ชงโค ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

ชงโค งานวิจัยและสรรพคุณ 15 ข้อ

ชื่อสมุนไพร ชงโค
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น เสี้ยวดอกแดง, เสี้ยวหวาน (ภาคเหนือ), เสี้ยวเลื่อย (ภาคใต้), เสี้ยว (ภาคอีสาน), สะเปรี, กะเฮอ (กะเหรี่ยง)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Bauhinia purpurea Linn.
ชื่อสามัญ Orchid tree, Butterfly tree, Purple bauhinia, Purple orchid tree, Hang Kong orchid tree.


ถิ่นกำเนิดชงโค

ชงโคเป็นพืชในสกุลชงโค (Bauhinia) ที่มีถิ่นกำเนิดเป็นบริเวณกว้างตั้งแต่ทางตอนใต้ของจีนรวมถึงเกาะฮ่องลงมาจนถึงภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ เวียดนาม กัมพูชา ลาว พม่า ไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ เป็นต้น สำหรับในประเทศไทยสามารถพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศ โดยมักพบขึ้นปะปนอยู่กับต้นไม้ชนิดอื่นๆ ในป่าโปร่งผสม และป่าเบญจพรรณ ทางภาคเหนือ และภาคกลางมากกว่าภาคอื่น


ประโยชน์และสรรพคุณชงโค

  • ช่วยขับปัสสาวะ
  • ช่วยขับลม
  • ใช้แก้พิษไข้ร้อนจากเลือดและน้ำดี
  • ใช้เป็นยาระบาย
  • ช่วยลดอาการไอ
  • ช่วยทำให้ชุ่มคอ
  • ใช้แก้อาการท้องเสีย
  • แก้อาหารเป็นพิษ
  • แก้บิด
  • แก้โรคกระเพาะ
  • ใช้ลดกลิ่นปาก
  • ช่วยในการห้ามเลือด
  • รักษาแผล
  • ใช้ห้ามเลือด
  • แก้ฝี

            ชงโคถูกนำมาใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ ดังนี้ ดอก และยอดอ่อนถูกนำมาใช้ลวกจิ้มรับประทานกับน้ำพริก หรือ นำไปทำแกงผักรวมถึงนำยอดอ่อนมาใส่ในต้มยำ ต้มส้ม เพื่อช่วยลดกลิ่นคาว และเพิ่มรสชาติให้กับอาหาร ส่วนเกษตรกรยังมีการเก็บยอด และฝักอ่อนของชงโค มาเป็นอาหารเลี้ยงสัตว์ อีกทั้งเปลือกต้นชงโคยังมีการนำมาใช้ย้อมผ้า โดยจะให้สีชมพูอีกด้วย ส่วนที่เราเห็นกันบ่อยๆ คือ การนำต้นชงโค มาปลูกเพื่อใช้ประดับ รวมถึงเป็นร่มเงาในสถานที่ราชากร และตามบ้านเรือน เนื่องจากดอกมีสีสันสวยงาม และมีกลิ่นหอมอ่อนๆ อีกทั้งมีทรงพุ่มทึบเหมาะเป็นร่มเงา

ชงโค

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

  • ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ ขับลม โดยนำรากมาต้มกับน้ำดื่ม
  • ใช้แก้พิษไข้ร้อนจากเลือด และน้ำดี ใช้เป็นยาระบาย ลดอาการไอ ทำให้ชุ่มคอ โดยนำดอกชงโค มาต้มน้ำดื่ม
  • ใช้แก้อาการท้องเสีย อาหารเป็นพิษ แก้บิด ขับปัสสาวะ ขับลม แก้โรคกระเพาะ โดยนำเปลือกลำต้นมาต้มน้ำดื่ม
  • ใช้ลดกลิ่นปาก โดยนำใบอ่อนใช้เคี้ยว
  • ช่วยในการห้ามเลือด รักษาแผล ห้ามเลือด แก้ฝี โดยนำใบมาขยี้ และผสมน้ำเล็กน้อยใช้ประคบบริเวณที่เป็น

