ข้าวเย็นเหนือ ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

ข้าวเย็นเหนือ งานวิจัยและสรรพคุณ 25 ข้อ

ชื่อสมุนไพร ข้าวเย็นเหนือ
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ข้าวเย็นวอก (ภาคเหนือ), ข้าวเย็นโคกแดง (อีสาน), หัวยาข้าวเย็นเหนือ (ภาคกลาง), หัวยาจีนปักษ์เหนือ (ภาคใต้), ควงเถี่ยวป๋าเซีย (จีน), เสี้ยมโถ่ฮก (จีนแต้จิ๋ว)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Smilax corbularia Kunth  subsp. corbularia
วงศ์ SMILACACEAE

 

ถิ่นกำเนิดข้าวเย็นเหนือ 

ข้าวเย็นเหนือ เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริเวณประเทศพม่า ไทย และลาว แล้วจึงได้มีการแพร่กระจายพันธุ์ไปยังบริเวณใกล้เคียง สำหรับในประเทศไทย มักจะพบมากทางภาคเหนือของประเทศ และบางพื้นที่ในภาคอีสานบริเวณ ป่าโปร่ง ป่าดงดิบเขา ป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง ทั้งนี้มีการนำเหง้าใต้ดินของข้าวเย็นเหนือมาใช้เป็นเครื่องยา โดยพบว่าจะมีเหง้าพืชอีกชนิดหนึ่งที่นำมาใช้ทำเป็นเครื่องยาที่มีลักษณะคล้ายๆ กัน คือ ข้าวเย็นใต้ แต่จะมีลักษณะที่แตกต่างกันที่สามารถสังเกตได้ คือ ข้าวเย็นเหนือจะมีเนื้อสีแดงเข้ม เนื้อละเอียด มีรสมัน ส่วนข้าวเย็นใต้หัวมีเนื้อสีขาว และมีรสมันอร่อยออกหวานเล็กน้อย จะเป็นเครื่องยาที่นำเข้ามาจากประเทศจีน

ประโยชน์และสรรพคุณข้าวเย็นเหนือ

  1. แก้ปวด
  2. แก้น้ำเหลืองเสีย
  3. แก้ร้อนในกระหายน้ำ
  4. แก้เส้นเอ็นพิการ
  5. แก้ปัสสาวะพิการ
  6. แก้กามโรค
  7. แก้มะเร็งคุดทะราด
  8. แก้เข่าข้อออกดอก
  9. แก้ฝีแผลเน่าเปื่อยพุพอง
  10. แก้ทำให้แผลฝียุบแห้ง
  11. ช่วยดับพิษในกระดูก
  12. แก้เม็ดผื่นคัน
  13. แก้อักเสบในร่างกาย
  14. แก้ไข้เรื้อรัง
  15. แก้ไข้ตัวร้อน
  16. แก้ไข้สันนิบาต
  17. แก้ไข้เหนือ
  18. แก้ลมริดสีดวง
  19. ช่วยบำรุงเลือดลม
  20. บำรุงกำลัง
  21. ช่วยลดอาการลดปวด สำหรับหญิงอยู่ไฟ หลังคลอดบุตร
  22. แก้มะเร็ง
  23. แก้หนองใน
  24. แก้ริดสีดวง
  25. ช่วยขับน้ำเหลือง

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

ใช้แก้มะเร็ง โดยบดยาหัวให้ละเอียด ผสมกับส้มโมง ต้นจนแห้ง แล้วผสมกับน้ำผึ้ง กินวันละ 1 เม็ด ใช้แก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้น้ำเหลืองเสีย แก้เส้นเอ็นพิการ แก้กามโรค ดับพิษในกระดูก แก้ปัสสาวะพิการ แก้อักเสบในร่างกาย แก้มะเร็งคุดทะราด ใช้บำรุงเลือดลม บำรุงกำลัง แก้ไข้ แก้ประดง โดยใช้เหง้า(หัว)ข้าวเย็นเหนือ แห้งต้มกับน้ำดื่ม ใช้แก้ไอ โดยใช้หัวข้าวเย็นเหนือ 5 บาท และหัวข้าวเย็นใต้ 5 บาท นำมาต้ม และเติมเกลือทะเลเล็กน้อย ดื่มวันละ 2 ครั้ง เช้า และเย็น ใช้แก้ริดสีดวงทวาร จะใช้ตัวยา 12 อย่าง ได้แก่ หัวข้าวเย็นเหนือเย็น ข้าวเย็นใต้ แก่นจำปา พริกไทยล่อน เครือส้มกุ้ง จันทน์ขาว จันทน์แดง จุกกระเทียม จุกหอมแดง รากลำเจียก เหง้าสับปะรด และสารส้ม นำมาต้มในหม้อดิน ใช้ดื่มครั้งละ 1 ถ้วยชา เช้า กลางวัน และเย็น ใช้แก้อาการปวดเมื่อยตามร่างกาย โดยใช้ข้าวเย็นเหนือ และข้าวเย็นใต้อย่างละ 30 กรัม โกฐหัวบั, โกฐเขมา, เจตมูลเพลิง, เถาวัลย์เปรียง อย่างละ 20 กรัม นำมาต้มกับน้ำดื่ม หรือ จะนำมาแช่กับเหล้า ทิ้งไว้ 7 วัน แล้วนำมาดื่มก็ได้ ใช้เป็นยารักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก โดยใช้ข้าวเย็นเหนือ และข้าวเย็นใต้ นำมาบดเป็นผง ผสมกับน้ำมันมะพร้าว หรือ น้ำมันงา แล้วนำมาใช้ทาบริเวณที่เป็น ใช้แก้โรคผิวหนัง ผดผื่นคัน ผิวหนังอักเสบ โดยหัวใต้ดินนำมาต้มกับน้ำให้เด็กอาบ


