ชุมเห็ดไทย ประโยชน์ดีๆ สรพพคุณเด่นๆและข้อมูงานวิจัย

ชุมเห็ดไทย งานวิจัยและสรรพคุณ 32 ข้อ

ชื่อสมุนไพร ชุมเห็ดไทย
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น เล็บมื่นน้อย, ลับมือน้อย (ภาคเหนือ), ชุมเห็ดควาย, ชุมเห็ดนา, ชุมเห็ดเล็ก (ภาคกลาง), พรมดาน, พราดาน (สุโขทัย), หญ้าลึกลืน (ปราจีนบุรี), หน่อย, หน่าหน่อ, กิเกีย (กะเหรี่ยง), เจี๋ยหมิงจื่อ, เอียฮวยแซ, ก๊วกเม้ง (จีน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Senna tora (L.) Roxb. 
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Cassia tora Linn
ชื่อสามัญ Foetid cassia, Sickle senna
วงศ์ LEGUMINOSAE - CAESALPINIOIDEAE

ถิ่นกำเนิดชุมเห็ดไทย

ชุมเห็ดไทยเป็นพืชเขตร้อนมีถิ่นกำเนิดในอเมริกาใต้ และมีการแพร่กระจายพันธุ์ไปในเขตร้อนชื้นทั่วโลก แต่จะพบในเขตร้อนของเอเชีย และอเมริกาใต้มากกว่าในแอฟริกา สำหรับในประเทศไทยพบชุมเห็ดไทย ได้ทั่วทุกภาคของประเทศ โดยมักพบขึ้นเองตามริมคลองตามริมทาง หรือ ตามที่รกร้าง โดยสามารถพบได้ทั้งพื้นราบ หรือ บนภูเขาสูงที่สูงถึง 1500 เมตร จากระดับน้ำทะเล

ประโยชน์และสรรพคุณชุมเห็ดไทย

  1. ช่วยขับอุจจาระ เป็นยาระบายอ่อนๆ
  2. แก้รู้ถ่ายรู้ปิดเอง
  3. แก้ไอ
  4. รักษาโรคผิวหนัง
  5. บำรุงประสาท
  6. เป็นยาระงับประสาท
  7. แก้นอนไม่หลับ
  8. แก้กษัย
  9. แก้ตาแดง
  10. แก้ตามัว
  11. แก้ตับอักเสบ
  12. แก้ตับแข็ง
  13. บำรุงกำลัง
  14. ลดความดันเลือดชั่วคราว
  15. บำรุงหัวใจ ทำให้ชุ่มชื่น
  16. ช่วยทำให้หลับสบาย
  17. ขับปัสสาวะ
  18. ขับพยาธิในท้อง
  19. แก้ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่
  20. ขับน้ำเหลืองเสีย
  21. ขับพยาธิ
  22. ใช้ในเด็กที่มีอาการผิดปกติเกี่ยวกับลำไส้
  23. พอกโรคแก้เก๊าท์ (Gout)
  24. แก้ปวดสะโพก ปวดขา ปวดข้อ
  25. แก้โรคกลากเกลื้อน
  26. แก้เหิด
  27. แก้ผื่นคันต่างๆ
  28. แก้ฟกบวม
  29. แก้ตาฟาง
  30. ใช้ทำให้ตาสว่าง
  31. แก้เยื่อตาอักเสบอย่างเฉียบพลัน
  32. แก้เด็กเป็นตานขโมย


