เนระพูสีไทย ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย
เนระพูสีไทย งานวิจัยและสรรพคุณ 34 ข้อ
ชื่อสมุนไพร เนระพูสีไทย
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น เนระพูสี, ค้างคาวดำ, ว่านค้างคาวดำ, มังกรดำ (ภาคกลาง), ดีงูหว้า, เนียมฤาษี (ภาคเหนือ), นิลพูสี, ว่านพังพอน, ม้าถอนหลัก, ว่านนางครวญ (ภาคใต้), ว่านหัวลา, คุ้มเลีย, ดีปลาช่อน (ภาคตะวันออก)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Tacca chantrieri Andre
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Schizocapsa breviscapa (Ostenf.) H.Limpr., Schizocapsa itagakii Yamam., Tacca esquirolii (H.Lév.) Rehder, Tacca garrettii Craib, Tacca paxiana H.Limpr., Tacca lancifolia var. breviscapa Ostenf., Tacca macrantha H.Limpr., Tacca minor Ridl., Tacca roxburghii H.Limpr., Tacca vespertilio Ridl., Tacca wilsonii H.Limpr. Clerodendrum esquirolii H.Lév.
ชื่อสามัญ Bat flower, Black Lily
วงศ์ DIOSCOREACEAE
ถิ่นกำเนิดเนระพูสีไทย
เนระพูสีไทย จัดเป็นพืชเขตร้อนที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในเขตร้อนชื้นของทวีปเอเชียโดยมีการกระจายพันธุ์เป็นวงกว้าง ในจีนตอนใต้ และอินเดีย ศรีลังกา บังคลาเทศ พม่า ไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา รวมถึงชายฝั่งของมาเลเซีย และอินโดนีเซีย สำหรับประเทศไทยสามารถพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศตามป่าดิบชื้น ป่าดิบเขา หรือ ตามป่าบริเวณที่มีเขตร้อนชื้นทั่วไป ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 1000 เมตร
ประโยชน์และสรรพคุณเนระพูสีไทย
- ใช้บำรุงกำลัง
- ช่วยเจริญอาหาร
- บำรุงธาตุ
- แก้ธาตุพิการ
- บำรุงกำลังทางเพศ (บำรุงกำหนัด)
- บำรุงกำลังสตรีระหว่างตั้งครรภ์
- แก้ไข้
- แก้ไข้กาฬ
- แก้ไข้เหนือ
- แก้ไข้สันนิบาต
- แก้พิษไข้
- แก้ไอ
- แก้ปวด
- ใช้ฝาดสมาน
- แก้บิดจมูกเลือด
- แก้ไข้ท้องเสีย
- แก้ทรางเด็ก (โรคซาง)
- แก้ลิ้นคอเปื่อย
- รักษาโรคความดันเลือดต่ำ
- แก้เบื่อเมา
- แก้ง่วง
- แก้เม็ดผื่นคันตามร่างกาย
- ใช้บรรเทาอาการปวดเมื่อยตามลำตัว
- แก้ปวดท้อง
- แก้อาการอาหารเป็นพิษ
- ใช้แก้ปวดตามร่างกาย
- แก้ปวดท้องอาหารไม่ย่อย
- แก้โรคกระเพาะอาหาร
- ร้อนในกระหายน้ำ
- แก้พิษหัด
- แก้พิษอุกอีใส (บรรเทาอาการไข้จากหัด และอีสุกอีใส)
- แก้อาการอักเสบ
- ช้วยต้านเชื้อแบคทีเรีย
- รักษาสิว
เนระพูสีไทยถูกนำมาใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ ดังนี้ ใบอ่อนและยอดอ่อนมีรสขมหวาน มีการนำมาใชรับประทานเป็นผักสดร่วมกับลาบ หรือ นำพริก และใบอ่อนนำมาย่างไฟ หรือ นำมาลวกใช้รับประทานกับลาบ ก็ได้เช่นเดียวกัน และในปัจจุบันได้มีหารนำเนระพูสีไทย มาสกัดทำเป็ผลิตภัณฑ์เจลใช้แก้อาการอักเสบ ต้านเชื้อแบคทีเรียและรักษาสิว รวมถึงยังมีการนำต้นเนระพูสีไทยมาใช้ปลูกเป็นไม้ประดับต่มอาคารสถานที่ หรือ ตามสวนหย่อมและสวนสาธารณะต่างๆ เนื่องจากดอกมีสีและรูปร่างสวยแปลกตาอีกด้วย
รูปแบบและขนาดวิธีใช้
