สมอเทศ ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

สมอเทศ งานวิจัยและสรรพคุณ 8 ข้อ

ชื่อสมุนไพร สมอเทศ
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น สมอชิต, รกฟ้าขาว (ทั่วไป)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Terminalia arjuna (Roxb.ex DC.) Wight & Arn.
ชื่อสามัญ Arjun tree, Arjuna
วงศ์ COMBRETACEAE


ถิ่นกำเนิดสมอเทศ

สมอเทศ จัดเป็นพืชในวงศ์ สมอ (COMBRETACEAE) ที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในภูมิภาคเอเชียใต้ บริเวณป่าเบญจพรรณที่มีความแล้งชื้น ในประเทศอินเดียและศรีลังกา จะพบมากบริเวณฝั่งแม่น้ำ หรือ บริเวณใกล้แม่น้ำในรัฐอุตดรประเทศพิหาร มัธยมประเทศโอริสสา ในปากีสถานศรีลังกา และบังคลาเทศ เป็นต้น ต่อมาจึงได้มีการแพร่กระจายพันธุ์ไปยังเขตร้อนใกล้เคียง เช่นในพม่า, ไทย, ลาว, มาเลเซีย เป็นต้น สำหรับในประเทศไทยพบสมอเทศ ได้ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศบริเวณชายป่าทั่วไป หรือ ตามข้างแม่น้ำลำคลองที่มีความชุ่มชื้น และมีแสงแดดส่องตลอดวัน


ประโยชน์และสรรพคุณสมอเทศ

  1. ใช้เป็นยาระบายอ่อนๆ
  2. ช่วยขับเสมหะ
  3. ใช้เป็นระบายเสมหะ
  4. ใช้เป็นระบายลมรู้ถ่ายรู้ปิดเอง
  5. แก้เสมหะ
  6. แก้ลมอันพิการ ทำให้ลมเดินสะดวก
  7. ช่วยขับลม
  8. แก้รู้ถ่ายรู้ปิดเอง 

           นอกจากนี้ผลสมอเทศยังเป็นส่วนประกอบอยู่ในพิกัดตรีสมอ คือ จำนวนสมอ 3 อย่าง ได้แก่ ลูกสมอไทย ลูกสมอพิเภก และลูกสมอเทศ มีสรรพคุณ บำรุงธาตุ แก้ไข้ แก้เสมหะ ผายธาตุ รู้ถ่ายรู้ปิดเอง และอยู่ในพิกัดจตุพลาธิกะ คือ จำนวนผลไม้ให้คุณ 4 อย่าง ได้แก่ ลูกสมอไทย ลูกสมอพิเภกลูกสมอเทศ และลูกมะขามป้อม มีสรรพคุณช่วยถ่ายไข้ ถ่ายลม บำรุงธาตุ แก้โรคตา ผายธาตุ รู้ถ่ายรู้ปิด แก้เสมหะ ระบายเสมหะ ระบายลมรู้ถ่าย รู้ปิดเอง เป็นยาระบายอ่อนๆ ทำให้ลมเดินสะดวก

           มีรายงานการใช้ใบของสมอเทศ เป็นอาหารของตัวไหม ในการผลิตเส้นใยไหม tussar ในประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้จากไหมป่าที่มีความสำคัญทางการค้าของอินเดีย ส่วนในประเทศไทยมีการใช้สมอเทศเป็นยาสมุนไพร

สมอเทศ

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

ใช้เป็นยาระบายอ่อนๆ ขับเสมหะ ระบายเสมหะ ขับลม ทำให้ลมเดินสะดวก ระบายลม รู้ถ่ายรู้ปิดเอง แก้ลมอันพิการ โดยนำผลสมอเทศ สดมารับประทาน หรือ นำผลแก่มาตากแห้งต้มกับน้ำดื่มก็ได้ ส่วนการใช้ตามพิกัดตรีสมอ และพิกัดจตุพลาธิกา ก็สามารถใช้ได้ตามพิกัดนั้นๆ ตามตำรับ


ลักษณะทั่วไปของสมอเทศ

สมอเทศ จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่มีความสูง 25-30 เมตร แตกเรือนยอดกว้าง ลำต้นเปลาตรง โคนต้นมักมีพูพอน เปลือกเรียบ มีสีเทาอมน้ำตาล หรือ สีขาวอมเขียว กิ่งอ่อนมักจะแตกห้อยลงมา และมีขนละเอียดขึ้นปกคลุม

