ขนุน ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย
ขนุน งานวิจัยและสรรพคุณ 19 ข้อ
ชื่อสมุนไพร ขนุน
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น บะหนุน, มะหนุน (ภาคเหนือ), หมากมี้, บักหมี่ (ภาคอีสาน), หนุน (ภาคใต้), นากอ (มลายู), หมากลาง (ไทยใหญ่), ขะเนอ (เขมร), นะซวยยะ, ปะหน่อย (กะเหรี่ยง)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Artocarpus heterophyllus Lam.
ชื่อสามัญ Jackfruit
วงศ์ MORACEAE
ถิ่นกำเนิดขนุน
ขนุน เป็นพันธุ์พืชที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในภูมิภาคเอเชียใต้ โดยมีการสันนิษฐานกันว่าน่าจะอยู่ในประเทศอินเดีย จากนั้นจึงมีการแพร่กระจายพันธุ์ไปยังบริเวณเขตร้อนของเอเชีย ซึ่งจะพบได้มากในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ไทย พม่า ลาว กัมพูชา มาเลเซีย อินโดนีเซีย เป็นต้น สำหรับในประเทศไทยสามารถพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศ ซึ่งได้มีการแพร่กระจายพันธุ์เข้ามานานมากแล้ว โดยมีปรากฏหลักฐานโบราณที่กล่าวถึงขนุน ตั้งแต่ในสมัยสุโขทัย และกรุงศรีอยุธยาแล้ว ทั้งนี้ขนุนพันธุ์พื้นเมืองแท้ดั้งเดิม คือ ขนุนหนัง และขนุนละมุด (ขนุนหิน) แต่ในปัจจุบันมีการปรับปรุงพันธุ์ใหม่ๆมากมาย เช่น ขนุนพันธุ์ทองสุดใจ, ศรีบรรจง, จำปากรอบ เป็นต้น
ประโยชน์และสรรพคุณขนุน
- ช่วยบำรุงโลหิต
- ช่วยระงับประสาท
- แก้กามโรค
- ช่วยขับพยาธิ
- แก้โรคลมชัก
- ช่วยสมานแผล
- ช่วยสมานลำไส้
- บำรุงหัวใจ
- ใช่เป็นยาระบายอ่อนๆ
- แก้อักเสบบวม
- ใช้ทาแผลที่บวม
- ช่วยรักษาแผลมีหนองเรื้อรัง
- แก้ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ
- ช่วยบำรุงกำลัง
- ใช้แก้ปวดหู และหูเป็นน้ำหนวก
- บำรุงน้ำนม
- แก้ท้องเสีย
- แก้ลมชัก
- ช่วยลดน้ำตาลในเลือด
รูปแบบและขนาดวิธีใช้
ลดน้ำตาลในเลือดโดยใช้ใบขนุนแก่ 5-10 ใบ นำมาต้มกับน้ำประมาณ 3-4 แก้ว นานประมาณ 15 นาที แล้วนำมาดื่มก่อนอาหารเช้า-เย็น ใช้บำรุงโลหิต แก้โรคลมชัก แก้กามโรค ระงับประสาท ขับพยาธิ โดยใช้ รากขนุน แห้งมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้บำรุงโลหิต สมานแผล สมานลำไส้ โดยใช้แก่นต้นมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้ทาแผลที่บวม อักเสบ แผลหนองเรื้อรัง โดยใช้น้ำยางสดมาทาบริเวณที่เป็น ใช้แก้ปวดหู และหูเป็นน้ำหนวก โดยใช้ใบขนุน เผาให้เป็นถ่านผสมกับน้ำปูนใสหยอดหู ใช้บำรุงกำลัง บำรุงหัวใจ เป็นยาระบายอ่อนๆ โดยใช้เนื้อขนุนสุก มารับประทานเป็นผลไม้
ลักษณะทั่วไปของขนุน
