หนอนตายหยาก ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย
หนอนตายหยาก งานวิจัยและสรรพคุณ 7ข้อ
ชื่อสมุนไพร หนอนตายหยาก
ชื่อวิทยาศาสตร์ / ชื่อท้องถิ่น มีรายงานว่า หนอนตายหยากที่เป็น พืชสกุล Stemona มีอยู่ประมาณ ประมาณ 30 ชนิด ซึ่งศูนย์ความหลากหลายทางพันธุกรรมพืช มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้จำแนกชนิดของหนอนตายหยากโดยใช้เครื่องหมายโมเลกุลตรวจสอบลายพิมพ์ดีเอ็นเอ ร่วมกับการจำแนกด้วยอนุกรมวิธาน โดยพิจารณาจากใบและดอก สามารถจำแนกได้ 9 ชนิด คือ
ชื่อวิทยาศาสตร์ ชื่อท้องถิ่น
Stemonaaphylla Craib เครือปรุง (ลำปาง)
Stemonaburkillii Prain ปงมดง่าม โป่งมดง่าม (เชียงใหม่)
Stemonacollinsae Craib หนอนตายหยาก (ภาคกลาง) ปงช้าง (ภาคเหนือ) กระเพียดช้าง (ภาคอีสาน)
Stemonacurtisii Hook. f. รากลิง (พัทลุง) หนอนตายหยาก
Stemonagriffithiana Kurz - (พบที่จังหวัดแพร่)
Stemonakerrii Craib - (พบที่จังหวัดเชียงใหม่)
Stemonaphyllantha Gangep. - (พบที่จังหวัดเพชรบุรีและภูเก็ต)
Stemonatuberosa Lour. หนอนตายหยาก (แม่ฮ่องสอน นครสวรรค์) กะเพียด (ประจวบคีรีขันธ์,ชลบุรี)
Stemona cochichinensis - ป้อมดง่าม , ปังสามสิบ (ภาคเหนือ) กระเพียดหนู , สลอดเชียงคำ (ภาคอีสาน)
นอกจากนี้บางตำรายังมีหนอนตายหยาก ชื่อ Clitorea hanceana Hemsl วงศ์ Leguminosae (Fabaceae) – Papilionoideae จึงอาจทำให้เกิดความสับสนในการศึกษาข้อมูล ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องทำการศึกษาวิจัยตรวจสอบและระบุชื่อวิทยาศาสตร์ให้ชัดเจนต่อไป เพราะแต่ละสกุลและชนิดพันธุ์อาจมีสารออกฤทธิ์ที่มีสมบัติและปริมาณแตกต่างกัน
ชื่อสามัญ Stemona sp.
วงศ์ Stemonaceae
ถิ่นกำเนิดหนอนตายหยาก
หนอนตายหยากพบในบริเวณเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และทางเหนือของออสเตรเลีย นอกจากนี้ยังพบกระจายอยู่ตามประเทศต่างๆ เช่น ญี่ปุ่น จีน ฮอลแลนด์ ฟิลิปปินส์ ฯ สำหรับประเทศไทยพบพืชสกุลนี้ในภาคต่างๆของประเทศ โดยพบมากบริเวณป่าดิบชื้น ป่าผลักใบ และป่าไผ่
ประโยชน์และสรรพคุณหนอนตายหยาก
- เป็นยาแก้ไอและขับเสมหะ
- เป็นยาขับลม
- เป็นยาถ่ายพยาธิ
- รักษาวัณโรค
- เป็นยาแก้ไอเย็น ไอเรื้อรัง หลอดลมอักเสบ
- แก้โรคผิวหนัง ฆ่าหิดเหา ฆ่าเชื้อพยาธิภายใน มะเร็งตับ
- ถ่ายพยาธิตัวจี๊ด
หนอนตายหยากได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์ตามภูมิปัญญาชาวบ้าน มาตั้งแต่อดีตโดยใช้ฆ่าเห็บเหาในสัตว์ประเภทโคและกระบือ บางชนิดใช้ฆ่าหนอน หรือใส่ในไหปลาร้าเพื่อกันหนอนแมลงวันและแมลงศัตรูพืช ในการเกษตรอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะเป็นทางเลือดของวิธีการควบคุมศัตรูพืชแทนการใช้สารเคมีสังเคราะห์ เพื่อให้ได้ผลผลิตทางการเกษตรที่มีความปลอดภัยจากสารเคมีตกค้าง
รูปแบบและขนาดวิธีใช้
