เทพทาโร ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆและข้อมูลงานวิจัย
เทพทาโร งานวิจัยและสรรพคุณ 23 ข้อ
ชื่อสมุนไพร เทพทาโร
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ข่าต้น (ภาคกลาง), จะไคต้น, จะไคหอม (ภาคเหนือ), จวง, จวงหอม (ภาคใต้) ,มะแดกกะมางิง (มลายู), หวางจาง (จีน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Cinnamomum porrectum (Roxb.) Kostern
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Cinnamum glanduliferum C. Nees., Cinnamomum sumatranum (Mig.) Meissner, Cinnamomum parthenoxylon Meissn.
ชื่อสามัญ Safrol laurel, Citronella laurel, True laurel
วงศ์ LAURECEAE
ถิ่นกำเนิดเทพทาโร
เทพทาโรเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปเอเชียเขตร้อนโดยพบว่า มีเขตการกระจายพันธุ์ ตั้งแต่ทิเบต มณฑลยูนานในจีน อินเดีย เทือกเขาตะนาวศรีในพม่า เวียดนาม คาบสมุทรอินโดจีน จนถึงแหลมมลายู ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ เกาะสุมาตรา รวมถึงเกาะอื่นๆ ในอินโดนีเซีย สำหรับในประเทศไทยสามารถพบเทพทาโร ได้ทั่วทุกภาคในประเทศ โดยจะพบขึ้นกระจัดกระจายเป็นกลุ่มบนเขาในป่าดงดิบที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 0-800 เมตร แต่จะพบมากในภาคใต้ ทั้งนี้เทพทาโรยังเป็นไม้พื้นเมืองที่เก่าแก่ของไทยโดยพบหลักฐานอ้างอิงครั้งแรกในสมัยสุโขทัยดังปรากฏ ในไตรภูมิพระร่วง ซึ่งได้กล่าวถึงพรรณพืชหอมในอุตตรภูรูทวีปที่ประกอบด้วย จาง จันทร์ กฤษณา คันธา เป็นต้น
ประโยชน์และสรรพคุณเทพทาโร
- แก้อาการปวดท้อง
- ช่วยขับลมในลำไส้และกระเพาะอาหารให้เรอ
- ใช้เป็นยาบำรุงธาตุ
- แก้ปวด รูมาติชึ่ม (น้ำมันเมล็ดเทพทาโร)
- แก้เสียดท้อง ท้องขึ้น ท้องเฟ้อ
- ช่วยขับโลหิต
- แก้วิงเวียน
- แก้อาเจียน
- แก้หอบหืด
- แก้ลมป่วง
- ช่วยถ่ายพยาธิ
- ช่วยถ่ายน้ำเหลือง
- แก้ปวดเมื่อยเคล็ดขัดยอก (น้ำมัน)
- แก้ผื่น (น้ำมัน)
- แก้บวม (น้ำมัน)
- ใช้ทาแผลสด (น้ำมัน)
- รักษาแผลเรื้อรัง (น้ำมัน)
- แก้อักเสบ (น้ำมัน)
- แก้แมลงสัตว์กัดต่อย (น้ำมัน)
- แผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก (น้ำมัน)
- ทาริดสีดวงทวาร (น้ำมัน)
- รักษาแผลในหู (น้ำมัน)
- แก้ปวดฟัน
เทพทาโรจัดเป็นพืชไม้หอมที่มีคุณประโยชน์ต่างๆ มาตั้งแต่ในอดีตซึ่งได้ปรากฎหลักฐานการใช้ประโยชน์ของเทพทาโร หรือ จวงหอมตั้งแต่สมัยสุโขทัยดังปรากฎในไตรภูมิพระร่วง โดยกล่าวถึงการบูชาจักรรัตนะ ผู้คนจะแต่งตัว ทากระแจะจวงจันทน์ หรือ ในตอนกล่าวถึงแผ่นดินอุตตรกุรูทวีป มักจะใช้กระแจจวงจันทน์ตกแต่งศพ หรือ ตอนพระญาจักรพรรดิราชสวรรคต ก็จะชโลมด้วยกระแจจวงจันทน์และจิงเอาผ้าขาวอันเนื้อละเอียดนั้น มาตราสังศพพระญาจักรพรรดิราชนั้น เป็นต้น ความนิยมในเครื่องหอมกระแจจวงจันทน์ ยังมีสืบเนื่องมาถึงสมัยอยุธยาตอนต้นดังปรากฏในกฎหมายพิสูจน์ดำน้ำลุยเพลิง พ.