ระย่อมน้อย ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

ระย่อมน้อย งานวิจัยและสรรพคุณ 21 ข้อ


ชื่อสมุนไพร 
ระย่อมน้อย
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ระย่อม (ภาคกลาง), ย่อมตีนหมา (ภาคเหนือ), เข็มขาว, เข็มแดง (ภาคอีสาน), กะย่อม (ภาคใต้), ปลายข้าวสาร (กระบี่), ละย่อม (สุราษฎร์ธานี), กอเหม่ (กะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอน), สะมออู, มะโอ่งที, ตูมคลาน (กะเหรี่ยงกาญจนบุรี), อินตู้หลัวฟูมุ, เสอเกินมุ (จีน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Rauvolfia serpentina (L.) Benth. ex Kurz
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Ophioxylon album Gaertn, Ophioxylon serpentinum Linn.
ชื่อสามัญ  Serpent wood, Rauvolfia, Indian snake roots
วงศ์ APOCYNACEAE
 

ถิ่นกำเนิดระย่อมน้อย 

ระย่อมน้อย เป็นพันธุ์พืชที่มีถิ่นกำเนิดในบริเวณภูมิภาคเอเชียใต้ เช่น อินเดีย ศรีลังกา เนปาล ภูฐาน แล้วมีการแพร่กระจายพันธุ์เป็นวงกว้างไปยังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ ในประเทศ พม่า ไทย ลาว มาเลเซีย เป็นต้น (ซึ่งโดยส่วนมากแล้วจะสามารถพบเห็นระย่อมน้อยได้ในที่โล่งในป่าดิบชื้น ป่าดิบเขา ป่าดิบแล้ง หรือ ป่าเบญจพรรณ ต่างๆ สำหรับในประเทศไทยสามารถพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศ

ประโยชน์และสรรพคุณระย่อมน้อย

  1. เป็นยารักษาหิด
  2. แก้พิษแมลงกัดต่อย
  3. แก้ผดผื่นคัน
  4. เป็นยาเย็นมีรสขม  
  5. เป็นยาลดความดันโลหิตสูง
  6. เป็นยากล่อมประสาท ทำให้ง่วงนอน และอยากอาหาร
  7. ช่วยขับพิษร้อน ถอนพิษไข้
  8. แก้พิษกาฬ
  9. แก้บิด
  10. ช่วยย่อยอาหาร
  11. ช่วยฟอกเลือด
  12. แก้ท้องเสีย ท้องเดิน
  13. ช่วยขับพยาธิ
  14. ช่วยขับปัสสาวะ
  15. ขับระดูในสตรีบำรุงความกำหนด
  16. ช่วยให้ระบาย
  17. แก้ไข้พิษ
  18. แก้ไข้สันนิบาต
  19. ช่วยบำรุงโลหิต
  20. แก้โรคตาแดง
  21. ใช้รักษาโรคแก้วตามัว

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

ใช้ลดความดันโลหิต ใช้รากแห้ง 200 มิลลิกรัมต่อวัน ป่นเป็นผงคลุกกับน้ำผึ้งปั้นเป็นยาเม็ด รับประทาน 1-3 อาทิตย์ติดต่อกัน ใช้เป็นยาช่วยย่อยอาหาร ช่วยบำรุงประสาท ช่วยแก้โลหิตเป็นพิษ ช่วยฟอกเลือด ทำให้เลือดเย็น โดยนำรากระย่อมน้อย มาบดผงปั้นเม็ด หรือ คั่วให้กรอบแล้วนำมาชง หรือ ต้มกับน้ำดื่ม ใช้แก้ไข้ตัวร้อน แก้บิด แก้ท้องเดิน ท้องเสีย ใช้กล่อมประสาท ขับปัสสาวะ ขับพยาธิ ขับระดูในสตรี บำรุงความกำหนด โดยใช้รากแห้ง 100 กรัม มาต้มกับน้ำดื่ม ใช้เป็นยารักษาหิด โดยใช้รากสด 2-3 ราก นำมาตำให้ละเอียด เติมน้ำมันพืชพอแฉะๆ ใช้ทาบริเวณที่เป็นหิดวันละ 2-3 ครั้ง จนกว่าจะหาย

ลักษณะทั่วไปของระย่อมน้อย 

ระย่อมน้อย จัดเป็นไม้พุ่มขนาดเล็กสูงประมาณ 30-70 เซนติเมตร จัดเป็นไม้ผลัดใบในช่วงฤดูแล้ง ลำต้นคดงอ เป็นสีน้ำตาลอมเทา เมื่อสะกิดให้เกิดแผลจะมียางสีขาวออกมา รากใต้ดินมีขนาดใหญ่กว่าลำต้น และจะมีรอยแผลใบอยู่ทั่วลำต้น ใบเป็นใบเดี่ยว ใบออกดอกหนาทึบ โดยออกเรียงตรงข้ามกัน หรือ ออกเรียงรอบข้อ โดยจะมีข้อละ 3 ใบ ลักษณะของใบเป็นรูปรี หรือ รูปหอกใหญ่ ขอบใบเรียบปลายใบแหลม โคนใบสอบ ใบกว้างประมาณ 4-8 เซนติเมตร และยาวประมาณ 7-20 เซนติเมตร แผ่นใบหนา เรียบมันสีเขียวเข้ม ดอกเป็นช่อที่บริเวณปลายกิ่ง และปลายยอดโดยจะออกเป็นกระจุก ลักษณะคล้ายดอกเข็ม โดยในแต่ละกระจุกจะมีดอกย่อยประมาณ 5-50 ดอก โดยโคนกลีบดอกจะเป็นหลอดสีแดงส่วนกลีบ ดอกเป็นสีขาว มี 5 กลีบ และจะมีกระเปาะเล็กๆ ตรงกลางหลอด ส่วนกลีบเลี้ยงเป็นสีขาวแกมเขียว พอดอกโรยจะเปลี่ยนเป็นสีแดง ผลเป็นผลสดรูปทรงกลม หรือ รูปทรงรี ผิวผลเรียบเป็นมัน มีขนาดประมาณ 1-2 เซนติเมตร ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีม่วงดำ หรือ สีดำ ในผลมีเมล็ด 1 เมล็ด