ขนุน จัดเป็นไม้ยืนต้นเนื้ออ่อนขนาดใหญ่ สูงประมาณ 8-15เมตร (แต่บางต้นอาจสูงได้ถึง 30 เมตร) ลำต้นตั้งตรง สีน้ำตาลอมเทา แกนไม้สีเหลืองทอง พุ่มทึบ แตกกิ่งก้านสาขามาก กิ่ง และลำต้นเมื่อมีแผลจะมีน้ำยางสีขาวข้นไหลออกมา ใบ เป็นใบเดี่ยว เรียงสลับ แผ่นใบรูปรี ปลายใบทู่ ถึงแหลม โคนใบมน ผิวด้านบนสีเขียวเข้มเป็นมัน ด้านหลังสีเขียวนวล เนื้อใบหนา และเหนียวผิวใบด้านล่างจะสากมือ ขนาดของใบกว้าง 5-8 เซนติเมตร ยาว 10-15 เซนติเมตร ดอก ดอกออกเป็นกลุ่มแบบช่อเชิงลด โดยช่อดอกตัวเมีย และตัวผู้จะอยู่บนต้นเดียวกัน ช่อดอกตัวผู้ จะออกที่โคนกิ่งลำต้น และง่ามใบ ลักษณะของดอกเป็นแท่งยาวประมาณ 2.5 ซม. มีกลิ่นหอมคล้ายส่าเหล้า ส่วนช่อดอกตัวเมียเป็นแท่งกลมออกจากลำต้น และก้านขนานใหญ่ ซึ่งในแต่ละรอบของการออกดอก จะมีเกสรตัวผู้มากกว่าเกสรตัวเมียเสมอ ผล ออกเป็นผลรวม โดยเกิดจากดอกทั้งช่อที่เจริญร่วมกันเป็นผลรวม โดย 1 ดอก กลายเป็น 1 ยวง (เนื้อขนุน) ใน 1 ผลจึงมีหลายยวง ผลมีลักษณะกลมขนาดใหญ่ หนักตั้งแต่ 5-60 กิโลกรัม (ตามสายพันธุ์) ผลดิบเปลือกสีเขียว หนามทู่ ถ้ากรีดเปลือกจะมียางเหนียวข้นออกมาก เมื่อผลแก่ เปลือกจะเป็นสีน้ำตาลอมเหลืองตาและหนามจะป้านขึ้น เมล็ด ลักษณะกลมรี เนื้อหุ้มเมล็ดสีเหลือง ถ้าสุกมีกลิ่นหอม เปลือกหุ้มเมล็ดบาง รับประทานได้
การขยายพันธุ์ขนุน
ขนุน สามารถขยายพันธุ์ได้หลายวิธี เช่น การเพาะเมล็ด การต่อกิ่ง การทาบกิ่ง การติดตา เป็นต้น แต่วิธีที่เป็นที่นิยมในปัจจุบัน คือ การทาบกิ่ง เพราะจะได้ต้นที่ตรงสายพันธุ์ และสามารถทำได้ง่าย โดยสามารถทำได้ดังนี้ เริ่มจากกิ่งพันธุ์ที่จะนำมาทาบควรเลือกจากกิ่งที่มีขนาดไล่เลี่ยกับขนาดต้นตอ ซึ่งต้นตอควรมีอายุอย่างน้อย 2 เดือน ขึ้นไป ส่วนตอนต้นตอ จะต้องตัดรากแก้วออกให้เหลือประมาณ 2 นิ้ว แล้วบรรจุลงในถุงขนาด 4x6 นิ้ว ที่มีขุยมะพร้าวที่ชุ่มน้ำเสร็จแล้ว มัดตรงปากถุง และกลางถุง
จากนั้นใช้มีดคมๆ ปาดต้นตอเป็นรูปปากฉลาม ยาวประมาณ 1 นิ้ว โดยรอยปาดต้องเรียบไม่เป็นคลื่น แล้วปาดที่กิ่งพันธุ์ให้เป็นแผลยาวเท่ากับต้นตอแล้วนำต้นตอมาประกบกับกิ่งพันธุ์ให้เนื้อไม้ และส่วนเนื้อเยื่อจะต้องสัมผัสกันอย่างสนิทอย่าให้มีช่องว่างของทั้งสอง แล้วพันด้วยพลาสติกจากล่างขึ้นบนจนแน่นเสร็จแล้วใช้เชือกรัดถุงพลาสติกกับกิ่งพันธุ์อย่าให้แกว่ง หลังจากทาบกิ่ง ประมาณ 45-60 วัน เมื่อเห็นกิ่งทาบติดกันดีโดยสังเกตจากตุ้มของต้นตอจะแห้ง และมีรากใหม่งอกออกมาบริเวณก้นถุง และรอยแผลทาบจะมีเนื้อเยื่อมาประสานกันอย่างเห็นได้ชัด จึงปาดกิ่งพันธุ์ด้านล่างรอยลึกเข้าไปประมาณครึ่งกิ่งเพื่อเป็นการบากเตือนกิ่งพันธุ์ตรงตำแหน่งหลังตุ้มทาบเลยจุดที่ตุ้มทาบผูกติดกับกิ่งพันธุ์ดีปล่อยไว้ 7-10 วัน จึงค่อยตัดกิ่งพันธุ์ตรงรอยที่บากไว้ให้ขาดหลุดออกมา นำมาชำไว้บนกระถาง 45-60 วัน จึงย้ายไปปลูกต่อไป
