มะลิวัลย์ ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย
มะลิวัลย์ งานวิจัยและสรรพคุณ 9 ข้อ
ชื่อสมุนไพร มะลิวัลย์
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น มะลิป่า, มะลิเถื่อน(ทั่วไป,ภาคกลาง),ผักแซว(ภาคเหนือ)
ชื่อวิทยาศาสตร์Jasminum adenophyllum Wall.ex C.B. Clarke
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์Jasminum lanceoaria Roxb. Subsq Lance olaria
ชื่อสามัญ Blue grape jasmin , Princess jasmin
วงศ์OLEACEAE
ถิ่นกำเนิด มะลิวัลย์เป็นพืชในสกุลมะลิ (Jasminum) ที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในอินเดีย จากนั้นจึงได้มีการแพร่กระจายพันธุ์ไปยังเขตร้อนชื้นต่างๆ ในภูมิภาคเอเชีย เช่นในจีน เวียนนาม พม่า ไทย ลาว และมาเลเซีย สำหรับในประเทศไทยสามารถพบมะลิวัลย์ได้ทั่วทุกภาคของประเทศบริเวณ รั้วบ้าน ซุ้มประตู หรือตามที่รกร้างว่างเปล่าและในบริเวณชายป่า โดยจะเลื้อยพันตามต้นไม้หรือพุ่มไม้อื่นๆ
ประโยชน์/สรรพคุณ ในภาคเหนือมีการนำใบอ่อนและยอดอ่อนของมะลิวัลย์มาใช้ทำเป็นแกงรับประทาน โดยมีชื่อว่าแกงผักแซ่ว ซึ่งมักจะปลูกเอาไว้ให้พันขึ้นตามรั้วเมื่อจะนำมาประกอบอาหารก็สามารถเก็บเอาได้ตามรั้วบ้าน นอกจากนี้ในปัจจุบันยังนิยมนำมะลิวัลย์มาปลูกเป็นไม้ประดับตามอาคารบ้านเรือน หรือตามสถานที่ต่างๆ โดยมักจะทำเป็นซุ้มหรือทำเป็นร้านให้มะลิวัลย์พันขึ้น เมื่ออกดอกจะมีสีขาวสวยงามและมีกลิ่นหอมตลอดทั้งวัน สำหรับสรรพคุณทางยาของมะลิวัลย์นั้นตามตำรายาไทยและตำรายาพื้นบ้านได้ระบุถึงสรรพคุณเอาไว้ว่า
- ราก รสจืดเย็นใช้ถอนพิษต่างๆ ถอนพิษยา แก้อาการแพ้ยา ถอนพาไข้ ถอนพาเบื่อเมา ถอนพิษอักเสบ ทำให้นอนหลับสบาย
- ดอก ใช้บำรุงเป็นยาหอม บำรุงหัวใจ บำรุงครรภ์ ใช้เป็นยาแก้ไข้ แก้ร้อนใน กระหายน้ำ ทำให้ชุ่มชื้นหัวใจ
- ลำต้นหรือเถา ใช้บำรุงสมรรถภาพทางเพศ บำรุงกำลัง แก้ปวดเมื่อย ปวดหลัง ปวดเอว
รูปแบบ/ขนาดวิธีใช้
- ใช้ถอนพิษต่างๆ ถอนพิษไข้ ถอนพิษเบื่อเมา ถอนพิษอักเสบ โดยนำรากมาต้มกับน้ำดื่ม
- ช่วยให้นอนหลับสบาย โดยการนำรากสดมาเคี้ยวกลืนน้ำ หรือนำมาต้มกับน้ำดื่มก็ได้
- ใช้แก้ไข้ตัวร้อน บำรุงหัวใจ แก้ร้อนในกระหายน้ำ โดยนำดอกมาตากให้แห้งใช้ชงดื่มแบบชา
- น้ำมันหอมระเหยจากมะลิวัลย์ใช้เจือจางชุบผ้าเช็ดหน้าดมช่วยทำให้สดชื่น ทำให้ชุ่มชื้นหัวใจ
- ใช้เป็นยาบำรุงสมรรถภาพทางเพศในบุรุษ ใช้แก้ประดงข้อ โดยนำลำต้นหรือเถามผสมกับลำต้นเครืองูเห่า ลำต้นว่านเพชรหึงในจำนวนเท่ากัน โดยจะใช้เป็นแบบสดหรือแห้งก็ได้ จากนั้นนำมาต้มกับน้ำจนเดือด ใช้ดื่มต่างน้ำ หรือนำส่วนประกอบดังกล่าวมาดองกับเหล้าขาว 40 ดีกรี ดื่มครั้งละ 1 แก้วเป๊กก่อนอาหารเช้า เย็น และก่อนนอน