ในการจะใช้รากหนอนตายหยากมารับประทานเป็นยาสมุนไพรนั้น จะใช้ได้เป็นบางสายพันธุ์เท่านั้น และต้องมีขั้นตอนการทำลายพิษ โดยนำรากมาล้างให้สะอาดแลวนำมาลวกหรือนึ่งจนกระทั่งไม่เห็นแกนสีขาวที่รากแล้วนำไปตากแห้ง และหั่นให้มีขนาดเล็กก่อนนำไปปรุงเป็นตำรายาหรือบางตำราก็นำมาเชื่อมกับน้ำผึ้งก่อนนำไปใช้ เพราะรากสดของหนอนตายหยากมีพิษ หากไม่ผ่านกรรมวิธีการทำลายพิษก่อนอาจก่อให้เกิดอันตรายถึงตายได้ โดยสายพันธุ์ที่นิยมนำมาใช้ทำเป็นยาสมุนไพร เช่น S.tuberosa Lour. , S. collinsae Craib , S.sessilfolia (Miq) , S. japonica (BJ) Miq. เป็นต้น ส่วนรูปแบบวิธีการใช้หนอนตายหยากมีหลายวิธี ดังนี้
ใช้รักษาเหา ด้วยการใช้รากสดประมาณ 3-4 ราก ที่ล้างน้ำสะอาดแล้ว นำมาตำผสมกับน้ำใช้ชโลมเส้นผมทิ้งไว้ประมาณ 1 ชั่วโมง แล้วจึงค่อยสระออกให้สะอาด โดยให้ทำติดต่อกันประมาณ 2-3 วัน
ใช้เป็นยาแก้ปวดฟัน ให้ใช้รากสด 1 ราก ที่ล้างสะอาดแล้ว นำมาหั่นตำให้ละเอียด เติมเกลือ 1/2 ช้อนชา ใช้อมประมาณ 10-15 นาที แล้วบ้วนทิ้ง ทำแบบนี้ติดต่อกันประมาณ 2-4 ครั้ง
ใช้ฆ่าพยาธิตัวแบน ทั้งพยาธิเส้นด้าย พยาธิใบไม้ในตับ พยาธิปากขอ พยาธิตัวจี๊ด ด้วยการใช้รากแห้งที่ผ่านการเตรียมยามาแล้ว 2 ราก นำมาต้มกับน้ำกินติดต่อกันประมาณ 15-20 วัน (ราก) ส่วนวิธีใช้ถ่ายพยาธิปากขอ ให้ใช้รากหรือเหง้า 100 กรัม แบ่งต้ม 4 ครั้ง จากนั้นนำมาสกัดจนเหลือ 30 ซีซี ใช้รับประทานครั้งละ 15 ซีซี โดยให้รับประทานติดกัน 2 วัน
ใช้รากหนอนตายหยากมาต้มกับยาฉุนรมริดสีดวงทวารหนักจะทำให้หัวแห้งฝ่อ ใช้รักษาโรคผิวหนัง โยนำรากที่ผ่านการเตรียมยาแล้ว 50-100 กรัม ไปต้มแล้วใช้อาบนอกจากนี้หนอนตายหยากยังถูกนำไปใช้เป็นส่วนประกอบของตัวยาอีกหลายตำรับเช่น ยาตัดรากอุปะทม , ยาแก้ดีลมแลกำเดา เจือกันทั้งสาม , ยาแก้ดีกำเดา เป็นต้น
ลักษณะทั่วไปหนอนตายหยาก
หนอนตายหยากมีหลายสายพันธุ์ ซึ่งจะมีรายละเอียดแตกต่างกันเล็กน้อย แต่ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ที่มีเหมือนกันคือ มีลักษณะเป็นพืชล้มลุกอายุหลายปี มีเหล้าหรือหัวอยู่ใต้ดิน ลำต้นเหนือดินตั้งตรงหรือเลื้อย ใบเลี้ยงเดี่ยว เรียบสลับหรืออยู่ตรงข้ามกันเป็นคู่หรือเป็นวงรอบข้อ เส้นใบหลายเส้น ออกจากโคนใบขนานกันไปตามความยาวของแผ่นใบ ดอกออกเป็นดอกเดี่ยวหรืออกเป็นช่อสั้น ๆ ตามซอกใบ มีกลีบ 4 กลีบ เรียงกัน 2 วง เกสรตัวผู้ 4 อัน ก้านเกสรตัวผู้สั้นมาก เกสรตัวเมีย 1 อัน รังไข่อยู่เหนือชั้นต่าง ๆ ของดอก ผลเป็นแบบผลแห้งแก่แล้วแตก
ส่วนการแยกชนิดของสายพันธุ์ที่สามารถแยกได้ด้วยลักษณะทางกายภาพที่สามารถมองเห็นได้ คือ ต้องดูที่ราก ใบและดอกเป็นสำคัญ (ซึ่งต้องอาศัยการศึกษาค้นคว้ารวมถึงต้องอาศัยการแยกลายพิมพ์ดีเอ็นเอ และอนุกรมวิธานเป็นสำคัญ)
กรขยายพันธุ์หนอนตายหยาก
หนอนตายหยากเป็นพืชที่มักพบป่าและในปัจจุบันยังไม่นิยมนำมาเพาะปลูกในเชิงพาณิชมากเท่าไรนักในการนำมาใช้ประโยชน์ต่างๆ ก็เป็นการขุดมาจากป่าเสียเป็นส่วนมาก มีรายงานว่ามีการทดลองปลูกหนอนตายหยากพบว่า การขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด จะมีอัตราการรอดสูงที่สุด
