โพทะเล ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

โพทะเล งานวิจัยและสรรพคุณ 10 ข้อ

ชื่อสมุนไพร โพทะเล
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ปอหมัดไซ (เพชรบุรี), ปอกะหมัดไพ (ราชบุรี), บากู, บารู, เบอบารู (ภาคใต้, มลายู)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Thespesia populnea (Linn.) Soland ex Correa.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Hibiscus populneus Linn.
ชื่อสามัญ Indian tuliptree, Portia tree, Pacific rosewood, Cork tree, Coast cotton tree
วงศ์ MALVACEAE


ถิ่นกำเนิดโพทะเล

โพทะเล จัดเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในชายฝั่งทะเลในหมู่เกาะแปซิฟิก โดยมีเขตการกระจายพันธุ์โพทะเล ในบริเวณชายฝั่งทะเลของทวีปแอฟริกา และเอเชีย เช่นใน อินเดีย ศรีลังกา เวียดนาม กัมพูชา จีน ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ไต้หวัด และญี่ปุ่นเป็นต้น


ประโยชน์และสรรพคุณโพทะเล

  1. ใช้เป็นยาระบาย
  2. ใช้ใส่แผลเรื้อรัง
  3. ใช้หยอดหูรักษาอาการเจ็บหู
  4. ใช้เป็นยาทำให้อาเจียน
  5. ใช้ล้างแผล
  6. ใช้รักษาโรคที่เกี่ยวกับทางเดินอาหาร
  7. เป็นยาบำรุงร่างกาย
  8. รักษาอาการไข้
  9. ช่วยขับปัสสาวะ
  10. แก้หิด

           มีการนำส่วนต่างๆ ของโพทะเล มาใช้ประโยชน์ หลายประการอาทิเช่น

  • ดอก และใบอ่อนโพทะเล สามารถนำมารับประทานเป็นผักจิ้มน้ำพริกได้ อีกทั้งในปัจจุบันยังมีนิยมนำโพทะเล มาใช้ปลูกเป็นไม้ประดับ และให้ร่มเงา เนื่องจากมีดอกที่สวยงาม และยังเป็นไม้โตเร็วอีกด้วย 
  • เนื้อไม้ มีสีน้ำตาลอมแดงจนถึงน้ำตาลดำมีคุณสมบัติเหนียว แข็งแรง คงทน สามารถทนปลวด ไส้ตกแต่ง และขัดชักเงาได้เป็นอย่างดี สามารถนำมาเนื้อไม้โพทะเลใช้ทำเป็นเครื่องเรือนเฟอร์นิเจอร์ เครื่องดนตรี หรือ ใช้ทำกระดาน หรือ นำมากลึง ใช้ทำด้ามเครื่องมือ เครื่องใช้ต่างๆ ได้

โพทะเล
โพทะเล

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

  • ใช้บำรุงร่างกาย ขับปัสสาวะ และเป็นยาระบาย โดยนำรากโพทะเลมาต้มกับน้ำดื่ม
  • ใช้เป็นยาทำให้อาเจียน โดยนำเปลือกต้นโพทะเลมาต้มกับน้ำดื่ม 
  • ใช้รักษาโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินอาหาร โดยนำเปลือกต้นโพทะเล มาแช่น้ำจะได้เมือกนำมาล้างแล้วใช้ดื่ม
  • ใช้รักษาอาการเจ็บหู โดยใช้ดอกโพทะเลสด 2-3 ดอก มาต้มกับน้ำนมครึ่งถ้วยตวง แล้วนำมาหยอดหู
  • ใช้ใส่รักษาแผลเรื้อรัง แผลสด ช่วยทำให้แผลหายเร็วยิ่งขึ้น ด้วยการใช้ใบโพทะเล แห้ง 2-3 ใบ มาบดให้เป็นผลละเอียดแล้วนำมาพอก และทาบริเวณที่เป็น
  • ใช้แก้หิด โดยนำผลและใบสดมาตำพอกบริเวณที่เป็น


ลักษณะทั่วไปของโพทะเล

โพทะเล จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก หรือ ไม้พุ่มในวงศ์ธนามีความสูงของต้น 8-12 เมตร มีทรงพุ่มบริเวณยอดแผ่กว้าง และค่อนข้างหนาทีบ ลำต้นโค้ง เปลือกลำต้นมีลักษณะเรียบ หรือ ขรุขระเล็กน้อย เป็นสีเทาอ่อนหรือสีน้ำตาล มีรอยแตกตามยาวเป็นร่องลึก แต่กิ่งในระดับต่ำ

