มะขามแขก ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

มะขามแขก งานวิจัยและสรรพคุณ 14ข้อ


ชื่อสมุนไพร มะขามแขก
ชื่อวิทยาศาสตร์ Senna alexandrina P. Miller
ชื่อสามัญ Alexandria senna, Alexandrian senna Indian senna
ชื่อพ้อง Cassia acutifolia Delile,
Cassia angustifolia Vahl,
Cassia obovata Collad.,
Cassia senna L.
วงศ์ Fabaceae (Leguminosae-Caesalpinioideae) 

มะขามแขก

 

ถิ่นกำเนิดมะขามแขก

มะขามแขกนี้ชาวอาหรับรู้จักนำมาใช้เป็นยามานานแล้ว และได้นำมาใช้ในยุโรป ตั้งแต่สมัย ๑,๐๐๐ กว่าปีมาแล้ว ใบมะขามแขกมี ๒ ชนิด คือ Cassia acutifolia – Alexandrian Senna ซึ่งมีปลายใบแหลมกว่า เป็นพืชพื้นเมืองของอัฟริกาเขตร้อน ปลูกมากในประเทศซูดาน เมืองคอร์โดฟาน (Kordofan) และเมืองเซนน่า (senna) และอีกชนิดหนึ่งมีปลายใบเรียวคือ Cassia angustifolia Tinnevely Senna เป็นไม้ที่มีถิ่นกำเนิดที่เมืองโซมาลิแลนด์ ( Somaliland ) อาระเบีย แคว้นปัญจาบและสินธุ แต่แหล่งที่ปลูกพืชนี้มากที่สุดคือ เมือง Tinnevelly ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของอินเดีย ปัจจุบันนี้ในไทยปลูกต้นมะขามแขกกันมากแถวพระพุทธบาทสระบุรี ในโครงการร่วมไทย – เยอรมัน เพื่อส่งเป็นสินค้าออกไปยังเยอรมัน
 

ประโยชน์และสรรพคุณสรรพคุณมะขามแขก

  1. ช่วยถ่ายโรคบุรุษ
  2. ช่วยถ่ายน้ำเหลือง
  3. ช่วยลดอาการบวมน้ำ
  4. ใบมะขามแขกช่วยทำให้อาเจียน
  5. ช่วยถ่ายพิษไข้
  6. ช่วยถ่ายพิษเสมหะ
  7. ช่วยแก้อาการสะอึก
  8. ช่วยขับลมในลำไส้
  9. ช่วยกระตุ้นการเคลื่อนไหวของลำไส้
  10. ช่วยถ่ายพิษอุจจาระเป็นมูก
  11. ช่วยแก้ริดสีดวงทวาร
  12. ใบใช้เป็นยาถ่ายพยาธิ
  13. ยาระบาย
  14. แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ

           สมุนไพรมะขามแขก มีสรรพคุณที่โดดเด่นในเรื่องของการใช้เป็นยาถ่าย เหมาะสำหรับผู้สูงอายุ ผู้ที่มีกำลังน้อย เด็ก คนที่เป็นริดสีดวง หรือผู้ที่มีปัญหาท้องผูกอยู่บ่อย ๆ เนื่องจากมีสารแอนทราควิโนน (Anthraquinones) ที่มีฤทธิ์ช่วยกระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ใหญ่ให้ถ่ายท้องได้ โดยส่วนที่นำมาใช้เป็นยาสมุนไพรได้แก่ ส่วนของใบแห้งและฝักแห้งที่มีอายุในช่วง 1 เดือนครึ่ง (หรือช่วงก่อนออกดอก) แต่ควรใช้เป็นครั้งคราวเท่านั้นเพื่อความปลอดภัย 


รูปแบบและขนาดวิธีใช้มะขามแขก

ใช้แก้อาการท้องผูกใช้ ใบแห้งวันละ 3-10 กรัม (1-2 กำมือ) ต้มกับน้ำดื่ม หรือบดเป็นผงชงน้ำดื่ม หรือฝัก 4-5 ฝัก ต้มกับน้ำจำนวนพอเหมาะ ดื่มก่อนนอน
สำหรับถ่ายพยาธิ ใบมะขามแขกหนัก 2 กรัม หรือ 2 หยิบมือ หรือใช้ฝัก 10-15 ฝัก ต้มกับน้ำ 1 ถ้วยแก้ว 5 นาที ใส่เกลือเล็กน้อยเพื่อกลบรสเฝื่อน รับประทานครั้งเดียว หรือ ใช้วิธีบดใบแห้ง เป็นผงชงน้ำดื่ม บางคนดื่มแล้วเกิดอาการไซ้ท้อง แก้ไขโดย ต้มรวมกับยาขับลมจำนวนเล็กน้อย (เช่น กระวาน กานพลู อบเชย) เพื่อแต่งรสและบรรเทาอาการไซ้ท้อง
           ตัวยาสำคัญ ผงใบมะขามแขก (Senna alexandrina Mill.) ข้อบ่งใช้ บรรเทาอาการท้องผูก ขนาดและวิธีใช้ ชนิดชง รับประทานครั้งละ ๒ กรัม ชงน้ำร้อนประมาณ ๑๒๐ - ๒๐๐ มิลลิลิตร ก่อนนอน ชนิดแคปซูล รับประทานครั้งละ ๘๐๐ มิลลิกรัม – ๑.๒ กรัม ก่อนนอน ข้อห้ามใช้ ผู้ป่วยที่มีภาวะทางเดินอาหารอุดตัน (gastrointestinal obstruction) หรือปวดท้อง โดย ไม่ทราบสาเหตุ ข้อควรระวัง - ควรระวังการใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า ๑๒ ปี หรือในผู้ป่วย inflammatory boweldisease - การรับประทานยาในขนาดสูง อาจทำให้เกิดไตอักเสบ (nephritis) - ไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน เพราะจะทำให้ท้องเสีย ซึ่งส่งผลให้มีการสูญเสียน้ำและเกลือแร่มากเกินไปโดยเฉพาะโพแทสเซียม และการใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานจะทำให้ลำไส้ใหญ่ชินต่อยา ถ้าไม่ใช้ยาจะไม่ถ่าย - ควรระวังการใช้ในหญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร อาการไม่พึงประสงค์ ปวดมวนท้อง ผื่นคัน ยามะขามแขก ประเภทตำรับ ยาในบัญชียาหลัก ยารักษากลุ่มทางเดินอาหาร – กลุ่มรักษาอาการท้องผูก ข้อบ่งใช้ บรรเทาอาการท้องผูก วิธีใช้ ชนิดชง รับประทานครั้งละ 2 กรัม ชงน้ำร้อนประมาณ 120 - 200 มิลลิลิตร ก่อนนอน ชนิดแคปซูลและชนิดเม็ด รับประทานครั้งละ 800 มิลลิกรัม – 1.2 กรัม ก่อนนอน 
การเกิดอันตรกิริยากับยาแผนปัจจุบัน
Nephrotoxic drug
            Acetaminophen (in acute high doses),Acyclovir, parenteral,Aldesleukin,Aminoglycosides, parenteral and topical irrigation (only on denuded surfaces or mucous membranes),Amphotericin B cholestryl complex,Amphotericin B liposomal complex,Amphotericin B, systemic,Analgesic combinations containing acetaminophen and aspirin or other salicylates (with chronic high-,Anti-inflammatory drugs, nonsteroidal (NSAIDS),Bacitracin, parenteral,Capreomycin,Carmustine,Cholecystographic agents, oral,Cidofovir,Ciprofloxacin,Cisplatin,Contrast agents, radiopaque, water-soluble organic iodides (with intravascular administration),COX 2 inhibitors,Cyclosporin,Deferoxamine (with long-term use),Demeclocycline (in nephrogenic diabetes insipidus),Edetate calcium disodium (with high doses),Edetate disodium (with high doses),Foscarnet,Gallium nitrate,Gold compounds,Ifosfamide,Imipenem,Lithium,Methotrexate (with high-dose therapy),Methoxyflurane,Neomycin, oral,Pamidronate,Penicillamine,Pentamidine,Phenacetin,Plicamycin,Polymyxins, parenteral,Rifampin,Streptozocin,Sulfamethoxazole and Trimethoprim,Sulfonamides, systemic,Tacrolimus,Tetracyclines, other (except doxycycline and minocycline),Tiopronin,Tretinoin,Vancomycin, parenteral,Chlorpropamide
 

