นมควาย ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

นมควาย งานวิจัยและสรรพคุณ 15 ข้อ


ชื่อสมุนไพร นมควาย
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น นมวัว, นมแมว (ภาคกลาง), นมแมวป่า, หมากผีม่วน (ภาคเหนือ), พีพวน, พีพวนน้อย, หำลิง, สีม่วน, ติงตัง (ภาคอีสาน), บุหงาใหญ่, หมากผีผวน (พิษณุโลก, กระบี่), กรีล, ลูกเตรียน (ศรีสะเกษ, สุรินทร์, เขมร)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Uvaria rufa Blume
วงศ์ ANONACEAE

ถิ่นกำเนิดนมควาย

นมควายจัดเป็นพืชเขตร้อนที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมเป็นขนาดกว้างคือเริ่มจากภูมิภาคเอเชียใต้ เช่น อินเดีย ศรีลังกา เนปาล บังคลาเทศ จนถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น พม่า ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย และอินโดนีเซีย เป็นต้น สำหรับในประเทศไทย สามารถพบได้ในป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง ป่าละเมาะ หรือตามชายป่าดิบ ตั้งแต่ระดับน้ำทะเลไปจนถึงความสูงประมาณ 1,000 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล

ประโยชน์และสรรพคุณนมควาย

  • แก้ไข้เนื่องจากกินของแสลง
  • แก้ไข้กลับไข้ซ้ำ
  • แก้อาการไข้ไม่สม่ำเสมอ
  • ใช้บำรุงโลหิต
  • ใช้แก้ผอมแห้งสำหรับสตรีที่อยู่ไฟไม่ได้หลังการคลอดบุตร
  • บำรุงน้ำนมในสตรีที่ให้นมบุตร
  • ใช้เป็นยากระตุ้นการคลอด
  • รักษากามโรค
  • ใช้เป็นยาถอนพิษ
  • ช้แก้เม็ดผื่นคันตามตัว
  • แก้ผดผื่นคัน
  • แก้โรคไตพิการ
  • ช่วยเร่งการคลอดบุตร เพิ่มการบีบตัวของมดลูก 
  • ใช้รักษาโรคหืด
  • ใช้แก้ต่อมลูกหมากโต 

           นมควายถูกนำมาใช้ประโยชน์ในด้านการใช้เป็นอาหารโดยในชนบทมักจะนำผลสีส้มแดงเข้ม เนื้อในสีขาวซึ่งมีรสหวาน-อมเปรี้ยว กลิ่นหอมคล้ายลิ้นจี่สุกมากินเล่น โดยกินเฉพาะเนื้อสีขาว ส่วนผลอ่อน-ห่าม รสเปรี้ยวอมฝาด นำมาปลอกเปลือกออกแล้วนำมาคลุกกับน้ำปลา น้ำตาลหรือพริกป่นนำมาตำส้มก็ได้ นอกจากนี้ยังสามารถนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหารต่างๆ ได้ หลากหลายชนิด ประโยชน์ด้านใช้ทำเป็นวัสดุใช้งาน โดยเถาของนมควายเป็นเนื้อเหนียว สามารถใช้ทำขอบกระดั่ง ขอบอู่ ขอบสวิง กงลอบ กงไซ หรือใช้สานฝักมีดก็ได้ นอกจากนี้ใน ประเทศฟิลิปปินส์มีการนำรากของต้นนมควายไปแช่สกัดด้วยแอลกอฮอล์ใช้เป็นยากระตุ้นการคลอดบุตรของสตรี อีกด้วย

