มะกอกน้ำมัน ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

มะกอกน้ำมัน งานวิจัยและสรรพคุณ 31 ข้อ


ชื่อสมุนไพร มะกอกน้ำมัน
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น มะกอกโอลีฟ, มะกอกฝรั่ง (ทั่วไป)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Olea europaea Linn.
ชื่อสามัญ Olive
วงศ์ OLEACEAE


ถิ่นกำเนิดมะกอกน้ำมัน

มะกอกน้ำมัน เป็นพืชในตระกูลมะกอกที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในเขตเอเชียไมเนอร์ และตะวันออกกลาง โดยมีถิ่นฐานเดิมซึ่งเริมมาตั้งแต่บริเวณ แถบทะเลบอลข่าน และที่ราบสูงในอิหร่าน ปาเลสไตน์ จนถึงแถบชายฝั่งของซีเรีย และได้กระจายมาถึงเกาะ Crete ไปจนถึงอียิปต์ และได้มีการกระจายพันธุ์ไปทั่วบริเวณลุ่มแม่น้ำที่ติดกับชายฝั่งของทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ต่อมาจึงมีการนำไปปลูกในยุโรป อเมริกา เอเชียกลาง ซึ่งในปัจจุบันมะกอกน้ำมัน ถือว่าเป็นพืชที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศในแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เช่นใน อิตาลี สเปน โปรตุเกส โดยประมาณ 2 ใน 3 ของมะกอกน้ำมัน ทั่วโลกปลูกในเขตนี้ สำหรับในประเทศไทยในปัจจุบันได้มีการส่งเสริมการปลูกมะกอกน้ำมันบ้างแล้ว แต่ก็ยังไม่มีพื้นที่ใดที่ปลูกได้อย่างได้ผลดีเป็นที่น่าพอใจ


ประโยชน์และสรรพคุณมะกอกน้ำมัน

  • ช่วยบำรุงสายตา
  • ช่วยบำรุงประสาท
  • ช่วยเจริญอาหาร
  • ช่วยบำรุงไต
  • ช่วยบำรุงหัวใจ
  • ช่วยบำรุงกระเพาะ
  • ช่วยบำรุงลำไส้
  • ช่วยบำรุงตับ
  • ช่วยบำรุงฟัน
  • ช่วยบำรุงกระดูก
  • ช่วยบำรุงผม
  • ช่วยบำรุงผิวพรรณ
  •  ช่วยลดน้ำตาลในเลือด
  • แก้ไข้
  • แก้หวัด
  • ช่วยรักษาโรคเบาหวาน
  • ช่วยระงับกลิ่นปาก
  • ช่วยแก้คอแห้ง
  • แก้ไอ
  • ช่วยขับเสมหะ
  • ช่วยลดอาการเจ็บคอ
  • ช่วยทำให้ชุ่มคอ
  • ใช่เป็นยาระบายอ่อนๆ
  • แก้บิด
  • แก้ท้องเสีย
  • แก้ร้อนในกระหายน้ำ
  • ช่วยป้องกันโลหิตจาง
  • แก้นิ่ว
  • ช่วยลดความดันโลหิต
  • ป้องกันมะเร็ง
  • ช่วยขับปัสสาว

           มะกอกน้ำมันถูกนำมาใช้ประโยชน์ได้หลากหลายตั้งแต่เนื้อไม้ ใบ และผล โดยเฉพาะผลนิยมนำมาใช้ในการประกอบอาหาร และนำมาสกัดน้ำมันมะกอก สำหรับบริโภค ซึ่งถือได้ว่าน้ำมันมะกอกเป็นน้ำมันที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง เนื่องจากมีส่วนประกอบของกรดไขมันชนิดไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว (monounsaturated fatty acid) โดยเฉพาะกรดโอเลอิก (oleic acid) มากถึง 80 เปอร์เซ็นต์ จึงสามารถช่วยลดประมาณโคเลสเตอรอล (cholesterol) ชนิดเลว (LDL) ที่ก่อให้เกิดการอุดตันของไขมันในกระแสโลหิตได้อย่างดี อีกทั้งยังสมารถจับกับโคเลสเตอรอลไม่ให้เข้าสู่กระแสโลหิต จึงลดอัตราเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจได้ และยังสามารถช่วยป้องกันการเกิดปฏิกิริยาของสาร free radical จึงลดอัตราเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งได้ นอกจากนี้ยังมีการนำเอาน้ำมันมะกอกมาใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตสบู่และน้ำมันนวด รวมถึงใช้เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางอื่นๆ อีกหลายชนิด ส่วนใบมะกอกใช้ในการปรุงอาหารและบำบัดรักษาทางการแพทย์ ในขณะที่ส่วนลำต้น และเนื้อไม้ซึ่งมีลวดลายสวยงามนิยมนำมาแกะสลักและทำผลิตภัณฑ์เฟอร์นิเจอร์ต่างๆ นอกจากนี้ในปัจจุบันยังนิยมนำต้นมะกอกน้ำมัน มาใช้ตกแต่งสวนเป็นไม้ประธาน เนื่องจากมีทรงพุ่มที่สวยงามมีอายุยืนอีกทั้งยังเป็นไม้มงคลในความเชื่อของชาวกรีกอีกด้วย

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

สำหรับการใช้มะกอกน้ำมัน เป็นสมุนไพรนั้น ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นการนำส่วนของผลน้ำมันและใบมาบริโภคเป็นอาหาร ทั้งในรูปแบบการบริโภคสดรูปแบบบริโภคผลิตภัณฑ์แปรรูป และกึ่งแปรรูปของมะกอกน้ำมัน หรือ นำมาใช้ประกอบอาหารต่างๆ หรือ อาจมีบ้างที่ทางการแพทย์สมัยใหม่จะนำน้ำมันมะกอกมาใช้เป็นยารักษาโรค เป็นต้น


ลักษณะทั่วไปของมะกอกน้ำมัน

มะกอกน้ำมัน จัดเป็นไม้ยืนต้นไม่ผลัดใบ ลำต้นสีเทาขาว มีความสูงถึง 20 เมตร ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงตรงข้ามกัน ลักษณะใบเป็นรูปใบหอก กว้าง 1-1.5 เซนติเมตร ยาว 5-6 เซนติเมตร โคนใบรูปลิ่ม ปลายใบแหลมหรือมนแคบ มีติ่งเล็กๆ ขอบเรียบ ผิวด้านบนสีเขียวเข้มเป็นมัน ผิวใบด้านล่างสีเทาและมีก้านใบสั้น  3-4 มิลลิเมตร ดอกออกเป็นช่อแบบแยกแขนงบริเวณที่ซอกใบ ก้านช่อดอกยาว ดอกย่อยเป็นดอกสมบูรณ์เพศและดอกไม่สมบูรณ์เพศ ใน 1 ช่อดอกจะมีดอกย่อย 8-15 ดอก ดอกย่อยมีกลีบเลี้ยง 4 กลีบ โคนเชื่อมติดกัน ส่วนกลีบดอกมี 4 กลีบโคนเชื่อมติดกัน ดอกมีสีขาว หรือ สีครีมมีเกสรตัวผู้ ขนาดใหญ่ 2 อัน ติดที่กลีบดอก มีอับเรณูสีเหลืองลักษณะเป็น 2 พู ที่รังไข่มี 2 คาร์เพล โดยแต่ละคาร์เพลมี 2 ออวุล ส่วนก้านเกสรเพศเมียตรง สั้นและหนา ยอดเกสรเพศเมียค่อนข้างใหญ่ ผลเป็นแบบผลสด มีเนื้อ รูปร่างกลมรี กว้าง 0.6-2 เซนติเมตร ยาว 1-4 เซนติเมตร ผิวผลเรียบเป็นมัน ผลดิบมีสีเขียว แต่เมื่อแก่จะเปลี่ยนเป็นสีแดง สีม่วง หรือ สีดำ ภายในผลมีเมล็ดแข็ง รูปทรงค่อนข้างกลมรียาว 1 เมล็ด

การขยายพันธุ์มะกอกน้ำมัน

มะกอกน้ำมันสามารถขยายพันธุ์ได้หลายวิธี เช่น การปักชำ การตอนกิ่ง การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช แต่ที่เป็นที่นิยมในปัจจุบัน คือ วิธีการปักชำ ซึ่งสามารถทำได้โดยตัดกิ่งมะกอกน้ำมัน สมบูรณ์ และที่ไม่แก่เกิน โดยตัด กิ่งที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 เซนติเมตร ให้ยาวประมาณ 14 เซนติเมตร หรือ ประมาณ 5 ข้อ แล้วริดใบทิ้งให้เหลือ 2 ข้อแรก ปักชำลงไปในทราย หรือ สาร PERLITE (สารที่รักษาความชื้นและ อุณหภูมิ) โดยปักลึกลงไป 5-7 เซนติเมตรเซนติเมตร และควรควบคุมไม่ให้มีอุณหภูมิเกิน 20-25 องศาเซลเซียส จากนั้นรอให้รากของมะกอกน้ำมันงอก แล้วจึงนำไปปลูกลงดินต่อไป ส่วนการปลูกมะกอกน้ำมันนั้นควรเว้นระยะห่างประมาณ 6 เมตร เพราะหากปลูกในระยะที่ใกล้กันมากไปจะเกิดการเบียดกัน ต้นจะไม่โต และควรปลูกในดินร่วนปนทรายและบริเวณที่มีแดด อาจใช้น้ำพรมใบเพื่อป้องกันใบไหม้ และควรให้น้ำได้วันละ 1-2 ครั้ง ภายหลังการปลูกมะกอกน้ำมัน 5-7 ปี จะสามารถให้ผลผลิตได้


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมีของสารสกัดจากใบ และส่วนสกัดน้ำมันมะกอกระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิดอาทิเช่น ในน้ำมันมะกอก ซึ่งสกัดได้จากเนื้อและเมล็ดของมะกอกน้ำมัน พบสาร cycloarthanol, α-tocopherol และ oleic acid เป็นต้น ส่วนสารสกัดจากใบของมะกอกน้ำมันพบสาร oleuropein, caffeic acid, luteolin และ luteolin-7-0-β-D-glucoside, hydroxytyrosol, tyrosol และ verbascoside เป็นต้น

โครงสร้างมะกอกน้ำมัน

การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของมะกอกน้ำมัน

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยถึงฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของมะกอกน้ำมัน หลายฉบับได้ระบุถึงฤทธิ์ในการป้องกันหรือรักษาโรคต่างๆ ดังนี้

           ฤทธิ์ต้านเบาหวาน มีรายงานการศึกษาวิจัย โดยทดลองป้อนสารสกัดใบมะกอกฝรั่งด้วยเอทานอล 80% ในขนาดวันละ 200 และ 400 มก/กก. ให้แก่หนูแรทเพศผู้ที่ถูกเหนี่ยวนำให้เป็นเบาหวานโดยการเลี้ยงด้วยอาหารที่มีไขมันสูงและฉีดสาร streptozotocin ขนาด 40 มก./กก. เข้าทางช่องท้อง นาน 8 สัปดาห์พบว่า การป้อนสารสกัดเอทานอลใบมะกอกฝรั่งทั้งสองขนาดมีผลลดระดับน้ำตาลในเลือดและยับยั้งภาวะดื้อต่ออินซูลิน (Insulin resistance) โดยช่วยเพิ่มการแสดงออกของโปรตีน insulin receptor substrate 1 และยับยั้งการแสดงออกของโปรตีนที่เกี่ยวข้องในขบวนการอักเสบในเนื้อเยื่อตับและไขมันได้แก่ tumor necrosing factor α, interleukin-6 และ interleukin-1β ซึ่งโปรตีนดังกล่าวจะไปมีผลยับยั้ง insulin receptor substrate 1 ทำให้เกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน นอกจากนี้สารสกัดเอทานอลใบมะกอกฝรั่งยังมีผลลดระดับโคเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ในเลือดลงอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับหนูที่เป็นเบาหวาน ผลจากการทดลองดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าใบมะกอกฝรั่งมีฤทธิ์ต้านเบาหวาน โดยยับยั้งการเกิดภาวะดื้อต่ออินซูลินได้

           ฤทธิ์ป้องกันการเกิดหลอดเลือดแข็งตัว มีรายงานการศึกษาสารสกัด จากใบมะกอกฝรั่ง (Olea europaea L.) ด้วยเอทานอล75% ต่อการสะสมไขมันในเลือดของหนูแรทที่ถูกเหนี่ยวนำให้มีภาวะไขมันในเลือดสูงโดยการป้อนด้วยอาหารที่มีส่วนผสมของคอเลสเตอรอล 2% ร่วมกับการป้อนสารสกัดจากใบมะกอกฝรั่งขนาด 50 หรือ 100 มก./กก.น้ำหนักตัว/วัน เป็นเวลา 8 สัปดาห์ เปรียบเทียบกับการป้อนยาลดไขมัน atorvastatin ขนาด 20 มก./กก.น้ำหนักตัว/วัน ผลการศึกษาพบว่าสารสกัดจากใบมะกอกฝรั่งมีผลลดปริมาณคอเลสเตรอลรวม และ LDL-cholesterol ในเลือดของหนูแรทที่ได้รับอาหารไขมันสูงได้ใกล้เคียงกับการใช้ยา atorvastatin รวมถึงลด atherogenic index ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดอัตราเสี่ยงการเกิดหลอดเลือดแข็งตัวได้อีกด้วย โดยไม่มีผลต่อปริมาณเอนไซม์ต้านอนุมูลอิสระ การเกิดออกซิเดชั่นของไขมัน รวมถึงการทำงานของหลอดเลือดหัวใจ จึงสรุปได้ว่าสารสกัดจากใบมะกอกฝรั่งช่วยป้องกันการเกิดภาวะหลอดเลือดแข็งตัวได้โดยอาศัยฤทธิ์ลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือด

           ฤทธิ์ป้องกันการตายของเซลล์ประสาทจากภาวะมีรายงานการศึกษาวิจัยโดยการทดลองป้อนสารสกัดน้ำจากใบมะกอกฝรั่ง ขนาด 50, 75 และ 100 มก./กก./วันให้แก่หนูแรท ติดต่อกัน 30 วัน ก่อนชักนำให้หนูเกิดภาวะสมองขาดเลือด โดยทำให้เกิดเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงสมองส่วนกลางเกิดการอุดตัน แล้ววัดการเกิดรอยโรคหลังจากเกิดภาวะสมองขาดเลือด 60 นาที พบว่าสารสกัดน้ำจากใบมะกอกฝรั่งทั้ง 3 ขนาดมีผลลดอัตราส่วนของ Low density lipoprotein (LDL) ต่อ High density lipoprotein (HDL) ในเลือดลงเมื่อเทียบกับหนูในกลุ่มควบคุม และสารสกัดน้ำจากใบมะกอกยังช่วยป้องกันการตายเซลล์ประสาท โดยลดบริเวณเนื้อสมองตายขนาดจาก 209.79 ± 33.05 มม3 ในกลุ่มควบคุม เหลือเพียง 164.36 ± 13.44, 123.06 ± 28.83 และ 94.71 ± 33.03 มม 3 ในกลุ่มที่ได้รับสารสกัดขนาด 50, 75 และ 100 มก./กก. ตามลำดับ นอกจากนี้ยังพบว่าสารสกัดน้ำจากใบมะกอกฝรั่งในขนาด 75 และ 100 มก./กก. ช่วยลดอาการสมองบวม ลดปริมาณน้ำในสมองส่วนที่ตาย และลดการซึมผ่านของชั้น blood-brain barrier ได้อย่างมีนัยสำคัญ จะเห็นได้ว่าให้สารสกัดน้ำจากใบมะกอกฝรั่งจะช่วยลดการตายของเซลล์ประสาท ลดอาการสมองบวม ลดการซึมผ่านของชั้น blood-brain barrier ให้เข้าสู่ภาวะปกติ รวมถึงช่วยป้องกันอาการผิดปกติของระบบประสาทเนื่องจากการอุดตันของเส้นเลือดแดงที่ไปเลี้ยงสมองส่วนกลาง 

           ฤทธิ์ป้องกันการเกิดโรคระบบทางเดินหายใจส่วนบนมีรายงานการศึกษาผลของใบมะกอกฝรั่ง (Olea europaea L.) ในการป้องกันการเกิดโรคระบบทางเดินหายใจส่วนบนในนักเรียนที่เป็นนักกีฬากรีฑา จำนวน 32 คน สุ่มแบ่งกลุ่มให้รับประทานสารสกัดจากใบมะกอกฝรั่ง (เทียบเท่ากับใบมะกอกฝรั่งสด 20 ก. และมีสาร oleuropein 100 มก.) หรือ ยาหลอก ครั้งละ 1 เม็ด ตลอดระยะเวลาการแข่งขัน 9 สัปดาห์ จากการตรวจวัดสุขภาพร่างกาย ภาระในการฝึกซ้อม และการประเมินการป่วยในระบบทางเดินหายใจส่วนต้น โดยใช้แบบสอบถาม sporting upper respiratory illness (SUPPRESS) questionnaire ในนักกีฬาทุกสองสัปดาห์ พบว่าอัตราการป่วยจากโรคทางเดินหายใจส่วนบนในอาสาสมัครทั้งสองกลุ่มไม่มีความแตกต่างกัน แต่กลุ่มที่ได้รับสารสกัดจากใบมะกอกฝรั่งใช้ระยะเวลาพักฟื้นจากอาการป่วยสั้นกว่ากลุ่มที่ได้รับยาหลอกอย่างมีนัยสำคัญ โดยสามารถลดระยะเวลาพักฟื้นลง 28% ซึ่งคาดว่าเกิดจากฤทธิ์เสริมภูมิคุ้มกันของใบมะกอกฝรั่ง 

           ฤทธิ์ลดไขมัน มีรายงานผลการศึกษาฤทธิ์ลดไขมันของเปปไทด์จากเมล็ดมะกอกฝรั่ง (olive seed peptide) ซึ่งได้จากการย่อยโปรตีนจากเมล็ด (seed protein) ด้วยเอนไซม์ alcalase ในหนูเม้าส์ชนิด C57BL/6 ที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดภาวะไขมันในเลือดสูงด้วยอาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูง โดยป้อนหนูด้วยเปปไทด์ขนาด 200 และ 400 มก./กก./วัน เป็นเวลานาน 11 สัปดาห์ พบว่าเปปไทด์ขนาด 200 และ 400 มก./กก./วัน มีผลทำให้ผลรวมคอเลสเตอรอลลดลง 20% และ 25% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับหนูที่ได้รับอาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูงเพียงอย่างเดียว นอกจากนี้การศึกษาเพิ่มเติมในหลอดทดลองพบว่า เปปไทด์ความเข้มข้น 3.1 และ 26.7 มก./มล. สามารถยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ HMG-CoA reductase ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างคอเลสเตอรอล (endogenous cholesterol biosynthesis) 16.8% และ 40% ตามลำดับ จากผลการทดลองแสดงให้เห็นว่า เปปไทด์จากเมล็ดมะกอกฝรั่งสามารถลดคอเลสเตอรอลในเลือด โดยคาดว่ากลไกการออกฤทธิ์น่าจะเกี่ยวข้องกับการยับยั้งเอนไซม์ HMG-CoA reductase

           ฤทธิ์ต้านเอนไซม์ xanthine oxidase มีรายงานการทดสอบสารสกัด 80% เอทานอลจากใบของมะกอกฝรั่ง (Olea europaea  L.) ด้วยเอทานอล 80% พบว่าสารในกลุ่ม phenolics ที่แยกได้มีฤทธิ์ต้าน xanthine oxidase (XO) ซึ่งเอนไซม์ดังกล่าวเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคเก๊าท์ โดยสาร flavone aglycone apigenin ออกฤทธิ์แรงที่สุดเมื่อเทียบกับยา allopurinol ซึ่งเป็นยาที่ใช้ในการรักษาโรคเก๊าท์ และการวิเคราะห์ทางเคมีพบว่าสารสกัดที่ได้ประกอบด้วย phenolic secoiridoid oleuropein (24.8%), caffeic acid (1.89%), luteolin-7-O-β-D-glucoside (0.86%), luteolin (0.086%) โดยทั้งหมดมีฤทธิ์ในการยับยั้งเอนไซม์ XO ในขณะที่สาร tyrosol, hydroxytyrosol, verbascoside และ apigenin-7-O--β-D-glucoside ซึ่งมีอยู่ประมาณ 0.3% ไม่มีฤทธิ์ดังกล่าว การศึกษาทางเภสัชวิทยาพบว่า apigenin-7-O-β-D-glucoside จะเปลี่ยนเป็น apigenin aglycone ในรูปของสารออกฤทธิ์เมื่อเข้าสู่ร่างกายของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม

 

การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของมะกอกน้ำมัน

ไม่มีข้อมูล


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

มะกอกน้ำมัน จัดเป็นพืชที่มีประโยชน์ต่อร่างกายเป็นอย่างมาก แต่ทั้งนี้ในการนำมาบริโภคก็ควรระมัดระวังในการบริโภคเช่นกัน โดยควรบริโภคในขนาดและปริมาณที่เหมาะสม เพราะหากบริโภคมากจนเกินไปอาจก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ต่อร่างกายได้ อีกทั้งผู้ที่แพ้พืชวงศ์ OLEACEAE ไม่ควรบริโภคมะกอกน้ำมันเพราะเป็นพืชในวงศ์เดียวกัน


เอกสารอ้างอิง มะกอกน้ำมัน
  1. ศรปราญ์ ธไนศวรรยางค์กูร. 2539 ว่าด้วยความรู้เรื่องมะกอก (Olive, Olea europaea L.,) ในแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน, ภาควิชาพฤกษศาสตร์คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. กรุงเพทมหานคร. 29 หน้า
  2. ฤทธิ์ป้องกันการตายของเซลล์ประสาทจากสภาวะสมองขาดเลือดของสารกสัดจากใบมะกอกฝรั่ง. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  3. เสริมสกุล พจนการุณ. ดิเรก ตนพะยอม. การรวบรวมและศึกษาพันธุ์มะกอกน้ำมัน. ศึกษาลักษระพันธุ์มะกอกน้ำมัน โดยเทคนิค RAPD. วารสารวิชาการเกษตรปีที่ 20. ฉบับที่ 2 พฤษภาคม-สิงหาคม 2545. หน้า 155-168.
  4. สารสกัดจากใบมะกอกฝรั่งกับฤทธิ์ต้านเอนไซม์ xanthine oxidese. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสุมนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  5. เสริมสกุล พจนการุณ และดิเรก ตนพะยอม. 2544. การรวบรวมและศึกษาพันธุ์มะกอกน้ำมัน. หน้า 13. ใน เอกสารประกอบการประชุมวิชาการพืชสวนแห่งชาติ ครั้งที่ 1 วันที่ 11-13 กรกฎาคม 2544. กรุงเทพมหานคร. สถาบันวิจัยพืชสวน. กรมวิชาการเกษตร.
  6. ฤทธิ์ต้านเบาหวานของใบมะกอกฝรั่ง. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสุมนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  7. บุญร่วม คิดค้า, การเจริญเติบโตในปีที่สอง และผลของปุ๋ยทางใบต่อของมะกอกโอลีฟพันธุ์ Arbequina ในพื้นที่อนุรักษ์พันธุกรรมพืชของมหาวิทยาลัยพะเยา. วารสารมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยาปีที่ 6. ฉบับที่ 2 พฤษภาคม-สิงหาคม 2556. หน้า 106-110.
  8. สารสกัดจากใบมะกอกฝรั่งช่วยป้องกันการเกิดโรคระบาดทางเดินหายใจส่วนบน. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสุมนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  9. ฤทธิ์ลดไขมันของเปปไทด์จากเมล็ดมะกอกฝรั่ง. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร.สำนักงานข้อมูลสุมนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  10. ฤทธิ์ป้องกันการเกิดหลอดเลือดแข็งตัวของสารสกัดจากใบมะกอกฝรั่ง. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสุมนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  11. Bianco A, Mazzei RA. Melchioni C. Scarpati ML. Romeo G. Uccella N. Microcomponents of olive part ll: Digalactosyldiacyldiacerols from Olea europaea L. J. Agric. Food Chem 1998:62(3):343-346
  12. Renowden,G.1999.The Olive Book.Canterbury University Press. Canterbury.146p.
  13. Lacher W. Physiological Plant Ecology:Ecophysiology and Stress Physiology of Functional Groups New York: Springer Verlag:1995
  14. Femandez, A.G; M.J. Femandez Diez and D.R. Adams 1997. Table Olive:Production and Processing Chapman & Hall. London.465p.
  15. Christakis G Fordyce MK Kurtz CS The biological aspects of olive oil In Proceedings of 3 Intemational Congress on the Biological Value of Olive Oil Hania Greece:1980