ศ.1599 สมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 อู่ทอง อีกด้วย และในปัจจุบันได้มีการนำเทพทาโร มาใช้ประโยชน์ในงานแกะสลัก ในปัจจุบันซึ่งผู้ประกอบการได้ใช้เนื้อไม้ และรากทำผลิตภัณฑ์ไม้แกะสลัก ส่วนเศษไม้ที่เหลือจากการแกะสลักนำไปกลั่นน้ำมันหอมระเหย เศษเหลือจากการกลั่นน้ำมันหอมระเหยใช้ท้าธูปหอม กำยาน อีกด้วย อีกทั้งยังมีการนำเนื้อไม้ของเทพทาโรมาใช้ทำเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ ชิ้นไม้ส่วนรากนำมาห่อ ใส่ในตู้เสื้อผ้ากันมอด และแมลงอื่นๆ ได้ดี ส่วนน้ำมันหอมระเหยนำไปใช้ทำผลิตภัณฑ์ แชมพู สบู่ ยานวด และหัวเชื้อน้ำหอม ทำยาหม่อง ฯลฯ
รูปแบบและขนาดวิธีใช้เทพทาโร
ใช้แก้ไข้หวัด ตัวร้อน อาการไอเรื้อรัง ออกหัดตัวร้อน โดยใช้เมล็ดเทพทาโร ประมาณ 5-6 กรัม นำมาบดให้เป็นผงชง กับน้ำรับประทาน ใช้เป็นยาขับลมชื้อในร่างกาย แก้ไขข้ออักเสบโดยใช้ราก แห้ง 10-18 กรัม มาดองกับเหล้ารับประทาน ใช้เป็นแก้บิด โดยใช้เมล็ดเทพทาโร ประมาณ 5-8 กรัม นำมาต้มกับใบยูตาลิปตัสประมาณ 6-8 กรัม รับประทาน ใช้แก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย ปวดเส้นเอ็น ให้ใช้รากเทพทาโร 20 กรัม โกฐหัวบัว 20 กรัม เจตมูลเพลิง 15 กรัม โกฐสอ 10 กรัม และโกฐเชียง 15 กรัม นำมาแช่กับเหล้ารับประทาน ใช้แก้ลมป่วง โดยใช้เปลือกต้นมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้แก้สะอึก แก้ไข้โดยใช้เปลือกต้นมาฝนกับเปลือกหอยขมผสมกับน้ำซาวข้าว แล้วนำมาดื่ม ใช้แก้ปวดท้องแก้แผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก แก้แมลงสัตว์กัดต่อย แก้ปวดเมื่อย โดยใช้น้ำมันหอมระเหยจากส่วนต่างๆ ของเทพทาโร มาถูนวดบริเวณที่เป็นแก้หูน้ำหนวกโดยใช้น้ำมันหอมระเหยชุบสำลีนวดหู
ลักษณะทั่วไปของเทพทาโร
เทพทาโร จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงใหญ่ สูง 10-30 เมตร ไม่ผลัดใบหรือผลัดใบระยะสั้น เรือนยอดสีเขียวเข้มโปร่งถึงเป็นพุ่มกลมทึบลำต้นเรียบไม่มีพูพอน เปลือกต้นสีเทาอมเขียว หรือเทาอมน้ำตาล แตก เป็นร่องตามยาวลำต้น เมื่อถากเปลือกออกเปลือกชั้นในมีสีน้ำตาลอมแดง มีกลิ่นหอมคล้ายการบูร กิ่งมีลักษณะอ่อนเรียว เกลี้ยง และมักมีคราบขาวเนื้อไม้มีสีเทาแกมน้ำตาล มีกลิ่นหอมฉุน มีริ้วสีเขียวแกมเหลือง เนื้อไม้เป็นมันเสื่อม เสี้ยนตรง หรือสับสน เป็นคลื่นบ้างเล็กน้อย เหนียวแข็งพอประมาณ ใบ เป็นใบเดี่ยว ดอกออกตรง กันข้าม เรียงแบบเวียนสลับ มีลักษณะรูปรีแกมรูปไข่ หรือรูปไข่แกมรูปขอบขนาน ผิวใบเกลี้ยง เนื้อใบค่อนข้างหนา ใบกว้างประมาณ 2.5-6 เซนติเมตร ยาวประมาณ 5-20 เซนติเมตร ท้องใบมีนวลขาวอมเทา ใบอ่อนสีเขียว ใบแก่มีสีแดง มีเส้นใบหลัก 1 เส้น เส้นใบข้างโค้ง 3-7 คู่ นูนขึ้นทั้งสองด้าน ปลาบใบแหลม โคนใบสอบถึงมน ก้านใบเล็กเรียว สีเขียวอ่อน เขียวอมเหลืองหรือแดง ยาวประมาณ 1.2-3.5 เซนติเมตร ดอก ออกเป็นช่อกระจุกคล้ายร่มยาวประมาณ 2.5-10 เซนติเมตร และใน 1 ช่อจะมีดอกย่อยประมาณ 13-14 ดอก มีขนาดเล็ก โดยจะออกตามปลายกิ่ง กลีบดอกมีลักษณะเป็นรูปไข่ มี 6 กลีบ สีขาวอมเขียวหรือสีเหลืองอ่อน ภายในดอกมีขนเล็กน้อย ดอกมีเกสรเพศผู้ 9 อัน ส่วนก้านช่อดอกมีลักษณะ เรียวมีความยาวประมาณ 5-6 เซนติเมตร ผล ออกเป็นพองมีขนาดเล็กเกลี้ยง ทรงกลม หรือ ไข่กลับ เส้นผ่านศูนย์กลางยาวประมาณ 7-8 มิลลิเมตร มีกลิ่นหอม ผลอ่อนมีสีเขียว เมื่อแก่มีสีม่วงดำ ก้านผลเรียวยาวประมาณ 3-5 เซนติเมตร ที่ขั้วมีกลีบเลี้ยงรูปถ้วย ไม่มีซี่หยักติดอยู่
การขยายพันธุ์ของเทพทาโร
เทพทาโร สามารถขยายพันธุ์ได้โดยการเพาะเมล็ด การตอนกิ่ง และการปักชำ แต่มีวิธีที่นิยมในปัจจุบัน คือ การปักชำ และการตอนกิ่งโดยมีวิธีดังนี้ คัดเลือกยอดที่มีลักษณะใบแก่พอประมาณ ที่กิ่งเริ่มเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอ่อน และมีตาตุ่มตามซอกใบและปลายยอดพร้อมจะแตกยอดใหม่โดยให้มีความยาวของกิ่งปักชำประมาณ 10 เซนติเมตร และตัดใบออกให้เหลือใบยอด 2-3 ใบ ตัดปลายใบให้เหลือครึ่งใบ นำกิ่งมาแช่ในสารละลายฮอร์โมนเร่งราก พี-รูท (มีขายในท้องตลาด) ใช้อัตราความเข้มข้น 10% นาน 30 นาที แล้วนำไปปักชำในกระบะเพาะชำ (ถาดหลุม) โดยใช้วัสดุเพาะชำ ทรายผสมขุยมะพร้าวในอัตราส่วน 2:1 ใช้กระโจมพลาสติกครอบถาดปักชำ แล้วใช้ทรายทับขอบพลาสติก โดยรอบเพื่อไม่ให้ความชื้นระบายออก ให้น้ำแบบพ่นหมอก อย่างน้อยวันละ 4 ครั้ง โดยสังเกตจากไอน้ำภายในกระโจมพลาสติกให้มีฝ้าอยู่ตลอดเวลา หากฝ้าเริ่มลดลงก็ควรให้น้ำเพิ่ม ทั้งนี้ไม่ต้องเปิดพลาสติกออก ตั้งแต่เริ่มปักชำประมาณ 45 วัน รากจะเริ่มงอกและสามารถย้ายชำได้ เมื่ออายุประมาณ 60–70 วัน จึงจะเปิดกระโจมพลาสติกออก แล้วย้ายกิ่งปักชำลงถุงเพาะชำขนาด 6x9 นิ้ว โดยใช้ดินผสมแกลบสดและแกลบเผาอัตราส่วน 2:1:1 บำรุงดูแลอีกประมาณ 6 เดือน จะได้กล้าไม้ที่สมบูรณ์แข็งแรงพร้อมลงแปลงปลูกได้ต่อไป สำหรับการตอนกิ่งให้เลือกกิ่งที่ไม่อ่อนหรือแก่จนเกินไป มีสีน้ำตาลอ่อน ควั่นเปลือกห่างกันประมาณ 1 นิ้ว ลอกเปลือกออกแล้วขูดเบาๆ เอาท่อลำเลียงอาหารออกปล่อยทิ้งไว้ประมาณ 5–10 นาที หุ้มด้วยขุยมะพร้าวในถุงพลาสติกที่มีความชื้นพอเหมาะ มัดด้วยเชือกฟางให้แน่น กิ่งตอนจะออกรากภายใน 2-3 เดือน ตัดกิ่งตอนที่มีรากสีน้ำตาลชำลงถุงขนาด 6x9 นิ้ว ใช้วัสดุดินผสมแกลบสดและแกลบเผาอัตราส่วน 2:1:1 บำรุง ดูแลรักษาไว้ในเรือนเพาะชำประมาณ 3 เดือน ก่อนย้ายไปปลูกในแปลงต่อไป ส่วนการปลูกต้นกล้าเทพทาโร ควรปลูกใต้ร่มไม้อื่นจะเจริญเติบโตได้ดีกว่าปลูกในที่โล่ง เช่น ปลูกเป็นไม้แซมในสวนป่า หรือปลูกแซมไม้ผลที่มีอายุไม่ยาวมากนัก โดยเตรียมพื้นที่ปลูกโดยการขุดหลุม กว้างxยาวxลึก เท่ากับ 50x50x50 เซนติเมตร แล้วรองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอกก่อนปลูกเช่นเดียวกับการปลูกไม้ยืนต้นตามปกติ ระยะที่เหมาะสมในการปลูกเทพทาโรอยู่ที่ประมาณ 4x4 เมตร การดูแลใส่ปุ๋ยทำเช่นเดียวกับไม้ยืนต้นทั่วไป
องค์ประกอบทางเคมี
มีการศึกษาวิจัยองค์เคมีจากส่วนต่างๆ ของเทพทาโรระบุว่า น้ำมันหอมระเหยจากราก พบว่ามีสารซาฟรอล (safrole) เป็นองค์ประกอบหลัก และยังพบ เมทิลยูจินอล (methyleugenol) อีลิมิซิน (elemicin) และซีส-ไอโซอีลิมิซิน (cis-isoelemicin) อีกด้วย ส่วนน้ำมันหอมระเหยจากใบ และผลเทพทาโรพบสาร 6-methyl-5-hepten-2-one, Limonene, Alpha-Terpineol, Citronellol, Z-Citra, E-Citral, Safrole, Caryophyllene, (-)-caryophyllene oxide และองค์ประกอบทางเคมีในผลดิบและผลสุกเทพทาโร พบว่าในผลดิบพบ 1, 3, 8-p-menthatriene ร้อยละ 43.13 และพบในผลสุกร้อยละ 41.16 พบ Citral ในผลดิบร้อยละ 46.86 และพบในผลสุกร้อยละ 49.19 1, 8-cineole ในผลดิบร้อยละ 33.90 และแซฟรอลร้อยละ 26.71 ส่วนในผลสุกพบแซฟรอลมากถึงร้อยละ 90.68 ส่วนในเนื้อไม้ มีสาระสำคัญในเนื้อไม้คือ d-camphor และยังให้น้ำมันที่มีสารหอม คือ safrol และ cinnamic aldehyde อีกด้วย นอกจากนี้ยังมีรายงานการวิจัยว่าเนื้อในเมล็ดเทพทาโรยังพบโปรตีน 2 ชนิด คือ พอเร็คติน (porrectin) และซินนาโมมิน (cinnamomin) อีกด้วย
การศึกษาทางเภสัชวิทยาของเทพทาโร
มีรายงานผลการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของน้ำมันหอมระเหยจากส่วนต่างๆ ของเทพทาโรระบุว่า น้ำมันเทพทาโร ที่มีแซฟฟรอลเป็นองค์ประกอบสำคัญออกฤทธิ์ต้านเชื้อรา และแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคในมนุษย์ได้ดี อีกทั้งสารแซฟฟรอลยังมีฤทธิ์แก้ปวดข้ออักเสบ และปวดข้ออักเสบรูมาตอยด์ได้อีกด้วย นอกจากนี้ยังมีรายงานการวิจัยอีกฉบับหนึ่ง ระบุว่า น้ำมันหอมระเหยเทพทาโร มีฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อแบคทีเรียในช่องปาก คือ Streptococcus mutans โดยมีค่า MIC 10 mg/ml และมีฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อรากก่อโรคกลากได้แก่ Trichophyton mentagrophytes และ Trichophyton rubrum โดยมีค่า MIC อยู่ในช่วง 0.5-1.0 mg/ml.