รูปแบบและขนาดวิธีใช้ชุมเห็ดไทย

  • ใช้ทำให้ง่วงนอน และนอนหลับได้ดี ใช้เมล็ดชุมเห็ดไทย คั่วให้ดำเกรียมเหมือนเมล็ดกาแฟ แล้วทำเป็นผง ชงน้ำร้อนอย่างปรุงกาแฟ ดื่มหอมชุ่มชื่นใจดี ไม่ทำให้หัวใจสั่น ให้คนไข้ดื่มต่างน้ำ
  • ใช้เป็นยาระบายอ่อนๆ ใช้ใบ หรือ ทั้งต้น ประมาณ 1 กำมือ 15-3 กรัม เมล็ด 1 หยิบมือ 5-10 กรัม ต้มกับน้ำ 1 ถ้วยแก้ว เติมกระวาน 2 ผล เพื่อกลบรสเหม็นเขียว และเกลือเล็กน้อย ดื่มก่อนอาหารเช้า หรือ เมล็ดแก่แห้ง คั่วจนเหลืองขนาด 10-13 กรัมต่อวัน (2-2.5 ช้อนคาว) ต้มเอาน้ำดื่ม
  • ขับปัสสาวะ ใช้เมล็ดแห้งคั่ววันละ 5-15 กรัม (1-3 ช้อนคาว) ต้มกับน้ำ 1 ลิตร ต้มให้เหลือ 600 มิลลิลิตร แบ่งรับประทานวันละ 3 เวลา หลังอาหาร
  • ตาฝ้ามัว (ที่ไม่ได้เกิดจากโรคติดเชื้ออื่นใด) ใช้เมล็ด 2 ถ้วยชา บดเป็นผงกินกับข้าวต้มเป็นประจำ ห้ามกินร่วมกับปลา ต้นหอม เนื้อหมู ซิงไฉ่ (ผักกาดนอ) (Rorippa Montana (Wall.) Small.)
  • ตาฟาง ใช้เมล็ดแห้ง 60 กรัม กับเมล็ดโคเชีย (Kochia scoparia (L.) Schrad.) แห้ง 30 กรัม บดเป็นผงกินหลังอาหารครั้งละ 3 กรัม
  • ใช้ทำให้ตาสว่าง ใช้เมล็ดแห้ง 1 ถ้วยชา มั่งเก๊กจี้ (Vitex rotundifolia L.) แห้ง 1 ถ้วยชา เหล้าอย่างดี 1 ถ้วยชา ต้มจนเหล้าแห้ง นำมาบดเป็นผง กินกับน้ำอุ่นครั้งละ 6 กรัม วันละ 4 ครั้ง หลังอาหารและก่อนนอน
  • แก้เยื่อตาอักเสบอย่างเฉียบพลัน ใช้เมล็ดแห้งชุมเห็ดไทย และเก๊กฮวย อย่างละ 10 กรัม มั่งเก๊กจี้ (Vitex rotundifolia L.) และบักชัก (Equisetum hiemale L.) อย่างละ 6 กรัม ต้มน้ำกิน
  • ลดความดันเลือด ใช้เมล็ดแห้ง 30 กรัม คั่วให้หอม ชงกินแทนน้ำชา
  • แก้เด็กเป็นตานขโมยใช้เมล็ดแห้ง 10 กรัม ตับไก่ 1 คู่ บดผสมเหล้าขาวเล็กน้อยปั้นเป็นก้อนนึ่งให้สุกกิน
  • แก้กลาก ใช้เมล็ดจำนวนพอสมควรบดเป็นผง ผสมจุยงิ่งฮุ่ง (Mercrous chloride, HgCI) จำนวนเล็กน้อยบดผสมให้เข้ากันดี ใช้สำลี หรือ ผ้าเช็ดถูกลากให้สะอาดแล้วโรยยาปิดไว้
  • แก้ไข้หวัดใหญ่ ไข้หวัด ใช้ใบ หรือ ทั้งต้น แห้ง 15-30 กรัม (สดเพิ่ม 1 เท่าตัว) ผสมชะเอม ต้มน้ำกิน
  • ส่วนขนาดของการปรุงยาในรูปแบบต่างๆ ดังต่อไปนี้ให้ใช้ในปริมาณที่กำหนด คือ ยาต้ม ใช้เมล็ดแห้ง 30 กรัม ต้มน้ำแบ่งกินเป็น 2 ครั้งต่อวัน ยาน้ำเชื่อม ใช้เมล็ดแห้งบดเป็นผงหนัก 45 กรัม ผสมน้ำเชื่อมให้ได้ปริมาณครบ 100 มล. กินครั้งละ 20 มล. วันละ 3 ครั้ง ยาเม็ด แต่ละเม็ดมีเมล็ดแห้งบดเป็นผงหนัก 2 กรัม กินครั้งละ 5 เม็ด วันละ 3 ครั้ง

