โหราข้าวโพด ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

โหราข้าวโพด งานวิจัยและสรรพคุณ 17 ข้อ

ชื่อสมุนไพร โหราข้าวโพด
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ปั้นเซี่ย, ปั๊วแห่ (จีน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Pinelia ternate (Thunb.) Makino
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Pinelia tuberifera Ten., Pinelia temata (Thunb.) Ten.ex Breitenb.
ชื่อสามัญ Pinelliae rhizome
วงศ์ ARACEAE


ถิ่นกำเนิดโหราข้าวโพด

โหราข้าวโพด จัดเป็นพืชในวงศ์บอน (ARACEAE) ที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกในประเทศจีนบริเวณมลฑลซื่อซวน หยุนหนาน และกุ้ยโจว ปัจจุบันพบได้เพิ่มในมลฑลซานตง เจียงซา กันซู หูหนาน หูเป่ย และอันฮุย เป็นต้น สำหรับในประเทศไทย ไม่ค่อยพบการปลูกโหราข้าวโพด เพื่อนำมาใช้ประโยชน์และในเชิงพาณิชย์ ส่วนมากแล้วจะนำเข้ามาจากประเทศจีน


ประโยชน์และสรรพคุณโหราข้าวโพด

  1. ใช้เป็นยาแก้ไอ
  2. ช่วยละลายเสมหะ
  3. แก้เสมหะขึ้นศีรษะ
  4. แก้ปวดหัววิงเวียน
  5. แก้คออักเสบ
  6. แก้หอบหืด
  7. แก้อาการแน่นหน้าอก
  8. ช่วยขับลมขึ้นในกระเพาะอาหาร
  9. แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ
  10. แก้นอนไม่หลับ
  11. ใช้เป็นยาสงบประสาท หรือ ระงับประสาท
  12. แก้อาการคลื่นไส้อาเจียน
  13. ใช้แก้หูน้ำหนวกใช้
  14. แก้ปวดบวม
  15. แก้ฝี
  16. แก้หนอง
  17. แก้หลอดลมอักเสบ

           นอกจากนี้ยังมีการนำหัวของโหราข้าวโพดมาผ่านกระบวนการเตรียมยาตามตำรายาจีนจนได้เครื่องยาที่ได้จากหัวโหราข้าวโพด ที่มีชื่อเรียกและสรรพคุณต่างๆ อีกหลายชนิด เช่น เซ็งปั้นเซีย แก้ภาวะชื้น ระงับอาเจียน ละลายเสมหะ สลายก้อนบวม ลดการไหลย้อนของซี่ ฝ่าปั้นเซี่ย ใช้สลายเสมหะเย็น ปรับการทำงานของม้าม และกระเพาะ เจียวปั้นเซี่ย ใช้ระงับอาเจียน สลายเสมหะ ช่วยให้อบอุ่นกระเพาะ ลดซี่ที่ไหลย้อนระงับอาเจียน ซิงปั้นเซี่ย ใช้สลายเสมหะ สลายเสมหะทำให้เสมหะแห้ง เป็นต้น

โหราข้าวโพด

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

หัว หรือ เหง้าของโหราข้าวโพดมีรสเผ็ด มีพิษ เป็นยาร้อน ออกฤทธิ์ต่อปอด ม้าม และกระเพาะอาหาร เนื่องจากส่วนหัวของโหราข้าวโพดมีพิษ ในตำรายาจีนจึงมีการกำจัดพิษของหัวโหราข้าวโพดก่อนนำมาทำเป็นเครื่องยา หรือ นำมาใช้เป็นยาสมุนไพรโดยนำหัวโหราข้าวโพด มาล้างให้สะอาด จากนั้นจึงนำไปแช่ในน้ำประมาณ 1-2 สัปดาห์ โดยเปลี่ยนน้ำวันละ 2 ครั้ง (ขณะเปลี่ยนน้ำให้กวนน้ำไปด้วย) หลังจากนั้นนำไปแช่ในน้ำสารส้ม ในอัตราหัวโหราข้าวโพด 50 กิโลกรัมต่อสารส้ม 1 กิโลกรัม ทำการแช่จนกว่าจะไม่เห็นฟองสีขาว หรือ แช่จนกว่าหัวโหราข้าวโพดเริ่มมีสีชมพู แล้วจึงเทน้ำทิ้ง จากนั้นแช่น้ำให้สะอาดอีก 1 วัน แล้วนำหัวที่ได้มาไปต้มน้ำสารส้ม และใส่ขิง ลงไปต้มด้วย (หัวโหราข้าวโพด 50 กิโลกรัมต่อขิง 12.5 กิโลกรัม) ต้นจนสุก จนเนื้อในมีสีเหลืองอ่อน แล้วนำมาตากให้แห้ง จึงสามารถนำไปใช้ในยาสมุนไพรได้ ส่วนปริมาณการใช้ตามตำราการใช้โหราข้าวโพดนั้น หากใช้เป็นยาแก้เสมหะ ละลายเสมหะ แก้ปวดหัว แก้ลม วิงเวียน แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ แก้หอบหืด แก้คออักเสบ หลอดลมอักเสบ แก้คลื่นไส้อาเจียน แก้แน่นหน้าอก ขับลมขึ้นในกระเพาะ แก้นอนไม่หลับ ใช้เป็นยาระงับประสาท โดยนำหัวของโหราข้าวโพด ที่ผ่านการกำจัดพิษแล้ว 5-10 กรัม มาต้มกับน้ำดื่ม ใช้แก้ไปขับลมในกระเพาะ โดยใช้โหราข้าวโพดที่ผ่านการกำจัดพิษ 10 กรัม เปลือกส้ม 6 กรัม ขิงสด 3 แผ่น ชะเอม 5 กรัม เมล็ดพุทราจีนแห้ง 4 เม็ด และหกเหล็ง 10 กรัม นำมารวมกันต้มกับน้ำดื่ม


ลักษณะทั่วไปของโหราข้าวโพด

โหราข้าวโพด จัดเป็นพันธุ์ไม้ล้มลุกมีอายุได้หลายปี มีหัว หรือ เหง้าลักษณะกลมแบนคล้ายรูปไข่อยู่ใต้ดิน โดยหัวจะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1-2 เซนติเมตร ซึ่งหัวใต้ดินจะแตกเป็นรากเป็นรากฝอยรอบๆ หัวจำนวนมาก ส่วนลำต้นมีสีเขียวอวบน้ำมีความสูงประมาณ 15-30 เซนติเมตร

           ใบโหราข้าวโพด เป็นใบเดี่ยวแรกๆ จะแตกใบหนึ่งใบแต่เมื่อต้นเริ่มโตเต็มที่จะแตกออกเป็น 3 ใบ ซึ่งจะใบจะแตกออกมาจากก้านใบที่แทงขึ้นมาจากหัวใต้ดิน ซึ่งจะยาวประมาณ 6-23 เซนติเมตร โดยใบตรงกลางจะมีขนาดใหญ่กว่าใบด้านข้างทั้งสอง ลักษณะของใบเป็นรูปไข่กลมรีมีขนาดกว้าง 3-4 เซนติเมตร ยาว 5-8 เซนติเมตร โคนใบเว้าปลายใบแหลม ของใบเรียบ ใบมีสีเขียวหลังใบมีเส้นใบแบบขนนก บริเวณก้านใบจะมีปุ๋มงอกออกมาก

           ดอกโหราข้าวโพด ออกเป็นช่อบริเวณปลายยอดเป็นแบบแยกเพศบนต้นเดียวกัน โดยดอกเพศผู้มักอยู่ช่วงบน ส่วนดอกเพศเมียจะอยู่ช่วงล่าง จะมีระยะห่างกัน 3-5 มิลลิเมตร ช่อดอกมีขนาดยาวประมาณ 30 เซนติเมตร มีกาบใบสีเขียวยาว 6-7 เซนติเมตร หุ้มดอกมีลักษณะเป็นรูปกลมยาวทรงกระบอก ด้านนอกดอกเป็นสีเขียว ด้านใบเป็นสีม่วงดำ และจะมีก้านช่อดอกมักยาวกว่าก้านใบ

           ผลโหราข้าวโพด เป็นรูปไข่ หรือ กลมรีสีขาว โดยจะอยู่ภายในช่อดอกมีขนาดยาว 5-8 มิลลิเมตร ผลดิบมีสีขาวแต่เมื่อสุกจะเปลี่ยนเป็นสีแดง

โหราข้าวโพด
โหราข้าวโพด

การขยายพันธุ์โหราข้าวโพด

โหราข้าวโพด สามารถขยายพันธุ์ได้โดยการใช้เมล็ด และยังเป็นพืชที่ดูแลรักษาง่าย เจริญเติบโตได้ดีที่มีร่มเงา และต้องการความชื้นอย่างสม่ำเสมอ อีกทั้งยังสามารถเจริญเติบโตได้ดีในดินที่มีการระบายน้ำได้ดี สำหรับวิธีการเพาะเมล็ ดและการปลูกโหราข้าวโพด นั้น สามารถทำได้เช่นเดียวกันกับการเพาะเมล็ด และการปลูกพืชล้มลุกอื่นๆ ตามที่เคยได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีของส่วนหัว หรือ เหง้าของโหราข้าวโพด ระบุว่าพบสารออกฤทธิ์หลายชนิดอาทิเช่น ในส่วนหัว หรือ เหง้าโหราของข้าวโพดพบน้ำมันระเหย และพบสารต่างๆ ได้แก่ Arginine, Aspartic acid, Glucose, Amino acid, anethole, Glucolin, campesterol, choline, fluoride, daucosterol, β-sitosterol, stigmasterol, tridecanoic acid, B-sitosteryl-D-glucoside, pinellian G, B-aminobutyricacid

