ผักเบี้ยใหญ่ ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย
ผักเบี้ยใหญ่ งานวิจัยและสรรพคุณ 19ข้อ
ชื่อสมุนไพร ผักเบี้ยใหญ่
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ผักเบี้ยดอกเหลือง (ภาคกลาง) , ผักกาโค้ง (โคราช) , ผักตะก้ง , ผักตาโก้ง (อุบลราชธานี),ผักอีหลู (ไทยใหญ่) , ตือบ้อฉ่าย , แบขี่เกี่ยง (จีน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Portulaca oleracea Linn.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Portulaca consanguinea Schltdl, Portulaca fosbergii Poelln.
ชื่อสามัญ Purslane, Pigweed purslane
วงศ์ PORTULACACEAE
ถิ่นกำเนิดผักเบี้ยใหญ่
ผักเบี้ยใหญ่เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในเขตร้อนของเอเชียใต้บริเวณประเทศอินเดียแล้วต่อมาได้มีการแพร่กระจายพันธุ์ไปยังบริเวณเขตร้อนใกล้เคียง เช่นใน บังคลาเทศ ศรีลังกา พม่า ไทย ลาว กัมพูชา มาเลเซีย ฯลฯ สำหรับในประเทศไทย ผักเบี้ยใหญ่ถูกจัดให้เป็นวัชพืชที่มักพบในนาข้าวและแปลงผักต่างๆ เช่น คื่นช่าย หอมหัวใหญ่ มันฝรั่ง มะเขือเทศ เป็นต้น และยังสามารถพบได้ตามบริเวณถนนหนทางต่างๆอีกด้วย
นอกจากนี้ผักเบี้ยใหญ่ยังสามารถพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศบริเวณดินที่ชื่นแฉะ หรือบนฝั่งริมน้ำ และในแปลงเกษตรทั่วไป
ประโยชน์และสรรพคุณผักเบี้ยใหญ่
- ใช้แก้ร้อน ดับพิษ
- แก้เลือดออกตามไรฟัน
- ช่วยฟอกโลหิต
- แก้หอบหืด
- แก้บิดถ่ายเป็นเลือด
- แก้ปวดฟัน
- แก้ปวดหู
- แก้ไอ
- รักษาหนองในแผลบวมอักเสบ
- แก้ฝีประคำร้อย
- แก้ปัสสาวะขัด
- ช่วยหล่อลื่นลำไส้
- แก้ท้องร่วง
- แก้ริดสีดวงทวารแตกเลือดออก
- แก้เบาหวาน
- แก้แมลงสัตว์กัดต่อย
- แก้ไฟลามทุ่ง
- รักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก
- ช่วยบำรุงผิวพรรณ
ลักษณะทั่วไปผักเบี้ยใหญ่
ผักเบี้ยใหญ่จัดเป็นพืชล้มลุกอวบน้ำ ลำต้นเตี้ยแผ่ไปตามพื้นดินประมาณ 30 เซนติเมตร หรืออาจชูตั้งขึ้นสูงประมาณ 5-10 เซนติเมตร ลำต้นมีลักษณะอวบน้ำมีสีเขียวอมม่วง หรือม่วงอมแดง ลำต้นและก้านกลมเรียบไม่มีขน ใบเป็นแบบใบเดี่ยวออกตรงข้ามกัน โดยจะออกตามข้อของลำต้นและกิ่ง รูปร่างของใบคล้ายลิ้น หลังใบมีสีเขียวแก่ ส่วนท้องใบมีสีแดงเข้ม ก้านใบสั้น ใบหนาผิวเรียบเป็นมัน กว้าง 5-15 ม.ม. ยาว 1-3 ซ.