เบญจมาศน้ำเค็ม ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย
เบญจมาศน้ำเค็ม งานวิจัยและสรรพคุณ 25 ข้อ
ชื่อสมุนไพร เบญจมาศน้ำเค็ม
ชื่ออื่นๆ/ชื่อสมุนไพร ผักคราดทะเล (ทั่วไป)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Melanthera biflora (L.) Wild
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Wedelia biflora (L.) DC., Wollastonia biflora (L.) DC.
ชื่อสามัญ Sea daisy, Beach daisy, Sea ox-eye
วงศ์ ASTERACEAE
ถิ่นกำเนิดเบญจมาศน้ำเค็ม
เบญจมาศน้ำเค็ม จัดเป็นพืชในวงศ์ทานตะวัน (ASTERACEAE) ชนิดหนึ่งที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปเอเชียบริเวณชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก เช่น จีน ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รัฐควีนส์แลนด์ (รัฐของออสเตรเลีย) เกาะซามัว ฟิจิ และตองกา เป็นต้น จากนั้นจึงมีการแพร่กระจายพันธุ์ไปยังตามชายฝั่งเขตร้อนต่างๆ ทั่วโลก สำหรับในประเทศไทยมักพบเบญจมาศน้ำเค็ม ได้ตามที่ชื้นแฉะที่น้ำขัง หรือ ริมฝั่งน้ำบริเวณป่าชายเลน หรือ ตามชายหาดทั่วไป
ประโยชน์และสรรพคุณเบญจมาศน้ำเค็ม
- ช่วยแก้อาการบวม
- แก้ปวดแผล
- รักษาแผลเปื่อย
- แก้อาการปัสสาวะเป็นเลือด
- แก้อาการช่องคลอดอักเสบ
- แก้ปวดศีรษะ
- แก้ไข้
- แก้ไข้จับสั่น
- แก้โรคผิวหนัง ลดอาการคัน และระคายเคือง
- แก้ท้องผูก ช่วยถ่ายท้อง
- รักษาแผล แผลสด
- แก้แผลเรื้อรัง
- แก้ฟกช้ำ
- รักษาผิวหนังเป็นด่าง
- แก้เส้นเลือดขอด
- แก้พิษแมลงสัตว์กัดต่อย
- ขับปัสสาวะ
- แก้นิ่ว ในทางเดินปัสสาวะ
- ช่วยขับระดูในสตรี
- แก้กาม
- รักษาโรคหนองใน
- แก้หิด
- แก้ปวดท้อง
- รักษาสิว
- ใช้บำรุงสตรีหลังคลอด
มีรายงานผลการใช้ประโยชน์จากเบญจมาศน้ำเค็มในมาเลเซียระบุว่ามีการนำยอดอ่อนของเบญจมาศน้ำเค็ม มาใช้ประกอบอาหารรับประทาน ส่วนในเกาะลังกา มีใช้ยอดอ่อนดิบมารับประทานเป็นเครื่องเคียงของน้ำพริกกุ้ง
รูปแบบและขนาดวิธีใช้
- ใช้เป็นยาแก้ไข้ แก้ไข้จัดสั่น แก้ปวดศีรษะ แก้ปัสสาวะเป็นเลือด แก้ช่องคลอดอักเสบ แก้บวม แก้ปวดแผล โดยนำทั้งต้นเบญจมาศน้ำเค็มนำมาต้มกับน้ำดื่ม
- ใช้บำรุงสตรีหลังคลอด แก้ท้องผูก ถ่ายท้อง โดยนำใบเบญจมาศน้ำเค็ม มาคั้นเอาน้ำผสมกับนมวัวกิน
- ใช้ขับปัสสาวะ แก้นิ่วในทางเดินปัสสาวะ ขับระดูในสตรี แก้หนองใน กามโรค โดยนำรากเบญจมาศน้ำเค็ม นำมาต้มกับน้ำดื่ม
- ใช้รักษาผิวหนังเป็นด่าง เส้นเลือดขอด รักษาแผลเรื้อรัง แผลถูกของมีคนบาท แผลฟกช้ำ แก้พิษแมลงสัตว์กัดต่อย โดยนำใบเบญจมาศน้ำเค็มมาตำพอกบริเวณที่เป็น
- ใช้รักษาโรคผิวหนัง ช่วยแก้อาการคัน ลดอาการระคายเคือง รักษาแผลเปื่อยโดยนำทั้งต้นเบญจมาศน้ำเค็มมาตำพอก หรือ ทาบริเวณที่เป็น
- ใช้รักษาโรคหิด โดยนำรากเบญจมาศน้ำเค็ม มาตำพอกบริเวณที่เป็น
- ส่วนในต่างประเทศ เกะโซโลมอนใช้ใบเบญจมาศน้ำเค็มแก้ปวดท้อง และในพิธีใช้ใบรักษาสิว
ลักษณะทั่วไปของเบญจมาศน้ำเค็ม
เบญจมาศน้ำเค็ม จัดเป็นพันธุ์พืชประเภทไม้เลื้อย หรือ ไม้พุ่มกึ่งเลื้อยมักจะเลื้อยทอดยอดคลุมพื้นดิน มีความสูงของลำต้น 1.5-5 เมตร ลำต้นมีลักษณะเป็นสัน เรียวเล็กค่อนข้างแข็งมีสีเขียวอมน้ำตาล ตามลำดับมีขนขึ้นปกคลุมอยู่ทั่วไป โดยลำต้นมักแตกกิ่งก้านสาขาแบบไม่เป็นระเบียบบริเวณรอบๆ ส่วนลำต้นที่เลื้อยบนดินจะมีรากฝอยแตกออกตามข้อรอบลำต้นที่สัมผัสดิน