โครงสร้างโหราข้าวโพด

การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของโหราข้าวโพด

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของส่วนหัว หรือเ หง้าของโหราข้าวโพดระบุว่า มีฤทธิ์วิทยาต่างๆ ดังนี้

           มีรายงานผลการศึกษาวิจัยได้ทำการทดลองใช้สารสกัดโหราข้าวโพด จากเหง้า ในหนูขาวทดลอง พบว่าสามารถลดระดับน้ำตาลในหนูขาวทดลองได้ ส่วนน้ำต้มจากหัวโหราข้าวโพดในความเข้มข้น 20% เมื่อนำมาป้อนให้แมวพบว่าสามารถช่วยระงับอาการอาเจียนของแมวได้ และเมื่อนำน้ำที่ต้มจากหัวโหราข้าวโพดที่ความเข้มขัน 20% เมื่อนำมาป้อนให้แมวในปริมาณ 0.6 กรัม/ 1 กิโลกรัม (น้ำหนักตัว) พบว่าสามารถช่วยลดอาการไอของแมวได้เช่นกัน  

           นอกจากนี้ยังมีรายงานการศึกษาในประเทศจีนระบุว่าส่วนหัวของโหราข้าวโพด ที่สกัดพิษออกแล้วยังมีฤทธิ์บรรเทาอาการปวด ลดไข้ ระงับประสาท เพิ่มความจำ และลดความดันโลหิตสูง ลดไขมัน และลดคอเลสเตอรอลในเลือด คลายกล้ามเนื้อมดลูก ป้องกันการเกิดแผลที่กระเพาะและต้านการชักอีกด้วย


การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของโหราข้าวโพด

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยด้านพิษวิทยาของส่วนเหง้า หรือ หัวของโหราข้าวโพดในต่างประเทศระบุว่า สารสกัดจากส่วนหัวของโหราข้าวโพด มีความเป็นพิษต่อระบบสืบพันธุ์ความเป็นพิษต่อตับ และมีความระคายเคืองต่อเยื่อเมือก เป็นต้น


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

หัว หรือ เหง้าของโหราข้าวโพดมีความเป็นพิษดังนั้นจึงไม่ควรรับประทานมากเกินกว่าปริมาณที่กำหนด ในตำรับยาต่างๆ และไม่ควรรับประทานหัวโหราข้าวโพดที่ไม่ได้ผ่านกรรรมิวิธีกำจัดพิษ นอกจากนี้การเตรียมหัวโหราข้าวโพดให้เป็นเครื่องยาที่ปราศจากพิษนั้น ควรทำโดยผู้ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญเท่านั้น ไม่ควรเตรียมหัวโหราข้าวโพด ให้เป็นเครื่องยาเอง เพราะอาจทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพได้ ตามตำรายาจีนได้ระบุว่าห้ามใช้หัวของโหราข้าวโพดที่ผ่านการกำจัดพิษที่เรียกว่า ปั้นเซี่ย ร่วมกับ ซวนอู (โหราเดือยไก่) จื้อซวนอู เฉ่าอู จื้อเฉ่าอู และฟู่อื่อ ควรระมัดระวังการใช้เซิงปั้นเซี่ยเป็นยารูปแบบรับประทาน


เอกสารอ้างอิงโหรา ข้าวโพด
  1. วิทยา บุญวรพัฒน์ โหราข้าวโพด หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย -จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย หน้า 632.
  2. เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก โหราข้าวโพด หนังสือสมุนไพรลดไขมันในเลือด 140 ชนิด. หน้า 155-156
  3.  J.Y. Lee et al. Comprehensive chemical profiling of Pinellia species tuber and processed Pinellia tuber by gas chromatography-mass spectrometry and liquid chromatography-atmospheric pressure chemical ionization-tandem mass spectrometryJ. Chromatogr. A(2016)
  4. J. Bai et al.A comprehensive review on ethnopharmacological, phytochemical, pharmacological and toxicological evaluation, and quality control of Pinellia ternata (Thunb.) BreitJ. Ethnopharmacol.(2022)
  5. Y. Li et al.A polysaccharide from Pinellia ternata inhibits cell proliferation and metastasis in human cholangiocarcinoma cells by targeting of Cdc42 and 67kDa Laminin Receptor (LR)Int. J. Biol. Macromol.(2016)
  6. X. Ji et al.The ethnobotanical, phytochemical and pharmacological profile of the genus Pinellia Fitoterapia (2014)