zhang, Tibor Kurtan, Attila Mandi, Attila Benyei,Jia Li, Orazio Taglialatela-Scafat, & Yue-Wei Guo. (2014). Bioactive rearrangedlimonoids from the Chinese mangrove Xylocarpus granatum Koenig. Tetrahedron, 70,6444-6449.
  9. Yi-Bing Wu, Ying Bai, Xiaohan Guo, Jinlong Qi, Mei Dong, Francoise Sauriol, Qingwen Shi,Yucheng Gu, & Changhong Huo. (2014). A new limonoids from Xylocarpusgranatum. Chemistry of Natural Compounds, 50(2), 314-316.
  10. Yi-Guo Daia, Jun Wua, Krishna Pillai Padmakumarb, & Li Shen. (2017). SundarbanxylograninsA–E, five new limonoids from the Sundarban Mangrove, Xylocarpus granatum.Fitoterapia, 122, 85–89.
  11. Waratcharee,W.2005.Chemical Constituents from the Seeds of Xylocarpusgranatm. Songkia Univercity.
  12. Chang-Hong Huo, Dong Guo, Li-Ru Shen, Bao-Wei Yin, Francoise Sauriol, Li-Geng Li, Man-LiZhang, Qing-Wen Shi, & Hiromasa Kiyota. (2010). Xylocarpanoids A and B, unique C28skeleton limonoids from Xylocarpus granatum. Tetrahedron Letters, 51, 754-757.
  13. Zhen-Fang Zhou, Orazio Taglialatela-Scafati, Hai-Li Liu, Yu-Cheng Gu, Ling-Yi Kong, &Yue-Wei Guo. (2014). Apotirucallane protolimonoids from the Chinese mangroveXylocarpus granatum Koenig. Tetrahedron, 97, 192-197.
  14. Yi-Bing Wu, Xia Qing, Chang-Hong Huo, Hui-Min Yan, Qing-Wen Shi, Francoise Sauriol,Yu-Cheng Gu, & Hiromasa Kiyota. (2014). Xylomexicanins E-H, new limonoids fromXylocarpus granatum. Tetrahedron, 70, 4557-4562.