กลอย ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย
กลอย งานวิจัยและสรรพคุณ 16 ข้อ
ชื่อสมุนไพร กลอย
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น มันกลอย (ทั่วไป), ก๋อย, กลอยนก (ภาคเหนือ), กลอยไข่ (ภาคอีสาน), กลอยข้าวเหนียว, กลอยหัวเหนียว (โคราช), คลี้ (กะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Dioscorea hispida Dennst.
ชื่อสามัญ Wild Yam, Bitter Yam
วงศ์ Dioscoreaceae
ถิ่นกำเนิดกลอย
กลอยเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในบริเวณเขตร้อนของทวีปเอเชียตั้งแต่จีนตอนใต้ ไต้หวัน อินเดีย พม่า ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลปปินส์ และนิวกินี โดยมักจะพบตามธรรมชาติ หรือ พบตามบริเวณแหล่งเกษตรกรรมที่ปลูกไว้เพื่อบริโภค และทำยาสมุนไพร ในปัจจุบันกลอย ได้กระจายพันธุ์ไปยังเขตร้อนต่างๆ เช่น ทวีป แอฟริกา และอเมริกาใต้ โดยจะสามารถพบได้ในประเทศเขตร้อนต่างๆ สำหรับในประเทศไทย สามารถพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศ ซึ่งมักจะพบตามที่ลุ่มต่ำ ที่รกร้างทั่วไป ป่าเต็งรัง ป่าผสม และป่าดงดิบ
ประโยชน์และสรรพคุณกลอย
- ใช้แก้เถาดาน (อาการแข็งเป็นลำในท้อง)
- แก้น้ำเหลืองเสีย
- แก้โรคซิฟิลิส
- ช่วยขับปัสสาวะ
- รักษาฝีมะม่วง
- แก้ปวดตามข้อ
- ใช้ทา หรือ พอกฆ่าหนอนในแผลสัตว์เลี้ยง
- แก้ตานโจร
- แก้ไข้ชรา
- แก้ลมต่างๆ
- ช่วยสมานแผล
- รักษาโรคผิวหนัง
- แก้ลมอุทธังคมาวาตา
- แก้ริดสีดวงมหากาฬ
- แก้กษัยเส้น
- แก้ท้องผูก
รูปแบบและขนาดวิธีใช้
ใช้แก้เถาดาน โดยใช้หัวใต้ดินที่กำจัดพิษหมดแล้วมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้แก้น้ำเหลืองเสีย, รักษาฝีมะม่วง, โรคซิฟิลิส, ขับปัสสาวะ รักษาอาการปวดตามข้อ โดยใช้หัวกลอย ใต้ดินที่กำจัดพิษออกแล้วมาตากแห้งแล้วต้มกับน้ำดื่ม ใช้กัดฝ้ากัดหนอง สมานแผล รักษาโรคผิวหนัง โดยใช้หัวใต้ดินที่กำจัดพิษหมดแล้วมาหุงเป็นน้ำมัน ทาบริเวณที่เป็น
ลักษณะทั่วไปของกลอย
กลอย จัดเป็นไม้เถาล้มลุก ไม่มีมือเกาะ มีหัวใต้ดิน โดยจะอยู่ลึกจากผิวดินประมาณ 10-15 เซนติเมตร ลำต้น หรือ เถากลมขนาดเล็กประมาณ 0.3-0.5 เซนติเมตร มีหนามเล็กๆ กระจายทั่วไป และมีขนนุ่มๆ สีขาวปกคลุม มักจะพาดพันไปบนต้นไม้อื่นๆ หัวใต้ดินส่วนมากกลมรี บางทีเป็นพู รูปร่างไม่สมมาตร มีรากเล็กๆ กระจายทั่วทั้งหัว ในหนึ่งต้นมี 3-5 หัว เปลือกหัวบาง โดยหัวอ่อน เปลือกจะมีสีครีม ส่วนหัวแก่จะเป็นสีเทาอมดำ เนื้อในหัวมี 2 ชนิด คือ สีขาว (กลอยหัวเหนียว) และสีครีม (กลอยไข่ กลอยเหลือง) ใบเป็นใบประกอบแบบเรียงสลับ จะมีก้านใบหลัก ยาว 5-10 ซม. ซึ่งแต่ละก้านใบจะประกอบด้วยใบย่อย 3 ใบ มีก้านใบย่อยสั้น 0.5-1.5 ซม. แต่ละใบมีลักษณะคล้ายใบถั่ว โคนใบ และปลายใบสอบแหลม ปลายใบจะมีติ่งแหลม กลางใบกว้าง มีสีเขียว แผ่นใบ และขอบใบเรียบ มีเส้นกลางใบมองเห็นได้ชัดเจน 1 เส้น และเส้นใบขนานกับเส้นกลางใบข้างละ 1 เส้น รวมมีเส้นใบ 3 เส้น โดยใบจะมีความยาวประมาณ 10-25 ซม. กว้างประมาณ 8-15 ซม. ดอกออกเป็นช่อแบบแยกแขนง โดยจะแทงออกตามซอกใบ แต่ละช่อจะมี 5-12 ช่อ ย่อยส่วนดอกย่อยมีขนาดเล็ก จำนวน 30-50 ดอกสีเขียว ห้อยลง ดอกเพศผู้ออกเป็นช่อแยกแขนง 2-3 ชั้น ดอกตั้งขึ้นยาวได้ถึง 40 เซนติเมตร ดอกเพศเมียออกเป็นช่อชั้นเดียว ดอกชี้ลงดิน กลีบเลี้ยง และกลีบดอกมีอย่างละ 6 กลีบ ผลมีลักษณะเป็นแผ่น 3 แผ่น เชื่อมติดกันเป็น 3 เหลี่ยม แต่ละแผ่นกว้างประมาณ 2 ซม. ยาวประมาณ 5 ซม. ในแต่ละแผ่นจะมีเมล็ด 1 เมล็ด โดยเป็นเมล็ด มีลักษณะกลมแบนผิวเกลี้ยง และมีปีกบางใส สำหรับช่วยในการลอยตามแรงลม
การขยายพันธุ์กลอย
กลอย สามารถขยายพันธุ์ได้โดยวิธีการใช้เมล็ด และการแยกเหง้า หรือ หัว ซึ่งในธรรมชาติจะเป็นการขยายพันธุ์โดยการใช้เมล็ด โดยเมล็ดจะถูกลมปลิวไปตกยังพื้นที่ต่างๆ แล้วเจริญเติบโตตามธรรมชาติต่อไป ส่วนการนำมาปลูกเพื่อใช้ประโยชน์นั้น นิยมใช้วิธีการแยกหัวที่มีตายอด ออกมาปลูก หรือ ขุดต้นอ่อนจากป่ามาปลูก ทั้งนี้กลอยเป็นพืชที่ปลูกง่าย และมีความทนทานต่อความแห้งแล้ง แต่ต้องมีต้นไม้ใหญ่หรือค้างให้เถาได้เลื้อยเกาะ
องค์ประกอบทางเคมี
จากการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีของหัวกลอย พบว่ามีสาระสำคัญหลายชนิด เช่น dioscin, steroid sapogenin, diosgenin และยังพบสารที่มีความเป็นพิษจากน้ำยา เช่น สาร dioscorine, steroid sapogenin, calcium oxalate เป็นต้น
ที่มา : Wikipedia
การศึกษาทางเภสัชวิทยาของกลอย
ฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งตับ สารไดออสซิน (Dioscin) เป็นสานในกลุ่มสเตียรอยด์ ซาโปนิน ที่พบได้ในพืชหลายชนิดโดยเฉพาะในพืชสกุลกลอย การศึกษาฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งตับ (hepatocellular carcinoma) ในหลอดทดลองพบว่า สารไดออสซินสามารถยับยั้งการเพิ่มจำนวนของ เซลล์มะเร็งตับชนิด Bel-7402 และ HepG2 ได้ โดยประสิทธิภาพจะขึ้นกับขนาดที่ให้ และเมื่อศึกษากลไกการออกฤทธิ์ต้านเซลล์มะเร็งตับชนิด Bel-7402 ก็พบว่าสารไดออสซินทำให้เซลล์เกิดการตายแบบอะพอพโตซิส (apoptosis) และทำให้สารพันธุกรรม หรือ ดีเอ็นเอ (DNA) ของเซลล์ดังกล่าวถูกทำลายด้วย การศึกษากลไกการออกฤทธิ์พบว่า สารไดออสซินมีฤทธิ์ต้านมะเร็งโดยการเพิ่มการแสดงออกของโปรตีนที่กระตุ้นกระบวนการตายของเซลล์แบบอะพอพโตซิส เช่น tumor protein p53 (TP53), BCL2-associated X protein (BAX) และ Caspase 3 (CASP3) ลดการแสดงออกของโปรตีนที่ต้านกระบวนการตายของเซลล์แบบอะพอพโตซิส เช่น B-Cell CLL/Lymphoma 2 (BCL2) และการศึกษาประสิทธิภาพของสารไดออสซินเปรียบเทียบกับยาต้านมะเร็ง 5-Fluorouracil (5-FU) ในหนูเม้าส์ที่ถูกเหนี่ยวนำให้เป็นมะเร็งตับชนิด Bel-7402 พบว่า สารไดออสซินที่ขนาด 24 มก./กก./วัน มีประสิทธิภาพในการต้านมะเร็งดีกว่ายา 5-FU ที่ขนาด 10 มก./กก./วัน จากผลการทดลองดังกล่าวทำให้สามารถสรุปได้ว่า สารไดออสซินมีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งตับ ผ่านกระบวนการอะพอพโตซิส ร่วมกับการเปลี่ยนแปลงการแสดงออกของโปรตีนที่ควบคุมกระบวนการอะพอพโตซิส เช่น TP53, BAX, BCL2 และ CASP3 ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาวิธีรักษาโรคมะเร็งตับต่อไป