           ใบโพทะเล เป็นใบเดี่ยวออกแบบเรียงสลับบริเวณกิ่งก้าน และปลายยอด มีลักษณะของใบคล้ายรูปหัวใจ มีขนาดกว้าง 5-10 เซนติเมตร และยาว 8-15 เซนติเมตร ฐานใบเว้าลึกปลายใบแหลมยาวเรียวแหลม ขอบใบเรียบผิวใบด้านบนมีสีเขียวเข้มเกลี้ยง และเป็นมัน ส่วนท้องใบเป็นสีเทาแกมสีน้ำ และมีเกล็ดเล็กๆ สามารถมองเห็นได้ ผิวใบบาง มีเส้นใบออกจากโคนของใบประมาณ 5-7 เส้น บริเวณหูใบมีลักษณะเป็นรูปใบหอกยาวประมาณ 0.3-1 เซนติเมตร ส่วนก้านใบมีความยาวประมาณ 16 เซนติเมตร

           ดอกโพทะเล เป็นดอกเดี่ยว หรือ ดอกคู่มักออกบริเวณซอบใบ หรือ ตามง่ามใบ กลีบเลี้ยงเป็นรูปถ้วย ลักษณะคล้ายแผ่นหนัง มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1.1-1.5 เซนติเมตร ส่วนกลีบดอกลักษณะเป็นรูปไข่สีเหลืองนวล กว้าง 6 เซนติเมตร และยาวประมาณ 6 เซนติเมตร โคนกลีบติดกันเป็นรูประฆัง และมีจุดสีแดง อมสีน้ำตาลแต้มอยู่ที่โคนกลีบดอกด้านใน ซึ่งดอกเมื่อบานเต็มที่แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีชมพูแกมม่วงอ่อน และจะเหี่ยวอยู่บนต้น ก่อนที่จะร่วงหล่นในวันต่อไป บริเวณกลางดอกจะมีหลอดเกสรตัวผู้ยาวประมาณ 2 เซนติเมตร เป็นสีเหลืองจางๆ และจะมีอับเรณูติดอยู่ตลอดตามความยาวของหลอด

           ผลโพทะเล เป็นผลแห้งมีลักษณะค่อนข้างกลม โดยขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางจะอยู่ที่ประมาณ 2-3 เซนติเมตร ผิวผลเป็นสันตื้นๆ 5 สัน และจะมีน้ำยางสีเหลือง แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองเปลือกผลแข็ง มีวงกลีบเลี้ยงลักษณะคล้ายจานติดอยู่ที่ขั้นผล ก้านยาวประมาณ 2-8 เซนติเมตร ผลอ่อนเป็นสีเขียวอ่อน ส่วนผลแก่เป็นสีเขียวเข้ม และจะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง เมื่อผลแก่จะแห้งแตก ออกเป็น 5 แฉก และจะติดอยู่บนต้น ด้านในผลมีเมล็ดอยู่หลายเมล็ด ลักษณะของเมล็ดจะแบนยาวรีประมาณ 0.8-1.5 เซนติเมตร เป็นสีน้ำตาลอ่อน

โพทะเล
โพทะเล

การขยายพันธุ์โพทะเล

โพทะเล สามารถขยายพันธุ์ได้โดยวีการเพาะเมล็ด แต่ทั้งนี้การขยายพันธุ์โพทะเลในปัจจุบันจะเป็นการขยายพันธุ์โดยธรรมชาติมากกว่าการขยายพันธุ์โดยมนุษย์ เนื่องจากโพทะเล เป็นพืชที่เจริญเติบโตได้ดีบริเวณชายฝั่งทะเลเท่านั้น อีกทั้งยางจากต้น และเปลือกยังมีความเป็นพิษจึงไม่ค่อยนิยมนำมาปลูก สำหรับวิธีการเพาะเมล็ด และการปลูกโพทะเลนั้นสามารถทำได้เช่นเดียวกันกับไม้ยืนต้น หรือ ไม้พุ่มชนิดอื่นๆ ในวงศ์ชบา ซึ่งได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมีของสารสกัดจากส่วนต่างๆ ของโพทะเล ระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิดอาทิเช่น สารในกลุ่ม cadinene sesquiterpene ได้แก่ Thespesone, 7-Hydroxycadalene, Mansonone D, Mansonone C, Mansonone G, Mansonone F, Dehydrooxoperizinone-6- methyl ether, Gossypol, Thespesenone และ 7-Hydroxy-2,3,5,6-tetrahydro3,6,9-trimethyl-naphtho[1,8-b,c] pyran-4,8-dione เป็นต้น