ชุมเห็ดไทย

ชุมเห็ดไทย

ลักษณะทั่วไปของชุมเห็ดไทย

ชุมเห็ดไทย จัดเป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก มีอายุราว 1 ปี ต้นมีความสูงประมาณ 0.3-1.3 เมตร มีเส้นผ่านศูนย์กลางของลำต้นประมาณ 12.3-17.4 มิลลิเมตร ลำต้นเป็นสีเขียวอมสีน้ำตาลแดง ลำต้นแตกกิ่งก้านสาขามาก เป็นทรงพุ่ม ตามลำต้น และกิ่งก้านมีขนอ่อนปกคลุม ใบเป็นใบประกอบออกสลับกัน มีใบย่อย 3 คู่ บริเวณก้านใบร่วมระหว่างใบย่อยคู่ที่ 1 และคู่ที่ 2 มีตุ่มนูนขึ้นมา 1 ตุ่ม ย่อยลักษณะเป็นรูปไข่ ปลายป้าน ยาว 2-3 ซม. กว้าง 1.5-3 ซม. ปลายใบมนกลม ส่วนปลายสุดแหลมสั้น ฐานใบมนเอียงไปข้างหนึ่ง ขอบใบเรียบ ด้านหลังใบแทบไม่มีขน ท้องใบมีขนอ่อนนุ่ม ดอกสีเหลือง มักออกเป็นคู่จากง่ามใบ ก้านดอกร่วมในขณะ ที่ดอกบานเต็มที่ยาว 0.6-1 ซม. เส้นผ่าศูนย์กลางดอกยาวประมาณ 1.5 ซม. กลีบเลี้ยงมี 5 กลีบ ลักษณะรีผิวนอกมีขนอ่อน นุ่ม กลีบดอกมี 5 กลีบ สีเหลือง ปลายมนยาว 0.8-1.2 ซม. เกสรตัวผู้มี 10 อัน, 3 อัน ที่อยู่ด้านบนจะเสื่อมไป อีก 7 อัน ที่อยู่ รอบๆ จะเจริญเติบโตเต็มที่ รังไข่เป็นเส้นยาวงอโค้งเล็กน้อย มีขนสั้นๆ ปกคลุม ปลายก้านเกสรตัวเมียเป็นตุ่มสั้นๆ ฝักเป็นเส้นยาวโค้งเล็กน้อย แบนทั้ง 2 ด้าน ยาว 15-24 ซม. กว้าง 4-6 มม. ปกคลุมด้วยขนอ่อนนุ่มสั้นๆ มีเมล็ดจำนวนมาก (ประมาณ 20-30 เม็ด) เมล็ดทรงกระบอกแบนเล็กน้อย ปลายตัดทั้ง 2 ด้าน ปลายหนึ่งแหลมยาวกว่าอีกด้านหนึ่งผิวนอกเรียบเป็นมัน สีเขียวออกน้ำตาล กว้าง 2.5-3 มม. ยาว 5-8 มม.


การขยายพันธุ์ชุมเห็ดไทย

ชุมเห็ดไทย สามารถขยายพันธุ์ได้โดยการเพาะเมล็ด เช่นเดียวกับพืชที่มีเมล็ดอื่นๆ หลังจากการเพาะเมล็ดประมาณ 10-15 วัน เมล็ดจะเริ่มงอกเป็นต้นกล้า และเมื่อต้นกล้ามีอายุ 20-40 วัน ก็สามารถย้ายไปปลูกในแปลง หรือ ในบริเวณที่ต้องการได้ อาจจะใช้วิธีโรยเมล็ดแก่ของชุมเห็ดไทย ในบริเวณที่ต้องการแล้วปล่อยให้ขึ้นเองตามธรรมชาติก็ได้ เพราะชุมเห็ดไทย เป็นพืชโตเร็วที่ทนแล้งได้พอสมควร ชอบที่ที่มีแดดจัด และไม่ขอบในที่ร่ม สามารถขึ้นได้ดีในดินดีในดินทุกชนิดที่มีความชุ่มชื้น