ส่วนวิธีการปลูกนั้นสามารถปลูกได้ทั้งแบบยกร่อง และแบบปลูกในที่ดอน โดยควรปลูกเป็นแถวเป็นแนว เพื่อสะดวกในการดูแลรักษา และการปฏิบัติงาน ระยะห่างระหว่างต้น หรือ ระหว่างหลุมคือ 8x8 เมตร หรือ 10x10 เมตร เป็นระยะที่เหมาะสำหรับการปลูกแบบไร่ ส่วนการปลูกแบบร่อง ระยะห่างระหว่างต้น คือ 6x6 เมตร เพราะต้นขนุนมักมีขนาดเล็กกว่าการปลูกแบบไร่สำหรับขนาดของหลุมปลูก ให้ขุดหลุมขนาด กว้าง ยาว ลึก 50-100 เซนติเมตร (ขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของดิน) ในพื้นที่ 1 ไร่ สำหรับระยะปลูก 10x10 เมตร สามารถปลูกได้ 16 ต้น สำหรับระยะปลูก 6x6 เมตร สามารถปลูกได้ 45 ต้น
องค์ประกอบทางเคมี
มีผลการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีจากส่วนต่างๆ ของขนุน พบว่า ในใบขนุน พบสารกลุ่ม flavanoids, tannins, polysaccharides, saponins, proteins, sterols, glycosides, anthocyanins และ lipids ในยางขนุนพบเอนไซม์ Protease คือ artocarpin เนื้อไม้พบสาร cudraflarone, albanin A, 6-prenylpigenin, kuwanon C, artocarpin และ norartocarpin เปลือกต้นพบสาร artocarpanone ส่วนเนื้อขนุน พบ flavonoid, Carotenoid และ Malic acid เป็นต้น นอกจากนี้ส่วนต่างๆ ของขนุน ยังมีคุณค่าทางโภชนาการดังนี้
คุณค่าทางโภชนาการของเนื้อขนุนดิบ (100 กรัม)
พลังงาน 95 กิโลแคลอรี
คาร์โบไฮเดรต 23.25 กรัม
น้ำตาล 19.08 กรัม
เส้นใย 1.5 กรัม
ไขมัน 0.64 กรัม
โปรตีน 1.72 กรัม
วิตามินเอ 5 ไมโครกรัม
เบต้าแคโรทีน 61 ไมโครกรัม
ลูทีน และซีแซนทีน 157 ไมโครกรัม
วิตามินบี 1 0.105 มิลลิกรัม
วิตามินบี 2 0.055 มิลลิกรัม
วิตามินบี 3 0.92 มิลลิกรัม
วิตามินบี 5 0.235 มิลลิกรัม
วิตามินบี 6 0.329 มิลลิกรัม
วิตามินบี 9 24 ไมโครกรัม
วิตามินซี 14.7 มิลลิกรัม
วิตามินอี 0.34 มิลลิกรัม
ธาตุแคลเซียม 24 มิลลิกรัม
ธาตุเหล็ก 0.23 มิลลิกรัม
ธาตุแมกนีเซียม 29 มิลลิกรัม
ธาตุแมงกานีส 0.043 มิลลิกรัม
ธาตุฟอสฟอรัส 21 มิลลิกรัม
ธาตุโพแทสเซียม 448 มิลลิกรัม
ธาตุโซเดียม 2 มิลลิกรัม
ธาตุสังกะสี 0.13 มิลลิกรัม
คุณค่าทางโภชนาการของเมล็ดขนุน (100 กรัม)
พลังงาน 153 กิโลแคลอรี่
โปรตีน 5.5 กรัม
คาร์โบไฮเดรต 32.2 กรัม
ไขมัน 0.2 กรัม
วิตามินบี 1 1.74 มิลลิกรัม
วิตามินบี 3 3.2 มิลลิกรัม
ฟอสฟอรัส 105 มิลลิกรัม
การศึกษาทางเภสัชวิทยาของขนุน
ฤทธิ์ยับยั้งการสังเคราะห์เมลานิน มีการศึกษาวิจัยสารฟลาโวนอยด์จากเนื้อไม้ของต้นขนุน ได้แก่ artocarpin, cudraflavone, 6-prenylpigenin, kuwanon C, norartocarpin และ albanin A โดยเมื่อนำมาทดสอบฤทธิ์ยับยั้งการสังเคราะห์สารเมลานนินในเซลล์ B16 melanoma (เซลล์เนื้องอกที่มีสารเม็ดสีเมลานินอยู่เป็นจำนวนมาก) พบว่าสารสกัดดังกล่าวสามารถยับยั้งการสังเคราะห์สารเมลานินได้ โดยค่าความเข้มข้นในการยับยั้งการสังเคราะห์สารเมลานินได้ครึ่งหนึ่ง (IC50) มีค่าเท่ากับ 6.7, 7.3, 3.8, 6.6, 4.9 และ 40.1 ไมโครโมล ตามลำดับ ซึ่งได้ผลดีกว่าสาร arbutin และ kojic acid ซึ่งเป็นสารที่มีศักยภาพในการต้านการสังเคราะห์สารเมลานิน แต่สารสกัดดังกล่าวไม่มีฤทธิ์ต้านเอนไซม์ไทโรซิเนส