นมควาย

รูปแบบและขนาดวิธีใช้นมควาย

ใช้เป็นยาแก้ไข้กลับหรือไข้ซ้ำ แก้ไข้ไม่สม่ำเสมอแก้ไข้อันเนื่องมาจากรับประทานของแสลงที่เป็นพิษเข้าไป โดยการนำแก่นและรากมาต้มรวมกันกับน้ำดื่ม ใช้รักษาต่อมลูกหมากโตโดยนำเถาแห้ง นำมาปิ้งเหลือง แล้วหั่นเป็นชิ้นบางๆ ชงกับน้ำดื่ม ใช้แก้โรคไตพิการบำรุงน้ำนมสตรี โดยนำรากนมควาย พอประมาณนำมาต้มกับน้ำดื่มครั้งวันละ 1-2 ครั้ง ใช้เป็นยาถอนพิษรักษาโรคหืดโดยนำผลแห้งมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้แก้อาการผอมแห้งแรงน้อยของสตรีและใช้บำรุงเลือด โดยใช้รากนมควาย เหง้าต้นเอื้องหมายนา รากหญ้าคา และลำต้นอ้อยแดง อย่างละเท่ากัน นำมาต้มน้ำจนเดือด ใช้ดื่มขณะอุ่นๆ ใช้เป็นยาทาแก้ผดผื่นคันเต็มตัวโดยนำผลสุกมาบดกับน้ำทาบริเวณที่เป็น รากนมควายกะจำนวนพอประมาณนำมาต้มกับน้ำจนเดือด ใช้ดื่มครั้งละแก้ว วันละ 1-2 ครั้ง เป็นยาแก้โรคไตพิการได้ดีในระดับหนึ่ง

ลักษณะทั่วไปของนมควาย

นมควาย จัดเป็นไม้เถาเลื้อยเนื้อแข็งมักทอดเลื้อย พาดไปบนต้นไม้อื่น ยาว 1.5-4 เมตร เปลือกลำต้นสีม่วงอมเทากิ่งก้านและยอดอ่อนปกคลุมด้วยขนละเอียดสีน้ำตาลแดงหนาแน่นแต่เมื่อเถาแก่จะไม่มีขน

            ใบ เป็นใบเดี่ยวออกแบบเรียงสลับ ตามข้อต้น ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ยาวรี หรือรูปรีแกมรูปขอบขนาน ใบมีขนาดกว้าง 3-6 เซนติเมตร และยาวประมาณ 6-15 เซนติเมตร โคนใบมน หรือ เว้า ปลายใบเรียวแหลมเป็นติ่ง แผ่นใบบางคล้ายกระดาษมีเส้นใบประมาณ 8-15 คู่ หลังใบมีขนรูปดาวแข็ง ส่วนท้องใบมีขนนุ่มสีน้ำตาลแดงอยู่หนาแน่นและมีก้านใบยาวประมาณ 0.3-0.5 เซนติเมตร

           ดอก ออกเป็นดอกเดี่ยวหรือออกเป็นกระจุก 2-3 ดอก บริเวณก้านตรงข้ามใบ หรือ เหนือซอกใบ โดยจะมีช่อดอกยาว 1.1-1.5 ซม. และมีก้านช่อดอกยาว 1.3 มม มีขนขึ้นกระจายหนาแน่นส่วนก้านดอกย่อยยาว 0.5-0.8 ซม. 1 ใบ กว้าง 3-6 มม. ยาว 3-13 มม. เป็นรูปสามเหลี่ยมปลายมนติดตรงกลางก้านดอกและมีกลีบเลี้ยง 3 กลีบบางคล้ายกระดาษ เชื่อมติดกันที่โคนเล็กน้อยปลายแยกเป็น 3 แฉก ส่วนกว้างที่โคน 5-6 มม. ยาว 3-4 มม. ส่วนกลีบดอกมี 6 กลีบ ดอกสีแดงสดแล้วเปลี่ยนเป็นสีแดงเลือดนก รูปรีแกมรูปไข่กลับ กว้าง 4-6 มม. ยาว 8-10 มม. แยกจากกัน (อาจมี 8 กลีบ) แยกเป็น 2 วง วงละ 2 กลีบ ขนาดเท่าๆ กัน ดอกมีกลิ่นหอม ปลายกลีบดอกมนหรือกลม มีขนทั้งสองด้าน เมื่อดอกบานเต็มที่กลีบมักโค้งลงไปทางก้านดอก