องค์ประกอบทางเคมี
 

ในเมล็ดประกอบด้วยสารกลุ่ม anthraquinone glycoside เช่น emodin, aloe-emodin, chrysophanol, chrysophanic acid-9-anthrone, physicone, rhein, alaternin, cassiaside, rubrofusarin-gentiobioside aurantio-obtusin, obtusin 1-desmethylaurantio-obtusin, chryso-obtusin 1-desmethylchryso-obtusin น้ำมันจากเมล็ด พบ linoleic acid, oleic acid, palmitic acid, stearic acid ใบ พบ chrysophanic acid, emodin และ 1, 68, -trihydroxy-3 methl anthraquinone

รูปภาพองค์ประกอบทางเคมีของชุมเห็ดไทย

      โครงสร้างชุมเห็ดไทย

ที่มา : Wikipedie

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของชุมเห็ดไทย

           ฤทธิ์กระตุ้นการเคลื่อนไหวของลำไส้ สารสกัดใบชุมเห็ดไทยด้วยเมทานอลเมื่อนำมาทดสอบกับการบีบตัวของลำไส้เล็กพบว่า มีฤทธิ์กระตุ้นการบีบตัวของกล้ามเนื้อเรียบลำไส้เล็กส่วนปลาย (ileum) ของหนูตะเภา และลำไส้เล็กส่วนกลาง (jejunum) ของกระต่าย

           ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดอาการท้องเสีย สารสกัดใบ และเมล็ดชุมเห็ดไทย ด้วยไดเอทิลอีเทอร์ อะซิโตน เอทิลแอลกอฮอล์ และน้ำ เมื่อนำมาทดสอบฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย Escherichia coli, Bacillus subtilis พบว่าสารสกัดใบชุมเห็ดไทยไม่สามารถต้านเชื้อแบคทีเรียดังกล่าวได้ ในขณะที่สารสกัดเมล็ดชุมเห็ดไทยสามารถต้านเชื้อ B. Subtilis ได้ปานกลาง แต่ไม่มีผลต่อเชื้อ E. Coli (10) สารสกัดน้ำของใบชุมเห็ดไทยความเข้มข้น 200 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร เมื่อนำมาทดสอบฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย E. Coli พบว่ามีฤทธิ์ต้านเชื้อดังกล่าวได้เล็กน้อย เมื่อเทียบกับยาปฏิชีวนะ gentimicin 200 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร สารสกัดน้ำเมล็ดชุมเห็ดไทย เมื่อนำมาทดสอบกับเชื้อ E. coli ที่เป็นสาเหตุให้ลูกหมูท้องเสีย ในจานเพาะเลี้ยงเชื้อ พบว่าสามารถยับยั้งเชื้อดังกล่าวได้โดยใช้ความเข้มข้นมากกว่า 20.8 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร สาร quinizarin จากเมล็ดชุมเห็ดไทย ความเข้มข้น 1 มิลลิกรัม/แผ่น มีฤทธิ์ยับยั้งอย่างแรงต่อเชื้อแบคทีเรีย Clostridium perfringens ที่ทำให้เกิดอาการท้องเสียเนื่องจากอาหารเป็นพิษ แต่ไม่มีผลต่อเชื้อแบคทีเรีย Bifidobacterium adolescentis, B. bifidum, B. longum และ Lactobacillus casei ที่อยู่ในลำไส้ของคน 

           ฤทธิ์ต้านเชื้อรา สารสกัดหยาบของใบชุมเห็ดไทยด้วยเมทานอล เมื่อนำมาทดสอบฤทธิ์ต้านเชื้อรา 3 ชนิด ที่ก่อให้เกิดโรคผิวหนัง Microsporum gypseum, Trichophyton rubrum และ Penicillium marneffei พบว่าความเข้มข้นที่ยับยั้งการเจริญของเส้นใยราได้ 50% (IC50) เท่ากับ 1.8, 1.2, 1.8 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร ตามลำดับ และค่า IC50 ต่อการงอกของ macrocondia ของเชื้อ M. gypseum มีค่าเท่ากับ 4.1 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร ซึ่งจากการศึกษาด้วยกล้องจุลทรรศน์ชนิดส่องกราด พบว่าสารสกัดใบชุมเห็ดไทยทำให้เส้นใยรา และ macrocondia มีลักษณะผิดปกติ หดตัว และเหี่ยวย่น สารสกัดใบชุมเห็ดไทย ด้วย 90% เมทานอล ความเข้มข้น 100, 200, 300 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร พบว่าสารสกัดดังกล่าวสามารถต้านเชื้อรา T.mentagophytes ที่ทำให้เกิดโรคกลาก เกลื้อน โดยยับยั้งการสร้างสปอร์ของเชื้อดังกล่าวได้ เท่ากับ 68.40 ± 9.4, 73.90 ± 9.8, 88.50 ± 9.7 % เมื่อเทียบกับยามาตรฐาน griseofulvin 1,000 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร ที่สามารถยับยั้งการสร้างสปอร์ของเชื้อราได้ 87.55 ± 10.5 %  ซึ่งจะเห็นได้ว่าสารสกัดใบชุมเห็ดไทยที่ความเข้มข้น 300 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร ให้ผลดีที่สุด