ใช้เป็นยาบำรุงร่างกาย แก้ปวดตามร่างกาย ปวดท้อง แก้อาหารไม่ย่อย อาหารเป็นพิษ แก้โรคกระเพาะ นำรากต้นใบเหง้า มาต้มรวมกันกินกับน้ำดื่ม ใช้เป็นยาบำรุงกำลัง บำรุงกำหนัด บำรุงสตรีระหว่างตั้งครรภ์ แก้ความดันโลหิตต่ำ โดยนำมาต้มกับน้ำดื่ม หรือ ใช้ดองกับเหล้ากิน ใช้แก้ไข้กาฬ ไข้เหนือ ไข้สันนิบาต ดับพิษไข้ แก้บิดมูกเลือด แก้ไข้ท้องเสีย ใช้เป็นยาฝาดสมานโดยนำเหง้ามาต้มกับน้ำดื่ม ใช้บำรุงกำลัง ใช้แก้ง่วงโดยนำหัวมาฝานบางๆ ตากแห้ง ชงเป็นชาดื่ม ใช้แก้อาการปวด อักเสบ ปวดเมื่อยตามร่างกาย ปวดหลังปวดเอว โดยใช้รากดองกับเหล้า หรือ จะใช้รากมาต้มกับน้ำร่วมกับหญ้าถอดปล้องดื่ม หรือ นำใบสดมารับประทานก็ได้ ใช้แก้อัมพฤกษ์ โรคความดัน และโรคหัวใจ โดยนำต้นเนระพูสีไทยทั้งต้น 1 กำมือ โสมเกาหลี (อายุ 6 ปีขึ้นไป) 5 สลึง, ต้นเหงือกปลาหมอ 1 กำมือ ใบหนุมานประสายกาย 7 ก้าน และบอระเพ็ด 1 เซนติเมตร นำมาตาก หรือ อบให้แห้งแล้วนำเอามาห่อด้วยผ้าขาวบ้าง ใส่ภาชนะต้มน้ำพอท่วมยาจนเดือด ใช้ดื่มกินครั้งละ 2 แก้ว เช้าและเย็น ใช้รักษาอาการผดผื่นคันตามร่างกาย โดยนำลำต้นมาต้มน้ำอาบ นอกจากนี้บัญชียาจากสมุนไพร ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศคณะกรรมการแห่งชาติด้านยา ยังได้ระบุการใช้เหง้าเนระพูสีร่วมกับสมุนไพรอื่นๆ ในตำรับยาเขียวหอม โดยมีสรรพคุณ บรรเทาอาการไข้ ร้อนในกระหายน้ำ แก้พิษหัด พิษอุกอีใส (บรรเทาอาการไข้จากหัด และอีสุกอีใส) อีกด้วย
ลักษณะทั่วไปของเนระพูสีไทย
เนระพูสีไทย จัดเป็นไม้ล้มลุกอายุหลายปี ลำต้นอยู่ใต้ดินมีลักษณะเป็นเหง้าหนา รูปร่างกึ่งทรงกระบอก มีความสูงของกอ 50-60 เซนติเมตร และมักจะเจริญไปตามแนวราบของพื้นดิน
ใบ ออกเป็นใบเดี่ยวออกแบบเรียงสลับมาจากเหง้าใต้ดิน ใบ มีลักษณะเป็นรูปรีกว้างแกมรูปขอบขนานสีเขียวเข้ม โคนใบมน ปลายใบแหลม ขอบใบเรีย ใน 1 กอ จะมีประมาณ 3-12 ใบ โดยใบจะมีขนาดกว้าง 7-25 เซนติเมตร และยาว 20-60 เซนติเมตร แผ่นใบเกลี้ยง หลังใบเรียบเป็นมัน ท้องใบเรียบ ด้านบนของใบมีเส้นแขนงใบแตกออกจากเส้นกลางใบโค้งจรดกันถึงขอบใบ และมีก้านใบยาวตั้งแต่ 10-30 เซนติเมตร
ดอก ออกเป็นช่อกระจุก หรือ ในช่อกลุ่มโดยจะแทงออกจากเหง้าที่อยู่ใต้ดิน ประมาณ 1-2 ช่อ ซึ่งก้านช่อดอกจะมีความยาวได้ถึง 70 เซนติเมตร แต่ในแต่ละช่อจะมีดอกย่อยอยู่ประมาณ 4-6 ดอก ดอกย่อยมีลักษณะเป็นสีม่วงดำ หรือ น้ำตาลอมม่วง มีขนาดกว้าง 0.6-2 เซนติเมตร ยาว 1-2.5 เซนติเมตร กลีบดอกมี 6 กลีบ โคนเชื่อมติดกัน กลีบดอกด้านนอกมี 3 กลีบลักษณะเป็นรูปไข่ หรือ รูปสามเหลี่ยม กว้าง 3-8 มิลลิเมตร และยาว 5-12 มิลลิเมตร ส่วนกลีบด้านใน 3 กลีบ มีขนาดกว้าง 4-12 มิลลิเมตร และยาว 4-11 มิลลิเมตร มีเกสรเพศผู้สีเขียว หรือ สีเหลือง ส่วนรังไข่มีขนาดกว้าง 3-5 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 3-7 มิลลิเมตร ส่วนก้านดอกย่อยยาวประมาณ 2-3.5 เซนติเมตร มีใบประดับเป็นสีม่วงดำ 2 คู่ ออกตรงข้ามกัน ใบประดับคู่นอกมีลักษณะเป็นรูปรี หรือ รูปใบหอก มีขนาดกว้าง 1 เซนติเมตร ยาว 6 เซนติเมตร ส่วนใบประดับคู่ในแผ่กว้างออก มีลักษณะคล้ายปีกค้างคาวและมีใบประดับที่ลดรูปเป็นเส้นด้ายอีก 5-25 เส้น
