หูปลาช่อน ประโยชน์ดีๆ สรรพรคุณเด่นๆและข้อมูลงานวิจัย

หูปลาช่อน งานวิจัยและสรรพคุณ 25 ข้อ

ชื่อสมุนไพร หูปลาช่อน
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น หางปลาช่อน (ภาคกลาง), ผักบั้ง (ภาคเหนือ), ผักแดง (ภาคอีสาน), เอี่ยโต่ยเช่า, เฮียะแอ่อั้ง, หยางถีเฉ่า, เยวียะเสี้ยหง (จีน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Emilia sonchifilia (L.) DC.
ชื่อสามัญ Cupid’s shaving brush, Red tassel flower, Sow thistle, Emilia
วงศ์ ASTERACEAE-COMPOSITIVE

ถิ่นกำเนิดหูปลาช่อน

หูปลาช่อน เป็นพืชที่ถูกจัดให้เป็นวัชพืชชนิดหนึ่ง มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนของทวีปเอเชีย โดยเป็นพืชที่มีการกระจายพันธุ์อย่างรวดเร็วจนในปัจจุบันสามารถพบได้ในเขตร้อนต่างๆ ทั่วโลกซึ่งมักพบได้ทั่วไปตามที่รกร่างว่างเปล่า หรือ ตามสองข้างทาง รวมถึงตามชายป่าต่างๆ ก็สามารถพบเห็นได้ เช่นกัน สำหรับในประเทศไทย พบเห็นได้ทั่วทุกภาคของประเทศ

ประโยชน์และสรรพคุณหูปลาช่อน

  • รักษาระบบทางเดินหายใจติดเชื้อ
  • ช่วยขับพิษร้อนถอนพิษไข้
  • ช่วยทำให้เลือดเย็น
  • แก้ไอ
  • ช่วยขับเสมหะ
  • แก้หืด   
  • ช่วยขับปัสสาวะ
  • แก้ฝีในลำไส้
  • แก้ผดผื่นคัน
  • ใช้ห้ามเลือด
  • แก้ปวดหลัง ปวดเอว
  • แก้โรคตางซานขโมยในเด็ก
  • แก้ท้องเสีย
  • ใช้รักษาอาการเจ็บคอ
  • ช่วยรักษาต่อมทอนซินอักเสบ
  • แก้ถ่ายอุจจาระเป็นเลือดเรื้อรัง
  • แก้ฝีฝักบัว
  • แก้ท้องร่วง
  • แก้บวมน้ำ
  • รักษาโรคเริม
  • แก้พิษฝีหนอง
  • แก้บิด
  • แก้คออักเสบ
  • ใช้รักษาหูด
  • ช่วยสมานแผล

           หูปลาช่อน ถูกนำมาใช้ประโยชน์หลักๆ 2 ประเภท คือ นำมาใช้เป็นอาหารโดยในชนบทมีการนำใบอ่อน และยอดอ่อน มารับประทานเป็นผักสดกับน้ำพริก ส่วนอีกประเภทหนึ่ง คือ นำมาใช้ทำเป็นสมุนไพร

หูปลาช่อน

รูปแบบและขนาดวิธีใช้หูปลาช่อน

แก้ทอนซิลอักเสบ แก้ไอ ขับเสมหะ เจ็บคอ คออักเสบ แก้บิด และถ่ายอุจจาระเป็นเลือดเรื้อรัง ใช้ต้นสด 30-90 กรัม (ต้นหูปลาช่อน แห้งใช้ 15-30 กรัม) ต้มน้ำกินวันละ 2-3 ครั้ง ใช้รักษาตานขโมยในเด็กโดยใช้ราก 10 กรัม นึ่งกับเนื้อหมูแดงกิน แก้อาการปวดหลัง ปวดเอว โดยใช้รากมาตำคั้นผสมกับน้ำตาลเมาดื่ม แก้ฝีฝักบัว (ตามเต้านมบริเวณระยะเริ่มเป็น) เป็นฝีชนิดต่างๆโดยใช้ต้นสด 1 กำมือ ใส่น้ำตาลทรายแดง หรือ เกลือจำนวนเล็กน้อย ตำพอกบริเวณที่เป็น เปลี่ยนยาวันละ 2 ครั้ง ใช้รักษาเริม โดยใช้ต้นสด ตำพอกบริเวณที่เป็น และเปลี่ยนยาวันละครั้ง แก้พิษฝีหนอง รักษาหูด ห้ามเลือด สมานแผลโดยใช้ใบมาตำพอกบริเวณที่เป็น