นอกจากนี้ยังมีรายงานการศึกษาวิจัย พบว่าสารสกัดน้ำจากหัวกลอย สามารถยับยั้งเชื้อ Staphylococcus epidermidis ซึ่งเป็นเชื้อที่ทำให้เกิดสิวได้
การศึกษาทางพิษวิทยาของกลอย
มีการศึกษาทางพิษวิทยาในหนูทดลองพบว่า เมื่อสกัดหัวกลอยด้วยแอลกอฮอล์ 95 เปอร์เซ็นต์ แล้วนำสารสกัดนั้นไปทดสอบในหนูถีบจักรและหนูขาว พบว่ามีฤทธิ์สำคัญดังนี้
ฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง มีฤทธิ์กระตุ้นให้กระวนกระวาย หายใจหอบ ชัก และตายถ้าใช้ขนาดสูงเนื่องจากการชักรุนแรงขึ้น และกดการหายใจ
ฤทธิ์ต่อระบบไหลเวียนเลือด ทำให้ความดันเลือดสูงขึ้น
ฤทธิ์ต่อระบบกล้ามเนื้อ ทำให้มีการหดตัวของกล้ามเนื้อเรียบ ทั้งกล้ามเนื้อทางเดินอาหาร และกล้ามเนื้อหลอดเลือด
ซึ่งอีกการศึกษาหนึ่งระบุผลของความเป็นพิษในหัวกลอย พบว่าสารกลุ่มแอลคาลอยด์ (dioscorine) ทำให้เกิดอาการใจสั่น วิงเวียน คันคอ คลื่นไส้ อาเจียน เหงื่อออก ซีด ตาพร่า ชีพจรเบา เร็ว อึดอัด เป็นลม และตัวเย็น บางคนมีอาการประสาทหลอนคล้ายกับอาการของคนบ้าลำโพง อาจมีการกระตุกของกล้ามเนื้อ ชัก ต่อมากดประสาทส่วนกลาง
ส่วนสารกลุ่มซาโปนิน (steroidal sapnin) มีผลทำให้เลือดแดงแตก เกิดการระคายเคืองต่อกระเพาะอาหาร ถ้าสูดดมเข้าไปจะทำให้เกิดความระคายเคืองต่อเยื่อบุจมูก ทำให้จามน้ำมูกไหล ถ้าได้รับเข้าไปมากจนผนังลำไส้เป็นแผลจะดูดซึมเข้าไปได้มากก็จะเกิดเป็นพิษมาก แต่ตามปกติมีการดูดซึมได้น้อย
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
- ในหัวของกลอย มีสารไดออสคอรีนที่ออกฤทธิ์กดประสาทหากรับประทานโดยไม่กำจัดพิษออกจะทำให้เกิดอาการมึนเมา คัดคอ ใจสั้น อาเจียน และหากรับประทานมากๆ อาจทำให้ตายได้ ดังนั้น ก่อนจะรับประทานจึงควรกำจัดพิษออกก่อนแล้วต้องทำให้สุกเสียก่อน
- การกำจัดพิษออกจากหัวกลอยควรทำโดยผู้ที่มีความเชี่ยวชาญเท่านั้น ไม่ควรทำเองเพราะอาจกำจัดพิษออกไม่หมด และทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพได้
- ในการใช้หัวกลอยเป็นยาสมุนไพรสำหรับบำบัดรักษาอาการเจ็บป่วยต่างๆ นั้น ควรระมัดระวังในการใช้มากกว่าสมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรหาซื้อกลอยที่ผ่านการกำจัดพิษแล้วจากแหล่งที่เชื่อถือได้ และควรใช้ตามปริมาณที่กำหนดในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ใช้มากจาเกินไป หรือ ใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป สำหรับเด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง หรือ ผู้ที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่อง ก่อนจะใช้กลอยเป็นสมุนไพรบำบัดรักษาโรคต่างๆ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ
เอกสารอ้างอิง กลอย
- ราชบัณฑิตยสถาน. อนุกรมวิธานพืช อักษร ก ฉบับราชบัณฑิต. กรุงเทพมหานคร.เพื่อนพิมพ์จำกัด, 2538.