- ใช้เป็นยาแก้ปวดเมื่อยปวดหลังปวดเอว โดยนำเถาหรือต้น มาผสมกับเครือเถางูเห่า ลำต้นมะม่วงเลือดน้อย นำมาต้มกับน้ำโดยใส่น้ำให้ท่วมยาต้มจนเดือน ใช้ดื่มประจำหรือนำมาดอกกับเหล้าขาว 40 ดีกรี ดื่มครั้งละ 1 แก้เป๊กก่อนอาหารเช้า เย็นและก่อนนอน ก็ได้เช่นกัน
ลักษณะทั่วไป มะลิวัลย์เป็นไม้เถาหรือไม้เลื้อยขนาดเล็กเนื้อแข็ง เถามีสีเขียวเข้ม กิ่งอ่อนมีขน เถามักเลื้อยได้ยาว 2-5 เมตร ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้าม ลักษณะขอบใบเป็นรูปรีหรือรูปใบหอก กว้าง 3-5 เซนติเมตร ยาว 10-20 เซนติเมตร โคนใบและปลายใบแหลม ขอบใบเรียบ ใบมีสีเขียวเข้มแผ่นใบด้านบนเป็นมันด้านล่างมีสีอ่อนกว่า ดอกออกเป็นช่อเชิงลดในแต่ละช่อจะมีดอกย่อย 2-3 ดอก กลีบดอกเชื่อมกันเป็นหลอด ยาว 2-3 เซนติเมตร ปลายกลีบแยกเป็น 8-12 กลีบ กลีบดอกมีสีขาว รูปแถบหรือรูปขอบขนาน ยาว 3-5 เซนติเมตร ปลายเป็นติ่งแหลมมีเกสรเพศผู้ จำนวน 2 อัน บริเวณกึ่งกลางของหอดดอกมีกลิ่นหอมตลอดวัน และหอมแรงในช่วงพลบค่ำถึงเช้าตรู่ ผลเป็นผลสดโดยจะออกเป็นกลุ่ม 1-2 ผล ผลมีลักษระทรงกลม ผิวเรียบเป็นมันเงา เมื่อผลอ่อนจะมีสีเขียวอ่อน เมื่อผลแก่จะค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีม่วงเข้มจนถึงสีดำ คล้ายผลองุ่น จึงมีชื่อสามัญว่า Blue grape Jasmin
การขยายพันธุ์ มะลิวัลย์สามารถขยายพันธุ์ได้โดยการใช้เมล็ดและการปักชำกิ่ง แต่ในปัจจุบันจะนิยมใช้วิธีการปักชำกิ่งหรือเถามากที่สุด เพราะว่าทำได้ง่าย สะดวกรวดเร็ว โดยเริ่มจากเลือกกิ่งหรือเถาที่ไม่แก่หรืออ่อนเกินไป โดยตัดให้ชิดข้อ ยาวประมาณ 10 เซนติเมตร หรือให้มีข้ออย่างน้อย 3 ข้อ เด็ดใบออกให้เหลือใบส่วนบนสุด 1 คู่ ตัดใบบนให้เหลือครึ่งใบเพื่อลดการคายน้ำ จุ่มกิ่งในฮอร์โมน IBA กับ NAA อัตราส่วน 1:1 เพื่อเร่งราก และใช่กิ่งในสารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อรา สำหรับการปักชำจะใช้วัสดุชำที่ประกอบด้วยทคายผสมขี้เถ้าแกลบ อัตราส่วน 1:1 รดน้ำจนชุ่ม แล้วจึงนำกิ่งชำมาชำเรียงเป็นแถวห่างกันประมาณ 5x5 เซนติเมตร รดน้ำอีกครั้ง ปกติกิ่งชำจะงอกรากได้ภายใน 3 สัปดาห์ หรือ 1 เดือน จากนั้นนำไปเลี้ยงต่อในถุงพลาสติกที่มีดิน ขุยมะพร้าว และปุ๋ยคอก ผสมในอัตรา 3:1:1 จนกระทั่งแข็งแรงดีแล้วจึงนำไปปลูกต่อไป
องค์ประกอบทางเคมี มีรายงานผลการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับองค์ประกอบทางเคมีของสารสกัดจากส่วนต่างๆ ของมะลิวัลย์ระบุว่า พบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิดดังนี้