ผล เป็นผลสดมีเนื้อ รูปรี หรือ รูปกระสวย มีสีน้ำตาลอมม่วง ขนาดกว้าง 1-2.5 เซนติเมตร ยาว 2-5.5 เซนติเมตร ที่ผลมีสัน 6 สัน ด้านในผลมีเมล็ดรูปไต มีหลายเมล็ดเมล็ดมีขนาดกว้าง 2-2.5 มิลลิเมตร ยาว 3-4 มิลลิเมตร
การขยายพันธุ์เนระพูสีไทย
เนระพูสีไทยสามารถขยายพันธุ์โดยการใช้เมล็ด หรือ ใช้เหง้าปลูก แต่วิธีที่เป็นที่นิยมในปัจจุบัน คือ การตัดเหง้าเป็นท่อนๆ แล้วนำไปปักชำให้เกิดต้นใหม่ ซึ่งสามารถทำได้ง่ายเช่นเดียวกันกับการเหง้าสะค้าน หรือ ขิง มาปลูก ทั้งนี้เนระพูสีไทยจะชอบดินร่วนที่มีการระบายน้ำดี และชอบที่ร่มที่มีความชื้นสูงอีกทั้งยังชอบที่มีแสงแดดรำไรอีกด้วย
องค์ประกอบทางเคมี
มีรายงานผลการศึกษาองค์ประกอบวิจัยทางเคมีของเหง้าเนระพูสีไทย ได้ระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิดได้แก่ Diodgenin, daucosterol, Ethyl alpha-d-glucopyranoside, Oxalic acid, monoamide, n-propyl,pentadecyl ester, Hexadecanoic acid, n-Hexadecanoic acid, Propanoic acid, esthyl ester, Linoleic acid ethyl ester เป็นต้น
การศึกษาทางเภสัชวิทยาของเนระพูสีไทย
มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของสารสกัดเนระพูสีไทย จากเหง้า ระบุว่ามีฤทธิ์หลายประการดังนี้
ฤทธิ์ต้านการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร มีรายงานการทดสอบฤทธิ์ของสารสกัด ethanol จากเหง้าเนระพูสีไทย ในหนูแรทเพศผู้ สายพันธุ์ Sprague Dawley โดยการป้อนสารสกัดทางปากแก่หนูก่อนเป็นเวลา 60 นาที หลังจากนั้นจึงให้สารชักนำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร ได้แก่ ยาอินโดเมธาซิน ethanol และความเครียด (การทดสอบความเครียดโดยนำหนูแต่ละตัวใส่ในกรงทดสอบ และนำไปจุ่มลงน้ำ ตามระดับน้ำ อุณหภูมิ และเวลาที่กำหนดไว้ เพื่อให้หนูเกิดความเครียด) ทดสอบฤทธิ์ยับยั้งการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร และปริมาณสารเมือก อีกทั้งสารเฮกโซซามีน (สารตั้งต้นที่ใช้สร้างคอลลาเจนเร่งการหายของแผล) ผลการทดสอบพบว่าสารสกัด ethanol ขนาด 250 และ 500 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ออกฤทธิ์ระงับการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร ในทุกการทดสอบได้อย่างมีนัยสำคัญ (p<0.01) และสามารถยับยั้งการหลั่งกรดได้บางส่วน โดยสารสกัดขนาด 250 มิลลิกรัม/กิโลกรัม สามารถยับยั้งการเกิดแผลที่กระเพาะอาหารเมื่อใช้สารชักนำ ได้แก่ ยาอินโดเมธาซิน ethanol และความเครียด ได้เท่ากับ 80, 71 และ 52% ตามลำดับ และสารสกัดขนาด 500 มิลลิกรัม/กิโลกรัม สามารถยับยั้ง ได้เท่ากับ 96, 93 และ 82% ตามลำดับ นอกจากนี้สารสกัดขนาด 500 มิลลิกรัม/กิโลกรัม สามารถเพิ่ม pH และลดความเป็นกรดของกระเพาะอาหารได้อย่างมีนัยสำคัญ (p<0.01 และ p<0.05 ตามลำดับ) เมื่อทดสอบด้วยวิธี pyrolus ligation (การกระตุ้นการหลั่งกรดด้วยการผูกกระเพาะอาหารส่วนปลาย) นอกจากนี้ยังพบว่าสารสกัดทั้ง 2 ขนาดสามารถเพิ่มปริมาณสารเมือก และเฮกโซซามีนในกระเพาะอาหาร ไม่ให้ถูกทำลายโดยแอลกอฮอล์ได้อย่างมีนัยสำคัญ (p<0.05 เทียบกับกลุ่มควบคุมที่มีแผลในกระเพาะอาหารแต่ไม่ได้รับสารสกัด) โดยกลไกการออกฤทธิ์น่าจะมาจากการกระตุ้นการหลั่งสารเมือก เพื่อปกป้องเนื้อเยื่อกระเพาะอาหารเป็นหลัก และยังมีการศึกษาฤทธิ์ทงเภสัชวิทยาอีกฉบับหนึ่งะบุว่า สารสกัดหยาบและส่วนสารสกัด ซาโปนิน (saponin fraction) จากเหง้าและเนระพูสีไทย มีฤทธิ์ลดความดันโลหิต ลดไข้ ระงับปวด ระงับการอักเสบ และต้านเชื้อจุลชีพ ฤทธิ์ระงับการอักเสบของสารซาโปนิน จากเหง้าเนระพูสีไทย มีกลไกการออกฤทธิ์ ผ่านการยับยั้ง เอนไซม์ cyclooxygenase-2
การศึกษาทางพิษวิทยาของเนระพูสีไทย
ไม่มีข้อมูล
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
สำหรับการใช้เนระพูสีไทยเป็นสมุนไพร ในการบำบัดรักษาโรคต่างๆ นั้นควรใช้ในขนาด และปริมาณที่เหมาะสมที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในขนาดและปริมาณที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไปเพราะอาจส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาวได้
เอกสารอ้างอิง เนระพูสีไทย
- เนระพูสีไทย Bat Flower. ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. หน้า 206.
- ไชยยง รุจนเวทและคณะ. เจลระงับการอักเสบจากสารสกัดเนระพูสีไทย. รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์. มหาวิทยาลัยแม้ฟ้าหลวง. 2553. 33 หน้า
- ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์. เนระพูสีไทย (Na ra pu si thai). หนังสือสมุนไพรเล่มที่ 1. หน้า 159.
- พญ.เพ็ญนภ ทรัพย์เจริญ. เนระพูสีไทย. หนังสือสมุนไพรอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. หน้า 128.
- ไชยยง รุจจนเวท และดวงพร อมรเลิศพิศานต์. ฤทธิ์ระงับการเกิดแผลในกระเพาะอาหารของเนระพูสีไทย. 2551. 10 ปี วิชาการแม่ฟ้าหลวง (Proceedings, 26- 28 พฤศจิกายน 2551, มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย). กรุงเทพมหานคร : สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ.
- ปรัชญา ศรีสง่า, ชัยยุทธ กล่ำแววัง. เนระพูสีไทย. หนังสือชุดพรรณไม้เมือง ไม้ต่างถิ่นในเมืองไทย 1.
- เนระพูสีไทย. ฐานข้อมูลเครื่องยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก http://www.thaicrudedrug.com/main.php?action=viewpage&pid=153.
- เนระพูสีไทย. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage&pid=322.
- Jun Z, Chang-Xiang C, Run-min L, Chong-ren Y. 1983. Studies on the chemical components of the Tacca Chanteraeri Andre. Acta Botanica Sinica; Nov 25 (6): 568-573.
- Yokosuka Y, Mimaki Y, Sakagami H, Sashida Y, 2002a. New diarylheptanoids and diarylheptanoid glycosides from the rhizomes of Tacca chantrieri and their cytotoxic activity. Journal of Natural Products 65, 283-289.
- Tiamjan, R., Panthong A., Taesotikul, T., Rujjanawate, C., Taylor W.C., Kanjanapothi, D. 2007. Hypotensive Activity of Tacca chantrieri and Its Hypotensive Principles. Phannaceutical Biology 45 (6): 481-485.