ลำดวน ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย
ลำดวน งานวิจัยและสรรพคุณ 11 ข้อ
ชื่อสมุนไพร ลำดวน
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น หอมนวล (ภาคเหนือ), ลำดวน (ทั่วไป, อีสาน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Melodorum fruticosum Lour.
ชื่อสามัญ White cheesewood
วงศ์ ANNONACEAE
ถิ่นกำเนิดลำดวน
ลำดวนเป็นพรรณไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่นใน ไทย, ลาว, พม่า, กัมพูชา แล้วได้มีการกระจายพันธุ์ไปยังพื้นที่บริเวณคาบสมุทรที่อยู่ใกล้เคียง เช่น ในมาเลเซีย อินโดนีเซีย เป็นต้น ปัจจุบันสามารถพบได้ในประเทศที่กล่าวมานี้ สำหรับในประเทศไทย ลำดวน ถือว่าเป็นพรรณไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศ และสามารถพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศ ซึ่งในธรรมชาติสามารถพบได้ตามป่าดิบแล้ง และป่าเบญจพรรณ โดยเฉพาะภาคอีสาน (ในจังหวัดศรีสะเกษพบได้มากที่สุด และยังเป็นดอกไม้ประจำจังหวัดอีกด้วย) นอกจากนี้ยังนิยมนำมาปลูกในบริเวณบ้านเรือนเพื่อให้ความสวยงาม และความหอม เป็นต้น
ประโยชน์และสรรพคุณลำดวน
- แก้อ่อนเพลีย
- ช่วยบำรุงหัวใจ
- ช่วยทำให้หัวใจชุ่มชื่น
- ช่วยบำรุงโลหิต
- แก้ลมวิงเวียน
- แก้ไอ
- แก้ไข้
- แก้กระหายน้ำ
- แก้ลม
- ช่วยชูกำลัง
- แก้พิษโลหิต
คนไทยในสมัยก่อนนิยมนำดอกลำดวน มาใช้บูชาพระ และใช้ปักแซมผมเพราะมีความสวยงาม อีกทั้งยังให้ความหอม ส่วนผลสุกของลำดวนยังสามารถนำมากินเล่นได้ซึ่งจะมีรสหวานอมเปรี้ยว เนื้อไม้ของต้นลำดวนมีความแข็งสามารถนำมาทำเป็น เครื่องมือเครื่องใช้ในบ้านเรือนได้ นอกจากนี้ดอกลำดวนยังถูกนำมาสกัดเป็นน้ำมันหอมระเหยได้ใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอางค์และอุตสาหกรรมยาและเวชภัณฑ์อีกด้วย
รูปแบบและวิธีการใช้
ใช้แก้ไข้ แก้ไอ แก้กระหายน้ำ แก้ลมวิงเวียน บำรุงหัวใจ บำรุงโลหิต บำรุงกำลัง โดยใช้ดอกแห้ง ชงเป็นชาดื่ม หรือ นำไปต้มกับน้ำดื่มก็ได้ หรือ จะนำดอกแห้งบดให้เป็นผงน้ำไปผสมกับยาผสมกับยาหอมรับประทานก็ได้เช่นกัน นอกจากนี้ลำดวน ยังเป็นส่วนผสมในพิกัดเกสรทั้ง 9 ที่สามารถนำไปใช้ผสมในตำรับตำรายาต่างๆ ตามที่ได้ระบุในตำรับนั้นๆ อีกด้วย
ลักษณะทั่วไปของลำดวน
ลำดวน จัดเป็นไม้ยืนต้นประเภทพุ่มขนาดย่อมสูงได้ประมาณ 5-15 เมตร ลำต้นตรง ผิวเปลือกเมื่อต้นยังอ่อนเรียบ แต่เมื่อต้นแก่จะแตกขรุขระเป็นสะเก็ดสีน้ำตาลอมดำ กิ่งอ่อนสีเขียวเป็นรูปกรวยค่อนข้างทึบ ใบออกเป็นใบเดี่ยวแบบเรียงสลับ ลักษณะใบเป็นรูปยาวรี หรือ รูปของขนาน กว้างประมาณ 2-3 เซนติเมตร ยาวประมาณ 7-15 เซนติเมตร ใบแก่มีสีเขียวเข้มเป็นมันท้องใบสีอ่อนกว่า ส่วนในอ่อน หรือ ยอดจะเป็นสีแดงอมม่วง โดนใบ และปลายใบจะเรียงแหลม ขอบใบเรียบ ดอกออกเป็นดอกเดียวมีลักษณะคล้ายดอกนมแมว โดยจะออกตามซอกใบ และบริเวณปลายกิ่ง กลีบดอกมี 6 กลีบ สีเหลืองนวล กลีบมีลักษณะหนา เป็นรูปสามเหลี่ยมขนาดใหญ่ แบ่งเป็น 2 ชั้น ชั้นละ 3 กลีบ ชั้นนอกมีขนาดใหญ่กว่าชั้นใน และแผ่แยกมากกว่ากลีบชั้นใน ส่วนกลีบชั้นในส่วนกลีบชั้นในอยู่ติดกัน และปลายหุ้มเข้าหากัน มีเกสรตัวผู้ และตัวเมียอยู่กลางดอก โดยดอกมีกลิ่นหอม และความหอมจะมีมากตั้งแต่ช่วงค่ำไปจนถึงตอนเช้า ผลออกเป็นผลกลุ่มมีผลย่อยประมาณ 15-20 ผล ผลอ่อนมีสีเขียวผิวเรียบ เมื่อสุกจะมีสีแดงอมดำ หรือ น้ำเงินอมดำ โดยที่ผลสุกสามารถกินได้ และจะมีรสหวานอมเปรี้ยว ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลม ขนาด 5-10 มิลลิเมตร และภายในจะมี 1 ผล เมล็ด 1-2 เมล็ด
