บัวเผื่อน ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย
บัวเผื่อน งานวิจัยและสรรพคุณ 11ข้อ
ชื่อสมุนไพร บัวเผื่อน
ชื่อวิทยาศาสตร์ Nymphaea stellata Willd.
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น บัวขาบ , บัวผัน (ภาคกลาง) , ดอกบ้าน , ป้านสังก่อน (ภาคเหนือ),บัวแบ้ (ภาคอีสาน) , บัวขม (สุพรรณบุรี) นิโลบล (กรุงเทพฯ),ปาลีโป๊ะ (นราธิวาส)
ชื่อสามัญ Water lily , Blue lotus of India
วงศ์ NYMPHAEACEAE
ถิ่นกำเนิดบัวเผื่อน
บัวเผื่อนจัดเป็นบัวชนิดหนึ่งที่มีถิ่นกำเนิดและเป็นบัวพันธุ์พื้นเมืองของไทย จัดอยู่ในสกุลเดียวกับบัวผัน แต่จะมีลำต้นและดอกเล็กกว่าในอดีตมักพบได้ในแหล่งน้ำตื้นๆ บริเวณภาคกลาง และภาคใต้ของไทย โดยมักขึ้นอยู่ตามทุ่งนา คูคลองทั่วไปแต่ในปัจจุบันสามารถพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศ ในสมัยโบราณที่เรียก พืชชนิดนี้ว่า “บัวเผื่อน” เพราะว่ากลีบดอกจะมีสีเผื่อนระหว่างสีขาวคราม และสีชมพูอ่อน ดังนั้นจึงมีการเรียกชื่อบัวเผื่อนมาจนถึงในปัจจุบัน
ประโยชน์และสรรพคุณบัวเผื่อน
- ช่วยบำรุงกำลัง
- ช่วยบำรุงหัวใจให้ชุ่มชื่น
- ช่วยบำรุงครรภ์
- แก้ไข้ ตัวร้อน
- ช่วยบำรุงธาตุ
- ใช้ขับลม
- แก้ร้อนในกระหายน้ำ
- แก้อาการหน้ามืด ตาลาย วิงเวียน คลื่นไส้ ตาพร่าจะเป็นลม
- แก้ใจสั่น และใช้บำรุงดวงจิตให้ชุ่มชื่น
- รักษาอาการผิดปกติของกระเพาะอาหารและลำไส้
- ใช้รักษาโรคตับ
ลักษณะทั่วไปบัวเผื่อน
บัวเผื่อนจัดเป็นพันธุ์ไม้น้ำเช่นเดียวกันกับบัวชนิดอื่นๆ โดยเป็นพืชที่มีอายุหลายปี มีลำต้นเป็นเหง้าอยู่ใต้ดิน ใบเป็นใบเดี่ยวรูปไข่ ขอบใบเรียบ ปลายใบมน ช่อใบยังอ่อนอยู่ด้านบนจะมีสีเขียวอ่อน ด้านล่างสีน้ำตาลอ่อนเหลือบเขียว และมักจะมีจุดสีน้ำตาลแดงอยู่ประปราย พอเมื่อใบแก่สีน้ำตาลอ่อนด้านล่างใบจะจางลงไป แต่จุดยังคงอยู่ แต่ด้านบนจะมีสีเขียวเข้มขึ้น ซึ่งใบของบัวเผื่อนจะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 8-12 เซนติเมตร และมีก้านใบเป็นสีเขียวเหลือบสีน้ำตาลอ่อนดอกออกเป็นดอกเดี่ยว ไม้ดกเหมือนบัวผัน โดยดอกจะอยู่เหนือน้ำ มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 8-10 เซนติเมตร และมีกลีบดอกราวๆ 20 กลีบซ้อนกัน 2-3 ชั้น กลีบดอกเมื่อบานจะแผ่เป็นรูปถ้วยและบานได้ 3 วัน ซึ่งจะมีสีขาวเมื่อบานวันแรก แล้วจะค่อยๆมีเหลือบชมพูอ่อนที่ปลายกลีบ และจะเปลี่ยนเป็นสีชมพูเหลือบครามในวันสุดท้าย ภายในดอกมีเกสรเพศเมียและก้านชูเกสรเพศผู้สีเหลือง ส่วนอับเรณูสีขาวและดอกจะไม่หอม ส่วนผลมักจะจมอยู่ใต้น้ำมีลักษณะกลมมีเมล็ดขนาดเล็กหลายเมล็ด
การขยายพันธุ์บัวเผื่อน
บัวเผื่อนสามารถขยายพันธุ์ได้โดยการแยกหน่อและการแยกเหง้า และการใช้เมล็ด สำหรับวิธีการปลูกบัวเผื่อนนั้นสามารถทำได้เช่นเดียวกันกับวิธีการปลูกบัวหลวง (ซึ่งได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้) แต่สิ่งที่แตกต่างกันคือ บัวเผื่อนจะต้องปลูกในระดับน้ำที่ตื้นส่วนบัวหลวงจะปลูกในระดับน้ำที่ลึกกว่า (0.5-1 เมตร)
องค์ประกอบทางเคมี
มีการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีจากส่วนต่างๆ ของบัวเผื่อนพบว่า ใบของบัวเผื่อนพบสาร nympholide A ,B, myricetin-30-O-(600-p-coumaroyl) glucoside, myricetin-30-O-(600-p-coumaroyl) glucoside, 1,2,3,4,6-Pentagalloylglucose, myricetin-3-Orhamnoside (myricitrin)ในดอกพบสาร pentosan , corilagin , gallic acid , kaempferol , isokaempferide , quercetin , quercetin -3-methylether และในเมล็ดพบสาร flavonoid ,astragalin, quercetin , kaempferol และ gallic acid เป็นต้น
ที่มา : Wikipedia
รูปแบบและขนาดวิธีใช้
ใช้บำรุงร่างกาย , บำรุงธาตุ , บำรุงกำลัง , บำรุงครรภ์ บำรุงกำหนัด ใช้ขับลม โดยใช้หัวหรือเหง้ามาต้มกับน้ำดื่มหรือนำเหง้าแห้งไปบดเป็นผงชงดื่มชาก็ได้ ใช้บำรุงกำลังบำรุงร่างกายโดยใช้เมล็ดมาคั่วรับประทาน นอกจากนี้ยังมีการใช้บัวเผื่อนเป็นส่วนประกอบในตำรายาต่างๆ เช่น พิกัดบัวพิเศษ , ตำรับยาหอมเทพจิตร โดยขนาดวิธีใช้ที่ระบุไว้ในตำรายาเหล่านั้นได้อีกด้วย
การศึกษาทางเภสัชวิทยา
มีผลการศึกษาวิจัยฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของบัวเผื่อนหลายฉบับพบว่ามีฤทธิ์ต่างๆดังนี้
ฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือด สาร Nymphagol จากดอกบัวเผื่อน สามารถลดระดับน้ำตาลในเลือด เพิ่มระดับอินซูลิน และยังเพิ่มจำนวน β-cell ของตับอ่อนในหนูได้
ส่วนสารสกัดจากใบบัวเผื่อนด้วยเอทานอล เมื่อให้หนูทดลองในขนาด 100 และ 200 มิลลิกรัมต่อนำหนักตัว 1 กิโลกรัม ต่อวันสามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดของหนูได้
ฤทธิ์ปกป้องตับ สารสกัดดอกบัวเผื่อนด้วย 20% แอลกอฮอล์ มีฤทธิ์ปกป้องตับหนูจากการถูกทำลายด้วยสารคาร์บอนเตตราคลอดไรด์ โดยสามารถลดระดับ ALT , AST , ALP และ bilirubin ได้
นอกจากนี้ยังมีการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาอีกหลายฉบับพบว่าบัวเผื่อนยังมีฤทธิ์ต่างๆ อีกเช่น ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ฤทธิ์ต้านการอักเสบ เป็นต้น
การศึกษาทางพิษวิทยา
มีผลการศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของสารสกัดจากดอกบัวเผื่อนในหนูถีบจักร โดยการกรอกทางปากในขนาด 2 กรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม(ซึ่งเปรียบเทียบกับขนาดการรักษาในคน 50,000 เท่า) พบว่าไม่พบอาการเป็นพิษ และเมื่อฉีดเข้าใต้ผิวหนังในขนาด 1 กรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ก็ไม่พบความเป็นพิษเช่นเดียวกัน
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
ถึงแม้ว่าจะมีการนำบัวเผื่อนมาใช้รับประทานเป็นอาหารได้ โดยไม่มีอาการแสดงความเป็นพิษ แต่ในการนำมาเป็นสมุนไพรในการบำบัดรักษาโรคต่างๆนั้น ก็ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาดที่พอดีตามที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากเป็นประจำ ก่อนจะใช้บัวเผื่อนเป็นสมุนไพรสำหรับบำบัดรักษาโรคต่างๆ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้เสมอ
เอกสารอ้างอิง
- วุฒิ วุฒิธรรมเวช.สารานุกรมสมุนไพร.โอเดียนสโตร์.กรุงเทพมหานคร.2540.
- สมุนไพรกับวัฒนธรรมไทย ตอนที่3 พรรณไม้หอม. สถาบันการแพทย์แผนไทย กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข. พิมพ์ครั้งที่1. กรุงเทพมหานคร:โรงพิมพ์องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก,มปป.
- ผศ.ดร.สุดารัตน์ หอมนวล.บัวสมุนไพรในตำรับยาหอม ตอนที่ 2 ดอกบัวเผื่อนและดอกบัวขม.คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.
- ชยันต์ พิเชียรสุนทร.วิเชียร จีรวงศ์.คู่มือเภสัชกรรมแผนไทย เล่ม5 คณาเภสัช อมรินทร์.กรุงเทพมหานคร.2547
- มงคล โมกขะสมิต.กมล สวัสดีมงคล.ประยุทธ สาตราวาหะ.การศึกษาพิษของสมุนไพรไทย.วารสารกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ปีที่13.ฉบับที่1.2514.หน้า17-42
- บัวเผื่อน.ฐานข้อมูลเครื่องยา.คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี(ออนไลน์)เข้าถึงได้จากhttp://www.thaicrudedrug.com/main.php?action=viewpage&pid=78
- . Bhandarkar MR, Khan A. Antihepatotoxic effect of Nymphaea stellata willd., against carbon tetrachloride-induced hepatic damage in albino rats. Journal of Ethnopharmacology 2004:91; 61-64
- Awatif A, Bates EC, Gray AI, Mackay SP, Skellern GG, Waigh RD. Two very unusual macrocyclic flavonoids from the water lily Nymphaea lotus. Phytochemistry 2003:63;727-731.
- Dhanabal SP, Maruga Raja MKM, Ramanathan M, Suresh B. Hypoglycemic activity of Nymphaea stellata leaves ethanolic extract in alloxan induced diabetic rats. Fitoterapia 2007:78 ;288-291.
- Wiart C. Medicinal Plants of Asia and the Pacific. CRC Press:New York, 2006
- Subash-Babu P, Ignacimuthu S. Agastian P, Varghese B. Partial regeneration of b-cells in the islets of Langerhans by Nymphayol a sterol isolated from Nymphaea stellata (Willd.) flowers. Bioorganic & Medicinal Chemistry 2009:17;2864-2870.