ผักชีล้อม ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆและข้อมูลงานวิจัย

ผักชีล้อม งานวิจัยและสรรพคุณ 22 ข้อ

ชื่อสมุนไพร ผักชีล้อม
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ผักอัน, ผักอันอ้อ, ผักหนองช้าง (ภาคเหนือ), จุ้ยคึงไฉ่ (จีน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Oenanthe javanica (Blume) DC.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Oenanthe stolonifera wall. Ex DC.
ชื่อสามัญ Oenanthe, Water dropwort, Water celery
วงศ์ UMBELLIFERAE


ถิ่นกำเนิดผักชีล้อม

ผักชีล้อม จัดเป็นพืชในวงศ์ผักชี (APIACEAE หรือ UMBLLIFERAE) ที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในประเทศจีน ต่อมาได้มีการแพร่กระจายพันธ์ไปยังเขตร้อน และกึ่งเขตร้อนของทวีปเอเชีย เช่น ในเอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และญี่ปุ่น รวมทั้ง นิวกินี และควีส์แลนด์ (ออสเตรเลีย) สำหรับในประเทศไทยสามารถพบได้ทั่วไปแต่จะพบได้มากในภาคเหนือ บริเวณที่ชื้นแฉะ หรือ ริมน้ำที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 600-1700 เมตร


ประโยชน์สรรพคุณผักชีล้อม

  • ใช้บำรุงปอด
  • ขับลมในลำไส้
  • ช่วยย่อยอาหาร
  • ช่วยปรับสมดุลของระบบทางเดินอาหาร
  • แก้ลมทำให้สะอึก
  • แก้อาการคลื่นเหียนอาเจียน
  • แก้ไอ
  • แก้หืดหอบ
  • ช่วยให้เจริญอาหาร
  • บำรุงหัวใจ
  • บำรุงธาตุ
  • บำรุงเลือด
  • ดับพิษในร่างกาย
  • ช่วยกระตุ้นลำไส้
  • แก้ท้องอืด ท้องเพ้อ
  • ช่วยขับเหงื่อ
  • แก้เหน็บชา
  • เป็นยาฤทธิ์ร้อนอ่อนๆ ขจัดความเย็น
  • ปรับการไหลเวียนของลมปราณ ออกฤทธิ์ต่อปอดและม้าม
  • ช่วยขับลม
  • ช่วยขับเสมหะ
  • แก้อีสุกอีใส

         ผักชีล้อมเป็นพืชในวงศ์ผักชีที่นิยมนำมาใช้รับประทาน หรือ ใช้เป็นเครื่องปรุง หรือ นำมาเป็นส่วนประกอบหลักในการประกอบอาหาร เช่นเดียวกันกับผักชีลา และผักชีลาว โดยมีการนำผักชีล้อมมาประกอบอาหารได้หลายเมนู เช่น สลัด ยำผักชีล้อม และผักชีล้อมชุบแป้งทอด เป็นต้น อีกทั้งยังใช้ผักชีล้อมเป็นเครื่องปรุงรสที่ให้กลิ่นฉุน มีรสร้อนส่วนของยอดอ่อนนิยมใช้รับประทานเป็นผักสดแกล้มกินกับน้ำพริก ส้มตำ และลาบ หรือ อาจนำไปตกแต่งโรยหน้าอาหารก็ได้ ส่วนผลอ่อนก็สามารถใช้รับประทานเป็นผักจิ้ม หรือ ใช้ปรุงอาหารก็ได้เช่นกัน

ผักชีล้อม

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

ใช้บำรุงหัวใจ บำรุงเลือด บำรุงธาตุ ดับพิษในร่างกาย กระตุ้นลำไส้ แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ โดยนำผักชีล้อม ทั้งต้นมารับประทาน ทานสด หรือ นำมาประกอบอาหารรับประทาน หรือ อาจนำมาตากแห้ง ต้มน้ำ หรือ ชงเป็นชาดื่มก็ได้ ใช้บำรุงปอด ขับลมในลำไส้ ช่วยย่อยอาหาร แก้ลมสะอืด ปรับสมดุล ระบบทางเดินอาหาร แก้ไอ แก้หอบหืด โดยนำเมล็ดมาทุบพอแตกชงกับน้ำร้อนดื่ม ใช้ขับเหงื่อ แก้อาการบวม และเหน็บชา โดยนำใบหนาดใบมะขาม  ผักบุ้งแดง ผิวมะกรูด และผักชีล้อมทั้งต้น เข้ากระโจร รมควัน ใช้ขับลมในลำไส้ แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อยโดยใช้ร่วมกับขิง สด และส้ม รับประทาน