ลักษณะทั่วไปของข้าวเย็นเหนือ
   

ข้าวเย็นเหนือ จัดเป็นไม้เถาเนื้อแข็ง มีหัวหรือเหง้าเนื้อแข็งอยู่ใต้ดิน เถามีลักษณะกลมหรือเป็นเหลี่ยมเล็กน้อย มีหนาม กระจายห่างๆ มักเลื้อยพาดพันต้นไม้อื่น หรือ ตามพื้นดินในสภาพที่สมบูรณ์ เถาเลื้อย อาจยาวได้ถึง 5 เมตร ใบออกเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับ เป็นรูปรีแรมรูปใบหอก กว้าว 3-8 เซนติเมตร และยาว 5-15 เซนติเมตร ปลายใบแหลมโคนใบมนไม่เว้า ขอบใบเรียบ แผ่นใบเป็นมันหนาคล้ายแผ่นหลัง ผิวใบเรียบทั้งสองด้าน หน้าใบเป็นสีเขียวเข้ม หลังใบมีขนสีขาวปกคลุม ใบมีเส้นใบหลักประมาณ 5-7 เส้น โดยเส้นกลาง 3 เส้น จะเห็นได้ชัดกว่าเส้นด้านข้าง ดอกออกเป็นช่อแบบช่อซี่ร่ม โดยจะออกที่ซอกใบที่อยู่ใกล้ปลายกิ่ง เป็นดอกแยกเพศต่างต้น ดอกย่อย 1-3 ช่อ ดอกมีสีเขียวมีกลีบ 6 กลีบ เป็นรูปรี หรือ รูปรีแกมรูปขอบขนาน เกสรเพศผู้มีจำนวน 6 อัน ส่วนช่อดอกเพศเมียมี 15-30 ดอกต่อช่อ รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปรี ยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร มีเกสรเพศผู้ที่เป็นหมัน 3 อัน คล้ายกับเข็ม ผลออกเป็นกระจุกแน่น ลักษณะเป็นทรงกลม เป็นผลแบบมีเนื้อ เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 5-6 มิลลิเมตร เมื่อผลอ่อนเป็นสีเขียวแต่เมื่อผลสุกจะเป็นสีม่วงดำ ภายในผลมีเมล็ดประมาณ 1-2 เมล็ด

ข้าวเย็นเหนือ

การขยายพันธุ์ข้าวเย็นเหนือ

ข้าวเย็นเหนือสามารถขยายพันธุ์ได้โดยวิธีใช้เมล็ดและใช้เหง้าปลูก ซึ่งการขยายพันธุ์หลักๆที่เกิดขึ้นจะเป็นการขยายพันธุ์ในธรรมชาติมากกว่าการถูกนำมาขยายพันธุ์โดยมนุษย์ ส่วนในการนำข้าวเย็นเหนือ มาใช้เป็นเครื่องยานั้น ก็จะเป็นการนำมาจากธรรมชาติมากกว่าการปลูกเพื่อใช้ประโยชน์ แต่หากต้องการจะขยายพันธุ์ข้าวเย็นเหนือนั้น มีการแนะนำว่าควรใช้วิธีนำเหง้ามาปลูก เพราะจะสามารถเจริญเติบโตได้เร็วกว่าการปลูกโดยใช้เมล็ด สำหรับวิธีการใช้เหง้าปลูกนั้น ก็สามารถทำได้เช่นเดียวกันกับการใช้เหง้าปลูกพืชชนิดอื่นๆ ตามที่ได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้

องค์ประกอบทางเคมี

มีการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมีของเหง้าข้าวเย็นเหนือ ที่นำมาใช้ทำเครื่องยาสมุนไพรพบว่า พบสารทุติยภูมิที่มีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระที่สำคัญ ได้แก่ phenolic compound, Astilbin, quercetin, engeletin และ steroid saponin

