เข็มแดง ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

เข็มแดง งานวิจัยและสรรพคุณ 17 ข้อ

ชื่อสมุนไพร เข็มแดง
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น เข็มดอกแดง, ดอกเข็มแดง (ทั่วไป), เข็มบ้าน, เข็มหนู (ภาคกลาง), เงาะ (สุราษฎร์ธานี), จะปูโล๊ะ, ตุโดบุโยบูเก๊ะ (มลายู)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Ixora coccinea Linn.
ชื่อสามัญ Flame flower
วงศ์ RUVIACEAE

ถิ่นกำเนิดเข็มแดง

เข็มแดง จัดเป็นพันธุ์ไม้ประจำถิ่นของไทยชนิดหนึ่ง โดยมีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในเขตร้อนของทวีปเอเชีย ได้แก่ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม กัมพูชา ลาว และพม่า รวมถึงในภูมิภาคเอเชียใต้ เช่น อินเดีย ศรีลังกา เนปาล บังคลเทศ และปากีสถาน เป็นต้น สำหรับในประเทศไทยสามารถพบเข็มแดง ได้ทั่วทุกภาคของประเทศ โดยมักนิยมนำมาปลูกเพื่อประดับตกแต่งในบ้านเรือน สวนสาธารณะ และตามสองข้างทาง


ประโยชน์และสรรพคุณเข็มแดง

  1. ช่วยเจริญอาหาร
  2. ช่วยบำรุงไฟธาตุ
  3. แก้โรคตาแฉะ
  4. รักษาตาพิการ
  5. แก้เสมหะ
  6. แก้กำเดา
  7. แก้อาการบวม
  8. ใช้เป็นยาฆ่าพยาธิ
  9. แก้โรคตาแดง
  10. แก้โรคริดสีดวงในจมูก
  11. แก้ท้องเสีย
  12. แก้บิด
  13. ช่วยฆ่าเชื้อ
  14. ช่วยขับน้ำย่อย
  15. เป็นยาสงบระงับ
  16. ช่วยบรรเทาอาการบวม
  17. ใช้บำรุงโลหิต

           เข็มแดง นิยมนำมาปลูกเพื่อประดับตามบ้านเรือน ทั้งการปลูกประดับอาคาร หรือ ปลูกประดับบริเวณรอบบ้าน โดยดอกเข็ม เมื่อออกดอกจะมีสีแดงเป็นช่อสวยงาม ตัดกับใบสีเขียวเข้มที่หนาทึบ มองดูสวยงาม นอกจากนี้ดอกเข็มยังเป็นดอกไม้มงคลในการทำพิธีไหว้ครู โดยมีความเชื่อว่า การใช้ดอกเข็มในพิธีไหว้ครูก็เพื่อจะได้เป็นนักปราชญ์ที่มีสติปัญญาฉลาดเฉียบแหลมคล้ายกับความแหลมของเข็ม

เข็มแดง

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

  • ใช้บำรุงไฟธาตุ ช่วยเจริญอาหาร รักษาตาพิการ แก้เสมหะ และกำเดา บรรเทาอาการบวม โดยนำรากมาต้มกับน้ำดื่ม 
  • ใช้ช่วยเจริญอาหารขับเสมหะ แก้บิด ท้องเสีย ขับน้ำย่อย ฆ่าเชื้อ แก้บวม
  • ใช้เป็นยาสงบระงับ โดยนำราก และดอกเข็มแดง มาต้มกับน้ำดื่ม
  • ใช้ฆ่าพยาธิโดยนำใบมาต้มกับน้ำดื่ม หรือ นำมาชงแบบชาก็ได้
  • ใช้บำรุงโลหิต โดยนำทั้งต้นมาตากแห้ง แล้วต้มกับน้ำดื่ม เช้า-เย็น