           สารสกัดชุมเห็ดไทยด้วยคลอโรฟอร์ม ความเข้มข้น 100 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร สารแอนทราควิโนนกลัยโคไซด์ สามารถต้านเชื้อรา T. Mentagophytes, T.granulosum, T.rubrum และ M. gypseum ได้แต่ไม่มีผลต่อเชื้อ Epidermophyton floccosum 

           ฤทธิ์ต้านยีสต์ สารสกัดใบชุมเห็ดไทยด้วย 90% เมทานอล ความเข้มข้น 100, 200, 300 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร พบว่าสารสกัดดังกล่าวสามารถต้านยีสต์ Candida albicans ได้ เท่ากับ 78.23 ± 10.5, 87.52 ± 9.4, 95.30 ± 11.2 % เมื่อเทียบกับยามาตรฐาน griseofulvin 1,000 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร ที่สามารถยับยั้งการสร้างสปอร์ได้ 96.70 ± 8.9 % ซึ่งจะเห็นได้ว่าสารสกัดใบชุมเห็ดไทยที่ความเข้มข้น 300 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร ให้ผลดีที่สุด (15) แต่สารสกัดชุมเห็ดไทยด้วยคลอโรฟอร์ม ความเข้มข้น 100 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร ไม่สามารถต้านเชื้อ C. albicans ได้ 

           ฤทธิ์ลดความดันเลือด เมล็ดสกัดด้วยน้ำ หรือ แอลกอฮอล์ สารที่สกัดด้วยแอลกอฮอล์ มีฤทธิ์ลดความดันเลือดสุนัข แมว และกระต่าย ที่ทำให้สลบสารสกัดด้วยน้ำ มีฤทธิ์ลดความดันเลือดกระต่ายทดลองที่ทำให้สลบไม่เด่นชัดนัก ถ้าใช้ทิงเจอร์จากเมล็ดนี้ 5 มล.จะเห็นผลเด่นชัด และออกฤทธิ์ได้นานกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับการใช้สารสกัดด้วยแอลกกอฮอล์ 5 มล.ฉีดเข้าหลอดเลือดดำ ความดันเลือดจะลดลงเร็วกว่า แต่มีฤทธิ์สั้น ในเวลาไม่นานนักความดันเลือดก็จะกลับคืนสู่ระดับเดิม นอกจากนี้ยังทำให้หลอดเลือดของสัตว์ทดลองหดตัว และกดหัวใจคางคกที่แยกออกจากตัว ถ้าใช้เมล็ดจำนวนน้อย ( 2 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กก.) ต้มน้ำให้กินทุกวัน จะไม่มีผลลดความดันเลือด