ลักษณะทั่วไปของหูปลาช่อน

หูปลาช่อน จัดเป็นพันธุ์ไม้ล้มลุก ขนาดเล็กอายุปีเดียวจำพวกหญ้ามีลักษณะสีเขียวแกมม่วง ตั้งตรง แต่โคนต้นใกล้รากจะมีสีม่วงแดงสูงได้ประมาณ 10-50 เซนติเมตร แตกกิ่งก้านที่โคนต้น ลำต้นปกคลุมไปด้วยขนนุ่ม

            ใบ เป็นใบเดี่ยวออกแบบเรียงสลับเป็นรูปไข่ยาวประมาณ 5-10 เซนติเมตร หลังใบเป็นสีเขียวเข้ม ส่วนท้องใบเป็นสีม่วงแดง ใบที่โคนต้นจะมีขนาดใหญ่กว้าโคนที่อยู่บนยอด

             ดอก ออกเป็นช่อบริเวณกลางลำต้น ก้านช่อดอกยาวประมาณ 5-8 เซนติเมตร และจะแตกออกเป็น 2 แขนง และมีดอกย่อยประมาณ 20-45 ดอก เป็นดอกขนาดเล็กสีแดงมี 5 แฉก ยาวประมาณ 12-14 เซนติเมตร กลีบดอกติดกันเป็นรูปท่อ ส่วนโคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นรูปทรงกระบอก มีเกสรตัวผู้ 5 อัน เกสรตัวเมีย 1 อัน

           ผล เป็นผลเดียว รูปทรงกระบอกยาว 4 มิลลิเมตร เปลือกผลแข็งมีจรสีขาวปกคลุมที่เส้นสันผิวเปลือก ผลแห้งจะไม่แตกหรืออ้าออก ส่วนเมล็ดอ่อนสีน้ำตาล มีขน

หูปลาช่อน

หูปลาช่อน

การขยายพันธุ์หูปลาช่อน

หูปลาช่อน ขยายพันธุ์โดยวิธีการใช้เมล็ด ซึ่งถูกจัดเป็นวัชพืชที่มีการขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว ในธรรมชาติและเป็นพืชที่มีความทนทานทุกสภาพอากาศขึ้นได้ดีในดินทุกประเภท ปัจจุบันไม่นิยมนำมาปลูกแต่จะพบเห็นได้ตามธรรมชาติ ส่วนการนำมาใช้ประโยชน์ก็จะเป็นการเก็บมาจากธรรมชาติเกือบทั้งหมด

องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีของหูปลาช่อน ระบุว่าพบสารแกฤทธิ์ที่สำคัญ อาทิเช่น simiral, beta-sitosterol, palmitic acid, quercitrin เป็นต้น นอกจากนี้ยังเป็นสารที่มีพิษอยู่ 1 ชนิด คือ pyrrolizidine alkaloidอีกด้วย

โครงสร้างหูปลาช่อน 

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของหูปลาช่อน

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของหูปลาช่อน ระบุถึงฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาต่างๆ เอาไว้ว่า