โครงสร้างโพทะเล

การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของโพทะเล

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของสารสกัดโพทะเล จากส่วนต่างๆ ของโพทะเลพบว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาหลายประการอาทิเช่น

           ฤทธิ์แก้ปวดอักเสบ และแก้ไข้ มีรายงานการศึกษาวิจัย โดยการทดสอบฤทธิ์แก้ปวดอักเสบ และแก้ไข้ของสารสกัดปิโตเลียมอีเทอร์ (TPO) สารสกัดเอทานอล (TPE) สาร unsaponifiable matter (TPOUM) จากเมล็ดโพทะเล และทำการแยกสารสกัดเอทานอลด้วยการกลั่นแยกลำดับส่วนด้วยคลอโรฟอร์ม, เอทิลอะซีเตท, n-BuOH และน้ำ (fraction 1, 2, 3 และ 4 ตามลำดับ) จากนั้นจึงนำไปทดสอบในหนูแรทที่มีอาการอักเสบ บริเวณอุ้งเท้าจากการกระตุ้นด้วย carrageenan พบว่า TPO, TPE ขนาด 200 และ 400 มก./กก. รวมทั้ง TPOUM และทุก fractions ในขนาด 200 มก./กก. ออกฤทธิ์ต้านการอักเสบได้ดี โดยมีผลลดอาการบวมอย่างมีนัยสำคัญ ส่วนการทดสอบฤทธิ์แก้ไข้ในหนูแรท พบว่า TPO, TPE และ fractions ออกฤทธิ์ลดอุณหภูมิร่างกายได้ตั้งแต่ 1 ชั่วโมงแรกหลังได้รับสารสกัด และคงประสิทธิภาพต่อเนื่องนาน 5 ชั่วโมง ในขณะที่ TPOUM ไม่มีผลลดอุณหภูมิร่างกายของสัตว์ทดลอง นอกจากนี้ยังแสดงฤทธิ์บรรเทาปวด เมื่อทดสอบโดยวิธี tail immersion (จุ่มหางลงในน้ำร้อน) โดยสารสกัดทุกชนิดมีผลทำให้หนูทนต่อระยะเวลาที่หางจุ่มอยู่ในน้ำร้อนได้นานขึ้น เมื่อวิเคราะห์ปริมาณสารสำคัญด้วยวิธี GC-MS พบว่าในน้ำมันจากเมล็ดโพทะเลประกอบด้วยกรดไขมันกว่า 14 ชนิด ซึ่งกลุ่มที่พบมาก คือ palmitic และ stearic acid จากการทดลองนี้จะเห็นได้ว่าสารสกัดจากเมล็ดโพทะเลออกฤทธิ์ต้านการอักเสบ แก้ปวด และแก้ไข้ได้ดี โดยสารสกัดเอทานอลของเมล็ดโพทะเลออกฤทธิ์ได้ดีที่สุด พบว่า ผลโพทะเล (Thespesia populnea (Linn.) Soland. Ex Correa) มีส่วนช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น 79.17% ใน 8 วัน และช่วยในการลดขนาดแผลเป็นลง 32.81% อีกทั้งยังมีการศึกษาถึงฤทธิ์ยับยั้งแบคทีเรียก่อโรคที่ผิวหนัง ได้แก่ Staphylococcus aureus และ Streptococcus pyogenes ของสารสกัดจากใบโพทะเล ซึ่งได้ทำการทดลอง โดยนำใบโพทะเล 300 กรัม มาแช่ในตัวทำละลาย เฮกเซน อะซิโตน เมทานอล และน้ำตามลำดับ จากนั้นนำไประเหยแห้ง และเอาตัวทำละลายออก นำส่วนสกัดหยาบของใบโพทะเล ทั้งหมดมาทดสอบสมบัติการยับยั้งแบคทีเรียที่ก่อโรคบริเวณผิวหนัง คือ Staphylococcus aureus และ Streptococcus pyogenes โดยใช้วิธี Broth dilution susceptibility test (2-fold dilution) พบว่าส่วนสกัดหยาบอะซิโทนสามารถยับยั้งเชื้อแบคทีเรียทั้งสองชนิดได้ดีที่สุดโดยมีค่า Minimum Inhibitory Concentration (MIC) และค่า Minimum Bactericidal Concentration (MBC) มีค่าเท่ากับ 3.2 และ 6.4 mg/mL ตามลำดับ  

           ส่วนอีกการศึกษาวิจัยหนึ่ง ระบุว่ามีผลการทดสอบฤทธิ์การต้านเชื้อแบคทีเรีย (Antibacterial activity) พบว่าสาร 7-hydroxycadalene ที่พบในโพทะเล มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียจำเพาะกับ B. substilis (0.59 μg/ml) ส่วนสาร-gossypol มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียจำเพาะกับแบคทีเรียแกรมบวกทั้ง B. substilis (1.1 μg/ml) และ S. aureus (1.1 μg/ml)

           ส่วน Populene C, Populene D, Mansonone D, และ Mansonone E ออกฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียจําเพาะกับ B. substilis ที่ค่า 4.69 μg/ml, 4.69 μg/ml, 2.34 μg/ml และ 4.69 μg/ml ตามลำดับ

           นอกจากนี้ยังมีผลการทดสอบฤทธิ์การยับยั้งเซลล์มะเร็ง (Cytotoxicity) ของสารสกัดที่ได้จากส่วนต่างๆ ของโพทะเล พบว่าสาร -gossypol มีฤทธิ์การยับยั้งเซลล์มะเร็งได้ดีมากทั้งเซลล์มะเร็งปากมดลูก (0.08 μg/ml) และเซลล์มะเร็งช่องปาก KB (0.04 μg/ml) ส่วนสาร Mansonone E ออกฤทธิ์การยับยั้งเซลลมะเร็งได้ดีในช่วงกว้างทั้งเซลล์มะเร็งเต้านม (0.05 μg/ml) เซลล์มะเร็งปากมดลูก (0.55 μg/ml) เซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่ (0.18 μg/ml) และเซลล์มะเร็งช่องปาก (0.40 μg/ml) Populene D ออกฤทธิ์การยับยั้งเซลล์มะเร็งเฉพาะ เซลล์มมะเร็งปากมดลูก (0.95 μg/ml) และสาร Mansonone D ออกฤทธิ์การยับยั้งเซลล์มะเร็งเต้านม (0.95 μg/ml)


การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของโพทะเล

ไม่มีข้อมูล


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

สำหรับการใช้โพทะเลเป็นสุมนไพรสำหรับรักษาโรคนั้นควรใช้โดยผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น เนื่องจากมีรายงานว่า ยางจากต้นและเปลือกของโพทะเล มีความเป็นพิษและมีฤทธิ์ระคายเคือง หากเข้าตาทำให้ตาบอดได้ และส่วนเปลือกต้นก็มีฤทธิ์ทำให้อาเจียน นอกจากนี้น้ำมันที่ได้จากเมล็ดหากเข้าตาก็อาจทำให้ตาบอดได้ ดังนั้นควรระมัดระวังในการใช้โพทะเลให้มาก


เอกสารอ้างอิง โพทะเล
  1. จักกริช พวงแก้ว, สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิช, วิภาพรรณ นาคแพน. นักสืบชายหาด. พืชและสัตว์ชายหาด. กทม. เศรษฐศิลป์. 2552
  2. เศรษฐมนตร์ กาญจนกุล. ไม้มีพิษ. กทม. เศรษฐศิลป์. 2552.
  3. สุชาดา จันทร์พรหมมา และคณะ. การหาองค์ประกอบางเคมีและการค้นหา สารออกฤทธิ์ทางชีวภาพจากต้นติ้วขน ต้นกำจาย และต้นโพทะเล. รายงานการวิจัยฉบับสมบูรณ์. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย. กันยายน 2553. 137 หน้า
  4. ฤทธิ์แก้ปวดอักเสบและแก้ไข้ของเมล็ดโพทะเล. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  5. Boonsri, S., Karalai, C., Ponglimanont, C., Kanjana-Opas, A., Chantrapromma, K. Phytochemistry 2006, 67, 723-727.
  6. Datta, S. C., Murti, V. V. S., Seshadri, T. R. Indian Journal of Chemistry 1972, 10, 263-266.
  7. Skehan, P., Storeng, R., Scudiero, D., Monks, A., McMahon, J., Vistica, D., Warren, J. T., Bokesch, H., Kenney, S., Boyd, M. R. J. Natl. Cancer Inst. 1990, 82, 1107-1112.
  8. Kim, J.-P., Kim, W.-G., Koshino, H., Jung, J., Yoo, I.-D. Phytochemistry 1996, 43, 425-430.
  9. Milbrodt, M., Konig, W. A., Hausen, B. M. Phytochemistry 1997, 45, 1523-1525.