           ในประเทศจีนมีการศึกษาทางคลินิกของชุมเห็ดไทย โดยใช้ลดความดันเลือด และระดับคลอเรสเตอรอลในเลือด จากคนไข้ 100 คน ก่อนการรักษามีระดับ sterol ในซีรั่มอยู่ระหว่าง 482-210 มก.% (เฉลี่ย 246.91 มก.%) หลังการรักษาระดับ sterol ในซีรั่มอยู่ระหว่าง 110-208 มก.% ( โดยเฉลี่ยระดับ sterol ลดลง 87.9 มก.%) คนไข้ส่วนใหญ่หลังจากใช้ยานี้แล้ว 2 อาทิตย์ จำนวน 85 % ของคนไข้มีความดันเลือดลดลงเป็นปกติ และหลังจากใช้ยานี้ต่อไปอีก 2 อาทิตย์ จำนวนคนไข้ที่มีความดันเลือดลดลงเป็นปกติเพิ่มขึ้น รวมทั้งหมดเป็น 96 % ของจำนวนคนไข้ หากใช้ยานี้เป็นประจำ สามารถลดความดันเลือดของคนไข้ลงสู่ระดับปกติได้ผลถึง 98% ของจำนวนคนไข้ จากการติดตามผลของคนไข้ที่ใช้ยานี้เป็นประจำ 5 ราย แต่มีเหตุต้องหยุดยา ระดับ sterol ในซีรั่มของถุงน้ำดีค่อยๆ เพิ่มขึ้น เมื่อให้กินยานี้ต่อไป ระดับ sterol ในซีรั่มของถุงน้ำดีจะลดลง แสดงว่ายานี้สามารถลดระดับ sterol ในซีรั่มของถุงน้ำดีเป็นการชั่วคราวเท่านั้น ถ้าจะให้สรุปผลของยานี้ให้แน่นอน ควรรักษาติดต่อไปนานกว่านี้ และอาการข้างเคียงที่ปรากฏคือ จำนวน 85 % ของคนไข้ หลังจากการกินยานี้แล้ว มีอาการวิงเวียน ปวดหัว และอ่อนเพลีย จำนวน 9 % ของคนไข้มีอาการท้องอืดแน่น ท้องเสีย และใจคอไม่สบาย แต่เมื่อใช้ต่อไปอาการต่างๆ ก็จะหายไปเอง สารสกัดเอทานอลจากเมล็ด ลดระดับ total cholesterol ได้ 42.07% และเพิ่มระดับ HDL ได้ 6.72% ลดระดับไตรกลีเซอไรด์ได้ 26.84% และลดระดับ LDL ได้ 69.25%


การศึกษาทางพิษวิทยาของชุมเห็ดไทย

การทดสอบความเป็นพิษ สารสกัดใบชุมเห็ดไทย ขนาด 10, 100, 1,000, 1,500 และ 2,000 มิลลิกรัม/กิโลกรัม เมื่อป้อน หรือ ฉีดเข้าทางช่องท้องหนูเม้าส์ ไม่พบอาการผิดปกติใดๆ ภายใน 24 ชั่วโมง เมื่อฉีดสารสกัดเมล็ดด้วยแอลกอฮอล์ 50% เข้าช่องท้องของหนูเม้าส์ พบว่ามีพิษสูงมาก เมื่อผสมสารสกัดจากเมล็ดแห้งในอาหารให้หนูกิน พบว่าทำให้น้ำหนักตัวลด ฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์  สารสกัดจากเมล็ดด้วยน้ำและเมทานอล (100 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร) ไม่มีผลต่อการก่อกลายพันธุ์ของ Bacillus subtilis และ S. typphimurium สาย TA 98 และTA 100


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

  1. สำหรับผู้ที่มีภาวะไตไม่ปกติ หรือ เป็นโรคที่เกี่ยวกับไตห้ามใช้ชุมเห็ดไทย สมุนไพรชนิดนี้
  2. ควรระมัดระวังการใช้ในเด็กสตรีตั้งครรภ์ และผู้ป่วยโรคลำไส้อักเสบ (inflammatory bowel diseases)
  3. สำหรับผู้ที่ธาตุอ่อน ท้องเสียได้ง่าย หรือ ผู้ที่กำลังมีอาการท้องเสีย ไม่ควรใช้ชุมเห็ดเทศ
  4. การใช้เมล็ดชุมเห็ดไทยเป็นยาในขนาดที่สูงเกินไปอาจทำให้ไตอักเสบ และทำให้ท้องเสียได้ 
  5. เมล็ดชุมเห็ดไทยที่จะนำมาทำยาก่อนต้องคั่วให้เกรียมก่อนเท่านั้น

 