ระย่อมน้อย

การขยายพันธุ์ระย่อมน้อย

ระย่อมน้อย สามารถขยายพันธุ์ได้โดยวิธีการเพาะเมล็ด และการตอนกิ่ง ส่วนวิธีการก็สามารถทำได้เช่นเดียวกันกับการเพาะเมล็ดและการตอนกิ่งพันธุ์ไม้พุ่มอื่นๆ ที่ได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้ แต่ในปัจจุบันการปลูกขยายพันธุ์ระย่อมน้อยในเชิงพาณิชย์ยังไม่เป็นที่นิยมโดยส่วนมากจะเป็นการขยายพันธุ์ตามธรรมชาติมากกว่า ทั้งนี้ระย่อมน้อยเป็นพรรณไม้ที่ต้องการความชุ่มชื้นสูง และเจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนซุยที่มีอินทรียวัตถุมาก

องค์ประกอบทางเคมี 

มีการศึกษาองค์ประกอบทางเคมีของระย่อมน้อย พบว่ามีสาระสำคัญหลายชนิดเช่น สารกลุ่ม Indole alkaloids ได้แก่ ajmalinimine, ajmaline, rauhinbine, raurolfia alkaloid G, reserpine, rescinnamidine, yohimbine, sarpagine, serpentinine, sitosterol, stigmasterol, serpentine, vinorine เป็นต้น  

ระย่อมน้อย

ที่มา : Wikipedia

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของระย่อมน้อย

มีผลการศึกษาทางเภสัชวิทยาของระย่อมน้อย ในต่างประเทศพบว่า มีฤทธิ์ลดความดันโลหิต ลดระดับน้ำตาลในเลือด ระงับประสาท กระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ กระตุ้นความต้องการทางเพศ โดยมีการศึกษาเพิ่มเติมพบว่า สารที่ออกฤทธิ์ลดความดันโลหิต คือ สาร reserpine และสารที่ออกฤทธิ์กระตุ้นความต้องการทางเพศ คือ สาร rauhinbine

การศึกษาทางพิษวิทยาของระย่อมน้อย

มีข้อมูลการศึกษาทางพิษวิทยาของระย่อมน้อย  ในต่างประเทศระบุว่าในรากระย่อมน้อยมีสาร Alkaloids บางตัวเป็นพิษต่อสัตว์ทดลองเมื่อใช้เป็นระยะเวลานาน

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

  1. ระย่อมน้อย มีสรรพคุณในการขับระดู ดังนั้นสตรีมีครรภ์ และสตรีให้นมบุตรห้ามใช้ เพราะจะทำให้แท้งลูก หรือ อาจเกิดอันตรายสู่ทารกได้ 
  2. รากระย่อมน้อยมีพิษเบื่อเมาอ่อนๆ สตรีมีครรภ์ หรือ ให้นมบุตร ห้ามใช้ยาที่มีส่วนผสมระย่อมเด็ดขาด
  3. ในการใช้ระย่อมน้อย เพื่อเป็นสมุนไพรสำหรับบำบัดรักษาโรคต่างๆ นั้น ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ตามปริมาณที่ระบุไว้ในตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้เกินปริมาณที่กำหนด และไม่ควรใช้ต่อเนื่องกันเป็นเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ สำหรับผู้ป่วยเรื้อรัง รวมถึงผู้ป่วยที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่อง ก่อนจะใช้ระย่อมน้อยเพื่อเป็นสุมนไพรบำบัดรักษาโรคต่างๆ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้เสมอ

เอกสารอ้างอิง ระย่อมน้อย
  1. เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก. “ระย่อม”. หนังสือสมุนไพรบำบัดเบาหวาน 150 ชนิด. หน้า 135-136.
  2. วิทยา บุญวรพัฒน์. “ระย่อมน้อย”. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. หน้า 474.
  3. เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ และคณะ. 2547. ผักพื้นบ้านภาคใต้. พิมพ์ครั้งที่ 2. ศูนย์พัฒนาตำราการแพทย์แผนไทย. นนทบุรี. ISBN 974-92580-5-3
  4. ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์. “ระย่อม (Ra Yom)”. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. หน้า 257.
  5. ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม. “ระย่อม”.  หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. หน้า 672-673.
  6. ระย่อมน้อย. กลุ่มยาลดความดันโลหิตสูง, สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด. โครงการอนุรักษ์พันธุ์กรรมพันธุ์กรรมพืชอันเนื่องมากจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารีฯ (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก http://www.rspg.or.th/plants_data/herbs/herbs_16_1.htm.