การขยายพันธุ์ลำดวน
ลำดวน สามารถขยายพันธุ์ได้ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด และการตอนกิ่ง ส่วนวิธีการนั้นสามารถทำได้ เช่นเดียวกันกับการ เพาะเมล็ดและตอนกิ่งพืชยืนต้นประเภทอื่นๆ ที่ใกล้เคียงกัน เช่น ต้นนมแมว กระดังงา บุนนาค ฯลฯ ตามที่ได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้ ทั้งนี้ลำดวนเป็นพืชที่ของแสงแดด โดยจัดเป็นไม้กลางแจ้งขึ้นได้ในดินทุกประเภท แต่จะเจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนซุย และเป็นพรรณไม้ที่ชอบความชื้น
องค์ประกอบทางเคมีลำดวน
จากการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีของดอกแห้งของลำดวน พบสารประเภท น้ํามันหอมระเหย ได้แก่ 6 phenyl butanone, linalool, benzyl alcohol, a-cadinol, globulol, viridiflorol
รูปภาพองค์ประกอบทางเคมีของลำดวน
ที่มา : Wikipedia
การศึกษาทางเภสัชวิทยาของลำดวน
สรรพคุณของลำดวน สำหรับข้อมูลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของลำดวน นั้นส่วนมากเป็นการศึกษาวิจัยในต่างประเทศ และมีน้อยมาก แต่มีอยู่ชิ้นหนึ่งที่น่าสนใจ คือ มีรายงานการศึกษาวิจัยฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของลำดวนของลำดวนระบุว่า มีฤทธิ์ต่างๆ ดังนี้ ฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง โดยสาร oxidized heptanes จากดอกลำดวน สามารถยับยั้ง เซลล์มะเร็งเต้านม เซลล์มะเร็งปอด เซลล์มะเร็งตับ เซลล์มะเร็งกระเพาะอาหาร และเซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ นอกจากยังมีการศึกษาวิจัยพบว่าลำดวนยังมี ฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อราและฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระอีกด้วย
การศึกษาทางพิษวิทยาของลำดวน
ไม่มีข้อมูล
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
ในการใช้สำรวจมาเป็นสมุนไพรนั้นถึงแม้ว่ายังไม่มีข้อมูลที่ระบุว่ามีความเป็นพิษแต่ต้องควรระมัดระวังในการใช้ เช่นเดียวกันกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยต้องใช้ในประมาณที่ระบุไว้ในตำรายาต่างๆ รวมถึงต้องใช้แต่พอดีไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ นอกจากนี้เด็กสตรีครรภ์ ผู้ป่วยโรคเรื้อรวมถึงผู้ที่ต้องรับประทานต่อเนื่องเป็นประจำ ก่อนจะใช้ลำดวน มาเป็นยาสมุนไพรควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ
เอกสารอ้างอิง ลำดวน
- มูลนิธิสวนหลวง ร.9. 2547. ไม้นามตามถิ่น. พิมพ์ครั้งที่ 1. อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด. กรุงเทพมหานคร.
- กนกพร อะทะวงษา, พิชานันท์ ลีแก้ว, ดอกไม้ในยาไทย. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
- เดชา ศิริภัทร. ลำดวน. สัญลักษณ์แห่งไม้ใกล้ฝั่ง.คอลัมน์ต้นไม้ใบหญ้า. นิตยสารหมอชาวบ้าน.เล่มที่ 311 มีนาคม. 2548
- คณะกรรมการวิชาการดำเนินงานส่วนสวนสมุนไพรพืชสวนโลก. 2549. สวนสมุนไพรในงานมหกรรมพืชสวนโลก 2549. Herbal Garden in Royal Flora Expo 2006. บริษัท สามเจริญพาณิชย์ (กรุงเทพฯ) จำกัด. กรุงเทพมหานคร.
- ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์. “ลำดวน (Lamduan)”. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. หน้า 269.
- ปิยะ เฉลิมกลิ่น. 2544. พรรณไม้วงศ์กระดังงา. พิมพ์ครั้งที่ 1. สำนักพิมพ์บ้าน และสวน. กรุงเทพมหานคร.
- ลำดวน . ฐานข้อมูลเครื่องยาคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก http://www.thaicrudedrug.com/main.php?action=viewpage&pid=119