           ผล ออกเป็นผลกลุ่ม โดยในแต่ละช่อผลมีผลย่อยประมาณ 4-20 ผล ผลย่อยมีลักษณะกลมรี หรือรูปรีแกมรูปขอบขนาน กว้างประมาณ 1-1.1 ซม. ยาวประมาณ 1.7-4 ซม. ผิวผลย่นและมีขนสีน้ำตาลสั้นปกคลุม ผลอ่อนมีสีเขียว เมื่อสุกเต็มที่แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีแดงสด เนื้อในผลเป็นสีขาว ซึ่งในแต่ละผลจะมีเมล็ดจำนวนมากประมาณ 14-18 เมล็ด โดยจะเรียงตัวเป็น 2 แถว ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปรีปลามน โคนเว้า ส่วนขอบเรียบ ผิวเมล็ดเกลี้ยงเป็นสีน้ำตาลมัน ขนาดกว้างประมาณ 1-2 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 3-4 มิลลิเมตร

ดอกนมควาย

นมควาย

การขยายพันธุ์นมควาย

นมควายจัดเป็นผลไม้ป่าจึงยังไม่มีการนำมาปลูกตามไร่ตามสวนหรือบริเวณรอบบ้าน ซึ่งการขยายพันธุ์โดยส่วนมากก็จะเป็นการขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ดตามธรรมชาติ แต่ในปัจจุบันเริ่มมีการนำเมล็ดนมควายมาเพาะขยายพันธุ์เนื่องจากนมควายในธรรมชาติ เริ่มหายากเนื่องจากป่าที่เป็นที่เกาะอาศัยของเถานมควายถูกบุกรุกทำลาย ซึ่งวิธีการเพาะเมล็ดมีดังนี้ ก่อนอื่น นำเมล็ดนมควายมาเพาะเริ่มจากล้างและเอาเนื้อออกให้เหลือแต่เมล็ด นำไปผึ่งลมพอแห้ง (ห้ามตากแดด) จากนั้นนำไปเพาะในวัสดุเพาะโดยฝังเมล็ดให้ลึก 0.3-0.5 ซม. รดน้ำพอชุ่ม หลังจากเพาะเมล็ดประมาณ 1 เดือน เมล็ดจะงอกเป็นต้นสูง 5-10 ซม. แล้วจึงแยกลงในถุงดำ หลังจากนั้นอีกประมาณ 1 เดือน ก็สามารถนำไปปลูกได้


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัย สารสกัดโดยการแยกสารสกัดชั้นเอทิลอะซิเตตของส่วนเหนือดินของนมควาย พบว่ามีสาระสำคัญดังนี้ สาร tonkinenin, zeylenol, urarigranol B, uvarigranol F, gradifloracin grandiflorone, 1-eizeylenol, 2-o-benzoyl-3-o-debenzoylzeylenone, 1,6-desoxypipoxide และ tingtanoxide ใบมีการรายงานการแยกสารสกัดชั้นคลอโรฟอร์ม พบสาร ellipeisol zeylenol kweichonol, microcarpin A, microcarpin B, anabellamide และ ferrodiol และมีการแยกสารสกัดเอทิลอะซิเตตจากส่วนใบของนมควาย สารกลุ่ม flavonol glycoside คือ rutin astragalin isoquercitrin Kaempferol 3-o-B-D-galactopyranoside, isoquercitrin-6-acetate

           สารสกัดเมทานอลที่ได้เปลือกลำต้นของนมควาย พบสารใหม่คือสาร caryophyllene oxide, glutinol และพบสารกลุ่ม flavonoid ตัวใหม่คือสาร 5,7-hydroxyflavonone benzyl benzoate, 5-hydroxy-7-methoxyflavone, 5-hydroxy-6,7-dimethoxyflavone, 2,5-hydroxy-7-methoxyflavanone เป็นต้น

นมควาย

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของนมควาย

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของนมควายระบุว่าสาร isoquerc และสาร isoquercitrin-b-acetate มีฤทธิ์ยับยั้ง advanced glycation end-products อันเนื่องมาจากมีน้ำตาลในเลือดสูงเป็นเวลานานได้ดี เมื่อเทียบเท่ากับสารมาตราฐานเควอซิติน ที่ใช้ในการทดสอบ โดยสารทั้งสองและสาร Quercetin แสดงฤทธิ์ยับยั้งด้วยค่า IC50 เท่ากับ 8.4 6.9 10.9 ตามลำดับ และสารสกัดชั้นคลอโรฟอร์ม ferudiol, anabellamide แสดงฤทธิ์ยับยั้งเชื้อวัณโรค สายพันธุ์ HRv ได้ดีที่ค่า MIC เท่ากับ 8ug/ml นอกจากนี้ยังมีการ นำสารสกัดจากชั้นเอทิลอะซิเตต และสารสกัดจากชันคลอโรฟอร์มที่แยกได้ทั้งหมดมาทดสอบฤทธิ์ความเป็นพิษต่อเซลล์มะเร็ง 9 ชนิด พบว่าสาร oxoanolobine , ergosta-4,6,8,22-tetraen-3-one แสดงฤทธิ์ความเป็นพิษต่อเซลล์ปอด ในระดับปานกลางด้วยค่า IC50 เท่ากับ 9.22+- 1.02 และ 10.21+-1.16 ug/ml ตามลำดับอีกด้วย


การศึกษาทางพิษวิทยาของนมควาย

ไม่มีข้อมูล


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

สำหรับการใช้นมควายเป็นยาสมุนไพรสำหรับบำบัดรักษาโรคนั้นควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาดที่พอเหมาะที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากจนเกินไปหรือใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไปเพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้สำหรับ เด็กสตรีมีครรภ์ หรือผู้ป่วยโรคเรื้อรัง หรือผู้ที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่องเป็นประจำก่อนใช้นมควายเป็นสมุนไพรควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนใช้ทุกครั้ง

เอกสารอ้างอิง นมควาย
  1. ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม. “นมควาย”. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. หน้า 385-386.
  2. ประไพรัตน์ สีพลไกร, รัตนาภรณ์ ตรัยสถิต. สรรพคุณทางยา สารเมแทบอไลต์ทุติยภูมิและฤทธิ์ทางชีวภาพของพืชสมุนไพรไทยบำรุงน้ำนมบางชนิด. วารสารวิทยาศาสตร์บูรพา ปีที่ 25. ฉบับที่ 3 กันยายน-ธันวาคม 2563. หน้า 1282-1284.
  3. พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ. “นมควาย”. หนังสือสมุนไพรไทยในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. หน้า 122.
  4. พีพวนน้อย. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage&pid=252.
  5. Tudla, F.A., Aguinaldo, A.M., Krohn, K., Hussain, H., & Macabeo, A.P.G. (2007). Highly oxygenated cyclohexene metabolites from Uvaria rufa. Biochemical Systematics and Ecology,35,45-47.
  6. Macabeo, A.P.G., Tudla, F.A., Alejandro, G.J.D., Kouam, S.F., Hussain, Hidayat., Krohn, K. 2010. Benzoylated derivatives from Uvaria rufa. Biochem Syst Ecol, 38(4), 857-860.
  7. Singh, G. (2010). Plant systematics an integrated approach. (3rd ed.). India: Science Publishers.
  8. Nguyen, T.H., Ho, V.D., Do, T.T., Bui, H.T., Phan, V.K., Sak, K., & Raal, A. (2014). Natural Product Research, 29(3), 247-252.
  9. Deepralard, K., Kawanishi, K., Moriyasu, M., Pengsuparp, T., & Suttisri, R. (2009). Flavonoid glycosides rom the leaves of Uvaria rufa with advance glycation end-products inhibitory activity. Thai Journal of Pharmaceutical Science,33, 84-90.
  10. Rosandy, A.R., Din, L.B., Yaacob, W.A., Yusoff, N.I., Sahidin, I., Latip, J., Nataqain, S., & Noor, N.M. (2013). Isolation and characterization of compounds from the stem of Uvaria rufa(Annonaceae). Malaysian Journal of Analytical Sciences, 17(1), 50 -58.
  11. Zhang, C.-R., Yang, S.-P., Liao, S.-G., Wu, Y., & Yue, J.-M. (2006). Polyoxygenated cyclohexene derivatives from Uvaria rufa. Helvetica Chimica Acta,89, 1408-1416.