- เกศริน.มณีนูน. สมุนไพรจากพืชสกุลกลอย ในตำรับยาแผนไทย. วารสารวิทยาศาสตร์ มข.ปีที่ 41.ฉบับที่ 4.ตุลาคม-ธันวาคม 2556 หน้า 797-807
- เต็ม สมิตินันทน์. 2544. ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย. ส่วนพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิชาการป่าไม้กรมป่าไม้. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ. บริษัท ประชาชน จำกัด. 193-194.
- กลอย. รายงานการเกิดพิษในคน. สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
- นพมาศ สุนทรเจริญนนท์. พืชพิษ (Poisonous Plants). ใน รุ่งระวี เต็มศิริฤกษ์กุล และคณะ (บรรณาธิการ).สมุนไพร: ยาไทยที่ควรรู้.กรุงเทพมหานคร: บริษัทอมรินทร์พริ้นติ๊งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน), 2542.
- พงษ์ศักดิ์ กรรณล้วน จันทนา อโณทยานนท์ บุญยงค์ ตันติสิระ และคณะเภสัชวิทยาของไดออสคิรีน:2 ผลต่อความดันโลหิตและการหายใจของหนูขาว.ไทยเภสัชสาร 2522;4(4):209-21.
- Flach, M. and Rumawas, F. (Editors). (1996). ทรัพยากรพืชในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ลำดับที่ 9 พืชที่ให้คาร์โบไฮเดรตที่ไม่ใช่เมล็ด. นนทบุรี: สหมิตรพริ้นติ้ง. 112-130
- บุญยงค์ ตันติสิระ พิมพ์อำไพ โภวาที พงษ์ศักดิ์ กรรณล้วน และคณะเภสัชวิทยาของไดออสคอรีน:1. ฤทธิ์ในการกระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง และปฏิกิริยาร่วมกับบาประสาทบางชนิด.ไทยเภสัชสาร 2522.4(1):9-20.
- กลอย. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.phargardan.com/main.php?achtion=view.page&pid=10
- กลอย/ว่านกลอยจืด.พืชเกษตรดอทคอมเว็บเพื่อพืชเกษตรไทย (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.puechkaset.com
- กลอย. กระดานถาม-ตอบ.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัย (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.medplant.mahidol.ac.th/user/reply.asp?id=5422
- กลอย. ฐานข้อมูลเครื่องยาคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.thaicrudedeuy.com/main.php?action=view
- Burkill, I. H. (1951). Diocoreaceae. Flora Malesiana. 1(4): 295-335.
- Thapyai, C. (2004). Taxonomic revision of Dioscoreaceae in Thailand. Ph.D. Thesis, Kasetsart University. Bangkok: 346 pp
- Punith K. T. G., Panduranga M. G. S. A., Suresh, V., Senthil K. N., and Raviashankar, H. G. (2011). Evaluation of antitumour activity and antioxidant status in Dioscorea hispida Dennst. leaves on Ehrlich ascites carcinoma in Swiss albino mice. Int. J. Drug Dev. & Res. 3(2): 203-210.