การศึกษาทางพิษวิทยาของเทพทาโร
ไม่มีข้อมูล
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
สำหรับการใช้เทพทาโรเป็นสมุนไพร สำหรับบำบัดรักษาโรคต่างๆ นั้น ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาด และปริมาณที่เหมาะสม ที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ อีกทั้งไม่ควรใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้ สำหรับเด็ก และสตรีมีครรภ์ไม่ควรใช้เทพทาโร เป็นสมุนไพร เนื่องจากยังไม่มีการศึกษาด้านความปลอดภัยอย่างชัดเจน ส่วนผู้ที่ป่วยโรคเรื้อรังหรือผู้ที่ต้องทานยาต่อเนื่องเป็นประจำก่อนจะใช้เทพทาโรเป็นสมุนไพรควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนทุกครั้ง
เอกสารอ้างอิง เทพทาโร
⦁ วิทยา บุญวรพัฒน์.”ข่าต้น” หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. หน้า 122.
⦁ เต็ม สมิตินันท์. 2544. ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย. (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2544) บริษัท ประชาชน จ้ากัด.กรุงเทพฯ. 810 หน้า.
⦁ สมเกียรติกลั่นกลิ่น ประดิษฐ์ หอมจีน วินัย ศิริกุล อำไพ พรลี แสงสุวรรณ์ สาโรจน์ วัฒนสุขสกุล และสมชาย นองเนือง. 2547. เทพทาโร. ศูนย์วนวัฒนวิจัยเชียงใหม่. สำนักบริหารจัดการในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 16, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช. 23 หน้า
⦁ ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม. “ข่าต้น” หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย,ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. หน้า 104-105.
⦁ อรุณพรอิฐรัตน์วันทนา เหรียญมงคล เสาวลักษณ์ พงษ์ไพจิตร วิภา พลันสังเกต บุษกร อุตรภิชาติ ศุภารัตน์สุวรรณี พรหมศิริเสาวนิตย์ชอบบุญ ปราณี รัตนสุวรรณ และโสภา คํามี, 2550, รายงานวิจัยเรื่องการศึกษาฤทธิ์ทางชีวภาพของสารสกัดและน้ำมันหอมระเหยของต้นเทพธาโร, มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์สงขลา, 4: 1-32.
⦁ สมเกียรติ กลั่นกลิ่น และคณะ. เทพทาโร. แผนงานวิจัยและพัฒนาไม้หอมเพื่อเศรษฐกิจ. สำนักวิจัยและพัฒนาการป่าไม้ กรมป่าไม้ กระทรวงทรัพย์การธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.2552. 31 หน้า
⦁ เกษม ตั้นสุวรรณ วิภา พลันสังเกต นวลพรรณ ศิรินุพงศ์พิมพ์พิมล เพ็ญจํารัส และ ปราณี รัตนสุวรรณ, 2550, รายงานวิจัยเรื่ององค์ประกอบทางเคมีของน้ำมันหอมระเหยเทพธาโร, มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์สงขลา, 2: 1-18.
⦁ พิชญดา ฉายแสง/บงกชรัตน์ ปิติยนต์, นุจารี ประสิทธิ์พันธ์. การผลิตน้ำมันหอมระเหยจากเศษรากไม้ เทพทาโร. วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร ปีที่ 40 ฉบับที่ 3 (พิเศษ) กันยายน-ธันวาคม 2552. หน้า 329-332.
⦁ เทพทาโร. กลุ่มยาแก้ท้องขึ้น ท้องอืด ท้องเฟ้อ. สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด. โดยการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีฯ (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก ⦁ http://www.rspg.or.th/plant-data /herbs_06_4.htm
⦁ Phongpaichit, S., S.Kummee., L.Nilrat and A.Itarat. 2006.Antimicrobial activity of oil from the root of Cinnamomum porrectum. Songklanakarin J.Sci. Technol. 29(1):11-16.
⦁ Yuenyongsawad, S. and S. Kummee. 2002. Composition and antimicrobial evaluation of volatile oil from Cinnamomum porrectum stem. p.420-421. In 28st Congress on Science and Technology of Thailand. King Mongkut’s Institute. Bangkok.
⦁ Li, X.D, W.Y. Liu and C.L. Niu. 1996. Purification of a new ribosome-inactivating protein from the seeds of Cinnamomum porrectun and characterization of the RNANglycosidase activity of the toxic protein. Biol. Chem. 377 (12):825-31.