ใบสดและกิ่งสดของมะลิวัลย์ พบสารกลุ่ม secoiridoid glucosides 5 ชนิด ได้แก่ jaslanceoside A-E และพบสาร jasminoside และ 10-hydroxyoleoside dimethyl ester อีกด้วย และยังมีรายงานผลการศึกษาวิจัยสารสกัดเมทานอลจากใบสดของมะลิวัลย์ระบุว่าพบสาร syringin , jasmoside , jasmesoside , jasmosidic acid , jasminin , isojasminin , rutin , 9-hydroxyjasmesoside และ 9-hydroxyfasmesosidec acid ส่วนสารสกัดเอทานอลจากส่วนเนื้อดินของมะลิวัลย์พบสาร multifloroside ,multiroside , jasmultiside และ 10-hydroxyleuropein ส่วนในน้ำมันหอมระเหยที่ให้กลิ่นหอมจากดอกของมะลิวัลย์พบว่าประกอบไปด้วยสาร benzyl acetate, indole, E-E-farnesene, Z-3-hexenyl benzoate , benzyl alcohol , linalool และ methyl anthranilate เป็นต้น
การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยา มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของสารสกัดจากส่วนต่างๆ ของมะลิวัลย์ระบุว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาหลายประการดังนี้
ฤทธิ์ต้านจุลชีพ มีรายงานผลการศึกษาวิจัย สารสกัดอะซิโตนจากใบ ของมะลิวัลย์ พบว่ามีฤทธิ์ต้านเชื้อ Staphylococcus aureus ส่วนสารสกัดเมทานอลจากมะลิวัลย์มีโซนยับยั้งเชื้อ Shigella ได้ถึง 22.67 มม. ส่วนน้ำมันหอมระเหยจากส่วนของดอกมะลิวัลย์ แสดงฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียต่อเชื้อ E. coli และยังฤทธิ์ต้านจุลชีพต่อจุลินทรีย์ในช่องปากหลายชนิด รวมถึง E. coli, L. casei และ S. mutans นอกจากนี้ยังทำหน้าที่เป็นสารต้านจุลชีพต่อต้านเชื้อราแคนดิดาที่เป็นสาเหตุของโรคทางช่องปากทุกสายพันธุ์อีกด้วย
ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ มีรายงานผลการศึกษาวิจัยฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของสารสกัดเอทานอลจากส่วนใบของมะลิวัลย์ด้วยวิธี DPPH พบว่าสารสกัดดังกล่าวมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระโดยมีค่า IC50 อยู่ที่ 26.3 กรัม/มิลลิลิตร ซึ่งมากกว่าสาร Trolox มาตรฐาน(IC50 5.8 กรัม/มิลลิลิตร) และมีค่า ORAC เท่ากับ 1,023.7 กรัม TE/มิลลิกรัมของสารสกัด
ฤทธิ์ระงับประสาท มีรายงานผลการศึกษาวิจัยระบุว่ากลิ่นของชามะลิ มีผลกดประสาทต่อสภาวะอารมณ์และการทำงานของเส้นประสาท จึงได้มีการศึกษานำร่อง ในผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้าและวิตกกังวล โดยให้สูดดมน้ำมันหอมระเหยจากดอกมะลิ 5 นาทีต่อวันติดต่อกันเป็นเวลา 10 วัน พบว่าน้ำมันหอมระเหยจากดอกมะลิ สามารถปรับสภาพจิตใจให้ดีขึ้น และทำให้อาการต่างๆ เช่น หงุดหงิด นอนไม่หลับ ใจสั่น ดีขึ้นได้
การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยา ไม่มีข้อมูล
ข้อแนะนำ/ข้อควรระวัง ถึงแม้ว่าพืชในสกุลมะลิจะถูกนำมาใช้ประโยชน์โดยปราศจากความเป็นพิษมาตั้งแต่ในอดีตแล้ว แต่สำหรับการใช้มะลิวัลย์เป็นยาสมุนไพรนั้นก็ควรระมัดระวังเช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาด/ปริมาณที่เหมาะสม ที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในขนาด/ปริมาณที่มากจนเกินไปหรือใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้
อ้างอิงมะลิวัลย์
- เต็ม สมิตินันทน์,2544.ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย.ส่วนพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิชาการป่าไม้กรมป่าไม้.กรุงเทพฯ.
- สมสุข มัจฉาชีพ.2541.ไม้ดอกไม้ประดับ.กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์แพร่พิทยา.238หน้า.
- มหาวิทยาลัยมหิดล.คณะเภสัชศาสตร์และบริษัทบุญรอดบริวเวอรี่.สมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ.กรุงเทพมหานคร.มหาวิทยาลัยมหิดล.2535.
- ปิยะ เฉลิมกลิ่น.มะลิในเมืองไทย.กรุงเทพฯ.บ้านและสวน.2556.หน้า60
- ทิพย์สุดา ตั้งตระกูล.หอมกลิ่น...ดอกมะลิ.คอลัมน์นานาสาระ.วารสารแม่โจ้ปริทัศน์ปีที่8ฉบับที่4.หน้า77-79
- วราภรณ์ มณีมาโรจน์.การศึกษาไซโต-อนุกรมวิธานของพืชในสกุลมะลิของประเทศไทย.วิทยานิพนธ์ปริญญาวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต(เกษตรศาสตร์)สาขาพืชสวนบัณฑิตวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.2514
- Tauchen, J.; Doskocil, I.; Caffi, C.; Lulekal, E.; Marsik, P.; Havlik, J.; van Damme, P.; Kokoska, L. In vitro antioxidant and anti-proliferative activity of Ethiopian medicinal plant extracts. Ind. Crop. Prod. 2015, 74, 671–679.
- Tanahashi, T., Nagakura, N., Kuwajima, H., Takaishi. K., Inoue, K., and Inouye, H., Secoirdoid glucosides from Jasminum mesnyi Phytochemistry. 28,1413-1415(1989.)
- Everything You Need to Know About Jasmine Essential Oil Written by Adrienne SantosLonghurst on November 26, 2018
- Chen, H, -Y., “Jasmultiside, a new secoiridoid glucosides from Jasminum multiflorum. J. Nat Prod., 54, 1087-1091(1991).
- Khammee P, Unpaprom Y, Chaichompoo C, Khonkaen P, Ramaraj R. Appropriateness of waste jasmine flower for bioethanol conversion with enzymatic hydrolysis: sustainable development on green fuel production. 3 Biotech. 2021 May;11(5):216. doi: 10.1007/s13205- 021-02776-x. Epub 2021 Apr 15. PMID: 33936925; PMCID: PMC8050141.
- Shen, Y. -C., Lin, S.- L., and Chen, C.-C., Three secoiridoid glucosides from Jasminum lanceolarium. Phytochemistry., 44, 891-895(1997).