ม. ปลายใบมนมีรอยเว้าเข้าเล็กน้อย ฐานใบเรียวเล็กลงจนไปติดกับลำต้น ดอกออกเป็นดอกเดี่ยวตามยอดดอกมี ขนาดเล็ก สีเหลืองสด มักออกเป็นกลุ่ม 3-5 ดอก ส่วนกลีบเลี้ยงมี 4-5 กลีบ เป็นรูปสามเหลี่ยมขนาดเล็กช้อนกันเป็นคู่ๆ กลีบดอกมี 5 กลีบ เป็นสีเหลืองสด ซึ่งแต่ละกลีบเป็นรูปหัวใจคว่ำ ลงที่ปลายกลีบ ตรงโคนดอกมีขนหรือเยื่อบางๆหุ้มอยู่ โดยดอกจะเป็นแบบ 2 เพศ อยู่ในดอกเดียวกัน เกสรตัวผู้มี 8-12 อัน รังไข่มี 1 ห้อง ปลายแยกออกเป็นเส้นบางๆ 4-6 เส้น ผลเป็นรูปทรงกลมหรือรี มีสีน้ำตาลเมื่อผลแก่จะแตกตรงกลางออกเป็น 2 ซีก เมล็ดเป็นทรงกลมมีสีเทาดำ มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 0.5 มม. โดยใน 1 ผลมีเมล็ดจำนวนมาก
การขยายพันธุ์ผักเบี้ยใหญ่
ผักเบี้ยใหญ่สามารถขยายพันธุ์ได้โดยการใช้เมล็ด และโดยส่วนมากแล้วการขยายพันธุ์ผักเบี้ยใหญ่จะเป็นการขยายพันธุ์โดยธรรมชาติมากกว่าการถูกนำมาเพาะปลูกโดยมนุษย์ เนื่องจากเมล็ดของผักเบี้ยใหญ่มีความทนทานต่อสภาพความแห้งแล้งได้ดี มีอัตราการงอกสูง จึงสามารถขยายพันธุ์ได้รวดเร็วเป็นวงกว้าง จนมีการจัดให้ผักเบี้ยใหญ่เป็นวัชพืชทางการเกษตรชนิดหนึ่ง
องค์ประกอบทางเคมี
มีการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมีของทุกส่วนของผักเบี้ยใหญ่พบว่ามีสารสำคัญที่น่าสนใจหลายชนิด เช่น dopamine, dopa,noradrenaline , Oxalic acid , amyrin, alanine, lauric acid, serine, quercetin, sitosterol , campesterol และ Tocopherol เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีการนำมายอดอ่อนของผักเบี้ยใหญ่ไปรับประทานเป็นอาหารซึ่งจะให้คุณค่าทางโภชนาการดังนี้
คุณค่าทางโภชนาการยอดอ่อนผักเบี้ยใหญ่ (100 กรัม)
- พลังงาน 37 กิโลแคลอรี
- โปรตีน 2.2 กรัม
- ไขมัน 0.3 กรัม
- คอเลสเตอรอล 7.9 กรัม
- แคลเซียม 115 มิลลิกรัม
- ฟอสฟอรัส 40 มิลลิกรัม
- เหล็ก 1.4 มิลลิกรัม
- วิตามินเอ 2,200 หน่วยสากล
- วิตามินB 1 0.06 มิลลิกรัม
- วิตามินB 2 0.14 มิลลิกรัม
- วิตามินB 3 0.8 มิลลิกรัม
- วิตามินC 21 มิลลิกรัม
ที่มา : Wikipedia
รูปแบบและขนาดวิธีใช้
- แก้บิดถ่ายเป็นเลือด ใช้ต้นสด 550 กรัม ล้างสะอาดเอาไปนึ่ง 3-4 นาที แล้วตำคั้นเอาน้ำมาประมาณ 150 ซี.ซี. ให้กินครั้งละ 50 ซี.ซี. วันละ 3 ครั้ง
- แก้หนองในปัสสาวะขัด ใช้ต้นสดคั้นเอาน้ำดื่ม
- แก้ไอกรน โดยใช้ต้นสด 250 กรัม ใส่น้ำ 1.5 ลิตร แล้วต้มให้เหลือ 100 ซีซี แล้วแบ่งกินวันละ 4 ครั้ง เป็นเวลา 3 วัน
- แก้หวัด แก้ไอ เลือดออกตามไรฟัน นำส่วนเหนือดิน 1 กำมือ ล้างน้ำให้สะอาด โขลกคั้นเอาน้ำ กรองเอากากทิ้งผสมน้ำผึ้งลงไป 1 ช้อนโต๊ะ จิบกินแก้หวัด ระงับอาการไอ
- แก้ท้องร่วง ใช้ต้นสด 250-500 กรัม ต้มน้ำใส่น้ำตาลพอประมาณให้กินเรื่อยๆ จนหมดใน 1 วัน กินติดต่อกัน 2-3 วัน หรืออาจใช้ต้นสดล้างสะอาดผิงไฟให้แห้งบดเป็นผงกินครั้ง 3 กรัม กับน้ำอุ่น วันละ 3 ครั้งก็ได้
- ใช้ฟอกโลหิต แก้หอบหืด แก้ปวดหู แก้หนองใน ปัสสาวะขัด แก้เบาหวาน ใช้หล่อลื่นลำไส้ โดยใช้ต้นแห้ง 10-15 กรัม หรือต้นสด 60-120 กรัม ต้มกับน้ำดื่ม
- แก้พยาธิปากขอ ผู้ใหญ่ใช้ยานี้สด 150-170 กรัม ต้มเอาน้ำมาผสมกับน้ำส้มสายชู 50 ซีซี และใส่น้ำตาลทรายพอประมาณลงไปผสมกินวันละ 1-2 ครั้ง ก่อนอาหาร ติดต่อกัน 3 วัน
- แก้ริดสีดวงทวารปวดบวม ใช้ใบสดกับส้มกบ (Oxalis Thunb.) อย่างละเท่าๆ กัน ต้มเอาไอรนพอเริ่มน้ำอุ่นใช้ชะล้าง วันละ 2 ครั้ง
- แก้แผลเน่าเปื่อยเป็นหนองเรื้อรัง ใช้ต้นสดตำคั้นเอาน้ำมาต้ม เมื่อเย็นแล้วใช้ทา หรือใช้นึ่งแล้วตำพอก
- แก้แผลแมลงกัดต่อย ใช้ต้นสดคั้นเอาน้ำมาทาบริเวณที่เป็น
การศึกษาทางเภสัชวิทยา
ฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด มีการศึกษาฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดของผักเบี้ยใหญ่ในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ทั้งชายและหญิงจำนวน 30 คน โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ได้รับผงเมล็ดผักเบี้ยใหญ่ ขนาด 10 ก./วัน โดยแบ่งรับประทานวันละ 2 ครั้งๆ ละ 5 ก. ร่วมกับโยเกิร์ตไขมันต่ำ 40 มล. และกลุ่มที่ได้รับยาลดน้ำตาลในเลือด metformin ขนาด 1500 มก./วัน เป็นเวลา 8 สัปดาห์ พบว่าผู้ป่วยที่ได้รับเมล็ดผักเบี้ยใหญ่จะมีระดับของไตรกลีเซอไรด์ คอเลสเตอรอลรวม และ low density lipoprotein cholesterol (LDL) ในเลือดลดลง แต่ระดับของ high density lipoprotein cholesterol (HDL) เพิ่มขึ้น ระดับน้ำตาลในเลือด อินซูลิน บิลิรูบิน (total และ direct bilirubin) และเอนไซม์ alanine-, aspartate- และ gamma glutamyl transaminase (ALT, AST, and GGT) ในตับจะลดลง แต่ระดับของอัลบูมินเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ น้ำหนักตัว และดัชนีมวลกายของผู้ป่วยก็ลดลงด้วยเช่นกัน เมื่อเปรียบเทียบผลกับยา metformin แล้ว พบว่าเมล็ดผักเบี้ยใหญ่มีประสิทธิภาพดีกว่าในการลดน้ำตาลในเลือด ลดภาวะดื้อต่ออินซูลิน และลดไขมันในผู้ป่วยเบาหวาน
ฤทธิ์ระงับปวดและอักเสบ มีการศึกษาวิจัยและทดลอง โดยเมื่อใช้สารสกัดเอทานอล 10% ของส่วนเหนือดินผักเบี้ยใหญ่ ( Portulaca oleracea L. subsp. sativa ( Haw. ) Celak.) แก่หนูขนาด 200 และ 400 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมน้ำหนักตัว โดยการฉีดเข้าทางช่องท้องจะแสดงฤทธิ์ระงับปวดและอักเสบ เมื่อเทียบกับกลุ่มทดลองที่ใช้ diclofenac sodium แต่เมื่อให้ทางปากจะไม่สามารถแสดงฤทธิ์ดังกล่าว
ฤทธิ์ต้านการหดเกร็งและขยายหลอดลม มีการศึกษาฤทธิ์ต้านการหดเกร็งของหลอดลมของยาต้มใบผักเบี้ยใหญ่ ขนาด 1.0 และ 1.25 มก./มล. ในหลอดลมของหนูตะเภา พบว่าสามารถต้านการหดเกร็งของหลอดลมจากการเหนี่ยวนำด้วยไพแทสเซียมคลอดไรด์ 60 มิลลิโมลาร์ แต่ประสิทธิ์ภาพต่ำกว่ายาขยายหลอดลม Theophylline ยาต้มใบผักเบี้ยใหญ่ขนาด 0.75,1.0 และ 1.25 มก./มล. สามารถต้านการหดเกร็งของหลอดลมจากการเหนี่ยวนำด้วย methacholine 10 มคก. ซึ่งมีประสิทธิภาพเท่ากับยาขยายหลอดลม theophylline ที่ขนาดเท่ากัน
นอกจากนี้ยังมีการศึกษาทางคลินิกเกี่ยวกับฤทธิ์ขยายหลอดลมของยาต้มผักเบี้ยใหญ่ขนาด 0.25 มล./กก.ในผู้ป่วยโรคหอบหืด 30 คน พบว่ามีผลเพิ่มประสิทธิภาคการทำงานในระบบทางเดินหายใจของผู้ป่วย (ค่า FEV1 และ PEFR เพิ่มขึ้น) โดยประสิทธิภาพเท่ากับยาทานขยายหลอดลม theophylline (3 มล./กก.) แต่ประสิทธิภาคต่ำกว่ายาพ่นขยายหลอดลม salbutamol 200 มคก.
ฤทธิ์รักษาภาวะเลือดออกผิดปกติที่มดลูกของสตรี มีการศึกษาในสตรีที่อยู่ในวัยใกล้หมดประจำเดือน (premenopause) ที่มีอายุเฉลี่ย 45.3 ± 3.7 ปี ที่มีภาวะเลือดออกผิดปกติที่มดลูก ที่ประกอบด้วย menorrhagia คือภาวะเลือดออกทางช่องคลอด > 7 วัน หรือ > 80 มล./วัน ในแต่ละรอบเดือน metrorrhagia คือภาวะเลือดออกทางช่องคลอด > 1 ครั้ง/เดือน และมาไม่สม่ำเสมอ polymenorrhea คือภาวะการมีเลือดประจำเดือนออกถี่เกือบทุก 21 วัน และ intermenstrual bleeding คือภาวะเลือดออกในช่วงระหว่างรอบเดือนปกติ ซึ่งรักษาด้วยยาแล้วไม่ได้ผลและมีแนวโน้มต้องผ่าตัดมดลูก จำนวน 10 คน ซึ่งทุกคนถูกตัดชิ้นเนื้อในผนังมดลูกเพื่อส่งตรวจ พบว่าเป็นเนื้องอกธรรมดาที่มดลูก จำนวน 6 คน เยื่อบุมดลูกหนาตัวผิดปกติ 1 คน ถุงน้ำที่เยื่อบุผิวมดลูก 1 คน ส่วนที่เหลือ 2 คน ไม่พบความผิดปกติ โดยให้ผู้ป่วยรับประทานผงของเมล็ดผักเบี้ยใหญ่ขนาด 5 กรัม ผสมกับน้ำหวานร้อน ทุก 4 ชม. ภายใน 48 ชม. หลังจากการเริ่มมีรอบเดือน นาน 3 วัน ผู้ป่วยทุกคนต้องจดบันทึกปริมาณ ระยะเวลา รูปแบบการมีเลือดออกของรอบเดือน พร้อมทั้งติดตามผลนาน 3 เดือน พบว่า 80% ของผู้ป่วย ระยะเวลา และปริมาณการมีเลือดออกของรอบเดือนลดลง และรูปแบบการมีรอบเดือนกลับสู่สภาวะปกติหลังจากรับประทานผงของเมล็ดผักเบี้ยใหญ่ แต่มีผู้ป่วย 2 คน ที่ไม่ได้ผล (1 คน เป็นเยื่อบุมดลูกหนาตัวผิดปกติ อีก 1 คน เป็นเนื้องอกที่มดลูก) โดยไม่มีผลข้างเคียง และอาการเลือดออกผิดปกติไม่กลับมาเป็นซ้ำอีกในผู้ที่ทำการรักษาแล้วได้ผลดี ในช่วงที่ติดตามผลนาน 3 เดือน จากการศึกษาในครั้งนี้สรุปได้ว่าผงเมล็ดผักเบี้ยใหญ่มีประสิทธิภาพ และปลอดภัยในการรักษาภาวะเลือดออกผิดปกติที่มดลูกในคนได้ดี