ลักษณะทั่วไปมะขามแขก

           ต้นมะขามแขก จัดเป็นไม้พุ่ม มีความสูงของต้นประมาณ 0.5-1.5 เมตร เป็นพืชทนแล้ง ไม่ชอบที่น้ำท่วมขัง เพราะจะทำให้รากเน่า สามารถเจริญเติบโตได้ดีในดินที่ลักษณะร่อน มีความอุดมสมบูรณ์ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ดและการใช้ต้นกล้า
           ใบมะขามแขก ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก เรียงสลับ ใบย่อยเป็นรูปวงรีและใบรูปหอก ใบแห้งมีสีเขียวอมน้ำตาล ขอบใบเรียบ ปลายและโคนใบแหลม โคนใบทั้งสองมีขนาดไม่สมมาตรกัน และมีขนนุ่มปกคลุมอยู่ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 2.5-5 เซนติเมตร ใบมีกลิ่นเหม็นเขียว มีรสเปรี้ยว หวานชุ่ม
           ดอกมะขามแขก ออกดอกเป็นช่อตามซอกใบตอนปลายกิ่ง กลีบดอกมีสีเหลือง จะมีกลีบที่รองดอกและกลีบดอกเกือบมีขนาดที่เท่ากันจำนวน 5 กลีบ ออกผลเป็นฝักลักษณะเหมือนกับถั่วลันเตา แต่จะแบนกว่า กว้างประมาณ 2 เซนติเมตร และยาวประมาณ 7 เซนติเมตร มีสีเขียวใสตอนยังอ่อน เมื่อแก่จะกลายเป็นสีดำ มีเมล็ดประมาณ 6 เมล็ด มีรสเปรี้ยว
 

การขยายพันธุ์มะขามแขก

มะขามแขกเป็นพืชที่เจริญเติบโตได้ดีในทุกสภาพดิน ระบายน้ำดี ไม่มีน้ำท่วมขัง เป็นพืชที่ต้องการความชื้น ชอบขึ้นในที่ลุ่ม ทนต่อสภาพความแห้งแล้งได้น้อย พบได้ตามพื้นที่ป่าหรือตามพื้นที่รกร้างทั่วไป
มะขามแขกสามารถขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด ด้วยวิธีการนำเมล็ดจากฝักแก่ที่ร่วงจากต้นหรือฝักแก่จากต้น นำเมล็ดมาตากแห้งประมาณ 1-2 แดด ก่อนนำไปหว่านลงพื้นที่ว่างหรือเพาะขยายพันธุ์ในถุงเพาะชำ ถุงดำ หรือ กระบะเพาะชำก่อนนำลงปลูก ช่วงแรกหมั่นดูแลรักษาให้ดินมีความชุ่มชื่นตลอด เมื่อมะขามแขกเริ่มใหญ่แล้วจากนั้นรดน้ำตามความเหมาะสม ช่วงที่นิยมปลูกเป็นช่วงปลายฤดูฝน
• ช่วงเวลาเก็บเกี่ยว การเก็บใบจะเริ่มการเก็บเกี่ยวเมื่ออายุได้ 50 วัน โดยตัดยอดเหนือใบแก่ รูดเอาแต่ใบย่อยใส่กระจาด เกลี่ยให้บาง ๆ แล้วนำไปผึ่งไว้ประมาณ 2-5 วัน
• การเก็บผลจะเก็บเมื่อผลมีอายุได้ประมาณ 20-23 วัน นำมาผึ่งในที่ร่ม โดยแผ่ออกบาง ๆ ผึ่งประมาณ 1-2 วัน แล้วนำไปผึ่งแดดอีกประมาณ 1 วันให้แห้งสนิท แล้วเก็บใสภาชนะที่สะอาดและมิดชิด
 

องค์ประกอบทางเคมีของมะขามแขก

ใบ และฝัก มีสารกลุ่มไฮดรอกซีแอนทราซีน กลัยโคไซด์ ได้แก่ sennoside A, B, C, และ D , rhein, aloe emodin, emodin , dianthrone

รูปภาพองค์ประกอบทางเคมีของมะขามแขก

มะขามแขก       มะขามแขก
Emodin
มะขามแขก
Aloe emodin
มะขามแขก
Rhein

 

มะขามแขก


ฤทธิ์ทางเภสัชของมะขามแขก

การศึกษาทางคลินิกในรักษาท้องผูก การศึกษาในผู้ป่วยหลังผ่าตัดมะเร็งต่อมลูกหมากหรือมะเร็งกระเพาะปัสสาวะที่มีอาการท้องผูก จำนวน 92 คน อายุระหว่าง 43 - 82 ปี โดยให้ผู้ป่วย 61 คน รับประทานยาแคลเซียมเซนโนไซด์จากใบมะขามแขกที่ใช้เป็นยาระบาย ขนาดเม็ดละ 15 มิลลิกรัม 2 เม็ด ก่อนนอนทุกคืน หลังผ่าตัดในวันที่ 1 และให้รับประทานติดต่อกันจนถึงวันที่ 7 หลังการผ่าตัด และคนไข้อีก 31 คน เป็นกลุ่มควบคุมไม่ได้รับยาระบายใดๆ พบว่าผู้ป่วยที่รับประทานยาแคลเซียมเซนโนไซด์ ถ่ายอุจจาระคล่องตั้งแต่วันที่ 1 ถึงวันที่ 4 หลังรับประทานยา คิดเป็นร้อยละ 90 การถ่ายอุจจาระเฉลี่ยวันละ 1.23 ครั้ง/คน ส่วนกลุ่มควบคุมมีเพียงร้อยละ 19 เท่านั้นที่ถ่ายอุจจาระคล่อง สัดส่วนของการถ่ายอุจจาระคล่องในผู้ป่วยที่รับประทานยาแคลเซียมเซนโนไซด์มากกว่าผู้ป่วยที่ไม่ได้รับยาอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
           ในใบและฝักมะขามแขก มีสารที่ชื่อ แอนทราควิโนน ซึ่งมีฤทธิ์กระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ใหญ่ ทำให้ถ่ายท้องได้ มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์เป็นจำนวนมากรองรับสรรพคุณของมะขามแขก ดังนี้
           ด้านสารสำคัญในการออกฤทธิ์เป็นยาถ่าย มีการศึกษาพบฤทธิ์เป็นยาถ่าย สารที่ออกฤทธิ์ คือ sennoside A และ B, aloe emodin, dianthrone glycoside ซึ่งเป็น anthraquinone glycoside สาร anthraquinone glycoside จะยังไม่มีฤทธิ์เพิ่มการขับถ่ายเมื่อผ่านลำไส้เล็ก เมื่อผ่านเข้าไปในลำไส้ใหญ่ Sennoside A จึงถูก hydrolyze ได้ sennoside A-8-monoglucoside และถูก hydrolyzed โดย bata-glycosidase จากแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่ และอุจจาระได้แก่ Bacillus, E. Coli ได้ sennidin A ส่วน sennoside B ก็จะถูกเปลี่ยนแปลงด้วยกระบวนการเช่นเดียวกันได้ sennidin B ทั้ง sennidin A & B จะเปลี่ยนกลับไปกลับมาได้ และถูกเปลี่ยนต่อไปเป็น rheinanthrone ซึ่งออกฤทธิ์ต่อลำไส้ส่วน colon โดยตรง สารสำคัญนี้จะกระตุ้นกลุ่มเซลล์ประสาทซึ่งอยู่ใต้ชั้น Submucosa ทำให้เกิดการบีบตัวของลำไส้
การศึกษาทางคลินิกในฤทธิ์กระตุ้นการเคลื่อนไหวของลำไส้ ผลของมะขามแขกต่อการเคลื่อนไหวของลำไส้ใหญ่ด้วยวิธี Magnetic Resonance Imaging (MRI) ในอาสาสมัครชายหญิง 15 คน ทั้งก่อนและหลังดื่มชามะขามแขก พบว่าชามะขามแขกมีผลทำให้ลำไส้ใหญ่มีการเคลื่อนไหวมากกว่าตอนที่ยังไม่ได้ดื่มชา

           มีผู้พบฤทธิ์กระตุ้นลำไส้ใหญ่ และมีการศึกษาในอาสาสมัคร 12 คน โดยให้ดื่มชาชงมะขามแขก เปรียบเทียบกับการรับประทานยา erythromycin จากนั้นทำการถ่ายภาพลำไส้ใหญ่ด้วยวิธี Magnetic Resonance Imaging (MRI) ก่อนและหลังได้รับชาชงหรือยา พบว่ากลุ่มที่ได้รับชาชงมะขามแขกจะทำให้ลำไส้ใหญ่ส่วน colon มีการเคลื่อนไหวมากกว่ากลุ่มที่ได้รับ erythromycin อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
           มีการทดลองทางคลีนิคเพิ่มเติมโดยให้มารดาที่อยู่ในช่วงให้นมบุตรกินมะขามแขก พบว่าใช้ได้ผลดี และไม่มีผลกระทบไปถึงทารก
 

การศึกษาทางพิษวิทยาของมะขามแขก

เมื่อป้อนผงจากฝักมะขามแขกแก่หนูแรท ขนาดวันละ 25, 100 และ 300 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ติดต่อกัน 104 สัปดาห์ (Mitchell et al., 2006) และขนาด 100, 300, 750 และ 1500 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ติดต่อกัน 13 สัปดาห์ พบว่าผงจากฝักมะขามแขกขนาด 300 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ขึ้นไป มีผลลดน้ำหนักตัว เพิ่มอัตราการกินน้ำ และมีการเปลี่ยนแปลงของค่าอิเล็กโทรไลต์ในเลือดและปัสสาวะ เมื่อผ่าชันสูตรอวัยวะภายใน พบว่าไตมีสีซีด จำนวนเซลล์เยื่อบุผนังลำไส้ใหญ่และกระเพาะอาหารส่วนหน้าเพิ่มขึ้น ซึ่งอาการต่างๆ เหล่านี้ รวมทั้งค่าชีวเคมีในเลือดและปัสสาวะ จะกลับเข้าสู่สภาวะปกติหลังจากหยุดให้มะขามแขกไประยะหนึ่ง และไม่พบลักษณะการเกิดเนื้องอกหรือเซลล์มะเร็งในสัตว์ทดลองที่ได้รับผงมะขามแขก
           การทดสอบความเป็นพิษเฉียบพลัน สารสกัด 50% เอทานอลจากส่วนเหนือดิน เมื่อฉีดเข้าช่องท้องหนูถีบจักรมีค่า LD50 เท่ากับ 681 มก./กก. นน.ตัว สารสกัด 95% เอทานอล ส่วนเหนือดินเมื่อฉีดเข้าช่องท้องหนูถีบจักรมีค่า LD50 เท่ากับ 500 มก/กก. นน.ตัว ไม่ปรากฏพิษ
           จากการสำรวจมารดาที่คลอดทารกพิการแต่กำเนิดจำนวน 22,843 คน มารดาที่คลอดทารกปกติจำนวน 38,151 คน และมารดาที่คลอดทารกที่มีอาการ Down syndrome จำนวน 834 คน โดยทั้ง 3 กลุ่มไม่มีความแตกต่างกันในการใช้มะขามแขก โดยใช้ในขนาด 10 - 30 มิลลิกรัม/วัน ในช่วงอายุครรภ์ 2 - 3 เดือน ในกลุ่มมารดาที่คลอดทารกปกติพบว่ามารดาที่ใช้มะขามแขกจะมีอายุครรภ์ก่อนคลอดยาวกว่าปกติประมาณ 0.2 สัปดาห์ และมีอัตราการคลอดก่อนกำหนดต่ำกว่ามารดาที่ไม่ได้ใช้มะขามแขก (ร้อยละ 6.6% ต่อร้อยละ 9.2) จึงสรุปได้ว่าการใช้มะขามแขกเพื่อรักษาอาการท้องผูกระหว่างการตั้งครรภ์ไม่มีผลทำให้ทารกพิการแต่กำเนิด
 

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

• การใช้มะขามแขกเป็นเวลานาน อาจทำให้เกิดการทำลายระบบประสาทที่ใช้ควบคุมการบีบตัวของลำไส้
• การใช้มะขามแขก อาจทำให้กระดูกตามข้อมีการเจริญเติบโตที่ผิดปกติ
มะขามแขกเป็นยาระบายชนิดที่กระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ ดังนั้นจึงไม่ควรใช้ในผู้ป่วยที่มีอาการปวดเกร็งในช่องท้อง ไส้ติ่งอักเสบ ลำไส้อุดตัน ปวดท้องโดยไม่ทราบสาเหตุ และในสตรีมีครรภ์ หรือมีประจำเดือน
• การใช้มะขามแขกร่วมกับยาต้านฮีสตามีนซึ่งเป็นยาแก้แพ้ อาจทำให้ฤทธิ์การเป็นยาระบายลดลง
• การใช้มะขามแขกในทางที่ผิด อาจทำให้เป็นพิษต่อตับได้
• การใช้มะขามแขกเป็นยาระบาย ให้กินในช่วงก่อนนอน โดยยาจะออกฤทธิ์ประมาณ 8-10 ชั่วโมงหลังจากรับประทาน โดยตัวยาจะทำให้อุจจาระมีมวลมากขึ้น ทำให้อุจจาระมีลักษณะนิ่ม ขับถ่ายได้สะดวก
• หากจำเป็นต้องใช้มะขามแขกติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน ๆ คุณควรรับประทานอาหารเสริมที่มีโพแทสเซียมสูง ๆ ควบคู่ไปด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายขาดธาตุโพแทสเซียม
มะขามแขกไม่ควรใช้เป็นยาลดความอ้วน เนื่องจากมันมีฤทธิ์แค่ช่วยในการขับถ่าย เนื่องจากสิ่งที่ถูกจับออกนั้นจะเป็นกากอาหารและน้ำในร่างกาย ส่วนไขมันก็ยังอยู่ในตัวเราเหมือนเดิม ไม่ได้ถูกขับออกไปพร้อมของเสีย
• แม้ว่าอนุพันธ์ของสาร anthraquinone จะสามารถผ่านออกมากับน้ำนมได้เมื่อใช้ในขนาดปกติ แต่ความเข้มข้นดังกล่าวไม่ส่งผลต่อทารกที่ได้รับน้ำนม ดังนั้นหญิงที่อยู่ในระหว่างให้นมบุตรจึงสามารถใช้มะขามแขกเป็นยาระบายได้
ข้อห้ามใช้ (Contraindication)
ไม่ควรใช้ X-Prep ซึ่งเป็นยาเตรียมที่มี sennoside ขนาด 142 มิลลิกรัม เพื่อเตรียมลำไส้ก่อนการตรวจลำไส้ใหญ่ (barium enema, BE) เนื่องจากมีรายงานว่าผู้ป่วยสูงอายุจำนวน 2 ราย ซึ่งมาโรงพยาบาลด้วยอาการท้องเสียและมีเลือดออกทางทวารหนัก เกิดกระเพาะทะลุ (colonic perforation) ร่วมกับเกิดอาการเยื่อบุในช่องท้องอักเสบ (peritonitis) และเสียชีวิต เนื่องจากใช้ยาเตรียมดังกล่าวเพื่อทำความสะอาดลำไส้ ก่อนการตรวจลำไส้ใหญ่ (barium enema) นอกจากนี้ยังห้ามใช้ X-Prep กับผู้ป่วยที่มีอาการลำไส้อักเสบหรือมีอาการอักเสบของลำไส้ที่ไม่สามารถหาสาเหตุได้
เนื่องจากมีผู้นิยมใช้ใบมะขามแขกกันมาก จึงมีผู้คิดปนปลอมโดยใช้ใบก้างปลามาปลอมขาย ซึ่งไม่มีฤทธิ์เป็นยาถ่าย เพื่อป้องกันเหตุเหล่านี้เกิดขึ้นก็โดยการที่เราควรจะทราบให้ แน่นอนว่าสมุนไพรนั้นมีลักษณะอย่างไร และอีกประการหนึ่งก็สนับสนุนให้มีการปลูกให้มากพอกับความต้องการที่จะใช้

เอกสารอ้างอิง

1. มะขามแขก.สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด.โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
2. มะขามแขก.ฉบับประชาชน.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร.คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
3. มะขามแขก.ไทยเกษตรศาสตร์.(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://thaikasetsart.com
4. สมุนไพรกับวัฒนธรรมไทย ตอนที่ 2 ไม้ริมรั้ว.หน้าที่ 198.สถาบันการแพทย์แผนไทย กรมการแพทย์กระทรวงสาธารณสุข.จัดพิมพ์เนื่องในงานชุมนุมแพทย์แผนไทยและสมุนไพรไทยแห่งชาติ ครั้งที่ 3
5. มะขามแขก.วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี.(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://th.wikipedia.org/wlindex.php?title=มะขามแขก&oldid=5673971
6. มะขามแขก.พืชเกษตรดอทคอม เว็บเพื่อพืชเกษตรไทย.(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://puechkaset.com
7. ยามะขามแขก.ข้อมูลตำรับยา.รายละเอียดตำรับยา ฐานข้อมูลสมุนไพรไทย จ.อุตรดิตถ์
8. มะขามแขก.ฐานข้อมูลเครื่องยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://thaicrudedrag.com/main.php?action=viewpage&pid=100
9. มะขามแขก.ฐานข้อมูลยาตำรับ.ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
10. เอกสารเผยแพร่เรื่อง การใช้ยาระบาย. กลุ่มพัฒนาระบบ กองพัฒนาศักยภาพผู้บริโภค สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา.
11. มะขามแขก. องค์การเภสัชกรรม http://www.gpo.or.th/herbal/senna/senna.htm
12. Assessment of large bowel motility by cine magnetic resonance imaging using two different prokinetic agents: a feasibility study. Invest Radiol. 2005 Nov;40(11):689-94.
13. Clinical Study of Senna Administration to Nursing Mothers Assessment of Effects on Infant Bowel Habits. Can Med Assoc J. 1963 September 14; 89(11): 566–568.
14. กันทิมา สิทธิธัญกิจ,พรทิพย์ เติมวิเศษ.คู่มือประชาชนการดูแลสุขภาพด้วยการแพทย์แผนไทย.กลุ่มงานพัฒนาวิชาการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร สถาบันการแพทย์แผนไทย กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข.พิมพ์ครั้งที่ 3 สำนักพิมพ์สำนักงานกิจการองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก.กรุงเทพฯ.2552