           ฤทธิ์ระงับปวด มีการศึกษาฤทธิ์ระงับปวดของหูปลาช่อน ด้วยการป้อนสารสกัดไฮโดรเอทาโนลิค (แอลกอฮอล์ผสมน้ำ) จากส่วนลำต้นเหนือดินของหูปลาช่อนให้แก่หนูเม้าส์ ขนาด 30 100 300 มก./กก. 1 ชั่วโมง ก่อนนำหนูไปกระตุ้นให้เกิดอาการเจ็บปวดด้วยวิธีต่างๆ ได้แก่ การฉีดกรดอะซีติกและฟอร์มาลินเข้าที่ช่องท้อง และการนำส่วนหางไปจุ่มลงในน้ำร้อนหรือวางบนฮอทเพลต ที่มีอุณหภูมิประมาณ 50 องศา เพื่อสังเกตพฤติกรรมของการตอบสนองของหนูต่อสิ่งเร้าที่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดหลังการกินสารสกัดไฮโดรเอทาโนลิคต้นหูปลาช่อน และเปรียบดทียบผลที่ได้กับหนูที่ถูกป้อนด้วยยาระงับปวดชนิดอื่นได้แก่ Indomethacin ขนาด 10 มก./กก. หรือมอร์ฟินขนาด 100 300 มก./กก. มีผลระงับอาการเจ็บปวดของหนูในทุกรูปแบบการทดสอบ และให้ผลดีกว่าการใช้มอร์ฟิน และมีรายงานการศึกษาทางคลินิกของโรคติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจส่วนบนและปอดอักเสบในเด็กโดยใช้ต้นหูปลาช่อนแห้ง 1 กรัม ทำเป็นยาฉีด 1 มล. (ปริมาณที่ใช้อายุต่ำกว่า 6 เดือน) ใช้วันละ 1-2 มล. 6-12 เดือน ใช้วันละ 2-4 มล. 2-3 ปี ใช้วันละ 4-6 มล. 4-6 ปี ใช้วันละ 6-9 มล. 7-10 ปี ใช้วันละ 9-12 มล. 10 ปีขึ้นไปใช้วันละ 12 มล. ทำการแบ่งฉีดเข้ากล้ามวันละ 2-3 ครั้ง และใช้วิธีอื่นรักษาร่วมด้วย ผลการศึกษาพบว่าในผู้ป่วยที่ติดเชื้อระบบทางเดินหายใจส่วนบน จำนวน 50 ราย หลังจากรักษาแล้ว 2-3 วัน อาการไข้และไอค่อยๆลดลง และหายใจปกติภายใน 3-4 วัน สำหรับผู้ป่วยที่ปอดอักเสบ จำนวน 25 ราย ไข้ลดลงหลังจากรักษาแล้ว 3-4 วัน อาการไอ หอบ และเสียงในปอดค่อยๆหายไป และหายเป็นปกติใน 5-6 วันนอกจากนี้ยังมีการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาอื่นๆ ระบุว่า หูปลาช่อนมีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อจุลชีพและต้านการอักเสบ ได้อีกด้วย

การศึกษาทางพิษวิทยาของหูปลาช่อน

มีรายงานผลการศึกษาทางพิษวิทยาของหูปลาช่อน ระบุว่า หูปลาช่อนมีความเป็นพิษต่อตับทำให้เกิดอาการชักกระตุกควบคู่ไปกับการอาเจียน ปวดท้อง ท้องเดิน และหมดสติ โดยในครั้งแรกจะอาเจียน หลังจากนั้น 8-10 ชั่วโมง จะมีอาการชักกระตุกควบคู่ไปกับอาเจียน ปวดท้อง ท้องเดิน และหมดสติ

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

สตรีมีครรภ์ห้ามใช้สมุนไพร หูปลาช่อน เนื่องจากยังไม่มีรายงานด้านความปลอดภัย และขนาดวิธีใช้ที่เหมาะสม การใช้หูปลาช่อนเป็นสมุนไพรก็มีข้อควรระวังคือสาร pyrrolizidine alkaloid ที่พบในหูปลาช่อน มีความเป็นพิษต่อตับดังนั้นในการใช้ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงควรใช้ในขนาดและปริมาณที่เหมาะสมที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ อย่างเคร่งครัด

เอกสารอ้างอิง หูปลาช่อน
  1. ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม. “หูปลาช่อน ”. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย. ฉบับพิมพ์ครั้งที่5. หน้า 827-829.
  2. หูปลาช่อน. ฐานข้อมูลพืชพิษ. สำนักงานข้อมูลสมุนไพรไทย คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
  3. วิทยา บุญวรพัฒน์. “หูปลาช่อน”. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. หน้า 620.
  4. ฤทธิ์ระงับปวดของสารสกัดจากต้นหูปลาช่อน. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล