ข่า ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

ข่า งานวิจัยและสรรพคุณ 13ข้อ

 

ชื่อสมุนไพร  ข่าหยวก  ข่าหลวง (ภาคเหนือ) กฎุกกโรหิณี (ภาคกลาง) เชียงง่าว (ปะหล่อง) สะเอเชย (กะเหรี่ยง) หัวข่า(ไทยใหญ่)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Alpinia galanga (L.) Willd.
ชื่อสามัญ Galanga , False galangal 
วงศ์ Zingeberaceae

 

ถิ่นกำเนิดข่า

สำหรับข่า เป็นพืชพื้นเมืองของไทยอีกชนิดหนึ่งที่พบได้ทุกภาคของประเทศโดยมีถิ่นกำเนิดในแถบประเทศเขตร้อนในเอเชีย สามารถพบได้ตามประเทศ ศรีลังกา อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ อินเดีย และไทย ซึ่งคนไทยนิยมใช้ข่ามาตั้งแต่อดีตแล้ว โดยการนำมาประกอบอาหารและยังใช้เป็นสมุนไพรอีกด้วย
 

ข่าชนิดอื่นที่พบในประเทศไทยในปัจจุบัน

ข่าเล็ก เป็นข่าพื้นเมืองของเกาะไหหลำ พบปลูกในบางพื้นที่ของภาคใต้ ลำต้นมีขนาดเล็ก เหง้าข่ามีสีน้ำตาลปนแดง เนื้อเหง้าข่ามีสีเหลือง มีกลิ่นฉุน และรสเผ็ดร้อนมาก นิยมมาประกอบอาหารบ้าง แต่ส่วนมากใช้ประโยชน์ทางยา โดยพบน้ำมันหอมระเหย ประมาณ 0.3-1.5% พบสารประกอบฟีนอล 4 ชนิด คือ trans-p-Coumaryl diacetate, 4-Hydroxycinnamoylaldehyde, 1´-Acetoxychavicol acetate และ β–Sitosterol

ข่าป่า เป็นข่าที่พบได้ทั่วไปในป่าเบญจพรรณ และป่าดิบชื้น มีลักษณะลำต้นสูง ลำต้น และใบคล้ายกับข่าที่ปลูกทั่วไป หัวมีกลิ่นฉุนน้อย
ข่าลิง (ข่าน้อย) มีลักษณะลำต้นเล็ก มีสารประกอบฟีนอลหลายชนิด เช่น 1, 7-diphenyl-3,5-heptanedione, flavonoids, diarylheptanoids และ phenylpropanoids
ข่าคม มีลักษณะใบมน มีขนละเอียดสีขาวปกคลุมทั้งสองด้าน ดอกมีใบประดับ กลีบดอกสีขาว แผ่เป็นแผ่น และมีแถบสีเหลืองส้มบริเวณกลางกลีบดอก
ข่าน้ำ (เร่ว, กะลา) เป็นข่าพื้นบ้านที่ปลูกเพื่อจำหน่ายของ อ.ปากเกร็ด จ. นนทบุรี เหง้ามีรสจืดกว่าข่า ช่อดอกสีชมพู
 

ประโยชน์และสรรพคุณข่า

  • เป็นยาขับลม บำรุงธาตุ
  • เป็นยาระบายอ่อนๆ
  • ช่วยบรรเทาอาการไอ
  • ช่วยย่อยอาหาร แก้บิด แก้ปวดท้องจุกเสียด
  • แก้โรคปวดข้อ และโรคหลอดลมอักเสบ
  • ขับน้ำคาวปลา ขับรก
  • ใช้ภายนอกทารักษากลากเกลื้อน แก้ไฟลวด แก้น้ำร้อนลวก แก้ลมพิษ และโรคลมป่วงแก้สันนิบาตหน้าเพลิง
  • รักษาโรคกลากเกลื้อน 
  • ขับลม แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ
  • ช่วยยับยั้งการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร
  • ต้านเชื้อวัณโรค ต้านภูมิแพ้ และต้านอนุมูลอิสระ
  • แก้พิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย
  • ช่วยแก้ตะคริวและเหน็บชา  