ลักษณะทั่วไปของเข็มแดง

เข็มแดง จัดเป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก หรือ ขนาดกลาง มีขนาดความสูง 30-50 เซนติเมตร แตกกิ่งก้านสาขาเป็นพุ่มทึบ ลำต้นเป็นเหลี่ยมมีสีน้ำตาลแกมเขียว

           ใบเข็มแดง เป็นใบเดี่ยวออกเรียงตรงข้าม หรือ เรียงรอบข้อกิ่ง ใบมีลักษณะเป็นรูปใบหอกแกมรูปแถบ กว้าง 0.7-2 เซนติเมตร ยาว 4.5-5 เซนติเมตร โคนใบสอบภายในเรียวแหลม ขอบใบจักฟันเลื่อยมีรยางค์แข็ง เนื้อใบมีสีเขียวเป็นมัน เนื้อใบแข็งและหนา ก้านใบสั้น

           ดอกเข็มแดง ออกเป็นช่อกระจุกรวมกันเป็นช่อใหญ่ บริเวณปลายยอดใน 1 ช่อดอกจะมีดอกย่อยสีแดง จำนวนมาก โดยดอกย่อยจะมีโคนกลีบดอกเชื่อมกันเป็นหลอดยาว ปลายหลอดแยกเป็น 4-6 กลีบ กลางดอกเกสรเพศตัวผู้สีเหลือง 4 อัน ติดอยู่ที่ด้านบน และอยู่สลับกับกลีบ ส่วนเกสรเพศเมียจะมี 2 แฉก ยื่นเลยหลอดดอกออกมา

           ผลเข็มแดง เป็นผลแห้ง รูปทรงกลม หรือ กระบอก ผลมีเนื้อนุ่ม ผลมีสีเขียว แต่เมื่อผลสุกจะเป็นสีดำด้านในผล เมล็ดขนาดเล็กรูปโค้ง 1 เมล็ด

เข็มแดง

เข็มแดง

การขยายพันธุ์เข็มแดง

เข็มแดง สามารถขยายพันธุ์ได้หลายวิธี อาทิเช่น การเพาะเมล็ด การปักชำ การตอนกิ่ง แต่วิธีที่เป็นที่นิยม คือ การปักชำและการตอนกิ่ง เพราะง่าย อีกทั้งสามารถได้ต้นพันธุ์ที่แข็งแรง และเจริญเติบโตได้รวดเร็ว สำหรับการปลูกสามารถทำได้ 2 ลักษณะ คือ

  1. การปลูกเข็มแดง ในแปลงเพื่อใช้ประดับบริเวณบ้าน และสวน โดยทำการขุดหลุมปลูก ในขนาด กว้างxยาวxลึก = 30x30x30 เซนติเมตร ใช้ปุ๋ยคอก หรือ ปุ๋ยหมัก ดินร่วม อัตรา 1:2 ผสมดินเพื่อปลูกต้นกล้า จากนั้นกลบดินรดน้ำให้ชุ่ม
  2. การปลูกในกระถางเพื่อประดับตามอาคารบ้านเรือน โดยในกระถางทรงสูงขนาด 8-12 นิ้ว จากนั้นใช้ปุ๋ยคอก หรือ ปุ๋ยหมัก แกลบผุและดินร่วนอัตรา 1:1:1 ผสมดินเพื่อทำการ ทั้งนี้ควรเปลี่ยนกระถาง และดินปีละครั้ง เพื่อเปลี่ยนดินปลูกใหม่ทดแทนดินปลูกเดิมที่เสื่อมสภาพไป และรองรับความเติบโตของต้นในแต่ละปี