           ใบสมอเทศ เป็นใบเดี่ยวออกเรียงตรงกันข้าม หรือ เยื้องกันเล็กน้อย ใบมีลักษณะเป็นรูปขอบขนาน หรือ รูปขอบขนานแกมรูปไข่ กว้าง 4-7 เซนติเมตร ยาว 7.5-15 เซนติเมตร โคนใบมนปลายใบมน เป็นติ่งทู่ๆ ขอบใบเรียบ ก้านใบสั้นมีความยาว 6-10 มม. แผ่นใบหนามีสีเขียว ด้านล่างใบมีสีน้ำตาล เมื่อใบสมอเทศ ยังอ่อนจะมีขนขึ้นปกคลุมเมื่อใบแก่ขนจะหลุดร่วง และจะมีต่อม 1-2 ต่อม ที่ปลายต่อกับแผ่นใบ

           ดอกสมอเทศ ออกเป็นช่อ ยาว 7-15 เซนติเมตร บริเวณซอกใบและปลายกิ่ง ดอกย่อยเป็นดอกสมบูรณ์เพศและมีขนาดเล็ก ดอกย่อยเป็นสีเขียวอมขาว สีขาว หรือ สีขาวอมเหลือง มีกลิ่นหอมคล้ายน้ำผึ้ง เมื่อดอกย่อยบานเต็มที่จะมีขนาดกว้าง 3-4 มม. มีกลีบรองกลีบดอก 5 กลีบ โคนกลีบเชื่อมติดกันเป็นหลอดกับรังไข่ ซึ่งจะมีขนทั้งสองด้าน ส่วนกลีบดอกมีขนาดกว่าง 0.7-1 มิลลิเมตร และยาว 1-2 มิลลิเมตร ดอกเมีเกสรตัวผู้ 10 อัน เกสรตัวเมีย 1 อัน ปลายแยกเป็น 5 พู

           ผลสมอเทศ เป็นผลแห้ง และแข็ง เมื่อแก่จะไม่แตก ลักษณะของผลเป็นรูปรี หรือ รูปไข่กลับ มีขนาดกว้าง 2.5-5 เซนติเมตร ยาว 4-6 เซนติเมตร มีเส้นปีกลากจากแกนกลางไปยังขอบปีกในแนวราบ 5 เส้น เป็นจำนวนมากภายในผลมีเมล็ดอยู่ 1 เมล็ด

สมอเทศ
สมอเทศ

การขยายพันธุ์สมอเทศ

สมอเทศสามารถขยายพันธุ์ได้โดยการใช้เมล็ดและการปักชำ ซึ่งวิธีที่เป็นที่นิยม คือ การเพาะเมล็ดโดยวิธีการเพาะเมล็ด และการปลูกสมอเทศ นั้น สามารถทำได้เช่นเดียวกันกับการเพาะเมล็ดและการปลูก “สมอไทย” และ “สมอพิเภก ” ซึ่งได้กล่าวถึงมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีของสารสกัดจากส่วนผลของสมอเทศ ระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิด อาทิเช่น พบสารกลุ่ม Triterpenoids และ flavonoids เป็นหลักรวมถึงสารในกลุ่มอื่นๆ อีกเช่น Arjunone, Arjunic acid, Arachidic stearate, Fridelin, Ellagicacid, Gallic acid, Hentriacontane, Cerasidin, b-Sitisterol, Methyl oleaolate, Myristyl oleate และ luteolin เป็นต้น

โครงสร้างสมอเทศ

การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของสมอเทศ

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของสารสกัดจากผลของสมอเทศระบุว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาดังนี้