ใบเบญจมาศน้ำเค็ม เป็นใบเดี่ยว ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ มีขนาดกว้าง 1-3.5 นิ้ว ยาว 3-5.5 นิ้ว โคนใบสอบ เป็นรูปลิ่มปลายใบแหลม ขอบใบจักเป็นฟันเลื่อย แผ่นใบเป็นสีเขียวห่างๆ ใบด้านล่างจะใหญ่หว่าใบด้านบน ผิวใบบางสากมือมีขนแข็งขึ้นปกคลุมทั้งสองด้าน สามารถมองเห็นเส้นใบเห็นเด่นชัด 3 ใบ ออกจากโคนใบและมีก้านใบยาวประมาณ 1-2 เซนติเมตร
ดอกเบญจมาศน้ำเค็ม ออกเป็นช่อบริเวณส่วนยอดของลำต้น ซึ่งในแต่ละช่อจะดอกย่อยเป็นดอกเดี่ยวแบบสมบูรณ์เพศ โดยดอกจะมีสีเหลือง เมื่อดอกบานเต็มที่จะมีขนาดกว้าง 1.5-2.5 เซนติเมตร ดอกมีลักษณะเป็นรูปท่อมีกลีบดอกยาว 5 มิลลิเมตร ปลายกลีบจักเป็นแฉก 5 แฉก และก้านดอกยาวได้ประมาณ 1.5-7.5 เซนติเมตร
ผลเบญจมาศน้ำเค็ม เป็นผลเดี่ยวขนาดเล็กเป็นแท่งยาว 3-3.5 มิลลิเมตร มีสีน้ำตาลเข้ม ลักษณะผลโคนผลสอบแคบ ปลายผลตัด มีสัน 3 สัน และมีขนแข็งติดที่บริเวณปลายผล
การขยายพันธุ์เบญจมาศน้ำเค็ม
เบญจมาศน้ำเค็ม สามารถขยายพันธุ์ได้โดยการใช้เมล็ดและการปักชำ อีกทั้งยังเป็นพันธุ์ไม้กลางแจ้งที่ชอบแสงแดดตลอดวัน แต่ก็ชอบความชุ่มชื้นของดินในระดับปานกลางถึงชุ่มชื้นสูง สามารถเจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนปนทราย หรือ ดินทราย สำหรับวิธีการเพาะเมล็ดการปักชำและการปลูกเบญจมาศน้ำเค็ม นั้นสามารถทำได้เช่นเดียวกันกับการเพาะเมล็ด การปักชำ และการปลูก “ผักคราดหัวแหวน ” ซึ่งได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้
องค์ประกอบทางเคมี
มีรายงานการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีของสารสกัดจากส่วนใบของเบญจมาศน้ำเค็ม ระบุว่าพบสารออกฤทธิ์หลายชนิด อาทิเช่นพบสารกลุ่ม flavonoids ได้แก่ Kaempferol, Quercetin, Butein, Sinensetin, Salvagenin, Biochanin และ Resveratrol เป็นต้น อีกทั้งยังพบสารกลุ่ม alkaloids ได้แก่ Morphine, Biflorin, Homoaromoline, Daphnoline, Aromoline และ Nitidine พบสารกลุ่ม glucosides ได้แก่ Ouabain, Arbutin, Vitexicarpin, Salicin, Amygdalin และ Costugenin อีกทั้งยังพบสารกลุ่ม saponin ได้แก่ Gitogenin, Neohecogenin, Sapogenin, Hecogenin, Diosgenin และ Saponine อีกด้วย
การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของเบญจมาศน้ำเค็ม
มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของเบญจมาศน้ำเค็มระบุว่า มีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาต่างๆ ดังนี้
มีรายงานผลการศึกษาฤทธิ์ต้านการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราโดยวิธี disk diffusion โดยเชื้อที่ใช้ทดสอบ คือ Escherichia coli ATCC 25922, Bacillus cereus ATCC 14579, Salmonella typhimurium ATCC 11331, Staphylococcus aureus ATCC 25923 และ Candida albicans ATCC 10231 จากนั้นจึงได้นำสารสกัด 80% แอลกอฮอล์จากใบเบญจมาศน้ำเค็ม มาทำการทดลองหาค่า MIC พบว่าค่า MIC ต่อเชื้อ S. aureus ของเบญจมาศน้ำเค็ม (ส่วนใบ) มีค่า 0.625mg/ml และค่า MIC ต่อเชื้อ E.coli ของเบญจมาศน้ำเค็ม (ส่วนใบ) มีค่า มีค่า 0.312 mg/ml
นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าสารสกัดเบญจมาศน้ำเค็ม จากทั้งต้นของเบญจมาศน้ำเค็มยังมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ฤทธิ์ลดคลอเรสเตอรอล ฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด ฤทธิ์ต้านการอักเสบ และยังมีฤทธิ์ปกป้องตับอีด้วย
การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของเบญจมาศน้ำเค็ม
ไม่มีข้อมูล
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
สตรีมีครรภ์ไม่ควรใช้เบญจมาศน้ำเค็มเป็นยาสมุนไพร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรูปแบบการรับประทานเนื่องจากมีสรรพคุณขับประจำเดือน ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะแท้งบุตรได้ ส่วนเกษตรกรที่นำเบญจมาศน้ำเค็ม มาใช้เป็นอาหารสัตว์ ไม่ควรนำใบแก่และลำต้นมาเป็นอาหารสัตว์พร้อมกัน เนื่องจากมีรายงานว่า หากนำใบแก่และลำต้นของเบญจมาศน้ำเค็มมาผสมกันจะเป็นพิษ ซึ่งหากสัตว์กินเข้าไปแล้วจะทำให้เกิดการอาเจียนและตายได้
เอกสารอ้างอิง เบญจมาศน้ำเค็ม
- มัณฑนา นวลเจริญ. พรรณไม้ป่าชายหาด. ปทุมธานี. สำนักพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ 2552 หน้า 89
- ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม ผักคราดทะเล หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย. ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. หน้า 477-478.
- ณัฐนันท์ จิตรภิรมย์, สุธีระ เรศสุข, การตรวจสอบฤทธิ์ทางชีวภาพของสมุนไพร ป่าชายเลนและป่าชายหาด. โครงการพิเศษปริญญาตรี หลักสูตรปริญญาเภสัชศาสตร์บัณฑิต คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. ปีการศึกษา 2553.
- Tilvis RS, Miettinen TA. Serum plant sterols and their relation to cholesterol absorption. American Journal of Clinical Nutrition. 1986;43:92-97.
- Heatwole, H.; Done, T.; Cameron, E. (1981). Community Ecology of a Coral Cay, A Study of One-Tree Island, Great Barrier Reef, Australia. Monographiae Biologicae. Vol. 43. Springer Dordrecht. p. 102.
- Liu X, Kim J-K, Li Y, Li J, Liu F, Chen X. Tannic acid stimulates glucose transport and inhibits adipocyte differentiation in 3T3-L1 cells. Journal of Nutrition. 2005;135:165-171
- Cheryll Williams, Medicinal Plants in Australia Volume 4: An Antipodean Apothecary, Volume 4, p. 58
- Dillard CJ, German JB. Phytochemicals: Nutraceuticals and human health. J Sci Food Agric. 2000;80:1744-56.
- Storey, R.; Gorham, J.; Pitman, M. G.; Hanson, A. D.; Gage, D. (1993). "Response of Melanthera biflora to Salinity and Water Stress". Journal of Experimental Botany. 44 (10): 1551-1560.
- Soetan KO. Pharmacological and other beneficial effects of anti-nutritional factors in plants - A review. African Journal of Biotechnology. 2008;7:4713-4721