            นอกจากนี้ยังพบสาร Diosgenin, Smilacin, Tanin, Smilax, Parillin, Tigogenin, Amino acid เป็นต้น 

โครงสร้างข้าวเย็นเหนือ

ที่มา : Wikipedia

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของข้าวเย็นเหนือ

มีผลการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของเหง้าข้าวเย็นเหนือ หลายฉบับ ระบุว่าสารสกัดของเหง้า (หัว) ข้าวเย็นเหนือมีฤทธิ์ต้านเอนไซม์ HIV-1 integrase ได้ และยังพบว่าสารออกฤทธิ์ที่สำคัญในเหง้าของข้าวเย็นเหนือยังมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้มีรายงานการการศึกษาวิจัยโดย ใช้เหง้าของหัวข้าวเย็นเหนือเป็นตำรับยาร่วมกับหัวข้าวเย็นอีก 4 ชนิด คือ P ygmaeopremnaherb acea (Roxb.) Mold., Dioscoreamemb ranacea Pierre ex Prain & Burkill., D. birmanica Prain & Burkill และ S. glabra Roxb. เพื่อรักษาโรคมะเร็งและเอดส์อีกด้วย

การศึกษาทางพิษวิทยาของข้าวเย็นเหนือ

ไม่มีข้อมูล

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

ในการใช้ส่วนต่างๆ ของข้าวเย็นเหนือเป็นเครื่องยาสมุนไพรสำหรับบำบัดรักษาโรคต่างๆ นั้นควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในปริมาณที่พอดีที่ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากหรือน้อยจนเกินไป หรือ ใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ สำหรับเด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้ป่วยโรคเรื้อรังรวมถึงผู้ที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่องเป็นประจำ ก่อนจะใช้ข้าวเย็นเหนือ เป็นสมุนไพรสำหรับบำบัดรักษาโรค ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้เสมอ

 

เอกสารอ้างอิง ของข้าวเย็นเหนือ
  1. แก้ว กาญจนา,2547, ตำราสมุนไพรบำบัดโรคชุดที่ 2 สูตรลับตำรับสมุนไพรรักษาโรคเบาหวาน, สํานักพิมพ์นีออนบุ๊คมีเดีย, นนทบุรี, 100 น.
  2. วิทยา บุญวรพัฒน์. “ข้าวเย็นเหนือ”. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. หน้า 132.
  3. เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, 2549, สมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง, มูลนิธิการแพทย์แผนไทยพัฒนา, พิมพ์ครั้งที่ 2, บริษัทสามเจริญพาณิชย์, กรุงเทพฯ, 228 น.
  4. ชยันต์ พิเชียรสุนทร ศุภชัย ติยวรนันท์ และ วิเชียร จีรวงศ์. คู่มือเภสัชกรรมแผนไทยเล่ม 6 เภสัชกรรม. กทม. อัมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง. 2555.http://thaiherbal.org/900/900
  5. เยาวพา จิระเกียรติกุล,เจิมดรุณ อุทัยแจ่มศรีผล, ภานุมาศ ฤทธิไชย. ผลของระยะเวลาเพาะเลี้ยงต่อปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระของยอดหัวข้าวเย็นเหนือ . วารสารวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปีที่ 27. ฉบับที่ 6.พฤศจิกายน-ธันวาคม 2562. หน้า 1066-1077
  6. ข้าวเย็น.ฐานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.phergarden.com/main.php?action=viewpage&pid=49
  7. Yuan, J.Z., Dou, D.Q., Chen, Y.J., Li, W., Kazuo, K., Tamotsu, N. and Yao, X.S.,2004,Studies   on   dihydroflavonol   glycosides from  rhizome  of Smilax  glabra,China J.Chin.Mate.Med.29: 867-870.
  8. Li, S.Y., Fuchino, H., Kawahara, N., Sekita, S. and  Satake,  M.,2002,New  phenolic constituents  from Smilax  bracteata,J. Nat. Prod. 65: 262-266.
  9. Shi-Chao,  C.,  Ying-Xiong,  Q.,  Ai-Li,  W., Cameron, K.M. and Cheng-Xin, F.,2006,A phylogenetic analysis of the Smilacaceaebased   on   morphological   data,Acta Phytotaxon. Sin. 44: 113-125.
  10. Ruangnoo, S., Jaiaree, N., Makchuchit, S., Panthong,  S.,   Thongdeeying,  P. and Itharat,  A.,2012,An in  vitroinhibitory effect    on    RAW    264.7    cells    by antiinflammatory compounds from Smilax  corbulariaKunth,Asian  Pac. J. Allergy Immunol. 30: 268-74.