           มีรายงานผลการศึกษาฤทธิ์ด้านอนุมูลอิสระ และฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งท่อน้ำดี ในสารสกัดจากส่วนผลของสมอเทศ ระบุเมื่อศึกษาฤทธิ์การต้านอนุมูลอิสระโดยวิธี DPPH, ABTS และ FRAP assay พบว่า มีค่า IC50 เท่ากับ 9.44 ± 1.06, 17.57 ± 1.25 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร และ 787.46 ± 8.02 mmol FeSO4/100 g ตามลำดับ ส่วนผลความเป็นพิษต่อเซลล์มะเร็งท่อน้ำดี KKU-156 โดยใช้การทดสอบ SRB assay พบว่าสารสกัดสมอเทศ สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์ได้ดีที่สุด โดยมีค่า IC50 ที่เวลา 24, 48 และ 72 ชั่วโมงซึ่งมีค่า IC50 เท่ากับ 19.99 ± 1.84, 4.51 ± 0.25 และ 0.90 ± 0.18 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร ตามลำดับ จากการศึกษานี้สรุปได้ว่า สารสกัดสมอเทศมีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลิอิสระได้ดี และสามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งท่อน้ำดี KKU-156 ได้ ส่วนการศึกษาวิจัยอีกฉบับหนึ่งระบุว่า ได้ทำการตรวจสอบปริมาณสารฟินอลิกรวมในสารสกัดจากผลสมอเทศ พบว่ามีปริมาณฟินอลิกรวม เท่ากับ 95±3.11 mg. GAE/100 mg จากนั้นจึงได้ทำการศึกษาฤทธิ์ต้านอนุมูลิอิสระในสารสกัดจากผลสมอเทศ พบว่ามีค่า IC50 เท่ากับ 20.22 µg/mL นอกจากนี้ยังมีรายงานการศึกษาวิจัยพบว่าผลสมอเทศมีฤทธิ์ในการยับยั้งและฆ่าเชื้อรา Candida albicans อีกทั้งพบสาร flavonoids และ glycoside เป็นองค์ประกอบทางเคมีในสมอเทศ


การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของสมอเทศ

ไม่มีข้อมูล


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

สำหรับการใช้สมอเทศ เป็นยาสมุนไพรนั้นควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาดและปริมาณที่พอเหมาะที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้


เอกสารอ้างอิง สมอเทศ
  1. วุฒิ วุฒิธรรมเวช. ร่วมอนุรักษ์มรดกไทย สารานุกรมสมุนไพร รวมหลักเภสัชกรรมไทย. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ: โอ.เอส.พริ้นติ้งเฮ้าท์. 2540:416
  2. สำนักงานหอพรรณไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. 2557.ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย เต็ม สมิตินันท์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2557. โรงพิมพ์สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ. กรุงเทพมหานคร
  3. สมภพ ประธานธุรารักษ์. สมุนไพรและเครื่องยาไทยในยาสามัญประจำบ้าน. พิมพ์ครั้งที่ 1.กรุงเทพฯ: ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. 2557: 364
  4. ชยันต์ พิเชียรสุนทร, แม้นมาส ชวลิต, วิเชียร จีรวงส์. คำอธิบายตำราพระโอสถพระนารายณ์ฉบับเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษามหาราชา 5 ธันวาคม พุทธศักราช 2542. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์อมรินทร์ และมูลนิธิภูมิปัญญา. 2548.
  5. มยุรัชฎ์ พิพัฒภาสกร และคณะ (2561). ฤทธิ์ต้านเชื้อรา และความเป็นพิษต่อเซลล์สร้างเส้นใยจากเหงือกมนุษย์ของสารสกัดในแฟรกชั่นของไดคลอโรมีเทนจากผลสมอพิเภกแห้ง. เชียงใหม่ทันตแพทยสาร, 39(1). 61-74.
  6. ชารินันท์ แจงกลาง และคณะ. การศึกษาปริมาณสารฟินอลิก ปริมาณสารฟลาโวนอยด์ และฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระในสารสกัดสมุนไพร. วารสารหมอยาไทยวิจัย ปีที่ 8 ฉบับที่ 1. มกราคม-มิถุนายน 2565. หน้า 93-106.
  7. Kirtikar KR, Basu BD, An ICS. Indian medicinal plants. Vol.II. Dehra Dun (India): Bishen Singh Mahendra Pal Singh. 1993. P
  8. Sont,N., Singh, V.,2019, Efficacy and Advancement of Terminalia arjuna in Indian Herian Herbal Drug Research A Review. Trends in Applied Sciences Research, 14,233-242.
  9. Rastogi RP, Mehrotra BN. Compendium of Indian Medicinal Plants. vol. 3. NewDelhi: CSIR; 1993.
  10. Kumar G.P.S. Arulselvan P., Kumar D.S and Subramanian S.P (2006.) Anti-diabetic activity of fruits of Teeminalia chebula on streptoxotocin induced diabetic rats. Journal of health science.52(3).283-291.
  11. Upadhyay RK, Pandey MB, Jha RN, Singh VP, Pandey VB. Triterpene glycoside fromTerminalia arjuna. J Asian Nat Prod Res. 2001;3:207-212.