มหาหิงค์ ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

มหาหิงค์ งานวิจัยและสรรพคุณ 15 ข้อ

ชื่อสมุนไพร มหาหิงค์
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น หิง, หินแมง (ภาคเหนือ), อาเหว่ย, อาเหว้ย (จีน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Ferula assa foetida Linn.
ชื่อสามัญ Assafoetida, Devil ‘s dung
วงศ์ UMBLLIFERAE


ถิ่นกำเนิดมหาหิงค์

มหาหิงค์ ที่เราเรียกกันเป็นยางของต้นไม้ชนิดหนึ่งที่ชื่อ Ferula assafoetida L. ซึ่งเป็นพืชในวงศ์เดียวกับผักชี และผักชีลาว (Umbelliferae) โดยพืชชนิดนี้มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในบริเวณเอเชียกลาง ตั้งแต่แถบประเทศอิหร่านทางตะวันออกไปจนถึงอัฟกานิสถาน และในปัจจุบันต้นมหาหิงค์ก็จะมีการปลูกอยู่ในประเทศอิหร่าน และอัฟกานิสถานเท่านั้น


ประโยชน์และสรรพคุณมหาหิงค์

  1. ช่วยบำรุงธาตุ
  2. ช่วยย่อยอาหาร
  3. ช่วยขับลมในลำไส้
  4. แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ
  5. แก้ท้องขึ้น แน่นจุกเสียด
  6. แก้ปวดท้อง
  7. ช่วยขับเสมหะ
  8. แก้ปวด
  9. แก้ชักกระตุก
  10. แก้โรคเส้นประสาท ยางจากรากหรือลำต้นมีรสเผ็ดขม กลิ่นฉุน เป็นยาอุ่น ออกฤทธิ์ต่อกระเพาะ ลำไส้ และม้าม
  11. ช่วยบำรุงธาตุในร่างกาย
  12. ใช้ลดไข้
  13. แก้อาการครั่นเนื้อครั่นตัว ที่อาจเกิดจากธาตุไฟ ในช่วงมีระดู
  14. ช่วยฆ่าพยาธิ
  15. แก้แมลงสัตว์กัดต่อย

           ยางของมหาหิงค์ถูกนำมาใช้ประโยชน์ตั้งแต่ในอดีตแล้วโดยในสมัยโรมัน มหาหิงค์ ถูกนำไปใช้สำหรับปรุงแต่งรสชาติอาหารหลายชนิดควบคู่ไปกับเมล็ดสน (Pinenuts) หรือ นำไปแช่ในน้ำมันร้อนๆ ให้ละลายแล้วก็จะหยดลงไปในอาหารซึ่งจะนิยมใช้กับอาหารจำพวกเห็ด เนื้อทอด เนื้อย่างบาร์บีคิว และผักต่างๆ ส่วนเอเชียกลางและเอเชียใต้ พบการใช้มหาหิงค์ เป็นเครื่องเทศ เครื่องแกง และผักดอง เช่น มักจะใช้ร่วมกันกับขมิ้น เพื่อใส่ในแกงกะหรี่ หรือ นิยมใส่ขณะทำการ tempering หรือ การผัดเครื่องเทศกับน้ำมันในขั้นแรกของการทำอาหารอินเดีย ซึ่งจะช่วยให้รสชาติของอาหารกลมกล่อมขึ้น

มหาหิงค์
มหาหิงค์

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

  • ใช้แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่นท้อง ท้องขึ้น จุกเสียด ปวดท้อง ในเด็กเล็ก โดยนำมหาหิงค์ที่ทำให้เป็นน้ำ หรือ นำที่เป็นก้อนมาละลายในแอลกอฮอลล์ แล้วนำมาชุบสำลี ทาที่หน้าท้อง ฝ่าเท้า และศีรษะของเด็ก
  • ใช้แก้ท้องแข็งแน่นจับกันเป็นก้อน โดยใช้มหาหิงค์ 20 กรัม โกฐเขมาขาว 100 กรัม ขมิ้นอ้อย 60 กรัม แปะไก้จี้ 120 กรัม และชำเล้ง 100 กรัม คั่วแล้วบดเป็นผงทำเป็นยาเม็ด ใช้รับประทานครั้งละ 60 กรัม วันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น
  • ใช้ขับลม แก้อาการจุกเสียดแน่นท้อง ท้องอืดท้องเฟ้อ แก้อาหารไม่ย่อย โดยใช้มหาหิงค์ 10 กรัม พริกไทย 10 กรัม ลูกหมาก 20 กรัม โกฐกระดูก 20 กรัม มาบดเป็นผงทำเป็นยาเม็ดลูกกลอน เมล็ดละ 3 กรัม ใช้รับประทานหลังอาหารครั้งละ 10 เม็ด
  • ใช้ฆ่าพยาธิโดยนำมหาหิงค์ 1-1.5 กรัม มาผสมกับแอลกอฮอลล์ หยดในน้ำ 1-2 หยด รับประทาน ใช้แก้ปวด แก้บวม แก้แมลงสัตว์กัดต่อย โดยนำมหาหิงค์ 1-1.5 กรัม มาผสมกับแอลกอฮอล์ใช้ทาบริเวณที่เป็น
  • ส่วนตำรายาแพทย์แผนจีนนั้น ได้ระบุถึงสรรพคุณของมหาหิงค์ เอาไว้ว่ายาง และน้ำมันหอมระเหยของมหาหิงค์มีรสขม เผ็ด เย็น เข้าสู่เส้นลมปราณม้าม และกระเพาะอาหาร ช่วยขับลม ย่อยอาหาร แก้จุดเสียดแน่นท้อง ฆ่าพยาธิ


ลักษณะทั่วไปของมหาหิงค์

มหาหิงค์ จัดเป็นพรรณไม้พุ่มขนาดเล็ก ในวงศ์ผักชี (UMBELLIFERAE) ลักษณะลำต้นจะมีความสูงประมาณ 2 เมตร ลำต้นตั้งตรง ผิวลำต้นมีสีเขียวอมเหลือง และจะแตกเป็นร่องๆ บริเวณโคนต้นมีใบแทงขึ้นมาจากรากใต้ดินและจะมีหัวและมีรากขนาดใหญ่อยู่ใต้ดิน

           ใบมหาหิงค์ เป็นใบประกอบแบบขนนก ซึ่งจะมีทั้งหมด 3-4 คู่ แต่ใบบริเวณช่วงบนของลำต้นจะมี 1-2 คู่ ส่วนลักษณะของใบย่อยเป็นรูปไข่รียาว หรือ รูปกลมรี มีสีเขียว หรือ สีเขียวอมเทา ขอบใบเป็นแบบฟันเลื่อยเล็ก แผ่นใบหนาและร่วงได้ง่าย ส่วนก้านใบยาวประมาณ 50 เซนติเมตร

           ดอกมหาหิงค์ ออกเป็นช่อรวมคล้ายซี่ร่มโดยใน 1 ช่อ ดอกจะมีดอกย่อยประมาณ 20-30 ก้าน ซึ่งในแต่ละก้านจะแยกออกจากกันชัดเจน ลักษณะดอกเป็นแบบแยกเพศต่างต้น ซึ่งดอกเพศเมียมีสีเหลือง ส่วนดอกเพศผู้มีสีขาว มีกลีบดอก 5 กลีบ ดอกมีเกสรเพศผู้ 5 ก้าน มีรังไข่ 2 อัน มีขนนกคลุม

           ผลมหาหิงค์ เป็นผลคู่ หรือ ผลแฝดมีลักษณะแบน เป็นรูปไข่ยาวรี ด้านในมีเมล็ดกลมเล็กๆ สีดำอยู่ 2 เมล็ด สำหรับส่วนที่ใช้ทำยาที่เรียกว่า “มหาหิงค์ ” จะเป็นชันน้ำมัน หรือ ของต้นมหาหิงค์ ที่ได้มาจากราก หรือ หัวใต้ดิน ที่เรียกว่า oleo gum resin ซึ่งมีโครงสร้างเป็นน้ำตาลเกาะกันยาวๆ คล้ายแป้ง และน้ำยางนี้จะมีลักษณะ เป็นก้อนแข็งๆ สีน้ำตาลอมเหลืองเนื้อเหมือนขี้ผึ้งและมีกลิ่นฉุนรุนแรง มีรสเผ็ดร้อน