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีของสารสกัดจากใบ ราก ส่วนเหนือดิน และน้ำมันหอมระเหยจากส่วนดอก ของเข็มแดง ระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญดังนี้ สารสกัดจากใบพบสาร β-sitosterol, lupeol และ D-mannitol สารสกัดจากรากพบสาร linoleic acid, oleicacid, palmitic acid, stearic acid, 9,11-octadecadienoic สารสกัดจากส่วนเหนือดินพบสาร lupeol, ursolic acid, sitosterol และ oleanolic acid นอกจากนี้ในน้ำมันหอมระเหยจากส่วนดอก ยังพบสาร lupeol, ursolic acid, oleanolic acid, Neryl acetate, Linalyl acetate, Borneol acetate, Terpineol acetate, Ethyl cinnamate, Cyperene,α-Copaene เป็นต้น

โครงสร้างเข็มแดง

การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของเข็มแดง

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของสารสกัดจากเมทานอล น้ำ และแอลกอฮอล์ ของเข็มแดงระบุว่า มีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาดังนี้

           ฤทธิ์ต่อต้านอนุมูลอิสระ ฤทธิ์ต่อต้านอนุมูลอิสระของสารสกัดเมทานอลของเข็มแดง ระบุว่า ในการทดสอบการกำจัดอนุมูลอิสระของ DPPH พบว่า ค่า IC50 ของสารสกัด คือ 100.53 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร ในขณะที่กรดแอสคอร์บิก มีค่า IC50 เท่ากับ 58.92 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร 

           ฤทธิ์ต้านการอักเสบ มีรายงานการศึกษาวิจัยฤทธิ์ต้านการอักเสบของสารสกัดน้ำจากใบเข็มแดง ในหนูทดลอง โดยทำให้เกิดอาการบวมน้ำที่อุ้งเท้า จากคาราจีแนน (แบบจำลองการอักเสบ แบบเฉียบพลัน) และเม็ดฝ้าย (แบบจำลองการอักเสบเรื้อรัง) จากนั้นป้อนสารสกัดดังกล่าวทางปากในขนาด 500, 1,000 และ 1,500 มก./กก. พบว่าการอักเสบทั้ง 2 แบบ ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ รวมถึงอาการบวมน้ำก็ลดลงเช่นกัน

           ฤทธิ์ต้านโรคหอบหืด มีรายงานการศึกษาวิจัย ฤทธิ์ต้านโรคหอบหืดของสารสกัดไฮโตรแอลกอฮอล์ของเข็มแดง ในหนูทดลองถูกชักนำให้เป็นโรคหอบหืดด้วยโอวัลบูมิน โดยให้สารสกัดในขนาด 1,000 และ 1,500 มก./กก. พบว่ามีฤทธิ์ยับยั้ง eosinophilia และยับยั้ง AHR ในหนูอย่างมีนัยสำคัญ และในการศึกษาทางจุลพยาธิวิทยาโดยใช้ hematoxylin และ eosin แสดงให้เห็นว่าสารสกัดดังกล่าว ช่วยลดการแทรกซึมของเซลล์อักเสบ และซ่อมแซมเซลล์เยื่อบุผิดที่เสียหายได้

           และยังมีรายงานผลการศึกษาวิจัยระบุว่าสารสกัดจากดอกเข็มแดง มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระร้อยละ 11.11+0.052 อีกด้วย นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า สารสกัดด้วยน้ำ และแอลกอฮอล์ของใบเข็ม และดอกเข็ม มีรายงานฤทธิ์ต้านการอักเสบ และช่วยรักษาแผลได้อีกด้วย


การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของเข็มแดง

ไม่มีข้อมูล


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

ในการใช้เข็มแดงเป็นสมุนไพรในการบำบัดรักษาโรคนั้น ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาด และปริมาณที่เหมาะสมที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในขนาดที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไปเพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้


เอกสารอ้างอิง เข็มแดง

  1. มูลนิธมหาวิทยาลัยมหิดล.(2548). สารานุกรมสมุนไพรเล่ม 5 สมุนไพร พื้นบ้านอีสาน. หน้า 105.
  2. ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม. เข็มแดง. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. หน้า 150.
  3. เข็มแดง. ศูนย์วิจัยความหลากหลายทางชีวภาพ เฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษาบรมราชินีนาถ. สถาบันวิจัย และพัฒนาชายแดนใต้ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา.
  4. ลิขิต ลาเต๊ะ,จีรวิชญ์ มุนินทรินพมาศ,สริลลา เจริญมิตรมงคล. การวิเคราะห์ปริมาณสารประกอบฟีนอนลิกทั้งหมด และฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของดอกไม้ 6 ชนิด และพัฒนาโลชั่นบำรุงผิว ผสมสารสกัดดอกหางนกยูง. วารสารวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี มรย. ปีที่ 8 ฉบับที่ 2. พฤษภาคม-สิงหาคม 2566. หน้า 38-46.
  5. Ambreen Ikram, Muhammad Ali Versiani, Shumaila Shamshad, Salman Khalid Ahmed, Syed Tahir Ali and Shaheen Faizi: Ixorene, a new Dammarane triterpene from the leaves of Ixora coccinea Rec. Nat. Prod. 2013; 7(4): 302-306.
  6. Elumalai A, Chinna Eswaraiah, Yetcharla Venkatesh, Burle Shiva Kumar and Chava Narendar: Phytochemical and pharmacological profile of Ixora coccinea International Journal of Pharmacy and Life Sciences 2012; 3(3):1563-1567.
  7. Ratnasooriya WD, Deraniyagala SA, Galhena G, Liyanage SSP, Bathige SDNK and Jayakody JRAC: Anti-inflammatory activity of the aqueous leaf extract of coccinea. Pharmaceutical Biology 2005; 43(2): 147-152.
  8. Reena Z; Sudhakaran NCR; Velayudha PP. Anti-inflammatory and anti-mitotic activities of lupeol isolated from the leaves of Ixora coccinea Linn. Indian Journal of Pharmaceutical Sciences (1994), 56(4), 129-32.,
  9. Consolacion Y Ragasaa, Floren Tiua and John A. Rideoutb: New Cycloartenol esters from coccinea. Natural Product Research 2004; 18(4): 319–323.
  10. Maneechai, S. & Rinthong, P. (2017). Total phenolic contents and antioxidant activity from ethanolic Bauhinia Purpurea, Clitoria Ternatea, Ixora Coccinea and Calliandra Haematocephala flower extracts. Journal of Science and Technology Mahasarakham University, 36(2), 148-153.
  11. Baliga MS and Kurian PJ: Ixora coccinea: traditional uses, phytochemistry and pharmacology. Chin J Integr Med. 2012; 18(1): 72-79.
  12. Bhattacharya A; Kar DR; Sengupta A; Ghosh G; Mishra SK. Evaluation of antiinflammatory and analgesic activity of Ixora coccinea flower extract. Asian Journal of Chemistry (2011), 23(10), 4369-4372.)
  13. Missebukpo A, Metwogo K, Agobon A, Eklu Gadegbeku K, Akilikoku K and Gbeassor M: Evaluation of anti-asthmatic activity of Ixora coccinea. Journal of pharmacology and toxicology 2011; 6(6): 559-570.
  14. Wickramasinghe R; Kumara RR; Handunnetti S; De Silva EDilip; Ratnasooriya WD. Inhibition of phagocytic and intracellular killing activity of human neutrophils by aqueous and methanolic leaf extracts of Ixora coccinea. Journal of ethnopharmacology 2014; 153(3): 900-7.,
  15. Gloria Ukalina Obuzor, Gibson Uchenna Nwakanma: Chemical Composition of Essential Oil of Ixora coccinea flower from Port Harcourt, Nigeria. International Journal of Academic Research 2011; 3(2): 381.
  16. Moni Rani Saha, Md. Ashraful Alam, Raushanara Akter and Rumana Jahangir: In-vitro free radical scavenging activity of Ixora coccinea Bangladesh J Pharmacol. 2009; 3: 90-96.