ลักษณะทั่วไปของชงโค

ชงโค จัดเป็นไม้ยืนต้นผลัดใบ ลำต้นตั้งตรง ลำต้นสูง 5-15 เมตร แตกกิ่งน้อย เปลือกลำต้นมีสีเทา ผิวเปลือกขระขระ กิ่งอ่อนมีขนขึ้นปกคลุมประปราย กิ่งแก่เกลี้ยง ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับบนข้อกิ่ง แผ่นใบลักษณะรูปร่างค่อนข้างกลม ยาว 9-14 ซม. กว้าง 7-14 ซม. โคนใบโค้งมนหยักตรงกลางคล้ายรูปหัวใจ ปลายใบกลมมน แยกเป็นสองแฉกลึก 1/3-1/2 ของความยาวใบ ระหว่างแฉกใบมีติ่งเรียว ยาว 8-14 มม. ขอบใบเรียบ เนื้อใบบางคล้ายกระดาษ ผิวใบด้านบนเกลี้ยง ผิวใบด้านล่างมีขนประปราย ก้านใบ สีเขียวลักษณะกลม ยาว 3-4.5 ซม. โคนก้านใบป่อง มีหูใบสีเขียว รูปสามเหลี่ยม ยาว 2-3 มม. ร่วงง่าย ส่วนใบประดับเป็นรูปสามเหลี่ยม สีเขียว ยาว 1-1.5 มม. ดอกออกเป็นช่อบริเวณปลายกิ่ง ซึ่งจะเป็นดอกสมบูรณ์เพศ มีรูปร่างคล้ายดอกกล้วยไม้ โดยในแต่ละช่อจะมีดอกย่อย 5-10 ดอก ดอกย่อยจะประกอบด้วยกลีบดอก 5 กลีบ สีม่วงอมชมพูถึงม่วงแดงตรงกลาง มีเกสรตัวผู้เป็นสันยาวๆ 5 เส้นยื่นออกมา และเกสรตัวเมีย อยู่ตรงกลาง 1 เส้น ยาวกว่าเกสรตัวผู้ เมื่อดอกบานเต็มที่จะมีขนาดกว้าง 7-9 ซม. และจะส่งกลิ่นหอมอ่อนๆ ผลออกเป็น ฝักแบบคล้ายฝักถั่วมีสีเขียว และมีขนาดกว้างราว 1.5-2 ซม. ยาว 20-25 ซม. เมื่อฝักยังอ่อนจะมีขนขึ้นปกคลุม เมื่อแก่จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลดำ ผิวฝักเกลี้ยง และจะแตกออกเป็นสองซีกตามความยาวของฝัก เมล็ดลักษณะ กลม แบน สีน้ำตาลดำ มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 ซม.

ชงโค

ชงโค

การขยายพันธุ์ชงโค

ชงโคสามารถขยายพันธุ์ได้โดยการใช้เมล็ด การปักชำก่องและการตอนกิ่ง แต่วิธีที่เป็นที่นิยมในปัจจุบัน คือ การใช้เมล็ดมาเพาะเป็นต้นกล้าแล้วจึงนำไปปลูก สำหรับวิธีการเพาะเมล็ด และการปลูกชงโค สามารถทำได้ดังนี้ เริ่มจากการเลือกเมล็ดที่ใช้ในการเพาะ ควรเป็นเมล็ดที่ได้จากฝักแก่ที่แห้งแล้ว ส่วนการเพาะเมล็ดนั้น ให้เพาะในถุงพลาสติกเพาะชำ ที่บรรจุด้วยวัสดุเพาะที่มีส่วนผสมระหว่างดินกับวัสดุอินทรีย์ เช่น ปุ๋ยคอก แกลบดำ ในอัตราส่วนดินกับวัสดุประมาณ 1:3 โดยก่อนลงเพาะให้นำเมล็ดมาแช่น้ำก่อน 1 วัน แล้วทำการเพาะลงในถุงเพาะชำและดูแลรดน้ำจนต้นกล้ามีลำต้นสูงประมาณ 25-30 ซม. หรือ มีอายุประมาณ 1-2 เดือน จึงนำลงปลูกในที่ที่เตรียมไว้ โดยหากปลูกหลายต้นควรเว้นระยะห่างประมาณ 5-8 เมตร