การศึกษาทางพิษวิทยา
มีรายงานผลการทดสอบความเป็นพิษของผักเบี้ยใหญ่ พบว่าเมื่อให้วัวกินใบผักเบี้ยใหญ่ ขนาด 48 กรัมต่อน้ำหนักตัว(กิโลกรัม) ไม่พบอาการเป็นพิษแต่อย่างใด
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
- สตรีมีครรภ์ไม่ควรรับประทาน
- ผู้ป่วยโรคไตควรระมัดระวังในการใช้ รวมถึงบุคคลทั่วไปก็ไม่ควรรับประทานผักเนื้อใหญ่สด ในปริมาณมากๆ เพราะใบสดของผักเบี้ยใหญ่มีกรดออกซาลิกสูง อีกทั้งยังมีปริมาณโพแทสเซียมสูง
- ในการใช้ผักเนื้อใหญ่เป็นสมุนไพร ควรใช้ในปริมาณที่กำหนดไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้มากจนเกินไปหรือใช้ติดต่อกันนานจนเกินไปเพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ สำหรับ เด็ก ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง รวมถึงผู้ที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่อง ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ ผักเบี้ยใหญ่เป็นสมุนไพรสำหรับบำบัดรักษาโรค
เอกสารอ้างอิง
- ภก.ชัยโย ชัยชาญทิพยุทธ.ผักเบี้ยใหญ่.คอลัมน์สมุนไพรน่ารู้.นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่2.มิถุนายน 2522
- เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก. “ผักเบี้ยใหญ่”. หนังสือสมุนไพรบำบัดเบาหวาน 150 ชนิด. หน้า 104.
- ผลลดน้ำตาลในเลือดของผักเบี้ยใหญ่ในผู้ป่วยเบาหวาน.ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
- ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม. “ผักเบี้ยใหญ่”. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. หน้า 498-499.
- ณัฏฐณิชชา มหาวงษ์.สมุนไพรกับโรคหอบหืด,จุลสารข้อมูลสมุนไพรปีที่29.ฉบับที่3.เมษายน2555.15หน้า
- ฤทธิ์ระงับปวดและอักเสบของผักเบี้ยใหญ่.ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร.คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
- Boskabady MH, Broushaki MT, Aslani MR. Relaxant effect of Portulaca Oleracea on guinea pig tracheal chains and its possible mechanism(s) of action. Medical hypotheses and research 2004;1(2/3):139-47.
- Malek F, Boskabady MH, Borushaki MT, Tohidi M. Bronchodilatory effect of Portulaca oleracea in airways of asthmatic patients. J Ethnopharmacol 2004;93(1):57- 62.