ฤทธิ์ลดภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวานมีการศึกษาฤทธิ์ของสารสกัดเอทานอลจากเปลือกต้นขนุน (Artocarpus heterophyllus Lam.) ในการลดการเกิดภาวะแทรกซ้อนในหนูแรทที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดเบาหวานด้วยการฉีดสาร alloxan เข้าช่องท้องในขนาด 150 มก./กก. และป้อนสารสกัดในขนาด 50, 100 และ 150 มก./กก. น้ำหนักตัว ติดต่อกันนาน 21 วัน ผลพบว่าเมื่อป้อนสารสกัดเอทานอลจากเปลือกต้นขนุน โดยเฉพาะขนาด 150 มก./กก. มีผลเพิ่มน้ำหนักตัวของสัตว์ทดลอง ลดระดับไขมัน ได้แก่ คอเลสเตอรอลรวม ไตรกลีเซอไรด์ และ LDL-cholesterol และยังลดระดับเอนไซม์ในตับ ได้แก่ alanine aminotransferase, aspartate aminotransferase, alkaline phosphatase รวมถึงระดับของ creatinine, bilirubin และ urea อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเปรียบเทียบกับหนูแรทกลุ่มควบคุมที่เป็นเบาหวาน โดยให้ผลใกล้เคียงกับกลุ่มที่ได้รับยา glibenclamide ขนาด 5 มก./กก. โดยไม่พบความเป็นพิษ หรือ อาการไม่พึงประสงค์ในสัตว์ทดลอง
ฤทธิ์ยับยั้งการสร้าง melanin สาร artocarpanone ที่แยกได้จากเปลือกต้นขนุน สามารถยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ tyrosinase และการสร้าง melanin ในเซลล์ B16 melanoma ได้ โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 80.8 และ 89.1 μM ซึ่ง artocarpanone จะมีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ tyrosinase ดีกว่าสาร arbatin แต่อ่อนกว่ากรด kojic แต่มีฤทธิ์ยับยั้งการสร้าง melanin ดีกว่าสารทั้ง 2 ชนิดนี้ และพบว่า artocarpanone มีความเป็นพิษต่อเซลล์ B16 melanoma ต่ำ นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระเมื่อทดสอบด้วยวิธีดูการออกซิไดซ์ของสาร 1,1-diphenyl-2-picrylhydrazyl (DPPH) โดยมีค่า IC50 135.8 μM แต่มีฤทธิ์อ่อนกว่า quercetin
นอกจากนี้มีการวิจัยศึกษาการลดระดับน้ำตาลในกระแสเลือดโดยให้หนูรับประทานสารสกัดจากราก และใบขนุน พบว่าสามารถลดระดับน้ำตาลในหนูที่เป็นเบาหวานได้ รวมทั้งยังช่วยในการกระตุ้นการหลั่งอินซูลินได้อีกด้วย
การศึกษาทางพิษวิทยาของขนุน
ไม่มีข้อมูล
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
- เนื้อขนุน สุกมีรสหวานมาก ดังนั้นผู้ป่วยเบาหวานรวมถึงผู้ที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูง ควรรับประทานแต่พอดี