ลักษณะทั่วไปของผักชีล้อม

ผักชีล้อม จัดเป็นพืชล้มลุกลำต้น มีความสูงของต้นตั้งแต่ 10-60 เซนติเมตร โดยลำต้นโผล่ขึ้นเหนือน้ำ หรือ ทอดเลื้อยไปตามพื้นผิวดิน ลักษณะลำต้นกลวงอวบน้ำ ผิวภายนอกเป็นร่อง ชอบขึ้นในน้ำ และที่ชื้นแฉะ ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกออกแบบเรียงสลับมี 1-3 ชั้น ส่วนลักษณะใบย่อยเป็นรูปรีแคบ หรือ รูปไข่ สีเขียวมีมีความกว้าง 1.5-2.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 3-5 เซนติเมตร โคนใบเบี้ยว ปลายใบแหลม ขอบใบเป็นจักคล้ายฟันเลื่อย เนื้อใบบาง ดอก ออกเป็นช่อแบบซี่ร่ม ออกบริเวณปลายยอด ส่วนดอกย่อยมีขนาดเล็ก มีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ และมีกลีบดอกสีขาว 5 กลีบ มีเกสรเพศผู้ 5 อัน ก้านดอกย่อยยาวค่อนข้างเท่ากัน ผลเป็นผลเดี่ยว แบบผลแห้ง ลักษณะของผลค่อนข้างกลมเป็นสัน มีขนาด 2-3 เซนติเมตร มีก้านเกสรตัวเมียที่ไม่หลุดร่วง ตอนเป็นดอกโดยมีความยาวประมาณ 1-3 มิลลิเมตร เมื่อผลแก่แล้วจะแตกเป็นสองส่วน

ผักชีล้อม

ผักชีล้อม

การขยายพันธุ์ผักชีล้อม

ผักชีล้อมสามารถขยายพันธุ์ได้โดยการใช้เมล็ด และการปักชำแต่วิธีที่เป็นที่นิยมในปัจจุบัน คือ การใช้เมล็ดโดยวิธีการขยายพันธุ์ผักชีล้อม นั้น สามารถทำได้เช่นเดียวกันกับการขยายพันธุ์เทียนตาตั๊กแตน (ผักชีลาว) ซึ่งได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับองค์ประกอบทางเคมีของสารสกัดจากส่วนราก ลำต้น ใบ และดอก ของผักชีล้อมระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายกลุ่มอาทิเช่น สารกลุ่ม coumarins ประกอบด้วย bergapten, scopoletin, isopimpinellin, isoimperatorin, imperatorin, xanthotoxin, columbianadin, 5-hydroxy-8-methoxypsoralen และ 6,7-dihydroxycoumarin รวมทั้งสารกลุ่ม flavonoids และ flavonoid glycosides ประกอบด้วย quercetin,apigenin, persicarin, afzelin, isorhamnetin-3-O-β-D-glucopyranoside, nictoflorin, kaempferol, isorhamnetin-3-O-galactoside, isorhamnetin, hyperoside, luteolin, rutin และ quercetin-3-L-rhamnoside สารกลุ่ม phenolic ประกอบด้วย lunularin,neochlorogenic acid, caffeic acid, gallic acid, chlorogenic acid, α-tocopherol, carvacrol, p-hydroxyphenylethanol, catechin, ferulate, 5-p-trans-coumaroylquinic acid และ ferulic acid นอกจากนี้ผักชีล้อม ยังมีคุณค่าทางโภชนาการดังนี้        

           คุณค่าทางโภชนาการของผักชีล้อม (100 กรัม) คาร์โบไฮเดรต 52.29 กรัม โปรตีน 15.80 กรัม ไขมัน 14.87 กรัม เส้นใย 39.80 กรัม เบตาแคโรทีน 2,498 ไมโครกรัม วิตามินA 135 หน่วยสากล วิตามินB1 0.01 มิลลิกรัม วิตามินB2 0.35 มิลลิกรัม วิตามินB3 6.05 มิลลิกรัม วิตามินB6 0.47 มิลลิกรัม วิตามินC 21 มิลลิกรัม วิตามินE 6.60 มิลลิกรัม แคลเซียม 1,196 มิลลิกรัม ธาตุเหล็ก 18.54 มิลลิกรัม

โครงสร้างผักชีล้อม

การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของผักชีล้อม

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของสารสกัดจากผักชีล้อม ระบุว่าฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาหลายประการอาทิเช่น