เอกสารอ้างอิง ชุมเห็ดไทย
  1. ชุมเห็ดไทย. สมุนไพรที่ใช้ในงานสาธารณสุขมูลฐาน. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
  2. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. “ชุมเห็ดไทย (Chumhet Thai)”. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). หน้า 109.
  3.   Desai HB, Shukla PC. Note on chrysophanic acid in Cassia tora seeds and its removal by different treatments. Gujarat Agric Univ Res J 1978; 4(1): 60.
  4. พวงน้อย  โลหะขจรพันธ์. การศึกษาฤทธิ์การฆ่าเชื้อบักเตรีและเชื้อราของสมุนไพรบางชนิด. วิทยานิพนธ์ วิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต. กรุงเทพ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2521.  
  5. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีนที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. “ชุมเห็ดไทย”. (วิทยา บุญวรพัฒน์). หน้า 210.
  6. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. “ชุมเห็ดไทย”. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). หน้า 274-278.
  7. ภก.ชัยโย ชัยชาญทิพยุทธ. ชุมเห็ดไทย/ชุมเห็ดเทศ. คอลัมน์ สมุนไพรน่ารู้. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 26. กรกฏาคม 2524.
  8. ชุมเห็ดไทย.ฐานข้อมูลเครื่องยาคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก http://www.thaicrudrdrug.com/main.
  9. ชุมเห็ดไทย. กลุ่มยากล่อมประสาททำให้นอนหลับ. สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด.โครงการอนุรักษ์พันธุ์กรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมกุมารี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.rspg.or.th/plants_data/herbs/herbs_14_2.htm
  10. บัณฑิตย์ ลิมปนชัยพรกุล. คุณสมบัติของสมุนไพรบางชนิดที่มีผลต่อการเจริญของเชื้อราที่เป็นสาเหตุของโรคผิวหนัง. รวมบทคัดย่องานวิจัย การแพทย์แผนไทยและทิศทางการวิจัยในอนาคต, สถาบันการแพทย์แผนไทย, 2543. 
  11. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร. คู่มือสมุนไพร ประจำตู้ยา. กรุงเทพฯ: คณะเภสัชศาสตร์. มหาวิทยาลัยมหิดล, 2530. หน้า 70.
  12.   Lee H-S. Inhibitory effects of quinizarin isolated from Cassia tora seeds against human intestinal bacteria and aflatoxin B1 biotransformation. Journal of Microbiology and Biotechnology 2003;13(4):529-36. 
  13. Adamu HA, Abayeh OJ, Agho MO, Abdullahi AL, Uba A, Dukku HU, Wufem BM.  An ethnobotanical survey of Bauchi State herbal plants and their antimicrobial activity.  J Ethnopharmacol 2005;99:1-4. 
  14.  Ito K, Ota N. Effects of vegetable drugs on pathogenic fungi. I Effects of anthraquinone-glycoside containing crude drugs upon the growth of pathogenic fungi.  Bull Pharm Research Inst Japan 1951;(2):23-9. 
  15.   Chidume FC, Kwanashie HO, Adekeye JO, Wambebe C, Gamaniel KS.  Antinociceptive and smooth muscle contracting activities of the methanolic extract of Cassia tora leaf.  J Ethnopharmacol 2002;81:205-9. 
  16. Morimoto I, Watanabe F, Osawa T, Okitsu T, Kada T. Mutagenicity screening of crude drugs with Bacillus subtilis Rec-assay and Salmonella/ microsome reversion assay. Mutat Res 1982; 97: 81.
  17. Kanbutra P, Porntrakulpipat S, Borisutpeth P, et al.  Anti-bacterial activity of Thai medicinal plants on Escherichia coli (F18+). The 2nd International Conference on Medicinal Mushroom and The International Conference on Biodiversity and Bioactive Compounds, 17-19 July, Pattaya, Thailand, 2003.
  18. Niranjan GS, Katiyar SK. Chemical examination and biological evaluation of proteins isolated from some wild legumes. J Indian Chem Soc 1981; 58: 70.
  19. Kolatat T, Julkarat P. Effect of Cassia tora on kidney blood circulation. Siriraj Hosp Gaz 1973;25(3):434.
  20.   Mukherjee PK, Saha K, Saha BP, Pal M. Antifungal activities of leaf extract of Cassia tora Linn. (Fam. Leguminosae).  Phytother Res 1996;10(6):521-2.