- ตามตำราแพทย์แผนไทยระบุไว้ว่า ขนุนเป็นผลไม้รสร้อน ดังนั้นเมื่อรับประทานเข้าไปแล้วอาจทำให้ร่างกายร้อนขึ้นได้ และอาจทำให้ระดับความดันโลหิตสูงขึ้นกว่าปกติได้ ผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงควรรับประทานแต่น้อย และไม่ควรรับประทานคู่กับสุราเพราะอาจทำให้อาการของโรคความดันโลหิตสูงกำเริบได้
เอกสารอ้างอิง ขนุน
- รัตนา พรหมพิชัย และรังสรรค์ จันต๊ะ. (2542). หนุน, บ่า. ใน สารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคเหนือ (เล่ม 14, หน้า 7341-7343). กรุงเทพฯ: มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์
- ฤทธิ์ยับยั้งการสร้าง melanin ของสาร arlocarpanone จากขนุน . ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
- กัญจนา ดีวิเศษ และคณะ, ผู้รวบรวม. (2548). ผักพื้นบ้านภาคเหนือ. เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ บรรณาธิการ. พิมพ์ครั้งที่ 2. นนทบุรี: ศูนย์พัฒนาตำราการแพทย์แผนไทย.
- ฤทธิ์ลดภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวานของสารสกัดเอทานอลจากเปลือกต้นขนุนในหนูแรทที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดเบาหวานด้วยสารอัลโลแซน. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
- ผักพื้นบ้าน อาหารไทย. (2548). กรุงเทพฯ: แสงแดด.
- ธนากรณ์ คำสุด, ฐิติกร จันทร์วุ่น, นมล ศรีเมฆ.สุธรรม สือแสง, ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และฤทธ์ยับยั้งแอลฟากลูซิเดสของส่วนสกัดขนุนอ่อน. วารสารวิทยาศาสตร์ มข.คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น. ปีที่ 45 ฉบับที่ 3. กรกฎาคม-กันยายน 2560 หน้า 543-550.
- สารฟลาโวนอยด์จากเนื้อไม้ของต้นขนุนสามารถยับยั้งการสังเคราะห์เมลานิน. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
- ขนุน. สมุนไพรให้สีแต่งอาหาร. สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด. โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.rspg.or.th/plants_data2herbs_30_1.htm
- Hypoglycaemic and hypolipidaemic effects of an ethylacetate fractionof Artocarpus heterophyllus leaves. Chackrewarthy S, Thabrew MI.
- Fernando, M. R., Wickramasinghe, S. M. D. N., Thabrew, M. I., Ariyananda, P. L. and Karunanayake, H. E.(1991). Effect of Artocarpus heterophyllus
- Chackrewarthy S, Thabrew MI, Weerasuriya MKB, Jayasekera S. Evaluation of hypoglycaemic and hypolipidaemic effects of an ethylacetate fraction of Artocarpus heterophyllus leaves in STZ-induced diabetic rats. Phcog Mag, 2010; 6923): 186-90.