เม่าไข่ปลา ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย
เม่าไข่ปลา งานวิจัยและสรรพคุณ 21 ข้อ
ชื่อสมุนไพร เม่าไข่ปลา
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น มะเม่าไข่ปลา (ทั่วไป), มะเม่าผา, เมาผา (ภาคเหนือ), มะเม่า, มะเม่าผา, ขมวยตาครวย (ภาคอีสาน), มะเม่าข้าวเบา, เม่าทุ่ง, กูแจ (ภาคใต้)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Antidesma ghaesembilla Gaertn.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Antidesma ghaesembilla Muell.Arg.
ชื่อสามัญ Wild blckberry, Blackcurrant tree
วงศ์ PHYLLANTHACEAE
ถิ่นกำเนิดเม่าไข่ปลา
เม่าไข่ปลา จัดเป็นพืชในวงศ์มะขามป้อม (PHYLLANTHACEAE) ที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในเขตร้อนของทวีปเอเชีย บริเวณภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่นใน อินเดีย ศรีลังกา พม่า ไทย ลาว กัมพูชา ต่อมาจึงได้มีการแพร่กระจายพันธุ์ไปยังบริเวณใกล้เคียง ปัจจุบันสามารถพบเม่าไข่ปลา ได้ทั่วไปในเอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึง ทางตอนใต้ของจีน และตอนเหนือของออสเตรเลีย สำหรับในประเทศไทยสามารถพบเม่าไข่ปลาได้ทั่วทุกภาคของประเทศ บริเวณป่าเบญจพรรณ ป่าละเมาะ ป่าเต็งรัง ป่าดิบ ป่าโปร่ง ป่าพรุ ป่าชายเลนและตามที่โล่งลุ่มต่ำ หรือ บริเวณเรือกสวนทั่วไป บริเวณที่มีความสูงเท่ากับน้ำทะเลจนถึง 1,300 เมตร
ประโยชน์และสรรพคุณเม่าไข่ปลา
- ใช้บำรุงไต
- แก้กษัย
- แก้เส้นเอ็นพิการ
- แก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย
- ช่วยขับปัสสาวะ
- แก้มดลูกพิการ
- แก้มดลูกอักเสบช้ำบวม
- แก้ตกขาวในสตรี
- ช่วยขับน้ำคาวปลา
- ใช้แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ
- แก้ท้องบวม
- แก้ปวดศีรษะ
- แก้โรคผิวหนัง
- ใช้แก้คอแห้ง
- แก้ร้อนใน
- แก้กระหายน้ำ
- ใช้เป็นยาระบาย
- แก้ท้องผูก
- แก้โลหิตจาง ซีดเหลือง
- แก้อาการเลือดไหลเวียนไม่ดี
- ช่วยขับโลหิต
มีการนำเม่าไข่ปลามาใช้ประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ เช่น ผลสุกมีรสเปรี้ยว สามารถนำมาใช้รับประทานเป็นผลไม้ได้และยังมีการนำมาคั้นเอาน้ำไปทำเป็นเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพที่เรียกกันว่าน้ำมะเม่า ยอดอ่อนใบอ่อนของเม่าไข่ปลา มีรสฝาดอมเปรี้ยวและมัน ใช้ปรุงอาหารให้มีรสเปรี้ยว หรือ นำมาปรุงเป็นอาหาร เช่น แกงเลี้ยง หรือ ในภาคเหนือมีการนำใบไปโขลกรวมกับพริกสด น้ำปลาร้า เรียวกว่า “ตำเมี่ยง” รับประทานกันในฤดูร้อนช่วยลดอาการท้องเสีย รวมถึงมีการนำใบและยอดของเม่าไข่ปลามาใส่แกงเห็ดเผาะ และแกงเห็ดตับเต่าอีกด้วย อีกทั้งในปัจจุบันยังมีการนำผลสุกมากทำน้ำผลไม้ ไวน์ แยม และเม่าไข่ปลากวน เป็นต้น
รูปแบบและขนาดวิธีใช้