               นอกจากนี้ ข่าเป็นพืชที่นำมาใช้ประโยชน์ทางด้านอาหารมากมาย ใช้ใส่ในต้มข่า ต้มยำ น้ำพริกแกงทุกชนิดใส่ข่าเป็นส่วนประกอบ ยกเว้น แกงเหลืองและแกงกอและทางภาคใต้ที่ไม่นิยมใส่ข่า แต่ใช้ข่าในการดับกลิ่นคาวของเนื้อและปลา ในส่วนต่างๆของข่ายังสามารถนำมาทำอาหารได้อีกเช่น
          ช่อดอก  ลวกหรือกินสดกับน้ำพริก, ลำต้นใต้ดิน ใส่แกง(ไทใหญ่)
รับประทานเป็นเครื่องเคียงกับแกงอ่อมหรือ อาหารคาวต่างๆ(เมี่ยน)

          เหง้า  ใช้เป็นส่วนประกอบอาหารต่างๆ เช่น น้ำพริก แกง ยำ, ช่อดอกอ่อน
รับประทานสดหรือนำไปย่างไฟ อ่อนๆ กินกับน้ำพริก(คนเมือง,กะเหรี่ยงเชียงใหม่)นำไปใส่แกงและน้ำพริก(กะเหรี่ยงแดง)เป็นเครื่องเทศ นำไปเป็นส่วนประกอบอาหารต่างๆ(ลั้วะ,กะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอน)ใช้ประกอบอาหารเช่น ใส่แกง ลาบ,
          ดอก รับประทานเป็นผักจิ้มน้ำพริก(ปะหล่อง)ดอก รับประทานเป็นผักจิ้มน้ำพริกหรือใช้ใส่แกงแค, หัวใต้ดิน เป็นเครื่องเทศสำหรับอาหาร ประเภทต่างๆ(ขมุ)
 
หน่อข่าอ่อน เป็นหน่อของข่าที่เพิ่งจะแทงยอดออกมาจากลำต้นใต้ดิน ถ้าอายุประมาณ 3 เดือนเรียกหน่อข่า ถ้าอายุ 6-8 เดือนเรียกข่าอ่อน ถ้าอายุมากกว่า 1 ปีจัดเป็นข่าแก่ หน่อข่าอ่อนทั้งสดและลวกใช้จิ้มหลนและน้ำพริก นำมายำ และยังมีการใช้ประโยชน์จากข่าด้านอื่นๆอีกเช่น น้ำมันหอมระเหยจากข่ามีฤทธิ์ทำให้ไข่แมลงฝ่อ กำจัดเชื้อราบางชนิดได้ ใช้ผสมกับสะเดาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการกำจัดแมลง 
 

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ 

วิธีและปริมาณที่ใช้ : 

  1. รักษาท้องขึ้น ท้องอืด ท้องเฟ้อ ขับลม แก้ท้องเดิน (ที่เรียกโรคป่วง) แก้บิด อาเจียน ปวดท้อง
    ใช้เหง้าข่าแก่สด ยาวประมาณ 1-1 ½ นิ้วฟุต (หรือประมาณ 2 องคุลี) ตำให้ละเอียด เติมน้ำปูนใส ใช้น้ำยาดื่ม ครั้งละ ½ ถ้วยแก้ว วันละ 3 เวลา หลังอาหาร
  2. รักษาลมพิษ ใช้เหง้าข่าแก่ๆ ที่สด 1 แง่ง ตำให้ละเอียด เติมเหล้าโรงพอให้แฉะๆ ใช้ทั้งเนื้อและน้ำ ทาบริเวณที่เป็นลมพิษบ่อยๆ จนกว่าจะดีขึ้น
  3. รักษากลากเกลื้อน โรคผิวหนัง ใช้เหง้าข่าแก่ เท่าหัวแม่มือ ตำให้ละเอียดผสมเหล้าโรง ทาที่เป็นโรคผิวหนัง หลายๆ ครั้งจนกว่าจะหาย

          เหง้าแก่สดหรือแห้ง ใช้รักษาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่นจุกเสียด ให้ใช้ประมาณเท่าหัวแม่มือ ใช้สดประมาณ 5 กรัม และแห้งประมาณ 2 กรัม นำมาทุบให้แตกแล้วต้มเอาน้ำดื่ม
เหง้าสด ใช้รักษาเกลื้อน นำเหง้าสดมาฝนผสมกับเหล้าโรงหรือน้ำส้มสายชู หรือตำแล้วนำมาแช่แอลกอฮอล์ ใช้ทาที่เป็น
ตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข (สาธารณสุขมูลฐาน) 

  • ใช้ข่ารักษาอาการแน่นจุกเสียด
    ใช้เหง้าสด 5 กรัม หรือเหง้าแห้ง 2 กรัม ต้มกับน้ำจนเดือด รินน้ำดื่ม
    ใช้หัวข่าตำละเอียดผสมน้ำปูนใส 2 แก้ว นำมาดื่ม 
  • ใช้ข่ารักษากลาก เกลื้อน
    ใช้เหง้าข่าปอกเปลือก จุ่มเหล้าแล้วเอามาทาบริเวณที่เป็นเกลื้อน ทาแรงๆ ทำเช่นนี้ 4-5 วัน ก็จะหาย
    ใช้เหง้าข่าแก่ๆ ล้างให้สะอาดฝานเป็นแว่นบางๆ หรือทุบพอแตก นำไปแช่เหล้าขาวทิ้งไว้สัก 1 คืน ทำความสะอาดขัดถูบริเวณที่เป็นเกลื้อนจนพอแดงและแสบ แล้วเอาข่าที่แช่ไว้มาทาเฉพาะบริเวณที่เป็นเกลื้อน จะรู้สึกแสบๆ เย็นๆ ทาเช้าและเย็นหลังอาบน้ำทุกวัน ประมาณ 2สัปดาห์ เกลื้อนจะจางลง และหายไปในที่สุด
    ใช้เหง้าข่าล้างให้สะอาด ฝานเป็นแผ่นบางๆ นำไปแช่เหล้า 35 ดีกรี ประมาณ 5 นาที แล้วทาที่มีผื่นคัน อาการจะหายไป และถ้าแช่ค้างคืนจะใช้รักษาเกลื้อนได้ดี
    ใช้เหง้าข่าสดตัดท่อนละ 1 นิ้ว ทุบให้แตกพอช้ำอย่าถึงกับละเอียด ใส่ถ้วยแช่เหล้าโรงประมาณ 1/4 ถ้วยชา ใช้สำลีชุบทาวันละครั้ง
    ใช้เหง้าข่าแก่ๆ นำมาตำพอแหลก แล้วผสมเหล้าหรืออัลกอฮอล์ แช่ไว้ 1 คืน ใช้ทาแก้เกลื้อน หรือกลาก

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ไม้ล้มลุกมีเหง้าข่าใต้ดิน สีน้ำตาลอมแสด เลื้อยขนานกับผิวดิน มีอายุหลายปี มีข้อปล้องสั้น ก้านใบแผ่เป็นกาบหุ้มซ้อนกัน ดูคล้ายลำต้น แตกกอ สูง 1.5-2.5 เมตร
ใบเดี่ยว เรียงสลับ รอบลำต้น เหนือดิน ใบรูปใบหอก หรือรูปขอบขนานแกมใบหอก กว้าง 4-11 เซนติเมตร ยาว 25-45 เซนติเมตร กาบใบมีขน ปลายใบแหลม ฐานใบสอบแหลม ขอบใบเรียบเป็นคลื่น เส้นกลางใบใหญ่ทางด้านท้องใบเป็นเส้นนูนชัด เส้นใบขนานกัน ก้านใบเป็นกาบหุ้ม 

          ดอกช่อแยกแขนง ตั้งขึ้น ขนาดใหญ่ ออกที่ปลายยอด ก้านดอกยาว 15-20 เซนติเมตร เมื่อยังอ่อนมีสีเขียวปนเหลือง ดอกแก่สีขาวปนม่วงแดง ดอกย่อยจำนวนมากเรียงกันแน่น อยู่บนก้านช่อเดียวกัน ดอกย่อยคล้ายดอกกล้วยไม้มีขนาดเล็ก มีใบประดับย่อยเป็นแผ่นรูปไข่ กลีบดอกสีขาวแกมเขียว  3 กลีบ โคนเชื่อมติดกันตลอด ปลายแยกจากกันเป็นปาก แต่ละกลีบเป็นรูปไข่กลับ ที่ปากท่อดอกจะมีอวัยวะยาวเรียวจากโคนถึงยอด สีม่วงคล้ายตะขอ 1 คู่ ใต้อวัยวะมีต่อมให้กลิ่นหอม เกสรเพศเมียมี 1 อัน รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ เกสรเพศผู้มี 3 อัน มี 2 อัน คล้ายกลีบดอก มีเรณู 1 อัน เกสรตัวผู้ที่เป็นหมันแผ่เป็นแผ่นคล้ายกลีบดอกสีขาว มีลายเส้นสีม่วงแดง ผลแห้งแตก รูปกระสวยหรือทรงกลม ขนาด 0.5-1 เซนติเมตร มีกลีบเลี้ยงติดอยู่ เมื่อแก่มีสีส้มแดง มี 1-2 เมล็ด  เมล็ดใช้เป็นเครื่องเทศ ดอกใช้เป็นผักจิ้มได้ ออกดอกช่วงเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน

 ต้นข่า

ข่า

การขยายพันธุ์ข่า

การปลูกข่า ข่าจัดเป็นพืชล้มลุกที่มีลักษณะเนื้ออ่อน เหมือนขิง ขมิ้น ไพล เป็นพืชที่มีอายุมากกว่า 1 ปี สามารถเจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนซุยที่มีอินทรียวัตถุสูง ดินชุ่มชื้น และไม่มีน้ำท่วมขัง การปลูกนิยมปลูกด้วยการแยกเหง้า โดยปลูกช่วงต้นฝนหรือในฤดูฝน เตรียมแปลงด้วยการไถดะ และตากดิน ประมาณ 7 วัน  พร้อมกำจัดวัชพืช จากนั้น ไถพรวนดินให้ละเอียดอีกครั้ง และตากแดดประมาณ 2-5 วัน ก่อนปลูก
           การเตรียมเหง้าปลูก เหง้าข่าที่ใช้ควรเป็นเหง้าข่าแก่ อายุมากกว่า 1 ปี โดยให้ตัดต้นเทียมออก โดยให้เหลือต้นเทียม 1-2 ต้น ที่ติดกับเหง้าสูงประมาณ 15-20 เซนติเมตร เหง้ามีแง่งประมาณ 1-2 แง่ง และให้ตัดรากที่ยาวทิ้ง
การปลูกในแปลงใหญ่หรือในพื้นที่ว่างที่ปลูกจำนวนน้อย ระยะปลูก ประมาณ 80×80 เซนติเมตร ด้วยการขุดหลุม ขนาด 20×20×20 เซนติเมตร (กว้าง×ยาว×ลึก) ใส่ปุ๋ยคอก และปุ๋ยเคมีรองก้นหลุมเล็กน้อยพร้อมคลุกกับดินล่างให้เข้ากัน ใช้เหง้าพันธุ์อายุประมาณ 1 ปี ขึ้นไป ใส่หลุมละ 1-2 เหง้า
การปลูกในแปลงใหญ่ นิยมไถยกร่องลึกประมาณ 20-30 เซนติเมตร ระยะห่างร่องประมาณ 70-80 เซนติเมตร จากนั้น โรยด้วยปุ๋ยคอก และปุ๋ยเคมี สูตร 15-15-15 เล็กน้อยตามแนวยาวของร่อง ก่อนวางเหง้าข่า 1-2 เหง้า ตามความยาวของร่องที่ระยะห่างแต่ละจุดประมาณ 70-80 เซนติเมตร แล้วจึงคราดดินบนกลบตลอดแนว
 

องค์ประกอบทางเคมี

Cineole, camphor และ eugenol ลดการบีบตัวของลำไส้,  1'-acetoxychavicol acetate, 1'-acetoxyeugenol acetate  และ eugenol  ช่วยลดการอักเสบ , 1'-acetoxychavicol acetate และ 1'-acetoxyeugenol acetate ช่วยยับยั้งการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร  และฆ่าเชื้อรา eugenol มีฤทธิ์ขับน้ำดี ช่วยย่อยอาหาร และฆ่าเชื้อแบคทีเรียและยังมีสาร methyl cinnamate, pinene, galangin, chavicol, trans-p-coumaryl diacetate, coniferyl diacetate, p-hydroxy-trans-cinnamaldehyde, kaemferol, quercetin

รูปภาพองค์ประกอบทางเคมีของข่า

                                                                                                      ข่า                                                           ข่า                                                                                                                                                                                                                          

                                                                                                                 CINEOLE                                                                                             CAMPHOR

                                                                                                 ข่า                                       ข่า 

                                                                                                                 EUGENOL                                                                                         QUERCETIN

 

การศึกษาทางเภสัชวิทยา  

ฤทธิ์ลดการบีบตัวของลำไส้ สารออกฤทธิ์ คือ cineole, camphor  และ eugenol ในข่ามีฤทธิ์ลดการบีบตัวของลำไส้
ฤทธิ์ขับน้ำดี   สาร eugenol จากเหง้าข่ามีฤทธิ์ขับน้ำดี ช่วยย่อยอาหารได้
ฤทธิ์ขับลม น้ำมันหอมระเหยจากเหง้าข่ามีฤทธิ์ขับลม
ฤทธิ์ลดการอักเสบ ข่ามีสารออกฤทธิ์ คือ 1'-acetoxychavicol acetate, 1'-acetoxyeugenol acetate และ eugenol ช่วยลดการอัก และสมุนไพรตำรับที่มีข่าเป็นส่วนประกอบมีฤทธิ์ลดการอักเสบได้ สารสกัดข่าสามารถยับยั้งการสลายของกระดูกอ่อนจากการเหนี่ยวนำด้วย interleukin-1b (IL-1β) โดยพบสารออกฤทธิ์คือ p-hydroxycinnamaldehyde ซึ่งแยกได้จากสารสกัดข่าด้วยอะซีโตน มีฤทธิ์ยับยั้งการสลาย hyaluronan (HA), sulfated glycosaminoglycans (s-GAGs)และ matrix metalloproteinase (MMPs) จากเนื้อเยื่อกระดูกอ่อน แสดงว่าสาร p-hydroxycinnamaldehyde จากข่ามีศักยภาพที่จะพัฒนาไปใช้รักษาอาการข้ออักเสบได้

นอกจากนี้ยังพบว่าสารสกัดผสมข่าและขิงมีประสิทธิภาพในการลดการอักเสบของข้อโดยการลด chemokine mRNA และระดับของโปรตีนที่ chemokine หลั่งออกมาได้ดีกว่าสารสกัดข่าหรือขิงเดี่ยวๆ และพบว่าสารสกัดผสมข่าและขิงมีฤทธิ์ยับยั้งการแสดงออกของยีนของสารสื่อที่กระตุ้นให้เกิดการอักเสบ (proinflammatory genes) ได้แก่ TNF-a, IL-1b, COX-2, MIP-a, MCP-1 และ IP-10
ฤทธิ์ยับยั้งแผลในกระเพาะอาหารเหง้าข่ามีสาร 1'S-1'-acetoxychavicol acetate และ 1'S-1'-acetoxyeugenol acetate  ช่วยยับยั้งแผลในกระเพาะอาหาร
ฤทธิ์ต้านเชื้อจุลชีพ สารสกัดข่าด้วยปิโตรเลียมอีเธอร์, ไดเอทิลอีเธอร์, อะซีโตน และน้ำสามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรีย Escherichia coli และ Salmonella typhi ที่เป็นสาเหตุของโรคอุจจาระร่วงได้ โดยมี eugenol และ 1'-acetoxychavicol acetate เป็นสารสำคัญในการออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย สาร 1'-acetoxychavicol acetate สามารถยับยั้งแบคทีเรียสายพันธุ์ดื้อยา Enterococcus faecalis, S. typhi, Pseudomonas aeruginosa, E coli และ Bacillus cereus ได้ด้วย

                 สารสกัดข่าด้วยเอทานอลมีฤทธิ์ต้านเชื้อ  Staphylococcus aureus โดยทำลายผนังเซลล์ทั้งชั้นในและชั้นนอกของแบคทีเรีย และพบสารสำคัญที่ออกฤทธิ์คือ 1'-acetoxychavicol acetate  การวิเคราะห์หาองค์ประกอบของสารสกัดข่า พบว่าประกอบด้วยสาร 1, 8-cineole (ร้อยละ 20.95), beta-bisabolene (ร้อยละ 13.16), beta-caryophyllene (ร้อยละ 17.95) และ beta-selinene (ร้อยละ 10.56)  

                 สารสกัดข่าสด และสารสกัดน้ำมันข่าสามารถยับยั้งเชื้อ S. aureus, Bacillus cereus และ Salmonella typhi ในจานเลี้ยงเชื้อได้ โดยสารสกัดด้วยน้ำมันจะออกฤทธิ์ดีกว่าสารสกัดข่าสด น้ำมันหอมระเหยจากข่ามีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียก่อโรคที่พบในอาหาร Campylobacter jejuni ได้ปานกลาง สารสกัดข่าด้วยเอทิลอะซีเตตสามารถยับยั้งแบคทีเรียที่ทำให้เกิดสิว Propionibacterium acnes ได้ นอกจากนี้สารสกัดข่าด้วยเอทิลแอลกอฮอล์มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรียก่อโรคพืช Lemma minor ได้ ผงเครื่องเทศและข่าร้อยละ 2 มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อ Salmonella typhimurium ในจานเลี้ยงเชื้อได้

                 สารสกัดข่าสามารถรักษากลากได้เมื่อเปรียบเทียบกับ tolnaftate (ยารักษากลาก)  สารสกัดข่าด้วยน้ำกลั่น  เมทานอล ไดคลอโรมีเทน เฮกเซน  หรือแอลกอฮอล์ สามารถฆ่าเชื้อรา Microsporum gypseum, Trichophyton rubrum  และ Trichophyton mentagrophyte ที่เป็นสาเหตุของโรคกลากเกลื้อนได้

ฤทธิ์ต้านเซลล์มะเร็ง สารสกัดเหง้าข่าด้วยเมทานอลมีฤทธิ์ต้านเซลล์มะเร็งต่อมน้ำเหลือง Raji   สารสกัดข่าทำให้เซลล์มะเร็งมดลูกไวต่อยา daunomycin มากขึ้น สาร galanolactone และ (E)-8b(17)-epoxylabd-12-ene-15,16-dial จากเหง้าข่าเป็นพิษอย่างอ่อนต่อเซลล์มะเร็งชนิด 9KB ขณะที่สารสกัดเหง้าข่าด้วยเอทานอลร้อยละ  50  จะไม่เป็นพิษต่อเซลล์นี้ น้ำมันหอมระเหยจากเหง้าข่า ซึ่งประกอบด้วยสารหลักคือ trans-3-acetoxy-1,8-cineole มีฤทธิ์ต้านเซลล์มะเร็งเต้านม สารประกอบไดเทอร์พีนจากสารสกัดเมล็ดข่าแห้งด้วยเมทานอล ได้แก่ galanolactone, (E)-8 (17)-12-labddiene-15,16-dial, (E)-8b (17)-epoxylabd-12-ene-15,16-dial, galanal A และ galanal B มีฤทธิ์เป็นพิษต่อเซลล์ สาร 1'S-1'-acetoxychavicol acetate และ p-coumaryl alc γ-O-methyl ether ที่แยกจากสารสกัดเหง้าข่าเป็นพิษต่อเซลล์มะเร็งมนุษย์ที่นำมาทดสอบ โดยสาร 1'S-1'-acetoxychavicol acetate มีฤทธิ์ต้านเซลล์มะเร็งปอด  เซลล์มะเร็งกระเพาะอาหาร เซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่ เซลล์มะเร็งชนิดที่แพร่กระจายได้รวดเร็ว (HT1080) และเซลล์มะเร็งเม็ดเลือด และสาร p-coumaryl alcohol,γ-O-methyl ether มีฤทธิ์ต้านเซลล์มะเร็ง SNU638  สารสกัดข่าซึ่งมี 1'-acetoxychavicol acetate เป็นสารประกอบหลักจะเป็นพิษต่อเซลล์มะเร็งปอด และเซลล์มะเร็งเต้านม 

 

การศึกษาทางพิษวิทยา

สารสกัดข่าด้วยเอทานอลร้อยละ 50 ไม่พบความเป็นพิษเมื่อให้ทางปากหรือฉีดเข้าใต้ผิวหนังหนูเม้าส์   แต่มีความเป็นพิษปานกลางถึงมากเมื่อฉีดเข้าช่องท้องหนูเม้าส์   สารสกัดเหง้าข่าด้วยเอทานอลร้อยละ 95 ไม่พบความเป็นพิษเมื่อให้หนูเม้าส์ทางปากในขนาด 3 กรัม/กิโลกรัม  น้ำมันหอมระเหยจากเหง้าข่ามีความเป็นพิษปานกลางเมื่อฉีดเข้าช่องท้องหนูตะเภา  สารสกัดแอลกอฮอล์จากเหง้าข่าขนาด 100 มิลลิลิตร/กิโลกรัม ไม่พบความเป็นพิษเมื่อฉีดเข้าช่องท้องหนูเมาส์ติดต่อกัน 7 วัน การทดสอบความเป็นพิษกึ่งเรื้อรัง พบว่าสารสกัดข่าด้วย เอทานอลร้อยละ 95 ให้หนูเม้าส์โดยผสมกับน้ำดื่มในขนาด 100 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ติดต่อกัน 3 เดือน ทำให้หนูตายถึงร้อยละ 15
 

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

เนื่องจากข่าเป็นพืชสมุนไพรที่มีการใช้มาตั้งแต่โบราณมาแล้ว อีกทั้งใช้เป็นส่วนประกอบของอาหารที่ใช้รับประทานในชีวิตประจำวันหลายๆเมนู ดังนี้ จึงไม่ค่อยพบอาการข้างเคียงในการรับประทานข่า แต่อาจจะมีข้อควรระวังในอาการข้างเคียงอยู่บ้าง ในกรณีการใช้ข่าเป็นยาสมุนไพรที่ใช้ทาทางผิวหนัง เนื่องจากบางคนอาจจะแพ้ข่า โดยอาการที่พบก็คือเมื่อใช้ข่าทาตรงบริเวณที่เป็นโรคผิวหนังแล้ว อาจจะมีอาการแสบร้อนมากก็ควรหยุดใช้ในทันที

เอกสารอ้างอิง

ผลการศึกษาความเป็นพิษของพืช 13 ต้นที่เป็นพืชอยู่ในบัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร.มหาวิทยาลัยมหิดล

ข่า.ฐานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก

http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage&pid=22

ข่า สรรพคุณและการปลูกข่า.พืชเกษตร.คอม.เว็ปเพื่อพืชเกษตรไทย (ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก

http://puechkaset.com

เต็ม สมิตินันทน์.ชื่อพันธุ์ไม้แห่งประเทศไทย.ส่วนพฤกษศาสตร์ป่าไม้.สำนักวิชาการป่าไม้กรมป่าไม้.กรุงเทพฯ.2544.

สมพร ภูติยานันท์.สมุนไพรใกล้ตัวเล่ม13:สมุนไพรแต่งสี กลิ่น รส.วิทยาศาสตร์เภสัชกรรม.คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.ตุลย์การพิมพ์เชียงใหม่2551

ข่า.บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน ฉบับประชาชน.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://www.medplant.mahidol.mahidol.ac.th/pubhealth/

วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม.พจนานุกรมสมุนไพรไทย.ฉบับพิมพ์ครั้งที่6.สำนักพิมพ์สาส์น(1977)จำกัด.กรุงเทพฯ.2548

นิดดา หงษ์วิวัฒน์. หน่อข่าอ่อน ผักสมุนไพรมีเฉพาะในฤดูฝน. ครัว. ปีที่ 19 ฉบับที่ 228 มิถุนายน 2556 หน้า 20 - 22

อาหารจากสมุนไพร อร่อย สุขภาพดี. กทม. แม่บ้าน. มปป. หน้า 12-14

ข่า.กลุ่มยารักษาโรคผิวหนังผื่นคันกลากเกลื้อน.สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด.โครงการอนุรักษ์พันธุ์กรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนาราชสุดาสยามบรมราชกุมารี.(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://www.rspg.or.th/plants_data/herbs/herbs_02_1.htm.