องค์ประกอบทางเคมี
หนอนตายหยากมีหลายสายพันธุ์ซึ่งแต่ละสายพันธุ์อาจมีสารออกฤทธิ์ที่ต่างกัน แต่ได้มีการศึกษาวิจัยบางฉบับระบุว่า หนอนตายหยากสายพันธุ์ S.collinsae Craib รากพบแอลคาลอยด์ stemonine, tuberostemonine, stemonidine, isostemonidine สารอื่นที่พบ เช่น rotenoid compound, stemonacetal, stemonal, stemonone ส่วนสายพันธุ์ S.tuberrosa Lour พบว่ามีกลุ่มสารอัลคาลอยด์ คือ stemonidine , tuberstemonine , isotuberstemonine , hypotuberstemonine และ oxatuberstemonine.
รูปภาพองค์ประกอบทางเคมีของหนอนตายหยาก
การศึกษาทางเภสัชวิทยา
รายงานการศึกษาฤทธิ์ของสารสกัดหนอนตายหยากต่อสัตว์ทดลอง รายงานว่า ยาชงสกัดหนอนตายหยากด้วยอีเทอร์ จะได้ปริมาณอัลคาลอยด์สูง มีฤทธิ์ฆ่าพยาธิไส้เดือนได้มากกว่ายาชงสกัดด้วยแอลกอฮอล์ และสารสกัดหนอยตายหยากที่สกัดด้วยแอลกอฮอล์ที่อยู่ในรูปของยาครีม จะมีประสิทธิภาพในการกำจัดเหาได้ดีกว่าในรูปของยาน้ำ และฤทธิ์ตกค้างเพียงหนึ่งสัปดาห์เท่านั้น และมีรายงานศึกษาผลของ 6-deoxyclitoriacetal ซึ่งเป็นสาร retonoids ที่สกัดได้จากรากหนอนตายหยากต่อการหดตัวของกล้ามเนื้อเรียบจากอวัยวะต่างๆ ที่แยกจากกายของหนูทดลองพบว่า 6-deoxyclitoriacetal 0.2 มก./มล. สามารถลดการหดตัวของกล้ามเนื้อเรียบของมดลูกหนูขาวทั้งที่เกิดขึ้นเองหรือเกิดจากการกระตุ้นด้วย serotonin และ norepinephrine แบบความเข้มข้นสะสม และยังสามารถลดการหดตัวของกล้ามเนื้อเรียบของหลอดเลือดแดงใหญ่ของหนูขาวจากการกระตุ้นด้วยสารละลายแคลเซียมคลอไรด์แบบความเข้มข้นสะสม นอกจากนี้ยังสามารถมีผลต่อการหกตัวของกล้ามเนื้อเรียบลำไส้เล็กส่วน ileum ของหนูตะเภา เมื่อมีการกระตุ้นด้วย acetylcholine จากผลการทดลองทั้งหมดแสดงให้เห็นว่า 6-deoxyclitoriacetal มีฤทธิ์ยับยั้งการหดตัวของกล้ามเนื้อเรียบจากอวัยวะต่างๆ และกลไกของการยับยั้งการหดตัวนี้เป็นแบบไม่เฉพาะเจาะจง
นอกจากนี้ยังมีรายงานการศึกษาวิจัยอื่นๆอีกเช่น สมุนไพรหนอนตายหยากสามารถยับยั้งการไอของสัตว์ทดลองได้ และมีฤทธิ์กระตุ้นประสาทส่วนกลางของระบบหายใจ ทำให้การหายใจได้ผลช้าลง
การศึกษาทางพิษวิทยา
การศึกษาความเป็นพิษเฉียบพลันของหนอนตายหยาก สารพันธุ์ S.curtisii Hook. F.HC ในหนูถีบจักร โดยการป้อนสารสกัดจากรากหนอนตายหยากขนาด 0.25-80 ก./กก. น้ำหนักตัว เป็นเวลา 14 วัน และขนาด 10 ก./กก. น้ำหนักตัว เป็นเวลา 30 วัน สำหรับทดสอบความเป็นพิษกึ่งเฉียบพลันของหนอนตายหยาก ไม่พบความเป็นพิษของสารสกัดหนอนตายหยาก
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
- รากหนอนตายหยากมีพิษ หากรับประทานเข้าไปโดยไม่ผ่านกระบวนการทำลายพิษก่อน จะทำให้มึนเมา และอาจถึงตายได้
- การจะนำหนอนตายหยากมาใช้ต้องปรึกษาผู้เชี่ยวชาญก่อนเสมอ เพราะ หนอนตายหยากมีหลายสายพันธุ์ ซึ่งมีบางสายพันธุ์เท่านั้นที่มีสรรพคุณทางยา
- ไม่ควรใช้หนอนตายหยากเป็นยาสมุนไพรในปริมาณที่มากและใช้เป็นเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อร่างกายในระยะยาวได้
- ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวและสตรีมีครรภ์ไม่ควรใช้หนอดตายหยาก เพราะอาจทำให้โรคที่เป็นอยู่กำเริบหรือมีผลต่อครรภ์ได้
เอกสารอ้างอิง
- มณฑา วงศ์มณีโรจน์.การเพิ่มประสิทธิภาคการชักนำรากหนอนตายหยาก (Stemona collinsae Craib) ในสภาพปลอดเชื้อและการนำต้นออกปลูกวารสารการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก.ปีที่6 ฉบับที่ 1.มกราคม-เมษายน 2551.หน้า 65-71
- ฌุฉัตรา วีระฉัตร.2528.ผลของสารสกัดหนอนตายหยาก (Stemona collinsae Craib) ต่อสัตว์น้ำบางชนิด.วิทยานิพนธ์ปริญญาโท สาขาสิ่งแวดล้อม บัณฑิตวิทยาลัยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 41 หน้า.
- กองวิจัยทางแพทย์.2527. สมุนไพรพื้นบ้านตอนที่1.กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์.กรุงเทพฯ131 หน้า
- Burkill I.H. 1935. Dictionary of the Economic Products of the Malay Peninsula. 2 vols., Oxford University Press, London. 2402 p.
- ประคอง พันธุ์อุไร.อุษาวดี ธำรง ผลชีวัน บุญล้วน พันธุมจินดา ทวีผล เดชาติวงศ์ ณ อยุธยา และสุวรรณา จารุนุช 2523.สารสกัดจากรากหนอนตายหยากเพื่อใช้ฆ่าเหา.กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์,กรุงเทพฯ.16หน้า.
- ผศ.ดร.ดริยาภรณ์ พงษ์รัตน์และคณะ .การศึกษาการผลิต และการขยายพันธุ์หนอนตายหยาก.รายงานการวิจัยคณะเกษตรศาสตร์และคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.
- การะเกด สายบรรดาศักดิ์ 2540 ฤทธิ์ของ 6- deoxyclitoriacetal จากรากหนอนตายหยากต่อกล้ามเนื้อเรียบ.วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต สาขาเภสัชวิทยา บัณฑิตวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.119 หน้า.
- นันทวัน บุณยะประภัสร.อรนุช โชคชัยเจริญพร.สมุนไพรไม้พื้นบ้าน (5) มหาวิทยาลัยมหิดล และศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ พ.ศ.2543.หน้า 118-22.
- บุณย์ธนิสร์ โอทกานนท์.2494.การศึกษาทางเภสัชวิทยาของหนอนตายหยาก.ในรายงานการวิจัยเพื่อปริญญาเภสัชศาสตร์บัณฑิต.คณะเภสัชศาสตร์,มหาวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์.8 หน้า.
- หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. (วิทยา บุญวรพัฒน์). “หนอนตายหยาก”. หน้า 608.
- วีเชียร กีรตินิจกาล.หนอนตายหยาก พลู.ศูนย์ความหลากหลายทางพันธุกรรมพืช.เอกสารประกอบการจัดนิทรรศการงานเกษตร ประจำปี 2548.มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จตุจักร กรุงเทพฯ.
- บุญชู ธรรมทัศนานนท์.ว่านรักษาโรค.คอลัมน์การรักษาพื้นบ้าน.นิตยสารหมดชาวบ้าน เล่มที่20.ธันวาคม2523.
- หนอนตายหยาก.ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage&pid=132
- รากของหนอนตายหยาก.กระดานถาม-ตอบ สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล (ออนไลน์).เข้าถึงได้จาก http://www.medplnt.mahidol.ac.th/user/reply.asp?id=5915