           ฤทธิ์ปกป้องเซลล์ประสาท มีการการทดสอบฤทธิ์ปกป้องเซลล์ประสาทของผักชีล้อม โดยทดสอบในหนูเจอร์บิล โดยแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 ให้น้ำเกลือ และทำการผ่าตัดหลอก (sham group) กลุ่มที่ 2 ให้น้ำเกลือแล้วชักนำให้สมองขาดเลือดชั่วคราว กลุ่มที่ 3 และ 4 ให้สารสกัดเอทานอลผักชีล้อม 100 และ 200 มก./กก. ตามลำดับ แล้วชักนำให้สมองขาดเลือดชั่วคราว โดยให้สารทางปากวันละครั้ง เป็นเวลา 7 วัน ก่อนผ่าตัด (วันสุดท้ายให้สารสกัดก่อนผ่าตัด 30 นาที) แล้วทำการวัดสารต้านอนุมูลอิสระ copper, zinc superoxide dismutase SOD (SOD1), manganese SOD (SOD2), catalase และ glutathione peroxidase และประเมินเซลล์ประสาทรูปร่างปิระมิด (pyramidal neurons) ของสมองส่วนฮิปโปแคมปัส (hippocampal) บริเวณคอร์นู แอมโมนิส 1 (Cornu Ammonis 1; CA1) ผลการทดสอบพบว่า สารสกัดขนาด 200 มก./กก. มีผลป้องกันเซลล์ประสาทไม่ให้ถูกทำลายจากภาวะสมองขาดเลือด โดยเพิ่มการทำงานของเอนไซม์ต้านอนุมูลอิสระภายในเซลล์ โดยเฉพาะ glutathione peroxidase

           ฤทธิ์ต้านการอักเสบ มีรายงานการศึกษาฤทธิ์ต้านการอักเสบของสาร isorhamnetin, hyperoside และสารสกัดเอทานอลจากผักชีล้อม (Oenanthe javanica) โดยทำการทดสอบในหลอดทดลอง (in vitro) ด้วยเซลล์แมคโครฟาจ (macrophage) ของมนุษย์และหนูเม้าส์พบว่า สารสกัดเอทานอลผักชีล้อมมีผลลดการหลั่งไซโตไคน์ interleukin-1β (IL-1β) ซึ่งทำหน้าที่กระตุ้นภูมิคุ้มกันโดยกระตุ้นการทำงานของเซลล์แมคโครฟาจ และยับยั้งการเกิดโครงสร้างเชิงซ้อน Asc pyroptosome ที่เกิดจากการจับกันของ caspase 1 กับ NOD-like receptors (NLRs) ได้แก่ NLRP3, NLRC4 และ AIM2 ซึ่ง Asc pyroptosome จะทำหน้าที่กระตุ้นเซลล์ให้ถูกทำลาย หรือ เซลล์ตายจากการอักเสบ ในขณะที่สาร isorhamnetin มีผลยับยั้งการหลั่ง IL-1β, IL-18, และ caspase-1 ที่เกิดจากการเหนี่ยวนำของ NLRP3 และ AIM2 และลดการแสดงออกของไซโตไคน์ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการอักเสบได้แก่ pro-IL-1β, tumor necrosing factor-α (TNF-α), IL-6 และ NLRP3 ที่เกิดจากการกระตุ้นด้วย lipopolysacchalide (LPS) ส่วนสาร hyperoside มีผลยับยั้งการหลั่ง IL-1β, IL-18, และ caspase-1 ที่เกิดจากการเหนี่ยวนำของ NLRC4 และ AIM2 แต่ไม่มีผลต่อการแสดงออกของไซโตไคน์ และมีศึกษาฤทธิ์ต้านการอักเสบของสารสกัดจากผักชีล้อมในเซลล์แมคโครฟาจ (RAW264.7 cells) พบว่าสารสกัดจำกผักชีล้อมยับยั้งการสร้าง nitric oxide (IC50 < 61 µg/ml) จากการเหนี่ยวนำด้วย interferon gamma หรือ lipopolysaccharide โดยไม่มีความเป็นพิษต่อเซลล์
           ฤทธิ์ปกป้องตับมีรายงานการทดสอบฤทธิ์ปกป้องตับของสารสกัดน้ำจากผักชีล้อม ในหนูขาวเพศผู้ สายพันธุ์ Wistar พบว่าสกัดน้ำจากผักชีล้อมขนาด 12 g/kg สามารถยับยั้งการเพิ่มขึ้นของค่าบิลิรูบินในซีรั่ม และยับยั้งการตายแบบ necrosis ของเซลล์ตับจากการเหนี่ยวนำด้วย a-naphthylisocyanate นอกจากนี้สารสกัดเอทานอลของผักชีล้อมขนาด 500 µg/ml ยังสามารถต้าน oxidative stresses โดยเพิ่มการแสดงออกของ antioxidant enzymes ได้แก่ catalase (CAT), superoxide dismutase (SOD) และ glutathione peroxidase (GPx) ในเซลล์ตับของหนูขาวได้

           ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระมีรายงานการศึกษาฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของสารสกัดเมทานอลจากผักชีล้อม โดยทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระในหลอดทดลองด้วยวิธีทางเคมี คือ DPPH radical scavenging assay พบว่า สารสกัดเมทานอลจากผักชีล้อมสามารถยับยั้งอนุมูลอิสระ DPPH ได้ โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 87.42 ± 0.64 µg/ml


การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของผักชีล้อม

มีรายงานการศึกษาความเป็นพิษเฉียบพลันของผักชีล้อม โดยการป้อนผักชีล้อม สดขนาด 15 g/kg เป็นเวลา 14 วัน ให้แก่หนูเมาส์ พบว่าไม่ได้ทำให้เกิดการตายหรือเหนี่ยวนำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของค่า blood glucose, total protein, albumin, urea และ creatinine และไม่มีสัญญาณของการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผิดปกติ หรือ ความเป็นพิษต่ออวัยวะ เช่น ตับและไตแต่อย่างใด


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

การใช้ผักชีล้อม ทั้งในรูปแบบการใช้เป็นอาหาร และรูปแบบยาสมุนไพรในคนที่มีประวัติแพ้พืชวงศ์ผักชี (Apiaceae) หรือ คนที่มีประวัติแพ้ คึ่นช่าย, ยี่หร่า, กระเทียม, หอมใหญ่, เทียนข้าวเปลือก หรือ เทียนสัตตบุศย์ เยื่อบุจมูก และตาอักเสบจากภูมิแพ้ ผื่นแพ้สัมผัส ทำให้ผิวไวต่อแสงแดดซึ่งมีผลที่จะทำให้เกิดมะเร็งผิวหนัง, และหลอดลมเกร็งตัว เป็นต้น


เอกสารอ้างอิง ผักชีล้อม
  1. สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม. 2557. ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย เต็ม สมิติ-นันทน์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2544. โรงพิมพ์สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ 314-316 ถนนบำรุงเมือง เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย, กรุงเทพฯ. 828 หน้า.
  2. เดชา ศิริภัทร. ผักชี : ผักทีเป็นหน้าตาของอาหารไทย.คอลัมน์ต้นไม้ใบหญ้า,นิตยสารหมอชาวบ้านเล่มที่ 200. ธันวาคม 2538.
  3. พเยาว์ อินทสุวรรณ. 2552. อนุกรมวิธานพืช. พิมพ์ครั้งที่ 2. โครงการส่งเสริมการผลิตเอกสารวิชาการคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ, สงขลา. 262 หน้า.
  4. สมัย เสวครบุรี, ทักษิณ อาชวคม. ผักชีล้อม, พืชกินได้ในป่าสะแกราช. สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.). หน้า 197-198
  5. จิตราภรณ์ ธวัชพันธุ์. 2548. หลักอนุกรมวิธานพืช. สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์,กรุงเทพฯ. 266 หน้า.
  6. นพมาศ สุนทรเจริญนนท์,ผักชีของไทย...ดังไกลถึงญี่ปุ่น..แล้วประโยชน์คืออะไร. บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน. คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  7. บังอร ศรีพานิชกุลชัย. วนัสนันท์ แป้นนางรอง, การศึกษาความปลอดภัย และประสิทธิผลของตำรับยาปลูกไฟธาตุในมารดาที่ให้นมบุตร, รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์, ศูนย์วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์สุขภาพจากสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยของแก่น. 130 หน้า.
  8. ฤทธิ์ต้านการอักเสบของผักชีล้อม, ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  9. Lee KH, Padzil AM, Syahida A, et al. Evaluation of anti-inflammatory, antioxidant and antinociceptive activities of six Malaysian medicinal plants. Journal of Medicinal Plant Research 2011; 5(23): 5555–5563
  10. Lu CI, Li XF. A Review of Oenanthe javanica (Blume) DC. as Traditional Medicinal Plant and Its Therapeutic Potential. Evidence-Based Complementary and Alternative Medicine 2019; 2019: 1-17. Available from: https://doi.org/10.1155/2019/6495819
  11. Smitinand, T. 1989. Thailand, pp. 63-82. In D.G.Campbell and D.H.Hammond, eds. Floristic Inventory of Tropical Countries: Status of Plant Systematics, Collections and Vegetation, Plus Recommendations for the Future. New York Botanical Garden, New York.
  12. Yu ZX, Wei LH, Gao Y, Guo XQ. Study on acute toxicity of Oenanthe javanica. Journal of Anhui Agricultural Sciences. 2017; 45(2): 106-107.
  13. Lee CH, Park JH, Cho JH, et al. Effect of oenanthe javanica extract on antioxidant enzyme in the rat liver. Chinese Medical Journal 2015; 128(12): 1649–1654.
  14. Park JH, Cho JH, Kimet IH, et al. Oenanthe javanica extract protects against experimentally induced ischemic neuronal damage via its antioxidant effects. Chinese Medical Journal 2015; 128(21): 2932–2937