- ใช้บำรุงไต บำรุงกำลัง แก้กษัย แก้ปวดเมื่อย เส้นเอ็นพิการ ขับปัสสาวะ ขับโลหิต ขับน้ำคาวปลาในสตรี ใช้เป็นยาฝาดสมาน แก้มดลูกพิการ มดลูกอักเสบช้ำบวม แก้ตกขาวในสตรี โดยนำเปลือกต้นและรากเม่าไข่ปลา มาต้มกับน้ำดื่ม
- แก้ท้องผูก ท้องอืดท้องเฟ้อ แก้ร้อนใน แก้กระหายน้ำ แก้คอแห้ง โดยนำผลเม่าไข่ปลาสุกมารับประทาน
- แก้อาการปวดศีรษะ โดยนำใบเม่าไข่ปลาสดมาตำทำเป็นยาพอกบริเวณศีรษะ
- แก้อาการโลหิตจาง ซีดเหลือง เลือดไหลเวียนไม่ดี โดยนำผลเม่าไข่ปลา ดิบมาต้มกับน้ำอาบ
ลักษณะทั่วไปของเม่าไข่ปลา
เม่าไข่ปลา จัดเป็นไม้พุ่มกึ่งยืนต้นขนาดเล็กผลัดใบสูง 2-6 เมตร มักจะแตกกิ่งก้านต่ำเป็นพุ่ม เปลือกลำต้นมีสีน้ำตาลอ่อนและจะแตกเป็นสะเก็ดเล็กๆ บริเวณกิ่งอ่อนและยอดอ่อน จะมีขนสั้นนุ่มสีน้ำตาลขึ้นปกคลุม
ใบเม่าไข่ปลา เป็นใบเดี่ยวออกเยื้องสลับในระนาบเดียวกัน ใบมีลักษณะเป็นรูปรีค่อนข้างกลม หรือ รูปรีแกมขอบขนานใบมีขนาดกว้าง 2-5 เซนติเมตร และยาว 4-10 เซนติเมตร โคนใบกลมมน หรือ อาจหยักเว้าปลายใบมนกลม หรือ เป็นติ่งแหลม ขอบใบเรียบ แผ่นใบเรียบเป็นมัน ท้องใบเรียบเกลี้ยง หรือ อาจมีขนตามเส้นด้านท้องใบ มีหูใบเป็นรูปลิ่มแคบยาว 4-6 มิลลิเมตร และมีก้านใบยาว 0.2-1.2 เซนติเมตร
ดอกเม่าไข่ปลา ออกเป็นช่อแบบช่อเชิงลด โดยจะออกบริเวณวอกใบและปลายยอด โดยช่อดอกจะมีความยาวประมาณ 2-6 เซนติเมตร ซึ่งดอกจะเป็นแบบแยกเพศต่างต้นใน 1 ช่อดอกจะมีดอกย่อยสีเขียวอมเหลืองขนาดเล็กจำนวนมาก โดยดอกเพศผู้ออกเป็นช่อยาวประมาณ 4-6 เซนติเมตร ดอกส่วนย่อยเพศผู้จะมีความยาว 2-3 มิลลิเมตร ลักษณะเป็นรูปคล้ายสามเหลี่ยมถึงรูปขอบขนาน ปลายแหลมถึงมนไม่มีก้านดอก สำหรับดอกเพศเมียมีลักษณะคล้ายดอกเพศผู้แต่มีขนาดใหญ่กว่าโดยช่อดอกจะยาว 2-3 เซนติเมตร ปลายเกสรเพศเมียจะแยกออกเป็นแฉกประมาณ 3-4 แฉก
ผลเม่าไข่ปลา ออกเป็นกลุ่มรวม หรือ เป็นช่อโดยมีช่อผลยาว 5-10 เซนติเมตร ห้อยลมมาบริเวณปลายกิ่งในแต่ละช่อจะมีผลย่อยขนาดเล็ก 0.3-0.5 เซนติเมตร จำนวนมาก ผลมีลักษณะค่อนข้างกลม หรือ อาจจะรี หรือ แบนเล็กน้อย ผิวผลมีขน ผนังชั้นในแข็ง ผลอ่อนเป็นสีขาวและจะเปลี่ยนเป็นสีเขียว เมื่อผลแก่จะเป็นสีแดงเข้มเกือบดำภายในผลมีเมล็ด 1-2 เมล็ด
การขยายพันธุ์เม่าไข่ปลา
เม่าไข่ปลาสามารถขยายพันธุ์ได้โดยการใช้เมล็ด การปักชำและการตอนกิ่ง แต่วิธีที่เป็นที่นิยมในปัจจุบัน คือ การใช้เมล็ดและการตอนกิ่ง ซึ่งวิธีการเพาะเมล็ดและการตอนกิ่งพันธุ์ของเม่าไข่ปลา ก็สามารถทำได้เช่นเดียวกันกับการเพาะเมล็ดและการตอนกิ่ง ไม้พุ่มชนิดอื่นๆ ตามที่ได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้ เช่น "มะนาว"
องค์ประกอบทางเคมี
มีรายงานการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีของเม่าไข่ปลา ระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญจากส่วนต่างๆ ของเม่าไข่ปลาหลายชนิดอาทิเช่น gallic acid, catechin, epicatechin, rutin, syringic, Procyanidin B1, Procyanidin B2, melatonin, myricetin, resveratrol, luteolin, quercetin
การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของเม่าไข่ปลา
มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาจากส่วนต่างๆ ของเม่าไข่ปลา ระบุว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่น่าสนใจ หลายประการดังนี้
มีรายงานผลการศึกษาคุณค่าทางโภชนาการของผลไม้พื้นเมืองของไทย 3 ชนิด ในแง่ของสารอาหาร สารสำคัญและฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระ ที่เก็บรวบรวมจากพื้นที่อนุรักษ์ในเขตจังหวัดกาญจนบุรี ได้แก่ มะขามป้อม มะเม่าไข่ปลา และมะกอก โดยทำการวัดด้วยวิธี 2,2-diphenyl-1-picrylhydrazyl (DPPH), Ferric reducing antioxidant power (FPAP) และ Oxygen radical absorbance capacity (ORAC) ผลการศึกษาพบว่ามะขามป้อมมีปริมาณของวิตามินซี สารฟีนอลิกรวมและฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูงสุด ขณะที่มะเม่าไข่ปลามีปริมาณของสารอาหาร คาโรทีนอยด์ ไฟโตสเตอรอล และเส้นใยอาหาร สูงกว่าอีก 2 ชนิด ส่วนมะกอกก็มีปริมาณฟีลอนิกรวมและฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูงเช่นกัน โดยปริมาณสารฟีนอกลิกรวมจะมีความสัมพันธ์กับการออกฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ
ฤทธิ์ต้านมะเร็ง เนื่องจากสารเมลาโตนินเป็นสารที่มีฤทธิ์ต้านการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง ต้านการเกิดอนุมูลอิสระและเพิ่มภูมิต้านทานให้กับร่างกาย จึงได้มีการศึกษาแบบ crossover และทำการดูปริมาณของสารเมลาโตนินก่อนและหลังการทดลอง ในอาสาสมัครที่มีสุขภาพดี (ชาย 15 คน และหญิง 15 คน อายุระหว่าง 18-25 ปี) โดยอาสาสมัครทุกคนต้องรับประทานผลไม้ 6 ชนิด ที่มีสารเมลาโตนินค่อนข้างสูง ได้แก่ กล้วย สับปะรด ส้ม มะละกอ มะเม่าไข่ปลา และมะม่วง โดยรับประทานทีละชนิดในรูปของผลไม้สด หรือ น้ำผลไม้ในขนาด 0.5-1 กก. ครั้งเดียวและมีช่วงพัก 1 สัปดาห์ ก่อนที่จะรับประทานผลไม้ชนิดต่อไป โดยได้ทำการเก็บรวบรวมปัสสาวะตลอดคืนทั้งก่อนและหลังการศึกษาในผลไม้แต่ละชนิดและตรวจวัดระดับ 6-sulfatoxymelatonin (aMT6-s) ซึ่งเป็นสารเมตาบอไลท์ของสารเมลาโตนินซึ่งมีความสัมพันธ์อย่างมากกับระดับเมลาโตนินในเลือด พบว่าการบริโภคผลไม้ 3 ชนิด ได้แก่ มะม่วง มะเม่าไข่ปลา และมะละกอ มีผลเพิ่มปริมาณสาร aMT6-s ในปัสสาวะได้ 178%, 127% และ 52% ตามลำดับ ส่วนกล้วยเพิ่มปริมาณสาร aMT6-s เพียง 34% ในขณะที่การบริโภคส้มและสับปะรดลดปริมาณสาร aMT6-s 4% และ 10% ตามลำดับ จากการศึกษาในครั้งนี้สรุปได้ว่าการบริโภค มะม่วง มะเม่าไข่ปลา และมะละกอ ในรูปของผลไม้สด หรือ น้ำผลไม้ มีผลเพิ่มปริมาณเมลาโตนินในร่างกาย