มหาหิงค์

การขยายพันธุ์มหาหิงค์

มหาหิงค์ เป็นพืชที่มีการปลูกเฉพาะถิ่นอยู่ในเอเชียกลางบริเวณอิหร่านและอัฟกานิสถานเท่านั้น สำหรับวิธีการปลูกมหาหิงค์ นั้นจากการศึกษาค้นคว้าพบว่า จะเป็นการปลูกโดยใช้เมล็ด เช่นเดียวกันกับการปลูกพืชชนิดอื่นๆ ในวงศ์ผักชี (UMBELLIFERAE) ที่มีการปลูกในประเทศไทย


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมีของยางที่ใช้ทำยาที่เราเรียกว่ามหาหิงค์ ระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิดอาทิเช่น พบสารที่ให้กลิ่นฉุนในกลุ่ม Asafetida เช่น Secbutyl, Diauldo และ Propenyl และยังพบสาร Ferulic acid, Farnesiferol, asarewsinotannol, A, B และ umbelliferone นอกจากนี้ยังพบสารในกลุ่ม Sesquiterpene อีกหลายชนิดเช่น fetidones A-B, taraxacin, 5, 8-dihydroxyumbelliprenin และ 8-acetoxy-5-hydroxyumbelliprenin เป็นต้น

โครงสร้างมหาหิงค์

การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของมหาหิงค์

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของมหาหิงค์ระบุว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาหลายประการ ดังนี้

           ฤทธิ์ต้านการอักเสบ มีรายงานผลในการทดสอบฤทธิ์ยับยั้ง NF-kB ของสารกลุ่ม sesquiterpene ที่แยกได้จากมหาหิงค์ พบว่าสาร 8-acetoxy-5-hydroxyumbelliprenin มีฤทธิ์ที่ดีในการยับยั้งการอักเสบดังกล่าว โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 15.09 mM และไม่พบความเป็นพิษต่อเซลล์ เมื่อทำการทดสอบใน cell lines 5.1 และ A549 ในขณะที่สาร fetidones A; fetidones B; 5,8-dihydroxyumbelliprenin และ taraxacin จะมีฤทธิ์อ่อน จากการศึกษาวิจัยดังกล่าวสรุปได้ว่าสาร 8-acetoxy-5-hydroxyumbelliprenin ซึ่งเป็นสารหลักใน gum resin จากมหาหิงค์ มีคุณสมบัติในการลดการอักเสบได้ และยังมีรายงานการวิจัยพบว่า oleo-gum-resin จากมหาหิงค์มีสารออกฤทธิ์ที่สามารถทำลายเชื้อ Blastocystis 3 ชนิด ที่ก่อให้เกิดตกขาวในช่องคลอด ซึ่งเป็นสาเหตุของการติดเชื้อทำให้ระดูเกิดฟองและมีกลิ่น อีกทั้งยังออกฤทธิ์ลดภาวะผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร gastrointestinal disorden ฤทธิ์ต้านเชื้อรา ฤทธิ์ต้านการอักเสบ ส่วนสารในกลุ่ม coumarin ที่พบในมหาหิงค์ยังช่วยทำให้เลือดไหลเวียนได้ดีอีกด้วย

           นอกจากนี้ยังมีรายงานการศึกษาวิจัยระบุว่ามหาหิงค์ยังส่งผลต่อทางเดินอาหาร โดยช่วยลดอาการปวดเกร็งในช่องท้อง (anfispasmodic) ช่อยย่อย (digestive) ขับลม (carminative) ช่วยระบาย (laxative) มีฤทธิ์ถ่ายพยาธิ (anthelmintic) บางชนิดและยังช่วยขับเสมหะ (expectorant) แก้ปวดอย่างอ่อน (analgesic) ช่วยกล่อมประสาท ทำให้นอนหลับดี (sedative) และมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อเฉพาะที่ (antiseptic)


การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของมหาหิงค์

ไม่มีข้อมูล


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

  1. ในการใช้มหาหิงค์เป็นยาทาในเด็กเล็กควรทาเฉพาะที่ ในสถานที่อากาศโปร่ง ถ่ายเทสะดวก และหลังจากทายาที่ท้องแล้ว ให้ใช้ผ้าอ้อมห่อบริเวณท้องเด็ก ก็อาจช่วยให้ท้องอุ่น ช่วยเสริมการออกฤทธิ์ของยาได้ดีขึ้น
  2. ในขณะทามหาหิงค์ให้กับเด็กเล็ก ควรระมัดระวังไม่ให้ยาเข้าตา หรือ สัมผัสกับเนื้อเยื่ออื่น โดยเฉพาะเนื้อเยื่ออ่อน เช่น ขอบตา ปาก หรือ ถลอก
  3. มหาหิงค์ ที่มีส่วนประกอบของแอลกอฮอล์ (ทิงเจอ์มหาหิงค์) ไม่ควรให้เด็กรับประทาน เพราะแอลกอฮอล์ปริมาณมากจะมีผลเสียต่อเด็ก แต่หากหยดเพียงเล็กน้อยผสมกับน้ำแล้วประทานชั่วคราวสามารถทำได้
  4. สตรีมีครรภ์ห้ามรับประทาน เนื่องจากมหาหิงค์มีสรรพคุณขับประจำเดือนในสตรี ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะแท้งบุตรได้

เอกสารอ้างอิง มหาหิงค์
  1. กองประกอบโรคศิลปะ กรมส่งเสริมสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ตำราการแพทย์แผนโบราณ สาขาเวชกรรม 1.กรุงเทพมหานคร 2542.
  2. วิทยา บุญวรพัฒน์.มหาหิงค์. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. หน้า 418.
  3. นวลจันทร์ ใจดรีย์. การแพทย์แผนไทยและสมุนไพร เพื่อลดปวดประจำเดือน. วารสารธรรมศาสตร์เวชสารปีที่ 12 ฉบับที่ 4. ตุลาคม-ธันวาคม 2555. หน้า 782-792
  4. นพมาศ สุนทรเจริญนนท์ และนงลักษณ์ เรืองวิเศษ คุณภาพเครื่องยาไทย จากงานวิจัยสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ คอนเซ็พท์เมดิคัศ 2551.
  5. นิศารัตน์ ศิริวัฒนเมธานนท์. มหาหิงค์...ยาเก่าเอามาเล่าใหม่. บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน. คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  6. สถาบันการแพทย์แผนไทย กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุขบัญชียาแผนไทยสำหรับโรงพยาบาลและหน่วยงานสาธารณสุข กรุงเทพมหานคร 2553.
  7. บัญชียาจากสมุนไพร ในประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ เรื่อง บัญชียาหลักแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2555
  8. ฤทธิ์ยับยั้ง NF-KB ของมหาหิงค์. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  9. Mansurov MM. Effect of Ferula asafoetida on the blood coagulability. Meditsinskii Zhurnal Uz bekistana. 1967;1967(6):46-9.
  10. Mahendra Pand BishtS. Ferulaa asafoetida : Traditional uses and pharmacological activity. Pharmacogno Rev. 2012:6(12):141-146
  11. Lranshahy M, lranshahi M Traditional uses phytochemistry and pharmacology of adafoetida (Ferula assa-foetida olao-gurm-resin) a review. J Ethnopharmacol 2011:134:1-10.
  12. Buddrus J, Bauer H, Abu-Mustafa E, Khatteb A, Mishaal S. EI-Khrisy EA et al. Foetidin, a sesquiterpenoid coumarin from Ferula assa-foetida Phytochemistry 1985:24:869-70.
  13. Ramadan NI, Al Khadrawy FM. The in vitro effect of Assafoetida on Trichomonas vaginalis. J Egypt Soc Parasitol. 2003;33:615-30.
  14. Keshr G, Lakshmi V, Singh MM, Kamboj VP. Post-coital antifertility activity of Ferula asafoetida extract in female rats. Pharmac Biol. 1999;37:273-8
  15. El Deeb HK AI Khadrawy FM EI-Hameid AK. Inhbitory dffect of Ferula assafoetida L. (Umbekkiferael on Blastocystis sp. Subtype 3 growth in vitro Parasitol Res 2012:5:15.
  16. Soudamini KK, Unnikrishnan MC, Sukumaran K, Kuttan R. Mutagenicity and antimutagenicity of selected spices. Indian J Physiol Pharmacol. 1995;39:347-53.
  17. Eigner D, Scholz D. Ferulaassa-foetida and Curcuma longa in traditional medical treatment and diet in Nepal. J Ethnopharmacol. 1999:67 1-6
  18. Rahlfs VW, Mossinger P. Asafoetida in the treatment of the irritable colon. A double blind study. Dtsch Med Wochenschr. 1979;104:140-3