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีของสารสกัดจากราก ใบ ลำต้น รวมถึงน้ำมันหอมระเหยจากดอกชงโค ระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิดดังนี้ สารสกัดเอทานอลจากรากพบสาร bauhiniastatins pacharin และ 5,6-dihydroxy-7-methoxyflavone 6- O -bD-xylopyranoside สารสกัดเมทานอลจากส่วนลำต้นพบสาร 2, 3-dihydroxypropyl oleate, 2,3 dihroxypropyl linoleate, 2,3- dihydroxypropyl 16-hyroxy–decanoate และ 6-butyl-3-hydroxyflavanone, 6-(3”-oxobutyl)-taxifolin สารสกัดอะซีโตนจากใบพบสาร bis [3’,4’-dihydroxy-6-methoxy-7,8-furano-5’,6’-mono methylalloxy]-5-C-5-biflavonyl และ (4’-hydroxy-7-methyl 3-C-α-L-rhamnopyranosyl)-5-C-5-(4’-hydroxy-7- methyl-3-C-α-D-glucopyranosyl) bioflavonoid รวมถึง leutin และ β-sitosterol ส่วนน้ำมันหอมระเหยจากดอกพบสารกลุ่ม monoterpenes เช่น a-terpinene, limonene, myrcene, linalool, citronellyl acetate และสารกลุ่ม phenylpropanoid ได้แก่ eugenol อีกด้วย

           และยังมีรายงานอีกฉบับหนึ่งระบุว่า สารสกัดไดคลอไรมีเทนจากส่วนรากของชงโค พบสารอีกหลายชนิด เช่น bauhinoxepin, bauhinobenzofurin A, bauhispirorin A, bauhinol E,  (-)-strobopinin และ demethoxymatteucinol และ bibenzyls

โครงสร้างชงโค

การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของชงโค

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของสารสกัดชงโค จากส่วนต่างๆ ระบุว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาหลายประการดังนี้

           ฤทธิ์ต้านการเกิดแผลในระบบทางเดินอาหาร มีรายงายผสมการศึกษาวิจัยฤทธิ์ต้านการเกิดแผลในระบบทางเดินอาหาร ของสารสกัดน้ำจากใบชงโค โดยทดลองป้อนสารสกัดน้ำใบชงโคขนาด 100 500 และ 1,000 มก./กก. ให้แก่หนูแรท 48 ชั่วโมง ก่อนเหนี่ยวนำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารด้วยการป้อนเอทานอลบริสุทธิ (absolute ethanol) หรือ ป้อนด้วยยา indomethacin และวิธีผูกช่วงต่อระหว่างกระเพาะอาหารกับลำไส้เล็ก (pylorus ligation) จากนั้นทำการผ่าซากหนู และแยกอวัยวะในระบบทางเดินอาหารเพื่อสังเกตลักษณะทางกายวิภาคของกระเพาะอาหาร และลำไส้ ผลการทดลองพบว่า สารสกัดน้ำจากใบชงโคที่ป้อนให้แก่หนูแรททุกขนาด สามารถยับยั้งการเกิดแผลในระบบทางเดินอาหารจากการเหนี่ยวนำทั้งสามแบบ โดยจะมีขนาดของบาดแผลเล็กกว่าหนูกลุ่มที่ไม่ได้รับการป้อนสารสกัดน้ำใบชงโคอย่างมีนัยสำคัญ และในการทดสอบด้วยวิธี pylorus ligation พบว่าการป้อนสารสกัดน้ำใบชงโคขนาด 500 มก. /กก. มีผลช่วยเพิ่มการหลั่งเยื่อเมือก (mucus) จากผนังเซลล์กระเพาะอาหาร และมีขนาดของบาดแผลเล็กที่สุดเมื่อเทียบกับการป้อนที่ขนาดอื่นๆ นอกจากนี้ยังมีรายงานผลการศึกษาวิจัยในต่างประเทศระบุว่า

  • สารสกัดเมลานอลจากส่วนเปลือกลำต้นของชงโค ในขนาด 100 มก./กก. มีฤทธิ์ต้านการเกิดเบาหวานในหนูที่ถูกชักนำโดย alloxan 
  • สารสกัดไดคลอโรมีเทน จากส่วนรากของชงโคในขนาด 5.8-11.2 micromolar มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อมาลาเรียชนิด PF. และในขนาด 49.6-130.1 micromolar มีฤทธิ์ต่อต้านเชื้อรา Candida albicans
  • สารสกัดเมทานอลจากใบชงโคในขนาด 50,250 และ 500 มก./กก. มีฤทธิ์ป้องกันตับในหนูทดลองที่เกิดจากการให้ยาพาราเซตามอลทางปาก
  • สารสกัดน้ำจากใบของชงโคในขนาด 254 มก./กรัม มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระโดยได้ทำการทดสอบจากการกำจัดไนตริกออกไซด์
  • สารสกัดไฮโดรแอลกอฮอล์จากเปลือกต้น ในขนาด 100 และ 200 มก./กิโลกรัม มีฤทธิ์ต้านการอักเสบและต้านข้ออักเสบ ในหนูทดลองที่มีอาการบวมน้ำที่อุ้งเท้าที่ถูกชักนำให้เกิดจากราคาจีแนน
  • สารสกัดเมทานอลจากใบชงโคในขนาด 100,500 มก./กก. มีฤทธิ์ป้องกันแผลในกระเพาะอาหาร กระตุ้นให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารด้วยอินโดเมทาซิน


การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของชงโค

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของสารสกัดจากใบชงโค โดยมีการศึกษาวิจัยพิษเฉียบพลันโดยการป้อนสารสกัดน้ำใบชงโคแก่หนูแรทขนาด 5,000 มก/กก. ในครั้งเดียว ผลปรากฏว่าไม่พบความเป็นพิษแต่อย่างใด


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

ในการใช้ชงโค เป็นสมุนไพร ในการบำบัดรักษาโรคต่างๆ นั้นควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาดและปริมาณที่เหมาะสมที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในขนาดและปริมาณที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้


เอกสารอ้างอิง ชงโค
  1. ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม. พจนานุกรมไม้ดอกไม้ประดับ. 2542 หน้า (212)
  2. เดชา ศิริภัทร.ชงโค : เสน่ห์แห่งใบและดอกจากพงไพร. คอลัมน์ต้นไม้ใบหญ้า. นิตยสารหมอชาวบ้านเล่มที่ 318 . ตุลาคม 2548.
  3. พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542. -- กรุงเทพ : นานมีบุ๊คส์พับลิเคชั่น. 2546. 1,488 หน้า (343)
  4. พีรพล ใสสะอาด,วรรณชัย ชาแท่น,สุธิรา มณีฉาย,ความหลากหลายของพืชสกุลชงโค (Bauhinia L.) ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย. วารสารวิจัย มสด. สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีปีที่ 8. ฉบับที่ 2 เมษายน-สิงหาคม 2558. หน้า 87-115
  5. ระวิวรรณ แก้วอมตวงศ์. สารทุติยภูมิและฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของพืชสกุลชงโค วารสารวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีปีที่ 10. ฉบับที่ 3 กันยายน-ธันวาคม 2551. หน้า 116-130.
  6. ฤทธิ์ต้านการเกิดแผลในระบบทางเดินอาหารของใบชงโค. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล
  7. ชงโคสรรพคุณและการปลูกชงโค. พืชเกษตรดอทคอมเว็บเพื่อพืชเกษตรไทย (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.puerhkaset.com
  8. Yahya F, Mamat SS, Kamarolzaman MFF, Seyedan AA, Jakius KF, Mahmood ND, et  al. Hepatoprotective activity of methanolic extract of Bauhinia purpurea  leaves  against  paracetamol-induced  hepatic damage in rats, Evidence-Based Complement Altern Med. 2013; 1-10.
  9. Silva CG, Herdeiro RS, Mathias CJ, Panek AD, Silveira CS, Rodrigues VP, et al. Evaluation of antioxidant activity of Brazilian plant, Pharmacol Res. 2005; 52(3):229-233.
  10. Shetty P, Manohar  VR, Kurien  S, Rai  M. Attenuation  of  depression by Bauhinia purpurea linn. leaves ethanolic extract in swiss albino mice, International Journal of  Comprehensive and Advanced Pharmacology. 2017; 2(3):85-87.
  11. Gardner,S., Sidisunthorn, P.&Anusarnsunthorn, V.(2006). A Field to the Forest Trees of Northern Thailand. Bangkok: Kobfai Publishing Project. (in Thai)
  12. Boonphong  S,  Puangsombat P, Baramee  A, Mahidol  C, Ruchirawat  S, Kittakoop  P. Bioactive Compounds from Bauhinia purpurea possessing Antimalarial, Antimycobacterial,  Antifungal, Anti-inflammatory,  and Cytotoxic activities, J Nat Prod. 2007; 70(5):795–801.
  13. Kumar N, Kanchan T, Unnikrishnan B, Thapar R, Mithra P, Kulkarni V, et al. Characterization of  Rubia cordifolia  L.  root extract and  its  evaluation ofcardioprotective  effect  in  Wistar  rat  model,  Indian  J  Pharmacol.  2018;49(5):344–347.
  1. Zakaria ZA, Zakaria ZA, Abdul Hisam EE, Norhafizah M, Rofiee MS, Othman F, et  al. Methanol Extract  of Bauhinia purpurea  Leaf Possesses Anti-Ulcer Activity, Med Princ Pract. 2012; 21(5):476–482