นอกจากนี้ยังมีรายงานผลการศึกษาวิจัยอื่นๆ ระบุว่าสารสกัดมะเม่าไข่ปลา จากผลของเม่าไข่ปลา ยังมีฤทธิ์ทำให้เส้นเลือดมีความยืดหยุ่น โดยเฉพาะเส้นเลือดที่ไปหล่อเลี้ยงสายตา มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ป้องกันการแก่ชราของเซลล์และมีฤทธิ์เพิ่มภูมิคุ้มกันและต้านเชื้อ HIV อีกด้วย
การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของเม่าไข่ปลา
ไม่มีข้อมูล
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
สตรีมีครรภ์ไม่ควรใช้เม่าไข่ปลาเป็นสมุนไพรโดยเฉพาะในรูปแบบการรับประทาน เนื่องจากมีสรรพคุณขับโลหิต ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะแท้งบุตรได้ สำหรับบุคคลทั่วไป ก็ควรระมัดระวังในการใช้เม่าไข่ปลา เป็นสมุนไพรเช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาดที่เหมาะสม ที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในขนาดและปริมาณที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้
เอกสารอ้างอิง เม่าไข่ปลา
- เม่าไขปลา หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะมหาวิทยาลัยมหิดล. หน้า 39.
- นิดดา หงส์วิวัฒน์. ส้มเม่า ผักรสเปรี้ยวต้นไม้ภาคใต้. ครัว. ปีที่ 18 ฉบับที่ 210 ธันวาคม 2554 หน้า 12
- ดร.นิจศิริ เรืองรังสี, ธวัชชัย มังคละคุปต์ เม่าไข่ปลา (Mao Khai Pla).หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1 หน้า 242.
- สุดารัตน์ สกุลคู. 2550. หมากเม่าไม้ผลสมุนไพรคู่สกลนคร. เทคโนโลยีชาวบ้าน. 19(412).
- พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ. เม่าไข่ปลา หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. หน้า161.
- พีรศักดิ์ วรสุนทโรสถ และคณะ.ทรัพยากรพืชในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 2. ไม้ผลและไม้ผลเคี้ยวมัน. กทม. สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย. 2544.
- การบริโภคผลไม้ไทยมีผลเพิ่มปริมาณเมลาโตนิน (melatonin) ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
- อรุณพร อิฐรัตน์, พิณทุสร หาญสกุล, บุษราวรรณ ศรีวรรธนะ, นายอินทัช ศักดิ์ภักดีเจริญ และสุดารัตน์ สกุลคู. 2555. การพัฒนาสารสกัดจากผลมะเม่า เพื่อใช้เป็นยาและอาหาร เสริมสุขภาพสำหรับผู้ป่วย มะเร็งและเอดส์ ในรายงานฉบับสมบูรณ์แผนงานวิจัย เรื่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพรจากวัตถุดิบเม่าหลวงที่มีคุณภาพและปลอดภัยจาก สวนสู่ผลิตภัณฑ์ เสนอต่อสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ การพัฒนาสารสกัดจากผลมะเม่า เพื่อใช้เป็น ยา และอาหารเสริมสุขภาพสำหรับผู้ป่วยมะเร็งและเอดส์
- สารอาหารและสาระสำคัญในผลไม้พื้นบ้านของไทย. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหิดล.